ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

บังสุกุล

๑๑ ธ.ค. ๒๕๕๙

บังสุกุล

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “กราบถามเรื่องผ้าบังสุกุลค่ะ

กราบนมัสการหลวงพ่อที่เคารพอย่างสูง หนูมีเหตุทำให้ช่วงเทศกาลทอดกฐินไม่ได้ร่วมบุญสักวัดหนึ่งในปีนี้ ก็เลยคิดว่า ผ้าไตรที่ซื้อมาถวายหลวงพ่อในนามถวายผ้าบังสุกุลให้ตนเอง เพราะไม่รู้ความตายถึงหนูเมื่อไหร่ ใจเตรียมพร้อมตายทุกเมื่อ ห่วงแต่ว่าตนปฏิบัติธรรมยังไม่ถึงไหน ตายแล้วต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบสิ้น รู้ตัวดีอยู่แล้วว่าชาตินี้เกิดมาโชคดีที่สุด ได้กัลยาณมิตรนำพาไปกราบไหว้พ่อแม่ครูจารย์ที่ดีหลายองค์ ถ้าไม่รู้โอกาสชาติต่อๆ ไปคงยากยิ่งกว่าชาตินี้ จึงอยากขอความกรุณาเกี่ยวกับการถวายผ้าบังสุกุลค่ะ กราบเท้าหลวงพ่อ

ตอบ : เขาถามเรื่องถวายผ้าบังสุกุล เพราะตอนนี้จะถวายผ้าบังสุกุลก็เลยอยากรู้ว่าถวายผ้าบังสุกุลจะได้บุญมากแค่ไหนไง ถ้าได้บุญมากนะ อย่างกรณีเขาว่า ปีนี้ เพราะในช่วงทอดกฐินหนูมีเหตุไม่ได้ร่วมบุญสักวัดหนึ่ง

ถ้าร่วมวัดไหนก็ได้ เรื่องการทอดกฐิน พอการทอดกฐิน เขาว่าบุญในการให้ทานทอดกฐินนี่สูงสุด เพราะทอดกฐินมันมีช่วงเวลา ช่วงเวลาหนึ่งเดือนใช่ไหม แต่ทำบุญโดยปกติทำได้ทุกวันทุกเวลา อย่างเช่นบังสุกุลก็ทำได้ตลอดเวลา

ฉะนั้น เวลาทำทอดกฐิน ช่วงของกฐิน ทีนี้มันก็เป็นเรื่องของทานไง เรื่องของทานก็เรื่องของศีล ก็เรื่องของภาวนา ถ้าเรื่องของทาน ทำทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง ถือศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิได้หนหนึ่ง ทำสมาธิได้ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นหนหนึ่ง นี่บุญมันละเอียดเป็นชั้นๆๆ อย่างนี้

ฉะนั้น ถ้าระดับของทานใช่ไหม เราก็ควรทำ ควรทำ หมายความว่า ถ้าได้ทำทานบ่อยๆ เหมือนเราทำความสะอาดบ้านเราตลอดเวลา เราทำความสะอาดบ้านเราตลอดเวลา บ้านเราก็สะอาดน่าอยู่น่าอาศัย ถ้าบ้านเราสกปรกโสโครกมันไม่น่าอยู่ไม่น่าอาศัย

จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าเราปล่อยปละละเลย เราไม่รักษามัน มันก็จะสกปรกโสโครกของมัน ถ้าเราทำ ได้ทำทาน ได้ทำบุญกุศล เราเหมือนรักษาบ้านให้บ้านสะอาดไง ถ้าบ้านเราสะอาด บ้านเราร่มเย็นเป็นสุข มันก็น่าอยู่น่าอาศัยนะ

จิตใจก็เหมือนกัน ถ้าเราได้เสียสละ ได้ทำทานของเราเพื่อรักษาใจของเรา แล้วถ้าเราทำทานของเรา เสียสละอารมณ์ เสียสละความรู้สึกในหัวใจนี้ อนุโมทนากับคนเขาทำคุณงามความดี เห็นความดีต่างๆ เราอนุโมทนาไปกับเขา รักษาหัวใจของเราให้มันสะอาด รักษาหัวใจไม่ให้มันฟุ้งซ่าน ไม่ให้มันทุกข์มันยากไง มันก็น่าอยู่น่าอาศัย นี่ระดับของทาน

ระดับของศีล เราฝึกหัด เรามีความปกติของใจ ศีลคือความปกติของใจ ศีลมันใกล้ๆ สมาธินะ เพราะสมาธิคือจิตสงบ สมาธิคือจิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่น จิตตั้งมั่นก็คือจิตปกติ นี่ไง ถ้ารักษาศีลๆ อธิศีล จิตมันไม่เคลื่อนไหวนะ ไม่เสวย ไม่ฉาบไม่ฉวยนะ มันคงที่ของมัน เห็นไหม ศีลคือความปกติของใจ ศีลแท้ๆ ไง

ไอ้ข้อห้าม ข้อห้ามข้างนอก ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ไอ้นี่มันข้อห้าม แต่เราปกติของเรา เราทำคุณงามความดีของเรา เราไม่ระรานใคร เราไม่ทำความเสียหาย ศีลมันบริสุทธิ์อยู่แล้ว

แต่นี่ไม่ พอถือศีลแล้วเกร็งเลย ถ้าไม่ถือศีลนี่ แหมสะอาด แหมทำอะไรก็ได้ พอถือศีลแล้วเกร็งเลย เห็นไหม เราไปเกร็งเองต่างหาก เราไปเกร็งกับข้อห้ามนั้น แต่ถ้าเรามีสติรู้ตัวตลอดเวลาอย่างนี้ มันทำอะไรสิ่งใดมันก็ไม่ผิดพลาด รักษาศีลน่ะ แล้วถ้าทำสมาธิขึ้นไปมันจะมีคุณค่าๆ ขึ้นมา

คนเรามีกายกับใจ ร่างกายนี้ปรนเปรอมาตลอดนะ การเป็นอยู่ ปัจจัย ๔ หามาปรนเปรอตลอดเลย แต่หัวใจทิ้งๆ ขว้างๆ หัวใจไม่มีค่า หัวใจไม่มีค่าเพราะไม่รู้ว่าใจมันอยู่ไหนไง แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ร่างกายมันต้องการ เราจับต้องได้ไง ปัจจัย ๔ จับต้องได้ เสพได้ ทุกอย่างได้ มีความสุข ร่างกายนี้เราปรนเปรอมันมาตลอดชีวิต แต่หัวใจไม่เคยเจอมันเลย แล้วหัวใจไม่เคยรักษาเลย แล้วหัวใจมันไม่เคยสงบเลย กายกับใจๆ

มีแต่เรื่องของหัวใจคิดนะ เวลาคิดต้องคิดจากจิตวิญญาณ มันเรื่องของความคิด มันเรื่องของนามธรรม เรื่องของใจทั้งนั้นน่ะ แต่เวลามันคิด มันคิดเพื่อร่างกายทั้งนั้นเลย ไม่เคยคิดเรื่องหัวใจเลย ไม่เคยคิดถึงตัวเองเลย คิดแต่ว่าจะให้ร่างกายนี้มันสุขสงบของมัน

นี่ไง ถ้าเราพุทโธ ทำความสงบของใจเข้ามา เราจะเข้าไปสู่หัวใจของเรา ถ้าเข้าไปสู่หัวใจของเรา ถ้าจิตมันสงบ จิตตั้งมั่น โอ้โฮมันมหัศจรรย์ มันมีความสุขของมัน แล้วถ้าฝึกหัดใช้ปัญญา เห็นไหม

นี่พูดถึงระดับของทานไง เราจะพูดว่า หนูมีเหตุในช่วงที่ทอดกฐินไม่ได้ร่วมบุญสักวัดหนึ่ง แล้วในปีนี้ไม่ได้ร่วมบุญสักวัดหนึ่ง ไม่ได้ทอดกฐินเลย ก็เลยอยากจะมาถวายผ้าบังสุกุล ถ้าถวายบังสุกุลเพื่อบุญกุศลของตนโดยที่ว่ามันจะเกิดจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จะเกิดจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

เรามาภาวนาของเรา เราภาวนาของเรา สิ่งนี้อยู่ที่ไหนก็ได้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ หลวงปู่ฝั้นท่านพูดประจำ “หายใจทิ้งเปล่าๆ” เราหายใจไม่ทิ้งเปล่าๆ ไง

หายใจทิ้งเปล่าๆ เขาหายใจเพื่อโลกไง หายใจเพื่อชีวิตนี้ไง นี่หายใจทิ้งเปล่าๆ

ถ้าหายใจโดยมีสตินะ คอยระลึกรู้ หายใจเข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ ไม่ทิ้งเปล่าๆ แล้ว หัวใจมันได้รับผล หัวใจ เราจะค้นหาหัวใจของเรา เราไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ ไง ถ้าเราไม่หายใจทิ้งเปล่าๆ เราฝึกหัดภาวนาของเรามันก็อุ่นใจแล้ว

ที่บอกว่า เราเกิดมาเราจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ช่วงทอดกฐินเราก็ไม่ได้ทอด ทีนี้เราจะมาถวายผ้าบังสุกุล แล้วถามว่า อยากรู้เรื่องเกี่ยวกับผ้าบังสุกุล

ผ้าบังสุกุล เริ่มต้นสมัยพุทธกาล สมัยพุทธกาลนะ ผ้าบังสุกุล ผ้าห่อศพ สมัยโบราณเวลาคนตายเขาใช้ผ้าห่อ ผ้าห่อแล้วก็เอาไปทิ้งที่ป่าช้า ไม่ทำอะไรเลย เอาผ้านี่พัน ผ้านี่พันแล้วไปทิ้งในป่าช้า แล้วสมัยนั้นผ้ามันหายากใช่ไหม ฉะนั้น เวลาพระเราไม่มีครอบไม่มีครัว ไม่มีใครดูแล ก็จะใช้ผ้าบังสุกุล ถ้าใช้ผ้าบังสุกุล ก็ไปชักเอาจากซากศพนั่นน่ะ

ซากศพนะ ในบาลีบอกไว้หมด ใช้ไม้ค้ำ ใช้ไม้เขี่ย แล้วดึงผ้าออกมา พอดึงผ้าออกมาแล้วต้องเอาไปซัก ซักเสร็จแล้ว แล้วค่อยมาตัดมาเย็บเป็นผ้าจีวร นั่นคือผ้าบังสุกุล

ผ้าบังสุกุลครั้งแรกขึ้นมานี่ผ้าห่อศพ ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว นี่ผ้าเขาทิ้ง ทีนี้แบบว่าพอในสมัยปัจจุบันนี้มันมีโรงงานทอผ้า มันมีเรื่องธุรกิจ ผ้ามันหาได้ง่ายขึ้น ทุกอย่างมันก็เจริญมา พอเจริญขึ้นมาเขาก็ตัดเย็บให้พร้อมเลย เป็นผ้าบังสุกุล

แล้วก็จะมาถามผ้าบังสุกุลไง ผ้าบังสุกุลมันหมายถึงอะไร

ถ้าหมายถึงอะไร ครูบาอาจารย์ของเราท่านยังถือผ้าบังสุกุล ทอดผ้าป่าๆ ผ้าบังสุกุลอยู่ในป่านี่เศษทิ้ง มีต้นผ้าป่า เอาต้นไม้มาแล้วก็ไปพาดไว้ เราก็จะจำลองไง จำลองสมัยพุทธกาลไว้ นี่หมายถึงว่าผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลเราก็ไปพาดไว้ มันเป็นเรื่องผ้าบังสุกุลไหม มันไม่ระบุเจ้าของไง มันไม่ได้ระบุเจ้าของ มันไม่ใช่คหบดีจีวร

คหบดีจีวร คหบดีคือเรา เราถือของเรามาแล้วเรามาถวาย เขาเรียกคหบดีจีวร ผ้าบังสุกุลเขาไปพาดไว้ตามในที่โล่งที่แจ้ง แล้วพระครูบาอาจารย์ที่ท่านรู้ถึงระเบียบไง ท่านก็จะชักผ้าของท่าน ท่านชักของท่านนะ บังสุกุล ถ้าผ้าบังสุกุล อนิจฺจา วต สงฺขารา อนิจจา สิ่งที่เป็นอนิจจา มันมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ มันไม่มี พระก็ต้องมีสติปัญญารักษาตัวเองเอาตัวเองให้รอด แต่ถ้ามันมี มันมีเราก็ต้องรักษา

นี่ผ้าบังสุกุล ถ้าบังสุกุลถึงไม่มีเจ้าของ ถ้าไม่มีเจ้าของหมายถึงว่าไม่เจาะจง ไม่อะไร ไม่เป็นเรื่อง เขาเรียกว่าเป็นตัวตน เป็นกิเลส ว่าอย่างนั้นเถอะ ต้องเป็นธรรมชาติ ต้องเป็นสิ่งที่มาด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ถ้ามันจากความสะอาดบริสุทธิ์ เราเห็นมันตกอยู่ ไม่มีเจ้าของน่ะ ไม่มีเจ้าของ

ดูสิ เวลาของ ศีล ๕ เวลาอทินนาทาน ลักทรัพย์ไง ของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ของที่เจ้าของให้เราจับต้อง นั่นน่ะคืออาการของการขโมย เพราะมีเจ้าของ มีคนถือสิทธิ์ ถ้ามีคนถือสิทธิ์อยู่ เราไปจับต้องไม่ได้เลย นี่แหละคือการลักทรัพย์ เพราะเขามีเจ้าของเขาอยู่ ในบ้านเขามีเจ้าของ เราจะไปถือสิทธิ์ไม่ได้ เราจะไปหยิบไม่ได้ จับต้องไม่ได้

ฉะนั้น พอจับต้องไม่ได้ ทีนี้มันก็เลยเป็นวินัย เห็นไหม พระเวลาจะฉันสิ่งใด ใช้ของสิ่งใดต้องประเคน ประเคนเพราะอะไร เพราะเขาให้ เขาให้มันตัดไง มันตัดถึงว่าเจ้าของนี้เขาไม่ได้ให้ แล้วพระ ของอยู่บนศาลาอย่างนี้ ถ้าพระมาจะรู้ว่าของใครเป็นของใคร แต่ถ้าเวลาเขาประเคน เจ้าของเขายกประเคนให้โดยไม่มีการไปลักไปขโมยไปหยิบฉวยของใครไง ฉะนั้น เวลาสิ่งที่เข้าทวารปากได้ต้องประเคน ไม่ประเคนปรับอาบัติหมดเลย เขาป้องกันการติฉินนินทา ป้องกันร้อยแปด

นี่พูดถึงผ้าบังสุกุลว่ามันมาจากไหน ผ้าบังสุกุลเริ่มต้นมันเป็นผ้าห่อศพ พอผ้าห่อศพแล้ว สุดท้ายเรามามันก็มีผ้าที่ว่าพระเขาเก็บ เขาอะไร ในสมัยปัจจุบันนี้สิ่งที่หลวงตาท่านชม ท่านชมหลวงปู่มั่น ท่านบอกหลวงปู่มั่นใช้ผ้าบังสุกุลทั้งชีวิตเลย แล้วท่านไม่ใช้ผ้าคหบดีจีวรที่โยมถวายเลย เว้นไว้แต่ ท่านบอกเว้นไว้แต่ที่ท่านอุปัฏฐากหลวงปู่มั่นอยู่ มีเจ้าคุณที่ปราจีนฯ ท่านทอด้วยตัวเอง นั่นท่านเมตตาใช้ให้ นอกนั้นไม่ใช้เลย

นี่พูดถึงผ้าบังสุกุล ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีบารมี ท่านมีความเข้มข้นในหัวใจของท่าน ท่านทำของท่านได้ ท่านไม่ไหลไปกับโลกธรรมไง ลูกศิษย์ลูกหา ถ้าพระที่มีชื่อเสียง พระที่ท่านมีหลักมีเกณฑ์ ใครๆ ก็อยากจะมาอุปัฏฐาก ใครๆ ก็อยากให้ใช้ทั้งนั้นน่ะ แต่ท่านไม่ไว้หน้าใครเลย ว่าอย่างนั้นเลย ท่านไม่ไว้หน้าใคร ท่านไม่ใช้ของใครเลย เว้นไว้แต่เจ้าคณะจังหวัดปราจีนบุรี เพราะท่านเป็นลูกศิษย์ หนึ่ง สอง ท่านบอกว่าท่านได้ทอเอง ท่านได้ทอเอง ท่านได้ตัดเอง ท่านได้เย็บเอง ท่านได้ย้อมเอง ท่านทำกับมือ มันคงความผูกพันแล้วความเห็นน้ำใจนะ ท่านถึงยอมใช้ผ้าอันนั้น นี่พูดถึงผ้าบังสุกุลนะ ถ้าผ้าบังสุกุล เห็นไหม

ทีนี้ผ้าบังสุกุลก็ย้อนกลับมาแล้ว ย้อนกลับมาพระป่า พระป่าถือผ้า ๓ ผืน ถือผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุล ผ้าชักเอา ผ้าไม่มีเจ้าของ ผ้าเก็บเอาจากของเขาทิ้ง เก็บเอาจากไม่มีเจ้าของ ของไม่มีเจ้าของที่ตกหล่นอยู่กลางป่ากลางเขา สิ่งที่ไม่มีเจ้าของ นั่นน่ะถ้าไปชักเอา นั่นน่ะคือผ้าบังสุกุล แต่ถ้ามาถวายอย่างนี้เขาเรียกผ้าคหบดีจีวร คหบดีคือคนที่มีตังค์ คหบดีเขามีตังค์ เขาไปแลกเปลี่ยนมา แลกเปลี่ยนมาแล้วเขามาถวาย นี่มาถวายพระ

นี่ถึงบอกว่า ถ้าถือผ้าบังสุกุล ถือผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ถ้าถือผ้า ๓ ผืน นี่ถือผ้า ๓ ผืน นี่มาเป็นธุดงควัตรแล้ว ถ้าธุดงควัตรมันเป็นเครื่องขัดเกลากิเลส พระกรรมฐาน กรรมฐานก็ธุดงค์ ๑๓ นี่ไง ถ้าธุดงค์ ๑๓ มันเป็นการยืนยัน เป็นการยืนยันที่ว่า ใครก็ปฏิญาณตนว่าเป็นพระป่าๆ ทุกคนก็อยากเป็นพระป่า

พระป่า พระบ้าน พระอะไรก็แล้วแต่ มันเป็นชื่อ แต่มันอยู่ที่พฤติกรรม อยู่ที่การกระทำ อยู่ที่ข้อเท็จจริง จะเป็นพระชนิดใดก็แล้วแต่ ถ้าทำตรงกับธรรมตรงกับวินัยอันนั้นเป็นพระที่ดีทั้งนั้นน่ะ แล้วพระที่ดี เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไปถ้าเป็นความจริง ความจริง เห็นไหม เพราะความจริงขึ้นไปแล้ว ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต

เวลาหลวงตาท่านพูดถึงสมัยหลวงปู่มั่นนะ ท่านถามว่า พระในสมัยพุทธกาลห่มผ้าสีอะไร ห่มผ้าอย่างไร หลวงปู่มั่นท่านศึกษาด้วย แล้วเวลาหลวงปู่มั่นเวลาท่านปฏิบัติของท่าน ในประวัติหลวงปู่มั่นที่ว่าพระพุทธเจ้ามาอนุโมทนา นี่มันย้อนได้ มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สืบต่อๆ กันมา ถ้าสืบต่อๆ กันมา นี่การรักษา ถ้าครูบาอาจารย์ของเรารักษา รักษาอย่างนี้ ถ้ารักษาอย่างนี้มันก็เป็นการสืบต่อกันมา

แต่ถ้าสืบต่อกันมา เรามาพิจารณาอย่างนี้นะ พิจารณาในโลกนี้ ดูสิ ดูพระแต่ละประเทศ พระแต่ละที่นุ่งห่มไม่เหมือนกัน มันนุ่งห่มไม่เหมือนกันเพราะอะไรล่ะ เพราะมันเป็นที่อากาศ มันเป็นที่สภาพอากาศ สภาพต่างๆ เวลาศาสนาเผยแผ่เข้าไปในวัฒนธรรมใด ในชุมชนใด เขาก็ไปตามสภาวะวัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้น ถ้าท้องถิ่นนั้นมันก็แปรสภาพนั้น แต่พอเถรวาท เถรวาทของเรา เวลาเราเข้ามาแล้ว เวลาเข้ามาแล้วเราพยายามจะทำให้มันแบบสืบทอดมาให้ได้ ถ้าสืบทอดมาได้มันก็เป็นการทำตามให้มันชัดเจน ให้มันเหมือนต้นแบบให้ได้

นี่พูดถึงว่าผ้าบังสุกุลเนาะ ฉะนั้น สิ่งที่เป็นผ้าบังสุกุล เขาขอความรู้ไง เกี่ยวกับผ้าบังสุกุล

ถ้าเกี่ยวกับผ้าบังสุกุลเป็นอย่างนั้นแล้วทีนี้ย้อนกลับมาเราแล้ว ถ้าเราจะถวายผ้าบังสุกุลนะ เราก็ถวายผ้าบังสุกุล ฉะนั้น การถวาย เราจะถวายทาน เราทำใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ ปฏิคาหกไง เราหาสิ่งใดมาก็ได้ เราหาสิ่งใดมาก็ได้นะ

ฉะนั้น เวลาบอกว่า เขามีกัลยาณมิตรที่ดี พาไปหาครูบาอาจารย์หลายๆ องค์

ถ้าครูบาอาจารย์มันก็เป็นจริตนิสัย ถ้าจริตนิสัยของคนหนักไปทางใด เรามาอยู่ที่โพธารามใหม่ๆ เวลาเขามาถวายผ้าบังสุกุลกัน แล้วคนที่มาวัดเขามาถวายสังฆทาน มันจะมาโต้แย้งกันว่า สังฆทานของฉันได้บุญ สังฆทานมันครบชุด สังฆทานนั้นไม่ได้บุญ ได้บุญคืออะไร มีพระพุทธรูป ไม่มีพระพุทธรูป ร้อยแปด มาเถียงอะไรกัน

เพราะว่าเราเข้ามาในศาสนา ทุกคนก็คิดว่าตัวเองเป็นนักปราชญ์ ทุกคนมีสติปัญญา ถ้าทุกคนมีสติปัญญา ทุกคนก็มาจากครูบาอาจารย์องค์ใด จากเจตนาใด ก็บอกว่า สังฆทานนั้นถึงจะเป็นสังฆทาน สังฆทานนี้ไม่เป็นสังฆทาน

ทีนี้พระปฏิบัติ พระป่า เวลามันเที่ยวธุดงค์ไปมันจะมีประสบการณ์ อย่างเรานี่นะ เราบวชใหม่ๆ เราอยู่ทางเมืองกาญจน์ฯ เขานิมนต์เลยนะ นิมนต์แล้วเขาก็ถวายปิ่นโตปิ่นโตหนึ่ง เขาบอกว่านี่เป็นสังฆทาน

แล้วเราก็มาศึกษา เพราะตอนนั้นเรายังบวชใหม่ๆ ศึกษา อ๋อมันเป็นวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไง สังฆทานเปียกคืออาหารสด ถ้าหนึ่งปิ่นโตนี่เป็นสังฆทานแล้ว เขานิมนต์เข้าไปในบ้านเขาเลยนะ เราก็คล้อยตามหมดน่ะ พอโยมนิมนต์เข้าไปบ้าน ขอศีลก็ให้ศีล เสร็จแล้วเขาถวายเลย เขาบอกว่าเป็นสังฆทาน ไอ้เราก็งงๆ นะ ทำตามเขา เพราะเขาเป็น เขาเรียกพ่อออก ผู้เฒ่า ผู้ที่คงแก่เรียน ฉะนั้น เราก็มาศึกษา อ๋อเขาเรียกว่าสังฆทานเปียก

ฉะนั้น พอคำว่า “สังฆทานเปียก สังฆทานแห้ง” สังฆทานแห้งก็สิ่งของแห้งนี่เป็นสังฆทานแห้ง ไอ้นี่ในท้องถิ่นเขาเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น พอท้องถิ่นเป็นอย่างนั้นมันเป็นวัฒนธรรมใช่ไหม มันเหมือนกับในท้องถิ่นใดมันมีสิ่งใดที่มันหาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้น เขาทำสิ่งนั้นมันก็เป็นวัฒนธรรมที่สวยงามดีงามใช่ไหม แต่นี่เรามาจากในเมืองแล้วบอกว่า ถ้าสังฆทานของฉันต้องมีเครื่องอย่างนั้น ต้องมี

เราเจอพระองค์หนึ่งนะ เวลาเขาไปนี่เขาบอกว่าของของเขาต้องใช้แอมเวย์ แล้วไปขอกะเหรี่ยงนะ บอกว่าจะเอาแปรงสีฟันแอมเวย์ แล้วไปขอกะเหรี่ยง แล้วกะเหรี่ยงมันจะหาที่ไหนให้ล่ะ ไอ้นี่ก็เกินไป ฉะนั้น คำว่า “เกินไป” นี่เรายกให้เห็นชัดๆ แล้วก็ย้อนกลับมาที่ครูบาอาจารย์บอกว่าอันนั้นเป็นสังฆทานไม่เป็นสังฆทาน

เราตัดทิ้งหมดเลย สังฆทานเป็นที่หัวใจ เจตนาอยากถวายอย่างใด แล้วเราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในท้องที่ของเรามันมีของอย่างนี้ ในท้องที่ของเรามีเท่านี้ แล้วเราจะเอาอะไรที่มันเลอเลิศไปกว่านี้ให้มาเป็นสิ่งที่เป็นความถูกต้องกับวินัยนั้น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เวลาให้พระไปเผยแผ่ธรรมในท้องถิ่นใดนะ ให้เข้ากับท้องถิ่นนั้น เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภาษาท้องถิ่นใด ถ้าธรรมะพูดภาษาท้องถิ่นนั้นเพื่อให้ประชาชนนั้นเข้าใจในธรรมะนั้นถูกต้อง

ภาษานี่ ภาษาในท้องถิ่นเขาเข้าใจอย่างไร เราพยายามจะพูดให้เขาเข้าใจในเรื่องอริยสัจ ในเรื่องทุกข์ ในเรื่องสมุทัย ในเรื่องมรรคในใจของเขา ในภาษาท้องถิ่น เราพยายามแสดงธรรมในภาษาท้องถิ่นนั้นให้เขาเข้าใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนี้เลยนะ

ฉะนั้น เวลาถวายทานมันยิ่งสะดวกยิ่งง่ายขึ้น ฉะนั้น เวลาครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ถ้าเป็นพระนะ เป็นพระ พระปฏิบัตินี่เลี้ยงง่าย พระต้องเป็นผู้ที่เลี้ยงง่าย ไม่เลือก ไม่เลือกว่าจะเอาอะไร จะไม่เลือก เขามีอย่างไร

โอ้โฮหลวงตาเทศน์เจ็บนะ ท่านบอกว่า ชาวบ้านเขาเป็นคนทุกข์คนจน วันหนึ่งเขาออกทำมาหากินได้ห้าบาทสิบบาท เช้าขึ้นมาเขาจะใส่บาตร เขาต้องหาสิ่งที่ว่าดีที่สุดของเขาเพื่อมาใส่บาตรให้กับพระ

พระของเราอยู่ตึกอยู่ร้านคนละสี่ชั้นห้าชั้น มีเครื่องยนต์กลไกพร้อม เช้าขึ้นมาออกไปบิณฑบาตของเขาๆ แล้วดูสิ เขาได้ห้าบาทสิบบาท เวลาเขาจะใส่บาตรเขาต้องเอาของดีที่สุดของเขาให้ถวายพระ เขาต้องเอาสิ่งที่ดีที่สุดของเขา เขาไม่เอาของที่เลวที่สุดของเขาถวายพระไปหรอก ดูสิ น้ำใจของเขาน่ะ แล้วพระเราน่ะหัวโล้นๆ อยู่ตึกอยู่ร้านมีเครื่องยนต์กลไกทุกอย่างพร้อม เช้าขึ้นมาไปบิณฑบาตกระต๊อบห้องหอ ไอ้ตัวเองอยู่ตึกอยู่ร้าน

เวลาท่านพูดนะ ท่านถึงบอกว่า โอ๋ยพูดแล้วมันสะเทือนใจท่านน่ะ แล้วครูบาอาจารย์ของเราท่านอยู่ป่าอยู่เขามามันจะมีอะไรล่ะ อย่างมากนะ ข้าวเปล่า ขอให้มีข้าวตกบาตรเถอะ

ส่วนใหญ่อยู่ป่าอยู่เขา เราไปอยู่ตามป่าตามเขานะ ส่วนใหญ่ที่อยู่ป่าอยู่เขา เขาเข้าไปเขาเป็นผู้บุกเบิก ส่วนใหญ่แล้วเป็นหมู่บ้านอพยพ หมายถึงว่า เขาเรียกตั้งทัพ คือว่าเพิ่งย้ายมาใหม่ พอย้ายมาใหม่ เขาไปจับจองที่ไง พอย้ายมาใหม่เขาก็มีแต่เครื่องครัว แล้วเขาก็ไปหากินเอาข้างหน้า แล้วเขาก็ไปถางพง ไปจับจองที่เพื่อไปปลูกพืชไร่ เพื่อทำมาหากิน มันมีเท่านั้นน่ะ แล้วพระไปอยู่กับเขา พระจะได้อะไร

พระส่วนใหญ่ที่สมัยครูบาอาจารย์นะ ส่วนใหญ่ที่เขาไปอยู่ป่าอยู่เขา เขาไปจับจองที่ ไปรื้อถางพงเพื่อจับจองที่ เขาไม่มีอะไรไปหรอก เขามีแต่เครื่องมือเกษตรแล้วเขาก็ทำไร่ไถนา แล้วจะมีอะไร ขอให้มีข้าวตกบาตรพอแล้ว นี่พูดถึงว่า เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านทำอย่างนั้น ท่านถึงได้คุณธรรมมาในใจไง ท่านถึงไม่ติดสิ่งใด

ทีนี้พอในสมัยปัจจุบันนี้เราเห็นเขาเขียนมา หนูรู้ตัวดีว่าชาตินี้เกิดมามีโชคดีที่สุดเลย ได้กัลยาณมิตรพาไปกราบไหว้ครูบาอาจารย์หลายองค์หลายที่ไง

ถ้าครูบาอาจารย์หลายองค์มันก็หลายแนวคิดแล้วแหละ แล้วแต่ชอบอย่างใด ถ้าชอบอย่างใดก็เถียงกัน ที่เรามาใหม่ๆ ก็นี่ พระองค์นั้นว่าอย่างนั้นไม่เป็นสังฆทาน พระองค์นี้ว่าไม่เป็นสังฆทาน...เราฟังแล้วเศร้า แล้วสังฆทานคืออะไรล่ะ

สังฆทานมันคือวัตถุนะ สังฆทานมันเป็นเครื่องใช้ไม้สอย มันไม่มีชีวิต แต่ใจคนมันมีชีวิตนะ คนน่ะ ผู้ที่ถวายสังฆทานน่ะเขามีจิตของเขา เขามีชีวิตของเขา แล้วชีวิตของเขาทุกข์ยากมาก เขาพยายามจะหาทางออกของชีวิตของเขา แล้วเขาจะหาทางออกของชีวิตของเขา แล้วจะมาถวายสังฆทานก็เพื่อบุญกุศลในใจของเขา ถ้าในใจของเขา เขาเจตนาอยากจะทำบุญกุศลของเขา อันนั้นน่ะมันสมบูรณ์เต็มที่แล้วแหละ

ยังจะต้องมาหาวัตถุนะ จะเอาอย่างนั้น จะเอาอย่างนี้ มันถึงจะเป็นบุญจะไม่เป็นบุญ

มันเป็นบุญตั้งแต่ที่เขาคิด มันเป็นบุญตั้งแต่เขามีสติปัญญาที่เขาอยากจะถวายทานน่ะ ตรงนั้นล่ะมันเป็นบุญ ถ้าคนที่เขาไม่คิด เขาไม่แสวงหา เขาไม่ถวาย แต่คนที่เขาจะถวายแล้วเขามีความคิดอย่างนั้นแล้ว สิ่งใดที่เขาตั้งใจแล้ว

ฉะนั้น พิธีกรรมเรายกไว้ แล้วเอาแต่เจตนา เอาแต่ความตั้งใจของเขา แล้วเราทำตามนั้น แล้วรับทานนั้น ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ ผู้รับรับด้วยความสะอาดบริสุทธิ์ แล้วเราก็ให้พรเขาไป เราให้ธรรมเขาไป เขาได้สติธรรมแล้วเขาชื่นใจของเขา แล้วกลับไป ทีนี้ทางโลกไง ทางโลกก็ไปเถียงกันเองว่า ของเอ็งเป็นสังฆทาน ของข้าไม่เป็นสังฆทาน แล้วตัดสินกันตรงไหนล่ะ

ฉะนั้นบอกว่า คนที่ทำบุญด้วยทรัพย์สมบัติมหาศาลแต่เขาทำด้วยจิตใจที่ไม่สะอาดบริสุทธิ์มันยังได้บุญที่น้อยกว่าคนทุกข์จนเข็ญใจ เขามีเงินห้าบาทสิบบาทแต่เขาหามาด้วยชีวิตของเขา เวลาเขาถวาย เขาถวายด้วยความเต็มใจของเขา บุญของเขามหาศาล บุญของเขามหาศาล มันอยู่ที่เจตนา อยู่ที่การกระทำ มันไม่ได้อยู่ที่จำนวน มันไม่ได้อยู่ที่ว่าถูกผิดที่ว่านี่หรอก มันอยู่ที่ในใจของเขา นี่พูดถึงบุญนะ

พอพูดถึงบุญ มันย้อนกลับมาผู้ถามบอกว่า “เพราะในช่วงกฐินนี้หนูไม่ได้ทำบุญสักวัดหนึ่ง

อันนั้นถ้ามันมีเหตุความจำเป็นนะ มันมีเหตุความจำเป็น เพราะว่าเมื่อก่อนเราฟังพวกลูกศิษย์เขามาคุยให้ฟังเยอะ มันมีพวกญาติผู้ใหญ่ไง สมัยก่อนนั้นเขาไปอยู่เมืองนอก เวลาญาติเขาเสีย เวลาญาติเขาเสีย หาพระไม่ได้ เขาหาได้ไม่ถึงสามองค์ เขาว่าอย่างนั้นนะ มันไม่มีไง สมัยก่อนนั้นพระเรายังไปเผยแผ่น้อย ต่างประเทศมันไม่มีพระ ถ้าไม่มีพระ เวลาญาติเขาเสียไง มันไม่มีพระสวดไง มีแค่สามองค์ เขาสะเทือนใจเขาไง เราย้อนกลับมา ถ้าไม่มีพระ ไม่มีสิ่งที่ว่าเป็นสังคมชาวพุทธ เราจะทำอะไรกัน

แต่นี่เราอยู่ในสังคมแบบนี้ไง เราอยู่ในสิ่งที่มันมีอยู่มาก แล้วเราก็เอาสิ่งนี้มาเถียงกัน มาเถียงกันทำไม มาเถียงกันก็ด้วยสิ่งที่ว่า

เขาบอกว่า กัลยาณมิตรพาไปกราบครูบาอาจารย์หลายองค์เลย

ฟังไว้ สิ่งใดที่ฟังแล้วมันเป็นเหตุเป็นผล เราก็เชื่อฟัง สิ่งใดที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เราก็วางไว้ ไม่ต้องไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ต้องไปเอามาเก็บให้มันคิดให้เสียเวลา เพราะธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนให้เรียบง่าย ทำสิ่งใดที่เรียบง่าย เรียบง่ายนะ ติดดินนี่ แต่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ต้องการสิ่งใดทั้งสิ้น เราทำเพื่อจิตใจให้มันสุขสบาย

แต่เดี๋ยวนี้มันเป็นทางโลกไง เป็นทางโลกทำสิ่งใดแล้วอยากมีชื่อเสียงมีกิตติศัพท์กิตติคุณ โฆษณาชวนเชื่อกันไปเรื่อย โฆษณา ทำบุญเพื่อการโฆษณา ทั้งๆ ที่เรามาเพื่อละเพื่อถอดเพื่อถอน แต่เสร็จแล้วก็มาโฆษณาชวนเชื่อกัน เอาชื่อเสียงกิตติศัพท์กิตติคุณมาออกหน้า แล้วมันได้ประโยชน์อะไร อยู่บ้าน อยู่โลก เอ็งก็ใส่หน้ากากกันแล้วนะ หัวโขนน่ะใส่กันเยอะแยะ มาวัดมึงยังจะมาใส่หัวโขนอีกหรือ ถอดมันทิ้งสิ

อยู่กับหลวงตานะ ท่านบอกเลยนะ ใครจะสูงส่งมาขนาดไหน ถ้ามาถึงปากประตูวัดต้องถอดเขี้ยวถอดเล็บทิ้งไว้ที่ปากประตูวัดหมด เข้ามาในวัดมีค่าเสมอกัน เป็นคนเหมือนกัน ถอดเขี้ยวถอดเล็บของตนออกให้หมด แล้วกองไว้ที่ปากประตู อย่าเอาเข้ามาในวัด แล้วเอาเข้ามาในวัดแล้วทำบุญก็เป็นบุญไง ไม่ต้องมาแข่งขัน ไม่ต้องมาใส่หัวโขนอีกสองหัวสามหัวไง ของฉันใหญ่กว่าคนนั้น คนนั้นใหญ่กว่าคนนี้ คนนี้ดีกว่าคนนั้น...มึงจะบ้าหรือ

เรามาแล้วเราก็มาเพื่อมาวัดใจของตน มาวัด มาวัดใจของตนนะ มีข้อวัตรปฏิบัตินะ วัดใจของเรา ใจของเราสูงหรือต่ำ ถ้าใจของเราควรเป็นใจที่ดี ถ้าใจที่ดีมันเป็นอย่างไรล่ะ ใจที่ดีก็ต้องไม่ขุ่นข้องหมองใจนี่ไง ไม่กังวลใจไง วางให้ได้ไง ตอนนี้เราอยู่วัดแล้วนะ หัวใจให้มันอยู่ในร่างกายนี้

ตอนนี้เราอยู่วัดนะ แต่หัวใจมันอยู่บ้านนะ ลืมเก็บไอ้นั่น ลืมเก็บไอ้นี่ ลืมสั่งเสียทุกอย่างเลย อ้าวเอาใจกลับมานี่ อย่าให้มันไปบ้าน ตัวอยู่ที่นี่ ใจมันวิ่งไปบ้านเลย นี่ข้อวัตร วัดใจของตัว วัดสิว่ามันอยู่ที่เราหรือเปล่า ปัจจุบันนี้อยู่ที่นี่ เดี๋ยวกลับไปแล้วค่อยไปหาเพื่อน เดี๋ยวกลับไปแล้วค่อยไปเก็บของ ไอ้ที่ยังไม่ได้เก็บเอาไว้นั่นแหละ ลืม ลืมก็เอาไว้นั่นแหละ ถ้ามันหาย กลับไปซื้อใหม่ ก็ลืม ดัดนิสัยซะ ก็ตัวเองทำลืม

ไอ้นี่มากังวลนะ พอลืมแล้วกลับมาตายเลยนะ นั่งอยู่สามวัน ไม่ได้อะไรเลย คิดแต่ของที่ลืมไว้ที่บ้าน เอามันมา เอาหัวใจมาไว้ที่นี่ มาวัดแล้วมาวัดใจของตนไง มาวัดแล้วทิ้งหัวใจไปไว้ที่บ้าน ส่งออกไปนู่นหมดเลย ส่งออกไปร้อยแปดเลย

นี่เหมือนกัน ถ้ามันเป็นบุญกุศล บุญกุศลอย่างนี้ ฝึกหัด ฝึกหัดแล้วได้หมดนะ ใครฝึกหัดแล้วได้นะ ดัดนิสัยของตน ถ้าลืม ลืม ให้หายไปเลย ดัดนิสัยซะ จะได้เคยตัว ดัดมัน ดัดมันนะ วันหลังมันไม่ไป แต่ถ้ามันปล่อยนะ ก็ของของเราน่ะ เรานิสัยไม่ดีน่ะ มันคิดถึง นิสัยไม่ดี เราจะชอบคิด นิสัยไม่ดีชอบคิด มันเปิดทางแล้ว นิสัยชอบคิด ก็ชอบคิดถึงไม่ดีไง ก็ไม่คิดก็ถึงเป็นคนดีไง ก็ไม่คิดมันซะ ถ้ามันเป็นอย่างนี้ปั๊บมันจะดัดไป

นี่พูดถึงว่า ไปหาครูบาอาจารย์มาหลายองค์ก็ยกท่านไว้ แล้วของเรา ผ้าบังสุกุลหมายถึงว่าผ้าไม่มีเจ้าของ ผ้าจากศพ แล้วเวลามา เราวางเลย ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเป็น ท่านชักบังสุกุลของท่าน แต่ถ้าจะถวายก็เป็นผ้าคหบดี ถ้าผ้าคหบดี มันบุญก็คือบุญน่ะ เรามีจิตใจที่เสียสละ เรามีจิตใจของเราทำบุญกุศลของเรา

แล้วถ้าทำบุญกุศลของเรานะ ไม่ต้องมาก ไม่ต้องอะไร ให้จิตใจของเราทำคุณงามความดีของเรา ฝึกหัด ฝึกหัดรักษาให้จิตใจเราไม่เศร้าหมอง ทำความสะอาดหัวใจ แล้วถ้ามาภาวนาได้ต่อเนื่อง ต่อเนื่องเลย มันเป็นบาทฐาน ทาน ศีล ภาวนา

ถ้าไม่มีทานมันหงุดหงิด พอหงุดหงิดแล้วเดี๋ยวมันพอกพูน มันเป็นดินพอกหางหมู เดี๋ยวมันแกว่งไม่ไหวเลย ลูกตุ้มมันใหญ่ มันเสื่อมไป คือว่าไปอยู่กับโลกเลย แต่ถ้าเราฝึกหัดของเรา เรารักษาของเรา ไม่ต้องน่ะ ดูแลมันอย่างนั้นน่ะ แล้วบอกว่ามันยากมันลำบาก

ก็ธรรมดา เข็นครกขึ้นภูเขาก็ต้องยากกว่าปล่อยครกลงจากภูเขาอยู่แล้ว ความดีมันทำได้ยากไง ในหลวงบอก “ทำดีทำยาก แต่ไม่ทำ ความเลวมันจะเข้ามาเกาะกิน” ฉะนั้น ทำความดีมันยาก แต่ต้องทำ ควรทำ ทำเพื่อรักษาหัวใจของเรา ถ้าเราคิดได้อย่างนี้ปั๊บ เราก็จะทำของเรา

มันทุกข์มันยากเพราะมันฝืนกิเลสไง มันฝืนความชอบ มันฝืนความสะดวกสบาย มันฝืน แต่ฝืนเพื่อใครล่ะ ฝืนเพื่อฝึกให้มันมั่นคง ถ้าจิตตั้งมั่น จิตเอกัคคตารมณ์ จิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น จิตก็คิดเป็น พอจิตคิดเป็นนะ ไม่ต้องให้ใครสอนเลย ไม่ต้องไปถามเพื่อน ฉันดีอย่างไร ฉันดีอย่างไร ไม่ต้องถามเลย มันดีเอง ดีเพราะมันคิดเอง

แต่ถ้าจิตมันอ่อนแอนะ ต้องไปถามคนนู้น ต้องไปถามคนนี้ เพราะตัวมันเองมันพึ่งไม่ได้ ตัวมันเองเชื่อถือไม่ได้มันถึงต้องไปถามคนนู้นถามคนนี้ตลอดไง แต่ถ้ามันตั้งมั่นนะ เราคิดได้เอง อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน คิดเอง จัดการเอง เลือกสิ่งที่ดีๆ ทำได้ พอทำได้ ฝึกหัดดีๆ ขึ้นไป วันหลังเพื่อนมาเกาะเต็มเลยล่ะ แต่เดิมไปเกาะเขา พอคิดได้เอง เพื่อนมันงงนะ เฮ้ยเอ็งอยู่ได้อย่างไรวะ เฮ้ยทำไมเอ็งไม่ไปหาใครเลยนะ

อ้าวก็ใจฉันสมบูรณ์แล้ว แต่ก่อนไปกองกันอยู่นั่นน่ะ ถึงเวลาก็ไปกองกันอยู่นั่นน่ะ แต่ถ้ามันคิดได้นะ ทุกคนจะมาหาเลย แล้วทุกคนจะถามว่า ทำไมอยู่ได้อย่างไร ทำไมรักษาอย่างไร

รักษาได้เพราะเราคิดได้ เรามีความตั้งมั่นของใจของเรา ฝึกหัดอย่างนี้ นี่พูดถึงทาน ศีล ภาวนาไง

จะบอกว่าเรื่องของทานก็ใช่ แต่เรื่องของทานนะ ทานทำแล้วก็แล้วกันไป แล้วถ้าเรื่องของศีลก็ความปกติของเรา ฝึกหัดดูแลหัวใจสำคัญที่สุดนะ

เขาบอกว่าเขาต้องเกิดต้องตายมากี่ภพกี่ชาติ ถึงอนาคตมันจะมีความน่ากลัวมาก ฉะนั้น ปัจจุบันนี้รักษาจิตให้ดี ถ้ารักษาจิตให้ดีแล้วจิตมันจะมีปัญญา ถ้าจิตเป็นสมาธิแล้วถ้าเกิดปัญญาขึ้นมามันจะเป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาจะทำให้จิตใจนี้แจ่มแจ้ง จะทำให้จิตใจนี้ผ่องใส จะเข้าถึงธรรม ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมจะมีคุณธรรมในหัวใจดวงนั้น เอวัง