ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

เห็นเฉพาะตน

๒๓ พ.ย. ๒๕๕๖

 

เห็นเฉพาะตน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

 

ถาม : เรื่อง “กระบวนการดับอารมณ์”

 

กราบเรียนพระอาจารย์ จากการที่ได้ปฏิบัติภาวนาพุทโธตามที่พระอาจารย์สอน ตอนนี้เกิดข้อสงสัยที่อยากทราบ กล่าวคือ เมื่อมีสิ่งกระทบ เช่น เจอผู้หญิงสวย มีอารมณ์โกรธ จะรู้สึกถึงความอึดอัดกระจุกตัวอยู่เป็นก้อนบริเวณกลางหน้าอก เมื่อกำหนดให้เกิดพุทโธ มีตัวก้อนนั้น สักพักก็เห็นเป็นลูกกลมๆ สีส้ม มีคราบสีดำเคลือบอยู่บางๆ จึงกำหนดทำลายคราบนั้น ทำให้ลูกกลมๆ สีส้มนั้นสว่างไสวขึ้นมาทันที อารมณ์ที่เกิดจากสิ่งกระทบนั้นก็ดับลง

 

ผมทดสอบทำหลายครั้ง ยอมรับว่ามีสัญญาเกิดขึ้น แต่ก็จะดูว่ามีสติหรือไม่ อยู่ในสมาธิหรือไม่ เมื่อได้ทดลองทำบ่อยครั้งขึ้น ความรู้สึกที่ได้รับรู้คือรู้ทันอารมณ์และดับอารมณ์นั้นได้เร็วขึ้น ตามที่ได้กล่าวมานี้ ผมมีข้อสงสัยดังนี้ครับ

 

๑. ลูกกลมๆ สีส้มนั้นคืออะไร มีความสำคัญมากน้อยเพียงใดครับ

 

๒. การทำลายคราบสีดำๆ บางๆ นั้นถูกต้องหรือไม่ครับ

 

๓. นั่งสมาธิก่อนนอน เมื่อเจอลูกสีส้มนี้อีก ผมควรทำอย่างไรต่อไป ต้องรบกวนถามท่านอาจารย์ครับ

 

ตอบ : ฉะนั้น สิ่งที่ว่า ๑ ๒ ๓ เดี๋ยวจะตอบเนาะ แต่จะบอกถึงอาการที่เกิดขึ้น

 

เห็นไหม เวลาเราภาวนาไป เวลามันเกิดนิมิต เกิดความรู้ต่างๆ ขึ้น พอเกิดนิมิต เกิดความรู้ต่างๆ ขึ้น นี่มันเห็นเฉพาะตน การเห็นเฉพาะตน จิตของคน คนที่เห็นก็มี คนที่ไม่เห็น เขาไม่เห็นก็มีนะ ส่วนใหญ่แล้วไม่เห็น ถ้าฟุ้งซ่านก็ฟุ้งซ่านทำให้ตนรำคาญเท่านั้น แต่ถ้ามันสงบก็สงบลงเฉยๆ ความสงบลงเฉยๆ อย่างนี้โดยทั่วไปเป็นอย่างนั้น อย่างเช่นแบบปัญหาสังคม รากหญ้าคือคนส่วนใหญ่ คนชั้นกลาง จากรากหญ้าทำมาหากินขึ้นมา พอมีอยู่มีกินขึ้นมาก็เป็นคนชั้นกลาง แต่คนชั้นสูงมันมีส่วนน้อยเพราะว่าต้องประสบความสำเร็จมาก

 

จิตของคนโดยธรรมชาติ โดยธรรมชาติของคน การเวียนว่ายตายเกิด จิตของคนในระดับรากหญ้าเยอะมาก แม้แต่ว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก แต่เวลาเกิดเป็นมนุษย์นี้มีบุญญาธิการแล้ว แต่ด้วยบุญกุศลที่สร้างมา ส่วนใหญ่แล้วจะระดับรากหญ้าเยอะ แล้วชนชั้นกลางต้องพัฒนาตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง

 

จิตของคนก็เหมือนกัน จิตของคนเวลาปฏิบัติมา ส่วนใหญ่แล้วมันจะเครียด มันจะมีความกดดันในหัวใจ มันจะมีความทุกข์ความยาก นี่จิตแบบรากหญ้า จิตแบบรากหญ้าส่วนใหญ่จะเยอะมาก มีโดยทั่วไป แต่ชนชั้นกลาง คนที่ปฏิบัติไปรู้นั้นรู้นี้นี่ส่วนน้อย แต่คนชั้นสูงนะ คนชั้นสูงหมายถึงว่าคนที่มีบารมี

 

คนชั้นสูงนี้เราเปรียบเทียบแบบเป็นบุคลาธิษฐาน จิตมันไม่มีชนชั้นหรอก จิตไม่มีขั้นไม่มีตอน จิตไม่มีรูปไม่มีนาม จิตไม่มีอายุ จิตไม่มีอะไร แต่อำนาจวาสนาของจิตไง ชนชั้นกลาง ชนชั้นรากหญ้า ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง อำนาจวาสนาของจิต ถ้าอำนาจวาสนาของจิตที่เขาสร้างขึ้นมา เขาทำสิ่งใดก็ประสบความสำเร็จ อย่างเช่นคนมีบุญ ทำอะไรก็โอกาสจังหวะประจวบเหมาะ ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จ ไอ้พวกเราทำแล้วลุ่มๆ ดอนๆ ทุกข์ๆ ยากๆ คนอย่างนี้มีเยอะ

 

ฉะนั้น จิตนี้เสมอภาค มันเสมอภาคโดยธรรมชาติของมัน มันแตกต่าง มันแตกต่างโดยอำนาจวาสนา ถ้ามันแตกต่างโดยอำนาจวาสนา เวลาภาวนาไป คนหัดภาวนาส่วนใหญ่แล้วเขาจะสงบก็สงบไปเฉยๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่สงบ ส่วนใหญ่แล้วเป็นมิจฉาสมาธิ มิจฉาคือความรู้ผิด เห็นผิด ความหลงผิด ความเข้าใจผิด ความเข้าใจผิดว่าเป็นสมาธิ สมาธิเป็นความว่าง ความว่างก็สร้างอารมณ์ว่าว่าง ความว่างก็ปฏิเสธไม่รู้ก็ว่าว่าง มันปฏิเสธอารมณ์ มันไม่ใช่เป็นความจริง พอไม่เป็นความจริง สิ่งนั้นมันถึงเป็นมิจฉา พอเป็นมิจฉาก็เข้าใจเอาเองว่าเป็นสมาธิ พอเข้าใจเอาเองว่าเป็นสมาธิ ก็ไปนอนจมอยู่กับสิ่งนั้น เขาเรียกว่าติด ติดในอารมณ์ตัวเอง ติดในความรู้ของตัวเอง ติดในความคาดหมายของตัวเอง แล้วก็คาดหมายไปว่าสิ่งนี้เป็นสมาธิ

 

แต่ถ้าเป็นสมาธินะ อย่างเช่นเรากินข้าว เราจะกินข้าวให้หมดโต๊ะเลยได้ไหม อาหารบนโต๊ะเต็มโต๊ะ กินให้หมดเลย ไม่ได้หรอก เวลาอิ่มแล้วมันอิ่ม กินไม่ลงหรอก จิตพุทโธๆๆ ถ้าเวลาเป็นสมาธิขึ้นมามันอิ่ม คำว่า “อิ่ม” เห็นไหม

 

คนทุกข์ คนหิว คนกระหาย นี่ทุกข์อย่างหนึ่ง คนทุกข์ คนกระหายแล้วพอมากินข้าวกินอาหารแล้ว พอมันอิ่มหนำสำราญขึ้นมานี่มีความสุขอย่างหนึ่ง แต่นี้เวลาคนกินข้าว เห็นเขากินข้าวกันแล้วก็นั่งมองเขากินข้าว อู้ฮู! อาหารมันเยอะมาก อาหาร ดูสิ คนเขากินกันมูมมามมาก กินเข้าไปแล้วไม่รู้จะเป็นอย่างไร มันนั่งมองเขาไง แล้วมันก็บอกว่าอิ่ม

 

นี่ไง เวลาภาวนาไปมันไม่ได้พุทโธ จิตมันไม่ลงสมาธิ มันปฏิเสธ พุทโธๆ แล้วก็หายไป เวลาปัญญาอบรมสมาธิ ทำไปๆ แล้วก็เร่ร่อนไป แล้วก็ดูเขาทำ เห็นไหม ดูเขาทำคือคนเขากินอาหารของเขา เขากินอาหาร เขามีรสมีชาติของเขา เขามีความรู้สึกของเขา เวลาเผ็ด เขารู้สึกว่าเผ็ด เวลาหวาน เขาก็ว่าหวาน เวลาอร่อย เขาก็มีความสุขของเขา เวลาเขาเผ็ด เขาต้องหาน้ำกิน เราเห็นเขา โอ๋ย! พวกนี้ภาวนาไม่เป็น พวกนี้ทำอะไรไม่รู้ ของเราสิ ปฏิเสธ ไม่ต้องทำอะไรเลย เฉย แล้วก็บอกว่ามันอิ่ม นี่มิจฉาสมาธิ รากหญ้าเวลาหลงตัวเอง หลงความรู้สึกของตัวเองเป็นแบบนั้น

 

แต่ถ้ามันเป็นความจริงนะ เวลาเป็นความจริง เวลาภาวนาไป พุทโธๆๆ ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้ามันสงบเข้ามา โดยส่วนใหญ่คนรากหญ้าเป็นแบบนั้น จิตที่มีบารมีอย่างนั้นน่ะ ถ้ามันสงบเข้ามามันรู้ คนหิวกระหายแล้วอิ่มมันแตกต่างกันมาก จิตที่มันฟุ้งซ่าน จิตที่มีความทุกข์ความยาก จิตที่มันบีบคั้นตัวเอง เวลามันปล่อยวาง เป็นสัมมาสมาธิ มันจะมีความสุขมาก แล้วทำได้ยากมาก แล้วรักษาอย่างนี้รักษายาก ศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าเกิดสมาธิแล้วจะเกิดปัญญาต่อเนื่องกันไป

 

แต่โดยภาวนาไป โดยความเป็นสมาธิๆ ปฏิเสธอารมณ์นี่เขาว่าเป็นสมาธิ...ไม่ใช่ นี่ไปกำหนดทับไว้ว่านี่กำหนดหนอๆ ให้มันถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ทั้งนั้นน่ะ แต่ถ้ามันเป็นของมันเองนะ คนกินข้าวอิ่มแล้ว พออิ่มแล้วมันจะอยู่กับเราตลอดไปได้ไหม กินข้าวอิ่มมื้อนี้แล้ว ชาตินี้ไม่กินข้าวอีกแล้ว มันจะโตไปข้างหน้า ไม่มีทาง พรุ่งนี้ก็หิวตายห่า

 

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเป็นสมาธิแล้วเดี๋ยวมันก็เปลี่ยนแปลง สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง ทุกอย่างนี้เป็นอนิจจังหมด ไม่มีอะไรอยู่คงที่หรอก แต่เราต้องฝึกหัดทำเป็นของเรา ถ้าเป็นของเรานะ สมาธิมันตั้งมั่น ตั้งมั่น พอใช้ปัญญาไปมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง นี่พูดถึงสมาธินะ

 

นี่พูดถึงคนรากหญ้า มันปฏิบัติไปแล้วมันจะเรียบไป คือว่าไม่รู้ไม่เห็นอะไร แต่ถ้าคนรู้เห็น คนรู้คนเห็น ถ้ามันเห็นสมาธิ รู้จำเพาะตนๆ พอเป็นสมาธิแล้วเห็นนิมิต ไปรู้สิ่งต่างๆ นี่รู้จำเพาะตน ถ้ารู้จำเพาะตนมันก็อยู่ที่จริตนิสัย บางคนให้กำหนดมรณานุสตินี่กำหนดไม่ได้เลย พอกำหนดแล้วเท้าอ่อนหมด ทำอะไรไม่ได้เลย กำหนดแล้วไม่ตรงกับจริต บางคนกำหนดมรณานุสติแล้วดี บางคนต่างๆ แล้วบางคนพอสงบแล้วไปเห็นนิมิต เห็นจำเพาะตน

 

ถ้าเห็นจำเพาะตนนะ วาสนามันมาแบบนี้ ลายนิ้วมือ จริตนิสัยของจิต ใครทำสิ่งใดมันมีอย่างนั้นน่ะ แต่ถ้ามันมีมาแล้วมันแก้ไขได้ไง ถ้าเห็นนิมิตแล้วนะ เราก็กำหนดถามว่านิมิตมันคืออะไร ถ้าเห็นนิมิตแล้วนะ กลับมาที่พุทโธ นิมิตก็หายไป

 

ถ้าเห็นนิมิตแล้ว นิมิตนี้มันจริงหรือเปล่า นิมิตก็เป็นอนิจจัง ที่หลวงปู่ดูลย์พูด เห็นนิมิตจริงไหม จริง แต่ความเห็นนั้นไม่จริง ไม่จริงเพราะอะไร ไม่จริงเพราะมีอวิชชา ไม่จริงเพราะมีกิเลสครอบงำหัวใจ ถ้าเห็นก็คือเห็น นี่ไง จากคนรากหญ้าจะเป็นคนชั้นกลาง คนชั้นกลางจะไปรู้ไปเห็น คนชั้นกลางจะถอยรถเบนซ์ คนชั้นกลางจะซื้อหุ้น คนชั้นกลาง

 

ซื้อหุ้นหรือทำอะไรก็แล้วแต่ นี้มันเป็นธุรกิจ มันเป็นผลประโยชน์ นี่ไง เห็นนิมิตๆ เห็นผิดเห็นถูก ซื้อหุ้นเดี๋ยวก็หมดตัว ถอยรถเบนซ์มา รถเบนซ์หมดรุ่นนี้แล้วไม่มีอะไหล่ รถเบนซ์นี้เขาเลิกใช้ นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเห็นนิมิตแล้ว ถ้ามันสอบถามอย่างนี้มันก็ไม่เสียหายไง ถ้าเห็นจำเพาะตน เห็นจำเพาะตนแล้วมันก็ต้องเอามาแยกแยะว่าความเห็นนั้นถูกหรือไม่ถูก ความเห็นนั้นควรเป็นหรือไม่ควรเป็น ถ้ามันเป็นความจริง คนชั้นกลาง

 

เราถอยรถเบนซ์ เราซื้อหุ้น หุ้นมันขึ้นน่าดูเลย ถอยรถเบนซ์มา เขาให้รางวัลอีกคันหนึ่ง เขาบอกว่าซื้อพอดีครบคันที่ ๑,๐๐๐ เขาแถมให้อีกคันหนึ่ง ซื้อรถเบนซ์ ได้รถเบนซ์ ๒ คัน เห็นนิมิตที่มันถูกต้อง เห็นนิมิตที่ดีงาม เห็นนิมิตแล้วเราแยกแยะของมันเป็นไป พอแยกแยะเป็นไป นิมิตคือการฝึกจิต เพราะเห็นกาย การเห็นไม่ใช่ผิดทั้งหมด และก็ไม่ใช่ถูกทั้งหมด เห็นผิดมาก เห็นผิดเยอะมาก เพราะคนรากหญ้า รากหญ้าเอ็งก็ขี่โตโยต้าแล้วกัน เอ็งอย่าเอารถเบนซ์ รถเบนซ์เอ็งผ่อนไม่ไหวหรอก เอ็งเอาโตโยต้านะ เอาโตโยต้าไป

 

นี่ก็เหมือนกัน ขอให้ได้เถอะ ถ้าไม่ได้โตโยต้านะ ขี่รถเมล์ก็ได้ ฉันไปรถเมล์ก็ได้ ไปรถอะไรก็ได้ถ้าจิตใจมันมั่นคง ถ้ามั่นคงมันไม่เสียหาย เราจะบอกว่าเห็นเฉพาะตน คำว่า “เห็นเฉพาะตน” นะ มันเป็นแบบนี้

 

ทีนี้บอกว่า พอภาวนาแล้วจะไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย

 

ถ้าคนชั้นสูงนะ หลวงปู่มั่นเวลาจิตท่านลงนะ พอพุทโธๆ จิตลง จิตสงบปั๊บ ตัวท่านเองจะไปเดินจงกรมอยู่บนก้อนเมฆ ท่านเห็นตัวท่านลอยอยู่บนอากาศ เวลาเห็นแล้วมันรู้ว่าผิด ดึงออกมา พอกำหนดจิต เราระลึกให้ดึงความรู้สึกกลับมา มันเข้ามาถึงตัวแล้วมันทะลุลงไปในนรกเลย ทะลุลงไปบาดาลเลย เห็นไหม จิตคนชั้นสูง จิตคนชั้นสูงคือสร้างอำนาจวาสนาบารมีมามาก ถ้าเราสร้างอำนาจวาสนาบารมีมามาก ทำสิ่งใดผลตอบแทนมันมหาศาล แต่ต้องคุมเป็นนะ ต้องดูแล ต้องรักษา ถ้าคุมเป็นมันจะเป็นประโยชน์ ถ้าคุมไม่เป็น อำนาจวาสนาบารมีมันก็เป็นเรื่องของชาตินี้ใช่ไหม ถ้าเราใช้อำนาจวาสนาบารมีหมดแล้ว แล้วชาติต่อไปเราทำอย่างใด นี่ไง ภพชาติมันยังมีอยู่ไง

 

แต่ถ้ามีครูบาอาจารย์คุมเป็นนะ สิ่งที่เป็นอำนาจวาสนา เราเอามาใช้เป็นประโยชน์ให้เป็นสัมมา ให้เป็นเครื่องหนุน เครื่องหนุนให้จิตสงบมา จิตสงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญาในวิปัสสนา ไปเห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม แล้วแยกแยะใช้ปัญญา มันจะเป็นธรรมจักร มันจะเป็นมรรค มรรค ๘

 

เทฺวเม ภิกฺขเว ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ ทางส่วนหนึ่ง เวลาไปรู้ไปเห็นสิ่งต่างๆ กามสุขัลลิกานุโยค ความสุข ความดีงาม เวลาปฏิบัติไปล้มลุกคลุกคลาน มีแต่ความทุกข์ความยาก นั่นอัตตกิลมถานุโยค

 

ทางสองส่วนที่เธอไม่ควรเสพ อันหนึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค ให้เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ความสมดุล ความถูกต้องดีงามกับจิตที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา

 

วิปัสสนา วิปัสสนาในมรรค ถ้าเดินมรรคเป็น ธรรมจักรมันก็หมุน พอหมุนไป ปัญญามันเริ่มก้าวเดินไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องดับเป็นธรรมดา มันรู้มันเห็นของมัน มันเป็นมรรคเป็นผลขึ้นไป นี่ถ้าเป็นมัชฌิมาปฏิปทา สิ่งที่เป็นทางที่ถูกต้อง ถ้าทางที่ถูกต้องมันก็เป็นไป

 

อันนี้เราพูดยาวเหยียดเลย เพราะให้เห็นว่า ถ้าเห็นนิมิตๆ มันเห็นเฉพาะตน ถ้าเห็นเฉพาะตนแล้วจะให้ใครมีหรือไม่มีเหมือนเราไม่ได้ ถ้าเขาไม่มี เขาก็ไม่มีของเขาไป ถ้าเขามี เขาก็มีของเขาไป ของเรามีบ้างไม่มีบ้างก็เป็นของเรา ถ้าเป็นของเรา เราก็ตั้งสติขึ้นมา

 

ให้ย้อนกลับมาคำถาม “เจอผู้หญิงสวย มีอารมณ์โกรธ มีความรู้สึกอึดอัด มันก็กระจุกตัวอยู่ที่หน้าอก”

 

อันนี้มันเป็นผลการปฏิบัติ ถ้าเป็นผลการปฏิบัตินะ ถ้าพูดถึง ถ้าเราไม่ปฏิบัติ เราไม่มีสติระลึกรู้อยู่ ไอ้ผู้หญิงสวย สวยก็สวยเป็นของเรา เราก็อยากได้ไปกับเขา ไอ้โกรธ โกรธก็เราจะไปทำลายเขา โกรธเป็นเราไง ผู้หญิงสวยก็เป็นเรา สรรพสิ่งก็เป็นเรา มันเป็นสิ่งเดียวกัน มันเป็นสิ่งเดียวกัน เราก็ไม่รู้ไม่เห็น แต่พอเรามา “ผมปฏิบัติภาวนาตามที่หลวงพ่อสอน แล้วมันเป็นแบบนี้ หลวงพ่อต้องแก้มา”

 

พอแก้มา ไปรู้ไปเห็น ถ้ารู้ว่าผู้หญิงสวย เรามีสติ เห็นไหม ผู้หญิงสวย ผู้หญิงไม่ใช่เรา รูป รส กลิ่น เสียง รูป รสอันวิจิตรไม่ใช่กิเลส กิเลสตัณหาความทะยานอยากของเราเป็นกิเลส ผู้หญิงสวยก็เป็นเรื่องของผู้หญิงเขาสิ แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเราล่ะ ถ้าเรามีสติปัญญา เราก็รู้เท่า เห็นไหม อารมณ์โกรธเกิดขึ้น อารมณ์โกรธเกิดขึ้นถ้ามีสติปัญญา เอ็งโกรธแล้วนะ ถ้าเอ็งโกรธแล้ว สิ่งนี้โกรธ มันเป็นขี้ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง ตอนนี้เอ็งกำลังจะกินขี้แล้วล่ะ ถ้าเอ็งโกรธนะ คือเอ็งกินขี้ ขี้โกรธ เอ็งจะกินเข้าไปเต็มปากเต็มคำเลย ถ้าเอ็งมีสติปัญญานะ อ้าว! โกรธ วางไว้ข้างนอก เราไม่กินขี้ ไม่กินขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง เห็นไหม สติปัญญามันทัน ถ้ารู้สึกว่ามันกระจุก มันอึดอัด มันกระจุกขึ้นมา สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่เรารับรู้แล้ววาง

 

เวลาเราไม่ปฏิบัติเลย เราก็จะไม่รู้อะไรเลย เวลาเราเป็นสิ่งใด เราเป็นร่วมไปกับเขา เวลาโกรธก็โกรธไปกับเขา เวลาทุกข์ก็ทุกข์ไปกับเขา เวลามีสติปัญญานะ อ้าว! ทุกข์เป็นอันนี้ เห็นไหม ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ ทุกข์เพราะความเผลอของเรา เราเผลอ เราไปยึดไปมั่นขึ้นมาก็เป็นทุกข์ ทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด

 

ถ้ากำหนดทุกข์ สมุทัยควรละ ละที่เหตุ ทุกข์มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่น เราไม่รู้ เราหลงไป เราถึงไปยึดมันเลยเป็นทุกข์ ทุกข์ควรกำหนด ถ้ากำหนดทุกข์ ย้อนกลับไปที่สมุทัย ไปดับกันที่เหตุ ถ้าดับแล้วมันก็เป็นอย่างนี้

 

ฉะนั้น พอทำไปแล้วมันเกิดแสงสว่าง มันเกิดเป็นแสงสว่าง เป็นก้อน เป็นกลม แล้วเราใช้ปัญญา เราใช้ปัญญาไปกำหนดอย่างนั้น แสงสว่างนั้นมันหายไปทันที มันดับลงทันที ถูกต้อง

 

นิมิตที่มันเกิดขึ้น ถ้านิมิตมันเกิดขึ้น เราถามสิ เราถามได้นะ ถ้าคนมีสติเขาเห็นนิมิต “นั้นคืออะไร มันเป็นจริงไหม” แต่ไม่เป็นอย่างนั้นน่ะสิ ถ้าเห็นนิมิตนะ โอ๋ย! เราเห็นนิมิต นิมิตเป็นอย่างนั้นนะ โม้ไปอีกเดือนหนึ่ง ไปโม้ใหญ่เลย โอ้โฮ! นั่งภาวนาแล้วเห็นอย่างนั้นๆ

 

เห็นเฉพาะตน เอ็งเห็นแล้วคนอื่นเขาได้อะไรกับเอ็งล่ะ เอ็งรู้เอ็งเห็นแล้วเป็นประโยชน์อะไรกับใครล่ะ เรารู้เราเห็นก็เป็นประโยชน์กับจิตดวงนั้นน่ะ แต่รู้เห็นแล้วมันเป็นบวกหรือเป็นลบ ถ้ามันเป็นบวก เห็นนะ เราเห็นโดยอำนาจวาสนาของเรา เห็นโดยความเป็นจริง เราก็วางไว้ เพราะเราไม่ต้องการตรงนี้ เราภาวนาเพื่อความสงบระงับของใจ ถ้าใจสงบระงับแล้ว ถ้าจิตมันสงบแล้วถ้ามันจะเห็น ถ้าเห็นกาย ถ้าเห็นกายก็ภาวนาไม่เป็นอีก เห็นกายก็หลุดมือไปอีก

 

เห็นกายนะ เราก็พิจารณากายของเรา ถ้ามันไม่เห็น เราก็พยายามให้ดูจิต ถ้าดูจิตขึ้นมามันก็จะเห็นสิ่งที่เกิดจากจิต เกิดจากจิตก็คืออารมณ์ คือขันธ์ ถ้าจับได้มันก็จับได้ ถ้าจับไม่ได้ มันสว่าง พอพิจารณามันก็ปล่อย พอปล่อย มันดับหมด

 

“ผมทดลองทำหลายครั้ง ยอมรับว่ามีสัญญาเกิดขึ้น”

 

เห็นไหม ยอมรับว่ามีสัญญาเกิดขึ้น คำว่า “ยอมรับว่ามีสัญญาเกิดขึ้น” มันเป็นความจริงอยู่แล้ว สัญญาคือความจำ สิ่งที่เรารู้สิ่งใดแล้ว ถ้าเราระลึกถึงมันคือสัญญาทั้งนั้นน่ะ

 

ดูสิ เด็กที่มันเรียน ครูบาอาจารย์ท่านสอนนะ ให้ท่องสูตรต่างๆ นั่นน่ะคือสัญญา คือจำ มันต้องมีสูตรที่จำแล้ว แล้วไปวิเคราะห์อย่างอื่นต่อเนื่อง ทีนี้มันเป็นสัญญา เป็นสัญญาก็เป็นอดีตอนาคต เราถึงต้องทำความสงบเพื่อให้เป็นปัจจุบัน

 

ถ้าความสงบของใจ ใจสงบแล้วมันเป็นปัจจุบัน ถ้ามันจับสิ่งใดได้ขึ้นมา มันพิจารณาโดยตัวของมันเอง มันไม่ได้พิจารณาโดยสัญญา แต่ก็ต้องมีสัญญา เพราะธรรมชาติของมนุษย์ สมมุติมันมี ทุกอย่างมันมี ถ้ามันมี ฝึกหัดไปอย่างนี้

 

ถ้าฝึกหัด ฝึกหัด ถ้าทำไม่เป็น ฝึกหัดไม่ได้ ผลมันก็เป็นลบ เป็นลบ เราก็ทุกข์ พอเป็นทุกข์ขึ้นมาคือว่ามันไม่ประสบความสำเร็จ เราก็เสียใจ ความเสียใจบ่อยครั้งเข้าๆ แล้วเราจะทำให้มันถูกใจ ทำให้มันถูกต้อง เราก็ต้องแก้ไข พอแก้ไขขึ้นมาคือมาแก้อารมณ์อย่างนี้ คือมันต้องเป็นเอง มันต้องเป็นเอง รู้เอง กระทบเอง เจ็บช้ำเอง เจ็บปวดเอง มันถึงว่า อ๋อ! อย่างนี้เจ็บ อ๋อ! อย่างนี้เองที่ว่าเจ็บ ไม่ใช่สัญญา เจ็บจริงๆ อ๋อ! อย่างนี้ผิด อ๋อ! ถ้าอ๋อ! ขึ้นมาปั๊บ มันจะเริ่มระวัง

 

ถ้ายังไม่อ๋อ! มันไม่ระวัง ถ้าอ๋อ! ปั๊บ มันจะระวัง อ๋อ! อย่างนี้เป็นสัญญา ถ้าสัญญามันเป็นเรื่องของสมุทัย ถ้ามันเป็นปัจจุบัน มันใช้ปัญญา อ๋อ! ปัญญามันเป็นอย่างนี้เอง มันเป็นเพราะมันพิจารณาแล้วมันปล่อย มันเป็นแล้วมันวาง อ๋อ! ก็ไปทางถูกสิ พอไปทางถูกบ่อยครั้งเข้า กิเลสมันละเอียดขึ้นไป มันก็หลอกไปเรื่อย

 

สิ่งที่ว่ามีสัญญาขึ้นมารับรู้กับเรา ถ้าพิจารณาไป อารมณ์มันดับ สิ่งที่มันดับ เรารู้เราเห็นได้ ถ้ามันดับ มันเร็วมาก เราต้องฝึกหัดของเราไป มันจะเป็นประสบการณ์ไง

 

“พอพิจารณาไปมันจะรู้เท่า แล้วมันดับอารมณ์นั้นได้เร็วขึ้น ตามที่กล่าวมา ผมมีข้อสงสัยดังนี้ ๑. ลูกกลมๆ สีส้มนั้นคืออะไร มีความสำคัญมากน้อยเพียงใดครับ”

 

ลูกกลมๆ สีส้มนี่รู้จำเพาะตน เวลาคนอื่นเขาไปเห็น เขาไปเห็นเป็นควันไฟ เป็นควันสีเทาๆ เป็นอะไร อันนี้คือนิมิต คือไปรู้ไปเห็น แต่จริงๆ แล้วมันคือสัญญาอารมณ์ คืออารมณ์ของตัว

 

ถ้าจิตสงบแล้ว จิตที่สงบใช่ไหม น้ำ ถ้าน้ำใส เราผสมสีมากน้อย สีจะเข้มข้นแตกต่างกัน จิตของคนโดยธรรมชาติของมัน จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตธรรมดาของคน ธรรมชาติที่รู้ มันเป็นธรรมชาติที่รู้ของมัน แต่เวลาคนคิด ถ้าคิดเข้มข้น เวลาความคิดที่มันชัดเจนเข้มข้นมันก็เจ็บปวดมากขึ้น ถ้าคิดกลางๆ เราคิดเป็นธรรมชาติของความคิด ถ้าคิดแบบว่าเบาบาง นี่ความคิดมันแตกต่างกัน

 

ฉะนั้น สิ่งที่ว่า สีที่เรารู้ บางคนภาวนาไปแล้ว ความที่เห็นมันแตกต่างกัน ทีนี้เห็นว่าแตกต่างกันนี่คือนิมิต แต่นิมิตมันเป็นภาพ มันเป็นรูปไง รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งที่จะเป็นภาพเกิดขึ้น ภาพมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าไม่มีฐีติจิต ภาพมันจะเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าไม่มีผู้รับรู้ แล้วไอ้สีส้ม ใครเป็นคนไปรู้มัน ใครรู้ว่าสีส้ม แล้วถ้าเป็นรูปส้ม รูปบอลสีส้ม มันอยู่ข้างนอก มันเกี่ยวอะไรกับเราล่ะ อ้าว! เวลาสีส้มอยู่ข้างนอกมันเกี่ยวอะไรกับเราล่ะ

 

แต่เวลาจิตเราสงบแล้ว จิตเรากำหนดพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ จิตมันสงบเข้ามาแล้ว มันสงบเข้ามา แล้วถ้ามันเห็นนิมิต เห็นสีส้ม มันเห็นโดยเห็นจำเพาะตน รู้จำเพาะตน ถ้ารู้จำเพาะตน เราวางก็ได้ พอเราเห็น เราจะวางก็ได้

 

ถ้ามันไม่วาง มันเป็นจริตของคน ไม่วาง เราก็พิจารณามัน สีส้มมันคืออะไร พิจารณาไปแล้วนะ มันเป็นนามธรรม มันไม่มีอะไรหรอก คนที่ไม่มีนิมิตเขาไม่เห็นอะไรเลย แต่ถ้าเราเห็นของเรา สีส้มมันคืออะไร อารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ของเรา อารมณ์ที่มันเป็นสัมมาสมาธิ สุขอื่นใดเท่าจิตสงบไม่มี พอจิตสงบเข้ามาแล้วมันมีอาการ มีเครื่องเคียง สิ่งที่รู้ที่เห็น ถ้าไปรู้ไปเห็นนะ

 

หลวงตาท่านบอกว่า เวลาจิตท่านสงบนะ ท่านเห็นจิตของท่านเป็นไฟพะเนียง มันพุ่งออก ท่านก็อยากรู้ว่าไฟพะเนียงมันคืออะไร ท่านบอกว่าท่านตามไฟพะเนียงพุ่งออกไปเลย ตามไปเรื่อย ท่านบอกตามไปเรื่อย ไม่จบหรอก ตามไปจนไม่จบ คือว่าอยากพิสูจน์

 

เรารู้ทางทฤษฎี ธรรมและวินัยพระพุทธเจ้ามีอยู่แล้ว แต่พอจิตสงบแล้วมันเห็นเป็นไฟพะเนียง ไฟมันพุ่งขึ้นมาจากจิต อยากรู้ไง อยากพิสูจน์ ตามไป ท่านบอกตามไปๆ ตามไปจนไปจักรวาลไหนมันก็ยังไป เพราะมันเป็นนามธรรม มันเป็นนามธรรม มันรู้มันเห็นของมัน จนท่านบอกว่าตามไม่มีที่สิ้นสุด ท่านปล่อย แล้วพุทโธ พุทโธคือตั้งสติ ดึงความรู้สึกกลับมาที่ใจ ดับหมด ดับหมด เห็นไหม นี่พูดถึงเป็นไฟพะเนียงนะ เป็นแสงสว่าง เป็นลูกไฟกลมๆ เป็นลูกไฟที่วิ่งเข้ามาชนเรา เป็นสิ่งที่เรารู้เราเห็น นิมิตทั้งนั้น

 

นิมิตมันจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อจิตมันมีกำลัง จิตมันสงบมันถึงเห็น แต่พอเวลาคนเห็นแล้ว เห็นไหม ความดีเล็กน้อยก็ไปติดมัน แต่ถ้าความดีเล็กน้อย เราไม่ติดนะ สิ่งที่รู้ที่เห็นมันเป็นอาการ คนจะเข้าบ้าน มันมีสวนหน้าบ้านเอาไว้หลอกเรา เขาทำสวนหน้าบ้านเอาไว้นั่งพักผ่อน ตอนเย็นก็จะนั่งพักผ่อนที่สวนนะ เขามีสวนหน้าบ้าน

 

ทีนี้เป้าหมายของเราคือเข้าบ้าน เป้าหมายเราไม่ไปที่สวน แต่ก่อนจะเข้าบ้านมันต้องผ่านสวน พอมันผ่านสวน เอ็งจะนอนที่สวนหรือเอ็งจะเข้าบ้านล่ะ ถ้าเอ็งจะเข้าบ้าน เอ็งก็ผ่านนั้นไป

 

“นี่ลูกกลมๆ นั้นมันคืออะไรครับ”

 

ลูกกลมๆ ถ้าเราจะพูดเป็นวิทยาศาสตร์ ต้องเป็นทางเคมีเลยว่ามันคืออะไร เออ! มันคืออะไร มันก็คือที่เราเห็นไง มันเห็นจำเพาะตน เห็นนะ พอจิตถ้าสงบแล้วนะ ถ้าดีขึ้นนะ เดี๋ยวมันจะเห็นเป็นรูปดำๆ ต่อไปมันจะเห็นเป็นรูปเทาๆ ต่อไปมันจะไม่มีอะไรเลย มันเป็นอนิจจัง เห็นแต่ละครั้งแต่ละคราวก็ไม่เหมือนกัน

 

ฉะนั้น สิ่งที่เห็นเป็นอะไร เห็นเป็นเครื่องหมายบอกว่าจิตมีอยู่ จิตเรากระทบได้ จิตกระทบสิ่งใดแล้ววาง วางแล้วเราทำละเอียดให้มากขึ้น เพราะเราต้องการความสงบ เราต้องการมรรค เราไม่ต้องการแสงสีเสียง

 

รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าเป็นบ่วงของมารมันล่อ ล่อหลอกให้เราสนใจมัน แล้วมันก็รัดคอตาย ถ้าเป็นพวงดอกไม้นะ ภาวนาเก่ง ภาวนาดี คนนี้ภาวนาดี๊ดี นี่พวงดอกไม้มันล่อลวงให้เราเสียหาย รูป รส กลิ่น เสียงเป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร

 

นี้เราเห็นว่ามันเป็นวิธีการของมาร เราไม่ต้องการ เราก็กำหนดพุทโธให้ชัดขึ้น กำหนดอานาปานสติ กำหนดสิ่งใดให้มันชัดขึ้น เดี๋ยวละเอียดเข้ามา สิ่งนั้นจะหายไปเอง คนปฏิบัติใหม่พอไปรู้ไปเห็นมันตื่นเต้นไง เหมือนว่าเราต้องเก็บทรัพย์สมบัติให้หมดทุกอย่าง อยากจะเอาให้หมดเลย แต่ความจริงไม่ใช่ เสียสละมากเท่าไร คนนั้นก็ได้มากเท่านั้น

 

ทางโลกเขาหาวัตถุกันนะ จำนวนมากเท่าไร เขาได้สมบัติมากเท่านั้น ในการปฏิบัติ ละได้มากเท่าไร วางได้มากเท่าไร ได้มากขนาดนั้น การได้ของการปฏิบัติคือการละการวางต่างหาก ไม่ใช่การไปยึดมั่นถือมั่นเป็นการรับรู้ สิ่งที่รับรู้ รับรู้เพราะจิตมันรู้มันเห็นแล้วมันวาง

 

ถ้าไม่รู้ ไม่รู้ไม่เห็นจะวางอะไร ไม่รู้ไม่เห็นแล้วว่าวาง นี่ปฏิเสธไง คือการปฏิเสธอารมณ์ ปฏิเสธว่าฉันไม่มี ฉันเป็นพระอรหันต์ ฉันไม่มีอะไรเลย ฉันว่างหมดเลย

 

ไม่มี ไม่มีแต่มี มี อยากไม่มีไง มันไม่เห็นมันก็เลยไม่ได้ละไม่ได้วาง เราไปรู้ไปเห็นแล้วเราละเราวางถึงจะถูกต้อง

 

เขาถามว่า “สีส้มๆ นั้นคืออะไร”

 

นั้นคือนิมิต คือความรับรู้แล้ววาง

 

“๒. การทำลายคราบสีดำบางๆ นั้นถูกต้องหรือไม่ครับ”

 

ถูกต้อง เจอสิ่งใดต้องทำลายทุกอย่าง การทำลายคือการทำให้เป็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์คือการทำลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไตรลักษณญาณ เห็นไหม

 

การทำลายนี่ถูกต้อง ยิ่งทำลายยิ่งแวววาว ยิ่งทำลายยิ่งสวยงาม ยิ่งทำลายยิ่งสุดยอด ในการปฏิบัติต้องทำลายทุกๆ อย่าง การทำลาย สิ่งที่เป็นวัตถุทำลายแล้วมันเสียหาย ทำลายแล้วไม่มีสิ่งใดเลย

 

แต่สิ่งที่เป็นนามธรรม ยิ่งทำลาย เพราะสิ่งที่เป็นนามธรรม ยิ่งทำลาย การทำลายคือการซักฟอก การทำลายไตรลักษณ์คือการทำความสะอาด การทำลายคือการทำให้มันสะอาดบริสุทธิ์ การทำลายคือความถูกต้อง

 

แต่โดยส่วนใหญ่แล้วไปทะนุถนอมไง ไปเช็ดไปถู กลัวไม่แวววาว เช็ดใหญ่เลย เช็ดแล้วก็เก็บ เก็บแล้วก็เช็ด เช็ดแล้วก็เก็บ เปรต เปรตมันไปอยู่ที่ศาลา ไปเห็นคนนอนหัวไม่เท่ากัน มันก็จัดหัวให้เท่ากัน แล้วก็ไปดูที่ปลายเท้า เอ๊ะ! ปลายเท้าไม่เท่ากัน มันก็ดึงให้เท่ากัน นี่เปรต เปรตมันจะจัดให้คนนอนเท่ากัน ไม่มีเท่าหรอก

 

นี่ก็เหมือนกัน เช็ดใหญ่เลย เช็ดใหญ่เลย ไม่มีทาง ทำลายอย่างเดียว ทำลายถูกไหม ทำลายนะ พยายามทำลายคราบนั้น เจอสิ่งใดนะ ตั้งจิตกำหนด กำหนดเลย ให้มันแปรสภาพ นั่นคือการทำลาย ยิ่งทำลายยิ่งแวววาว ถ้าทำลายไม่ได้ กลับมาพุทโธให้มันสงบเข้ามา นี่พูดถึงข้อ ๒

 

“๓. การนั่งสมาธิก่อนนอน เมื่อเจอลูกสีส้มนี้ ผมควรทำอย่างไรต่อไปครับ”

 

ถ้าเจอลูกสีส้ม กลับมาที่พุทโธ ลูกสีส้ม สิ่งนี้มันเป็นว่าจิตสงบแล้วมันถึงรู้ถึงเห็น แล้วลูกสีส้มมันเป็นเครื่องล่อ ถ้าปกติเริ่มต้น ถ้าจิตสงบแล้วมันถึงเห็น มันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นแง่บวก แต่พอเราไปติดมัน เป็นแง่ลบ เพราะมันล่อ ถ้าลูกสีส้ม เราก็จะอยู่กับสีส้มอย่างนี้ตลอดไป เรากำหนดพุทโธๆ ถ้าจิตมันสงบแล้วนะ ถ้าลูกสีส้มเกิดขึ้น สีส้มมันคืออะไร เวลาไม่ภาวนา ทำไมมันไม่มี

 

เวลาเราเกิดเวทนา เวลาเรานั่งนานๆ ก็ปวด เวลาเราเปลี่ยนอิริยาบถ มันก็ไม่มี แล้วเวทนามันคืออะไร แล้วนี่ก็เหมือนกัน เวลาภาวนา สีส้มมันมาจากไหน สีส้มมันก็มาเป็นเครื่องล่อ มาทำให้เราเสียเวลาไง

 

เราไม่ต้องการสิ่งใดทั้งสิ้น เราต้องการความสงบของใจ ต้องการพักให้สงบ สงบแล้วออกฝึกหัดใช้ปัญญา ฝึกหัดใช้ปัญญาคือสมถะ วิปัสสนา ความสงบของใจคือสมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน ไม่มีจิต ไม่มีผู้ปฏิบัติ มันไม่มีคนทำงาน จิตสงบระงับแล้ว สมถกรรมฐาน ฐานที่ตั้งแห่งการงาน งานอะไร งานในการชำระล้าง งานในการซักฟอก งานในการทำความสงบของใจ คือวิปัสสนา สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มันจะเกิดขึ้นต่อจิตที่เราสงบแล้วเราทำต่อเนื่องไป ทำอย่างนี้ถูกต้อง

 

ฉะนั้นว่า “ถ้ามาเจอลูกสีส้มจะทำอย่างไร”

 

ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน บอกกูไม่เอา ไม่สนใจ กูต้องการความสงบของใจ แล้วทำความสงบ ถ้ามันมาอีก ใช้ปัญญาพิจารณา แล้วถ้าไม่สนใจ มันก็จะไม่มาเอง

 

แต่เราไประแวงไง เอ๊! มันคืออะไร เอ๊! ถ้าเราไม่ทำแล้วมันจะเสียหายไหม เอ๊ะ! ถ้าเราไม่ทำแล้วเราจะภาวนาดีหรือเปล่า เอ๊ะ! เอ๊ะ! สีส้มมันยิ่งชัดใหญ่เลย เพราะอะไร เพราะมันหลอกได้แล้ว พอมันหลอกได้นะ มันหลอกได้ เราก็หลงมันไปไง

 

แต่ถ้าเรามีสตินะ สีส้มก็คือสีส้ม สีส้มมันมีอยู่ทั่วโลก สีส้มมันมีอยู่ทั่วโลกธาตุ สีส้มมันไม่เกี่ยวกับเรานะ มันหลอกไม่ได้นะ มันอาย เดี๋ยวมันก็ไป มันไม่อยู่กับเราหรอก แต่ถ้าไปสนใจนะ มันจะเยอะขึ้นๆ ให้ทำแบบนี้ ภาวนาอย่างนี้มันจะต่อเนื่องไป

 

ถาม : เรื่อง “ขอบพระคุณหลวงพ่อ”

 

งวดนี้หลวงพ่อเมตตาตอบปัญหาเร็วมาก ฟังคำตอบวันละหลายครั้ง หลายๆ วันมาแล้วก็แปลกใจตัวเอง มองภาพอสุภะไม่สวยงาม แต่ใจกลับเย็นขึ้นๆ เรียนรู้ร่างกายเพิ่มขึ้นว่าเป็นแบบนี้หนอ เป็นสิ่งที่จริงที่ทุกชีวิตจะต้องเจอ มีอยู่ในกายนี้

 

ตอนนี้ส่วนใหญ่จะอยู่บ้านฟังธรรมผ่านเว็บไซต์ พยายามปฏิบัติตามแนวทางหลวงพ่อแนะนำ จิตก็เย็นขึ้น เมื่อสิ่งภายนอกกระทบก็ปล่อยวางได้เร็วขึ้น กราบขอบพระคุณ

 

ตอบ : ถามเรื่องอสุภะมา ทีนี้บอกอสุภะ ถ้าเราพิจารณาของเรานะ อสุภะ ถ้าจิตใจสงบแล้วพิจารณาอสุภะ เห็นไหม “มันไม่สวยงาม แต่ใจก็กลับเย็นขึ้น”

 

แต่ส่วนใหญ่คนที่พิจารณาอสุภะแล้ว ทุกคนว่าเวลาไปเห็นกายก็บอกว่า พิจารณากายไม่ได้เพราะกลัวผี ไม่อยากเห็นกาย พิจารณาอย่างอื่นได้ไหม

 

การพิจารณาที่ว่าเห็นกายๆ ในหนังทีวี ในหนังต่างๆ ที่เขาสร้างภาพกันขึ้นมา อันนั้นน่ะเห็นผีคือเห็นจิตวิญญาณ เห็นจิตวิญญาณดวงอื่น เห็นสิ่งที่ว่า ดูสิ ดูอย่างไสยศาสตร์เขาเล่นคุณไสยกัน สิ่งนั้นมันเป็นเรื่องภายนอก

 

แต่เวลาเราเห็นกายของเรา เห็นกาย ถ้าจิตสงบแล้วเห็นกาย เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรมตามความเป็นจริง เพราะจิตมันสงบ มันมีสติปัญญามันถึงได้เห็น แล้วเห็นแล้วไม่เป็นแบบนั้น เห็นแล้วนะ มันสำรอก มันสะเทือนหัวใจ สะเทือนหัวใจมันคือสะเทือนกิเลส แต่ถ้าไปเห็นผี มันเป็นของคู่ มันเป็นบุคคลคนอื่นที่มีเวรมีกรรมต่อกัน

 

แต่ขณะที่จิตของเรา เรามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำหัวใจเรา ถ้ามีกิเลสตัณหาความทะยานอยากครอบงำหัวใจเรา เราหลงผิด เราหลงผิดในรูปของเรา หลงผิดในกายของเรา ว่าสิ่งนี้เป็นของเรา สิ่งนี้เป็นความคงทน สิ่งนี้เป็นความคงที่ ฉะนั้น พอจิตเราสงบแล้ว จิตสงบแล้วมันเห็นอสุภะ เห็นกาย

 

การเห็นกายมันจะสำรอกคายสักกายทิฏฐิความเห็นผิด ถ้าความเห็นผิด มันไม่คงทน ร่างกายนี้ไม่คงทน สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่คงทน สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง สรรพสิ่งในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดคงที่ สรรพสิ่งในโลกนี้มันแปรสภาพอยู่แล้ว แต่เพราะเราไม่มีสติ เราไม่มีปัญญา เราทำสิ่งใดไม่ได้

 

แต่พอจิตเราสงบไปแล้ว จิตสงบแล้วมันไปรู้ไปเห็นกายตามความเป็นจริงของมัน มันรู้มันเห็นของมัน ถ้ามันรู้มันเห็นของมัน มันใช้ปัญญาของมันไป นี่ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตรงนี้ไง นี่ภาวนามยปัญญา ปัญญามันเกิดตรงนี้ไง ถ้าปัญญามันเกิดตรงนี้ นี่ปัญญามันเกิด

 

แต่ถ้าคนบอกว่า คนเราคิดโดยจิตใต้สำนึกไง โอ๋ย! ถ้าไปเห็นกายก็ไปเห็นผีๆ...ไม่ใช่ เห็นผีส่วนเห็นผี ถ้าเห็นกาย เห็นกายเป็นส่วนของเรา ทีนี้ถ้าเห็นกาย เราเห็นกายแล้วใช่ไหม ถ้าเห็นกายแล้วเราพิจารณาเป็นอสุภะ เห็นไหม “มันไม่สวยงาม แต่ใจกลับเย็นขึ้น”

 

มันไม่สวยงามเลย เดี๋ยวนี้มันแปลกใจว่าเห็นภาพอสุภะแล้วมันไม่สวยงาม แต่ใจมันเย็นขึ้น ใจมันเย็นขึ้น ใจมันดีขึ้น แล้วมันมีความรู้ขึ้นมา ร่างกายว่า มันเป็นแบบนี้หนอ มันเป็นแบบนี้ มันไม่ตื่นเต้นไปไง

 

ถ้าคนเราไม่ตื่นเต้น ไม่ตื่นเต้นไป ความตื่นเต้นคือตัณหา ตัณหา วิภวตัณหา สิ่งต่างๆ มันไปยึดของมัน มันไปยึดของมันโดยจิตใต้สำนึก แต่จิตใต้สำนึกแล้ว ถ้าคิดอย่างนี้แล้วบอกว่า อ้าว! ถ้าอย่างนั้นก็ปล่อยทิ้งเลย คนบ้ากลางถนนมันไม่รักษาดูแลกายมันเลย มันต้องเป็นพระอรหันต์ นั่นมันก็ไม่ใช่

 

เห็นคนบ้าไหม คนบ้ามันไม่เคยอาบน้ำเลย ร่างกายเหม็นหมดเลย มันไม่ติดกายมันไหม อย่างนั้นไม่ติดกายไหม อย่างนั้นก็ไม่ใช่ นี่ไง อัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค อย่างนั้นคือว่าเขาไม่มีสติปัญญารับผิดชอบกายของเขา

 

แต่ของเรา เราแก้กิเลส คือความผูกพัน คือสังโยชน์ คือเครื่องร้อยรัด ถ้าพิจารณาไปแล้ว เวลามันพิจารณา มันเห็นของมันไป มันไปถอดถอน มันไปตัดเครื่องร้อยรัด มันไปตัดสังโยชน์ สักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด ถ้ามันตัดสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิด มันถอดถอนกิเลสไปแล้ว ร่างกายนี้เขายิ่งถนอมใหญ่เลย เขาไม่ได้ถนอมแบบคนตาบอด คนตาบอดคือว่ามันถนอมเพราะมันไปหวง ไปห่วงของมัน

 

ไอ้นี่พอความหวง ความห่วง ความหึง ความหวงมันโดนทำลายไปโดยสังโยชน์มันขาด พอมันขาดไปแล้ว เขารักษาร่างกายไว้เพราะให้จิตใจอาศัย จิตใจอาศัยไว้ อาศัยไว้ทำไม อาศัยไว้เพื่อปฏิบัติต่อเนื่อง ปฏิบัติต่อเนื่องให้เห็นธรรมที่ลึกซึ้งขึ้นไป ถ้าเห็นธรรมลึกซึ้งขึ้นไป เพื่อจะให้ใจนี้มันถอดถอน ให้ใจนี้มันพ้นจากกิเลสไป ไม่ใช่เห็นกายแล้วจะทำลาย

 

ทำลายด้วยมรรคญาณ ไม่ใช่ทำลายด้วยวัตถุ ไม่ใช่ทำลายด้วย เห็นไหม เขาบอกว่าเวลาพิจารณากายก็ทำลายมัน อย่างนี้ก็เอาร่างกายนี้บดเข้าไปในเครื่องบดอาหารเลย มันจะได้ทำลายหมดเลย เราจะได้เป็นพระอรหันต์ มันไม่เป็นหรอก ไม่เป็นหรอก การทำลาย ทำลายด้วยมรรคญาณ

 

นี่ไง “เห็นภาพอสุภะมันไม่สวยไม่งาม แต่จิตใจมันกลับเย็น”

 

จิตใจมันกลับเย็นขึ้น จิตใจมันกลับปลอดโปร่งขึ้น จิตใจมันก็ดีงามขึ้น ดีงามขึ้น พอพิจารณาไปซ้ำๆ ซากๆ เวลามันทำลายหมดนะ พอมันทำลาย จิตเป็นจิต กายเป็นกาย ทุกข์เป็นทุกข์แล้ว จะรักษาร่างกายไว้ตามความเป็นจริง จิตใจมันไม่มีตัณหาความทะยานอยาก มันไม่มีสิ่งใดไปกดถ่วง รักษาไว้ตามความเป็นจริง

 

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ขันธ์ ๕ เป็นภาระอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นภาระดูแลไป เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไปนิพพานนะ “อานนท์ เรากระหายน้ำเหลือเกิน ตักน้ำมาเถอะ”

 

ร่างกายมันมีธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในเมื่อร่างกายเหงื่อไคลมันออก น้ำระเหยออกไปจากร่างกาย เราปัสสาวะ เราต่างๆ เสียน้ำไป เราก็เอาน้ำเข้าไปเติม เอาน้ำเข้าไปเติมเพื่อความสมดุลของมัน เพื่อจะให้ร่างกายพาจิตใจนี้เพื่อไปที่จะไปนิพพาน รักษาไง ถ้ามันรักษา เราก็ต้องรักษาอย่างนั้น

 

ฉะนั้น ถ้าพูดถึงว่า เราเห็นกายไปแล้วเราเข้าใจ

 

ความเข้าใจของเรา เข้าใจโดยตัณหาความทะยานอยาก เข้าใจผิดหมด แต่ถ้าเราพิจารณาของเรานะ ถ้าจิตสงบแล้วเราพิจารณาของเราไป ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมาจะเข้าใจหมดนะ เพราะมันเรื่องกิเลสกับธรรมๆ

 

เวลากิเลสบอกว่า ร่างกายนี้มันไม่ใช่ของเรา สรรพสิ่งนี้ไม่ใช่ของเรา เขาก็ประชดประชันกันไง ประชดประชันกันต้องทำอย่างนั้นๆ ไอ้นั่นทำแบบกิเลส ทำแบบโลก ยิ่งทำแล้วมันจะชำระล้างกิเลสไม่ได้

 

แต่ถ้าเราพุทโธ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ถ้าจิตมันสงบแล้วถ้ามันเห็นกาย มันเห็นแตกต่างจากเห็นจิตวิญญาณ เห็นกายคือเห็นอริยสัจ เห็นกายคือเห็นสัจจะความจริง เห็นสัจจะความจริงแล้ว ถ้าเราพิจารณาเป็นอสุภะ พิจารณาต่างๆ ยิ่งพิจารณาไปมันกลับเย็นขึ้น ดีขึ้น พัฒนาขึ้นๆ ถ้าไม่ปฏิบัติมันจะพัฒนาไม่ได้ มันไม่รู้จริงเห็นจริงของมัน ถ้าพัฒนาขึ้นจะเป็นประโยชน์กับเรา

 

“ตอนนี้ส่วนใหญ่อยู่บ้านฟังธรรมเว็บไซต์ของหลวงพ่อ ตามแนวทางที่หลวงพ่อแนะนำ จิตก็เย็นขึ้น สิ่งภายนอกกระทบก็ปล่อยวางได้เร็วขึ้น”

 

ให้ปฏิบัติให้มากขึ้น ปฏิบัติมากขึ้นให้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเป็นประโยชน์กับเรานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปี ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หลวงปู่มั่น หลวงตา ท่านปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ ท่านกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบแล้วกราบเล่าๆ

 

ฉะนั้น เราประพฤติปฏิบัติกัน ถ้าถึงที่สุด เราภาวนาขึ้นมามีคุณธรรมในหัวใจของเรา เราจะซาบซึ้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราจะมีแก้วสารพัดนึก เราจะมีไตรสรณคมน์ในหัวใจของเรา เราจะมีหลักมีเกณฑ์ในใจของเรา เรามีคุณค่ากันที่นี่ เราไม่มีคุณค่ากับสิ่งที่เป็นโลกภายนอก โลกภายนอกเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยดำรงชีวิตเท่านั้น เอวัง