เทศน์เช้า

ความหวังผลจากสมาธิ

๒๙ พ.ย. ๒๕๔๑

 

ความหวังผลจากสมาธิ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศาสนานี่ หลักของศาสนาเขาฟังผิดเอง เขาตั้งประเด็นผิด เขาสอนผิดไงมันเลยผิด อาจารย์มหาบัวบอกว่า “หมามันห่มหนังเสือ” เราเห็นหมาห่มหนังเสือเราก็ว่าเหมือนกับเสือ เพราะมันห่มหนังเสือ แต่เวลามันเห่าออกมานี่คือเสียงของหมา มันจะเป็นเสือได้อย่างไร? มันเป็นเสียงของหมา ไม่ใช่เสียงของเสือ

นี่ก็เหมือนกัน เริ่มต้นลัทธินะ บอกไงบอกว่าไปอธิบายตรงนี้ไง อธิบายว่าเรานี่ละความโกรธได้ ที่เรามาประพฤติปฏิบัติในศาสนาแล้วเราละความโกรธได้ ความโลภ ความหลง เราขาดไป นี่แล้วก็ว่ากิริยานี้สำรวม พอเวลามันเจออะไรเข้าไปมันแสดงออกหมด มันไม่ใช่ละได้จริง มันไม่จริงซักอย่างหนึ่ง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของสมาธิไง มันไม่ใช่เรื่องของศาสนาเลย

นี่มันสอนว่า “ศาสนธรรมปฏิรูป” ถูกต้องหมดเลย เพราะอะไร? เพราะว่าอย่างเช่นเราว่าสุนัข หมานี่ เราบอกหมาตัวนี้ดีมากเลย หมาตัวนี้มันเห่าไม่เป็น เพราะว่ามันได้ปฏิบัติธรรม มันเห่าไม่เป็นนะ มันอยู่เฉย มันไม่มีเสียง มันไม่เห่าสิเพราะมันเก็บกิริยาได้ แต่มันยังไม่โดนเหยียบหาง วันไหนมันโดนเหยียบหางมันจะเห่าออกมาเลย

แล้วนี่มันก็ผิด เพราะอะไร? เพราะว่าตั้งใจสอนไว้ผิดไง ไปบอกเป้าหมายผิด เห็นไหม บอกว่านี่ฉันจะสำรวมระวังหมด ถ้าคนนี้เก็บกิริยาได้คนนั้นเป็นผู้ละโลภ โกรธ หลงได้ ไม่ใช่ ไม่ใช่หรอก แล้วดูอย่างหลวงปู่มั่นนี่ดุขนาดไหน อย่างอาจารย์มหาบัวนี่ดุขนาดไหนเวลาออกมา อันนั้นเป็นกิริยาของกิเลสหรือ? ไม่ใช่ เพราะว่าการละกิเลสนี้มันไม่ใช่ละที่กิริยา มันไม่ได้ละที่สันดาน มันละที่กิเลส แต่กิริยาของใครก็เป็นของคนนั้น

เช่น ข้าวหอมมะลิ ถ้าปลูกที่ทางเหนือนี่มันชอบดินปนทราย แล้วมันจะเจริญงอกงาม มันจะออกมาเป็นข้าวหอมมะลิที่สวยงามมาก ข้าวหอมมะลิมาปลูกที่ภาคกลาง ดินมันไม่ดี จะออกเป็นข้าวหอมมะลิเหมือนกัน แต่ดินไม่ดี นี่ก็เหมือนกัน กิริยาที่สวยงาม กิริยาที่เป็นคุณงามความดี กิริยาที่เก็บอยู่อย่างนั้นเป็นพระพุทธเจ้าไง

พระพุทธเจ้าไม่เคยนอนหงายนะ พระพุทธเจ้านอนสีหไสยาสน์ตลอด พระพุทธเจ้าสำรวมระวังมาก แล้วในพระไตรปิฎกเขียนมาอย่างนั้นเป็นกิริยาของพระพุทธเจ้า มันไม่ใช่กิริยาของสาวก สาวกนี่สันดานนี่ละไม่ได้ไง ก็เหมือนข้าวหอมมะลิ เห็นไหม ข้าวหอมมะลิ ปลูกที่ไหนก็คือข้าวหอมมะลิ แต่ออกมาแล้วไม่เหมือนกัน แต่เป็นข้าวหอมมะลิเหมือนกัน

ผู้ที่ละกิเลสได้นะ พระพุทธเจ้าก็ละกิเลสได้ พระอริยสาวกก็ละกิเลสได้ แต่กิริยาไม่เหมือนกัน แต่บางองค์ก็มีกิริยาอย่างนั้นก็มี เพราะไปปลูกข้าวหอมมะลิปลูกทั่วประเทศไทย มันจะมีที่ว่าคุณสมบัติเหมือนกับข้าวหอมมะลิที่ทางสุรินทร์ก็มี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะไม่เหมือน

นี่เพราะว่าตั้งเป้าหมายไว้ผิดไง เพราะสอนว่าฉันทำสมาธิกัน แล้วฉันละกิเลสได้ เห็นไหม พวกเรานี่ละโลภ โกรธ หลงได้ คนก็ฮือเข้าไป ฮือเข้าไป ก็เลยผิดเป้าหมาย พอผิดเป้าหมาย พอแทนเข้าไปตรงนั้น พอหมามันโดนเหยียบหางมันก็ร้องขึ้นมา ผลของสมาธินี่ทำยากนะ เดี๋ยวจะแยกให้เห็นว่าสมาธิกับปัญญามันต่างกันอย่างไร?

ปัญญาในอริยมรรคนะ ถ้าสมาธินี่ทำได้แสนยาก การทำสมาธินี่ยากอยู่แล้ว ทีนี้ทำสมาธิได้ ความร่มเย็นของสมาธิ การกำหนด การเพ่งดวงแก้ว การเพ่งกสิณต่างๆ ทำใจให้สงบได้ ทำใจให้สงบนะ คนทำใจให้สงบมันจะมีความสุขมาก มีความสุขมากนะ แล้วมันจะมีความพิสดาร มีความพิสดารในปีติไง ในปีติธรรม พระบางองค์พอจิตนี้สงบลงจะเห็นตัวเองเดินจงกรมอยู่บนอากาศ จะทายวาระจิตได้ จะรู้วาระจิตนะสมาธินี่ เพราะเป็นสมาธิ แต่มันเป็นการสงบตัวลงของกิเลส มันไม่ใช่การชำระกิเลสเลย

ทีนี้ตัวเองมีวาสนาบารมีเพราะจิตมันสงบเห็นธรรมต่างๆ ขึ้นมา ก็เข้าใจว่าไง พอเข้าใจว่าตัวเองไม่รู้ธรรมจริง พอไม่รู้ธรรมจริงก็บอกว่าอันนี้เป็นการละกิเลสไง เป็นการละกิเลสนะ ละกิเลสเพราะมีปัญญา ใครไม่มีปัญญา? การถือศีล ๕ ถ้าไม่มีปัญญาจะถือศีล ๕ ได้ไหม? การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ มันต้องเหนี่ยวรั้งอารมณ์ของตัวเอง เพราะความอยากได้ของคนมันมี

นี่ปัญญามีทุกคน แต่เป็นปัญญาในโลกียะไง ปัญญาของโลกเขา ปัญญาเหนี่ยวรั้งใจให้สงบเท่านั้นเอง แต่มันไม่ได้ชำระกิเลสไง กิเลสมันคืออะไร? กิเลสนะมันเป็นสังโยชน์ สังโยชน์การผูกมัด ผูกมัดระหว่างอารมณ์กับตัวกิเลสเป็นด้วยกัน การละสังโยชน์ เห็นไหม ปัญญาการละสังโยชน์ต้องเป็นปัญญาในภาวนามยปัญญาเท่านั้น ปัญญาอย่างที่เขาเกิด ที่ว่าทำจิตสงบแล้วมันจะเกิดปัญญา ทำจิตสงบแล้วจะเกิดปัญญา

มันเกิดปัญญาทางโลกนี่แหละ เกิดปัญญาในการเห็นแก่ตัวนี่แหละ ความสงบ ความว่างของเขานะ นี่มันเป็นการผูกมัดนะ รูปราคะ อรูปราคะ รูป ฌานที่เป็นรูป อรูปฌานนะ รูปฌาน อรูปฌาน ยังเป็นราคะ ความเป็นราคะเป็นความผูก ความเป็นราคะนี่มันผูกอยู่ มันเป็นสังโยชน์ไม่ได้แกะเลย พอจิตมันสงบขนาดไหนมันเป็นรูปฌาน อรูปฌาน ขณะที่มันยังเป็นราคะ เพราะจิตนี้มันสงบ เห็นไหม อย่างที่ว่าเขาจิตสงบปั๊บเขาละกิเลสๆ เราก็ว่าเป็นละกิเลส

มันไม่ได้ละ มันจะเพิ่มกิเลสอีกต่างหาก กิเลสตรงไหน? เราทำจิตให้สงบสิ แล้วพอจิตสงบแล้วเราเคยมีความสุขมากเลย เราอาลัยอาวรณ์อารมณ์นั้นไหม? พอใครทำสมาธิแล้วจิตสงบแล้วนะจะอยากได้อย่างนั้นอีก แล้วความอยากอันนี้เป็นกิเลส แล้วจะทำให้จิตคนนั้นไม่เป็นความสงบ นานมากจนกว่าจะปล่อยวางอารมณ์ตัวนี้ได้ ทำไปสักแต่ว่าทำ แล้วมันจะกลับมารวมเป็นความสงบอีก

ความสงบ ทำสมาธินี้ทำให้เพิ่มกิเลส อาจารย์มหาบัวบอกว่าธรรมมันเกิด เป็นกิเลสมันเกิด เกิดความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นถือมั่นในรูปราคะ อรูปราคะ เห็นไหม อันนี้เป็นสังโยชน์เบื้องบนนะ แต่ตอนนี้พูดถึงจิตสงบยังไม่เห็นตรงนี้เลย พอเห็นว่าตัวเองว่าง ว่างก็นึกว่าตัวเองละกิเลสได้แล้ว คือว่าละความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่พอมันโดนเหยียบหางเข้าไปมันออกหมดเลย มันละตรงไหน?

แต่ผู้ที่ละแล้วก็ออกกิริยาอย่างนี้ กิริยาอย่างนี้มันเป็นกิริยา แต่มันไปละตรงที่ว่าความผูกไง สังโยชน์ความผูก ผูกกิเลสกับใจที่เป็นอาการ นี่มันละตรงนั้น กิเลสมันคือความสังโยชน์ มันไม่ใช่ละที่กิริยา มันละที่ไอ้เครื่องผูกที่ใจ เห็นไหม ปัญญาพิจารณาเข้าไปที่ว่าสังโยชน์ ๑๐ ตัวนะ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส พิจารณากาย ความผูกพันในกายละอย่างไร?

เพราะใจมันไม่เข้าใจไง ใจมันไม่เข้าใจเรื่องของกาย ทุกคนจะยึดมั่นถือมั่น ภพนี้เป็นของเรา ชาตินี้เป็นของเรา ทุกอย่างเป็นของเรา ปัญญามันเข้าไปพิจารณาตรงนี้ พิจารณาจนรู้ทันนะ จนรู้ทันแล้วสังโยชน์นี้มันขาดเอง ขาดเองเพราะมันปล่อยตามความเป็นจริง คนที่ขาดหมายถึงว่าเราเป็นหนี้แล้วเราชำระหนี้ เหมือนเราทำสัญญา แล้วเราไปทำสัญญานั้นออก ปัญญามันต้องเข้ามาตรงนี้ไง เข้ามาตรงที่ชำระสังโยชน์ให้ขาดออกไป ขาดออกไป

ถ้าสังโยชน์ขาดออกไป ๓ ตัวเป็นพระโสดาบัน แล้วกามราคะ รูปราคะ อรูปราคะนี่ลดลงไปถึงจะเป็นพระสกิทาคามี พระอนาคามีเท่านั้นถึงจะละความโกรธได้ตามความเป็นจริง เพราะอะไร? เพราะกามราคะกับปฏิฆะ ปฏิฆะคือความผูกโกรธ ความผูกโกรธมันอยู่ที่ไหน? เราลองคิดถึงอดีตสิ อดีตที่เราคิดถึงอะไรก็แล้วแต่ ใครทำความเจ็บใจให้เรา เราคิดถึงมัน เห็นไหม คิดถึงมันคือสัญญา สัญญาคือขันธ์ ๕ ขันธ์กับใจนี้มันเกิดดับๆ อยู่พร้อมกัน แล้วไอ้สังโยชน์ที่มันผูกมัดไว้ร่วมกัน

นี่ความผูกมัดของสังโยชน์นะ สังโยชน์นี้มันผูกไว้ มันเป็นอุปาทานที่ว่าไอ้สัญญาคือความจำได้ กับไอ้ตัวเนื้อของจิต ตัวเนื้อ ตัวพลังงานของใจมันโดนผูกไว้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเข้าไปพิจารณาจนขันธ์ของใจหลุดออกจากจิต จิตที่เป็นตอล้วนๆ พิจารณาอย่างไรถึงจะหลุด ก็พิจารณาว่าสิ่งนี้มันเกิดดับๆ อยู่ มันไม่ใช่เรา มันเป็นอาการเกิดดับอยู่ แต่เราไม่รู้เท่า เพราะว่ากิเลสมันผูกไว้ หรือว่ากิเลสมันหลอกตัวเราเองไง

อวิชชามันมีอยู่ รู้แต่รู้ไม่จริง รู้ตามความรู้สึกไง รู้ออก รู้ออก รู้ออก แล้วมันรู้แล้วมันคิดถึงเขา เรามีการกระทบกระทั่ง อันนี้ยังไม่ถึงสังโยชน์เบื้องบน ยังไม่ใช่รูปราคะ อรูปราคะเลย แต่ถ้าละตรงนี้ได้ถึงจะละความโกรธได้ตามความเป็นจริงไง ฉะนั้น ใครบอกว่าละโลภ โกรธ หลงได้นี่ไม่จริง ละโลภ โกรธ หลงนี่พระอนาคามีแล้วถึงจะละโลภ โกรธ หลง ได้ตามความเป็นจริง

นี่ละที่ไหน? ไม่ได้ละอะไรเลย ไปแกะไอ้ที่ว่าเขาเชื่อมไว้ไง เหมือนที่เขาอ็อกเหล็กไว้แล้วเราไปตัดออก มันหลุดออกจากกัน แต่หลุดมี หลุดออกไปจากกัน คือว่าความผูกอันนี้หลุดออกไป คือว่าความผูกว่าเป็นเขาเป็นเรานี่หลุดออกไป แต่ไปคิดถึงเรื่องเก่ายังคิดได้ ฉะนั้น หลุดอันนี้ถึงว่าไม่มีความโกรธ

คนที่เขาบอกว่าไม่มีความโกรธนะ ไม่มีความโลภ ไม่มีความหลง นี่อย่างหยาบนะ แต่มันยังหลงในอวิชชาของตัวมันเองไง แต่ถ้าหลุดตรงนี้ถึงจะเป็นพระอนาคามี ถึงจะละโลภ โกรธ หลงได้ตามความเป็นจริงของเนื้อแท้ของศาสนาพุทธ ไม่ใช่ละด้วยว่าการเก็บกิริยาเฉยๆ ไง

การเก็บกิริยาเฉยๆ ถึงว่าเป้าหมายผิด เห็นไหม เป้าหมายที่สอนผิด บอกว่าถ้าเก็บกิริยา หรือว่าจิตนี้สงบแล้วเราละโลภ โกรธ หลง พอมันมากระทบเข้ามันก็ออก นี่มันเสียทั้งว่าตัวเองก็สอนผิด เป้าหมายก็ผิด แล้วตัวเองก็รู้ผิด แล้วพอมันกระทบเข้านี่ออกหมด ออกหมดเลย แล้วถ้าออกหมด อย่างเช่นครูบาอาจารย์เรา กิริยาทำไมออก?

กิริยาอย่างนี้มันเป็นกิริยาอย่างที่ว่าข้าวหอมมะลิปลูกที่ไหนไง กิริยานี้มันเป็นปกติ ถ้าเราอธิบายกับพวกสื่อมวลชนใครก็แล้วแต่ บอกว่าพระอรหันต์ไม่ให้มองที่กิริยาของพระอรหันต์ ให้เข้าใจในเนื้อหาสาระที่พระอรหันต์พูดนั้น เรื่องผูกมัด เรื่องสังโยชน์ ที่ละออกมาตรงนั้น แต่กิริยานี้เป็นกิริยาเฉยๆ มันยิ่งละเอียดจนโยมหรือทุกคนมองไม่ออกไง ว่าพระอรหันต์กับปุถุชนนี่เหมือนกัน อาจารย์มหาบัวบอกว่า

“พระอรหันต์กับปุถุชนนี่เหมือนกันที่ว่ามีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน แต่ต่างกันอย่างฟ้ากับดินตรงที่ไม่มีกิเลสในหัวใจไง”

แต่ของเขานี่ต้องสงบ ต้องแน่นิ่ง ต้องมาแบบลอยฟ้ามา ต้องเป็นแบบอภินิหารไง มันถึงไม่ใช่เรื่องของศาสนาเลย มันผิดเป้าหมายทั้งหมดไง ฉะนั้น พระอรหันต์ถึงว่ารู้กันไม่ได้ ถ้าคนที่ไปตรวจสอบไม่ใช่พระอรหันต์ ต้องพระอรหันต์เท่านั้นถึงจะรู้ว่าพระอรหันต์นี่เป็นพระอรหันต์ ถ้าปุถุชนเราต่ำ พระอนาคามียังไม่สามารถจะรู้ขนาดเป็นพระอรหันต์เลย เพราะพระอนาคามีก็ยังไม่รู้ภูมิของพระอรหันต์

ฉะนั้น พระอรหันต์ละรูปราคะ อรูปราคะ สังโยชน์เบื้องบนไง สังโยชน์มี ๕ ตัว รูปราคะ อรูปราคะ คือรูปฌาน อรูปฌาน.. รูปราคะ อรูปราคะ มานะในหัวใจ ความเพลินอยากได้ธรรม เห็นไหม อุทธัจจะ ความเพลิน อวิชชา ละอวิชชาทั้งหมด รู้สภาพตามความเป็นจริงทั้งหมด ความคิดที่เกิดขึ้นมาในหัวใจ ทุกความคิดจะมีสติพร้อมขึ้นมาเป็นอัตโนมัติ เริ่มต้นของความคิด นี่พระพุทธเจ้าถึงได้เย้ยมารไง “มารเอย เธอเกิดจากความดำริ” เริ่มต้นของความคิด นี่มารมันอาศัยแทรกมาตรงนี้

“มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเราเอง บัดนี้เรารู้เรือนยอดของเจ้าแล้ว มารเอย บัดนี้เธอจะเกิดจากหัวใจเราอีกไม่ได้แล้ว”

นี่ความสำเร็จตั้งแต่วันที่สำเร็จ กิเลสมันตาย มารจะไม่สามารถได้เลย เพราะว่ามันไม่สามารถจะกินตามน้ำมาได้ ความคิดนี้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งหมด นี่มันดีตรงนั้น พระอรหันต์อยู่ที่ตรงนั้น ไม่ใช่พระอรหันต์อยู่ที่เก็บกิริยาเฉยๆ เห็นไหม นี่ปัญญาเป็นอย่างนี้ต่างหาก มันถึงต่างกันไง ไม่ใช่กำหนดเพ่งไว้ เพ่งไว้เฉยๆ อย่างนั้น อันนั้นมันเป็นสมาธิไง สมาธินี้มีก่อนพระพุทธเจ้านะ มีมาก่อนมากมายเลย แล้วก็ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์

ไม่ใช่ มันผิดมาตั้งแต่ตรงนี้ไง ผิดมาตั้งแต่ตัวผู้นำนั้นเป็นกิเลสล้วนๆ ผู้นำนั้นเห็นแก่ตัวทั้งหมด เห็นแก่ทุกอย่าง แล้วจะไปสอนความบริสุทธิ์ที่ไหน? อาจารย์มหาบัวถึงบอก ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้สิ้นกิเลส ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์ แล้วสั่งสอนมาตลอด สั่งสอนมาในศาสนาพุทธ ลัทธิต่างๆ ไม่มีศาสดาองค์ไหนเลยสิ้นกิเลส เป็นลัทธิ เป็นจริยธรรมไง เป็นจริยธรรม เป็นประเพณีวัฒนธรรมที่สะสมกันมา

ถ้าประเพณีวัฒนธรรมเข้มแข็ง มนุษย์เรานี่ประเพณีมันเข้มแข็งยิ่งกว่ากฎหมาย ทำให้พวกเราต้องอยู่ในกรอบของประเพณีวัฒนธรรม นี่มันยังมีคุณค่าขนาดนั้น แต่อันนี้มันเป็นตัวที่ว่าในหัวใจยังมีกิเลสอยู่ แล้วพูดตามประเพณีนิยม แล้วพอโลกนี้ก็ตื่นประเพณี ไม่ได้ตื่นศาสนา ไม่รู้ตามศาสนา เราตื่นกระแสกันทั้งหมด เราไปตามกระแสเขา ไปตื่นว่าคนมามาก คนนั้นมีเกียรติศัพท์เกียรติคุณเข้าไป แต่ไม่รู้หลักความเป็นจริงเลย

แล้วนี่เราถึงว่าเขาตั้งเป้าหมายไว้ผิด ตั้งเป้าหมายไว้ นี่เขาตั้งเป้าหมายว่าเรียบร้อย ผู้เป็นเจ้าอาวาสเรียบร้อย เป็นผู้ละกิเลสได้แล้วทั้งหมด แล้วเราก็คิดว่าตรงนั้นเป็นความจริง พอมันเปิดออกมาเท่านั้นแหละ เห็นไหม หลุดออกมาเท่านั้นแหละหมดเลย แล้วศาสนานี้ แล้วเราจะกราบไหว้ใคร? ขนาดนี้ยังแสดงออกขนาดนี้ แต่ถ้าพูดถึงหลักความจริงว่ามันหลุดที่กิเลสนะ หลุดที่หัวใจท่านจริง แต่กิริยา ดูสิ อย่างเช่นหลวงปู่มั่น ยกตัวอย่างหลวงปู่มั่นนะ หลวงปู่มั่นใครๆ ก็กลัว กลัวมาก ดุมาก แต่ท่านไม่ได้ดุคนๆ นั้น ท่านดุกิเลสของเราไง ความชิดเชื้อ ความสนิท ความเข้าไปเป็นกันเองนี่คือการนอนใจ อันนี้เป็นการนอน กิเลสมันหลอกไง หลอกให้เข้ามาว่ามันไม่ระวังตัวไง เห็นไหม ถึงว่าท่านดุให้เราสำรวมระวังเข้ามา แล้วอีกอย่างหนึ่งท่านมีตรงนี้ด้วย ท่านมีที่ว่ารู้วาระจิต ท่านรู้หมด แต่รู้มาเพื่อเป็นประโยชน์ไง จะพูดต่อเมื่อคนเป็นประโยชน์

คนนี้คิดอย่างไร? คิดอย่างนั้นไม่ถูก จะพูดอย่างนั้น ขนาดว่าพอไปติคนอื่นผิด แบบว่าติแล้วเขาตกใจ ยังไม่ใช้เลย ไม่ใช้เพราะอะไร? เพราะว่าเกิดถ้าพูดให้เขาเข้าใจผิด หรือพูดให้เขาตำหนิติเตียนมา มันจะเป็นกรรมของเขา พระอรหันต์เป็นผู้บริสุทธิ์ กล่าวคำจาบจ้วง หรือนินทาพระอริยเจ้าเป็นกรรมอย่างมาก เพราะอะไร? เพราะท่านบริสุทธิ์

ดูอย่างเช่นอาจารย์มหาบัวบอก เห็นไหม ในโครงการไทยช่วยไทยให้แต่พระมหาบัวมา ไม่กลัวใครเลย เว้นไว้แต่พระอรหันต์ไปแตะท่านไม่ได้เพราะท่านบริสุทธิ์ มันเหมือนกับคนที่เป็นสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด แล้วเหมือนกับเราไปกล่าวโทษ กล่าวโทษเหมือนกับว่าถ้าพูดประสาเราว่าคนนี้คนถูก แล้วเราไปกล่าวผิดให้เขา เพราะว่าความบริสุทธิ์อันนั้นมันจะไม่มีอะไรเข้าไปแตะต้องได้ มันจะไม่ทำอะไรสิ่งที่ผิดได้ แล้วเราไปคิด เห็นไหม เขาถึงให้ระวังตรงนี้ไง ว่าการกล่าวคำจาบจ้วงพระอรหันต์ พระอริยบุคคลมันถึงเป็นกรรมอย่างนั้นไง

อันนี้ดูอย่างที่ไปอยู่ทางเหนือสิ ดูอย่างทางเหนือนะเขาว่าเป็นผีเย็น เห็นไหม เขาว่าเป็นผีเย็นคือว่าเป็นเสือสมิงไง ท่านพูดว่าถ้าท่านหนีออกจากที่นั่นไป หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านนี้ ตายไปแล้วจะเกิดเป็นเสือ ทนอุตส่าห์ทนนะ ฝนตกแดดออกขนาดไหนก็อยู่ที่นั่น ลมพัด พายุมาก็ยังอยู่ที่นั่น จนชาวบ้านเขาเริ่มเอะใจ เขาเริ่มสงสัย จนมีคนมาถาม แล้วก็มีคนภาวนาได้คนหนึ่ง จนแก้ว่าท่านไม่ใช่เสือเย็น คือท่านไม่ใช่เสือสมิงที่แปลงมาเป็นพระจะมาหลอกกินชาวบ้านไง

ชาวป่าเขาคิดอย่างนั้น คิดว่าเป็นเสือสมิงแล้วแปลงมาเป็นพระ มาจะหลอกกินพวกชาวบ้าน ท่านเล่าให้อาจารย์มหาบัวฟัง อาจารย์มหาบัวบอก ถ้าท่านหนีมาตอนนั้น หมู่บ้านนั้นทั้งหมู่บ้านจะตายแล้วเกิดเป็นเสือทั้งหมดเลย ฟังสิ! ด้วยความเมตตาของท่าน ไม่ยอมไป อยู่จนกลับใจเขาได้หมด พอกลับใจเขาได้หมดแล้วถึงไป

ทีนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย เก็บบาตรไม่ได้ เก็บบาตรออกมาร้องไห้เลย

“อยู่กับข้อย อยู่กับข้อย ตายข้อยก็เผาศพได้ ไม่ต้องห่วงว่าศพนี้จะไม่มีใครเผา อยู่กับข้อย”

หลวงปู่มั่นอธิบายให้ฟังนะ บอกว่า “จะไปทำเพื่อประโยชน์โลก ประโยชน์หมู่บ้านนี้ได้แล้วสมบูรณ์ ประโยชน์ของศาสนา ประโยชน์ของจักรวาลจะออกมาทำเพื่อประโยชน์”

“เข้าใจๆ ครับๆๆ”

เก็บของ เก็บบาตรเดินมา ร้องไห้ดึงกลับไปอีก เข้าใจแต่เพราะเหตุผล นี่คนมีกิเลสไง เวลาคนพูดเหตุผลมันเข้าใจ แต่มันด้วยความอาลัยอาวรณ์ ด้วยความรัก ด้วยความเคารพนับถือมันทิ้งไม่ได้หรอก นี่ขนาดด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่อง เห็นไหม ความติดอันนี้ติดด้วยความดีนะ นี่กิเลสมันร้ายกาจอย่างนั้น แล้วมาอย่างนี้ มาอย่างนี้ มันกิเลสล้วนๆ เอาศาสนามาเป็นธุรกิจ

คำว่าธุรกิจมันสมควรไหม? แล้วคนมีความรู้ไง อาจารย์ถึงบอก ครูบาอาจารย์บอกนะ คนมีปัญญามาก สัตว์มันกัดกันนะ มันไม่ถูกกันมันก็กัดกันด้วยเขี้ยวด้วยเล็บ คนมีปัญญา ปัญญานั้นจะโกงขนาดไหน จะเอาขนาดไหนก็ได้ นี่ปัญญาของคน ปัญญาของปัญญาชน แล้วเข้ามานี่เอาศาสนาเป็นแนวทาง เอามาเป็นธุรกิจ เรานี่สลดใจทุกข์ใจเรื่องนี้มานาน แต่พูดไม่ออก พูดไปก็ว่าตาแดงๆ ไง

คนๆ หนึ่งได้ประโยชน์ แต่หลักของศาสนา มันเป็นศาสนาปฏิรูปจริงๆ มันต่ำลงไง ต่ำลงที่ว่าแค่ทำความสงบเท่านั้นหรือเป็นพระอรหันต์ได้ แค่ทำสมาธิเท่านั้นหรือเป็นพระอรหันต์ได้ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธเจ้าเกิดมานี้ เกิดมาเพราะอะไร? ปัญญานะ มัคคะอริยสัจจังเท่านั้น มัคคะอริยสัจจะนะ มัคคะอริยสัจจังแล้วก็ต้องใช้ให้ถูก ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ตกทะเล สมาธิเหมือนกับพิกัด เราพิกัดไง พิกัดหมายถึงว่าสัดส่วนนะ หนึ่งส่วนต่อกี่ส่วนในแผนที่

สมาธินะ เพราะว่าดำริชอบ ความเพียรชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ สติชอบ สมาธิชอบนะ ความเพียรชอบ เห็นไหม นี่มันต้องกลั่นออกมา พิกัดหมายถึงว่าสมาธินี่เป็นแค่พลังงานขึ้นมา เรารู้ส่วนสัดนะ หนึ่งต่อเท่าไหร่ในแผนที่ แล้วยังมีตัวแผนที่อีกล่ะ? อันนี้ก็เหมือนกัน พอสมาธิเราเกิดเรารู้พิกัด เราจินตนาการ จินตนาการมันจะออก

นี่สำคัญมากเรื่องครูบาอาจารย์ตรงนี้ไง มีพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้นที่จะรู้ขึ้นมาได้ตามความเป็นจริง หลวงปู่มั่นไม่มีครูบาอาจารย์ยังทุกข์มากนะ ไม่มีครูบาอาจารย์ ไม่มีครูบาอาจารย์ แต่ท่านมีหนึ่ง มีตำราหนึ่ง (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)