เทศน์เช้า

ปัญญาโลก-ปัญญาธรรม

๑๗ ส.ค. ๒๕๔o

 

ปัญญาโลก-ปัญญาธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๐
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปัญญาโลกปัญญาส่งออก ปัญญาแบบว่ารู้กัน ปัญญาส่งออก แล้วอย่างนี้ปัญญาส่งออกหมายถึงว่า.. ถ้าพูดประสาโลกว่า “เขี้ยว” พอเขี้ยวนี่แบบว่าธรรมดามันไม่เปิดไง มันเอาเปรียบไง ปัญญาทางโลกเอาเปรียบนะ ปัญญาทางโลกต้องไม่เสียเชิงไง ต้องไม่เสียรู้คน ต้องทันคน ต้องอะไรคน อันนี้มันเลยทำให้แบบว่าไม่ใช่ปัญญาธรรม ถ้าปัญญาธรรมมันเหมือนกับคนโง่ คนเซ่อ พูดอะไรพูดตรงๆ ไง แล้วโง่ เซ่อ ออกไปโดยที่ว่าไม่มีการเอารัดเอาเปรียบ แต่มันเป็นยาไง แต่ถ้าปัญญาทางโลก อาจารย์มหาบัวบอกว่า “โง่สองชั้น”

คนที่อวดตัวว่าฉลาด คนนั้นโง่สองโง่นะ โง่หนึ่งคือโง่ตัวเองไม่ทันกิเลสของตัวเองอยู่แล้ว ตัวเองนี่ไม่ทันกิเลสของตัวเองหรอก เวลาคิดนี่... เราไปพูดที่ไหนก็แล้วแต่ คำว่าเรา สมมุติว่าเราเจ็บปวด ถ้าว่าเรานะแก้ไม่ได้แล้ว ถ้าว่าร่างกายเจ็บปวด กายคืออะไร? จิตคือจิต กายกับจิตมันแยกออกจากกัน ถ้าเราปั๊บมันสมานไง ไอ้ตัวเราเป็นตัวยึดไง

เราอย่างนี้ (เสียงตี) ไม่ได้เจ็บ เป็นแผล ฉีดยานี่ฉีดไม่ลงนะ เข็มใช่ไหม? ฝีนี่ผ่าไปสิใครจะผ่าลง แต่ถ้าบอกว่าเป็นฝีเราถึงยอมผ่า อยู่ดีๆ ใครเอามีดกรีดเนื้อของตัวเอง นี่คำว่าเรา เนื้อเป็นเรา เราเป็นเนื้อ เราถึงไม่ยอม นี่พอความคิดเป็นเรา กายเป็นเรามันยึดหมด

นี่ก็เหมือนกัน ความคิดคือเราไง นี่ปัญญาโลก โลกกับธรรมต่างกัน โลกไง โลกคือว่าเก่ง โลกคือรู้เท่าทัน การรู้เท่าทันมันต้องเอาเปรียบ รู้เหนือไง รู้เหนือนี่รู้เอาเปรียบนะ พอรู้เอาเปรียบมันแบบว่าเสียประโยชน์ไม่ได้ไง เอาแต่ประโยชน์ เอาแต่ทันคน แล้วตัวเองก็ว่าตัวเองเก่ง นี่คือปัญญาโลก โง่สองชั้นไง ชั้นหนึ่งไม่ทันกิเลส ชั้นหนึ่งยังแบบว่าปิดกั้นเลย

ความคิดไม่เหมือนกับตาข่าย ถ้าปัญญาธรรมเป็นเหมือนตาข่าย อาจารย์มหาบัวบอกเหมือนตาข่ายนะเวลาเทศน์ ตาข่ายนี่เรากั้นสิ เราดักนกนี่ตาข่ายออกกั้นเลย นกมาติด นกเห็นไหม ที่เขาดักนกกันน่ะ ตาข่ายตามโรงสีมันจะติดแต่นก แต่ทำไมพวกเล็น พวกไรมันผ่านล่ะ? มันปล่อยให้พวกสัตว์เล็กสัตว์น้อยไปได้ แต่ถ้าสัตว์ใหญ่มันจะดักนกมันจะได้นกเลย

นี่ก็เหมือนกัน ปัญญาธรรม ปัญญาธรรมเครือข่ายมันคลุมหมด แต่มันจะดักกิเลสไง ดักไอ้ความเห็นแก่ตัวไง ดักให้เอาประโยชน์ไง

นี่วันนั้นก็มา พวกนั้นมาก็เหมือนกัน เรารู้อยู่ เพราะเราถึงใส่อย่างนี้เลย เราใส่สุดๆ เลย เราใส่แรงมาก เพราะเราถือว่าโอกาสเรา เพราะเขาไม่ถามเราใส่เลย ใส่แล้วนี่ มันจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์อยู่ที่ปัญญานี่แหละ ถ้าเป็นปัญญาธรรมนะ ไม่มีทางที่จะได้ฟังของอย่างนี้ ไปหาทั่วโลกไม่มีสิทธิ์ แต่ถ้าเป็นปัญญาโลกมันไม่รับ เพราะอะไร? อยู่ดีๆ มาโดนด่าได้อย่างไร? แหม.. ฉันไปต้องโอ้โลมปฏิโลมสิ

ไร้สาระ เพราะฉันเป็นหมอ ฉันให้ยา คนไข้รับหรือไม่รับเรื่องของคนไข้ แล้วเราไม่เกี่ยว เราเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราพูดตามธรรม โอ้โฮ.. วันนั้นพูดดีมากเลย เพราะเขามาก่อนไง เขามาแล้วเขาแหย่ แหย่ตรงไหนรู้ไหม? เราไม่อยากหักเอง เขาแหย่ว่า

“ท่านอาจารย์รู้จักอาจารย์.....ไหม? รู้จักอาจารย์.....ไหม? ท่าน.....ไหม?”

แค่นี้ฟังให้ดีก็ทะลุ ทะลุตรงไหน? ทะลุว่าอาจารย์ฉันอย่างนี้นะ อาจารย์ฉัน หลวงพี่แค่นี้เอง โอ๋ย.. ฉันต้องแน่กว่านะ ถ้าพูดตรงๆ นะฆ่าทิ้งหมดเลย แต่เราไม่พูดเท่านั้นเอง เราเพียงแต่แสดงของเราออกไปไง ว่าเอ็งอยู่กับครูบาอาจารย์เอ็งมา ๕ ปี ๑๐ ปีเอ็งเคยได้ยินอย่างนี้ไหม? อย่างนี้ใครเคยแสดงออกมาไหม? มีแสดงไหม? นี่พูดถึงปัญญาโลก ปัญญาธรรมไง

นี่ก็เหมือนกัน ทางนู้นก็เหมือนกันว่าฉลาด ว่าทันคน ว่าทำอย่างนี้ มันไปกดขี่จนบางทีเรารำคาญเราผลักออกไป นี่ปัญญาโลกไง โลกไม่ใช่ธรรม ธรรมไม่ใช่โลก ธรรมหมายถึงอย่างที่ว่า “อย่าดูถูกความนิ่งอยู่ของผู้รู้”

รู้ว่าอันนี้ผิด พอพูดไปมันเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ ถ้าไม่เป็นประโยชน์ เราสอนพระนี่เราสอนอยู่ที่นั่น ไปถึงนะเขาทำกับเราเต็มที่เลย พอเราสั่ง พอผิดปั๊บเราหยุดกึก! เงียบกริบเลย เห็นไหม ทีแรกเขาผิดเราปล่อยให้ผิดไปก่อนไง ทีนี้มันแบบว่าสติไม่พร้อม ทำอะไรแบบว่าผลุบๆ ผลับๆ นะ เสียหายหมดเลย ทำอะไรก็ไปผลุบๆ ผลับๆ แล้วเราก็ปล่อยให้ทำ อยากได้บุญไง อยากได้บุญเราก็ปล่อยให้ทำ นี่จะสอนคน

แต่ทางนู้นไม่ยอมนะ ทางนู้นเขาบอกว่าคนนี้ไม่ดี คนนี้ไม่ดี อย่างนั้นเอาไว้ทำไม? เป็นภาระ เอาไว้นี่มันเป็นภาระเราจะต้องมาดูแลเขา ต้องมาเทคแคร์เขา ต้องคอยดูแลเขาไง แต่เราให้เขาทำของเราไปก่อน เพราะเราสั่งไง บอกว่าน้ำไม่ต้องตักมานะ น้ำมันไม่มี เอาแค่กระป๋องเดียวมาล้างบาตรก็พอ แล้วเราก็ไม่ได้ไปดู พอเดินมาโอ้โฮ.. ตักซะเต็มรองเลย

เอ็งจะเอาน้ำมาให้พวกญาติโยมเขาสาดทิ้งหรือ? ถ้าเอาน้ำมาเต็มรองอย่างนี้ ใครเขาก็ว่าน้ำอุดมสมบูรณ์ เขาก็ใช้ด้วยความฟุ่มเฟือย เราสั่งว่าให้เอาน้ำมาคนละ ๑ กระป๋องเท่านั้น ให้พระผู้ล้างบาตรหนึ่ง น้ำกระป๋องหนึ่งมันพออยู่แล้ว

หยุด! บาตรก็ห้ามจับ เราล้างเองหมด พลิกเลย เห็นไหม ถึงเวลาอย่างนี้ เพราะตรงนี้เราต้องค่อยๆ เข้ามาก่อน ค่อยๆ เข้ามา ผิดถูกนี่มันอยู่ที่ปัญญาเข้ามาก่อน แต่พอเราสั่ง อันนี้มันเป็นเทคนิคเห็นผิดถูกชัดไง แล้วเขามองไม่ถึงไง พอเราพูดปั๊บเขาจะได้ไปคิด ไอ้คำนี้จะได้ไปคิดหลายวันเลย เอ๊ะ.. ทำไมเมื่อก่อนไม่เอ็ดเลย ไม่เอ็ดเพราะว่าเขายังไม่รู้ไง

แบบเด็กๆ นี่มันไม่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกไง อะไรก็กินไปเรื่อยเปื่อย แต่พออยู่กันไปมันชักรู้นะ พอไปอยู่กับผู้ใหญ่เขาบอกนะ ไอ้นี่เผ็ดนะ ไอ้นี่ไม่ดีนะ ไอ้นี่ดีนะ พอมันชักเริ่มรู้ก็ปล่อยมันก่อน พอเริ่มรู้ไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ พอถึงเวลาแล้ว อันนี้ห้ามกินนะ พอกินนี่มันจะเผ็ด เผ็ดเห็นไหม? ทีนี้เอาแล้ว.. ต้องอย่างนี้ก่อนไง ให้โอกาสคนไง นี่ปัญญาธรรมไง ถ้าปัญญาโลกมันก็แบบว่ามาไม่ได้เลยเป็นภาระฉัน เป็นภาระฉันๆ

นี่ไงถึงบอกว่าเราเป็นผู้ให้ยาเท่านั้น แล้วเขาก็ได้คิดหรือไม่ได้คิดนั่นมันเรื่องของเขา นี่พูดประสาเราเลยล่ะ รู้ทันนี่ปัญญาโลก ปัญญาโลกมันแบบว่า แหม.. เขี้ยวอย่างนี้เป็นปัญญาโลก ฉันต้องชนะตลอดไป ฉันแพ้ไม่ได้เลย แต่ปัญญาธรรมไม่อย่างนั้นนะ คิด! รู้ด้วยว่าเขาจะมาเอาชนะ รู้ด้วยว่าเขาอยากจะมาลองของ แต่เราพูดไปมันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เราก็แสดงของเราไปเรื่อย เห็นไหม จิตเป็นอย่างนั้น สภาวะจิตเป็นอย่างนั้น

นี่ถ้าได้ฟังนะ เราถึงบอกว่าเราพูดวันนั้นใช้ได้เลย ใช้ได้จริงๆ เพียงแต่ว่าเขาจะฟังเป็นโลกหรือฟังเป็นธรรม ถ้าฟังเป็นโลกก็เรื่องของโลกเขาไป เราไม่เกี่ยว เพราะว่าเราเป็นผู้ให้ยา เราเป็นผู้ให้ยา นี่ถึงบอกว่าโลกกับธรรมอยู่ด้วยกันแต่คนละอัน คนจะมองออกหรือไม่ออกว่านี่ปัญญาของธรรมกับปัญญาของโลก ปัญญาของโลกนะ ตัวเองมืด แล้วก็ยังใช้กิเลสให้มามืดอีกสองชั้น คือว่าโง่สองชั้น อาจารย์มหาบัวพูดดี “โง่สองโง่” ฉะนั้นถึงเอ็ดพระอยู่ด้วยกันไง

พระอยู่ด้วยกันนี่ โอ้โฮ.. ปริญญาโทนะ ปริญญาเอกนะ แล้วอีกคนไม่มีการศึกษามาเลยมันจะกดขี่กันขนาดไหน? มันจะกดขี่ขนาดไหนก็ต้องสำคัญตนว่าตนฉลาด คนอื่นจะมองเขาเลยว่าผิดหมดนะ หนึ่งตัวเองเหยียบย่ำตัวเองยังไม่รู้ตัวเลย เพราะว่าบารมีธรรมของแต่ละบุคคลนี่ หมายังไม่ให้ข้ามเลย เพราะหมานี่ไม่รู้ว่ามันเป็นพุทธภูมิมาหรือเปล่า แล้วชาตินี้เขามาเกิดเป็นหมา เขายังไม่ให้เหยียบย่ำหมาเลย นับประสาอะไรมาเหยียบย่ำกับพระภิกษุด้วยกัน

แล้วเป็นอย่างนั้นจริงๆ นี่มันโง่ไหม? โง่แล้วชั้นหนึ่ง แล้วยังโง่กับตัวเองเพราะอะไร? เพราะถ้าคิดอย่างนั้นปั๊บมันจะไม่มองเลยว่าคนๆ นั้น ถ้าเขามีธรรมเขาจะสอนอะไรเราบ้าง เขาจะทำอะไรเป็น.. แบบว่าเขาเรียกว่า “แคนนอน” ไง พูดสะกิดใจ โอ๋ย.. พูดบ่อย บางคำพูดนี่สะกิดใจเลย ถ้ามันเปิดขึ้นมามันจะได้ตรงนี้ไง

คือว่าปิดเลยว่าเขานี่ต่ำต้อย เหยียบย่ำเข้าไปแล้วหนึ่ง หมดโอกาสหนึ่ง นี่ปัญญาของโลก อยู่กับอาจารย์ อาจารย์ถึงบอกไง ผู้ที่สำคัญตน..

“ใครสำคัญตนว่าฉลาด ว่าเยี่ยม อันนั้นโง่สองโง่”

โง่หนึ่งคือโง่กับกิเลสตัวเองอยู่แล้ว อีกโง่หนึ่งคือว่าโง่ไม่ยอมรับสิ่งใดๆ เลย แล้วพูดไปนี่เราโง่ที่สุด เพราะเราอวดว่าฉลาดที่สุดใช่ไหม? (หัวเราะ) สรุปเดี๋ยวมันจะย้อนเจ็บทีหลัง ว่าเราแน่ เราฉลาด นี่โง่สองโง่ แต่นี่แสดงธรรมให้ฟังไง นี่ถึงว่าธรรมกับโลก

นี่ก็เหมือนกัน โอ้.. ฉลาดมาก ฉลาดจนแบบว่า อย่างไรก็แล้วแต่กลัวจะเสียเปรียบไง กลัวจะไม่ทันคนไง แล้วก็อย่างที่เอ็งว่าเราเมื่อก่อน เหมือนกับว่าระแวงไง จะคิดไปก่อนไง เหมือนระแวงเลย ถ้าเราดูใช่ไหม? ดูพฤติกรรมว่าเราก็คิดแบบว่าวิเคราะห์ แล้วเราก็ยึดว่าเป็นอย่างนั้นเลย เป็นหรือไม่เป็นยังไม่รู้ เป็นหรือไม่เป็นยังไม่รู้.. ทีนี้เป็นหรือไม่เป็น ตรงนี้! ทุกข์ ไม่ทุกข์ แล้วก็เลยยุ่งไปหมดเลย

นี่ปัญญาโลกไง ถึงบอกว่าโลกเป็นอย่างนั้น โลกคือการกดขี่กัน ปัญญาโลก โลกคือการกดขี่ การต้องอยู่เหนือกว่า แต่ปัญญาธรรมไม่กดขี่ รับรู้แล้ววิเคราะห์ แล้วเป็นจริงหรือไม่เป็นจริง แล้วผู้สูงกว่า วุฒิภาวะของใจผู้ที่สูงกว่าถึงแก้ผู้ที่ต่ำกว่าได้ ผู้ที่สูงกว่าก็เหมือนเราดูเด็กๆ นี่แหละ แล้วทำไมรู้ว่าเด็กๆ มันจะเลือกอะไร? เด็กๆ เนี่ย เราก็รู้ว่าเด็กๆ มันต้องการอะไร? ต้องการอะไร?

นี่วุฒิภาวะของใจ ภูมิของใจ อาจารย์ใช้คำว่า “ภูมิของจิต” ภูมิจิต ภูมิใจไง ภูมิของใจมันสูงกว่ามันจะมองออก มองออกเลยนะ แต่พูดหรือไม่พูด ถ้าพูดปั๊บไม่ได้ประโยชน์เลย เห็นไหม วันนั้นไม่พูดเลย.. เขาเอ่ยคำนี้มาเรารู้แล้ว เขาเอ่ยคำนี้มาเรารู้เลย แล้วเราก็พูดไปเรื่อยๆ เพราะเขาก็เอ่ยมาเอง นี่วุฒิภาวะของใจมันต่างกัน