ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

กฐินเดาะ

๓ ธ.ค. ๒๕๕๙

กฐินเดาะ

พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๙

ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

ถาม : เรื่อง “เรียนถามหลวงพ่อเรื่องกฐิน

กราบนมัสการหลวงพ่อครับ ผมอยากให้หลวงพ่อช่วยอธิบายเรื่องกฐินว่า ถ้าพระไม่ได้ตัดเย็บย้อมจีวรเองหรือใช้จีวรสำเร็จรูปที่โยมมาถวายในการทอดกฐิน จะเป็นกฐินตามวินัยหรือไม่อย่างไร การทำผ้ากฐินทำเพียงสบงอย่างเดียวหรือจีวรอย่างเดียวหรืออย่างใดอย่างหนึ่งในไตรจีวรได้หรือไม่ เป็นกฐินหรือไม่ หรือต้องทำผ้าครบทั้งสามผืนถึงจะเป็นกฐิน ขอเมตตาช่วยอธิบายด้วยครับ

ตอบ : อันนี้พูดถึงเรื่องกฐินเนาะ กฐินมันก็เป็นคราวกรานจีวร ถ้าเป็นกรานกฐิน ถึงหน้ากรานกฐิน ถึงคราวกรานกฐิน ออกพรรษาแล้ว เมืองไทยมันเป็นที่นิยมเท่านั้นเอง แต่ถ้ามันเป็นที่นิยมในพื้นที่ ดูเถรวาทนะ เถรวาทในลาว เถรวาทในเขมร เถรวาทในไทย เถรวาทในพม่า ในพม่ากับไทยความเชื่อในเรื่องศาสนาโดยหลักการแล้วมันไม่ค่อยเหมือนกัน ทั้งๆ ที่เป็นเถรวาทเหมือนกันไม่ค่อยเหมือนกันด้วยว่าแก่นที่เขาเชื่อถือนั้นคืออะไร

แต่ในเมืองไทยของเรา เรื่องกฐิน เรื่องกฐินเขาว่าเป็นบุญใหญ่ ถ้าเป็นบุญใหญ่แล้วทุกคนก็ปรารถนาจะทอดกฐิน เพราะว่าในทอดกฐินมันถึงเวลาแล้ว ถึงเวลาหนึ่งปีได้ภายในหนึ่งเดือนใช่ไหม มันเป็นครั้งคราว แต่ถ้าบุญกุศลอย่างอื่นเราทำได้ตลอดเวลามันก็เลยนอนใจไง แต่ถ้ามันมีเวลาจำกัด แหมมันก็อยากจะทอดกฐินๆ ก็เลยถือกรานกฐิน ก็เลยเป็นที่นิยม ถ้าเป็นที่นิยมไปแล้วมันก็เป็นวัฒนธรรม ทีนี้พอวัฒนธรรมแล้วมันก็มีที่มา เวลาที่มามันมาจากธรรมวินัย ถ้ามาจากธรรมวินัย เวลากรานกฐิน คำถามว่ากฐิน

กฐินมันจำเป็นมีก็มีไง อย่างเช่นเวลาอยู่กับหลวงตา เวลาทอดกฐินท่านให้ทำเป็นปกติ แล้วดูสิ เวลาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านถือธุดงค์ ท่านถือผ้าสามผืน ท่านถือผ้าสามผืนแล้วเวลากฐินทำอย่างไรล่ะ เพราะท่านไม่รับกฐิน

ทีนี้เวลามาถึงหลวงตา เวลาที่ท่านทอดกฐิน สมัยอยู่กับท่าน มันเหมือนกับวันปกติธรรมดา เหมือนกับเรามาทำบุญปกติ นี่ท่านทำให้ดูให้มันเป็นปกติเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ให้มีจุดเด่น ไม่ให้มีสิ่งใดที่ว่าเป็นจุดขาย ว่าอย่างนั้นเลย ไม่มีจุดขาย ทีนี้เวลาสุดท้ายแล้วพออยู่ต่อมาๆ ท่านก็บอกว่าท่านจะยกเลิกซะ คือว่าปกติแล้วแบบว่ามันไม่มีอาบัติ มันไม่มีทุกข์ ไม่มีสิ่งใดที่จะปรับให้ต้องทำ ไม่ทำก็ได้ ทำก็ได้ แต่ทำนี่ท่านทำเป็นตัวอย่าง ทำให้ลูกหลานได้เห็นว่าการทอดกฐินทำอย่างไร เสร็จแล้วท่านก็จะระงับซะ แต่พอมีโครงการช่วยชาติฯ ท่านก็เลยเป็นกฐินช่วยชาติ

พอคำว่า “เป็นกฐินช่วยชาติ” เพราะว่าเป็นบุญกฐินใช่ไหม แต่มีโครงการช่วยชาติฯ อยู่แล้ว ท่านก็หาปัจจัยเพื่อจะมาเกื้อหนุนชาติ ก็เลยเป็นกฐินช่วยชาติ กฐินช่วยชาติมันเป็นนิยาม เป็นการที่ท่านตั้งชื่อให้ดูขลัง ให้ดูว่ามีบุญมาก ทุกคนจะได้มาช่วยกันยกชาติ มันก็เลยดูว่า โอ้โฮมันจำเป็น แต่ความจริงจะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้

แต่คำว่ามีๆ เพราะในสมัยพุทธกาลมันเป็นเรื่องที่มันขาดแคลนจริงๆ นะ คำว่า “ขาดแคลน” เพราะสมัยโบราณมันไม่มีโรงงานทอผ้า มันต้องทอมือทั้งนั้นน่ะ ดูสิ เส้นทางสายไหมๆ ผ้าไหมจากเมืองจีนไปในโรมในอิตาลี อู้ฮูทุกคนอยากใช้มาก มันเป็นความมหัศจรรย์นะ สมัยผ้าที่แพงที่สุดในแว่นแคว้นในชมพูทวีป ผ้ากาสี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามพระใช้เลยล่ะ เพราะใช้แล้วมันจะดูแบบว่าเหมือนกับปัจจุบันใช้ผ้าพิเศษ มันมีราคามาก ฉะนั้น เวลาสมัยพุทธกาล สิ่งนี้มันไม่มี มันขาดแคลน พอมันขาดแคลนขึ้นมามันก็ต้องหาเอาตามธรรมชาติ

ฉะนั้น ถึงเวลาออกพรรษาแล้วพระไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราออกพรรษาแล้ว ในพรรษาพวกเราจะอธิษฐานพรรษากัน จะมุมานะในการประพฤติปฏิบัติกัน ในพรรษาหนึ่งมันจะมีสิ่งใดที่มันตกค้างในใจ มันจะมีปัญหา ว่าอย่างนั้นเถอะ ออกพรรษาเราก็จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใครประพฤติปฏิบัติประสบความสำเร็จ ใครประพฤติปฏิบัติแล้วเป็นพระอรหันต์ก็จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะพยากรณ์

ฉะนั้น ออกพรรษาแล้วพระก็จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาไปแล้วบางทีพระมาผ้ามันขาดๆ แคลนๆ พระลุยน้ำมา ผ้ามันเปียก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยบอกให้จำพรรษาที่นั่นก่อน ออกพรรษาแล้วให้ถ่ายผ้าก่อน มันก็เลยเป็นบุญกฐินขึ้นมา

ถ้าบุญกฐินขึ้นมา มันจะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ ครูบาอาจารย์หลายองค์ท่านให้ระงับไปเลย คือไม่ไปกวนบ้านกวนเมืองไง ไม่กวนประชาชนไง ไม่กวนญาติโยมจนเกินไป หลวงตาท่านว่าเบียดเบียนเขาเกินไป

ถ้าจิตใจที่เป็นธรรมเขาจะไม่เบียดเบียนทำให้สังคมบอบช้ำ จิตใจที่เป็นธรรมเขาคิดกันอย่างนั้นนะ เขาไม่ให้สังคมนี้บอบช้ำ เขาไม่ให้จิตใจเราบอบช้ำเพื่อต่างคนต่างอยู่สุขอยู่สบายไง ใครปรารถนาบุญกุศลก็แสวงหาขวนขวายเอา สิ่งใดที่ทำให้บอบช้ำท่านก็ไม่ทำ ท่านก็ระงับไป

ฉะนั้น นี่พูดถึงว่ากฐินจะมีหรือไม่มีก่อน กฐินจะมีก็ได้ มีไว้ทำไว้เป็นตัวอย่าง ทำไว้ให้เป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังได้ประพฤติปฏิบัติตาม แต่ถ้ามันแบบว่ามันทำแล้วมันเป็นความกังวล ทำแล้วมันมีปัญหา ท่านยกเว้นเลย ท่านยกเว้นได้ นี่พูดถึงครูบาอาจารย์ของเราทำนะ

ทีนี้นี่พูดถึงว่ากฐิน แต่เวลามาเป็นประเพณีวัฒนธรรมมันเป็นเรื่องของการกระทำ เรื่องของการกระทำว่า คำถามถามว่า “หลวงพ่อครับ ผมอยากให้หลวงพ่อช่วยอธิบายเรื่องกฐินว่า ถ้าพระไม่ได้ตัดเย็บย้อมจีวรเองหรือใช้จีวรสำเร็จรูปที่โยมมาถวายในการทอดกฐินจะเป็นกฐินหรือไม่

ถ้าไม่ได้ตัดเย็บไง ถ้าเอาตามธรรมวินัย ถ้าเอาตามธรรมวินัยนะ เริ่มตั้งแต่กฐินก่อนเลยแหละ ถ้ากฐิน อย่างครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นศีลอธิศีล ศีลที่เป็นความปกติของใจ ท่านมีความละอาย คนที่มีความละอายทำอะไรผิดพลาดนี่ท่านไม่อยากทำหรอก ครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรมนะ

แม้แต่อย่างครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าโยมมา โยมที่เขาไม่เข้าใจเรื่องศาสนา ท่านจะเฉย ท่านจะเฉย ท่านจะเงียบ ท่านจะไม่ตอบรับ คำว่า “ตอบรับ” มันไปร่วมกับเขาไง อย่างโยมมานี่ผิดๆ ถูกๆ ทำอะไรพูดไปผิดๆ ถูกๆ ถ้าอธิบายได้ก็จะอธิบาย ถ้าจะอธิบายไม่ได้ ท่านจะเงียบซะ แล้วเป็นความเข้าใจของโยมเอง ถ้าโยมเข้าใจถูกต้องได้ก็จะเข้าใจถูกต้อง อนาคตจะเข้าใจได้ ถ้ายังเข้าใจไม่ถูกต้องก็เป็นอย่างนั้น ท่านจะเงียบซะ นั่นพูดถึงว่ามันเป็นความเข้าใจ

ฉะนั้น สิ่งที่ว่ากรานกฐินๆ เวลาเริ่มต้นตั้งแต่ว่า เวลาผ้ากฐินนี่นะ ท่านจะบอกว่าตกมาจากฟ้า เป็นผ้าที่สะอาดบริสุทธิ์ ฉะนั้น คำว่า “ผ้าที่สะอาดบริสุทธิ์” ภิกษุจะขอไม่ได้ คนที่จะมาจองกฐินเขาจะมาจองของเขาเอง ภิกษุอย่างเรานี่นะ พอโยมมา “โยม ที่วัดนี้กฐินมันยังขาดแคลน มันยังขาด” ถ้าอย่างนี้ปั๊บเขาเรียกว่าขอ บอก กฐินนั้นไม่เป็นอันกราน คือไม่เป็นอานิสงส์เลย

กฐินนี่เขาไม่ให้บอกนะ เขาให้เป็นเจตนาของประชาชนเอง ถ้าเป็นประชาชนเขาเจตนา เขาตั้งใจของเขา อันนั้นน่ะมันสะอาดบริสุทธิ์ แต่เราไปพูดเปิดทาง ไปพูดเพื่ออยากจะได้ กฐินอันนั้นไม่เป็นอันกราน กฐินที่ไม่เป็นอันกรานคือไม่มีอานิสงส์เลยล่ะ บอกก็ไม่ได้ สิ่งใดก็ไม่ได้

ภาษาเรานะ ภาษาเรา ถ้าเป็นหมู่บ้านชุมชน ชุมชนมีพระมาจำพรรษา พอมีพระมาจำพรรษา ถ้าพระองค์เดียวนะ มันก็เป็นพระมาวิเวก ถ้าพระเขามาครบสงฆ์ มันเป็นชุมชนนั้น ชุมชนนั้นถ้าเขาเป็นชาวพุทธหรือเขามีความศรัทธา เขาจะปรึกษากัน เขาจะมีการกระทำของเขา ถ้าเขามีการกระทำของเขา เขาจะเป็นหน้าที่ของเขา คือมันเป็นหน้าที่ของฆราวาสเขาว่าเขาจะส่งเสริมอย่างใดเพื่อความมั่นคง เขาจะเข้ามาจัดการเอง ถ้าเขาเข้ามาจัดการเอง สิ่งนั้นนั่นน่ะกฐินเป็นอันกราน

นี่เริ่มตั้งแต่จองกฐินเลย ถ้าจองกฐินโดยไปนัดไปแนะไปบอกกัน กฐินนั้นไม่เป็นอันกราน คือกรานก็ไม่ได้ คือทำก็คือสักแต่ว่าทำ ไม่มีผล นี่พูดถึงถ้าเอาตามตัวอักษรเลยนะ มันอยู่ในวินัย เรื่องกฐินเป็นอันกรานหรือไม่เป็นอันกราน มันเริ่มต้นตั้งแต่ว่า กฐินไปขอเอา ไปพูดเทียบเคียงให้เขาอยากจะมา ถ้าอย่างนี้กฐินไม่มีอานิสงส์หมด

กฐินต้องเป็นความตั้งใจของเขา ถ้าเป็นความตั้งใจของเขาแล้ว ถึงเวลาทอดแล้ว เวลามาที่ว่าจะเป็นอานิสงส์กฐินต้องมีมาติกา ๘ คำว่า “มาติกา ๘” คือต้องมีการกะผ้า เวลาถวายกฐินแล้ว เขาเรียกกะ คือวัด กะผ้า ตัดผ้า เย็บผ้า ย้อมผ้า ถ้ามีมาติกา ๘ มันถึงจะมีอานิสงส์กฐิน เพราะการที่มันมีมาติกา ๘ คือการตัด การเย็บ การย้อม การกะ การเนา เพราะสมัยนั้นไม่มีจักร ถ้าเย็บอย่างนี้แล้วมันเป็นความสามัคคีในสงฆ์ สงฆ์ต้องมีความสามัคคีต่อกัน ฉะนั้น มันเกี่ยวพันกัน กฎหมายมันเกี่ยวพันกันไป เกี่ยวพันไปในเรื่องวินัย

เรื่องวินัยที่ว่า ภิกษุฉันปรัมประ คือฉันพร่ำเพรื่อ เป็นอาบัติปาจิตตีย์ เว้นไว้แต่กรานกฐิน คราวภิกษุไปทางเรือ ไปทางรถ ภิกษุมากต่างๆ ฉันปรัมประคือไม่ได้พร่ำเพรื่อ คือมันต้องมีงานมาก คือจะฉันพร้อมกันให้เสร็จพร้อมกันในคราวเดียวไม่ได้ ถ้าภิกษุฉันด้วยครั้งเดียวพร้อมกันคราวเดียวถือว่าภิกษุฉันโดยปกติ แต่ถ้าปรัมประคือฉันแยกกัน คือฉันต่างหาก

ในกรานจีวร มีกรานจีวรนี้ด้วย ในกรานจีวร ในกรานจีวรสมัยกฐินนี้ด้วย เพราะสมัยกฐินต้องมีการกะ การเนา การเย็บ การย้อม พระภิกษุกำลังเย็บผ้าอยู่นี่ มันจะมาฉันพร้อมกันไม่ได้ แล้วต้องเสร็จภายในวันเดียว กฐินคือสิ่งที่ขึงผ้านั่นน่ะ แล้วเย็บอยู่

มีการกะ การเนา การเย็บ การย้อม มันถึงจะมีอานิสงส์ ถ้าไม่มีการเนา การกะ การเย็บนะ ไม่มีอานิสงส์ กฐินไม่มีอานิสงส์ แล้วพอไปได้กฐินเสร็จแล้ว พอเย็บเสร็จแล้ว กรานกฐินก็อีกอย่างหนึ่ง กรานกฐินก็พระพร้อมกันลงมากรานกฐิน มันถึงจะเป็นกฐินไง

นี่พูดถึงว่า ถ้าจะเอาชัดๆ นะ เอาชัดๆ ที่บอกว่า ถ้าไม่มีการตัด การเย็บ การย้อม แล้วอีกอย่างหนึ่งใช้จีวรสำเร็จรูปมันจะเป็นกฐินหรือไม่

ทีนี้การว่าใช้จีวรสำเร็จรูป มันเป็นการถวาย เวลาผ้า เขาเรียกคหบดีจีวร จีวรที่เขาถวายสำเร็จ คหบดีจีวร แล้วผ้าบังสุกุลคือผ้าที่ไม่ได้เป็นจีวร

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ถ้าเป็นจีวรสำเร็จ มันจะเป็นกฐินหรือไม่

คำว่า “จีวรสำเร็จ” นี่เป็นเรื่องหนึ่งนะ ถ้าจะบอกว่ามันไม่สำเร็จ แต่เขาก็ทำกัน นี่มันเป็นวัฒนธรรม คือว่าในสังคมที่เขาอนุญาต คือจะบอกว่าเขาอนุญาตคือเขาทำกันมาอย่างนั้น เราจะไม่พูดลงรายละเอียด เดี๋ยวมันจะชี้โพรงให้กระรอก มันจะเกินไป แต่นี้มาจีวรสำเร็จเขาอนุโลมกันว่าได้ เขาอนุโลมกัน คำว่า “อนุโลม” คือประเพณีวัฒนธรรม มันไม่ใช่ แต่เราจะพูดคำว่า “กฐินเดาะ” ก่อน

กฐินถ้ามันสำเร็จรูปทำมาโดยสะอาดบริสุทธิ์ นี่เขาเรียกเป็นกฐิน ตั้งแต่ว่ามีญาติโยมเขาเห็นพระมาจำพรรษาแล้วเขามีศรัทธา เขาอยากจะร่วมมือ เขาอยากจะหาบุญของเขา คือเวลาในพรรษาพระก็บิณฑบาตเลี้ยงชีพใช่ไหม มันเป็นปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ มันก็ขาดเรื่องผ้า ถ้าผ้าถึงเวลาแล้วเขาก็จองกฐิน ถ้าเขาจองกฐิน นี่มันเป็นสะอาดบริสุทธิ์ ถึงที่สุดแล้วเวลาเขาเย็บ เวลาเขาถวายผ้ากฐินแล้ว ถ้าเขาเย็บเขาย้อมพร้อมเสร็จแล้ว เขากรานกฐินเสร็จแล้ว นี่ไง อานิสงส์กฐิน นี่อานิสงส์กฐิน

ธรรมดาพระต้องถือผ้าสามผืน เขาเรียกครองผ้า ครองผ้า อรุณขึ้นผ้าต้องอยู่กับเรา ถ้าผ้าจากเราหนึ่งศอกคืบ เวลาอรุณขึ้นเขาเรียกว่ารัตติเฉท คือว่าขาดผ้าครอง ขาดผ้าครอง ถ้าพระยังใช้ผ้านั้นอยู่จะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ผ้านั้นเป็นนิสสัคคีย์ ต้องเสียสละผ้านั้นทิ้งไปก่อน เสียสละผ้านั้นทิ้งไปแล้ว แล้วปลงอาบัติ เสร็จแล้วเขาคืนผ้านั้นให้ คืนผ้านั้นแล้วก็ต้องพินทุอธิษฐานขึ้นมา แล้วก็ถือครองต่อไป นั่นเวลาอธิษฐานมันก็เหมือนกับถือครอง

ฉะนั้น เวลาถ้าได้จำพรรษาแล้วหนึ่งพรรษา ภิกษุถือผ้าสองผืนได้ คือขาดผ้าผืนใดผืนหนึ่ง คือว่าเราไม่ต้องถือครองสามผืนได้หนึ่งเดือน ถ้ารับกฐินแล้วได้สามเดือน มันมีอานิสงส์ไง เราจะถือผ้า

นี่พูดถึงว่า วินัยมันจะผ่อนมา ผ่อนมาให้เราทำสิ่งใดได้สิทธิ์ในวินัย ในวินัยก็ในศาสดา ในวินัยก็ในเนื้อธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา เห็นไหม กฐินที่มันมีคุณค่า มีคุณค่าอย่างนี้ มันไปยกเว้นพระที่ต้องปฏิบัติในวินัยนั้นเป็นบางข้อในเวลากี่เดือนๆ มันเป็นสิทธิ

แต่พระกรรมฐานเราไม่เคยใช้สิทธิ์นี้เลย จะมีกฐินไม่มีกฐินก็ถือชีวิตปกติ ไม่มีการยกเว้นธรรมวินัยทั้งสิ้น แต่ในการประพฤติปฏิบัติมันจะมีข้อยกเว้นมาในวินัยนั้นน่ะ ในกฎหมายเขาจะเปิดช่องไว้ เราจะใช้สิทธิ์ไม่ใช้สิทธิ์ไง แต่พระกรรมฐานเราไม่เคยใช้สิทธิ์ ไม่ใช้ข้อยกเว้น ใช้ปกติมาตลอด สิ่งที่มาตลอดมาอย่างนี้

นี่พูดถึงอานิสงส์ของกฐิน กะ เนา เย็บ ย้อมนะ ฉะนั้น มันถึงมีอานิสงส์ของมันไง แต่พูดถึงว่าเวลาถวายผ้ามามันเป็นบางครั้งบางคราวเป็นบางที่ เวลาเขาถวายผ้ามาจะเย็บอะไรก็ไม่ได้เลย มันไม่พอ พอมันไม่พอมันทำอะไรไม่ได้ พอมันทำอะไรไม่ได้ มันเป็นผ้าจีวรที่ตัดเย็บเป็นไตรจีวรขึ้นมาไม่ได้ ภิกษุจะประชุมกัน เขาเรียกว่ากฐินเดาะ

กฐินเดาะคือว่าทอดกฐินแล้วไม่ได้เย็บผ้า กฐินเดาะคือถวายกฐินแล้วมันประกอบขึ้นมาเป็นผ้าไตรจีวรไม่ได้ หรือมันมีเหตุสุดวิสัย มีเหตุขัดข้อง สงฆ์จะประชุมกันแล้วพร้อมใจกันเดาะกฐิน เดาะกฐินคือว่าไม่ตัดเย็บ ไม่ได้ตัดเย็บผ้า เขาเรียกกฐินเดาะ ถ้ากฐินเดาะ มันก็มาที่อานิสงส์ อานิสงส์มันไม่มี แล้วมันมีสิทธิ์ไง

ความจริงเลย อย่างเช่นวัดนี้มีการทอดกฐิน ถ้าทอดกฐินเสร็จแล้วพระทั้งหมดรับรู้ว่ามีการทอดกฐินแล้ว พระในวัดนี้จะไปขอผ้าจากที่อื่นไม่ได้ จะขออีกไม่ได้เลย แต่ถ้ากฐินเดาะ กฐินเดาะคือผ้ามันขาดผ้ามันแคลน มันไม่พร้อม พระมีสิทธิจะไปขอผ้าคนอื่นต่อ ยังมีโอกาสขอผ้าอื่นได้อีกสี่เดือน หกเดือน

เดี๋ยวเอามะพร้าวไปขายสวนหรือเปล่า ใครเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์บ้าง มันอยู่ในนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอกนะที่พูดอยู่นี่ ถ้าใครเรียนวินัยมา ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ หลวงพ่อพูดนี่จะเข้าใจเลย ถ้าใครไม่เรียน มองหน้าเลยนะ เอามะพร้าวมาขายสวนไง “โอ้หลวงพ่อพูดหนูรู้หมดแล้วแหละ

หนูรู้แล้วก็หนูรู้สิ แต่คนถามมันไม่รู้ คนถามมันถามมาไง ทีนี้มันถามมามันถามว่า ผ้ากฐินมันใช้ได้หรือไม่ ไม่ได้ตัดไม่ได้เย็บนี่เป็นกฐินหรือไม่ แล้วสิ่งที่ว่าถ้าเป็นผ้าสำเร็จรูปที่โยมถวายจะเป็นกรานกฐินหรือไม่

ตามวินัยว่าอย่างไร ตามวินัยนะ ที่พูดนี่ ฉะนั้น ถ้าตามวินัย สิ่งที่มันเป็นวัฒนธรรมมา ดูสิ ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนฯ สมัยกรุงเทพฯ มันเกิดข้าศึกสงครามกันมาตลอด เวลาเกิดข้าศึกสงคราม เวลาภัยพิบัติมา ศาสนามันกระทบกระเทือนมาตลอด เวลากระทบกระเทือนมา ต้องมาสมัยพระจุลจอมเกล้าฯ ถึงเก็บรวบรวมกันพิมพ์พระไตรปิฎกได้ครบสมบูรณ์ นี่มันเกิดการเผา เกิดการทำลายกันมาตลอดนะ

เราจะบอกว่า ในการยึดถือธรรมวินัยมันก็มีลุ่มๆ ดอนๆ มาเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าศึกษาเรื่องอย่างนี้แล้วย้อนกลับมา ไม่ต้องไกลมากเลย ไปดูประวัติหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านพูดมันเศร้าใจนะ เวลาหลวงปู่มั่นกับหลวงปู่เสาร์ออกธุดงค์ไป ในประวัติหลวงปู่มั่นนั่นแหละ ประชาชนเห็นพระห่มผ้าดำๆ นึกว่าเป็นผีบุญ เป็นอะไร หอบลูกจูงหลานวิ่งหนีกันเลย นี่ความเชื่อ ความเชื่อวัฒนธรรมขนาดนั้นนะ

แต่ไอ้พวกเราสมัยปัจจุบันนี้มันแบบว่าหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านเป็นกองทัพธรรม ท่านปราบปราม ท่านปราบทิฏฐิของมนุษย์ ปราบความเห็นของคนจนเข้าที่เข้าทางแล้วเราถึงเห็นเป็นเรื่องปกติไง เราไม่ไปเห็นหรอกว่าก่อนสมัยหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น พระเณรอยู่กันอย่างไร ทำตัวกันอย่างไร แล้วหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่นท่านมาพัฒนาอย่างไร

แล้วอย่างที่เราอยู่กับหลวงตา หลวงตาท่านบอก บอกว่าเวลาท่านทำสิ่งใดไปท่านไม่หวั่นไหวอะไรทั้งสิ้น เพราะท่านบอกว่าท่านไม่ได้คิดเอง ท่านทำตามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นทำมาแล้ว ท่านไม่ได้คิดเอง

ถ้าอย่างเราคิดเอง จะหาพระตลาด จะหาจุดขาย จะหาจุดเด่น จะหาสิ่งที่สังคมเขานับถือ

ท่านบอกท่านไม่ได้เคยคิดอย่างนั้นเลย สิ่งที่ท่านทำๆ ท่านทำตามหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นเวลาท่านมีอำนาจวาสนาของท่าน เวลาท่านไม่มีครูบาอาจารย์ที่จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวได้ เวลาสงสัยเรื่องผ้า เอ๊ผ้าจะอยู่กันอย่างไร จะห่มกันอย่างไร ท่านก็กำหนดจิต ท่านก็ย้อนถามเข้าไปในใจของท่าน ถามพุทธะ ท่านย้อนไปนะ

เพราะหลวงตาท่านเล่าบอกว่า ท่านถามหลวงปู่มั่นว่า เวลาสงสัยในความเป็นอยู่ สงสัยเรื่องจีวร สงสัยเรื่องการห่มผ้า สงสัยเรื่องใด ท่านกำหนดดูของท่าน แล้วเวลาหลวงตาท่านก็จดจำมาๆ นี่มันย้อนดูกันอย่างนั้นเลย

นี่พูดถึงว่า ถ้ามันจะฟื้นฟู มันฟื้นฟูมา ฉะนั้น สิ่งที่เราเห็นว่าศาสนาเจริญขึ้นมาแล้ว สิ่งที่เป็นอยู่นี่มันได้มาโดยง่ายดาย มันเป็นได้มาโดยบุญกุศลของพวกเรานะ เพราะเรามาเกิดในยุคนี้ไง ลองเกิดไปยุคที่มันไม่มี เกิดในยุคที่เขาถืออย่างอื่น เราก็เชื่อเขา ตามเขาไปเหมือนกัน

แต่เราเกิดมาในยุคนี้ ยุคนี้ครูบาอาจารย์ท่านเอาชีวิตท่านแลกมา พอแลกมาแล้วมันฟื้นฟูมาๆ แล้วเรามาอย่างนี้ สิ่งที่ว่าในพระไตรปิฎก เราไปรื้อค้นๆ ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดไง ถ้าลูกศิษย์ของท่านถ้าไม่ถือธุดงค์ ท่านบอกไม่ใช่ลูกศิษย์ท่าน

เพราะท่านพูดอย่างนี้นะ เราก็นั่งฟังอยู่ ท่านบอกว่า ถ้าเราไม่ทำ ต่อไปมันจะเหลือตัวอักษร คือมันจะอยู่ในตำรา แล้วพออยู่ในตำรานานๆๆ ไปไม่มีใครทำ

อ่านตำราแล้วก็มาเถียงกัน เอ็งถูก ข้าถูก เอ็งผิด ข้าผิด ท่านถึงบอกว่า ต่อไปถ้าเราไม่ทำ คือไม่ถือธุดงค์ ไม่ถือธุดงค์กันอยู่นี่ ต่อไปคำว่า “ธุดงควัตร” มันก็จะมาอยู่ในตำรา แล้วคนที่จะมารื้อฟื้นมันก็ต้องมา เอ๊ทำอย่างไร เอ๊เอ๊เอ๊แล้วพอเอ๊เอ๊มันก็อยู่ที่วาสนาแล้ว ว่ามันเอ๊ะอย่างไร เอ๊ะถูก เอ๊ะผิด

นี่เวลาท่านพูด เรานั่งฟังอยู่ อืมก็จริงของท่านเนาะ ถ้าไม่ทำไป คำว่า “ไม่ทำไป” ไม่มีใครทำไปมันก็เรียวแหลมไป ต่อไปก็หมดยุคหมดสมัยหมดการกระทำ แต่ตัวอักษรมันยังอยู่นะ พระไตรปิฎกมันอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ มันอยู่ทั่วโลก สมาคมบาลีไวยากรณ์มีอยู่ทั่วโลก ตำรามันมีอย่างนั้นน่ะ

ฉะนั้น เวลาหลวงตาท่านไปลอนดอนไง ท่านเล่าให้ฟัง ในหนังสือ ในลอนดอน ไปเปิดอ่านสิ ท่านบอกว่าท่านไปลอนดอน แล้วเวลาถึงเสร็จแล้ว ท่านฉันเสร็จท่านก็เก็บบริขาร เก็บบริขารเหมือนเรา เหมือนพระออกธุดงค์ มันมีผู้หญิงฝรั่งเขานั่งดูอยู่แล้วร้องไห้โฮๆ เลยนะ หลวงตาก็ เอ๊ะมันร้องไห้อะไร ก็ลองคุยกับเขา

เขาบอกว่าเขาอ่านพระไตรปิฎกมานาน บวชเป็นพระ บวชเป็นภิกษุเหมือนนกมีปีกกับหาง ฉันแล้วก็บินไป ฉันแล้วก็บินไป เขาอ่านนี่เขาก็สงสัย เอ๊ภิกษุเป็นนกได้อย่างไร ภิกษุมันจะเป็นนกได้อย่างไร แต่พอมาเจอหลวงตาเก็บบริขารน่ะ ฉันเสร็จแล้วเก็บบริขารแล้วก็ธุดงค์ต่อไปไง อ๋อภิกษุบวชแล้วเหมือนนกมีปีกกับหาง ฉันเสร็จแล้วก็บินไป ไม่ติดข้องในที่อยู่ ไม่ติดข้องในลาภ ไม่ติดข้องในโยม ไม่ติดข้องใดๆ เลย ฉันเสร็จแล้วก็บินไป

นี่ธุดงค์ พระธุดงค์เรานี่ เพราะทำกันมานี่ หลวงปู่มั่นไง ครูบาอาจารย์ท่านพาทำมาไง หลวงตาท่านก็ทำ แต่ท่านไปทำที่ลอนดอน ไอ้พวกฝรั่งมันอ่านแต่ตำรา มันไม่เคยเห็น พอมันเห็นมันร้องไห้ หลวงตาบอกมันร้องไห้โฮๆ เลยนะ ท่านบอกร้องไห้ทำไม

ก็สงสัยมานาน ภิกษุเหมือนนก ฉันเสร็จแล้วก็บินไป มันบินอย่างไร เพราะเขาไม่เคยเห็น แต่พอเขาเห็นนะ โอ้โฮมันไปตอกย้ำที่เขาสงสัยอยู่

แล้วก็ย้อนกลับมาที่หลวงตาท่านว่า ถ้าเราไม่ทำ มันก็จะอยู่ในตำรา แล้วถ้าไม่ทำ ต่อไปมันจะเป็นการเถียงไปข้างหน้า เราทำของเราซะ

นี่ย้อนกลับมาเรื่องกฐิน ถ้ากฐิน ก่อนหน้านั้นที่เขาถวายเป็นจีวรสำเร็จ เขาถวายกันมา แต่เวลาครูบาอาจารย์ของเราท่านมาฟื้นฟูของท่าน ฟื้นฟูเสร็จแล้ว เราทำนะ ถ้าพูดอย่างนี้ไป ลงรายละเอียดไปแล้วมันกระทบกระเทือนกันเฉยๆ

เรื่องกฐิน ทีนี้เพียงแต่ว่าเราพูดตั้งแต่ต้นไง มีก็ได้ ไม่มีก็ได้ แต่มีแล้วมันก็ต้อง เพราะอะไร เพราะมันมีกฎหมายไง ธรรมและวินัยนี้ไม่ได้ลบทิ้ง ใครลบไม่ได้ แต่วัฒนธรรม สังคมที่ยกเว้น เรายกเว้นกันมาไง ไอ้นั่นก็ยกเว้นได้ ไอ้นี่ก็ยกเว้น แล้วทำมา เพราะอะไร เพราะคุณภาพของคนมีเท่านั้นไง คุณภาพของคน ทำสิ่งละเอียดไม่ได้ก็ยกเว้นในสิ่งที่ทำกันได้แล้วก็ทำกันมา

แล้วครูบาอาจารย์ของเรามาฟื้นฟู มนุษย์ทำได้ พระทำได้ ทำขึ้นมาให้มันถูกต้องตามธรรมวินัย แล้วอย่างที่ว่านี่ทำได้นะ ถ้าทำไม่ได้ก็งดเว้น ไม่ต้องรับกฐินเลย ไม่รับ กฐินก็ถือว่าสละ แล้วถ้าถึงเวลาทำไม่ได้โดยข้อเท็จจริง นั่นก็เดาะ กฐินเดาะ นั่นเป็นเรื่องหนึ่งใช่ไหม

นี่คือคำถามเรื่องกฐิน ฉะนั้น เขาบอกว่า การทำเพียงผ้าสบงอย่างเดียว จีวรอย่างเดียว หรืออย่างใดอย่างหนึ่งในไตรจีวรได้หรือไม่ เป็นกฐินหรือไม่ หรือต้องทำครบทั้งผ้าสามผืน

ถ้าทำครบผ้าสามผืนได้มันก็ดี เขาก็ทำกันครบผ้าสามผืน แต่ส่วนใหญ่แล้วพระธุดงค์หรือว่าครูบาอาจารย์ที่ท่านทำ ท่านทำผืนเดียว ทำผืนเดียวคือว่ามันเป็นวินัยบังคับไว้อย่างนั้น ว่าอย่างนั้น ก็ทำให้ผืนหนึ่งแล้วก็กรานผืนนั้นซะ แล้วเสร็จแล้ว เสร็จแล้วพระทั้งหมด ถ้าใครมีความปรารถนา เพราะจีวรเก่า จีวรเปื่อย สังฆาฯ เก่า สังฆาฯ เปื่อย หรือสบงเก่า ท่านให้เปลี่ยนหมด

แต่เวลากฐิน กฐินคือความสามัคคีท่ามกลางสงฆ์ แต่ของส่วนบุคคล ของพระในวัด ของพระในวัด ของพระนอกวัด ครูบาอาจารย์ท่านแจก ผ้าที่ได้มานะ ท่านเสียสละให้พระทั้งหมด

ดูพระอานนท์สิ พระอานนท์ที่เขาถวายผ้าห้าร้อยสำรับ ไตรวีจรห้าร้อยชุด พระเจ้าปเสนทิโกศลที่ว่าโกรธมาก ทำไมพระขี้โลภ ก็เลยมาถามพระอานนท์เห็นได้ข่าวว่าเขาถวายท่านห้าร้อยชุดใช่ไหม

ใช่

ทำไมท่านรับมากขนาดนั้นน่ะ

อ้าวรับไว้เผื่อแจกพระทั่วไป

แล้วถ้าแจกพระทั่วไป พระที่เขามีจีวรอยู่แล้วทำอย่างไร

ก็ตั้งแต่ว่าถ้ามีจีวรแล้วเขาเสียสละทำฝ้าเป็นผ้าล้อมร้าน

แล้วทำอย่างไรล่ะ

เขาทำเป็นผ้าเช็ดเท้า เสร็จแล้วที่เหลือถ้ามันเก่า เก่าเขาก็ทำเพื่อจะฉาบกุฏิ” นี่เขาถึงศรัทธาขึ้นมาไง

นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่ว่าครูบาอาจารย์ท่านก็สละไป พูดถึงว่า ผ้าต้องทำผืนใดผืนหนึ่งหรือไม่

เขาทำผืนใดผืนหนึ่งเป็นสังฆกรรม แต่เวลาทำสังฆกรรมภายในวันนั้น ในพิธีกรรมกฐินนั้นจบแล้ว พอจบแล้ว พระในวัดนั้นถ้าใครปรารถนา ใครจะเปลี่ยนนะ ถ้ามีผ้านะ เขาจะถ่าย คำว่า “ถ่าย” คือตัดผ้าใหม่ ตัดผ้าใหม่แล้วก็ถ่ายผ้าเก่าออกไป ในวัดทั้งหมด แล้วนอกวัด เขาจะเจือจานกัน ถ้าจิตใจเป็นธรรมนะ

ที่ว่า ต้องตัดจีวรชิ้นใดชิ้นหนึ่งหรือไม่ หรือจะตัดทั้งสามผืน

ถ้าความเป็นธรรม ความเป็นธรรมมันถึงเท่าๆ กันหมดทั้งวัด ไม่ใช่ทั้งวัดนะ ทั้งสังฆะ ทั้งสงฆ์เลย ถ้าเปรียบเทียบอย่างนั้น นี่พูดถึงว่ากรานกฐินเนาะ มันเป็นเรื่องระดับของทาน แล้วอย่างที่ว่า ถ้ากฐินเดาะมันก็เป็นเรื่องหนึ่งนะ ถ้ากฐินเดาะ มันจะมีไป นี่เรื่องของทาน

ฉะนั้น เอาเรื่องของการภาวนา ทาน ศีล ภาวนา ทานนั้นเรื่องของทาน มีทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับถือศีลบริสุทธิ์หนหนึ่ง มีศีลบริสุทธิ์ร้อยหนพันหนไม่เท่ากับทำสมาธิหนหนึ่ง ฉะนั้น พระกรรมฐานเรา สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา จบ

ถาม : เรื่อง “อาการน้ำตาไหลขณะนั่งสมาธิและเดินจงกรมขณะบริกรรมพุทโธ

กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ หนูมีอาการแปลกๆ เกิดขึ้นขณะนั่งสมาธิและเดินจงกรมค่ะ คือหนูบริกรรมพุทโธๆ ไปเรื่อยๆ เกิดอาการน้ำตาไหล เป็นอยู่สักพักใหญ่ๆ ค่ะหลวงพ่อ ยิ่งพุทโธถี่ๆ น้ำตายิ่งไหลหนักกว่าเดิม แต่โดยรวมแล้วมีความสุข หนูเป็นแบบนี้หลายครั้งแล้วค่ะ บางครั้งเกิดตอนนั่งสมาธิ บางครั้งเกิดตอนเดินจงกรมเจ้าค่ะ ขอหลวงพ่อเมตตาช่วยตอบคำถามให้หนูด้วยค่ะ อาการแบบนี้เคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เคยถาม แต่ครั้งนี้ก็เกิดขึ้นอีก เลยอยากถามหลวงพ่อให้หายสงสัยว่าหนูปฏิบัติถูกหรือผิดเจ้าคะ

ตอบ : ถ้าเกิดเวลาประพฤติปฏิบัตินะ พุทโธหรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าสิ่งที่มันเป็นสมาธิเข้ามา โดยส่วนใหญ่แล้วมันจะเป็นสมาธิเข้ามา คือมันจะปล่อยวางเข้ามา มันปล่อยวางเข้ามา

ฉะนั้น เราจะเน้นว่า ในการปฏิบัติของเรา เราปฏิบัติเพื่อความสุขของเรา เราปฏิบัติเพื่อสัมมาสมาธิอันนั้นน่ะ แล้วถ้าเราปฏิบัติอันนั้น เราปฏิบัติผลอันนั้น ถ้ามันสุขสงบเข้ามา เราก็เป็นคนดี เราปฏิบัติเพื่อความเป็นคนดี

ฉะนั้น ถ้าเราตั้งเป้าหมายว่าเราปฏิบัติแล้วจะต้องอย่างนั้น เพราะเราอ่านตำรับตำรากันมาก ปฏิบัติแล้วจะเวิ้งว้าง จะลอยได้ จะลอยไป แล้วเราทำไม่ได้สักที ทำไมเราทำยังไม่ได้ๆ

ทั้งๆ ที่มันได้อยู่ในตัวมันนะ ทั้งๆ ที่เราได้อยู่น่ะ ทั้งๆ ที่เราได้ เราได้คือว่าเรามีความสุขความสงบของเรา สิ่งที่ถ้ามันพัฒนาได้ เราจะพัฒนาต่อไป แต่ถ้าไม่ได้ทำสิ่งใดเลยนะ เราก็จะเหลวไหลไปเรื่อยๆ อย่างที่ในหลวงบอกไว้ ทำดีมันทำยาก แต่ต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วมันจะทำความชั่ว ถ้าไม่ทำแล้วมันก็จะเคยตัว ไม่ทำแล้วมันก็จะเหลวแหลก ถ้าไม่ทำความดี

เราทำความดีของเราไว้ เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา ฉะนั้น ถ้าทำความดีแล้ว ส่วนใหญ่แล้วถ้ามันสงบ มันสงบอย่างนั้นน่ะ

แต่ถ้ามันสงบแล้ว สิ่งที่มีอาการน้ำตาไหล ถ้ายิ่งพุทโธถี่ๆ น้ำตาไหลหนักยิ่งกว่าเดิม ฉะนั้น เวลาอาการที่น้ำตาไหล แต่หนูมีความสุข

ถ้ามีความสุข มีความสุขมันเป็นอาการเฉยๆ ถ้ามีความสุขนะ อยู่ที่สัมมาสมาธิ ถ้าเราปฏิบัติแล้วถ้าจิตมันสงบ เราต้องการตรงนั้น ปฏิบัติแล้ว ปฏิบัติให้จิตมันเป็นอิสระ ไม่ให้กิเลสมันครอบงำ ถ้าเราปฏิบัติแล้วจิตมันเป็นอิสระ กิเลสไม่ครอบงำ จิตมีความสุขแค่นี้ ศีล สมาธิ ปัญญา ฝึกหัดอยู่อย่างนี้จนกว่ามันจะมั่นคงของเรา ถ้ามั่นคงของเราแล้วนะ เราฝึกหัดใช้ปัญญาๆ ไป

สิ่งที่เวลาน้ำตาไหล มีความสุข ความสุขเกิดจากอะไร เกิดจากจิตมันสงบใช่ไหม มันเกิดปีติ เกิดการกระทบต่างๆ มันเกิดปฏิกิริยา คือว่ามีน้ำตาไหลบ้าง ขนพองสยองเกล้าบ้าง ตัวเล็กตัวใหญ่บ้าง สิ่งอย่างนี้มันเกิด มันเกิดปฏิกิริยา ถ้ามันเป็นชื่อก็เรียกว่าปีติ

มันมีปีติ มีความสุข มีความสุข มีความสงบ มันเกิดจากจิตสงบ ถ้าจิตมันเป็นปกติมันจะมีอย่างนี้ได้อย่างไร อยู่ดีๆ เรามานั่งน้ำตาไหล มันจะไหลได้อย่างไร อยู่ดีๆ จะนั่งบอกให้น้ำตามันไหลออกมามันก็ไม่ไหลหรอก

แต่ถ้ามันกระเทือนใจไง พอจิตมันสงบแล้วมันมีปฏิกิริยา พอมีปฏิกิริยามันก็มีน้ำตาไหลพรากต่างๆ อันนี้มันเป็นอาการ อาการที่เกิดขึ้นเขาเรียกว่าปีติ อันนี้เป็นเรื่องปกติ ทีนี้เป็นเรื่องปกติ

ทีนี้คำถามว่า หนูปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่

ถ้าหนูปฏิบัติอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ หนูปฏิบัติหนูก็กำหนดพุทโธ หนูต้องมีสติ เรากำหนด หลวงปู่มั่นท่านสั่งไว้ประจำ หลวงปู่มั่น เวลาหลวงตาท่านอยู่กับหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นท่านใกล้ๆ จะนิพพาน หลวงตาท่านพยายามใช้ปัญญามาก ตอนนั้นท่านพิจารณาอสุภะของท่าน หลวงปู่มั่นท่านย้ำเลย อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้ จะไม่เสีย อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งผู้รู้

อย่าทิ้งพุทโธ อย่าทิ้งความรู้สึกของเรา จะไม่เสีย มันจะมีอุปสรรคอย่างไรก็แล้วแต่ เพราะหลวงตาตอนนั้นมันมีอุปสรรคไง อุปสรรคมาก เพราะพญามารกำลังต่อสู้กัน พญามารมันก็พยายามจะทำให้ไขว้เขว ถ้าไขว้เขว เราก็จะพลาดไปไง

ทีนี้ท่านเน้นไว้เลย อย่าทิ้งผู้รู้ อย่าทิ้งพุทโธนะ ผู้รู้คือพุทโธ อย่าทิ้ง มันจะมีอะไรเกิดขึ้น มันจะมีอะไรที่มาเป็นสิ่งกีดขวาง อยู่กับพุทโธ อยู่กับผู้รู้ จะไม่เสีย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีอาการน้ำตาไหล มีอาการต่างๆ ดีขึ้น เราพุทโธไว้

นี่เขาบอกว่าเขากำหนดพุทโธถี่ๆ เวลาพุทโธถี่ๆ ยิ่งถี่ๆ น้ำตายิ่งไหล

ถ้าน้ำตายิ่งไหล เราก็พุทโธไว้ น้ำตาไหลๆ นะ เราจะบอกเลยว่า ไหลสักพักเดี๋ยวมันก็ต้องหยุดเพราะมันไม่มีไหลเยอะมากหรอก น้ำตามันไม่มีเป็นถังๆ หรอก ไหลไปสักพักมันก็จะหยุดไปเอง น้ำในตัวเราไม่มีมากพอว่า อู้ฮูจะไหลเป็นแม่น้ำหรอก

แม่น้ำก็คือแม่น้ำ น้ำตาของเรามันก็เป็นธาตุ ๔ ในร่างกายนี่แหละ มันมีเท่านี้แหละ แต่ความรู้สึกสิ ความสุข ความสงบ ความระงับ ความพอใจ เห็นไหม เราปฏิบัติเพื่อหัวใจของเราไง ถ้าปฏิบัติเพื่อหัวใจของเรา

เขาเป็นห่วงว่าสิ่งที่เขาทำถูกหรือไม่

สิ่งที่ทำนี่ถูก ถูกเพราะอะไร ถูกเพราะผลที่ได้รับนี่ไง ถูกเพราะยิ่งพุทโธมากเข้าไปมันยิ่งเกิดความสุขมาก เพราะเขาเกิดความสุข แต่เพียงแต่สงสัยว่ามันถูกหรือไม่ แล้วพอบอกว่าถูกปั๊บ เดี๋ยวมันจะทำไม่ได้อีกแล้วแหละ พอบอกว่าถูก

เพราะกิเลสนี้มันร้ายนัก ถ้ามันยังทำไม่ได้ เพราะเราทำโดยที่ไม่มีกิเลส ไม่มีสมุทัยเจือปน ไม่มีสิ่งใดนำหน้าไง มันก็ทำของมันไปโดยข้อเท็จจริง ถ้าโดยข้อเท็จจริง มันก็จะให้ผลตามข้อเท็จจริง แต่พอจิตเราสงบ เคยมีความสุข เคยมีเป้าหมาย ทีนี้มันจะเอาตรงนี้ จะเอาอย่างนี้ๆ

คำว่า “จะเอาอย่างนี้” เห็นไหม เราปฏิบัติโดยข้อเท็จจริง เราปฏิบัติของเราไป มันเป็นข้อเท็จจริง แต่จะเอาอย่างนี้ คำว่า “เอาอย่างนี้” มันมุ่งไปอนาคตแล้ว จะเอาอย่างที่เคยได้ จะเอาอย่างนั้นๆ นี่มันไปแล้ว แต่เราไม่ต้องไปเอาอย่างใด เอาปัจจุบันนี้ เอาปัจจุบัน แล้วกำหนดพุทโธของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ถูกต้อง

เขาถามว่า ที่หนูปฏิบัติมานี่ถูกไหม

ถูก แล้วพยายามทำของเรามากขึ้น ทำของเราต่อไป เรารักษาจิตนี้

เมื่อกี้เขาถามเรื่องกฐิน เขาถามเรื่องของทาน เขาถามเรื่องว่าเราควรทำอย่างใด แต่ทีนี้ถามเรื่องของทานมันก็ควรรู้ไว้ เราต้องรู้ไว้เพราะเราเป็นชาวพุทธไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้กับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

เราเป็นอุบาสก อุบาสิกา เราก็เป็นเจ้าของศาสนา พระพุทธเจ้าฝากศาสนากับเราไว้ เราก็ควรรู้ แต่รู้แล้ว ระดับของทาน ระดับของศีล ระดับของภาวนา เราไม่เถียงกันไง เราไม่ไปเถียงกับเขา ใครมีความรู้ความเห็นอย่างใด สาธุ ขอให้ต่างคนต่างทำความดีเถอะ ขอให้ต่างคนต่างทำคุณงามความดีกัน เขาเชื่ออย่างนั้น เขาทำอย่างนั้น ก็ให้เขาเชื่อของเขา แต่ขอให้เอ็งทำดีนะ อย่าไปเบียดเบียนกัน อย่าไปทำร้ายกัน แล้วใครทำละเอียดเข้าไป จิตใครละเอียดเข้าไปแล้วมันจะรู้จะเห็นของมัน

เพราะละเอียดแล้วมันต้องใช้เครื่องมือละเอียดไง พอจิตสงบแล้วจะทำอย่างไรต่อ สงบแล้วใช้ปัญญาอย่างไร มันจะต้องละเอียดเข้าไป ทีนี้ละเอียดเข้าไป เครื่องมือต้องละเอียดขึ้น

ไอ้หยาบๆ เรามาทะเลาะกัน ไอ้ละเอียดยังไม่เกิดเลย เราหยาบๆ เรารู้แล้วเราเข้าใจแล้วเราก็วางไว้ มันเป็นวัฒนธรรม มันเป็นความเชื่อของกลุ่มชน ในกลุ่มของเขา ความเชื่อของเขา สาธุ เรื่องของเขา เราไปพูดแล้วมันขัดแย้งกัน แต่เรามีครูบาอาจารย์ “ทำไมครูบาอาจารย์ต้องทำให้ลำบาก ของเขาไม่ต้องทำอะไรเลยมันก็เป็น ของเราต้องมาเย็บ มาตัด มาย้อม โอ๋ยยุ่งมากเลย

อ้าวเราเคารพพระพุทธเจ้า เราเคารพครูบาอาจารย์ของเรา เราทำตามแบบครูบาอาจารย์ของเรา เขามีความเชื่ออย่างไรก็เรื่องของเขา แล้วเวลาเราทำแล้วเราจะมาปฏิบัติแล้วนะ พอปฏิบัติเราก็สบายใจ เพราะอะไร เพราะมันไม่มีอะไรมาหลอกเราไง เราทำถูกต้องดีงามแล้ว เราทำ ถ้าเราทำ เวลาคนจะปฏิบัติ ส่วนใหญ่เลย พอปฏิบัติมันจะย้อนไปอดีตเลย ไอ้นู่นก็ผิด ไอ้นี่ก็ผิด เราเคยทำผิดมาเยอะแยะเลย โอ้โฮตายห่า เวลามันภาวนายากไง

เราทำเพื่อความสงบของเรา ใครมีความเชื่ออย่างไร ขอให้เป็นคนดี ทำคุณงามความดีของเขาไป แต่เรามีความเชื่อของเราแล้วเรามาประพฤติปฏิบัติ ถ้าจิตมันสงบ จิตมันมีข้อเท็จจริงของมัน มันสะเทือนใจ สะเทือนใจก็น้ำหูน้ำตาไหล

บางคนสะเทือนใจแล้วนะ คนที่ใจแข็งๆ นะ เวลามันสะเทือนใจ สะเทือนใจมากๆ เขาจะเก็บไว้ภายใน แล้วมันเป็นความมั่นคงมาก ถ้าเป็นความมั่นคง ถ้าใครจิตสงบมันจะเชื่อมั่นในพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนา พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ทีนี้เราเข้าไปถึงหัวใจของเรา ไปถึงพุทธะของเรา เราเข้าไปสู่สัจจะความจริง ทำไมมันจะไม่มั่นคงกับศาสนาล่ะ เพราะสิ่งนี้ มนุษย์ มนุษย์ถ้าเป็นคน มนุสสเทโว มันจะเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม เวลาถึงที่สุดแล้วจะเป็นสมณะ เป็นสมณะที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ มันจะสิ้นกิเลสไปไง มันจะมีช่องทางให้หัวใจนี้ก้าวเดิน งานของเรายังมี งานของเรารักษาหัวใจของเราเพื่อประโยชน์กับเราเนาะ เอวัง