ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เกิดแล้วไม่ดับ

๓o พ.ย. ๒๕๕๖

 

เกิดแล้วไม่ดับ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : กราบเรียนหลวงพ่อครับ อารมณ์สืบต่อ เช่น บางทีครุ่นคิดไตร่ตรองมากๆ แล้วกดไม่ลง แบบนี้เป็นกามอย่างหนึ่งไหมครับ ผมเรียกปัญญาอย่างนี้เป็นสมุทัยได้ไหมครับ กราบขอบพระคุณ

 

ตอบ : ทีนี้คำว่า “เป็นกาม” เขาพูดถึงเรื่องของกาม ถ้าเป็นกามนะ มันมีวัตถุกาม วัตถุกามแบบของสวยๆ นี่ก็เป็นกาม เป็นกามเพราะอะไร เป็นกามเพราะอยากได้ วัตถุกาม ถ้าวัตถุกามมันก็เป็นกามคุณ ๕ รูป รส กลิ่น เสียงก็เป็นกาม ถ้าพูดถึงจะวินิจฉัยกัน คำว่า “กาม” อะไรเป็นกามไง กามคุณ กามราคะ กามต่างๆ

 

ฉะนั้นเขาถามว่า อารมณ์สืบต่อที่ครุ่นคิดแล้วไตร่ตรองไม่ลง กดไม่ลงนี่เป็นกามหรือเปล่า

 

ทีนี้เขาใช้ปัญญาไง ถ้าปัญญาอบรมสมาธิ เราพิจารณาแยกแยะของเราไป เราจะแยกแยะของเราไปด้วยปัญญาของเรามีมากน้อยขนาดไหน ถ้าปัญญาเรามีมาก เราจะคิดได้กว้างขวาง คิดได้ละเอียดลึกซึ้ง อันนั้นก็เป็นภูมิของเรา แต่คนที่ภูมิของเขาเป็นจริตนิสัยของเขา ภูมิของเขาก็บอกว่า “ไอ้นั่นมันเรื่องปลีกย่อย เรื่องภายนอก มันจะเป็นกามได้อย่างไรล่ะ กามก็ต้องมีแรงปรารถนาในใจของเราถึงจะเป็นกามสิ ถ้ามีความปรารถนา มีความต้องการในใจของเราถึงจะเป็นกาม”

 

ไอ้นั่นเป็นกามราคะ กามฉันทะ ความพอใจก็เป็นกาม กามฉันทะ ความพอใจ ความพอใจมันทำให้เกิดทุกๆ สิ่งเลย แต่พอมันพอใจแล้วมันแสวงหา มันปรารถนา แล้วมันวิ่งออกไปก็เป็นกามราคะ เพราะกามราคะมันก็เป็นเรื่องของกาม กามราคะ ถ้าเรื่องของวัตถุกามล่ะ วัตถุกาม ทีนี้เขาถามว่าเรื่องของกาม

 

สังคมมันกว้างขวางไง คนมีการศึกษามาก มีการศึกษาน้อย ถ้าเราวินิจฉัยว่าอย่างนี้เป็นเฉพาะอย่างนี้ มันทำให้คับแคบ แต่ถ้าเราวินิจฉัยออกไป คำว่า “กาม” กามคุณ วัตถุกาม กามราคะ กามมันก็มีหลากหลายไปแล้วแต่คนหยาบคนละเอียด

 

ถ้าคนหยาบๆ เห็นไหม คนหยาบๆ ทุกๆ สิ่งทำให้เราเป็นภาระแบกหาม พอความเป็นภาระแบกหาม คือใจมันแบกหาม ภาระแบกหามคือใจเข้าไปแบกไปหาม ไปยึดไปมั่น พอยึดมั่นมันก็เกิดทุกข์แล้ว

 

แต่ถ้าเรามีสติปัญญานะ อย่างนี้เป็นเรื่องปลีกย่อย เป็นเรื่องพื้นๆ แต่ถ้ามันเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสากรรจ์ เวลาเราจะข้ามภพข้ามชาติ เวลาละสังโยชน์ ๓ ตัว สักกายทิฏฐิ ถ้ามันกามราคะปฏิฆะอ่อนลง มันละสังโยชน์ ๓ ตัวเหมือนกัน แต่กามราคะปฏิฆะอ่อนลง

 

แต่พอละสังโยชน์ ๕ นี่ละกามราคะ พอละกามราคะไป สิ่งที่ต่อเนื่องขึ้นไปล่ะ สิ่งที่ต่อเนื่องขึ้นไป เห็นไหม สังโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา อันนี้มันเป็นนามธรรมหมดเลย หลวงตาท่านใช้คำว่า “ขันธ์ ๔” ขันธ์ ๔ ของท่านคือเป็นนามธรรมไง

 

ถ้าขันธ์ ๕ มีรูป เห็นไหม มีรูป รูปมันเป็นเรื่องที่จับต้อง รูปที่สัมผัสได้ แต่พอขันธ์ ๔ มันพ้นจากอสุภะ พ้นจากกามไปแล้ว ท่านใช้คำว่า “ขันธ์ ๔” เลยนะ ขันธ์อันละเอียด ขันธ์ ๔ มันก็เป็นปัจจยาการ

 

นี่เราพูดถึงว่าถ้าคนภาวนาขึ้นไปมันจะเป็นชั้นเป็นตอนๆ ขึ้นไป แต่ถ้าเป็นหยาบๆ จะบอกว่าเป็นกามได้ไหม ก็ได้

 

ทีนี้บอกว่า การศึกษาของคน ดูสิ คนถ้ามีการศึกษา อย่างเช่นศึกษาธรรมมากๆ เข้าไปมันจะละเอียดไป เหมือนมีองค์ความรู้ มันมีองค์ความรู้ เราวินิจฉัยสิ่งใดมันจะมีองค์ความรู้รองรับ แต่ถ้าอย่างเราโดยพื้นฐานเราเป็นฆราวาส เราเป็นชาวพุทธ ทีนี้การศึกษาทางศาสนาเราไม่ละเอียด เราไม่ละเอียด แต่เราอยากทำความสงบของใจ เราอยากจะได้มรรคได้ผล ถ้าการศึกษาไม่ละเอียดจะได้มรรคได้ผลได้อย่างไร

 

ถ้าการศึกษาของเรา การศึกษาออกไป ศึกษามาเพื่อปริยัติ ศึกษามาเพื่อเป็นบรรทัดฐาน ศึกษามาเพื่อปฏิบัติ แต่ถ้าการศึกษามา ยึดว่าการศึกษาเป็นความรู้ของเรา นี่ความหลงในการศึกษา ยึดมั่นถือมั่น อันนั้นจะทำให้เรายึดมั่นถือมั่น ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นของโลก มายึดมั่นถือมั่นในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วยึดมั่นถือมั่นโดยที่เราไม่มีความจริงขึ้นมา ถ้ามีความจริงขึ้นมามันจะเข้าใจเรื่องอย่างนี้ไง เรื่องที่ว่าเวลาภาวนาไปมันจะมีปัญหาแบบนี้ มันอยู่ที่ปัญญาของคน

 

เขาบอกว่า ความครุ่นคิดไตร่ตรองแล้วกดไม่ลงมันเป็นกามหรือเปล่า มันเป็นกามหรือเปล่า

 

ถ้ามันเป็นกามแบบหนึ่ง แต่ปัญญาของผู้ถามบอกว่า “ผมเรียกปัญญาอย่างนี้ว่าเป็นสมุทัย”

 

ปัญญาที่เป็นสมุทัย เป็นสมุทัย สมุทัยคือตัณหา วิภวตัณหา คือว่าสิ่งที่ไม่ต้องการจะผลักไส สิ่งที่ปรารถนาจะดึงเข้ามา สิ่งที่มันกลางๆ อยู่ มันก็ยังยึดของมัน นี่มันเป็นสมุทัย ถ้าเป็นสมุทัย มันถึงเกิดความยึดมั่นถือมั่น มีสมุทัยเพราะมีความเห็นของเรา มีต่างๆ เข้าไป มันก็ไม่เป็นภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมา ถ้ามันมีปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้น เราต้องพยายามทำความสงบของใจแล้ว ถ้าใจมันสงบขึ้นมาแล้วมันจะใช้ปัญญา อย่างที่ว่า “ผมเรียกปัญญาอย่างนี้ว่าสมุทัย”

 

เราจะเห็นเลยว่า สิ่งที่พอใจ ความผลักไส แรงปรารถนาดึง ความดึงเข้ามา ความผลักไส ความรับรู้ เป็นสมุทัยทั้งหมด เป็นสมุทัยทั้งหมดเลย ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ถ้าเราจะละแรงปรารถนา แรงดึงเข้ามา แล้วแรงผลัก แรงผลัก แรงวิภวตัณหา แล้วแรงรับรู้ล่ะ ถ้าแรงรับรู้ แล้วถ้าทำอย่างนั้นจะภาวนาอย่างไร อู๋ย! ยิ่งยุ่งไปหมดเลย ทีนี้งงใหญ่เลย ยิ่งภาวนาไม่ถูก

 

ถ้าจะภาวนาของเรานะ สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะมันมีสมุทัย เราทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจสงบแล้วมันจะเห็นจริงนะ เห็นจริงนะ เวลาเห็นจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์ธัมมจักฯ เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา แต่เวลาเรารู้ของเรา มันเกิดแล้วมันไม่ดับน่ะสิ เดี๋ยวก็ไปครุ่นคิด เดี๋ยวมันก็ไปเอากลับมาคิดอีกรอบหนึ่ง

 

เวลาผู้ที่เห็นจริง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เกิดแล้วมันดับไง การเกิดขึ้น เกิดแล้วดับ สิ่งในโลกนี้มันมีการเกิดและการดับ แต่ของเรามันเกิดแล้วมันไม่ดับ เพราะมันเกิดแล้วมันครุ่นคิดไตร่ตรอง กดไม่ลง

 

พอมันปล่อยวาง ปล่อยวางเพราะเลิกภาวนา ปล่อยวางเพราะเราวางแล้ว วางจากการภาวนา เดี๋ยวก็กลับมาคิดอีก เดี๋ยวก็กลับมา เกิดแล้วไม่ดับ มันไม่ดับก็นี่ไง ที่ว่าสมุทัยๆ ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ถ้ามันละสมุทัย แรงปรารถนา แรงผลัก แรงรับรู้ ถ้าแรงปรารถนา แรงรับรู้ แรงต่างๆ นี่ควรละ แล้วละแล้วมันเกิดดับโดยที่ไม่มีความผูกพัน สังโยชน์มันไม่มี แต่ถ้าสังโยชน์มันมี แล้วถ้าแรงผลัก แรงปรารถนาไม่ต้องการ แล้วภาวนาอย่างไรล่ะ ภาวนาอย่างไร

 

การภาวนาของเรา เราก็ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน ทำความสงบของใจเข้ามาก่อน พอใจสงบเข้ามามันเป็นอิสระ แล้วเราฝึกหัดพิจารณาของเรา เราพิจารณาของเรา วิปัสสนาเพื่อจะกำจัดสมุทัย สมุทัยควรละๆ แรงปรารถนา แรงผลัก แรงรับรู้ นี่ถ้าเราเห็นความเป็นจริงแล้วมันขาดออกจากกัน ขาดออกจากกัน เห็นไหม

 

ดูอวกาศสิ ดูดวงจันทร์มันก็ลอยของมันอยู่โดยธรรมชาติของมัน โลกก็ลอยอยู่ในโลก แต่มันมีแรงดึงดูดของดวงอาทิตย์ แต่มันก็ลอยอยู่ของมัน มันลอยอยู่ของมัน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าพิจารณาไปแล้วเวลามันวิปัสสนา เวลามันขาด นี่เกิดแล้วดับ มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเกิดมันดับ ธรรมชาติของมัน สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา แต่ของเรามันไม่ดับน่ะสิ มันเกิดแล้วมันไม่ดับ พอมันไม่ดับมันก็เลยกดกันอยู่นี่

 

ค่อยๆ ทำ เพราะเราทำนะ เราตั้งใจจงใจ ตั้งใจจงใจนี่ตัณหาซ้อนตัณหา เวลาคนไม่ภาวนาเลยก็ไม่ภาวนา เวลาคนภาวนาก็อยากได้มรรคได้ผล นี่ตัณหาซ้อนตัณหา

 

โดยธรรมชาติของคนมันมีสมุทัยอยู่แล้ว แรงปรารถนา แรงผลักมันมีอยู่แล้ว แต่พอเวลามาปฏิบัติแล้วเราก็เพ่งเล็งจะทำลายแรงปรารถนาแรงผลักนี้ให้ได้ การทำลายแรงปรารถนาแรงผลัก มันก็เลยกลายเป็นตัณหาซ้อนตัณหา มันยิ่งทำแล้วมันยิ่งสับสน ถ้าเรากำหนดพุทโธของเรา ใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเรา ที่ว่า “ผมเรียกปัญญาอย่างนี้ว่าเป็นสมุทัย”

 

เราใช้ปัญญาใคร่ครวญของเรา พิจารณาของเรา แยกแยะของเราไป ถ้ามันแยกแยะของมันไป มันปล่อยๆ ปล่อยอย่างนี้เป็นสัมมาสมาธิ พอมันปล่อยแล้วเป็นสมถะ พอปล่อยแล้ว เป็นสมถะแล้ว เป็นสมถะ เป็นสมาธิ เป็นสมาธิเพราะปล่อยแล้วเรามีตัวตน ปล่อยแล้วเรารู้ว่าปล่อย พอรู้ว่าปล่อย มันเป็นสัมมาสมาธิ

 

สัมมาสมาธิก็เหมือนจักรวาล เหมือนพระจันทร์ เหมือนดวงดาว เหมือนดวงอาทิตย์ มันจะหมุนในตัวของมัน นี่ก็เหมือนกัน มันปล่อยของมัน แต่มันยังมีแรงดึงดูด มีแรงโน้มถ่วง มันยังมีของมันอยู่ ถ้าเราพิจารณาของเรา เราแยกแยะของเราไป เดี๋ยวเราเข้าใจของเรา

 

ศาสนามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในโลกนี้ ความรู้สึกนึกคิดเราเกิดขึ้นมาได้อย่างไรในใจของเรา เห็นไหม มันมีของมันโดยธรรมชาติของมัน แต่มันไม่มีใครไปยึดมั่นถือมั่น แต่ของเรามีไง พอของเรามี มีเพราะอะไรล่ะ มีเพราะเรามี มีอวิชชา เรามีความไม่รู้ ถ้ามีความไม่รู้ เราก็พิจารณาของเราไป

 

นี่พูดถึงว่า กราบเรียนถามเรื่อง “กราบเรียนหลวงพ่อครับ อารมณ์สืบต่อ เช่น บางทีครุ่นคิดไตร่ตรองมากๆ แล้วกดไม่ลง แบบนี้เป็นกามอย่างหนึ่งไหมครับ ผมเรียกอย่างนี้ว่าเป็นสมุทัยได้ไหมครับ”

 

เป็นสมุทัยก็ได้ มันยังเป็นกิเลสอยู่ ถ้าจับได้ เราจับได้ เรายังมีงานทำอยู่ เราทำสิ่งใดก็ได้ ฝึกหัดใจให้ฉลาด เราภาวนาของเราเพื่ออัตตสมบัติ สมบัติของเราจริงๆ นะ สมบัติของใจเลย แต่ตอนนี้เป็นสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราศึกษามา ลิขสิทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วท่านให้ใช้โดยไม่เรียกค่าลิขสิทธิ์ ให้เราใช้เทคโนโลยีของท่านคืออริยสัจสัจจะความจริง แล้วทำของเราให้เป็นความจริงของเรา เดี๋ยวเรารู้จริงขึ้นมาเป็นของเรา ไม่ใช่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเรา

 

หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า แม้แต่นั่งอยู่หน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ถาม เพราะมันเป็นอันเดียวกัน แต่ตอนนี้เราถาม เราถาม เราอยากรู้ เราอยากได้ อยากเป็นไป เราถามของเรา เราทำให้เป็นจริงขึ้นมา เป็นจริงขึ้นมามันจะเป็นสมบัติของเรา

 

นี่พูดถึงว่ามันเรียกว่าอะไร เราก็ว่าสมุทัยก็ถูกต้อง เราว่ามันเกิดแล้วมันไม่ดับ มันไม่ดับเพราะมันครุ่นคิด ไม่ดับ เดี๋ยวมันก็เกิดมาอีกรอบหนึ่ง พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ไป ทำของเราต่อเนื่องกันไป ถ้าทำต่อเนื่องไป เดี๋ยวจะรู้

 

แล้วจะเป็นกามไม่เป็นกาม วางไว้ เพราะวัตถุกามก็มี กามราคะ กามฉันทะ ความเป็นนามธรรมมันก็มีความยึดมั่นถือมั่น มันก็เป็นของมัน ถ้าเป็นของมัน มันอยู่ระดับของเรา เราภาวนาของเรา เอาประโยชน์กับเรา วางไว้ เพียงแต่ว่าเอามาเป็นประเด็นในการใช้ปัญญานี้ถูกต้อง แล้วทำต่อเนื่องเนาะ

 

ถาม : เรื่อง “ปริวาสกรรม”

 

หลวงพ่อ : คำถามนี่น่าสงสาร เขาเขียนคำถาม “พระขาดที่พึ่ง” นามปากกาของเขา “พระขาดที่พึ่ง” แล้วเขาเขียนถาม

 

ถาม : กระผมมีความสงสัยในเรื่องปริวาสกรรมครับ ขอกราบหลวงพ่ออธิบายให้หายสงสัยเพื่อจะได้ทำสังฆกรรมให้ถูกต้อง

 

๑. การสวดเพื่อเข้าปริวาส สามารถสวดเข้าทีละ ๓ รูปเหมือนตอนบวชได้ไหมครับ

 

๒. ตอนออกอัพภาน สามารถสวดออกทีละ ๓ รูปเหมือนตอนบวชได้ไหมครับ

 

ขอบพระคุณมาก

 

ตอบ : กรณีนี้เราต้องพูดโดยหลักก่อนนะ โดยหลักหมายถึงว่า ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่โดยสังคม สังคมที่เขาทำกัน ที่เขาอยู่ปริวาสกัน เขาสวดทีหนึ่งเขาสวดเป็นร้อยเป็นพันเลยล่ะ เพราะเวลาพระเข้ามาเขาก็สวดปริวาสด้วยกัน อะไรด้วยกัน เป็นหมู่เป็นคณะไป อยู่ที่เขาทำกันไป อันนั้นเขาทำเอาธรรมและวินัย เอาพิธีกรรมนั้นมาชักจูงสังคมว่าพระอยู่ปริวาสมันได้บุญกุศลอย่างนั้น แต่ธรรมวินัยไม่ใช่ พระที่อยู่ปริวาสเพราะว่าต้องมีความผิด ต้องมีความผิดนะ เราทำความผิดสิ่งใด ทำผิดแล้วสำนึกผิด

 

พอคนที่ทำความผิดเป็นอาบัติอย่างนี้แล้วเขาปกปิดกันไว้ เขาไม่รับรู้สิ่งใดๆ เขาก็บอกว่าเขาไม่เป็นความผิด เขาปกปิดเอง ผิด มันผิดโดยสัจจะ ผิดโดยความจริง เพราะว่าความลับไม่มีในโลก ผู้ใดทำ ผู้นั้นเป็นผู้รู้เอง แต่เวลาถ้าเขาทำแล้วเขาปกปิดไว้ เขาบอกว่าไม่มีใครรู้ใครเห็นกับเขา แต่จิตของเขารู้ จิตของเขาเวียนตายเวียนเกิด เขาจะมีเวรมีกรรมไปกับเขา ความลับไม่มีในโลกไง สิ่งนี้เป็นความจริง

 

แต่ถ้าเขามีหิริมีโอตตัปปะ เขาทำความผิดแล้วเขายอมรับผิดของเขา ถ้ายอมรับผิดของเขา เขาจะมาปลงอาบัติ เขาจะแก้ไขความผิดของเขา ถ้าแก้ไขความผิดของเขา เขาก็ต้องบอกกับพระไง พอบอกกับพระปั๊บ ความที่ปกปิดไว้มันไม่มี ความที่ปกปิดไว้ไม่มี การสืบต่อมันไม่มี

 

การสืบต่อ ถ้าเป็นอาบัติตั้งแต่วันใด ถ้าเป็นวันนี้ บอกในวันนี้ ปริวาสไม่ต้องอยู่กรรม ถ้าบอกว่าถ้าทำไว้แล้วปกปิดไว้ก่อน ๑ เดือน ยังไม่แน่ใจ ปกปิดไว้ ๒ เดือน ถ้าแน่ใจแล้วค่อยมาบอก ต้องอยู่ปริวาส ๒ เดือน ปกปิดไว้เท่าใดต้องอยู่เท่านั้น ถ้าอยู่เท่านั้น เพราะถ้าปกปิด เวลามันสืบต่อ เวลามันยังไม่หยุด

 

แต่ถ้าเราบอกกับพระเลยว่าเราสงสัยว่าเราเป็น เราเข้าใจว่าเราเป็นสังฆาทิเสสในสังฆาทิเสสข้อใด ถ้าบอกปั๊บ เวลาหยุด พอหยุดปั๊บ เราต้องอยู่ปริวาส อยู่ในเวลาที่ปกปิดไว้ แล้วถ้าปกปิดไว้ พออยู่ปริวาสครบจำนวนแล้ว ครบจำนวนแล้วเขาถึงไปอยู่มานัต อยู่มานัตนี่ไปอยู่รับใช้สงฆ์ ให้สงฆ์มองว่าหมดทิฏฐิมานะ เพราะการอยู่มานัตต้องไปอุปัฏฐากกับสงฆ์

 

อยู่ปริวาส อยู่โดยตัวแทนของสงฆ์ได้ อยู่มานัต ไม่ได้ ต้องอยู่ในสงฆ์ พออยู่ในสงฆ์เสร็จแล้วก็ต้องไปอัพภาน นี่พูดถึงว่าธรรมวินัยนะ

 

แต่เวลาทางโลกเขา เขาไปอยู่ปริวาสกัน อันนั้นมันเป็นการตลาด เวลาสวดปริวาส สวดเข้าทีหนึ่ง ๕ รูป ๑๐ รูป ๑๐๐ รูป เข้ามาพร้อมกัน อัพภานพร้อมกัน ทำเหมือนกัน เขาบอกมีเค้าลางของธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ทำเป็นการตลาดไม่ใช่ความจริง แล้วคนที่มาอยู่มันเป็นอาบัติจริงหรือเปล่า อย่างเช่นเราไม่ได้ทำความผิด เรายอมให้ทางฝ่ายรัฐลงโทษไหม เราไม่มีความผิด เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ได้หลบหนีภาษี เราจะให้เสียภาษีย้อนหลัง เรายอมไหม อยู่ดีๆ เขาจะมาเก็บภาษีย้อนหลัง เรายอมไหม เราไม่ยอมหรอก เพราะเราไม่ได้ปกปิด เราเสียภาษีสมบูรณ์ครบถ้วน มีแต่เอาภาษีคืน เสียมากเกินไป เอาคืน นี่ถูกต้อง นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ได้เป็นอาบัติ ไปอยู่ปริวาสอย่างไร

 

อยู่ที่การตลาด เขาบอกว่า พระที่ไหนเขามาอยู่ปริวาสกัน นี่พูดถึงการตลาดนะ ทีนี้ถ้าพูดถึงการตลาด เพราะว่าคำตอบนี้มันจะไปขัดแย้งกับการกระทำการตลาดนั้น เพราะการตลาดนั้นมันไม่มีมูลไง มันไม่มีมูลหนี้ มันไม่มีสิ่งใดเลย แล้วก็มาใช้หนี้กัน มาเอาผลประโยชน์ต่อกัน มันไม่มีมูล เขาเรียกว่ามันบังคับใช้ไม่ได้ มันไม่มีสิ่งใดเป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้าจะเอาเรื่องปริวาสนะ ถ้าเหตุผล เข้าตรงนี้แล้ว

 

“๑. การสวดเข้าปริวาสสามารถสวดเข้าทีละ ๓ รูปเหมือนตอนบวชได้หรือไม่ครับ”

 

ไม่ ไม่มีทาง มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร มันเป็นไปไม่ได้เพราะคนทำความผิดต่างข้อหา ต่างเวลา ต่างวัตถุ มันทำเหมือนกันไม่ได้หรอก คนจะเข้าปริวาสมันผิดข้อไหนล่ะ กล่าวตู่พุทธพจน์ สร้างกุฏิโดยที่ว่าสร้างเกินกว่ากำหนด น้ำสุกกะเคลื่อน แล้วเวลาน้ำสุกกะเคลื่อน เวลาพระ เวลาสวดเข้าปริวาสมันอยู่ที่วัตถุไง เอ็งผิด เอ็งผิดจากอะไร อ้าว! เราไปฉ้อโกงเขามา แต่บอกว่าเราโดนลงโทษ เป็นโทษ บอกว่าเราผิดข้ออื่น มันเป็นไปไม่ได้ พอมันเป็นไปไม่ได้ การสวด การสวดปริวาสเข้าทีละ ๓ รูป ผิดเหมือนกันหรือ ผิดเหมือนกันหรือ

 

ฉะนั้น เวลาผิดไม่เหมือนกัน เวลาที่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเดินตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ต้องบอกว่าเอ็งผิดอะไร เอ็งทำอะไร ถ้าน้ำสุกกะเคลื่อน เคลื่อนอะไรล่ะ เคลื่อนอย่างไร ถ้านอนฝัน เว้นไว้แต่ฝัน ในธรรมวินัยบอก เพราะมันเป็นเรื่องธรรมชาติ เรื่องสุดวิสัย ในเมื่อมนุษย์ ความเป็นอยู่กินอิ่มนอนอุ่นมันมีของมัน มันฝันของมัน มันฝันโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เพราะคนนอนหลับแล้วฝันไป อย่างนี้ถือว่าไม่เป็นอาบัติ แต่เวลาฝันแล้วก้ำกึ่ง สงสัยอยู่ แล้วไปจับต้อง อ้าว! ก้ำกึ่ง แล้วบางคนเขาตั้งใจทำ

 

วัตถุสิ่งเดียวกัน การกระทำแตกต่างกัน วัตถุเดียวกัน การกระทำแตกต่างกัน แล้วสวดทีละ ๓ รูปหรือ มันไม่มี มันไม่มีหมายความว่า เวลาครูบาอาจารย์ที่เป็นนะ เวลาจะเข้าปริวาสเขาจะถามว่า มันเป็นอาบัติข้อใด แล้ววัตถุ วัตถุอะไร ถ้าวัตถุมันไม่ถูกต้อง มันจะทำได้อย่างไรล่ะ

 

แล้วพระสวดเข้าทีละ ๓ องค์ เอ็งทำมาเหมือนกันเปี๊ยะเลยหรือ ไม่มีทาง มันเป็นไปไม่ได้ คือความผิดมันไม่เสมอกัน ความผิดไม่ใช่อันเดียวกัน ถ้าความผิดอันเดียวกัน แต่โทษ โทษสังฆาทิเสสเหมือนกัน แต่ทำผิดแตกต่างกัน แตกต่างเวลา แตกต่างวัตถุ แล้วทำผิด ผิดอย่างใด

 

ฉะนั้น เวลาจะสวดเข้า มันต้องเข้าอย่างนี้ ฉะนั้น เวลาสวดมันต้องว่าความผิดอย่างใด นี่พูดถึงตามวินัยนะ ถ้าเขาสวดทีละ ๑ เวลาสวดนะ เดี๋ยวอัพภานก็เหมือนกัน เวลาสวดแล้วยิ่งอัพภานยิ่งไม่ได้เลย ไม่ได้เพราะอะไร ไม่ได้ เขาจะบอกเลยนะว่า เขาสวดถึงว่าพระองค์นี้ชื่ออะไร อย่างเช่นบวช เราไปบวช เราได้ฉายาอะไร แล้วเราบอกว่าอุปัชฌาย์ชื่อนี้ เราจะบวชแล้วเราได้ชื่อนี้ นี่ก็เหมือนกัน เวลาอัพภานขึ้นมา ภิกษุชื่อนี้ๆ ได้สวด ได้อยู่ปริวาส แล้วอยู่ปริวาสสมบูรณ์แล้ว ภิกษุชื่อนี้ยกเข้าสู่หมู่ แล้วเขาต้องสวดระบุชื่อเลยนะเวลาสวดอัพภาน

 

ฉะนั้น อยู่ปริวาสสวดเข้าทีละ ๓ รูป ที่ว่าไม่ได้ ไม่ได้เพราะว่าความผิดแตกต่างกัน การกระทำแตกต่างกัน มันต้องพูดถึงความผิดอันเดียวกัน ความผิดแต่ละบุคคล ฉะนั้น สวดเข้า สวดทีละรูป เพราะความผิดของคนมันไม่เหมือนกัน ทีนี้ไอ้การบวชมันได้ เพราะการบวชเขาบวชกันอย่างนั้น แต่เวลาบางที่เขาก็บวชทีละองค์นะ แต่ไอ้สวดปริวาสยิ่งไปใหญ่เลย มันไม่ได้

 

ฉะนั้น ข้อที่ ๑ บอกว่า “การสวดเข้าปริวาส สวดเข้าทีละ ๓ รูปเหมือนตอนบวชได้ไหมครับ”

 

นี่เราบอกตามธรรมวินัยนะ แต่ที่เขาทำ เขาอยู่ปริวาสกันโดยการตลาด เขาสวดทีหนึ่งเป็นสิบเป็นร้อยเลย แล้วไม่รู้เขาสวดกันอย่างไร แล้วคน ๑๐๐ คนมันทำความผิดอันเดียวกัน เวลาเดียวกัน เหมือนกันหมดเลย ๑๐๐ คน ไม่รู้มันทำกันได้อย่างไร

 

แต่ถ้าเราจะเอาความสะอาดบริสุทธิ์ของบุคคลนะ แต่ถ้าเป็นเรื่องของการตลาดนั้น ที่จะบอกว่า เวลาพูดไปแล้ว เรื่องวินัยอย่างหนึ่ง เรื่องสังคมนั้นเป็นอีกอย่างหนึ่ง สังคมเขาทำกันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้านี่ถามมา เพราะเขาบอกว่าพระขาดที่พึ่ง พระขาดที่พึ่ง ถ้าทำแล้วตั้งใจของเรา ปรึกษา มันต้องมีพระผู้ใหญ่ พระที่เคยผ่านมา เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่แล้วเราจะมีความอาย ไม่กล้าปรึกษาใคร ไม่กล้าทำอะไร ปรึกษานะ

 

“๒. ตอนออกอัพภานสามารถออกทีเดียว ๓ รูปได้เหมือนตอนบวชไหมครับ”

 

ก็เหมือนกันอีกแหละ เหมือนกันหมายความว่า เวลาเขาอยู่ปริวาสโดยการตลาด เขาเข้าทีหนึ่งเป็นร้อยเป็นพันเลย แล้วก็อยู่กันไป พอเวลาออกเขาก็สวด มันทำเป็นพิธี ทำเป็นพิธี

 

แต่คนเขาไปทำมันไม่เป็นพิธีนะ อย่างเช่นเวลาพระเราบวช เวลาสึก เราไม่มีพยาน สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ ไม่ได้บอกพระองค์ใดเป็นพยาน สึกแล้วก็ถอดผ้าไปเองเลย มันพ้นจากการสึกไหมน่ะ มันสึกโดยเราถอดผ้าเหลืองไป แต่เราได้ญัตติขึ้นมาเป็นสงฆ์ แล้วก็ถอดผ้าเหลืองแล้วออกไปเลย แล้วก็ไปแล้ว เวรกรรมมันผูกพันไปกับชีวิตนั้นน่ะ ฉะนั้น เวลาจะสึก จะสึกก็ต้องมีพระเป็นพยาน ก็แค่ปฏิญาณตนเท่านั้นเอง สิกฺขํ ปจฺจกฺขามิ แต่ให้พระองค์ใดองค์หนึ่งรับรู้ได้ว่า จำไว้นะว่าข้าพเจ้าเป็นคฤหัสถ์แล้ว จำไว้นะ แค่นั้นเอง แต่มันต้องมีพยานไง แต่ถ้าคนไม่มีพยาน ละผ้าเหลืองไปเลย เวลาพยานๆ ให้พยานรับรู้ มันสึกออกไปมันก็จบใช่ไหม

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเขาไปอยู่ปริวาสโดยสังคม เขาเป็นกันหรือเปล่า เขาได้เป็นอาบัติไหม อยู่ดีๆ ก็ไปรับสภาพตามกฎหมายว่าข้าพเจ้ามีโทษอย่างนี้

 

อ้าว! อยู่ดีๆ ก็ไปรับสภาพตามกฎหมายเนาะ ทำความผิดหรือไม่ทำความผิดไม่รู้ บางคนทำความผิดไม่กล้าบอก ก็อาศัยเวลาเขาอยู่ปริวาส ไปอยู่กับเขา ก็คิดว่าอาศัยเขาออกไป แต่มันก็ไม่ได้บอกเจาะจงว่าตัวเองผิดอะไร ทำอะไรมา

 

แต่ถ้าตามการอยู่ปริวาสเขาต้องสวด เขาสวดตามนั้นเลย เราเป็นอาบัติอะไร วัตถุอะไร ข้อไหน เป็นซ้อนไหม ซ้อนหมายถึงว่าเป็นสองหนสามหนในทีเดียวกัน เป็นหนหนึ่งนี่วัตถุหนึ่ง เป็นสองก็เป็นสองครั้ง เป็นสาม ฉะนั้น เขาต้องสวดว่า ๑ ครั้ง ๒ ครั้งหรือ ๓ ครั้ง เราผิดกี่หน ทำกี่หน มันอยู่นี่ คำสวดคือยอมรับสภาพตามความเป็นจริง นี่อยู่ปริวาส

 

แล้วอยู่ปริวาส เวลาสวดแล้วญัตติ สวดแล้วก็รับสภาพ เพราะมันสวดโดยสังฆาทิเสส สังฆาทิเสสคือสงฆ์นะ สงฆ์ตั้งญัตติ นี่อยู่ดีๆ ก็ไปรับสภาพกับเขา แล้วเวลาออก เวลาออกก็ต้องออกตามสภาพความเป็นจริง ก็ออกยกเข่งอีก เหมาเข่งเข้ามาเลย ปริวาส ออกก็ยกเข่งไปเลย แล้วมันออกจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะออกอัพภาน ตอนออกอัพภาน คำว่า “อัพภาน” คืออัพภานยกเข้าสงฆ์ แล้วเราเป็นสงฆ์ใช่ไหม พอเราสวดปั๊บ ทีแรกเป็นสงฆ์เสมอกัน สงฆ์ศีล ๒๒๗ เหมือนกัน ลงอุโบสถ ทำสังฆกรรมได้ พอสวดปริวาส เข้าปริวาสปั๊บ ไม่ใช่ปกตัตตะภิกษุ มีสถานะต่ำกว่าสงฆ์ เข้าทำสังฆกรรมไม่ได้ ทำสามีจิกรรมกับสงฆ์ไม่ได้ ถ้าเข้าไปทำสามีจิกรรมกับสงฆ์ กิจกรรมนั้นเป็นโมฆะ เข้าไม่ได้ เพราะมีสถานะต่ำกว่าสงฆ์

 

ฉะนั้น พออยู่ปริวาสครบแล้ว อัพภาน อัพภานคือยกกลับเข้ามา ยกให้พระสงฆ์องค์นั้นให้มีสถานะเท่ากับสงฆ์ ให้เข้ากลับมาเป็นปกตัตตะภิกษุ คือเท่ากับสงฆ์ พอเท่ากับสงฆ์ก็ต้องอัพภานขึ้นมา ไม่ใช่ออกอัพภาน ยกเข้าสู่หมู่

 

ถ้ายกเข้าสู่หมู่ สวด ๓ องค์ได้ไหม

 

เออ! อันนี้ยิ่งชัดเจนนะ เพราะเวลาสวดเขาสวดระบุ ระบุชื่อ ระบุฉายา ภิกษุองค์นี้ชื่ออย่างนี้ ฉายาอย่างนี้ ได้อยู่ปริวาสมาครบแล้ว ได้อยู่มานัตมาสมบูรณ์แล้ว เห็นโทษของความเป็นโทษแล้ว สงฆ์เห็นสมควรยกเข้าหมู่ สุณาตุ เม ภนฺเต สงฺโฆ

 

สุณาตุ เม ตั้งญัตติยกเข้ามา พอยกเข้ามา นี่พูดถึงตามธรรมวินัยนะ แต่ถ้าเป็นทางสังคม เราพูดแล้วมันสะเทือนกันเยอะเกินไป ถ้ามันสะเทือนเยอะเกินไป เขาถึงบอกว่า ย้อนกลับมาที่หลวงตาเลย หลวงตาบอกผู้นำสำคัญมาก เวลาอยู่กับหลวงตาท่านสร้างพระให้เป็นผู้นำ คือพยายามให้พระศึกษา พระเข้าใจตามความเป็นจริงนะ ถ้าศึกษาตามธรรมวินัยแล้วมันก็มีความเห็นต่าง

 

ความเห็นต่าง เห็นไหม ดูสังคมอื่นสิ เรื่องภิกษุณี เขาจะมีความเห็นต่าง บวชได้ บวชไม่ได้ มีความเห็นต่างไปหมด แต่ถ้าเราเถรวาท พระพุทธเจ้าบอกแล้ว เวลาโคตมีมาบวช ถ้ามาบวชแล้วเป็นภิกษุณีจะอยู่ได้กี่ปี ๕๐๐ ปีจะหมดไป พระพุทธเจ้าพูดไว้หมดแล้ว

 

ถ้าเราเชื่อ เราเชื่อตามความเป็นจริงก็เป็นอย่างหนึ่ง ถ้าเราเป็นทางสังคม แล้วก็บอกว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล เป็นสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา ถ้าไม่มีความเห็นด้วยก็จะไปฟ้องยูเอ็น

 

ไปฟ้องยูเอ็น กับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ กับยูเอ็น ไม่รู้มันมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร ในศาสนาก็มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีธรรมและวินัยนี้เป็นศาสดา ศาสดาคือตัวแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ยูเอ็นไม่รู้มันมีอะไรเกี่ยวข้องกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาใครไม่มีความพอใจ สิทธิส่วนบุคคลก็จะไปฟ้องยูเอ็นๆ อ้าว! ก็ไปฟ้องกัน

 

เวลาไปฟ้องยูเอ็นก็บอกว่า ให้ยูเอ็นออกกฎออกมาเลยว่า ถ้าใครมีกิเลส ให้ยูเอ็นปลดเปลื้องให้ ยูเอ็นจะการันตีเลยว่าพระองค์นี้ได้ปฏิบัติแล้ว พ้นจากกิเลสไป ยูเอ็นก็การันตี ตีตราให้เลยว่าพระองค์นี้เป็นพระที่บริสุทธิ์จากยูเอ็น

 

มันไม่ใช่จากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่พูดถึงสิทธิเสรีภาพ เวลาเขาอ้างสิทธิเสรีภาพกัน แต่เวลาเราอ้าง เราอ้างความจริงนะ อ้างความจริง อ้างความสะอาดบริสุทธิ์ของเรา อ้างความเห็นของเรา ถ้าของเราเป็นแบบนี้ได้ นี่พูดถึงว่าเรื่องอยู่ปริวาสเนาะ

 

ไม่ได้ ถ้าเอาความบริสุทธิ์นะ ถ้าเอาความบริสุทธิ์ เอาความออกอาบัติได้จริง ถ้าออกอาบัติได้จริง เพราะเขาสวดบุคคล สวดฉายา สวดระบุทุกอย่าง อัพภาน แล้วถ้าเหมาเข่ง คนทำความผิดแล้วยกขึ้นมาเป็นความบริสุทธิ์ แล้วเหมาเข่ง แล้วเรานี่ก็เทาๆ น่ะสิ เอ๊! เขาก็สวดเรายกอัพภานอยู่เหมือนกัน แต่เขาก็ไม่ได้ออกชื่อเรา เอ๊! เราจะออกหรือไม่ออกนะนี่ ต้องไปถามยูเอ็น

 

นี่พูดถึงตามธรรมวินัยเนาะ แต่ถ้าตามสังคม ตามที่เขาอยู่ปริวาสกัน อันนั้นเป็นเรื่องของตลาดเนาะ พูดไปมันอย่างว่าแหละ เดี๋ยวจะหาว่าหลวงพ่อหากินไม่ได้แล้วก็เที่ยวมาว่าเขา เขาหากินกันเอร็ดอร่อย หลวงพ่อไม่ทำเอง อิจฉาเขาอีกด้วย...อันนี้ยกให้สังคมเป็นผู้ตัดสิน ฉะนั้น อันต่อไป

 

ถาม : กราบเท้าหลวงพ่อครับ ผมนั่งสมาธิแล้วเปิดฟังเทศน์ของหลวงพ่อด้วย โดยตั้งใจว่าจะนั่งฟังเทศน์จนจบ นั่งไปสักระยะมันเริ่มปวดที่ขา และปวดมากขึ้นเรื่อยๆ พอปวดมากๆ ฟังเทศน์ไม่รู้เรื่องเลยครับ จึงท่องพุทโธสู้มัน แต่ก็ไม่ได้ผล เพราะมันไหลไปไหลมาระหว่างพุทโธและขาที่ปวด

 

ผมจึงปลุกใจตัวเองและทดลองไล่มันด้วยปัญญาที่จำมาจากครูบาอาจารย์ เจ็บปวดมาทีไรลุกหนีมันทุกครั้ง แพ้มันทุกที คราวนี้ก็จะแพ้มันอีกหรือ หลวงตาท่านนั่งตลอดรุ่ง ท่านอายุตั้ง ๙๐ กว่าก็ยังเดินได้ ขานี้มันจะปวดได้มากขนาดไหน เราขอดู ขอแลกกับธรรม

 

ไล่กันไปมา ความเจ็บปวดมันก็หายได้ มันดีใจ มันคึกคัก มันชนะเป็นเหมือนกัน เทศน์หลวงพ่อจบไปแล้วมันก็ไม่สนใจเลิกนั่ง ผมนั่งพุทโธไปได้สักระยะ แล้วมันสว่างวาบขึ้นมา ตรงนี้แหละครับที่มันโง่ ใจมันไปไหวกับแสงนั้น เพราะก่อนจะเริ่มนั่งสมาธิ ไฟฟ้ามันดับ ผมไม่ได้ปิดสวิตช์ พอมันสว่างวาบขึ้นมาก็สงสัยว่ามันเป็นไฟฟ้าติดหรือเราเห็นจริง จริงๆ ทนความสงสัยไม่ได้จึงลืมตาขึ้นดู ก็พบว่าไฟฟ้ายังไม่ติด

 

ตอนแรกนึกดีใจว่าเราเห็นแสงจริงๆ พอคิดไปคิดมาก็ได้รู้ว่าเรานี่โง่อีกแล้ว แทนที่จะพุทโธต่อให้มันละเอียดเข้าไปอีก ดันไปหลงแสงนั้น กราบขอบพระคุณ

 

ตอบ : นี่เวลาทำไป เวลาล้มลุกคลุกคลาน เราก็ล้มลุกคลุกคลาน เวลาเราเอาจริง เอาจริงก็ได้จริง ถ้าเราเอาไม่จริง เวลานั่งไปแล้วก็เจ็บปวดทุกที แต่นี่ปลุกใจตัวเอง ทดลองไล่มันด้วยสัญญา ด้วยสัญญา สิ่งที่เป็นสัญญา สัญญาถ้ามันไล่ไปๆ ถ้ามันตัดช่วงระยะ ถ้าจิตละเอียดเข้ามามันก็เป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบันมันก็เป็นความจริง ถ้าไม่เป็นความจริง สิ่งที่มันปวด หายไม่ได้

 

สิ่งที่เป็นความจริง เราปวดมาก เวลาเรานั่งไปมันจะมีความเจ็บปวดมาก เจ็บปวดมากเพราะอะไร เพราะมันเสวยอารมณ์ เหมือนรถมันเข้าเกียร์อยู่ วิ่งไปเต็มที่เลย ปลดเกียร์ว่างสิ ปลดเกียร์ว่างเหยียบเครื่อง มันบึ้มๆๆ มันไม่ถ่ายกำลังไปหรอก

 

นี่ก็เหมือนกัน ความรู้สึกกับเวทนามันถ่าย มันยึดกัน เวลาถ้าเราทันปั๊บ มันปล่อยหมด พอมันปล่อยหมด มันเข้าเกียร์ว่าง มันก็ปลดกัน ถ้ามันปลดกันได้จริงนะ อันนี้มันเป็นเรากำหนดพุทโธๆ จิตมันเป็นแบบนั้น พอเป็นแบบนั้นมันก็ว่าง มันก็หายปวด เห็นไหม

 

ความหายปวด มันหายได้ พอมันหายได้มันเป็นการยืนยันว่า สิ่งที่มันเจ็บมันปวดเพราะจิตมันไปเสวยอารมณ์เอง แต่ถ้ามันเป็นความจริงแล้ว พอมันเป็นจริง มันก็จะละเอียดขึ้นไป ละเอียดเข้าไป พอถึงเวลาเขาจะเอาอันนี้มาเป็นปัญญาอีก มันก็ไม่เป็น

 

กิเลสมันมากับเรา มันมีความรู้สึก มันอยู่หลังความคิดเรา เราคิดสิ่งใดกิเลสมันรู้ทันหมดแหละ แต่ถ้าเรามีสติปัญญาไล่ไปๆ ถ้ามันเป็นปัจจุบัน มันจะคิดหรือไม่คิดมันเป็นอันเดียวกัน มันไม่มีอดีตอนาคต มันเป็นปัจจุบัน เป็นความจริงมันก็ปล่อย พอปล่อยมันก็เป็นความจริงขึ้นมา เห็นไหม ความจริงเพราะเขาบอกว่าเขาเอาจริงเอาจัง

 

เราจะบอกว่า ถ้าทำจริงทำจังมันได้อย่างนี้ ทำจริงทำจังมันได้อย่างนี้ แต่ทำจริงทำจังขึ้นมา เพราะเอาชนะคนอื่น เรายังพอชนะได้ง่ายกว่าเอาชนะตนเอง เอาชนะตนเองคือเอาชนะความสงสัยนี่ไง ความสงสัยนะ พอมันปล่อยมันวางขึ้นไป มันคึกคัก มันมีความสุข มันนั่งไป นั่งต่อเนื่องไปจนเกิดแสง เกิดแสงสว่างวาบ

 

เกิดแสงสว่างวาบ แสงอะไรก็แล้วแต่ มันจะเกิดไม่เกิด บางคนก็เกิด บางคนก็ไม่เกิด ไม่สำคัญเลย แต่นี่พอมันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาเพื่อบอกว่าจิตของเรามันดีขึ้น แต่เราก็ไปติดอีก เราก็ยังสงสัย อยากรู้อยากเห็น มันก็เป็นไปอย่างนี้

 

เวลาภาวนาไม่ได้เลย มันก็จะไม่ได้สิ่งใดเลย เวลาภาวนาได้ขึ้นมา มันก็ยังมีกิเลสมาหลอกอีก ถ้ามาหลอกอีก มันก็ต้องตั้งสติแล้วทำให้ดีขึ้น อันนี้มันเป็นผลที่การปฏิบัติไง นี่เขารายงานผลการปฏิบัติ

 

ถ้ามันได้แล้ว มันพิสูจน์แล้ว ถ้ามันพิสูจน์แล้วมันก็เป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเรามันก็เป็นประโยชน์กับเรา มันก็ใช้ได้ เพราะคำถามมันไม่มีสิ่งใด เพียงแต่รายงานผลเนาะ ถ้ารายงานผลแล้วเราก็พูดต่อ พูดต่อว่า สิ่งที่เวลาปฏิบัติไป มันรู้สิ่งใดแล้ว รู้แล้ววาง รู้แล้ววาง

 

เวลาเราจะเข้าบ้านนะ ถ้าเข้าสมาธิคือเข้าบ้านของตนเอง เข้าสมาธิคือเข้าไปสู่ฐีติจิต เข้าไปสู่จิตเดิมแท้ เข้าไปสู่ตัวตนที่เป็นจริงของเรา สิ่งต่างๆ ที่เป็นจริงๆ ตัวตนของเรา โลก กฎหมายต่างๆ ทุกอย่างต่างๆ เขาก็บัญญัติออกมาจากความเป็นจริง สิทธิของคน ความเป็นอยู่ของคน ทีนี้ความเป็นอยู่ของคนมันบัญญัติเป็นกฎหมายเพื่อให้สังคมร่มเย็นเป็นสุข

 

ฉะนั้น เวลาที่เราศึกษากันอยู่นี่ เราก็ศึกษาสิ่งนี้ ศึกษาว่า สิทธิของเราเป็นอย่างไร ตัวตนของเราเป็นอย่างไร สิ่งต่างๆ เป็นอย่างไร เราก็ศึกษา แต่เรายังไม่รู้จริงของเรา แต่ถ้าเราภาวนาของเราไป มันจะเข้าสู่จิตเดิมแท้ เข้าสู่จิตของเรา ถ้าเข้าไปสู่จิตของเรา มันจะเป็นแบบนี้ มันปล่อยหมด มันเป็นตัวตนของเราๆ

 

สิ่งที่ผลบังคับทางกฎหมายนั้นเขาเพื่อสังคม เพื่อสังคมโลก สิ่งที่เราศึกษาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้มันก็เป็นเรื่องโลกียปัญญา เรื่องของโลกเหมือนกัน แต่เพราะเราเป็นโลก เราก็ศึกษาเรื่องของโลก ศึกษาเรื่องโลกเป็นปริยัติ แต่เราปฏิบัติเข้าไป เราจะเข้าสู่ความจริงของเรา ถ้าเข้าสู่ความจริงของเรา พอมันรู้จริงขึ้นมา เห็นไหม นี่รู้จริง ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิบัติมันก็เป็นความจริง

 

กฎหมายเขาบังคับไว้ บังคับไว้เพื่อสังคม สถานะต่างๆ เพื่อสังคม แต่ความเป็นจริงล่ะ สังคม เวลาถึงที่สุดแล้วเวลาคนตายจำหน่ายออก จำหน่าย คนนี้ตายแล้ว คัดออกจากทะเบียนบ้าน

 

เวลาคนตายจากโลกไป จิตนี้มันไม่ได้คัดออก จิตนี้เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะ แต่ปฏิบัติธรรมๆ ทำความรู้จริงมันจะรู้ตรงนี้ไง จะมารู้ใจของตัว ถ้ารู้ใจของตัว เข้าไปสู่ใจของตัว เป็นความจริงของเรา

 

นี่ต่อเนื่อง ถ้ามันเข้าไป แต่มันก็ไปสงสัย ไปเห็นแสงอะไรก็ไปสงสัยมันอีก ถ้ามีสติปัญญามันจะเข้าตัวของมันได้ ถ้าเข้าตัวของมันได้มันเป็นประโยชน์กับเรา นี่พูดถึงผลการปฏิบัติ ปริยัติ ปฏิบัติ ถ้าเห็นความจริง เวลาเกิดแล้วมันดับของมันตามความเป็นจริงของมัน

 

ถ้าเกิดไม่ดับเป็นอย่างนี้ เกิดแล้วไม่ดับ พอรู้สิ่งใดไปมันงงไปหมดเพราะมันเกิดแล้วไม่ดับ แม้แต่แสงขึ้นมามันยังหลอกได้ ความเห็นของเรามันหลอกหมดเลย เกิดแล้วไม่ดับ

 

แต่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดดับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับไปเป็นธรรมดา เกิดแล้วมันดับ แต่นี้เกิดแล้วไม่ดับ มันยิ่งปฏิบัติมันก็ยิ่งสงสัย สงสัยอย่างไรมันต้องพยายามปฏิบัติเพื่อชนะตนเอง

 

ชนะคนอื่น ชนะใคร ชนะได้ง่าย ชนะตนเองชนะได้ยาก แล้วชำระกิเลสไม่มีใครทำให้ใครได้ แล้วเราต้องชำระของเราเอง เราต้องสำรอกคายของเราเอง เราต้องปฏิบัติตามความเป็นจริงของเราเอง อันนั้นเกิดแล้วมันถึงดับตามความเป็นจริง

 

ถ้าเกิดไม่ดับ กิเลสมันพาเกิดพาดับ มันยังงงอยู่นี่ แล้วถ้าทำความเป็นจริงแล้วนะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา เอวัง