เทศน์เช้า

ยกขึ้นวิปัสสนาแล้วไม่สึก

๑๔ ม.ค. ๒๕๔๑

 

ยกขึ้นวิปัสสนาแล้วไม่สึก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๔๑
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันมีเชื้ออยู่มันก็สึก ความเป็นไปนะมันตีกลับหมดแหละ ดูอย่างเช่นไอ้ที่ว่าหัวใจนี่ใครมันจะบังคับใจได้ ถึงจุดหนึ่ง เห็นไหม อย่างพวกเด็กๆ หรือว่าคนได้ของเล่นใหม่มาจะดีใจมากเลย สังเกตได้พระที่บวชใหม่ พระเก่าๆ เขาจะเป็นห่วงพระฉันมื้อเดียว จะเอาอาหารไปให้ หรือว่าจะประคองไว้ ไม่หรอกครับ ไม่หิวหรอกครับ ไม่หิวหรอกครับ ส่วนใหญ่จะไม่หิวเลยเพราะอะไร? เพราะบุญมันให้ผลอยู่

บุญไง ความอิ่มบุญไง จิตนี้มันได้เสพรสชาติใหม่ไง การได้เสพรสชาติใหม่ รสชาติอันนั้นมันทำให้อิ่มไง ฉะนั้น พอเริ่มจางลงๆ พระถึงได้สึกไง บวชใหม่ๆ ทุกคนตั้งใจว่าจะไม่สึก การบวชใหม่ๆ การเริ่มบวช ถ้าพูดถึงพระนะ ให้พระทุกองค์น้อมกลับไปวันที่บวช อารมณ์อันนั้นนะพระจะไม่มีเสียเลย แต่พอนานไปๆ พระทำไมมีปฏิบัติตัวเสียบ้างล่ะ? เพราะอะไร? เพราะความเคยชินไง อารมณ์นั้นมันจืดจางลง

นี่สึกไม่สึกมันอยู่ตรงนั้นไง อยู่ตรงที่ว่าใจนี่หลอกกันไม่ได้ ใจของบุคคลผู้นั้นจะเป็นคนรู้เองว่าใจทุกข์หรือสุขไง แต่ถ้ามันแก้ตรงนั้นได้แล้วนะ มันเห็นคุณค่าข้างนอกเป็นสมมุติทั้งหมดนะ เป็นแบบว่าพวกบ้าร้อยแปดไง พวกบ้าตื่นบ้าไง คนตื่นบ้ามันก็ต้องติดไปในบ้าใช่ไหม? แล้วเราขึ้นมานี่เหมือนกับคนติดในโคลนในตมไง แล้วบุรุษคนหนึ่งขึ้นจากโคลนตมนั้นแล้ว อาบน้ำสะอาดแล้วจะลงไปในโคลนตมนั้นไหม? สึกไปก็ลงไปมั่วในโคลนตมนั้นไง

เราเอาคำนี้มาพูดบ่อยเลย กับเพื่อนๆ เวลาเพื่อนมา เราบอกเลย “พวกเอ็งเปรียบเหมือนอยู่ในสระน้ำ” ดูสระน้ำเวลาว่ายน้ำแข่งกันสิ โอ๋ย.. เหนื่อยมากนะ ต้องคอยประคองตัวตลอดเวลาเลย แต่ข้าอยู่บนขอบสระ ข้าดูพวกเอ็งเล่นกัน ข้าดูพวกเอ็งว่ายน้ำกัน แล้วข้าคอยบอกไง เราขึ้นมาอยู่บนขอบสระ เห็นไหม ขอบสระมันมีที่ยืนใช่ไหม? แต่ในน้ำนี่ ยืนใต้สระก็จมน้ำตาย ต้องคอยว่ายน้ำไว้ตลอด ต้องคงน้ำไว้ตลอดเพื่อประคองตัวไว้ไง

นี่พอถ้าจิตมันผ่านมันจะเห็นสภาพแบบนั้น แล้วใครมันจะลงไปคลุกคลีอย่างนั้น จะบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ว่าไม่ดี เป็นสิ่งที่เลวทรามหมด ไม่ใช่ เพราะอะไร? เพราะเป็นมนุษย์สมบัติ มนุษย์สมบัติ คนเกิดมาแล้วต้องมีปัจจัย ๔ ต้องมีเครื่องอยู่อาศัยไง นี่มันเป็นทุกข์อันหนึ่ง ทุกข์ด้วยความเสมอกันด้วยธรรม ทุกคนเกิดมามีปากและท้อง ต้องหาเจือจานปากและท้อง เป็นทุกข์ด้วยความเสมอภาค

นี่คำว่า “ญาติกันโดยธรรม” ญาติกันโดยธรรมคือว่าคนเกิดมามีปากและมีท้อง ต้องกิน ต้องใช้เหมือนกันทั้งหมด เหมือนกันทั้งหมดเลย นี่เขาว่าญาติกันโดยธรรมไง นี่ความเสมอกันเกิดเป็นมนุษย์สมบัติ ทีนี้มนุษย์สมบัติมันต้องหากินอย่างนั้นมา แต่ไอ้ที่ว่ามันทุกข์เพราะความยึดมั่นถือมั่น ทุกข์เพราะกิเลสนั้นอีกอย่างหนึ่ง

ทุกข์ในการยึดมั่นถือมั่นมันต่างกัน ทุกข์มากทุกข์น้อยต่างกัน แต่ทุกข์ด้วยความเสมอภาค ความเป็นธรรมปากและท้องนี่เสมอกัน ฉะนั้น ไอ้ที่ว่าการที่เขาลุยโคลนลุยตม ไม่ดี ไม่ถูก เห็นไหม เราสึกไปจะไปลุยโคลนลุยตมนี่ไม่ถูก

ไม่ใช่! ไม่ใช่ไม่ถูก มันเป็นความเป็นอยู่ของมนุษย์สมบัติ สถานภาพของมนุษย์ แต่ผู้ที่บวชแล้ว ผู้ที่บวชเข้ามาในศาสนา พรหมจรรย์ เห็นไหม ชีวิตพรหมจรรย์หาเลี้ยงชีพด้วยลำแข้งไง การเดินบิณฑบาตหาเลี้ยงชีพด้วยลำแข้ง การงานคือการเลี้ยงชีพด้วยลำแข้งนะ เลี้ยงชีพปัจจัย ๔ ปากและท้อง แล้วก็เลี้ยงชีพเลี้ยงใจไง เลี้ยงอารมณ์ไง มัคคะอริยสัจจัง มรรคข้างนอกไง

การประกอบอาชีพชอบ เห็นไหม เอ็งประกอบอาชีพอะไรกัน ถูกหรือผิด? อาชีพฆ่าสัตว์ อาชีพค้าเครื่องฆ่าสัตว์ อาชีพที่ว่าเป็นบริสุทธิ์ นั่นอาชีพของโลก สมมุติโลก แต่อาชีพของพรหมจรรย์สิ วันนี้คิดถึงเรื่องอริยมรรค อู้ฮู.. เลี้ยงชีพชอบ วันนี้คิดถึงพระจะสร้างวัด จะสร้างโบสถ์ ๕๐๐ ชั้น โอ้โฮ.. วันนี้เลี้ยงชีพ เพราะชีพอันนี้เลี้ยงวิธีผิดไง เลี้ยงชีพผิดแบบธรรมดานะ

ถ้าคิดทางโลกไปเลย คิดจะซื้อรถยนต์ ๕๐ คัน จะซื้อ ๑๐๐ คัน อันนั้นเลี้ยงชีพด้วยยาพิษ เลี้ยงชีพผิด เห็นไหม บอกว่าการก่อสร้างเลี้ยงชีพผิดตรงไหน? ผิดที่บอกพระพุทธเจ้าสอนให้พระพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรมไง เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจตั้งแต่วันบอก

“งานนี้เป็นงานของเธอนะ เธอต้องทำงานนี้นะ”

ไอ้งานก่องานสร้างนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ที่อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนา ผู้ที่อุปถัมภ์ค้ำจุนศาสนาเขาจะเป็นผู้หาปัจจัย ๔ มาให้ภิกษุ เพื่อภิกษุจะได้ดำเนินการในการพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม การพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม เห็นไหม พิจารณากายนอก การพิจารณาให้มันสลดไง ให้มันสลดเข้ามาเป็นสมาธิ

การทำพิจารณากายนอกเข้ามาจิตนี้เป็นสมาธิ สมาธิต้องรู้รสของสมาธิ ถ้าสมาธิไม่รู้สมาธิ สมาธิไม่มีสติตัวในนะ สติระลึกรู้อยู่ ความระลึกรู้อยู่ที่ว่าสมาธินี้เป็นสมาธิ สมาธินี้ไม่ใช่ผลไง สมาธินี่ไม่ใช่ผล มันเป็นผลของสมาธิ แต่ไม่ใช่ผลของการสมุจเฉทปหาน ไม่ใช่ผลของการชำระกิเลสไง

สมาธิ เห็นไหม พิจารณากายนอกให้มันสงบเข้ามา สงบเข้ามา สมาธิไม่รู้ว่าสมาธิ สมาธิมันจะเอาสมาธิที่เป็นผลไง เอาความสงบของใจนี้เป็นผล พอเอาความสงบของใจนี้เป็นผลมันไม่ทำงานต่อไป มันไม่ยกขึ้นวิปัสสนา นี่ว่าสมาธิไม่รู้สมาธิ สมาธินี้ไม่รู้สึกตัวสมาธิไง สติในไม่มี เพราะเวลาตัวเองเข้าไปเสพสมาธิแล้ว มันกินข้าวไปแล้วมันอิ่มไง พอกินข้าวอิ่มแล้วก็จะนอน นอนไม่ทำงานใช่ไหม? แต่พระพุทธเจ้าบอกว่ากินข้าวอิ่มแล้ว สมาธิต้องรู้สมาธิ เพราะว่าสมาธิต้องยกขึ้นวิปัสสนา

การยกขึ้นวิปัสสนา เหมือนกับเราทำงานมา เราทำงานมา ทุกคนทำงานมา สิ้นเดือนห้ามเบิกเงินเดือน เพราะอะไร? เพราะทำงานมาก็พอแล้ว ทำงานคือสมาธิ แล้วได้ผลของงานพอแล้ว แต่ทำไมไปเอาเงินล่ะ? เราสร้างโรงงานมา เราทำสินค้าออกมามากมายเลย แล้วสินค้านั้นค้างสต็อกเต็มไปหมดเลย

การทำโรงงาน ทำสินค้าออกมานั้น นั่นล่ะเป็นสมาธิ แล้วสินค้าค้างเต็มสต็อกเลย พอเต็มสต็อกนั้นแล้ว มันก็ทำให้ต้นทุนนั้นสูงขึ้น โรงงานนั้นจะพังไปเพราะไม่มีเงินทุนหมุนเวียน สมาธิ ลองเป็นสมาธิอยู่แล้ว เข้าใจว่าสมาธินี้เป็นผลงานนะ สมาธินี้เป็นนิพพาน สมาธินี้เป็นผล เดี๋ยวโรงงานนั้นจะเจ๊ง เพราะมันจะค้างสต็อกไปเรื่อยๆ ค้างสต็อกไปเรื่อยๆ พอมันเสื่อมไปนี่เจ๊ง

แต่พอเราทำสมาธิพิจารณาออกมา พอจิตมันสงบแล้ว นี่สินค้ามีแล้ว พอสินค้ามีเราต้องออกหาตลาด เราต้องมีการออกหาตลาดเพื่อระบายสินค้านั้นออกไป อันนั้นคือยกขึ้นวิปัสสนาไง เห็นไหม สมาธิที่เป็นผลของสมาธิ แต่ไม่ใช่ผลของปัญญา การจะก้าวเดินทางปัญญาต้องออกหาตลาด ออกหาตลาดนั้นเป็นงานอีกช่วงหนึ่ง ไม่ใช่งานการก่อสร้างโรงงานแล้ว การหาตลาด การจำหน่ายสินค้าออกไป

นี่เวลาปัญญาเดินออกไปแล้วปัญญาก็ยังหลอกอีก ปัญญายังหลอก เพราะว่าในปัญญานั้นมีกิเลสอยู่ เพราะการต่อสู้ ถ้าสมาธิพอปัญญานี้เป็นปัญญา ถ้าสมาธิไม่พอปัญญานี้เป็นสังขาร เพราะกิเลสมันอยู่ในใจ อยู่ในต้นขั้วนั้น แม้แต่สมาธิสงบลง กิเลสมันยุบยอบตัวลงเฉยๆ มันไม่ได้ขาดไป มันจะต่อสู้ตลอดเวลา ฉะนั้น มันจะยุแยงให้การเสื่อมหรือให้การแปรสภาพนี้ตลอด แม้แต่ก้าวเดินทางปัญญา ออกไปพิจารณาไง ออกไปหาตลาด เราหาตลาด ทำสัญญาซื้อขายกัน ขายสินค้าไปแล้ว เขาไม่จ่ายตังค์ก็ยังต้องเจ๊ง

การวิปัสสนา การก้าวเดินทางปัญญาก็เหมือนกัน การพิจารณาบางทีมันจะหลอก ใช่แล้ว ตรงนี้เป็นอย่างนั้น ตรงนั้นเป็นอย่างนั้น อันนี้เพราะอะไร? เพราะว่ากิเลสมันมีอยู่แล้วใช่ไหม? แล้วกิเลสมันเอาอะไรเป็นเครื่องมือ กิเลสเอาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาจากครูบาอาจารย์ไง นี่ถึงว่า “ธรรมะด้นเดาไง” การคาดการหมายไง

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าไง “ต่อไปนี้ พระพุทธเจ้านิพพานแล้ว มรรค ผล จะหมดตั้งแต่เมื่อไหร่?”

“อานนท์ เธออย่าถามอย่างนั้น เราเคยบอกเธอแล้วไม่ใช่หรือ? ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

ผู้ใดปฏิบัติธรรม ไม่สมควรไง ไม่สมควรแก่ธรรม แต่เข้าใจว่าสมควร เพราะกิเลสมันจะแซงหน้าแซงหลัง การแซงหน้าแซงหลังมันจะไปเอามรรค ผล ของคนอื่นมาเป็นตัวอย่าง แล้วมันจะโอ้โลมไปไง มันปฏิโลมไป มันไม่เป็นปัจจุบันธรรม มันไม่สมุจเฉทไง มันต้องเป็นปัจจุบันของการพิจารณาตัวนั้นไง

นี่การก้าวเดินของปัญญา คือว่าแม้แต่การทำงานในสมาธิ มันง่ายกว่าในการเดินปัญญานะ เพราะสมาธินี่ อย่างไรก็แล้วแต่เหมือนกำปั้นทุบดิน ทำใจให้สงบ สงบเข้ามา มันถอนเข้ามา มันจะสงบไปเอง ถ้าเรามีสติพร้อม แล้วเราทำอยู่ในวงงานนั้น

ยาก! ถ้าพูดถึงว่ายากแสนยากพอสมควร แต่ทำได้ เพราะทำได้เหมือนกำปั้นทุบดินนี่ไง เป็นการบังคับ เป็นการไสกันเข้าไปเลย แต่ถ้าเป็นปัญญานี้มันเป็นการใคร่ครวญไง มันเป็นการต่อสู้ระหว่างกิเลสกับธรรมไง มันจะมีการพลิกแพลง มีการพลิกแพลงตลอด

แม้แต่การทำสัญญากันไปแล้ว วิปัสสนาไปแล้ว จนมันรวมลงครั้งหนึ่งแล้ว มันก็ยังหลอกได้เลย หลอกว่ามันไม่ขาดไง มันเอาความมั่นหมายที่เราจำมา เรายึดมานั้น มาเป็นเครื่องออกของกิเลสไง มาเป็นเชื้อ เป็นเหยื่อให้ออกทางนั้น พอออกทางนั้นปั๊บจิตมันจะรวมลงพอสมควร แล้วมันก็จะคิดว่าอันนี้เป็นผลอีกแหละ

แม้แต่การตลาดแล้ว ยกขึ้นวิปัสสนาแล้วนะ เดินทางปัญญาแล้วนะ เดินวิปัสสนาแล้ว วิปัสสนาแล้วมันก็ยังไม่เต็มที่ ฉะนั้น ในภาคปฏิบัติถึงบอกว่าต้องคราดต้องไถประจำไง เขาไถนา เห็นไหม เขาไถพรวนก่อนแล้วก็ไถคราด การไถคราดนี่ไถให้ดินมันพอสมควร ให้พร้อมควรแก่การงานไง ต้องคราดต้องไถจนกว่าดินมันจะเต็มที่ไง

นี้การใช้ปัญญาก็เหมือนกัน ต้องคราด ต้องไถ ต้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนมันจะเป็นปัจจัตตัง มันจะสมุจเฉทปหานไปโดยธรรมชาติของมัน อาจารย์มหาบัวบอกว่า

“แม้แต่นั่งต่อหน้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ถาม”

ถ้าถามคือความลังเลสงสัย ความลังเลสงสัย เห็นไหม เพราะมีความลังเลถึงต้องถามใช่ไหม? แต่ถ้าไม่ถาม ไม่ถามเลยเพราะมันเป็นปัจจัตตัง มันรู้จริงๆ แล้วมันจะเอาอะไรมาสึก มันรู้ตามความเป็นจริงทั้งหมด เห็นโทษทั้งหมด เห็นโทษแม้แต่เริ่มความคิดไง ถึงว่าสติเป็นอัตโนมัติไง ความเป็นอัตโนมัติ เริ่มคิดมันจะรู้แล้ว ยกเว้นไว้แต่คิดในเรื่องดีมันไม่มีโทษจะไป

ถ้าคิดเรื่องชั่วหรือคิดถึงเรื่องไม่ดีมันจะมีอารมณ์หวั่นไหวใช่ไหม? ถ้าอารมณ์หวั่นไหว ตัวนั้นแหละมันจะสะกิดสติมาพร้อมไง มโนสัญเจตนาหารไง ก่อนที่จิตมันจะเสวยอารมณ์ มันจะออกมาจากหัวใจ มันเป็นอัตโนมัติมาตลอด แล้วมันจะพลาดไปไหน? มันจะพลาดไปไหนถ้าจิตออกมาจากตรงนั้นไง มันถึงว่าความว่างนี้ไม่มีตัวตน ก่อนที่จะสร้างรูปขึ้นมาเป็นตัวตนไง ต้องสร้างรูปเป็นตัวตนมันถึงเป็นมโนเจตนา

สร้างรูปออกมานะ สร้างมาเป็นความคิดไง ความคิดไม่มี เหมือนคนที่ตายแล้วฟื้น คนที่ตายไปแล้วฟื้น มันเอาสภาพอันที่ไปเห็น ตอนที่ตายไปแล้วฟื้นเอามาต่อกันไม่ได้ ความว่างแท้ก็เหมือนกัน มันเป็นความว่างที่หลุดออกไปจากสมมุติทั้งหมด มันจะไปดึงกลับมาไม่ได้ แต่ไอ้คนที่ตายไปแล้วมันตายไป.. นี่เปรียบเทียบนะ เพราะตายไปมันอยู่คนละภพใช่ไหม? มันดึงเราไม่ได้

ความว่างแท้กับไอ้สมมุติ คือว่าบัญญัติกับสมมุติมันต่อกันไม่ติดหรอก มันต่อกันไม่ติด แต่ก็รู้อยู่ว่าอันนั้นมันวิมุตติไง อันนั้นเป็นความว่างแท้ไง ก็เลยชักกลับมาไง ถึงบอกว่ามันจะพร้อมขึ้นมา พร้อมกับการเคลื่อนไหว ถึงว่าความสึก เอาอะไรมาสึก? คุยกันนี่สึกอะไรมา? สติพร้อมขนาดนั้น เพียงแต่ว่าการก้าวเดินทางปัญญาไง การก้าวเดินทางปัญญา ปัญญาต้องก้าวเดินให้ได้จริง ต้องให้ได้แท้ แล้วมันจะเป็นประโยชน์

แต่ถ้าไม่เป็นปัญญาก้าวเดิน ก้าวเดินโดยปัญญานะ ให้เป็นสมาธิอย่างที่ว่ากำปั้นทุบดิน สมาธิเหมือนการก่อสร้างโรงงาน แล้วผลิตสินค้าค้างสต็อกไว้เต็มไปหมดเลย การค้างสต็อกนี่ อู้ฮู.. รถเบนซ์นะ โรงงานประกอบรถเบนซ์ รถเบนซ์นี่เป็นพันๆ หมื่นๆ คันนะ ใครจะไม่มีความสุข อู้ฮู.. ฉันรวยมาก ฉันมีรถเบนซ์มาก แต่ตัวรถเบนซ์นั้นน่ะเราไม่ได้ขายออกไป เราไม่ทำเงินเข้ามานะ มันจะฉุดให้โรงงานนั้นพังไปหมดเลย

จิตนี้จะสงบขนาดไหนก็แล้วแต่ ต้องเสื่อมไปเป็นธรรมดา สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพ ธรรมทั้งหลายต้องเป็นอนัตตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพทั้งหมด เว้นไว้แต่เอโก ธัมโม วิมุตติธรรม หรือว่าการก้าวเดินทางปัญญา ก้าวเดินเข้าไปแล้วไม่ถอยหลังไง ไม่ถอยหลังเด็ดขาด ขึ้นสูงอย่างเดียว แปรสภาพแต่สูงๆๆ แต่ไม่ต่ำ เพราะมีสถานีอวกาศรองรับ ความว่างอันนั้นไม่ตกมาถึงแรงดึงดูดของกิเลส เพราะกิเลสโดนตัดออกไปเป็นฐานๆ ไปแล้ว

ฉะนั้น ว่าต้องยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในกาย เวทนา จิต ธรรม ความเศร้าหมองของจิต ความขัดข้องของจิต จิตที่มันอยู่ในหัวอกนี่มันจะขัดข้อง อะไรกระทบมันแล้วมันจะรุนแรงมาก แต่เราไม่ยอมจับมันดูไง เราไปว่าอันนี้เป็นเราไง เราไปว่าอันนี้เป็นสภาวะเราไง คือว่าเรากับกิเลสตัวนี้มันประสานกันจนมองไม่เห็น จนจับต้องไม่ได้

การจับต้องได้ การขุดคุ้ยหากิเลส การจับต้อง ตำรวจจับจำเลยได้ จะมีความดีความชอบมหาศาลเลย จิตจับกิเลสได้ ความเห็นภายในธรรมจับกิเลสได้ มันจะมีความรู้สึกว่า โอ้โฮ.. ตื่นเต้นมาก แล้วยกขึ้นวิปัสสนายิ่งสุขมากๆ มันจะเป็นผลอย่างมหาศาล ผลที่โลกนี้ไม่มี โลกนี้ไม่มี ความเห็นของโลก

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

รสของความเป็นไปในโลก ไม่มีกับการประสบธรรมในหัวใจ ใจเสพธรรมไม่มี ธรรมอันนี้รสชาติเหนือโลกทั้งหมด เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง เหนือทั้งหมด ถึงว่า “ธรรมเหนือโลก” เห็นไหม “รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง” (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)