ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

มีเข้ามีออก

๕ ธ.ค. ๒๕๕๙

มีเข้ามีออก

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “การฝึกชำนาญในวสีมีอย่างไรบ้าง

ลูกมีความตั้งใจจะฝึกชำนาญในวสีครับ แต่ไม่รู้จะฝึกแบบไหน ในหนังสือวิธีฝึกก็ไม่มี ขอความเมตตาหลวงพ่อแนะแนวให้ลูกได้ความกระจ่างด้วยครับ จะเริ่มแบบไหนก่อน ลูกจับต้นชนปลายไม่ได้ กราบขอบพระคุณอย่างสูง

ตอบ : การฝึกจนชำนาญ มันชำนาญในวสี วสีคือการเข้าและการออก ถ้าการเข้าและการออก การเข้าการออกชำนาญในวสี ชำนาญในวสีคือชำนาญในงานน่ะ ผู้ชำนาญการ ผู้ชำนาญการเขามีประสบการณ์ของเขา เขาชำนาญของเขา เขาทำสิ่งใดแล้วด้วยความชำนาญของเขา หลับตาทำก็ได้เพราะเขามีความชำนาญของเขา แต่เราไม่มีความชำนาญไง

ถ้าชำนาญในวสีก็ชำนาญในการเข้าและการออกสมาธิ ถ้าชำนาญในการเข้าและการออกสมาธิ วสีในการเข้าออก ถ้าเข้าออกในสมาธิ ถ้าเข้าออกในสมาธิ สมาธิคืออะไร นี่ไง สมาธิคืออะไร

แต่นี้พวกเราเวลาเราฝึกกัน ฝึกสมาธิๆ...พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน พระพุทธเจ้าสอนเรื่องอริยสัจ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องสมาธินะ พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทำความสงบ

คนเรามันทุกข์มันยากอยู่นี่เพราะมันฟุ้งซ่าน คนมันทุกข์มันยากอยู่นี่เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันบีบคั้น ถ้าพระพุทธศาสนาสอน ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเรื่องสมาธินะ

แล้วถ้าไม่ได้สอนสมาธิ การชำนาญในวสี การชำนาญในการเข้าออกสมาธิล่ะ

การเข้าออกสมาธิมันแค่บาทฐานไง แค่เริ่มต้นไง เริ่มต้น ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วเริ่มต้นของคน ระดับของทานใช่ไหม ระดับของทาน ผู้ที่มีศรัทธามีความเชื่อทำสิ่งใดมีความผิดพลาดไป เขามีระดับทานของเขา จิตใจของเขามีคุณธรรม แต่ในคุณธรรมของปุถุชนไง แต่ถ้าจะเริ่มประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ท่านให้ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน

ในพระไตรปิฎกมีมาก มีคนทุกข์คนเข็ญใจจะมาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกหยุดก่อน ให้ทานอาหารก่อน ให้ทานอาหารให้สงบก่อนแล้วท่านค่อยเทศน์ให้ฟัง พระเอาอันนี้มาอ้างกันตลอด อ้างตลอดว่า เราต้องมั่งมีศรีสุข เราต้องสุขสบายแล้วเราค่อยมาปฏิบัติไง

ไอ้นั่นมันกรณีที่เขาเดินทางไกล สมัยพุทธกาลเขาเดินทางไกลด้วยเท้า พอเดินทางไกลมาเขาเหนื่อยของเขา เขาควรได้พักผ่อนก่อน จิตใจคนเรามันควรสงบระงับ ควรจะตั้งใจแล้วท่านถึงจะเทศน์ให้ฟัง พอเทศน์ให้ฟัง เขาได้บรรลุโสดาบัน ในพระไตรปิฎกมีเยอะมาก ฉะนั้น มีเยอะมาก เพียงแต่ว่าท่านดูไง ดูว่าใจของคน เล็งญาณ เล็งญาณว่าเขาพร้อมในการงานไหม ใจของเขาพร้อมในการรับฟังไหม ใจของเขาพร้อมที่จะขบปัญหาไหม

ดูสิ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เวลาเทศน์ธัมมจักฯ ปัญจวัคคีย์ ๕ คน อัญญาโกณฑัญญะขบๆ ใช้ปัญญาขบปัญหานั้นแตก ความเข้าใจนะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายทั้งปวงต้องดับเป็นธรรมดา แต่ปัญจวัคคีย์อีก ๔ คนขบปัญหาไม่ได้ สติปัญญาไม่เท่าทันก็ยังไม่ได้เป็นอะไร

นี่ก็เหมือนกัน พระพุทธศาสนาสอน สอนเรื่องอะไร สอนเรื่องการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย และไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย สอนเรื่องอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่ได้สอนเรื่องสมาธิ ไม่ได้สอน

ถ้าไม่ได้สอนสมาธิแล้วทำไมเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนเรื่องทำความสงบของใจล่ะ

ทำความสงบของใจ ครูบาอาจารย์เราสอนให้ทำความสงบของใจนะ พอทำความสงบของใจ เวลาครูบาอาจารย์ท่านคุยกันในวงใน ในปัจจุบันนี้พระด้วยกันทำสมาธิยังทำไม่เป็นเลย ถ้าทำสมาธิไม่เป็นมันจะเกิดปัญญาได้อย่างไร ถ้าปัญญามันเกิดมันก็เป็นโลกียปัญญา คนที่ภาวนาแล้วมันจะรู้ ผู้ชำนาญการจะรู้เลยว่าปัญญาระดับนี้ขั้นนี้คืออะไร ปัญญาระดับนี้ขั้นนี้คืออะไร

เวลาหลวงตาท่านฟังเทศน์พระนะ ให้เทศน์มาเถอะ ถ้าเขาเทศน์มาเขาเปิดอกมาเลย พูดออกมานี่รู้เลยว่าคนนี้จริงหรือปลอม คนนี้มีจริงหรือไม่มีจริง ถ้ามีจริงพูดออกมามันจะเป็นชั้นเป็นตอนของมัน มันจะไม่รัด มันจะไม่ขบกัน มันจะเป็นไปในทางเดียวกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีขัดไม่มีแย้ง จะไปในเส้นทางเดียวกันเลย แต่เวลาไอ้คนไม่เป็นมันพูดน่ะมันขัดมันแย้ง มันขัดมันแย้งคือว่า ควรจะนับ ๑ ๒ ๓ มันว่า ๓ ๒ ๑ ๓ ๑ ๘ มันว่าไปมั่วไปหมด

๑ ๒ ๓ ขึ้นไปตามระดับของมัน นี่ก็เหมือนกัน เวลามรรคมันเป็นอย่างนั้น ฉะนั้นบอกว่า การชำนาญในวสีๆ มีความชำนาญนะ ถ้าชำนาญในวสีแล้วคนเราจิตมันจะไม่เสื่อม เวลาทำสมาธินะทำแสนยาก ทำสมาธินี่แสนยากเลย เพราะถ้ามันเป็นสมาธิโดยข้อเท็จจริงนะ

แต่ในปัจจุบันนี้มันทำโดยสัญญาอารมณ์ไง สัญญาอารมณ์ๆ มือของเรามันหยิบของอยู่ ถ้ามันแบออก มันวางหมดมันก็จบ แต่มันหยิบของอยู่ มันไม่วาง แต่มันบอกว่ามือมันวางแล้ว มันคิดเอาเองไง นี่ก็เหมือนกัน “ว่างๆ ว่างๆ”...ว่างๆ ไม่ใช่สมาธิ ถ้าว่างๆ เป็นสมาธิ อากาศมันก็เป็นสมาธิ อากาศมันก็ว่าง ในตุ่มในไหมันก็ว่าง มันไม่เป็นสมาธิ ไม่เป็นหรอก

ถ้าเป็นสมาธิ จิตมันเป็นสมาธิ ถ้าจิตมันเป็นสมาธินะ เป็นสมาธิแล้วเวลามันเสื่อมออกมาล่ะ เวลาเข้าสมาธิเกือบเป็นเกือบตายนะ

ฉะนั้นบอกว่า “ในการฝึกชำนาญในวสีทำอย่างไรบ้าง

การฝึกชำนาญในวสีก็คือการฝึกหัดนี่แหละ พอการฝึกหัดขึ้นมาแล้วเราเข้าสมาธิได้หนหนึ่งใช่ไหม พอเข้าสมาธิได้หนหนึ่งแล้วเวลาคลายตัวออกมา เวลามันเข้าสมาธิ ส่วนใหญ่เวลาเข้าสมาธิแล้วยังไม่มีสติปัญญาเท่าทันมันด้วย เดินจงกรมอยู่ “เฮ้ยมันว่าง มันมหัศจรรย์น่ะ หลวงพ่อ นั่นมันคืออะไร” ถ้าให้เข้าอีกเข้าไม่ได้ แต่จำได้ พอจำได้ก็คิดอย่างนั้นน่ะ อยากได้อย่างนั้นๆๆ แต่ไม่ได้

แต่ถ้ามันจะได้อย่างนั้นนะ ที่ว่าเวลาเดินจงกรมอยู่ เดินจงกรมอยู่จิตมันละเอียด จิตมันเข้ามา มันเข้ามาอย่างไร จิตมันเข้ามาเพราะอะไร เพราะไม่มีตัวตน ไม่มีตัณหาความทะยานอยาก คือไม่ต้องการ ไม่เจตนา มันเป็นของมันอย่างนั้น แต่ของเรา เราเพ่ง เราเกร็ง เราอยากจะได้ๆ

ทำสบายๆ ทำของมัน ถ้ามันทำสบายๆ แต่ต้องสติปัญญาพร้อมนะ ทำของมันพร้อมด้วยความสมดุลของมัน พอสมดุลของมัน มันก็ละเอียดเข้ามา เรารู้มันละเอียด ต้มน้ำ เราตั้งน้ำไป ถ้าเริ่มต้นน้ำมันเย็นๆ มันยังไม่เดือดหรอก ดูไปสิ พอน้ำจะเดือดมันเกิดควัน มันเกิดไอน้ำ มันเกิดอะไร นี่น้ำมันจะเดือดแล้ว นี่ก็เหมือนกัน จิตมันจะสงบอยู่ เรารู้ตลอด นี่ชำนาญในวสีคืออย่างนี้ คือรู้ตลอด

ดูต้มน้ำสิ ต้มน้ำ เราตั้งน้ำ ดูสิ น้ำใกล้เดือด เราก็รู้ น้ำเดือดแล้ว เราก็รู้ เวลาน้ำเดือดแล้ว เราเอาน้ำเดือดนะ น้ำร้อนไปทำอะไร เวลามันคลายตัว มันตั้งอยู่ มันเย็นลง เราก็รู้ เย็นลงนี่คลายออกไง เห็นไหม เวลาน้ำจะเดือดนี่เข้า เวลามันคลายตัวออกมานี่ออก เวลามันออกมา แล้วออกอย่างไรล่ะ อุณหภูมิของน้ำนะ มันเป็นของมัน

การทำสมาธิก็เหมือนกัน ชำนาญในวสี เขาถามว่า “ลูกมีความตั้งใจจะฝึกการชำนาญในวสี แต่ไม่รู้ว่าทำแบบไหน เพราะในหนังสือวิธีก็ไม่มี

ไม่มีหรอก ความชำนาญน่ะ ในหนังสือบอกก็บอกวิธี ในพระไตรปิฎกทั้งหมด หลวงตาพูด ท่านก็ค้นคว้านะ เพราะอะไร เพราะนักปฏิบัติชาวพุทธเรา เราจะโต้แย้งกันด้วยทฤษฎี เราก็โต้แย้งกันด้วยเล่มนั้นขัดกับเล่มนี้ เล่มนี้ขัดกับเล่มนั้น เขาว่าขัดกัน เขามีความโต้แย้ง หลวงตาท่านก็จะพิจารณาของท่าน

เวลาในวงปฏิบัติจะมีสิ่งใดนะ เพราะเราอยู่กับครูบาอาจารย์มา เวลาครูบาอาจารย์มานะ ถ้ามีปัญหาขึ้นมาในวงปฏิบัติ มีความเห็นแตกต่าง เขาจะเก็บประเด็นปัญหาไปถามหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นพูดอยู่ภายใน ในวงปฏิบัตินะ ในกลุ่มชนใด ในปฏิบัติใด ความสามารถสูงสุดของเขาด้วยทฤษฎีของเขามันจะได้อะไรนี่รู้ทันทีเลย มันได้แค่นี้ มันได้แค่นี้เพราะสมาธิมันยังทำไม่เป็นเลย พอสมาธิทำไม่เป็นมันใช้ปัญญาๆ ปัญญาอะไรของเอ็ง ปัญญาก็เหมือนพวกเราจินตนาการกัน มันเป็นไปไม่ได้ เป็นไปไม่ได้แต่เขาก็เชื่อกัน เชื่อกันเพราะอะไร เพราะวุฒิภาวะของสังคมเขามีความรู้ได้แค่นั้น ไม่มีใครที่มีสติปัญญาสามารถรู้ได้มากกว่านั้น มันก็เลยเชื่อกันอยู่ในกลุ่มชนอย่างนั้น ถ้ามันเชื่อกันอยู่ในกลุ่มชนอย่างนั้น เห็นไหม

นี่พูดถึงว่า ในหนังสือวิธีฝึกมันไม่มี

มันไม่มีเพราะมันไม่เป็น คนมันไม่เป็นมันก็ไม่มี แล้วเวลาคนเป็น คนเป็น เห็นไหม พระภาคปฏิบัติ คนเป็น เวลาหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะท่านจะพูดคำนี้บ่อยมาก “ชำนาญในวสีๆ” เพราะท่านทำความสงบของใจ ทำสมาธิขึ้นไป แล้วเวลาหลวงปู่เจี๊ยะกับหลวงตาท่านจะคุยกันในวงปฏิบัติ ในวงปฏิบัติใช่ไหม มันเหมือนกับว่าเราฝึกหัดใคร แล้วใครที่ได้รับการฝึกหัดเขามีความสามารถขนาดไหนเขาก็จะไปปรึกษาอาจารย์ของเขา อาจารย์ของเขาก็จะสะกิดกันเลย “นั่นน่ะกำลังจะได้นะ” วงในมันจะมีอย่างนี้ นี่วงกรรมฐาน หลวงตาท่านจะใช้คำว่าครอบครัวกรรมฐาน” ครอบครัวกรรมฐานเขาจะรู้กันว่าใครจะมีความสามารถมากน้อยแค่ไหน ความสามารถอันนั้นน่ะ ถ้ามันมีความสามารถจนชำนาญนะ นี่ชำนาญในวสี

แต่ชำนาญในวสี แล้ววิธีฝึกในหนังสือมันไม่มี

ขณะครูบาอาจารย์ท่านจะเทศน์นะ เวลาท่านเทศน์ของท่าน ท่านเทศน์สมบูรณ์แบบอยู่ในนั้นหมดเลย แต่ไอ้พวกที่ไม่เป็นมันก็คือไม่เป็น แต่ไอ้ที่คนเป็นแล้วนะ เราจะบอกว่าในหนังสือไม่มีหรอก ในเทศน์หลวงตา ในเทศน์ครูบาอาจารย์เต็มไปหมดเลย

มีคนขอหนังสือหลวงตาไปอ่านนะ แล้วท่านจดหมายไปพูดถึงหลวงตาไง โอ้โฮอ่านหนังสือของอาจารย์แล้วมันทุกข์ใจ นู่นก็กิเลส นี่ก็กิเลส นู่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี เหมือนมองโลกนี้ในทางลบหมดเลย มันไม่มีอะไรดีเลย แล้วก็ขอให้ตอบคำถามว่าวิธีดีอย่างไร

ท่านตอบกลับเลย เวลาเราไปมองว่านู่นก็กิเลส นู่นก็มีความทุกข์ นั่นก็ไม่ดีสักอย่างเลย แล้วก็เขียนให้บอกวิธีว่าดีอย่างไร ท่านบอกนั่นน่ะเวลาบอกว่าผู้เทศน์มองโลกในแง่ลบ ท่านบอกว่าไอ้คนอ่านหนังสือนั่นน่ะมันมีปัญญาได้แค่นั้นไง มันไปบอกว่าสิ่งที่ไม่ดีๆ น่ะ สิ่งที่ไม่ดีแล้วท่านบอกว่า แล้วดีมันคืออะไร แล้วแก้อย่างไร ท่านบอกหมดแหละ แต่มันไม่รู้ พอไม่รู้ มันไม่เห็น มันไม่เข้าใจ แต่ถ้าบอกว่าไอ้นี่ไม่ดี อ้าวก็มันอยู่ในตัวเรา เวลาบอกกิเลส กิเลสก็มีอยู่แล้ว เวลาบอกทุกข์ ทุกข์ก็มีอยู่แล้ว ถ้าบอกเรื่องไม่ดีมันชัดเจนเลย แล้วบอกวิธีทำนะ ไม่รู้ แล้วบอกตำราไม่มี

ท่านเอ็ดเอาเลยนะ ท่านบอกว่า ไอ้ที่บอกว่าไม่ดีๆ น่ะใช่ ก็บอกว่าไม่ดีจริงๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ดี แล้วสิ่งที่ดีมันก็อยู่ตรงนั้นแหละ สิ่งที่ไม่ดี ไม่ดีแล้วแก้อย่างไร แก้อย่างไร อานาปานสติ พุทโธ ดับมัน ดับมันแล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนา ใช้ปัญญาสู้กับมันๆ นี่ท่านบอกวิธีไว้หมดเลย มันไม่เห็น มันอ่านแล้วมันไม่เข้าใจ

แต่ถ้าพอบอกว่ากิเลส บอกว่าทุกข์นี่มันรู้นะ แล้วเขาพูดด้วยนะบอกว่า โอ้โฮนี่มันทุกข์นิยมนี่ นี่อะไรๆ ก็ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ

แต่ท่านบอกวิธีดับทุกข์ เขาก็บอกอยู่พร้อม ทำไมเอ็งไม่เข้าใจล่ะ ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจเพราะเราไม่เคยสัมผัสอย่างนั้น เราไม่เคยสัมผัสอย่างนั้น ถ้าบอกว่าไม่ดีนี่เข้าใจได้หมดเลยเพราะมันมีอยู่ในตัว ถ้าบอกว่าดี บอกว่าดีไม่รู้เพราะมันไม่เคยมี มันทำขึ้นมาไม่ได้ไง ทั้งๆ ที่มันมีอยู่ในนั้นน่ะ

นี่ย้อนกลับมาที่บอกว่า ในหนังสือไม่บอกวิธีการฝึกแล้วเขาจะฝึกอย่างไรล่ะ เขาจะฝึกอย่างไร

วิธีการฝึก ดูสิ เวลาวิธีการฝึกนะ เราก็พยายามฝึกหัดของเรา ฝึกหัดของเรา เริ่มต้นนะ หลวงตาท่านสอนอย่างนี้ โคที่เราผูกไว้ เวลาเขาไปเลี้ยงโคนะ เขาไปผูกไว้กับหลัก มันก็หากินตามนั้นน่ะ ถึงเวลาแล้วผู้ที่ใช้งานเขาก็ไปปลดเชือกจากหลักนั้น เขาก็เอาโคนั้นมาได้

มีนะ โดยธรรมชาติของชนบท เวลาถึงเวลาโคหรือพวกสัตว์เลี้ยงเขา เขาจะลากไปในป่า เขาจะปล่อยป่าเลย เวลาพอหมดหน้าฝนเขาจะปล่อยป่า มันอยู่ในป่า นานๆ เขาก็ไปดูมันทีหนึ่ง สุดท้ายแล้วเขาก็เอาเกลือไปให้มันกิน เขาโคปล่อย เหมือนสัตว์ป่าเลี้ยงในป่า แต่มีเจ้าของนะ เราอยู่อีสานเราเห็นอย่างนั้นน่ะเห็นบ่อย เห็นมาก

ถ้าบอกว่าจิตใจของคนก็เหมือนกัน จิตใจของคนนะ ถ้าเราทำหน้าที่การงานของเรา เรามีสติควบคุมใจของเรา เหมือนรักษาโคตัวนั้นไว้ ผูกไว้กับสติของเรา แต่ถ้าวันๆ หนึ่งเราปล่อยอีลุ่ยฉุยแฉก จะคิดอะไรก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ เหมือนกับเอาโคเราปล่อยป่าทิ้งมันไป แล้วพอจะใช้งานมัน เวลาจะภาวนาขึ้นมา เอาแล้ว จะหาโค ไอ้โคที่เขาผูกเชือกไว้เขาก็ไปเอามาได้เลย ไอ้ของเราวิ่งไปหาในป่าไม่เจอ ทำอะไรก็ทำยาก หาไม่เจอ

นี่ชำนาญในวสี เริ่มต้นตั้งแต่ชีวิตประจำวันเรานี่แหละ ชีวิตประจำวันเรา เรามีสติปัญญารักษาใจเราไว้ ถ้าทำงานหน้าที่การงาน เราก็อยู่กับงานของเรา พ้นจากงานของเรา เราไม่ให้มันคิดตามแต่กิเลสมันยุมันแหย่ มันยุมันแหย่จริงๆ นะ เดี๋ยวจะทำไอ้นั่น เดี๋ยวจะทำไอ้นี่ มันยุแหย่เลยนะ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ทำนะมันคิดไปก่อนแล้ว เสาร์อาทิตย์จะไปนั่น สิ้นเดือนจะไปนั่น สิ้นปีนี้จะไปดาวอังคาร ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ไปเลยนะ

แต่ถ้าเรารักษามันไว้ ถ้าจะไป ถึงเวลาเราไปเอง ถ้ายังไม่ถึงเวลาไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปเพิ่มกิเลสให้มันมากขึ้น นี่โคผูกไว้ พอผูกไว้ เวลาจะมาภาวนาพุทโธ ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ฝึกหัดมีความชำนาญ พอจิตมันละเอียดนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันจะรู้มันจะเห็นของมัน

แล้วเวลาเข้าอัปปนาสมาธิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดถึงอัปปนาสมาธิ แล้วภาษากรรมฐานเขาเรียกรวมใหญ่ อัปปนาสมาธิคือรวมใหญ่ ถ้าจิตมันรวมใหญ่ ถ้ารวมใหญ่ด้วยสติด้วยปัญญา โอ้โฮสักแต่ว่ารู้ เราถึงบอกว่าคำว่า “สักแต่ว่ารู้” ละเอียดชัดเจนนะ

ไอ้เรารู้ชัดๆ รู้ผิด ไอ้สักแต่ว่ารู้นี่เหมือนไม่รู้อะไรแต่รู้ เหมือนไม่รู้ คำว่าเหมือนไม่รู้” คือว่ามันไม่พาดพิงอารมณ์ไง อย่างเช่นเรานั่งอยู่นี่ ลมพัดมาสิ เราก็รู้ว่า อ๋อนี่ลมพัดมาวูบเย็น นี่เกิดจากอะไร เกิดจากลมสัมผัสร่างกายเรา นี่รับรู้จากภายนอกไง แต่ความรับรู้มันเกิดอายตนะกระทบมันถึงรับรู้ จิตมันกระทบอะไรมันก็รับรู้ของมัน

แล้วถ้าจิตมันสักแต่ว่ารู้ มันไม่กระทบอะไรเลย มันอยู่ในตัวของมันเองได้ สักแต่ว่ารู้ ละเอียดมาก ความละเอียดมากอันนั้นน่ะ ถ้ามันรวมใหญ่สักแต่ว่ารู้อันนั้นน่ะ แล้วลึกซึ้งมาก แล้วถ้าใครมีสติปัญญานะ มันจะออกรู้สิ่งต่างๆ นั่นเรื่องหนึ่งนะ

นี่พูดถึงขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ คือการเข้าการออก ทีนี้พอการเข้าการออก เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัตินะ ใครจะเป็นรัฐบุรุษใหญ่โตมากน้อยขนาดไหน เขาก็โตจากเด็กน้อยนั้นมา เวลาเป็นเด็กน้อยนี่นะ เราไม่ได้ดูแล ไม่ได้รักษา โตขึ้นมาเขาจะมีสติปัญญามากน้อยแค่ไหน

ไอ้คำว่า “สมาธิๆ” มันก็เหมือนกับเด็กฝึกหัด มันก็เหมือนจิตเริ่มฝึกหัด มันก็ต้องเริ่มจากความตั้งมั่นของจิต จิตตั้งมั่นก่อน แล้วจะเกิดสมาธิ เกิดปัญญา บุคคล ๔ คู่ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล นั่นน่ะ ถึงตอนนั้นน่ะเวลาปัญญามันเกิดมันถึงจะเกิดเข้าสู่สัจจะความจริง ถ้าปัญญามันเกิด เกิดตรงนั้น

ทีนี้มันไปพูดกันก่อนไง “สมาธิไม่มีปัญญา สมาธิสมถะไม่จำเป็น นู่นไม่จำเป็น” เพราะไม่จำเป็นนี่ไง มันถึงสัพเพเหระไง เพราะไม่จำเป็นไง มันถึงเละกันอยู่นี่ไง เพราะไม่จำเป็นไง มันถึงทำอะไรกันไม่เป็นไง

แต่ถ้ามันมีความจำเป็นนะ เด็กน้อย เด็กน้อยเราปูพื้นฐานให้มันดี เด็กน้อยๆ นี่นะ เราไม่มีการศึกษา เราปูพื้นฐานดีเลย มันจะไปเรียนอะไร มันจะทำอะไรเป็นเด็กดีหมด จิตถ้าฝึกหัดทำสมาธิ ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ จิตมันสงบระงับขึ้นมา ถ้ามันเป็นอุปจารสมาธิพอแล้ว พอแล้ว ถ้ามันเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง นั่นน่ะสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริง

แต่ที่เขาบอกสติปัฏฐาน ๔ ตามความเป็นจริงนั้นนึกเอาหมด อุปาทานหมู่ ไม่มี ไม่มีอยู่จริง แต่พูดตามตำรา แล้วคนก็เชื่อๆ กันไป นี่พูดถึงว่า นั่นน่ะยิ่งไม่ชำนาญในวสี นั่นน่ะมีแต่สัญญาอารมณ์

แต่ถ้าพูดถึงเราจะย้อนกลับมาที่ชำนาญในวสี นี่พูดถึงขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิก่อน ทีนี้เวลาเราบอกว่าถ้าชำนาญในวสีคือการเข้าการออก เขาจะหัวเราะเยาะ เขาจะหัวเราะจนฟันหลุดเลย “สมาธิยังไม่มีความสำคัญเลย ยังมีการเข้าการออกอีกหรือ” เวลาเขาพูดนี่เขาพูดเย้ยหยันนะ เขาพูดเหยียด เหยียดให้คนปฏิบัติละอาย

คนที่ปฏิบัตินะ เราปฏิบัติใช่ไหม เราก็อยากจะเป็นชาวพุทธใช่ไหม แล้วเขาบอกว่า “สมถะไม่จำเป็น อู๋ยเขาใช้ปัญญา ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา อู๋ยไปทำสมาธิ อู๋ยเป็นฤๅษีชีไพร อู๋ยมันไม่มีความจำเป็น

ไอ้เราโดนพูดโดนเหยียดโดนหยัน โอ้โฮเขิน อาย แล้วก็จากที่เป็นอย่างนี้ก็จะไปเป็นอย่างนั้นน่ะ จะไปเป็นสัพเพเหระอย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ สมาธิมีการเข้าการออก ถ้าเวลาเข้าสมาธิออกสมาธิมันต้องมีความชำนาญ ในความชำนาญนะ ในความชำนาญ เวลาเจ้าชายสิทธัตถะไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบสได้สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ เจ้าชายสิทธัตถะได้สมาบัติ ๖ ได้สมาบัติ ๘ แล้วเวลาเจ้าชายสิทธัตถะเวลาจะมาฝึกของเจ้าชายสิทธัตถะเอง เจ้าชายสิทธัตถะกำหนดอานาปานสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก บอกศีล สมาธิ ปัญญา ไม่บอกศีล สมาบัติ ปัญญา เพราะสมาบัติ คนไปปฏิบัติแล้วมันจะรู้ว่าสมาบัติมันมีกำลังขนาดไหน เพราะว่าเรื่องของสมาธิมีการเข้าการออก

เราจะยกให้เห็นว่า ถ้าสมาบัติมันจะมีการเข้าการออกที่ชัดเจนกว่านั้นอีก เพราะปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เวลาเข้า เข้าปฐมฌานยกขึ้นสู่ ออกจากปฐมฌานเข้าสู่ทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานเข้าสู่ตติยฌาน ออกจากตติยฌานเข้าสู่จตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌาน นี่คือรูปฌาน รูปฌานมันก็เป็นสมาธิอย่างหนึ่งแต่มันมีการเข้าการออก ยกขึ้นสู่อากาสานัญจายตนะ นี่อรูปฌาน ฌานที่ไม่มีรูป จับต้องไม่ได้ เป็นอากาศธาตุ นี่อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วถอยออก นี่เข้าออกไง เวลาถอย ถอยลงมา ถอยออกมา แล้วเข้า เข้าแล้วถอย ถอยแล้วเข้า จนจิตมีกำลัง

พอจิตมีกำลัง เรื่องอภิญญารู้หมด พอจิตมีกำลัง ไปได้หมด นี่ที่มันส่งออก มันส่งออกอย่างนี้ไง มันชัดเจนอย่างนี้ สมาธิมันถึงมีการเข้าการออกอย่างนี้ไง แล้วถ้ามันเป็นแล้วจิตมันจะติด จิตมันจะติดเรื่องอภิญญา ติดเรื่องโลก โลกียปัญญา คืออยากรู้ รู้ว่าเกิดอย่างไร รู้ว่าคิดอย่างไร รู้เรื่องคนอื่นแต่ไม่รู้เรื่องของจิตไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่าศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ใช่ศีล สมาบัติ ปัญญา

สมาธิกับสมาบัติใกล้เคียงกันไหม ใกล้เคียงกัน แต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันก็มีการเข้าการออกถ้ามีความชำนาญ เว้นไว้แต่ผู้ที่ชำนาญมาก กำหนดเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น ครูบาอาจารย์เราชำนาญมากเลยนะ กำหนด พับพับพับได้เลย แล้วเวลาออกมาก็เป็นปกติ ถ้ากำหนดปั๊บ หลวงตาบอกว่าอยู่กับหลวงปู่มั่น ฟังหลวงปู่มั่นเทศนาว่าการ จิตรวมลง จิตดับไปถึงสามวัน

จิตดับแสดงว่ามันเข้า จิตมันเข้าไป มันสงบเข้ามาแล้ว แล้วมันไม่คลายออก ดับคือดับอายตนะไง ดับจากรูปกระทบ แต่ตัวมันไม่ดับหรอก จิตดับไม่ได้ แต่มันดับคือมันไม่ออกรับรู้ในอายตนะสามวันน่ะ เดินไปเดินมาอยู่นี่มีความสุขมาก คนเรานะ จิตเป็นอิสระไม่รับรู้สามวัน นี่เวลาคนมีอำนาจวาสนา จิตมันเป็นแบบนี้

เวลาออก จิตมันดับไปสามวัน ออกมาแล้วเป็นอุปจาระ ออกมาแล้วมันรับรู้ได้ อย่างเช่นเราทำสมาธินะ เราได้ยินเสียง ยังคิดได้ นี่อุปจาระ แต่ถ้าเป็นอัปปนาเข้าไปสักแต่ว่ารู้ คิดอะไรทำอะไรไม่ได้เลย

นี้พูดถึงว่าเป็นสมาบัตินะ แล้วเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน เวลาจะปรินิพพานนะ พระอรหันต์ทั้งหมด เอตทัคคะทั้งหมดนั่งล้อมหมดเลย แล้วไม่มีใครรู้ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานตอนไหน เพราะท่านสีหไสยาสน์อยู่ท่ามกลางสงฆ์ พระอนุรุทธะ พระอนุรุทธะนี่เอตทัคคะการรู้วาระจิต

เวลาพระอานนท์เป็นคนถามขึ้นมาเองว่า นี่พระพุทธเจ้านิพพานหรือยัง

พระอนุรุทธะบอกยัง ขณะนี้ๆ ฟัง ขณะนี้ ขณะนี้จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นพระอรหันต์มา ๔๕ ปี พระอรหันต์นะ ๔๕ ปีนะ เป็นพระอรหันต์ ขณะนี้เข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ นี่เข้าสมาบัติ ๘ ขณะนี้พระพุทธเจ้ายังไม่นิพพาน ขณะนี้จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าอย่างนี้ๆ เข้าไป ขณะนี้จิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถอยออกมาๆๆ แล้วก็เข้าไประหว่างท่ามกลางรูปฌาน อรูปฌาน นิพพานระหว่างนั้น

นี่ไง เราบอกว่า ธรรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นนิพพาน เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน คือพระอรหันต์ที่สิ้นกิเลสแล้ว แต่ยังดำรงธาตุขันธ์อยู่ ขณะที่ดำรงธาตุขันธ์อยู่ เวลาท่านจะนิพพาน ท่านทำไว้เป็นเครื่องหมาย เป็นการบอก ผู้ที่มีจิต ผู้ที่มีสติปัญญารู้เท่าเหมือนกัน

พระอนุรุทธะเป็นพระอรหันต์ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็พระอรหันต์ สิ่งที่เป็นพระอรหันต์ที่เวลาเข้าสมาบัติ แต่สมาบัตินี้เข้า เห็นไหม เราจะบอกว่าพระอรหันต์ไม่มีกิเลส ตัวสมาบัติแท้ๆ ทฤษฎีสมาบัติมันก็เป็นแค่ทฤษฎีอย่างนั้น มันก็เป็นของมันอย่างนั้น แต่เวลาคนที่มีกิเลส คนที่มีกิเลสคือคนที่มีตัณหาความทะยานอยาก คนที่ยังหลงตัวเองอยู่ คนที่ยังไม่เข้าใจตัวเองอยู่ไปใช้สมาบัติก็หลงในสมาบัติไง แต่ถ้าคนที่จิตที่เป็นธรรมๆ จิตที่มันเป็นธรรมแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีกิเลส แล้วสมาบัติมันจะมีอะไร

แต่สมาบัติมันเป็นรูปแบบใช่ไหม มันเป็นรูปแบบ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาในรูปแบบนั้นมาให้เห็นไง มาให้เห็นว่ารูปแบบ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน มันเป็นทฤษฎีเป็นรูปแบบที่ทำให้เห็นได้ ที่จิตนี้มันเข้าได้ มาทำให้เห็นว่ามันมีอยู่ นี่พูดถึงว่าการเข้าออก

จะบอกว่า การชำนาญในวสี ทำอย่างไรถึงจะเป็นการชำนาญในวสี แล้วในหนังสือตำรับตำรามันก็ไม่ได้บอก แล้วผมก็อยากจะฝึกให้เป็นอย่างนั้นน่ะ

การฝึกอย่างนี้คือฝึกทำความสงบของใจนี่แหละ ถ้าฝึกหัดทำความสงบของใจแล้ว ถ้าคนที่ชำนาญมันจะชำนาญอย่างนี้ มีการเข้าและการออก ถ้าการเข้า ดูสิ เวลาหลวงตาท่านสอนนะ ถ้าจิตมันจะสงบนะ ปล่อยให้มันสงบ แล้วถ้าจิตสงบแล้วนะ อย่าไปกวนมัน คือเราบางทีจิตเราสงบใช่ไหม เรามีธุระอะไรอยู่ เราอยากจะออก เราพรวดพราด คือเราดึงมันออก

ท่านบอกอย่าทำเด็ดขาด ถ้าทำต่อไปแล้วการเข้าสมาธิครั้งต่อไปจะทำได้ยากมาก จิตของเรานี่นะ ถ้าจิตมันสงบแล้วให้มันสงบของมันเป็นธรรมชาติของมัน เวลามันคลายตัวออกมาแล้วให้มันคลายตัวของมันออกมา บางทีจิตของเราเข้าไปสงบแล้วเรามีธุระ หรือเรามีอย่างเช่นนั่งสมาธิพร้อมกัน แล้วสมาธิเขาจะเลิกเวลาเท่านั้นน่ะ เราห่วงว่าเราจะออกไม่ได้ เราก็ไปกระตุก พอไปกระตุกแล้วต่อไปมันจะเข้ายากเลย

นี่หลวงตาเตือนบ่อยมาก เวลาจิตมันสงบแล้วอย่าไปกวนมันนะ ปล่อยมันอยู่อย่างนั้น แล้วถ้ามันจำเป็นมันจะออกมาให้มันคลายตัวออกมาของมันเอง หรือว่าถ้ามันมีความจำเป็น เราค่อยๆ คลายออกมา อย่าไปกระตุกมันนะ อย่าไปกวน อย่าไปทำให้จิตเสีย ถ้าจิตเรามันเสียแล้วมันเข็ดมันขยาด มันจะทำอย่างนั้นได้อีกยาก มันจะเป็นความขยาดเลยนะ แล้วมันฝังใจ นี่การเข้าและการออก นี่ครูบาอาจารย์ที่ท่านมีความชำนาญ

แล้วมันเคยเป็นไง อย่างเราปฏิบัติ เราปฏิบัติมา นักปฏิบัติอาชีพ ปฏิบัติมา ๓๐-๔๐ ปี มันจะมีอุปสรรค ทำอะไรสิ่งใดมันจะมีอุปสรรคทั้งนั้นน่ะ เวลามันไปติดขัดอย่างไร แล้วพอมันไปสะดุดตรงนั้นทีหนึ่ง เหมือนกับเราใช้คำว่า “แผ่นเสียงตกร่อง

เวลาคนภาวนาเอียงๆ บางทีตัวมันโยกมันคลอน นั่นแหละเพราะมันฝังใจ พอฝังใจแล้วเป็นอย่างนั้นน่ะ แต่วิธีการแก้ก็ตั้งเฉยๆ ก็จบ ดึงกลับมา จบหมด แต่เพราะพอมันเอียงไปแล้วมันฝังใจไง พอนั่งๆ ไปมันจะไปแล้ว ไปแล้ว แล้วบอกวิธีแก้อย่างไร

ก็ดึงกลับมาก็จบ มันจะไปแก้ยากตรงไหน มันไม่มีอะไรยากเลย มันยากแต่คนทำ “ก็มันเอียง มันเอียง

นี่มันฝังใจ อะไรก็แล้วแต่ที่มันฝังใจมันจะเป็นอย่างนั้น นี่หลวงตาท่านสอนไว้ ให้มันตรงไว้

นี่พูดถึงว่า เขาถามถึงการฝึกชำนาญในวสีมีอย่างไรบ้าง ลูกมีความตั้งใจอยากจะฝึกชำนาญในวสีแต่ไม่รู้จะฝึกแบบไหน ในหนังสือวิธีการก็ไม่มี

การฝึกชำนาญในวสีคือการฝึกความชำนาญในการเข้าและการออกสมาธิ การเข้าและออกสมาธิ พอสมาธิมันเข้ามันออกโดยแบบว่าเรามั่นใจ เหมือนกับเรามีทุนแล้ว เรามีทุน เรามีทุกอย่างพร้อมแล้ว เราจะเริ่มทำงานต่อไปได้ ถ้าเราชำนาญในวสี เราพร้อมหมดแล้ว หลวงตาท่านใช้คำว่า เราจะประกอบอาหาร ปลาก็มีแล้ว เครื่องแกงก็มีแล้ว ทุกอย่างก็มีแล้ว แล้วปล่อยให้มันเน่า ไม่เอาเครื่องแกงลงหม้อแล้วแกงขึ้นมาให้สำเร็จรูป

นี่ก็เหมือนกัน สติก็มีแล้ว สมาธิก็มีแล้ว ปัญญาก็เก้อๆ เขินๆ อยู่อย่างนั้นน่ะ แต่เราสร้างมรรคขึ้นมาไม่ได้ไง เราไม่สามารถทำอาหารขึ้นมาเป็นหม้อเป็นจานขึ้นมาได้ไง ถ้าเราทำอาหารเป็นหม้อเป็นจานขึ้นมา เราก็ทำฝึกหัดขึ้นมาให้เป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคขึ้นมามันก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา มันก็เป็นมรรคขึ้นมา มันก็ถูกต้องดีงาม นี่วิธีการฝึก ฝึกหัดไปอย่างนั้น

ฉะนั้นบอกว่า ในตำรามันไม่มี

มันไม่มีหรอก ไม่มีใครบอกไว้ขนาดนั้น แล้วครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นแล้ว เวลาท่านบอกไว้แล้วเราก็ไม่รู้อีก ท่านบอกไว้หมดแต่ท่านไม่บอกจ้ำจี้จ้ำไชไง ท่านบอกให้เราฝึกหัดให้เราเป็นขึ้นมา ถ้าเป็นขึ้นมาแล้วมันเป็นประโยชน์กับเรา

นี่พูดถึงว่า การชำนาญในวสีคือการชำนาญในการเข้าและการออก เวลาเข้าออกแล้วเราก็ฝึกหัดต่อเนื่องไป ฝึกหัดต่อเนื่องไปเป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนา วิปัสสนาคือปัญญารู้แจ้งในจิตของตน ปัญญารู้แจ้งในกิเลสของตน ถ้าปัญญารู้แจ้งในกิเลสของตน ไม่ใช่ปัญญาที่เราจำกันมา ปัญญาที่เราพยายามสร้างกันมา อันนี้มันเป็นปัญญาจำ ปัญญาจำเป็นอย่างหนึ่งนะ ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการฝึกหัดนี้เป็นอีกอย่างหนึ่งนะ

ฉะนั้น เวลาเกิดสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ครูบาอาจารย์ที่ท่านปฏิบัติแล้วท่านเห็นชัดเจนมาก สุตมยปัญญาคือปัญญาในการศึกษา จินตมยปัญญาคือนักภาวนานี่แหละแต่มันยังไม่ถึงจุดของมัน มันเป็นจินตนาการทั้งหมด แต่เวลามันเข้าสู่สัจจะความจริงนะ มันเกิดภาวนามยปัญญานะ มันสำรอกมันคาย นั่นแหละคือภาวนามยปัญญา

เวลาภาวนามยปัญญามันสมดุลของมัน มันมัชฌิมาปฏิปทา มันสมุจเฉทปหาน เห็นขาดๆๆ เป็นชั้นๆ ขึ้นไปเลย มันจะเห็นความมหัศจรรย์ของศาสนา แล้วความมหัศจรรย์ของศาสนาเกิดจากการกระทำของเรา นี้คือการชำนาญในวสี

ฉะนั้น ต่อไปมีคำถามต่อเนื่องมา เรื่อง “อาการน้ำตาไหลขณะภาวนาพุทโธตอนเดินจงกรม นั่งสมาธิ” มันไปซ้ำกับอันเก่า คำว่า “มันไปซ้ำอันเก่า” เพราะอันเก่าถามมาแล้ว แล้วเราตอบไปแล้ว นี่เขาใจร้อน เขาถามมาใหม่ แต่มันก็เป็นการยืนยันว่า การชำนาญในวสี ถ้าการชำนาญในวสีที่เขาประพฤติปฏิบัติอยู่ ถ้ามันเป็นสมาธิ เป็นปัญญาได้ มันเป็นสมาธิ เป็นปัญญาขึ้นมาตามข้อเท็จจริง แต่เวลาปฏิบัติใหม่ๆ อันนี้มันเป็นการเปรียบเทียบไง

ถาม : เรื่อง “อาการน้ำตาไหลขณะบริกรรมพุทโธทั้งตอนนั่งและตอนเดินจงกรม

กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ หนูมีเรื่องสงสัยอยากจะเรียนกราบหลวงพ่อ คือเวลาหนูบริกรรมพุทโธไปเรื่อยๆ สักพักจะเกิดอาการน้ำตาไหล ยิ่งบริกรรมพุทโธหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็ถี่ขึ้นเรื่อยๆ อาการน้ำตาไหลก็จะหนักตามไปด้วย อาการนี้จะเกิดขึ้นตอนนั่งสมาธิและเดินจงกรมเจ้าค่ะ แต่โดยรวมแล้วมีความสุขค่ะ หนูอยากทราบว่าอาการที่หนูเป็นอยู่อย่างนี้คืออะไร และหนูปฏิบัติถูกทางหรือไม่เจ้าคะ ขอความเมตตาหลวงพ่อช่วยตอบคำถามให้หนูด้วยค่ะ

ตอบ : ไอ้คำถามนี้ครั้งที่แล้วตอบไปแล้ว ตอบไปว่ามันถูกต้อง มันถูกต้อง แต่อาการอย่างนี้ อาการที่น้ำตาไหล อาการที่ตัวเบา อะไรต่างๆ เกิดจากปีติทั้งนั้น เกิดจากปีติทั้งนั้น เกิดจากจิตมันสงบแล้วจิตมันมีอาการ อาการที่เกิดจากความสุข จิตมันสงบแล้วมันจะมีอาการของมัน

จิตถ้าเวลามันทำของมันไปแล้วถ้ามันเป็นมิจฉา ทำไปแล้วมันหลงมันใหลเข้าไป มันหลงใหลโดยที่ไม่รู้สึกตัว จิตที่มันสงบไปแล้วมันไปเห็นอุปสรรค ไปเห็นนิมิต เห็นต่างๆ แล้วเกิดทำให้ตัวเองสงสัย จิตไปเห็นนิมิตต่างๆ ที่มันทำให้ตกใจ มีแต่ความหวาดผวาในใจ นี่เวลาจิตมันมีอาการ พอมันจะสงบแล้วมันจะมีอาการที่มันจะเห็นต่อเนื่องกันไปแล้วแต่จริตนิสัย แล้วแต่อำนาจวาสนา แล้วแต่กรรมของตน

นี่เหมือนกัน ที่ว่าชำนาญในวสีๆ เวลามันชำนาญไปแล้วมันจะมาแก้อาการต่างๆ เหล่านี้ อาการต่างๆ แก้จนกว่ามันจะหมดไป พอหมดไป อาการต่างๆ นี้จิตมันไม่สัมผัสมัน จิตวางหมด พอจิตวางหมด จิตมันกำหนดพุทโธ จิตใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะเข้าสู่คำบริกรรมก็เข้าสู่สมาธิ เข้าสู่ข้อเท็จจริง

ที่บอกว่า สมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ มันเป็นรูปแบบ รูปแบบที่จิตมันพัฒนาการเป็นชั้นๆ ขึ้นไป เพราะสมาบัติ ๖ สมาบัติ ๘ ฤๅษีชีไพรเขาก็ทำได้แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะยังไม่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปศึกษากับอาฬารดาบส อุทกดาบส มันก็มีอยู่แล้ว ฤๅษีชีไพรเขาทำกันอยู่แล้ว นี่มันเป็นรูปแบบ รูปแบบของการฝึกหัดจิต ฝึกหัดจิตของโลกๆ ฝึกหัดจิตของพวกอภิญญา เพราะมันจะมีกำลังของมัน แต่มันไม่ใช่การฆ่ากิเลส

ทีนี้เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนขึ้นมาให้ชำนาญในวสี ให้ทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบระงับเข้าไปแล้ว ชำนาญในวสีในการเข้าการออก การฝึกหัดให้ใจสงบ ใจสงบแล้วใจมีกำลัง พอใจมีกำลังแล้วพยายามโน้มน้าวไปสู่สติปัฏฐาน ๔ ให้เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง

ถ้าเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง อันนั้นเป็นอาการของกิเลส กิเลสมันเป็นนามธรรม กิเลสมันแสดงตัวได้ กิเลสมันแสดงตัวด้วยทิฏฐิมานะในการยึดมั่นถือมั่นกายของเรา กิเลสมันพอใจไม่พอใจคือเวทนา กิเลสที่มันอยู่กับแสงความผ่องใสนั้นมันอยู่กับจิต เวลาความรู้สึกเกิดขึ้น ธรรมารมณ์ ธรรมารมณ์มันเกิดจากจิต นี่กิเลสอาศัยพวกนี้เป็นเครื่องมือวิธีการการแสดงออกของกิเลสเหมือนกัน ถ้าเราเห็นสติปัฏฐาน ๔ เราเห็นเครื่องการแสดงออกของกิเลส เราจับตรงนั้นพิจารณาขึ้นไปมันก็จะเป็นปัญญา ถ้าเป็นปัญญามันก็เป็นมรรค ถ้าเป็นมรรคขึ้นมาเป็นความจริง

ความชำนาญในวสีๆ แล้วยกขึ้นสู่วิปัสสนามันก็ใช้ปัญญาขึ้นไป นี่มันเกิดจากทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เกิดจากสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม นี่หลักของศาสนา หลักของศาสนาสอนที่นี่ไง สอนที่นี่ด้วย ทำที่นี่ด้วย ให้เป็นที่นี่ด้วย

ไม่ใช่สอนแล้วเราก็ศึกษาๆ แล้วก็ท่องจำแล้วก็ว่าทำได้ แล้วเวลามีคนปฏิบัติขึ้นมาเขามีอุปสรรคขึ้นมา ตอบเขาไม่ได้นะ คือแก้เขาไม่ได้ แต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ของเราแก้ได้หมด ขอให้เป็นมา ปฏิบัติมา ให้มันเป็นมาเลย จะแก้เลย จะแก้เพราะอะไร จะแก้

มันเหมือนทางการแพทย์ วิชาการแพทย์ ถ้ามันมีความเจ็บไข้ได้ป่วยมันต้องมีที่มาที่ไป ไอ้นี่ก็เหมือนกัน จิตที่มันติด จิตที่มันมีอาการต่างๆ มันต้องมีที่มาที่ไป ที่มาที่ไปมันมีพื้นฐาน มันมีสมาธิไหม ถ้าไม่มีสมาธิมันพิจารณาของมันไปนั้นเป็นจินตนาการทั้งหมด จินตนาการทั้งหมดเป็นโลก ถ้าเป็นโลกขึ้นมาแล้วเป็นอาการต่างๆ ที่กระทบในใจขึ้นมา มันก็เป็นผลจากกิเลสที่มันล่อลวง

ฉะนั้น ถ้ามันปฏิบัติไปแล้วถ้ามันมีความขาดตกบกพร่องที่มันเป็นไปไม่ได้ มันต้องมีความไม่สมบูรณ์ของมัน ไม่สมบูรณ์ในอะไร ไม่สมบูรณ์ในศีล ในสมาธิ ถ้าไม่สมบูรณ์ มีกำลังมากน้อยแค่ไหน มันต้องย้อนกลับไปตรงนั้นเลย ถ้าย้อนกลับไปตรงนั้น ถ้าไปทำพื้นฐานมันมั่นคงขึ้นมาแล้ว เวลาวิปัสสนาขึ้นมามันจะเป็นไปไม่เป็นไป ถ้าไม่เป็นไปมันก็ต้องกลับไปที่วาสนาว่าทำมามากทำมาน้อย

เพราะพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาลนะ ระลึกอดีตชาติได้พันชาติ ร้อยชาติ แล้วแต่ว่าคนที่มีอำนาจวาสนามากน้อยแค่ไหน บางคนได้ห้าชาติสิบชาติ เพราะว่ามันมีกำลังเท่านั้น แต่พระอรหันต์บางองค์ได้หลายร้อยชาติเลย พระพุทธเจ้านี่ไม่มีขอบเขตเลย นี่พูดถึงอำนาจวาสนาของคน ต้องอาศัยอำนาจวาสนาด้วย แต่อำนาจวาสนาเป็นอำนาจวาสนา แต่ทุกอย่างต้องเกิดจากมรรค ทุกอย่างต้องเกิดจากการปฏิบัติ ถ้ามันปฏิบัติตามความเป็นจริงแล้วมันถึงจะเป็นความจริง

นี่พูดถึงว่า การชำนาญในวสี ชำนาญในวสีคือชำนาญในการเข้าออก ถ้าเวลาชำนาญในการเข้าออกแล้ว สิ่งที่ว่า เวลาจิตสงบแล้วน้ำตาหลงน้ำตาไหล เพราะปฏิบัติไปแล้วมันเป็นเรื่องพื้นฐานน่ะ เพียงแต่คนปฏิบัติใหม่ไปเจอสิ่งใดเข้ามันก็ตื่นเต้นแล้วก็ยึดมั่น แล้วก็แก้ไขลำบาก ก็คิดว่ามันเป็นของใหญ่โตไง

แต่คนที่ปฏิบัติ ครูบาอาจารย์เรานะ เหมือนเดินไปบนถนน คนเดินไปมันมีขวากมีหนามทั้งนั้นน่ะ เวลาเราเหยียบหนามขึ้นมา เราบ่งออกก็จบ แต่ถ้าคนไปเหยียบหนามแล้วนะ โอดโอยอยู่นั่น ไปไม่ได้ จบแค่นั้นเอง

นี่เหมือนกัน ถ้าครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติแล้ว การเดินของเราไปมันมีขวากมีหนามทั้งนั้นน่ะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเดินไปด้วยพระบาทเปล่าสี่สิบห้าปีในชมพูทวีป ในชมพูทวีป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมอยู่สี่สิบห้าปี เดินไปด้วยพระบาทเปล่าตลอดสี่สิบห้าปีนะ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ทีนี้เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านจะไปโดยอำนาจของท่าน มันก็เหมือนลอยไป ลอยไปได้เลย ไม่ต้องเดิน ลอยไปเลย ทีนี้เพียงแต่ท่านก็ไม่ทำ เพราะอะไร เพราะท่านทำเป็นแบบอย่างของพระ แบบอย่างของพระ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอย่างใด พระก็จะเลียนแบบ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงใช้ชีวิตแบบเป็นตัวอย่าง เวลานอนไม่มีใครนอนได้แบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยสีหไสยาสน์ เวลาท่านดำรงชีพของท่านอยู่ท่านทำของท่านเป็นตัวอย่าง

ฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระองค์เดียวที่ละสันดานได้ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ อัครสาวกต่างๆ ละกิเลสได้ แต่ละนิสัยไม่ได้ เพราะไม่ได้สร้างอำนาจวาสนามาขนาดนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์เดียวละทั้งกิเลสด้วย ละทั้งสันดานด้วย ใช้ชีวิตเป็นแบบอย่างเป็นศาสดาของพวกเรา เอวัง