ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

พระในบ้าน

๒๓ ธ.ค. ๒๕๕๕

 

พระในบ้าน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๕
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถาม : ข้อ ๑๒๒๒. เรื่อง “จะได้บุญหรือได้บาป”

โยมได้รับโอกาสจากพี่ๆ ให้ออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อ เนื่องจากเขาบอกกันว่าเขาดูไม่ได้ ปกติคุณพ่อเป็นคนที่มีเมตตาน้อยค่ะ โยมรับทำเพราะรักแม่มาก ไม่เช่นนั้นแม่จะต้องเป็นผู้ดูแล แม่ก็ป่วยไม่แข็งแรง บางครั้งจิตตกมาก ไม่มีพี่คนไหนคอยมาเปลี่ยนเวร อยากไปกราบหลวงพ่อก็ไม่ได้มา พ่อเองก็ห้ามไม่ให้มา ได้เคยคิดหลายครั้งว่าชาติหน้าขออย่าให้เกิดมาเป็นพ่อลูกกัน จะตกนรกไหมคะ?

เวลานี้ได้แต่อาศัยหนังสือหลวงพ่อเป็นยาระงับ ฟังเทศน์หลวงพ่อก็ต้องค่อยๆ ค่ะ เพราะพ่อไม่ชอบให้ฟัง กลัวตกนรกก็กลัวเจ้าค่ะ จึงไม่รู้ว่าจะทำบุญหรือบาปเจ้าคะ ขณะนี้พ่ออายุ ๙๓ ปี ต้องนอนเช็ดอึ เช็ดฉี่อยู่บนเตียงเจ้าค่ะ

ตอบ : นี่เวลาพูดนะ เราพูดกันในสังคมไทย ในสังคมไทยเขาบอกว่าเวลาเราไปทำบุญกุศลกัน ทุกคนไปหาบุญกุศลกัน ไปหาพระ หาเจ้ากัน แล้วพระในบ้านๆ ของเรา พ่อแม่ของเราทำไมไม่ดูแล พ่อแม่ของเราก็เป็นพระ เป็นพระอรหันต์ของลูก พ่อแม่ของเราให้ชีวิตเรามานะ ชีวิตนี้มีคุณค่ามาก พ่อแม่ให้ชีวิตนี้มา

การว่าให้ชีวิตนี้มา แต่พ่อแม่บางคน อย่างเช่นในสมัยปัจจุบันนี้ แม่ที่ไม่มีความพร้อมเขาเอาลูกไปทิ้งถังขยะ เขาเอาลูกไปทิ้ง ไปขว้าง เพราะอะไร? เพราะเขาไม่มีปัญญาจะดูแล แต่พ่อแม่ขนาดว่าที่เขาเลี้ยงเด็กกำพร้า เห็นไหม นี่เขาเลี้ยงเด็กนั้นมา ถ้าพ่อแม่เขาเอามาทิ้ง เขาเลี้ยงเด็กของเขามา ลูกเด็กๆ ที่มันขาดพ่อ ขาดแม่ มันโหยหาเรียกร้องหานะ หาพ่อ หาแม่ โหยหาเรียกร้องหาเลยพ่อแม่อยู่ไหน? พ่อแม่อยู่ไหน? เพราะเขามีชีวิตนั้นมา

นี้พูดถึงเด็กเขาไม่รู้หรอกว่ากำพร้ามา ขาดจากพ่อ จากแม่มาเพราะเหตุใด แต่เขาก็มีความผูกพัน มีความผูกพันกับพ่อแม่ อยากเห็นหน้าพ่อ อยากเห็นหน้าแม่ อยากรู้ว่าพ่อแม่เป็นใคร นี่เพราะความจำเป็นของเขา ความจำเป็นของเขาไปทิ้ง เขาไปทิ้งหรือเขาไปเสียสละให้คนอื่น อันนี้เป็นเพราะว่าสิ่งที่เขาไม่พร้อม แต่ถ้าเขามีความพร้อม เห็นไหม นี่มีความพร้อม เราเกิดเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูกกันมา พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะพ่อแม่ให้ชีวิตนี้มา

ถ้าให้ชีวิตนี้มา ชีวิตนี้มีคุณค่า นี่กตัญญูกตเวที การที่เรามีความกตัญญูกตเวทีกับพ่อแม่เรา สิ่งนี้เป็นเครื่องหมายของคนดี แต่เวลาคนดีไป นี่พ่อมีความเมตตาน้อย แม่เป็นผู้ที่ดี แม่ก็ไม่แข็งแรง แม่ก็ต้องเป็นผู้ดูแลพ่อ พ่อก็เอาแต่ใจ คำว่าเอาแต่ใจ สิ่งที่ว่าเอาแต่ใจ เห็นไหม เอาแต่ใจ สิ่งนั้นพ่อแม่ของเรา ถ้าพ่อแม่ที่ดีก็ดีไป ถ้าพ่อแม่ที่มีอารมณ์ความรู้สึก พ่อแม่เป็นคนขี้โกรธ นี่สิ่งอย่างนี้มันเป็นเรื่องปลีกย่อย

คำว่าปลีกย่อยนะมันก็มีอย่างนี้ เพราะพ่อแม่เราก็เป็นปุถุชน พ่อแม่เราก็เป็นปุถุชนนะ แล้วยิ่งคนเจ็บคนป่วยนอนอยู่บนเตียง นี่คนนอนอยู่บนเตียงนะ ความเจ็บไข้ได้ป่วยมันกดดัน มันกดดัน มันมีความหงุดหงิด มันมีความต่างๆ แล้วยิ่งคนเราจะต้องพลัดพรากมันยิ่งโหยหาไง เวลาพ่อแม่หวังมากเลย หวังแค่ให้ลูกมาเห็นใจ แค่ลูกทักพ่อแม่เท่านั้นแหละ ถามความเป็นห่วง เท่านั้นเอง แต่จริงๆ ความเป็นอยู่มันก็ต้องเป็นอยู่อย่างนั้นแหละ ทุกคนก็รู้ได้ ทุกคนก็เข้าใจได้

ฉะนั้น สิ่งที่เวลาพ่อแสดงออก การแสดงออกของพ่อ เราก็รับรู้แต่วางไง อย่าไปถือสา ถ้าเราไปถือสา เราไปคิดเล็กคิดน้อย เราไปคิดสิ่งใดมันขุ่นใจนะ มันขุ่นใจ เพราะอะไร? เพราะทุกคนก็อยากจะอุปัฏฐากพ่อแม่ แต่พ่อแม่ก็ขี้บ่นเป็นเรื่องธรรมดา ขี้บ่นทั้งนั้นแหละ เพราะอะไร? ความขี้บ่นเพราะคิดว่าความใกล้ชิดไง เลี้ยงมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก เลี้ยงมา อุ้มดูแลมาตั้งแต่เด็ก แต่น้อย ความถือสิทธิว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ ความถือสิทธิว่าเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ จะพูดอะไรก็พูดโดยความพอใจของตัว แต่คนที่รับฟังอยู่ ลูกที่รับฟังอยู่ทำไมเป็นอย่างนั้น ทำไมเป็นอย่างนั้น? นี่เรายกไว้

ฉะนั้น ในประเพณีสังคมของชาวพุทธเรา พระในบ้านๆ เขาห่วงตรงนี้มากนะ ถ้ามีพระในบ้านเรา ถ้าลูกดูแลพระในบ้าน แล้วเราจะไปทำบุญพระนอกบ้าน เราจะไปทำบุญพระที่วัด เราอยากทำบุญกุศล เราทำสิ่งนั้นแล้วใครเขาจะติฉินนินทาเราไม่ได้ เพราะเราไม่ขาดตกบกพร่อง พระในบ้านก็ดูแล แล้วอยากจะไปทำบุญกับพระนอกบ้าน นั้นก็เป็นเรื่องการแสวงหาของเรา แต่ถ้าเราจะไปทำบุญพระนอกบ้าน เราทอดทิ้งพระในบ้าน เราไม่ดูแลพระในบ้านเรา ประเพณีวัฒนธรรม สังคมเขาจะติฉินนินทา

นี่สังคมเขาติฉินนินทานะ แล้วจิตใจเราก็ไม่สบายใจด้วย แต่ถ้าเราจะทำของเรา ทำหน้าที่ของเรา เพื่อความสบายใจของเรา เราได้ทำหน้าที่ของเราแล้ว เราได้อุปัฏฐากพ่อ เราได้ดูแลแล้ว เราได้เสียสละออกมา เพราะพี่ๆ น้องๆ เขาให้โอกาสเรา เพราะเขาดูแลไม่ได้ เขายังไม่มีความสามารถเหมือนเรา เรามีความสามารถคือความสามารถเก็บอารมณ์เราได้ เราสามารถดูแลอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ ถ้าเรามีความสามารถดูแลความรู้สึกอารมณ์เราได้ เราถึงจะทำสิ่งใดแล้วมันเป็นประโยชน์ขึ้นมาไง

ฉะนั้น สิ่งที่เขาบอกว่าพ่อเอาแต่ใจของตัวเอง สิ่งที่เอาแต่ใจของตัวเองใช่ไหม? สิ่งที่เอาแต่ใจของตัวเอง เพราะพ่อกับลูกมันเป็นเรื่องอย่างนี้ นี่สิ่งที่เขาเลี้ยงดูมา เขาทำสิ่งใดมาเขาก็คิดของเขา แต่จริงๆ แล้วนะเขาก็ห่วง อย่างเช่นเราลาออกจากงานมา พ่อแม่ก็ห่วง ถ้าพ่อแม่ต้องเสียชีวิตไปลูกจะอยู่กับใคร? ลูกจะอยู่กับใคร? ลูกจะทำอย่างไร? เขาก็คิดเหมือนกันทั้งนั้นแหละ

แต่ในปัจจุบันนี้ถ้าเขาต้องการคนช่วยเหลือ เพราะเขาอายุ ๙๓ นอนเช็ดอึ เช็ดฉี่อยู่ เขาก็ช่วยตัวเองเขาไม่ได้ ถ้าเขาช่วยตัวเองเขาได้เขาก็อยากช่วยตัวเขาเองนะ ถ้าเขาช่วยตัวเองไม่ได้มันเป็นหน้าที่ของลูกอยู่แล้วแหละ นี่เราเห็นว่าทำถูกต้อง เพราะพี่ๆ น้องๆ ให้โอกาสเราเป็นผู้ออกมาดูแลพ่อแม่ แล้วพี่ๆ น้องๆ สิ่งนี้เขาก็ นี่พอถึงเวลาแล้วเราว่าทำดีต้องได้ดี ถ้าเราดูแลพ่อแม่ของเรานะ อนาคตของเรา เราจะมีหน้าที่การงานของเรา เราก็หาทำของเราอีกเรื่องหนึ่ง

ฉะนั้น พระในบ้านนะ ถ้าพระในบ้าน เราดูพระในบ้านของเรา พระนอกบ้าน พระนอกบ้านเราจะทำบุญกุศล เนื้อนาบุญของโลก ถ้าพระนอกบ้านเราไปทำบุญ นั้นก็เป็นเรื่องบุญของเรา ถ้าเราสร้างพระในใจของเรา ถ้าเราสร้างพระในใจของเราได้ ที่เราไปหาพระนอกบ้านเราก็เพื่ออยากฟังธรรม เพื่ออยากประพฤติปฏิบัติ เพื่ออยากจะสร้างพระของเราขึ้นมา นี่พระในบ้านถึงสร้างชีวิตเรามา พระในบ้านถึงให้โอกาสเรามาเกิดเป็นมนุษย์ เราเกิดเป็นมนุษย์แล้วเราดูพระในบ้านของเรา แล้วถ้ามีโอกาสแล้วเราค่อยไปทำบุญกับพระนอกบ้านของเราก็ได้

นี่แล้วเวลาอยู่บ้าน เห็นไหม ฟังธรรมจะฟังเทศน์หลวงพ่อ ถ้าฟังเทศน์หลวงพ่อนะเราค่อยๆ ฟังของเราไป ถ้าไม่พอใจก็ไม่พอใจ แต่เราอย่าไปกวน แต่ถ้าเราฟังแล้วเราควบคุมใจเราได้ พอเราฟังเทศน์แล้วจิตใจเราร่มเย็น พ่อก็ต้องแปลกใจเนาะ เอ๊ะ ทำไมลูกเรามันเปลี่ยนแปลงไป ถ้าลูกเราเปลี่ยนแปลงไป ลูกเราควบคุมอารมณ์ได้ เขาจะหาที่มาที่ไป อ๋อ ฟังเทศน์ เทศน์มันเป็นอย่างใด? เทศน์มันเป็นอย่างใดก็อยากฟังขึ้นมา

มี มีลูกศิษย์คนหนึ่งเขาบอกว่าพ่อต่อต้านเรื่องศาสนามาก แล้วเขาก็จะไปเอาพ่อเขา เราบอกว่าถ้าเอาอย่างนั้นนะไม่มีสิทธิ์เลย เพราะมันเป็นทิฐิเอาชนะคะคานกัน เราบอกว่าไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ถ้าจะฟังเทศน์ก็เปิดเทศน์ฟังของเรา เขาก็เปิดเทศน์ฟังของเขาจริงๆ นะ สุดท้ายเขามาเล่าให้เราฟังนะ บอกพ่อเขามาแอบฟัง พ่อเขามาแอบฟังนะ แอบฟังอยากฟังตามลูกไง สุดท้ายแล้วพ่อฟังไปเรื่อยๆ ซับไปเรื่อยๆ พ่อเปลี่ยนนะ พ่อกลับมาสนใจได้

นี่ถ้าเราไม่บังคับ ไม่มีทิฐิเอาชนะคะคานกัน เอาเหตุเอาผล เราทำตัวเราก่อน เรารักษาพระในใจเรา ถ้าเรารักษาพระในใจเรา คือรักษาพุทโธ รักษาอารมณ์ความรู้สึกของเราได้ แล้วเราดูแลพระในบ้านของเรา พระในบ้านของเราก็จะดูว่า เอ๊ะ ลูกของเราทำไมดีขึ้น ลูกของเราทำไมอารมณ์เย็นลง ลูกของเราทำไมเก็บความรู้สึกได้ ก็สนใจ เห็นไหม

นี่พระในใจเรา เราก็ดูแล พระในบ้านของเราเราก็อุปัฏฐาก แล้วพระนอกบ้าน นี่อยากไปทำบุญกับหลวงพ่อก็ไม่ได้ไป เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“ภิกษุอยู่ใกล้เรา เวลาประพฤติปฏิบัติตามเรา เหมือนกับจับชายจีวรเราไว้ ภิกษุอยู่ไกลเรา ภิกษุอยู่ไกลเรานะ ปฏิบัติเหมือนเรา เหมือนกับจับชายจีวรเราไว้ ภิกษุอยู่ใกล้เรา ไม่ปฏิบัติตามเรา เหมือนอยู่ห่างไกลเรา”

นี่ก็เหมือนกัน ฟังเทศน์ ฟังธรรมมันก็เหมือนกัน ฟังที่นั่น แล้วจิตใจ ฟังเทศน์นี่นะ เทศน์มันก็พูดถึงอารมณ์ความรู้สึกเรานี่แหละ พูดถึงอารมณ์เรา พูดถึงความคิดของเรา ถ้าเราฟังแล้วมันสะเทือนใจมันจับได้ ถ้ามันจับได้ความคิดหยุดเลย ความคิด ความต่างๆ มันจะหยุดเลย ถ้าหยุดสิ่งนี้ได้มันจะเป็นประโยชน์กับเรา

ฉะนั้น ถ้าอาศัยฟังอย่างนี้พระนอกบ้าน แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ พระในใจของเรา ใจเราเป็นพระนะ อ๋อ หลวงพ่อรู้อย่างนี้เอง เห็นไหม ครูบาอาจารย์เราปฏิบัติมา จิตท่านสงบสงบอย่างนี้ หลวงตาท่านพูดบ่อย

“ถ้าจิตใครไม่เคยรวม จะไม่รู้ว่ารวมใหญ่เป็นอย่างใด”

จิตของใครไม่เคยรวม จิตของคนที่ลงอัปปนาสมาธิหาได้น้อย หาได้น้อย อัปปนาสมาธิ อย่างมากก็อุปจารสมาธิ ถ้าเข้าฌานสมาบัติไปเลยนั่นอีกเรื่องหนึ่ง นี่เวลาเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ นั่นสมาบัติ นั่นสมาบัติ ถ้าเป็นอัปปนาสมาธิมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

นี่พูดถึงการเข้าสมาธินะ แล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมา เห็นไหม นี่สิ่งนั้นเป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามีขึ้นมาเป็นอย่างใด? มันต้องมีเหตุมีผลของมัน ถ้าคนที่ผ่านมาแล้วจะเข้าใจสิ่งนั้นได้ ถ้าเข้าใจสิ่งนั้น นี่พูดถึงพระในใจของเราไง ถ้าเราทำอย่างนี้ได้นะ อ๋อ อ๋อเลยนะ ถ้าอ๋อนั่นล่ะสันทิฏฐิโก ถ้าอ๋อขึ้นมา นี่เราดูแลพระในใจของเรา

นี่เขาถามว่า

ถาม : จะได้บุญหรือได้บาป

ตอบ : คำว่าได้บุญหรือได้บาป เวลาน้อยใจขึ้นมา

ถาม : เคยคิดหลายครั้งว่า ชาติหน้าขออย่าให้เกิดมาเจอเป็นพ่อเป็นลูกกัน

ตอบ : ความคิดอย่างนี้ เห็นไหม ความคิดอย่างนี้ เราคิดจะให้เป็นก็ไม่เป็น เราคิดว่าจะไม่ให้เป็นมันก็ไม่เป็น เพราะอะไรรู้ไหม? เพราะการเกิดนี่เกิดจากกรรม เกิดจากการสร้างเวรสร้างกรรม การสร้างเวรสร้างกรรม เป็นสายบุญสายกรรมมา มันถึงมาเกิดร่วมกัน ถ้าเกิดร่วมกัน อภิชาตบุตร บุตรที่ดีกว่า บุตรที่เกิดมาเพื่อจะเอาคืน อย่างนั้นพ่อแม่เจ็บช้ำน้ำใจ นี่เพราะการสร้างเวรสร้างกรรมา ฉะนั้น คำว่าขอให้เป็นหรือขอให้ไม่เป็น มันอยู่ที่กรรม อยู่ที่การกระทำ

ฉะนั้น เราสร้างคุณงามความดีของเรา การที่อุปัฏฐากพ่อแม่ อุปัฏฐากพ่อแม่ จิตหนึ่ง จิตหนึ่งเวียนตายเวียนเกิดไป ต่อไปถ้าเรามีครอบครัวเราก็เป็นพ่อแม่คนเหมือนกัน ฉะนั้น คำว่าพ่อแม่ พ่อแม่ในชาติปัจจุบันนี้ นี่แล้วเวลาเวียนตายเวียนเกิดนะ เวลาพ่อแม่มาเกิดเป็นลูกก็ได้ นี่ถ้ามันกลับมาเกิดเป็นลูกเราล่ะ? มี มีในวัฏฏะมันจะหมุนเวียนเป็นอย่างนั้น นี่ผลัดกันเป็น

ถ้าผลัดกันเป็นนะ ฉะนั้น ความคิดอย่างนี้มันคิดขึ้นมาแล้วเป็นอกุศล เราคิดแล้ว เออ ถ้าคิดอย่างนี้คิดไม่ดี เราเอาความคิดมาพิจารณาของเรา นี่เราไม่ควรคิดอย่างนี้ เพราะสิ่งที่เราได้มา ชีวิตนี้เราได้มา แต่สิ่งที่ขาดตกบกพร่อง คำว่าขาดตกบกพร่องคือความกระทบกระทั่งกันมันเรื่องธรรมดา มันเรื่องธรรมดา นี่ผลของวัฏฏะ เวลาเกิดมาในวัฏฏะนะ แต่ผลของมันสะเทือนกันมาก สะเทือนกันมาก เวลาถ้าดีนะ เวลาพ่อแม่ที่ดีต่อกัน เวลาพลัดพรากก็รู้สึกเสียดายมาก

ฉะนั้น สิ่งที่มีโอกาสนี้ให้ทำถึงที่สุดนะ เวลาพ่อแม่เสียไปแล้ว ถ้าใครอยากจะอุปัฏฐากตอนนั้นมันก็ไม่มีแล้วล่ะ ตอนที่มีชีวิตอยู่เราทำให้ดีที่สุด เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แล้วเวลาท่าน ถึงเวลาแล้วเขาต้องเสียชีวิตเขาไปเป็นธรรมดา ถ้าถึงตอนนั้นแล้วก็ อืม หมดเวรหมดกรรมกัน เราทำได้ถึงที่สุด อย่า อย่าไปเสียใจทีหลัง อย่าไปเสียใจทีหลัง ในปัจจุบันนี้เอาตรงนี้ให้ได้

ข้อ ๑๒๒๓.นะ

ถาม : ๑๒๒๓. เรื่อง “การพิจารณากาย”

กราบนมัสการหลวงพ่อด้วยความเคารพยิ่ง ผมได้ส่งคำถามเรื่อง “พระโสดาที่จะเข้าทางจิตตา ยังต้องวางกายไม่ได้ใช่ไหม? “มาเมื่อก่อนหน้านี้ กระผมได้ฟังคำตอบหลวงพ่อแล้ว เกรงว่าที่ผมเขียนไปผมมีข้อผิดพลาดอยู่ จึงกราบเรียนหลวงพ่อก่อนว่า คำถามของผมไม่ใช่แฝงนัยที่จะให้ขอรับรองภูมิธรรมใดๆ ครับ แต่เป็นความสงสัยของกระผมจริงๆ แต่คำถามเก่าของผมไม่เหมาะสม กระผมกราบขอขมาหลวงพ่อด้วย

สาเหตุที่สงสัยก็เพราะว่า

๑. ผมได้เคยถามเรื่องการดูจิตกับพระรูปหนึ่ง ท่านเมตตาบอกผมว่า “ผู้ที่ดูจิตต้องมีภูมิธรรมพอตัวแล้ว เพราะในขั้นต้นจิตมีนิวรณ์มาก” ท่านบอกผมว่าให้ดูกายให้มากจะได้กำลังสมถะด้วย ผมเลยหันมาศึกษาเรื่องการดูกาย และก็ได้ความรู้จากในเว็บไซต์หลวงพ่อด้วย

เผอิญครั้งหนึ่งได้ฟังเทศน์จากพระองค์หนึ่ง ท่านก็สอนเช่นเดียวกันว่า “ดูจิตต้องมีบารมีมาพอแล้ว” ท่านเล่าแนวปฏิบัติของท่านว่า ท่านพิจารณาจนได้ระดับหนึ่งแล้วจิตหนักแน่นมาก ท่านเลยพิจารณาจิตไป แต่โดนอาจารย์ของท่านกลับบอกว่า “ให้พิจารณากายให้มาก ถ้ายังติดข้องในกายอยู่ต้องพิจารณากายให้มาก”

๒. จากที่ผมได้ยินได้ฟังมา ทำให้ผมเชื่อว่าพระโสดาบันท่านละสักกายทิฏฐิความเห็นผิดในกายได้แล้ว แต่ท่านยังมีอุปาทานในกายนี้อยู่ กระผมเลยลองตั้งคำถามหลวงพ่ออย่างนี้ครับ พระโสดาบันที่ท่านเข้าทางจิตตานุปัสสนา ละสักกายทิฏฐิได้ แต่ยังติดข้องในอุปาทานในกายอยู่ ดังจะเห็นได้ว่าท่านยังมีลูก มีเมีย ในกรณีแบบนี้ท่านจะพิจารณากายของท่านอย่างใดครับ เหตุที่ผมสงสัยก็เพราะว่าท่านเข้าทางจิตแล้วต้องไปทางจิตอย่างเดียวเลยหรือ และจะมาพิจารณากายร่วมได้ไหมครับ

กระผมอยากขอความเมตตาหลวงพ่อสอนเรื่องพิจารณากาย ในแบบปัญญาอบรมสมาธิครับ กายในความรู้สึกจะเป็นอย่างไรที่กระผมพิจารณาอยู่โดยมาก จับกายได้จากเวทนากาย แล้วส่งเวทนาจิต บางทีก็เห็นสังขาร และสัญญาที่ปรุงเป็นรูปกายข้างในพร้อมๆ กับการกระทบสัมผัสข้างนอก แต่จะจับได้แว็บหนึ่งแล้วเขาก็ปรุงต่อไปอีก

ถ้าคราวใดกระผมมีสมาธิดี พิจารณาอยู่ในความสงบ กระผมจะเห็นเป็นเวทนากาย แล้วสังขารก็ปรุงเป็นรูป แล้วก็มาที่เวทนาจิต สติดับ สังขารทัน เวทนาจิตก็ไม่เกิด แต่ผมไม่ค่อยเข้าใจวิธีการพิจารณากายด้วยปัญญาอบรมสมาธิ และเชื่อที่ครูบาอาจารย์ท่านว่าพิจารณากายให้มากจะได้กำลังสมถะด้วย ขอโอกาสหลวงพ่อ (เขาว่านะ)

ตอบ : อ่านไปอ่านมา มันเป็นปัญหาหรือเปล่าก็ไม่รู้เนาะ มันเป็นปัญหาตั้งแต่คราวที่แล้ว เขาเข้าใจว่าพระโสดาบันผ่านทางจิตตานุปัสสนา แล้วยังละกายไม่ได้ วางอุปาทานไม่ได้ เราบอกมันไม่มีพระโสดาบันองค์ไหนหรอกที่ละกายไม่ได้ พระโสดาบันต้องละกายได้ ละสักกายทิฏฐิได้ การพิจารณากาย พิจารณาเวทนา พิจารณาจิต พิจารณาธรรม

นี่การผ่านพระโสดาบันผ่านได้ทั้งทางกายก็ได้ ผ่านทางเวทนาก็ได้ ผ่านทางจิตก็ได้ ผ่านทางธรรมก็ได้ กาย เวทนา จิต ธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่พิจารณาแล้วมันละสักกายทิฏฐิเหมือนกัน ถ้ามันละสักกายทิฏฐิเหมือนกันถึงเรียกว่าพระโสดาบัน เพราะพระโสดาบันละสังโยชน์ ๓ ตัว คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

นี้เขาบอกว่าพระโสดาบันเข้าทางจิตตานุปัสสนา แต่ยังละอุปาทานในกายไม่ได้ ที่เขาว่านั่นน่ะ อันนั้นเราถึงบอกว่าถ้าอย่างนั้นเขาไม่ได้เป็นโสดาบัน เพราะในเมื่อเขายังละสักกายทิฏฐิ ละสังโยชน์ไม่ได้ เขาเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ในเมื่อเขาเป็นพระโสดาบันไม่ได้ แล้วโยมบอกว่าพระโสดาบันที่ละสักกายทิฏฐิไม่ได้เป็นพระโสดาบันประเภทใด เราถึงบอกว่าไม่ใช่พระโสดาบัน คือคำถามตั้งมานี่คำถามตั้งมาผิด เพราะคำถามตั้งมาผิดเราก็จะเคลียร์คำถามให้ด้วย นี้พอเคลียร์คำถามไปเขาก็เลยกลับมาใหม่เลย กลับมาใหม่เลยว่า เอ๊ะ ผมไม่ได้คิดอย่างนั้น ผมไม่ให้หลวงพ่อรับรองภูมิผมอย่างนั้น

เราไม่ได้รับรองภูมิของใคร แต่ในเมื่อบอกว่าพระโสดาบันที่เข้าจิตตานุปัสสนา แล้วยังละกายไม่ได้ วางอุปาทานในกายไม่ได้ เราบอกว่าถ้าอย่างนั้นมันจะเป็นพระโสดาบันได้อย่างใด? ถ้าเป็นพระโสดาบันไม่ได้ เรื่องต่างๆ มันก็เลยคลาดเคลื่อนกันไป

ฉะนั้น แล้วนี่ยังว่าคำถามมันตั้งผิด ตั้งถูก บอกว่า

ถาม : พระโสดาบันที่เข้าจิตตานุปัสสนายังวางอุปาทานไม่ได้

ตอบ : คำว่าวางอุปาทาน ในอุปาทานถ้าเป็นความหมายของผู้ที่ปฏิบัติ มันก็จะเป็นละกายอย่างละเอียดแล้ว ละกายอย่างละเอียดอย่างที่ว่า นี่อุปาทานในกาย ถ้าอุปาทานในกายกับละสักกายทิฏฐิมันคนละเรื่องกัน นี่ถ้าอุปาทานในกายนะ ทีนี้เขายกขึ้นมาว่า

ถาม : เพราะพระโสดาบันยังละอุปาทานในกายไม่ได้ถึงได้มีลูกมีเมียไง

ตอบ : ถ้ามีลูกมีเมีย ไอ้มีลูกมีเมียมันพระอนาคามีนู้นน่ะ พระอนาคามีถึงละกามราคะได้ ถ้ายังไม่ถึงพระอนาคามีมันก็ยังละกามราคะไม่ได้ มันก็อยู่ของมันโดยธรรมชาติของมัน นี่เราจะบอกว่าคำถามยิ่งตอบไปมันยิ่งจะไปใหญ่เลย เดี๋ยวจะต้องมีคำถามใหม่มาแน่ๆ เลย หลวงพ่อเข้าใจผิดอีกแล้ว หลวงพ่อเข้าใจผิดอีกแล้ว เพราะเขาตั้งโจทย์เป็นพระโสดาบัน พอตั้งโจทย์เป็นพระโสดาบันแล้วก็บอกว่าละกาม ที่ว่าท่านยังมีลูก มีเมีย

นี้โสดาบันมันก็มีของมันอยู่แล้วธรรมดา ฉะนั้น ถ้าจะไม่มีลูกมีเมียมันพระอนาคามี เพราะพระอนาคามีละกามราคะ ถ้ากามราคะคือพระอนาคามี เราจะบอกว่ามันต้องตั้งโจทย์ให้ชัดๆ ไปเลย ถ้าตั้งโจทย์ชัดๆ ไปเลยจะบอกว่า

ถาม : ในเมื่อพระโสดาบันทางจิตตานุปัสสนาละสักกายทิฏฐิ แต่ยังติดข้องในอุปาทานในกาย ดูดังที่ท่านยังมีลูกมีเมีย

ตอบ : ถ้ายังมีลูกมีเมีย ใช่โสดาบัน ถ้าพูดถึงโดยหลักการจะเป็นอย่างนั้นได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วพระโสดาบันเขาไม่ทำอย่างนั้น ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้วเขาก็อยากจะเป็นสกิทาคามี อยากจะเป็นอนาคามี อยากสิ้นกิเลสไปเลย พระโสดาบันที่จะย้อนกลับไปมีลูก มีเมียแทบจะมีได้น้อยมาก คำว่ามีได้น้อยมากเพราะว่าเขาไม่มาเสียเวลากับเรื่องอย่างนี้ไง

ฉะนั้น กรณีอย่างนี้ ทำไมนางวิสาขาก็เป็นพระโสดาบัน นั้นเขาตั้งปฏิภาณของเขา เขาตั้งปรารถนาของเขามาอย่างนั้นว่าอยากเป็นมหาอุบาสิกา อยากเป็นผู้ที่อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาไม่ต้องการเป็นพระอรหันต์ เขาต้องการได้อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเขาตั้งปฏิภาณของเขามา แต่เวลาพระอานนท์ พระอานนท์ก็เป็นพระโสดาบันเหมือนกัน ทำไมพระอานนท์ไม่เห็นว่าจะต้องมีลูก มีเมียเลย พระอานนท์พระพุทธเจ้าพยากรณ์เลย

“อานนท์ เธออย่าเสียใจไปเลย เรานิพพานไป อีก ๓ เดือนข้างหน้าเขามีสังคายนา เธอจะได้เป็นพระอรหันต์วันนั้น เพราะในการอุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันได้บุญกุศลมาก ถึงคราวนั้นสังคายนาข้างหน้าอีก ๓ เดือนเธอจะได้เป็นพระอรหันต์”

สุดท้ายแล้วพระอานนท์ก็เป็นพระอรหันต์ ส่วนใหญ่แล้วถ้าปฏิบัติไปเขาพุ่งเป้าไปนั่น คนที่มีคุณธรรมแล้วเขาจะขึ้นสูง เขาจะไม่ลงสู่ทางต่ำ แต่นี่พูดถึงโดยข้อเท็จจริงต่างหากล่ะ โดยข้อเท็จจริงพระโสดาบันมีลูก มีเมียได้ไหม? ได้ แต่ความจริงพระโสดาบันทำอย่างนั้นไหม? เราเป็นปุถุชนเรายังอยากจะสิ้นกิเลสเลย แล้วพระโสดาบันเขาอยากจะเป็นพระอรหันต์ หรือเขาอยากจะมีลูกมีเมีย อ้าว พระโสดาบันก็อยากเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้นแหละ มีพระโสดาบันองค์ไหนบ้างอยากจะไปหาลูกหาเมีย มันก็ขึ้นสูงหมด

นี้เพียงแต่ว่าโดยข้อเท็จจริงว่ามันได้หรือไม่ได้ไง ทีนี้พอได้หรือไม่ได้ นี่ประเด็นที่มันตั้งมาตั้งมาอย่างนี้ไง ถ้าตั้งมาอย่างนี้แล้วมันก็ไม่จบ ถ้าไม่จบแล้ว เพราะเวลาเราพูด นี่ถ้าอย่างนี้มันพูดถึงสถานะของพระโสดาบัน สถานะของพระสกิทาคามี สถานะของพระอนาคามี สถานะของพระอรหันต์ เพราะบุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล

บุคคล ๘ จำพวก มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ถ้ามรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ มันต้องสรุปกันตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเอาโสดาบัน เอาสกิทาคามีมา แล้วก็มาพันกันอยู่อย่างนี้ เอาอารมณ์ความรู้สึกของปุถุชนไปคาด ไปหมายว่าสิ่งนั้นเป็นโสดาบัน สิ่งนั้นเป็นสกิทาคามี สิ่งนั้นเป็นอนาคามี แล้วก็เอาความพัวพันอย่างนั้นมาตั้งเป็นประเด็นขึ้นมา พอเป็นประเด็นขึ้นมาก็จะมาจบตรงนี้ไง

ฉะนั้น เขาบอกว่า

ถาม : ที่เขียนมาไม่ใช่ต้องให้หลวงพ่อรับรองภูมิธรรม

ตอบ : ไม่รับรองใคร ไม่รับรองใคร แล้วไม่ต้องการไปยุ่งกับใคร แต่สิ่งนี้เพราะมันเข้ามาในเว็บไซต์ใช่ไหม? ฉะนั้น สิ่งที่เข้ามาในเว็บไซต์ถามปัญหามา ปัญหานี่เวลาพวกพระที่เราปฏิบัติ ทุกคนจะมีความทุกข์ใจ ร้อนใจว่าไม่มีครู ไม่มีอาจารย์คอยสอน

ถ้าทุกข์ใจว่าไม่มีครู ไม่มีอาจารย์คอยสอน แล้วเวลาปฏิบัติสำนักไหนก็แล้วแต่ เวลาใครปฏิบัติไปแล้วจิตสงบบ้าง จิตออกใช้ปัญญาบ้าง เวลาไปถามครูบาอาจารย์ที่ไม่ใช่เป็นครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ ก็ไปไหนมาสามวาสองศอก ถามเรื่องหนึ่งตอบอีกเรื่องหนึ่ง ถามเรื่องวัวตอบเรื่องควาย ถามเรื่องควายไปตอบเรื่องช้าง ถ้าอย่างนั้นครูบาอาจารย์ของเราเขาแสวงหากันอย่างนั้น แล้วเราเคยปฏิบัติมา เราเคยแสวงหาครูบาอาจารย์มา เราเคยทุกข์ เคยยากกับประเด็นอย่างนี้มา

ฉะนั้น เวลาเราเปิดเว็บไซต์ขึ้นมาก็เพื่อต้องการให้คนที่ไม่มีทางไป ไม่มีทางออก เวลาเขาไปหาใครไม่ได้ เขาไม่มีทางไป นี่ให้เขาได้มีที่พึ่งของเขา ฉะนั้น เวลาเราเปิดโอกาสจะเป็นที่พึ่งของสังคม ฉะนั้น มีปัญหาเข้ามาเราถึงต้องตอบ เราตอบปัญหาเพราะเหตุนี้ เหตุที่ว่าในเมื่อเป็นที่พักร้อนของคน แล้วคนหนีร้อนมาพักร้อน ทำไมไม่ให้ความร่มเย็นกับเขา ในเมื่อเราเป็นสถานที่พักร้อน คนที่เขาร้อนมาเราต้องให้ความร่มเย็นกับเขา เราเปิดเว็บไซต์เป็นธรรมะ ทำไมคนถามธรรมะเข้ามาเราต้องตอบ

ทีนี้พอถามธรรมะเราต้องตอบ ทีนี้คำถามมันเข้ามาแบบนี้ เราก็ตอบตามข้อเท็จจริงในความเป็นไปของเรา แต่นี้ความเป็นไปของผู้ถาม ผู้ถามก็คิดของผู้ถามว่าผู้ถามตั้งปัญหามาดี ผู้ถามมีเจตนาดี ผู้ถามมีความหวังดี แต่ผู้ถามมีความหวังดี แล้วผู้ถามมีความเห็นอย่างนั้น แต่ข้อเท็จจริงของเรา ในเมื่อเรามีข้อเท็จจริงของเรา เราก็ตอบตามข้อเท็จจริงของเรา เราไม่ได้ตอบตามความปรารถนา ตามเจตนาดีหรือไม่ดีของผู้ถาม เราตอบตามข้อเท็จจริงของเราว่าข้อเท็จจริงมันเป็นแบบนี้ ถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้เราก็จบตามข้อเท็จจริงของเรา

จะบอกว่าไปหาพระองค์นี้มา ไปหาพระองค์ไหนมา นั่นมันเรื่องของพระองค์นั้นไม่ใช่เรื่องของเรา จะพระองค์ไหนก็เป็นของพระองค์นั้นไม่เกี่ยวกับเรา ไม่เกี่ยว ทีนี้ไม่เกี่ยวกับเรา แต่เวลาถามปัญหาขึ้นมา ปัญหาที่มันถูกหรือผิดเราว่ากันตามนั้น ถ้าพระโสดาบันก็คือพระโสดาบัน ถ้าพระโสดาบันวางกายได้ก็คือวางกายได้ ถ้าพระโสดาบัน นี่หลวงตาท่านผ่านทางเวทนา หลวงปู่เจี๊ยะท่านผ่านทางกาย ครูบาอาจารย์ท่านผ่านมาทางไหนล่ะ? ส่วนใหญ่แล้วผ่านมาทางกาย ถ้าผ่านมาทางกาย ผ่านมาทางกายแบบใคร?

นี่ผ่านมาทางกายแบบหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ก็ผ่านมาแบบทางกาย แต่กายที่ว่าปัญญาอบรมสมาธิ ปัญญาอบรมสมาธิ การผ่านทางกายโดยปัญญาอบรมสมาธินั้นเป็นแนวทางของหลวงปู่ดูลย์ เพราะท่านผ่านทางกายมาโดยไม่ต้องเห็นกาย แต่ท่านใช้ปัญญาพิจารณาของท่านมา ท่านผ่านทางกายมาเหมือนกัน หลวงปู่ชอบ หลวงปู่คำดี หลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่บัว หลวงปู่ขาวผ่านมาทางกายทั้งนั้นแหละ แต่ผ่านมาทางกาย ต่างคนก็ต่างมีประสบการณ์ของตัวเองมาเหมือนกัน

อย่างเช่นเราอยู่ที่นี่ บ้านเราหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้า บ้านของคนหนึ่งหุงข้าวด้วยหม้อเช็ดน้ำ บ้านคนหนึ่งหุงข้าวด้วยหม้อดิน นี่เราเป็นชาวป่า ชาวเขา เราหุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ กระบอกไม้ไผ่เขามาตัดออก แล้วเขาใส่น้ำเข้าไป เอาข้าวใส่เข้าไป แล้วเขาไปพิงไว้เหมือนกับเขาเผาข้าวหลาม เขาก็หุงข้าวได้ การหุงข้าวเขามีวิธีการหุงข้าวมหาศาลเลย นี่การหุงข้าวนะ ทหารพรานเขาอยู่ในป่า เขาเอาข้าวของเขาใส่ในกระติกน้ำ เขาใส่น้ำพอดี เขาโยนเข้าไปในกองไฟนะข้าวสุกพอดี

วิธีการหุงข้าวของคนมันอยู่ที่ว่ามีความจำเป็น อย่างเรานี่เราหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า เพราะเรามีไฟฟ้า อยู่ในป่าในเขาเขาไม่มีไฟฟ้า เขาต้องหุงข้าวด้วยข้าวเช็ดน้ำ ถ้าคนที่เขาอยู่ในป่า ในเขา เขาไม่มีหม้อ มีไหของเขา เขาใช้ดินเผาของเขา เขาปั้นหม้อของเขา เขาเอาดินเผาของเขา เขาหุงข้าวด้วยหม้อดินของเขา นี่การหุงข้าวของเขามันก็มีหลายทาง การพิจารณาของครูบาอาจารย์ของเรา พิจารณากายเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน

คำว่าไม่เหมือนกันเพราะว่าอะไร? เพราะจริตนิสัยของครูบาอาจารย์ของเราสร้างสมมาต่างกัน แม้แต่คู่แฝด ออกมาจากท้องแม่เดียวกัน นิสัยยังไม่เหมือนกัน อำนาจวาสนาบารมียังไม่เท่ากัน นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จิตของครูบาอาจารย์ของเราแต่ละองค์ก็สร้างบุญญาธิการมาเป็นพระอรหันต์เหมือนกัน แต่เวลาปฏิบัติไปมันก็ยังไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกันเพราะว่ามรรคญาณเวลามันเข้าแตกต่างกัน

ฉะนั้น การพิจารณากายก็คือพิจารณากาย โดยหลักพิจารณากายก็คือพิจารณากาย แต่พิจารณาอย่างไร? พิจารณาแล้วมันปล่อยวางอย่างไร? ฉะนั้น บอกว่าการพิจารณากายมันจะเป็นสมถะ การพิจารณากายไปแล้วมันจะได้สมถะมาด้วย การพิจารณากายโดยสมถะมาด้วย เพราะหลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกให้พิจารณากาย เดินกายเลยให้จิตอยู่ในกายนั้นเป็นสมถะ เวลาครูบาอาจารย์ที่เขาสอน เห็นไหม เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจนี่ท่อง ท่องเกศา โลมา นขา ทันตา ตโจเลย

นี่ไงนี่ก็ท่องกายไง ท่องกายท่องว่าเกศามันกายไหม? เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ นี่ให้ท่องเอาๆ มันก็เหมือนพุทโธนี่แหละ การพิจารณากาย พิจารณาหมุนอยู่ในกาย ได้สมถะด้วย มันเป็นสมถะอยู่แล้ว มันเป็นสมถะอยู่แล้ว ถ้ามันปล่อยมาเป็นสมถะหมดแหละ แต่ถ้าจิตสงบแล้วมันเห็นกาย วิปัสสนามันเกิดขึ้นอย่างไร? นี่ถ้าพิจารณากายมันได้สมถะด้วย มันต้องได้สมถะ ได้สมถะมาก่อน แล้วมันถึงจะเห็นกายโดยสติปัฏฐาน ๔ ถ้ายังจิตไม่สงบก่อน เห็นกายเป็นสมถะหมด พอมันจิตสงบแล้ว

เราจะบอกว่าสิ่งที่เขียนมา เพราะคิดว่า เพราะเขาบอกว่าเขาก็ฟังเว็บไซต์เราด้วย ถ้าฟังเว็บไซต์เราก็จับประเด็นเอา จับประเด็นเอาไง ถ้าฟังเว็บไซต์นี่ วาง เราพูดอะไรนะแล้วจับเป็นประเด็น แล้วใช้ปัญญาตรึกเลย ตรึกตามนั้น เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนไว้อย่าเชื่อว่าเป็นอาจารย์เรา ให้ใช้กาลามสูตร ให้พิสูจน์ก่อน นี่เวลาเราพูดอะไรไป จับประเด็นนั้นแล้วใช้ปัญญาตรึกเลย นี่ค้นคว้าให้จบมา ถ้าจบมาแล้ว ถ้าได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์ เดี๋ยวมันจะรู้ตรงนั้น

ฉะนั้น ถ้าฟังเว็บไซต์เรานะ จับประเด็นในเว็บไซต์แล้วใช้ปัญญาตรึก อย่าเชื่อ พิสูจน์ไง แล้วพิสูจน์มา ตรึกเสร็จแล้วนะเปิดพระไตรปิฎกด้วย เทียบเคียง เทียบเคียงเลยผิดหรือถูก ฉะนั้น สิ่งที่ว่านี่เขาบอกว่า

ถาม : ๑. เขาไปหาพระองค์หนึ่งเขาบอกให้พิจารณากายเหมือนกัน บอกว่ามันจะเป็นสมถะด้วย ได้กำลังด้วย ได้อะไรด้วย ไปหาพระอีกองค์หนึ่ง

ตอบ : นั่นเรื่องของเขา เรื่องของเขา เพราะพิจารณากายนี่พิจารณาตุ๊กตาก็ได้ พิจารณาอะไรก็ได้ คนพิจารณาตุ๊กตาดีนะ เพราะตุ๊กตามันถือไปได้ด้วย จบที่ไหนก็ที่นั่นแหละ ฉะนั้น เรื่องพระองค์อื่นเราไม่เกี่ยว ไม่สน เพราะอะไร? เพราะพูดไปแล้ว ถ้าพระ หมอนี่นะ หมอที่จะรักษาโรค เขาฉีดยาดูแลแล้วถ้าไข้มันหายเป็นหมอ ถ้าหมอคนไหนดูแลรักษาโรคนะ รักษาทั้งปี ทั้งชาติแล้วไม่หายไม่ใช่หมอ ฉะนั้น ใครจะพูดอะไรเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับเรา ไม่เกี่ยว

ถาม : ๒. จากที่ได้ยินมา ถ้าผมเชื่อว่าพระโสดาบันละสักกายทิฏฐิแล้ว เห็นผิดในกายได้แล้ว

ตอบ : นี่เห็นไหม คำว่าละสักกายทิฏฐิความเห็นผิดในกาย

ถาม : แต่ท่านยังมีอุปาทานอยู่ กระผมเลยตั้งใจถามหลวงพ่ออย่างนี้ครับ

พระโสดาบันที่ท่านเข้าจิตตานุปัสสนา ละสักกายทิฏฐิได้แล้ว แต่ยังติดในอุปาทานในกายอยู่ ดังจะเห็นได้ว่าท่านยังมีลูก มีเมีย

ตอบ : นี่แต่ยังติด แต่ยังติดมันเป็นโสดาบันได้อย่างใด? เอาเถอะปล่อยเนาะ โยมคิดอย่างไรก็โยมคิดไปเถอะ เพราะว่าโยมก็เขียนในเว็บไซต์มา เราก็พูดผ่านไมโครโฟนไป ไอ้กิเลสมันก็นั่งหัวเราะเยาะเนาะ (หัวเราะ) เราพูดผ่านไมโครโฟน ไมโครโฟนมันไม่มีกิเลส แล้วกิเลสใครมันก็ไม่สะเทือนด้วย ไอ้คนเขียนมาก็มันเลยกดเอาๆ มันก็ไม่โดนกิเลสอีกแหละมันโดนแป้น ไอ้กิเลสมันก็นั่งหัวเราะเยาะเลยนะ นี่กิเลสมันให้พระกับโยมเถียงกัน แล้วกิเลสมันก็นั่งหัวเราะเยาะ เออ สนุก กิเลสมันมัน เออ

ฉะนั้น ถ้าโยมเข้าใจก็เข้าใจไปอย่างนั้นเถอะ ไอ้เราพูดมาอย่างนั้น ถ้ามาอีกจะไม่เอาแล้วนะ

ถาม : เหตุที่ผมสงสัยก็เพราะท่านเข้าทางจิต ต้องทางจิตอย่างเดียวหรือ?

ตอบ : จิตก็คือจิต ธรรมก็คือธรรม สติปัฏฐาน ๔ มันพิจารณาเปลี่ยนแปลงกันได้ทั้งนั้นแหละ ฉะนั้น อันนี้อันหนึ่งนะ แต่อันที่เขาพูด อันที่เขาพูดเขาบอกว่า แล้วถ้าพิจารณากายโดยปัญญาอบรมสมาธิล่ะ? คำว่าปัญญาอบรมสมาธิ มันก็บอกชัดๆ อยู่แล้วว่าปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าปัญญาอบรมสมาธิแล้ว สมาธิแล้วจับกายได้มันถึงจะเป็นวิปัสสนา พอพุทโธ พุทโธมันเป็นคำบริกรรม เป็นคำบริกรรมเพื่อให้จิตสงบ ถ้าจิตมันสงบแล้วเราก็ออกพิจารณากาย

ฉะนั้น เวลาที่เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิหรือกำหนดพุทโธ พุทโธ เวลาพุทโธไปทำให้จิตสงบมันไม่มีอาหาร ไม่มีสิ่งใดที่หล่อเลี้ยงใจ เราก็ฝึกหัดใช้ปัญญาของเราไป ปัญญานี้มันฝึกหัดใช้ได้แหละ ปัญญาที่ฝึกหัดใช้อย่างนั้น ฝึกหัดใช้ปัญญาเพราะฝึกฝนไว้ ถ้าฝึกฝนไว้แล้ว นี่เวลากลับมาพุทโธ พุทโธมันก็พุทโธได้ง่ายขึ้น เพราะว่าพุทโธ พุทโธมันไม่มีเหตุมีผล พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธทุกวันเลย พุทโธอย่างเดียวเลยมันโง่ตายห่าเลย

พุทโธ พุทโธ ฝึกหัดใช้ปัญญาก็ได้ เวลาพุทโธแล้วมันอึดอัดขัดข้องก็ฝึกหัดใช้ปัญญา ปัญญาก็ฝึกหัดใช้ในชีวิตนี้แหละ พอฝึกหัดใช้ในชีวิตนี้แล้วมันก็ลงใจ ลงใจก็กลับมาพุทโธอีก มันก็ละเอียดขึ้น มันก็ดีขึ้น ถ้าดีขึ้นมา พอจิตสงบแล้วก็ฝึกหัดใช้ปัญญาไป ปัญญามันฝึกหัดใช้ได้ แต่เพียงแต่ว่ามันเป็นโลกียปัญญาหรือเป็นโลกุตตรปัญญา เวลาถ้ามันเป็นโลกุตตรปัญญา มันถึงเป็นภาวนามยปัญญา มันถึงเป็นปัญญาที่ชำระล้างกิเลส

ถ้าปัญญาเป็นโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันสร้างศรัทธา มันเป็นปัญญาสร้างความตั้งมั่น สร้างความมั่นคง สร้างให้เรามีจุดยืน แล้วเราจะทำปฏิบัติของเราไปมันก็มีจุดยืนของเราไปด้วยการปฏิบัติ ปัญญาอย่างนี้มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญานี้มันใช้ได้ทั้งนั้นแหละ ปัญญาในโลกียปัญญา ปัญญาในโลกุตตรปัญญามันก็เกิดมาจากจิตเหมือนกัน เกิดมาจากจิตนี่แหละ แต่จิตอันหนึ่งมันมีสมุทัย มันมีกิเลส มันมีอวิชชามันก็เป็นโลกียปัญญา แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา สงบเพราะอะไร? สงบเพราะจิตมันสงบตัวลง

จิตมันสงบเพราะกิเลสมันสงบตัวลง พอกิเลสมันสงบตัวลง เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา ที่ว่าเป็นโลกุตตรปัญญาเพราะมันไม่มีสมุทัยบวกเข้ามา มันก็เกิดจากจิตนั่นแหละ แต่จิตอันหนึ่งมันมีอวิชชา กับจิตอันหนึ่งอวิชชามันสงบตัวลง อวิชชามีไหม? มี แต่มันสงบตัวลง สงบตัวลงมันถึงฝึกออกใช้ปัญญา ปัญญาก็เป็นภาวนามยปัญญา พอกิเลสมันฟูขึ้นมา มันมีสมุทัยร่วมเข้าไปมันก็เป็นสัญญา สัญญามันก็เป็นโลกียปัญญา

นี่สิ่งฝึกหัดปัญญา นี่เวลาครูเขาสอนเขาต้องสอนอย่างนี้สิ มันก็สอนไปจากใจนี่แหละ ไอ้นี่มันจะแยกเลยว่าอันนี้จะเป็นสมถะ อันนี้จะเป็นวิปัสสนา อันนี้จะเป็นโลกุตตรปัญญา อันนี้ เวลาถ้ามันแยกส่วนประกอบของอาหาร อาหารที่เราไปซื้อมาที่ยังไม่ได้ปรุง เห็นไหม มันก็ซื้อแยกกันมา น้ำตาล เกลือ เนื้อสัตว์ ผัก หญ้าต่างๆ ก็ซื้อแตกต่างกันมา เวลาแกงไปในหม้อแล้วมันก็เป็น นี่อารมณ์ อารมณ์พอเวลามันเดินไปแล้วมันบวกมาหมด แล้วอันไหนมันถูก อันไหนมันผิดล่ะ?

แล้วเราทำความสงบมันต้องแยกแยะ มันต้องพิจารณาของมันสิ ไอ้นี่มันจะแยกมาตั้งแต่ต้น เวลาตักแกงขึ้นมา เออ อันนี้เป็นกะทิ มันไม่เป็นหรอก มันเข้าไปในปากมันก็ลงกระเพาะแล้วแหละ มันก็อร่อย นี่เราวิตกวิจารจนเป็นอย่างนั้นนะ นี่พูดถึงว่าถ้าพิจารณากายโดยปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณากายโดย นี่ถ้าอย่างนี้มันก็มีคำถามมาข้างหน้า มีเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอธิบายมาให้ชัด อะไรเป็นเจโต อะไรเป็นปัญญา อันนี้มันเป็นความถนัดของคนแต่ละคนนะ อันนี้เป็นจริตนิสัย

ฉะนั้น เราจะพูดอย่างนี้นะ เราจะพูดว่าเพราะว่าผู้เขียนเขาศึกษามาเยอะ แล้วครูบาอาจารย์สอนมาเยอะ ถ้าสอนมาเยอะ สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ก็ควรอยู่กับครูบาอาจารย์ที่เราตรงจริตนิสัย สำหรับพระสงบมันไม่มีวาสนาหรอก มันเป็นพระบ้านนอก มันไม่มีปัญญาหรอก ไม่ต้องไปฟังมันก็ได้ เราไปฟังครูบาอาจารย์ที่เราเชื่อ เราศรัทธา เรามั่นคงดีกว่า พระสงบทิ้งมันไป มันไม่รู้เรื่องหรอก มันมีแต่โม้ มันพูดไม่เป็นหรอก อย่าไปฟังมัน เสียเวลา เอวัง