ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

ธรรมสอน

๒๒ เม.ย. ๒๕๖o

ธรรมสอน

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

 

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๐

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

หลวงพ่อ : อันนี้คำถามสด ยาวเหยียดเลย แต่มันมีเนื้อหาสาระอยู่เหมือนกัน

ถาม : ลูกมีคำถามและความอัศจรรย์ที่ได้ประสบทางจงกรม ขอโอกาสเล่าให้หลวงพ่อฟังเจ้าค่ะ

ในคืนที่ ๔ ของการปฏิบัติ ลูกได้ฝันประหลาดว่า ตนเองกำลังหนีมารตัวหนึ่งที่กำลังมาใกล้ตัว ลูกหนีเข้าไปในอาคารหนึ่ง และได้ร้องบอก รปภที่รักษาอาคารแห่งนั้นว่า ได้ยินเสียงผู้ร้ายใกล้เข้ามาแล้วใช่ไหม ระวังไว้อย่าให้เข้ามาแล้วลูกก็หลบเข้าไปในอาคาร เสียงนั้นจวนตัวมากจนลูกต้องหนีขึ้นบันไดไป ไม่สามารถอยู่ในลิฟต์ชั้นที่ ๑ ของอาคารได้ พอขึ้นไปชั้นที่ ๒ ก็รู้ว่าโจรร้ายนั้นเข้ามาใกล้ในอาคารจนได้ ลูกก็หนีต่อไป ก็กดลิฟต์ขึ้นไปชั้นที่สูงขึ้น ความรู้สึกตอนนั้น อาคารนั้นเหมือนโรงพยาบาล

ชั้นล่าง ชั้นล่างลูกได้พบเห็นคนป่วย คนแก่มารอหาหมอ พอขึ้นไปชั้นสูงขึ้นไป (กดลิฟต์มั่วเลย ด้วยความตกใจและกลัวโจรร้ายลิฟต์มาเปิดที่ชั้นคนตาย ชั้นนี้มีคนตายนอนเรียงกันเต็มไปหมด ไม่มีหมอพยาบาลเลยสักคน เงียบมาก ใจคิดว่าจะมาหลบโจรที่ชั้นนี้ดีไหมหนอ แต่เงียบเหลือเกิน ไปต่อดีกว่า ลิฟต์ก็ไปเปิดชั้นใหม่ ชั้นนี้เต็มไปด้วยเด็กเกิดใหม่ร้องกระจองอแงบ้าง มีพยาบาลคอยดูแล เออชั้นนี้ค่อยมีเพื่อนหน่อย ลูกจึงก้าวออกมาหลบโจรอยู่ชั้นนี้

ในขณะที่หลบโจรอยู่นั่นเอง ก็มีคนบอกว่าให้มาดูตรงนี้สิ แต่ลูกดื้อไม่ไป ไม่เชื่อเขา ทันใดนั้นโจรมาจากทิศใดไม่ทราบ ทุบกระจกตึกทะลุมาลากคอลูกจะให้ร่วงลงจากตึกสูง ทันใดนั้นก็มีทีม (เหมือนองครักษ์ของลูกมาประมาณ ๔ คน มาช่วยต่อสู้กับโจรร้าย โจรนี้ร้ายกาจมาก กำลังมากเหลือเกิน มือไม้เหนียวมากค่ะ ถีบให้หลุดจากตัวลูก เหมือนแกะให้หลุดจากหน้าต่าง ขอบหน้าต่างมาก ลูกสู้สุดฤทธิ์สุดเดชกว่าที่จะถีบโจร แกะมือโจรให้ร่วงจากตึกได้แทบตายเลยทีเดียว พอโจรหลุดไปแล้วก็รู้สึกว่าโจรนี้จะกลับมาอีก เพราะ รปภข้างล่างกันไว้ไม่ได้ โจรจะมาหาเราจนเจอ และต่อสู้กันอีกใหม่

จากนั้นลูกก็ตื่นขึ้นเป็นเวลาประมาณตี ๔ ถึงเวลาเดินจงกรมพอดี ก็ได้ไปล้างหน้า สวดมนต์และเข้าทางจงกรม ก็ได้พิจารณาถึงความฝันที่เกิดขึ้นว่า เอ๊ฝันนี้เป็นฝันฟุ้งซ่านหรือว่าจะมีความหมายอะไรหรือเปล่าหนอ ใจก็ค้านว่าจะฟุ้งซ่านคงไม่ใช่ เพราะเมื่อคืนนี้ก่อนนอนได้สวดมนต์ชินบัญชร สติครบดี ไม่น่าฟุ้งซ่านได้ หากไม่ฟุ้งซ่านเหตุใดจึงฝัน

ก็ย้อนกลับมาว่า อ๋อเมื่อคืนนี้หลังจากลงจากทางจงกรมก็มานั่งอ่านหนังสือประวัติการภาวนาของพระมหาบัว ตั้งแต่หลวงตาออกบวช และการพิจารณาธรรมในขั้นต่างๆ จนมาถึงขั้นช่วงท้ายสุดที่ท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่น สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนในการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือ องค์หลวงตาต่อสู้กับกิเลสเอาจริงเอาจัง สมบุกสมบันมาก สู้เอาเป็นเอาตายกันไปข้างหนึ่ง

แต่ในใจเรากลับสงสัยว่า มันต้องต่อสู้ขนาดนั้นเชียวหรือ ต้องเอากันหนักขนาดนั้นเลยหรือ ไม่ทางสายกลางหรือ” แล้วก็ปิดหนังสือเข้านอน จนมาฝันแล้วก็สำเหนียกบนทางเดินจงกรมว่าภาวะถีบโจรร้ายให้หลุดจากตัวเรา ความรู้สึกในฝันมันชัดเจนมาก ต้องไม่ยอมแพ้ ถีบจนกว่าจะหลุด ถ้าไม่หลุดจะไม่ยอมหยุดเป็นอันขาด เพราะถ้าหยุดมันจะลากลงตึกสูง และตายไปกับมันแน่ ก็ถีบต่อสู้สุดชีวิตจริงๆ อ้าวทีนี้มาลองสู้กันบนทางจงกรมแบบในฝันเลยนะ ถ้าฝันนี้มีความหมาย เราคงได้รู้อะไรเป็นแน่

บนทางจงกรมวันนี้ลูกเริ่มเดินตอนตี ๔ ระหว่างเดินจงกรมก็พุทโธไม่ให้ขาด ตั้งมั่นไม่ให้ขาด และหากฟ้าไม่สว่างจะไม่ลงจากทางจงกรมเป็นอันขาด ระหว่างเดินความปวดหลังก็มา อ้าวสู้กันเลยปวดก็ปวดไป จากนั้นลูกก็เริ่มแยกอีก อะไรมันปวด หลังก็ไม่ใช่ หลังกับความปวดมันก็คนละอัน ใจมันจะสู้ ใจก็ไม่ใช่ความปวด แต่เมื่อก่อนทำไมทนไม่ได้ อ้อก็เพราะเอาใจไปรับ ใจวิ่งไปหา ไปเสวยความปวดนั้น มันก็ปรุงต่อเป็นทุกข์ทรมาน ไม่ไหวแล้ว ต้องหยุดแล้ว แล้วก็แพ้มันทุกที คราวนี้ปล่อยให้มันปวดไป ใจไม่เข้าไปรับ ใจอยู่กับพุทโธ สักพักไม่ปวดแล้ว ความปวดล่วงหายไปต่อหน้า อ้อแปลก อ้าวยังไม่หยุดพุทโธต่อ

พิจารณาความฝันที่ประสบมาขึ้นมาหลายครั้งว่าโจรร้าย รปภองครักษ์ทั้ง ๔ เปรียบกับอะไร จนในที่สุดก็กระจ่างว่า โจรร้ายน่าจะเป็นกิเลส เป็นเครื่องฉุดหัวใจลงต่ำ รปภเป็นสติ หากไม่มีสติสมบูรณ์ก็ไม่สามารถระมัดระวังโจรร้ายไม่ให้เข้ามาได้เลย องครักษ์ทั้ง ๔ พิจารณาอยู่นานจนคิดว่าน่าจะเป็นศีล สมาธิ ปัญญา และความเพียรที่ต้องต่อสู้กับโจรร้ายให้กระเด็นออกไปจากใจ หากองค์ทั้ง ๔ นี้ไม่แข็งแรงพอ จะไม่สามารถต่อสู้กับโจรร้ายได้เป็นแน่ ลูกต้องร่วงไปกับมันเป็นแน่

แล้วขณะพิจารณาฝัน ทุกขเวทนาก็ปวดอีก ปวดหนักกว่าครั้งแรก มาปวดขา ปวดหลัง เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม จะให้ลูกหยุดเดินให้ได้ ใจคิดว่าเราจะสู้กันให้ถึงที่สุดเหมือนความฝัน ทุกครั้งที่เหมือนว่าจะทนไม่ไหว หยุดเถอะ ก็จะย้อนถามกลับว่า สู้สุดหรือยัง ใจมันไม่เปรียบกับความรู้สึกตอนสู้กับโจรในฝัน ยังฝันไม่สุดเหมือนในฝัน อ้าวอย่างนั้นซัดกันต่อ ขาปวดมากนัก อ้าวหลุดออกไปเลย หลังหักลงมาเลย เวียนหัวจะล้ม ล้มเลย ตายเป็นตาย สู้กันพักใหญ่ ใจไม่ใช่ไปยุ่งกับความเจ็บปวดนั้นเลย ใจกลับพุทโธไว้ตลอด

ขณะนั้นเองความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นในใจดวงนี้เอง ทุกขเวทนาใหญ่หลวงดับไปต่อหน้าแบบนี้เอง ง่วงหายไป ไม่หวั่นไหว เมื่อกี้ยังจะตายอยู่เลย ตอนนี้เหลืออะไร ลูกได้รับรู้แล้ว ความอิ่มเอิบใจ ความอิ่มเอิบจิตแท้ พลังของจิตแท้หลังเวทนาดับเป็นเช่นนี้เอง มหาศาลมาก จากนี้เลยเหนื่อยเมื่อยล้าจะตายอยู่เมื่อกี้ ตอนนี้กำลังจะจากไปไม่ทราบ เดินปลิวเลย จนสว่างคาตาก็ไม่เหน็ดเหนื่อย ซึ่งสิ่งที่จะเข้าไปรับรู้ความผ่องใสก็ค่อยคลายตัวออกมา คงเหลือแต่กำลังที่ยังไม่หายไป

ลูกก็กลับมาพุทโธและพิจารณาว่าผลมหัศจรรย์เมื่อครู่เกิดได้อย่างไร มันคืออะไร และมีคำตอบผุดขึ้นในใจว่า นี่แหละมนุษย์เราจะล่วงพ้นทุกข์ด้วยความเพียร ลูกได้สัมผัสจริงว่าทุกข์เป็นอย่างไร ความเพียรต้องสุดชีวิตจริงๆ การมาล่วงทุกข์ที่มีคุณค่าจริงๆ สิ่งนี้คือส้ม เนื้อส้มที่หลวงพ่อเคยเทศน์สอนนั่นเอง ส้มนี้เป็นส้มโอเปลือกหนามากทีเดียว ปอกมือเปล่าทุกข์ยากลำบากมาก ลำบากเป็นที่สุด แต่เนื้อส้มภายในนั้นสุดจะบรรยายเหลือเกินค่ะ

สุดท้ายพิจารณาว่า ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากปัจจัยใดในใจตอนนั้น รู้สึกขอบคุณหลวงตา ขอบคุณหนังสือ ขอบคุณหลวงตาที่เทศน์ประสบการณ์ ขอบคุณถึงที่สุดหัวใจนี้ไม่ยอมแพ้

ตอบ : มันเขียนไปเรื่อยเนาะ เขียนหนังสือหวัดมันอ่านยาก ถ้าอ่านยากก็จบ เขาว่าถึงที่สุดนะ ต่อไปมันภาวนาไปเรื่อย ภาวนาไปเรื่อย เอาแค่นี้ก่อน เอาแค่ที่เขาฝัน เขาฝันว่าเขาหนี หนีโจรร้าย แล้วโจรร้ายตามล่ามาๆ ตามล่ามาเขาฝัน

แต่ความฝันที่ว่า พอฝันแล้วนี่เป็นความฝัน แต่ความฝันเวลามันเป็นความจริงไง ความฝันเป็นความจริงเพราะเขาฝันแล้วเขามาเดินจงกรม พอเดินจงกรม ย้อนกลับมาที่ความฝันนั้น ถ้าความฝันนั้น เห็นไหม ทีแรกถ้าเป็นความฝันก็เลยบอกว่าธรรมะมาเตือน เวลาธรรมมาเตือนนะ เวลาคนธรรมะเกิดๆ ธรรมะเกิด เวลาเราพิจารณาของเรา เห็นไหม พอจิตมันสงบ หรือจิตมันมีกำลังขึ้นมามันจะมีธรรมะมาเตือนๆ

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เวลาฝันฝันว่าตัวเองมันมีโจรผู้ร้ายไล่กวดมา แล้วก็โจรผู้ร้ายนี้เป็นกิเลสไง แล้วถ้ามีองครักษ์มีพวกต่างๆ มาดูแลรักษา ไอ้นี่ก็เป็นฝันอันหนึ่ง ถ้าความฝันอันนี้มันเกิดขึ้น ถ้าความฝันอันนี้มันเกิดขึ้น เห็นไหม ถ้ามันฝันเอง ฝันเองกับธรรมะมาเตือน แต่นี่เขาบอกว่าเขาอ่านหนังสือประวัติภาวนาหลวงตา พออ่านหนังสือประวัติภาวนาหลวงตา ความรู้สึกมันคิดว่า โอ้โฮคนเราเวลาประพฤติปฏิบัติมันต้องรุนแรงขนาดนี้เชียวหรือ มันต้องรุนแรงขนาดนี้เชียวหรือ

ความรุนแรงอันนั้นเป็นอันหนึ่งนะ อันนี้มันเป็นความลังเลสงสัย ถ้าเป็นความลังเลสงสัย เวลาเราปฏิบัติ เวลาเราประพฤติปฏิบัติเราก็ว่าเราเป็นปัญญาชน ถ้าเป็นปัญญาชนเราปฏิบัติของเราด้วยการทำงานของเรา ทำงานขนาดไหนก็ต้องรักษาชีวิตไว้ๆ เพราะว่ารักษาชีวิตไว้ สิ่งที่รักษาชีวิตไว้ ปรารถนาความสุขๆ ไง กิเลสเป็นเราๆ ไง ถ้าสรรพสิ่งนี้เป็นเรา กิเลสเป็นเรา เราทำอะไรไม่ได้เลย

แต่คนที่เขามีสติมีปัญญานะ ความเพียร ความเพียร ความวิริยะ ความอุตสาหะ เวลาทำขึ้นมาทำเพื่อคุณงามความดีไง แต่ความเหน็ดเหนื่อยก็เป็นเรา สรรพสิ่งก็เป็นเรานะ กิเลสมันก็เป็นเราไปด้วยไง ทีนี้เวลาคนที่เขาปฏิบัติแล้ว เวลาเขาอดนอนผ่อนอาหารไง เขาอดนอนผ่อนอาหารเพื่อไปทอนกิเลสๆ ถ้าเราอดอาหารกิเลสมันก็อดไปด้วย ถ้าเราอยู่สุขอยู่สบายกิเลสมันก็อ้วนพีไปด้วย นี่ก็เหมือนกัน เพราะกิเลสมันเป็นเราไง แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมาเวลาไปอ่านหนังสือเข้าแล้วมันสงสัย เขาสงสัยว่า โอ้โฮต้องทำขนาดนี้เชียวหรือ ทำขนาดนี้เชียวหรือ

นั่นน่ะมันเลยไปฝันไง ความฝันอันนั้นเพราะอะไร เพราะความคุ้นชินไง เพราะความคุ้นชินกับเรา ถ้าเราเป็นคนรักตัวรักตนใช่ไหม เราทำสิ่งใดเราก็ทำด้วยความพอประมาณของเรา แล้วพอประมาณของเรา เราบอกว่านี่ทางสายกลาง แต่ถ้าใครทำอะไรที่รุนแรงเกินไปเป็นอัตตกิลมถานุโยค ถ้าอัตตกิลมถานุโยคอันนั้นมันเป็นความคิดของเรามันเจือไปด้วยกิเลส สมุทัยมันจรมา กิเลสอนุสัยมันนอนเนื่องมากับใจ อนุสัยมันนอนเนื่องมากับใจ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาท่านเย้ยมารไง มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา เราจะไม่ดำริถึงเจ้า เจ้าจะเกิดอีกไม่ได้เลย เกิดจากความดำริของเรา ไอ้มันคิดมาแล้ว คิดไปมันก็คิดโดยสัญชาตญาณ คิดโดยความคุ้นชินไง โอ๋ยต้องขนาดนั้นเชียวหรือ” อย่างนี้พูดประสาเราว่ายังมีบุญนะ คิดว่าโอ้โฮต้องทำขนาดนั้นเชียวหรือ” มีคนอ่านหนังสือนี้มาก อ่านหนังสือครูบาอาจารย์นะ โอ้ยถ้าอย่างนี้ไม่ปฏิบัติดีกว่า เพราะอ่านแล้วมันกลัวไง โอ้โฮถ้าลงทุนขนาดนี้แล้วเดี๋ยวมันตายไง พอเดี๋ยวมันตาย เดี๋ยวมันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา เดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวยาก อย่างนี้ไม่ปฏิบัติดีกว่า

แต่ถ้าคนมีศรัทธาความเชื่อ เวลาคนมันจนตรอกนะ เวลามาอ่านหนังสือประวัติครูบาอาจารย์ อืมมันเป็นช่องเป็นทาง เหมือนกับหัวรถจักรมันลากขบวนนั้นไปเลย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีสติมีปัญญานะ เราพยายามจะขวนขวายของเรานะ มันมีช่องทางของมันออกไปเลย พูดถึงว่าคนที่ปฏิบัติ คนที่มีศรัทธาความเชื่อ แล้วคนที่มีการกระทำมาเขาก็ลงใจของเขา

แต่ของเรา พอเราอ่านแล้วมันอยู่ที่ตรงนี้ ตรงที่ว่าคืนนั้นก่อนนอนอ่านหนังสือหลวงตา พออ่านหนังสือเสร็จแล้ว โอ้โฮมันขนาดนั้นเชียวหรือ โอ้โฮขนาดนั้นเชียวหรือ” โอ้ไปฝันเลย ไปฝันว่าเวลาผู้ร้ายโจรมันตามมาไม่โอ้โฮเลยนะ เรียกคนช่วย เวลาโจรมันตามมาตั้งแต่ชั้นที่ ๑ กดลิฟต์ชั้นที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ หนีไปตลอด แต่มันดีอย่างหนึ่ง ดีอย่างหนึ่งไปชั้นแรกก็ไปเห็นคนตาย คนตายหมดเลย เงียบกริบเลย ไปอีกชั้นหนึ่งไปเห็นชั้นที่ว่าเด็กทารก เด็กแรกเกิด มันไปเห็น นั่นเป็นธรรมทั้งนั้น เวลาเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะ เวลาไปเห็นเข้า พอไปเห็นเข้า ถ้ามันสลดมันสังเวช ทีนี้เห็นเข้ามันก็เห็นว่ามีรปภมารักษา ถ้ามันพูดถึงว่าโดยธรรมดาธรรมะมันสอน เวลาธรรมมาเตือนๆ ธรรมมาสอนไง มันบอกคนนี้มีวาสนา มีอำนาจวาสนา เห็นไหม

เวลามีความสงสัยกิเลสมันท่วมหัว เวลากิเลสมันคิดอย่างนั้นทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ไม่ต้องทำ นอนสบายๆ ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม ทุกอย่างมีอยู่แล้ว เดี๋ยวเดินไปชนมันเอง กิเลสหลอกทั้งนั้น แต่เวลาความเชื่ออย่างนั้น แต่เวลาธรรมมาเตือนๆ มันก็มาถึงว่าเราต้องดิ้นรน ต้องต่อสู้ ต้องหนี เวลาหนีโจรน่ะกลัว เพราะโจรมันฆ่า เวลาโจรมันฆ่า เราเห็นได้ว่าโจรมันฆ่า นี่แหละบุคลาธิษฐาน นี่ไง เวลากิเลสมันทำลายๆ ทำลายเราทั้งนั้น

แต่ถ้าเป็นธรรมะเวลาธรรมอยู่ไหน ก็ธรรมที่มาเตือนนั่นแหละ แต่เตือนแล้วตัวเองได้สติไหม เตือนแล้วได้ความยั้งคิดไหม เตือนแล้วรู้จักมันเป็นประโยชน์ไหม ถ้ามันเป็นประโยชน์ขึ้นมา สิ่งที่ฝันนั่นน่ะเป็นการเตือน พอเป็นการเตือนขึ้นมา นี่เป็นการเตือน เห็นไหม เวลาคนที่ปฏิบัติเหมือนกัน เวลาจิตมันสงบแล้วเห็นนิมิต เราแก้ไขได้ เพราะเราประพฤติปฏิบัติ สติเราสมบูรณ์อยู่ จิตมันสงบ จิตสงบแล้วเห็น

แต่ถ้าไปฝัน ฝันว่าแก้ไม่ได้ เพราะฝันเรานอนหลับ เวลาบางคนบอกภาวนาดีในฝันนะ บอกเวลาฝันไปเห็นสติปัฏฐาน ๔ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เราบอกไปเห็นกันจริงๆ หรือ ไม่ใช่ฝัน อำนาจวาสนาของคนมันร้อยแปด มันหลากหลายมาก ถ้าคนหลากหลายขึ้นมา เวลาภาวนาเวลามีสติสมบูรณ์ทำอะไรไม่ได้ ภาวนาทุกข์ยากมาก เวลานอนหลับฝันเป็นชิ้นเป็นอันเลย เวลาฝัน อันนั้นก็เป็นบุญอันหนึ่งนะ เป็นความฝัน ได้เฉพาะในฝันไง แต่เวลาปฏิบัติจริงๆ ไม่ได้ มี มีคนมาถามปัญหาเยอะมาก แหมเวลาเล่าให้ฟังเราก็แหมชื่นชมนะ เออคนนี้ภาวนาเก่ง แล้วบอกว่าให้แก้ไข ทำไม่ได้หรอกเพราะมันเป็นความฝัน มันอยู่ในฝัน

ใช่เวลามันฝันมันแก้ไม่ได้ เพราะ เพราะฝันเราควบคุมไม่ได้ ฝัน ถ้าคนมีสติดีนะ เวลาฝัน เวลาสงสัยในฝันแล้วแก้ในฝันเลยก็มี คุณภาพของจิตมันจะดีกว่าที่ว่าฝันแล้วแก้ไม่ได้นี่ระดับหนึ่ง เวลาบางคนฝันนะ ในฝันมันถามตอบกันในฝันเลย แต่ก็เป็นถามตอบในฝัน มันก็เป็นความฝัน ไม่ใช่ปัจจุบันไง มันก็ยังแก้กิเลสไม่ได้ แต่จิตของคนมันมีหยาบมีละเอียด เวลามันเป็นของมันไป

แต่นี่ไม่ใช่ นี่เวลาฝัน ฝันถึงว่า เห็นไหม ฝันให้เราเข้าไปในตึก ๔ ชั้น ตึก ๔ ชั้น อริยสัจนั่นแหละ ให้เข้าไปเห็นคนตาย ให้เข้าไปเห็นเด็กทารก ให้เข้าไปเห็นหมอ ให้เข้าไปเห็น แล้วเราจะเชื่ออะไร เราจะแก้ไขอย่างไร ไอ้นั่นเป็นความฝัน เป็นการบอกอำนาจวาสนา ทีนี้พอฝันแล้ว พอตื่นจากฝัน พอตื่นจากฝันขึ้นมา มาเดินจงกรม มาเดินจงกรมมาพิจารณาของตน พิจารณานะ ไอ้นั่นเป็นเหตุ เวลาคนมาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เวลาเราจะภาวนา หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ถ้าเราไม่หายใจเข้านึกพุท ไม่หายใจออกนึกโธ หายใจทิ้งเปล่าๆ

พอหายใจเข้าระลึกถึงพุท หายใจออกระลึกถึงโธ ก็เป็นพุทธานุสติ หายใจเป็นอานาปานสติ กำหนดพุทโธเป็นพุทธานุสติ แล้วจิตเป็นคนกำหนด มันก็เป็นการประพฤติปฏิบัติโดยปัจจุบัน เวลาเราทำนะ แล้วเราทำเพื่อให้จิตมันสงบ เห็นไหม หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธให้มีงานทำ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเดินจงกรม เรานั่งสมาธิภาวนา คนที่ภาวนาแล้วไม่ได้ผล มันไม่มีเหตุ มันไม่มีงานให้ทำไง ถ้ามีงานให้ทำ เวลาจิตสงบแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา ได้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง มันได้พิจารณา แต่ถ้ามันไม่เห็น ที่ภาวนากันอยู่ปัจจุบันนี้ที่มันไม่ก้าวหน้าเพราะมันไม่เห็น ถ้าเวลามันเห็น เห็นก็เห็นโดยวิปัสสนึก เห็นโดยการสร้างภาพ มันไม่เห็นตามข้อเท็จจริง ถ้าเห็นตามข้อเท็จจริง ถ้าจิตจริงเห็นจริง จิตมันไม่จริง ไม่จริงเพราะมันไม่เป็นสมาธิไง ไม่เป็นสมาธิมันมีสมุทัย มันมีความคิดไง

ถ้าเป็นสมาธิจิตตั้งมั่นๆ มันเป็นสมาธิจิตตั้งมั่นไม่พาดพิงในอารมณ์สิ่งใดทั้งสิ้น แล้วมันมีกำลัง สติมันน้อมไปสู่สติปัฏฐาน ๔ มันเห็นตามความเป็นจริง เวลาพิจารณาไป เราจะบอกว่ามันต้องมีเหตุ ถ้ามันมีเหตุนะ พอมีเหตุมีการภาวนา โอ้โฮมันคึกคักมาก คนถ้ามีงานทำๆ นะ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาได้ทั้งวันทั้งคืนเลย แต่คนถ้าไม่มีงานทำไง เดินจงกรมมันก็แห้งแล้ง นั่งสมาธิไปก็หลับ นั่งสมาธิโงกง่วงเป็นหัวตอ มันไม่มีงานทำ มันไม่มีงานทำ

ทีนี้พอฝัน ฝันเสร็จแล้วพอเข้าทางจงกรม เห็นไหม มีงาน มีงานคือว่าเอาความฝันที่มันเพิ่งฝันสดๆ ร้อนๆ เอามาพิจารณา เอามาพิจารณา เห็นไหม เราเอามาพิจารณา เดินจงกรม เขาถึงบอกเขาพิจารณาไปว่าไอ้นั่นเป็นอะไร ไอ้นี่เป็นอะไร พิจารณา เดินจงกรมพอจิตมันกลับลงอีก เขาบอกว่าเกิดความมหัศจรรย์มาก ปวดหลัง ปวดเอว ปวดเจ็บแข้งเจ็บขาไปหมดเลย หายหมดเลย ถึงความมหัศจรรย์ นี่ข้อเท็จจริง

เวลาที่เขาปฏิบัติกันๆ มันเป็นวิธีการ เป็นวิธีการปฏิบัติอย่างหนึ่ง เป็นรูปแบบอย่างหนึ่ง หลวงตาท่านบอกว่าปฏิบัติกันพอเป็นพิธี ที่เขาปฏิบัติกัน ปฏิบัติกันพอเป็นพิธี พอเป็นพิธีมัน ก็ดี เด็ก เห็นไหม เด็กเวลามันเล่น มันทำของเสียหาย มันไปทำของเสียหายใช่ไหม เด็กให้มันเรียบร้อย ให้มันนั่งสงบๆ เห็นไหม มันก็เป็นเด็กดี

นี่ก็เหมือนกัน จิตโดยธรรมชาติมันคิดโดยกิเลสทั้งนั้น แล้วปฏิบัติพอเป็นพิธี นั่งสมาธิ เดินจงกรมพอเป็นพิธี ก็จัดให้มันเรียบร้อย ก็เป็นเท่านั้นเอง แต่มันไม่สงบ มันไม่เป็นสมาธิ พอ มันเป็นสมาธิขึ้นมาจิตมันลงเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิมันมีกำลังของมัน แล้วมันมีเหตุ มีเหตุคือว่ามันมีงานทำของมัน เพราะมันมีความฝันเป็นเหตุ มันพิจารณาของมันไปๆ เขาบอกว่าสิ่งที่เป็นความมหัศจรรย์ไง เขาบอกเขามหัศจรรย์มาก

เราจะบอกว่า เวลาฝันนั่นน่ะธรรมะมาเตือน เวลาเดินจงกรม เดินจงกรม เห็นไหม ที่เดินจงกรม ๒ ๓ ชั่วโมงขึ้นมาต่างๆ ไอ้ที่ความเจ็บปวดมันปล่อยหมด มันเวิ้งว้างหมด มันเป็นความมหัศจรรย์หมด อันนั้นก็เป็นประสบการณ์ของจิต เป็นประสบการณ์ของจิตนะ ถ้าเราปฏิบัติพอเป็นพิธีก็อย่างที่ทำๆ กันมา พอเป็นพิธีปฏิบัติเอาบุญไง ปฏิบัติเพื่อบุญกุศล แต่มันไม่เป็นปัจจัตตังเป็นสันทิฏฐิโกไง แต่เวลาฝันขึ้นมา ธรรมะมาเตือนแล้วว่าจะต้องเอาจริงเอาจังไง มันเลยมีกำลังใจไง มีกำลังใจว่าพอตื่นนอนขึ้นมาเข้าทางจงกรม พอเข้าทางจงกรม พิจารณาตามในความฝัน เพราะความฝันมันฝันไปแล้วมันเห็นอย่างนั้นมันแบบว่ามันสะเทือนใจ มันเป็นปัญหาของเราเอง

เวลาเราพิจารณา พิจารณาด้วยสติปัญญา ด้วยความสมดุลของมัน ความพอดีของมัน มันก็ปล่อย เวทนาหายหมด สิ่งนี้มันเกิดจากจิต แต่ไม่ใช่จิต เวลามันปล่อยแล้วมันก็กลับมาสู่จิต จิตมันก็เป็นความมหัศจรรย์ไง มหัศจรรย์นะ ผลของการปฏิบัติ ถ้าผลของการปฏิบัติ สิ่งที่ปฏิบัติมันก็เป็นผลงานของผู้ที่ปฏิบัตินั้น เป็นปัจจัตตัง เป็นสันทิฏฐิโก แล้วมันก็จะฝังอยู่จิตดวงนั้น เป็นปัจจัตตังของจิตดวงนั้นเป็นผู้เห็น จิตดวงนั้นเป็นผู้ที่ได้ผลตอบแทนนั้น แล้วมันฝังอยู่ที่นั่น เป็นของส่วนบุคคล

เห็นไหม ที่บอกว่า เวลาปฏิบัติๆ ธรรมะเป็นส่วนบุคคลๆ ส่วนบุคคล เวลาเราทุกข์ เราทุกข์ส่วนบุคคลนะ เดินจงกรมอยู่ ๔ คน คนหนึ่งก็มีความสงบพอสมควร อีกคนหนึ่งมีความสงบมาก เขาก็มีความสุข อีกคนหนึ่งปฏิบัติไม่ได้เลย ส่วนบุคคล อีกคนหนึ่งปฏิบัติแล้วล้มเหลวตลอด เป็นความทุกข์ทั้งนั้น ทุกข์ในใจ ปฏิบัติอยู่ ๔ คนเท่ากัน เหมือนกัน แต่ผลตอบรับไม่เหมือนกัน เป็นส่วนบุคคลๆ หมดล่ะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติของเรา เราฝันเราก็ฝันของเราเอง เวลาเราปฏิบัติขึ้นมาด้วยวุฒิภาวะคือมันฉุกคิดได้ ถ้ามันไม่ฉุกคิดได้นะ ฝันตื่นนอนขึ้นมาก็ โอ้โฮตกใจ นอนอยู่นั่นน่ะ นอนอยู่ด้วยครุ่นคิดอยู่นั่นน่ะ ไม่ทำต่อ เห็นไหม

ฝันตื่นขึ้นมา ตื่นขึ้นมาเข้าทางจงกรมเลย ทางจงกรมเสร็จก็เอาความฝันนั้นมาเป็นเหตุให้ได้การพิจารณา พอพิจารณาขึ้นมาแล้วมันก็ปล่อยวาง พูดถึงว่าผลของมัน เห็นไหม ว่าธรรมะมาเตือน ถ้ามันสอนมันปฏิบัติแล้วมันต้องได้น้ำได้เนื้อ เวลาปฏิบัติไปแล้วถ้ามันได้น้ำได้เนื้อมันก็เป็นประโยชน์กับเรา พูดถึงในการปฏิบัตินะ ถ้าปฏิบัติได้ นี่พูดถึงผลของที่เขามาอยู่หลายวัน กลับไปแล้ว แล้ววันนั้นเขาจะถามปัญหา

เราบอกว่าเราจะมาตอบวันนี้ เราจะมาตอบตอนเป็นการเป็นงานไง แล้วตอบแล้วก็จบ แล้วถ้าปฏิบัติก็ปฏิบัติไปเรื่อย ถ้าปฏิบัติต่อเนื่องไป เพราะว่าทุกคนต้องการคุณงามความดี ทุกคนปฏิบัติแล้วก็ต้องการให้ได้ผล ปฏิบัติได้จริงไง เราแสวงหานะ ความเชื่อเป็นเรื่องหนึ่งนะ เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นไปมันจะได้จริงไม่ได้จริงนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้ามันได้จริงก็ได้จริงของเรา ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิเวลาปฏิบัติแล้วได้จริงตามความเป็นจริง มันจะเป็นคุณประโยชน์

ถ้าปฏิบัติไปแล้วเป็นความจริงของเรา ความจริงของผู้ที่ปฏิบัติ แต่มันไม่ลงสู่ธรรม มันไม่เป็นความจริงในธรรมไง เพราะปฏิบัติแล้วมากน้อยแค่ไหน จิตมันจะปล่อยวางอย่างไร มันจะปล่อยวางโดยขาดสติ มันจะปล่อยวางโดยเป็นธรรมหรือเป็นโลก ถ้าเป็นโลก เป็นโลกก็ปล่อยแล้วไม่มีสิ่งใดเป็นสาระ ถ้าปล่อยที่เป็นธรรมมีสาระทั้งนั้น การปล่อย ปล่อยด้วยอะไร ปล่อยด้วยสติ ปล่อยด้วยสมาธิ ปล่อยด้วยปัญญา การปล่อยที่มันมีคุณสมบัติมากน้อยแค่ไหน แล้วถ้าปล่อย ปล่อยอย่างไร มันจะเป็นความจริงความจังของผู้ที่ปฏิบัตินั้น ผลของการปฏิบัติเนาะ จบ

หลวงพ่อ : อันนี้คำถามในเว็บไซต์นะ

ถาม : เรื่อง ทางเดิน

หลวงพ่อ : เขาว่าทางเดินนะ

ถาม : กราบนมัสการหลวงพ่อ ครั้งล่าสุดผมเขียนมากราบเล่าถวาย ท่านอาจารย์เมตตาตอบในชื่อ กิเลสโดยย่อ” คราวนี้ผมจะเล่าถวายตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันโดยเขียนเป็นเพียงบางส่วน เพราะมันอาจจะยาวมากเกินไป

ตอบ : เราก็เลยจบเลย เพราะเพียงบางส่วน ๑๐ หน้า ถ้าทั้งหมดเป็นหนังสือหลายเล่มแน่ๆ เลย เพียงบางส่วน ๑๐ หน้า

ฉะนั้น คำว่า กิเลสโดยย่อๆ” เพราะเขาเขียนมา เขาเขียนมาแล้ว เขาบอกว่าเขาเคยปฏิบัติครูบาอาจารย์มา ปฏิบัติมาหลายสิบปีแล้ว แล้วปฏิบัติโดยการทำสมาธิบ้าง โดยการใช้ปัญญาบ้าง แล้วบางทีเขียนถามหลวงพ่อ หลวงพ่อเอ็ดเอาบ้าง

เวลาเอ็ดเอาบ้างนี่นะ คำว่า เอ็ดเอาบ้าง” นักปฏิบัติ เห็นไหม เวลาเขียนถ้านักปฏิบัติโดยส่วนตัวมันพูดได้จะเจนได้ชัดเจน เวลาโดยส่วนตัว แต่ถ้าเขียนมาถามมันเหมือนกับถามธรรมะขั้นใดก็แล้วแต่ ถ้ามันพูดออกไป ถ้าคนมันเป็นสาธารณะพูดออกไปเพื่อให้คนอื่นรับรู้ ถ้ามันพูดถึงบางอย่าง โลกเขารับไม่ได้ ว่าอย่างนั้นเถอะ ถ้าโลกรับไม่ได้ เวลาเขียนมา เราถึงได้เอ็ด ถ้าเราเอ็ดนะ เราเอ็ดมันแบบว่าคนที่เขาจะถามปัญหาเขาเรียกกาลเทศะ สมควรไม่สมควร

แล้วถ้าสมควรเขียนชัดๆ ครูบาอาจารย์ท่านรู้ แต่บางทีเขียน เขียนต้องการให้เปิดทาง หรือเขียนให้เห็นตาม ที่เวลาเอ็ด เอ็ดอย่างนั้นน่ะ มันมีหลายคนที่เวลาเขียนมาแล้วเอ็ดแรงมาก เพราะอะไร เขาพยายามจะฟังเว็บไซต์ แล้วก็จับประเด็นมาถามเป็นประเด็นๆ แล้วจับประเด็นมาถาม คำถามอย่างนี้มันไม่เป็นประโยชน์ มันไม่เป็นประโยชน์เพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่การที่เขาปฏิบัติแล้วติด เช่น เขาปฏิบัติสิ่งใด เขาไปรู้เห็นสิ่งใด แล้วเขาสงสัยสิ่งใด ถ้าเขาเขียนอย่างนั้นมาถามเรานะ โอ้โฮตอบน้ำไหลไฟดับเลย ตอบได้ชัดเจนมาก

แต่ถ้าไปจับประเด็นมา ไปจับเพราะส่วนใหญ่แล้วก็เอาคำ เพราะเวลาคำพูดนะ เวลาที่ว่าหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านสั่งสิ่งใดที่เป็นหลัก เป็นสิ่งที่ว่าท่านเตือนไว้ อันนั้นมันมีเหตุมีผล แล้วเวลาพูดอะไรมันฝังใจไง เพราะหลวงตาท่านพูด ท่านอยู่กับหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะพูดทีเล่นทีจริง ทีเล่นทีจริงเพราะอะไร

เพราะเหมือนเด็ก เราคุยกับเด็ก เด็กทำงานมันจะได้ผลหรือไม่ได้ผลนะ เราคุยกับเด็ก ถ้าบอกจริงจังเกินไป เด็กมันก็จะกลัว บางทีพูดเอาใจ เอาใจก็เหมือนพูดเล่น แต่การพูดเล่นนั่นมันมีความจริง แต่พูดความจริงๆ เขาอาจจะสะดุ้งกลัว อาจจะไม่กล้ากระทำตาม ก็พูดแบบให้นิ่มนวล หลวงตาท่านบอกว่าหลวงปู่มั่นท่านพูดมีทีเล่นทีจริง แต่ของเราไม่เล่น เรามีจริงทั้งนั้น เราจริงตลอด” แล้วจริง เวลาจริงแล้วมันจริงแล้วเราเชิดชูไง

แต่เวลาถ้าเป็นกิเลสนะ กิเลสมันจะตีตัวเสมอท่าน มันจะวัดรอยเท้า คำพูดบางคำมันมีคุณค่า เราก็มาพูดเล่นพูดหัวกันจนหลวงตาท่านเอ็ดพระนะ ไอ้พวกหมาบ้า หมาบ้ามันหันมากัด กัดฉีกธรรมะไง ถ้าพูดภาษาเราก็แบบว่าเหยียบย่ำ พูดหยอกพูดเล่น เอาธรรมะมาล้อเล่น หลวงตานี่ไม่ได้นะ ตอนอยู่สมัยใหม่ๆ ต้องมีสติ ต้องจริงจังตลอด ต้องรอบคอบตลอด ไม่มีทีเล่นทีจริง คำว่า ทีเล่นทีจริง” คือหมาหยอกไก่ ธรรมะหมาหยอกไก่หรือ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาเขียนมาไง บอกว่า บางทีผมถามมาโดนหลวงพ่อเอ็ดเยอะมาก

เวลาเอ็ดมันเอ็ดเพราะเหตุนี้ อ้าวก็เอาตามความเป็นจริง ถ้ามันเป็นความสงสัยจริงๆ เขียนมาจริงๆ ไม่มีเอ็ดหรอก แต่ถ้าจะเอ็ดนะมันมีเลศนัย มันมีอะไรแฝงเร้น ถ้าอย่างนี้ใส่เต็มที่เลย เพราะถ้าไม่อย่างนั้นนะ มันไม่ทันกิเลสไง พูดเรื่องธรรมะแล้วมาล้อเล่น มาพูดเทียบเคียงอย่างนี้ มันเหมือนไม่จริงใจ ความไม่จริงใจ การปฏิบัติความไม่จริงใจมันจะเอาความจริงมาจากไหน คนเราเวลาจะประพฤติปฏิบัติมันต้องจริงมาตั้งแต่ต้น เราจริง

เวลาหลวงตาท่านพูด ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมา-สัมพุทธเจ้าเป็นความจริง แล้วถ้าเราไม่จริง เราจะไม่ได้ความจริงอันนั้น ความจริงอันนั้นเราต้องจริงก่อน พอเราจริงแล้วเราจะได้ความจริงอันนั้น” นี่พูดถึงว่า เพราะเขาเขียนมาด้วยความน้อยใจไงว่า บางทีโดนหลวงพ่อเอ็ดเยอะมาก” อันนี้อันหนึ่ง

อันที่สอง อันที่สองบอกว่า เป็นแนวทางเดิน อยากให้หลวงพ่อชี้ว่ามันถูกต้องหรือไม่

ถ้าเป็นทางเดินนะ ทางเดินที่เราเดินมา ทางเดินทางที่เราประพฤติปฏิบัติ ต่างคนต่างขวนขวาย ต่างคนต่างมุมานะเพื่อจะไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ การถึงที่สุดแห่งทุกข์มันเป็นอำนาจวาสนาของคน ถ้าอำนาจวาสนาของคนเราพยายามประพฤติปฏิบัติของเราให้ความจริงจังของเรา แล้วถ้าปฏิบัติจริงจังของเรา ผู้ที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่าย เขาก็มีโอกาสของเขาที่เขาจะบรรลุธรรมของเขา โดยที่เขาปฏิบัติง่ายรู้ง่ายตามความเป็นจริงของเขา เพราะเขาได้สร้างอำนาจวาสนาอย่างนั้นของเขามา

แล้วทางเดินๆ เราเดินของเรามาขนาดนี้ ถ้าเราเดินมาขนาดนี้เราก็พยายามขวนขวายของเรา แล้วพยายามขวนขวายของเรา ถ้ามีสิ่งใดที่ผิดพลาด สิ่งที่ทำไปแล้วมันเป็นอดีตไปทั้งนั้น สิ่งนั้นคือประสบการณ์ แล้วเราทำของเรา ปัจจุบันนี้ทำของเรา เริ่มต้นของเราปัจจุบัน ทางเดินของเรา เราก็ต้องทำจริงของเรา ทำจริงของเรา เรามีอำนาจวาสนาขนาดไหน เราทำความจริงของเรา ถ้าความจริงของเรา เห็นไหม เรามีสติปัญญาของเราเท่าไร เราทุ่มเทเท่านั้น

เวลางานทางโลก ที่งานทางโลกมันยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน เราทำสิ่งใดที่เกินหน้าเกินตาสังคมแล้วมันจะเป็นจุดเด่น มันจะเป็นสิ่งที่ไม่ดี เรายังต้องพยายามระงับ อันนั้นเป็นทางของโลก แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติมันเป็นเรื่องภายในของเรา ถ้าเป็นเรื่องภายในของเรานะ ศีล สมาธิ ปัญญา การตั้งใจของเรา เราทุ่มไปทั้งตัวเลย เพราะเรานั่งหลับตาอยู่ เดินจงกรมอยู่ ไม่มีใครมารู้ความในใจเราหรอก

เวลาปฏิบัติทุ่มเทเต็มที่เลย กิริยาการเดินจงกรมกับกิริยาการนั่งสมาธิเหมือนๆ กันทุกคน แต่ไอ้เรื่องกิเลสตัณหาความทะยานอยาก เรื่องมรรคเรื่องผลในหัวใจของคน มันไม่เหมือนกัน มันไม่เท่ากัน แล้วไม่ต้องไปแคร์ใคร เราทุ่มเทของเราเต็มที่ๆ เลย เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทุ่มของเราไปเต็มที่เลย แล้วถ้ามันมีปัญหาสิ่งใด ครูบาอาจารย์มี เราก็ปรึกษาท่าน ทำความจริงอย่างนี้ ทำความจริงอย่างนี้ นี่ทางเดินสิ่งที่มันผิดพลาดไปแล้วผ่านไป

ฉะนั้น เพราะเรื่องทางเดิน เขียนมา เขียนมาก็อ่านแล้ว อ่านหลังไมค์แล้ว พออ่านหลังไมค์เข้าใจแล้ว ไม่ต้องเสียใจนะ หลวงพ่อไม่อ่านของผมเลย แล้วหลวงพ่อก็พูดเอาๆ อ่านแล้ว แต่ไม่มาอ่านตรงนี้ มันเสียเวลา อ่านหมดแล้ว พออ่านหมดแล้วที่ว่าหลวงพ่อเอ็ดอย่างนั้น เวลานั่งสมาธิที่ไปพิจารณาอยู่ที่ในโบสถ์ ที่พิจารณาเวทนาแล้วมันดับลง เออที่อ่านมาทั้งหมดอันนั้นดีที่สุด อันที่ว่าเวลามันสักแต่ว่าเลย ว่างๆ อันนั้นน่ะใช้ได้ แต่แต่ก็ได้หนเดียว

อันอื่นเราดูแล้วก็ผิวเผิน แต่อันที่ไปนั่งภาวนาที่สู้กับเวทนานั่น แล้วเวทนาดับหมด เวลาขับรถกลับบ้านมองโลกนี้มันเหมือนกับใบไม้แห้งเลย เวลาคนที่ปฏิบัติแล้วเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าจิตมันลง จิตมันดีๆ นะ มองเรื่องโลกๆ เป็นเรื่องไร้ค่า ไร้ค่า เอออันนั้นน่ะดีที่สุด แล้วพยายามทำต่อเนื่องไป ทำต่อเนื่องไป

สิ่งนั้นถ้ามันสงบแล้วเราก็ฝึกหัดพิจารณาของเราไป แล้วที่ปฏิบัติไปแล้วเป็นการยืนยันไง เขียนมาให้หลวงพ่อยืนยันว่า ทางเดินนี้ถูกต้องหรือไม่ ควรแก้ไขอย่างใด ควรแก้ไขอย่างใด ควรทำอย่างใดให้มันเพิ่มขึ้น ควรทำอย่างใดให้มันเข้าสู่ทาง” มันก็อยู่ที่วาสนา อยู่ที่ความพอดี อาหารของเรา เห็นไหม เราชอบอาหารสิ่งใดเราก็ว่าของเราพอดี แต่ไปให้ใครกิน คนอื่นเขาไม่ชอบรสชาติแบบเรา เขาก็บอกไม่เห็นอร่อยเลย

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติของเรา ความพอดีของเรา เราก็หาของเรา แล้วปฏิบัติของเรา ทางเดินของเราไง ทางเดินของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเราตามความเป็นจริงนะ แล้วมันจะได้จริงหรือไม่ได้จริงมันก็อยู่ที่วาสนาของคนด้วย แต่เราเป็นการปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราปฏิบัติของเราปฏิบัติจริงจังเพื่อบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ผลของการปฏิบัติเป็นของเรา ผลของการปฏิบัติเป็นการสร้างสมบุญญาธิการของเรา เราปฏิบัติของเรา ถ้าเป็นผลของเราก็โอเค ถ้าปฏิบัติไปแล้วเราก็บูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราได้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่แล้ว อันนี้มันเป็นความมั่นคงของเราไง

ฉะนั้น ทางเดินนี้ถูกต้องไหม” ถูก! “แล้วปฏิบัติแล้วถ้าถูกต้อง ผมต้องได้มรรคผลนิพพานสิ” ได้มรรคผลนิพพานอยู่ที่ความสามารถ อยู่ที่อำนาจวาสนาของเรา แต่เราปฏิบัติของเราเป็นปัจจัตตัง เป็นปัจจุบัน เป็นผลของเรา แล้วเราทำของเราต่อเนื่องไป เพราะนี้เป็นหนทางเดินของเรา หนทางเดินของเราคือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรมๆ แต่นี้เราปฏิบัติธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธ-เจ้าตรัสรู้แล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงได้กราบธรรมะๆ

แต่ของเรา เรากำลังประพฤติปฏิบัติอยู่ เราประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ปฏิบัติธรรมๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากราบธรรม แต่เราปฏิบัติธรรมให้ได้คุณธรรมในใจของเรา เราปฏิบัติของเรา ขวนขวายของเรา ทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา แล้วถ้ามีสิ่งใด เห็นไหม ให้กำลังใจตนเอง ให้กำลังใจตนเองพอเดินได้ ปฏิบัติของเราเพื่อเป็นผลของเราเนาะ เอวัง