เทศน์เช้า

ตาบอดคลําช้าง

๒๓ ม.ค. ๒๕๔๒

 

ตาบอดคลำช้าง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องของศาสนาละเอียดอ่อนมาก ความละเอียดของศาสนานี่ พระพุทธเจ้าสอนถึงปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ คำว่าปฏิเวธะหมายถึงผลของศาสนา มันเป็นศาสนาเดียวในโลกนี้นะที่ว่ามีมรรค มรรคเป็นเครื่องดำเนิน มัคคะคือเหตุไง คือการสร้างเหตุ

การสร้างเหตุนี้สำคัญมากเลย ต้องรักษาการสร้างเหตุไว้ แต่ตอนนี้ปฏิเวธนี่เป็นผลไง เราจะเอาผลมาพูดกัน เราเลยจะวิจารณ์กันเรื่องนี้ เรื่องของผลไง ว่าเป็นอัตตาหรือเป็นอนัตตานี่วิจารณ์เรื่องของผล มันไม่ใช่หรอก เป็นอัตตาหรือไม่เป็นอัตตาก็แล้วแต่ไว้ตรงนั้นไง พระพุทธเจ้าสอนแต่เหตุไง คือว่าเราจะพยากรณ์สิ่งที่เป็นประโยชน์ ถามแล้วไม่เป็นประโยชน์ไม่พยากรณ์

ที่นี้มันไม่เป็นประโยชน์หมายถึงว่า เป็นประโยชน์มหาศาลเลยถ้าคนไม่ถึงตรงนั้น แต่คำว่าไม่เป็นประโยชน์คือว่าไม่เอาผลมาพูดก่อนไง แต่นี้ศาสนามันยุ่งเหยิงเพราะว่าเอาผลของศาสนานั้นมาพูด แต่ไม่ได้พูดถึงเหตุของศาสนา พูดถึงผลของศาสนามันก็เลยงงกันไง พูดออกมา ไม่พูดเข้าไป

พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตร พระสารีบุตรเป็นพระอรหันต์นะ พระพุทธเจ้าถามพระสารีบุตรว่า “สารีบุตร เธอเอาอะไรเป็นเครื่องอยู่” ฟังสิ พระสารีบุตรบอกว่า “เอาความว่างเป็นเครื่องอยู่” ใจเป็นความว่าง เอาความว่างเป็นเครื่องอยู่ ฉะนั้นว่าถ้าไม่เอาอันนี้เป็นเครื่องอยู่แล้วใจอยู่ที่ไหนล่ะ ถ้าเป็นพระอรหันต์นี่จิตอยู่ที่ไหน ความสุขนั้นอยู่ที่ไหน ทำไมต้องเอาเป็นเครื่องอยู่เห็นไหม ถ้าไม่เอาเป็นเครื่องอยู่นี่มันก็อยู่ตรงนิพพานนั่นล่ะ แต่นี่เราเอาผลมาพูด คนที่ไม่รู้มาพูดไง

อย่างเช่น โยมเงินเดือนคนละสามหมื่นนี่ เขาบอกคนนี้เงินเดือนสามหมื่นแล้วเราก็รู้ว่าคนนี้เงินเดือนสามหมื่น แต่ไม่ได้บอกว่ากว่าเขาจะมีเงินเดือนสามหมื่นนี่ เขารับราชการเขาต้องไต่เต้ามาขนาดไหนถึงจะได้เงินเดือนสามหมื่น พอบอกคนนี้เงินเดือนสามหมื่น ทุกคนก็จะเอาเงินเดือนสามหมื่น พอสมัครงานก็จะเอาสามหมื่น ไปสมัครจนตายไม่มีที่ไหนเขารับหรอก เพราะมันยังไม่ได้สตาร์ทขึ้นมาตรงไหนเลย

นี่ก็เหมือนกัน เห็นไหม “สารีบุตร เธอเอาอะไรเป็นเครื่องอยู่” เอาความว่างเป็นเครื่องอยู่ ความว่างอันนั้นนะ ความว่างนี่ยังไม่ใช่เลยนี่ เพราะความว่างคู่กับความไม่ว่าง แต่อาศัยสมมุตินี้เป็นเครื่องอยู่ไง เอาอารมณ์นี้เป็นเครื่องอยู่ไว้ก่อน แต่ใจมันเป็นนิพพาน อันนั้นเป็นผลของศาสนา เป็นปฏิเวธ

แต่ที่คุยที่เถียงกันอยู่นี่เถียงอะไรล่ะ มันดูที่เจตนาสิ ทำไมเอาผลมาพูด แล้วเอาผลมาพูดๆ แล้วออกมาที่ปริยัติไง เป็นปฏิเวธ ปฏิเวธนี่เป็นผลที่ผู้รู้เขามองตาเขาก็รู้กัน ไม่ต้องเถียงกันด้วย แต่นี่เถียงกัน เอามาวิเคราะห์วิจัยกันว่ามันผิดยังไง ผิด อ้าปากก็ผิด อ้าปากก็ผิดแล้วเพราะมันเป็นผล ถ้ามันเป็นสิ่งที่อธิบายได้พระพุทธเจ้าต้องอธิบายแล้ว อย่างนี้ อย่างนั้นๆ นะ พระพุทธเจ้าบอกว่าถึงตรงนั้นแล้วรู้ไง มีเหมือนไม่มี ไม่มีเหมือนมีไง เพราะมันพูดไม่ได้ เข้าใจ

ฟังนะ ถ้าขึ้นมาพูดนี่ มันเหมือนกับตั้งประเด็นขึ้นมาเถียงกัน ตั้งประเด็นคืออัตตาไง คือมีสิ่งที่ว่าจะตั้งเป็นโจทย์ แล้วจะได้เอามาวิเคราะห์วิจัยกันไง แต่ถ้ารู้เท่า จิตมันรับรู้นี่มองตาก็รู้เห็นไหม อันนั้นเป็นผลอันนั้น อันนั้นเป็นผู้ที่รู้ เป็นเรื่องของความเป็นจริง แต่ที่ทำอยู่นี่ผิด ผิดเพราะอะไร เจตนาก็ผิด มัคคะอริยสัจจัง มรรคนี้เป็นองค์ ๘ เห็นไหม นี้เป็นเอกามรรค จะทำอะไรก็แล้วแต่จะพูดว่าเหนือพระพุทธเจ้าทั้งนั้นล่ะ เป็นเอกามรรค มรรคหนึ่งเดียวไง

ถ้ามรรคมันเป็นดำริชอบ ความเห็นชอบ มันเป็นปัญญาหมุนไปใช่ไหม นี่เป็นเอกามรรค นี่กล่าวตู่พุทธพจน์ทั้งนั้นเลย กล่าวตู่พุทธพจน์นะ บิดเบือนพุทธพจน์ บิดเบือนทุกอย่าง นี่ถึงว่าเจตนาตัวนี้สำคัญเลย เจตนาอะไรล่ะ เจตนามาที่ผลประโยชน์ไง

ไอ้เรื่องของทานน่ะมันเป็นเรื่องของทาน เรื่องของศาสนาเห็นไหม เพราะศาสนานี้มันละเอียดมาก แต่ตรงที่ละเอียดนี่มันต้องสร้างเหตุขึ้นไปสิ เราควรรักษาเหตุเห็นไหม วิธีก้าวเดินเข้าไปหาศาสนาไง เปลี่ยนวุฒิภาวะของใจขึ้นไปเห็นไหม วุฒิภาวะของใจอย่างหยาบๆ นี้ อย่างเช่นเมื่อก่อนนี้เราเคยทำทาน เราก็ไม่อยากจะทำ พอเราเห็นผลของมัน ผลของมันเห็นไหมที่ว่าเมื่อกี้นี้ศีล ๕ เห็นไหม ให้ชีวิต ให้ทุกอย่างเลย ศีล ๕ ให้ทาน ให้เขาๆ พอให้เขาจิตใจมันพัฒนาขึ้น พอพัฒนาขึ้น พอรู้ว่าผลมันเกิดนี่ เราดีขึ้นๆ สิ่งนี้ถ้าไม่มีศาสนา ก่อนนั้นก็มีอยู่แล้วไง

จริยธรรมอย่างนี้มันเป็นพื้นฐานของโลก พอทานขึ้นมาก็มีศีล เห็นไหม ทาน ศีล แล้วมีภาวนา นี้ภาวนาขึ้นมา ภาวนาต้องให้เข้าหลักอีกแหละ ทุกคนมานั่งอยู่นี่ต้องรับเงินเดือนเหมือนกันหรือ ไม่มีทาง ใครสมัครงานตำแน่งหน้าที่ราชการ ราชการรับแล้วถึงจะเริ่มมีเงินเดือน

การจะเริ่มภาวนาก็ต้องเริ่มต้นจับใจตนเองให้ได้อยู่ก่อน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนต้องทำความสงบของใจให้ได้ก่อน จนเห็นว่าตนอยู่ที่ไหน พื้นฐานอยู่ที่ไหน พื้นที่หรือที่ยืนของใจอยู่ตรงไหน แล้วพื้นที่ยืนของใจนั้นถึงขึ้นมาพิจารณาไง ถึงจะเริ่มพิจารณา อันนี้ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เป็นอุปาทานหมู่ไปเลย ยืนอยู่ไม่ได้ ใครยืนอยู่ด้วยตัวมันเองคนนั้นมันจะหัวแข็ง คนนั้นมันจะมีหลักใจ คนนั้นมันจะพูดคัดค้านไง

ล้มพื้นที่ในหัวใจให้หมด รวมไว้อยู่ที่ต้นข้าต้นทำ เกาะเกี่ยวผู้อื่นไม่ใช่อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เห็นไหม ไม่ใช่ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นนักปฏิบัติทำไมต้องไปหวังพึ่งคนอื่น คบพระพุทธเจ้าประเสริฐที่สุด พระพุทธเจ้าเป็นคนชี้นำทางไง เพื่อนมิตรยอดในโลกนี้คือพระพุทธเจ้าเท่านั้น แล้วก็ครูบาอาจารย์ที่ซื่อสัตย์ ครูบาอาจารย์ที่หวังผลให้ลูกศิษย์พัฒนาใจขึ้นมา อุบายการสั่งสอนคืออุบายให้คนนั้นเป็นคนดี ไม่ใช่อุบายเลี้ยงกระเป๋า อุบายหวังว่าจะเอาเงินของเขามาไง

คนนี้ให้เงิน ๕ ล้าน คนนี้ให้เงิน ๑๐ ล้าน กับคนที่ภาวนาเป็นนี่ อันไหนมีคุณค่ากว่ากัน คนให้เงิน ๕ ล้าน ๑๐ ล้านกับคนภานาเป็น ใครมีคุณค่า คนให้เงิน ๕ ล้าน ๑๐ ล้าน คนนั้นก็เอาเงินไว้สร้างถาวรวัตถุไว้ในศาสนา คนที่ภาวนาเป็นนี่หัวใจเขาจะเป็นธรรม หัวใจเขามีหลัก เขาสามารถจะเป็นหมอสอนคนอื่นต่อไปได้ไง เขาจะจรรโลงศาสนา ตัวศาสนาคือตัวศาสธรรม คือคำสั่งสอน คือหลักการในการประพฤติปฏิบัติตัวนั้น ผู้ที่ภาวนาเป็นมันมีคุณค่ามากกว่าการให้เงิน ๕ ล้าน ๑๐ ล้านอีกมหาศาลเลย ทำไมไม่พูดตรงนี้ ทำไมไม่เห็นแก่ตรงนี้ว่าให้มาภาวนาเข้าข้อเท็จจริงแล้วยืนได้จริง ถึงบอกว่าถ้าจิตนั้นยืนได้ด้วยอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ

หนึ่ง มันถึงว่าการพูดๆ ออกมาอย่างนี้

สอง คือว่าผู้ที่ไม่รู้ไง เอาปริยัติมาเถียงกันนี่ ไอ้ว่าเอ็งไม่ได้ปฏิบัติ ข้าปฏิบัติ ข้าต้องปฏิบัติข้าถึงพูดได้ เอ็งไม่ปฏิบัติพูดไม่ได้

พูดได้ทุกคน ผู้ที่ปฏิบัติยิ่งพูดได้ใหญ่เลย ผู้ที่ปริยัติก็พูดได้ เพราะว่าในเมื่อปฏิบัติแล้วมันผิดจากปริยัติได้อย่างไร ในเมื่อเรารับราชการ ตำแหน่งเขารับเข้ามาแล้วเราจะทำงานตามระบบราชการหรือว่าจะทำงานตามใจตัวเอง เอ้า ฟังสิ เราจะทำงานตามใจตนเอง จะไปเที่ยงก็ได้ จะไปเที่ยงคืน เที่ยงวันได้ไหม ไม่ได้ ตามระบบราชการแล้วก็ต้องทำตามระบบราชการ ไปเข้าตามเวลาราชการ พัก หยุด จะลาหรือจะหยุดต้องตามแต่ข้อกฎหมายเขาบังคับไว้

การปฏิบัติมันก็เหมือนกัน ในเมื่อปฏิบัติเข้าไปนี่มันจะมาขัดกับหลักปริยัติตรงนี้ได้อย่างไร ที่เขาเถียงกันผิดเถียงกันถูกอยู่นี่ เถียงกันว่าผิดหรือถูกนี่มันเป็นปริยัติ มันเป็นหนังสือ เป็นทฤษฎี เป็นข้อมูลข่าวสารที่พระพุทธเจ้าวางไว้ นี่เราใช้ข้อมูลข่าวสารนั้นอย่างไร แล้วทำอย่างไรให้เข้าไปถึงตรงนั้น นี่คือวิธีปฏิบัติ ในเมื่อปฏิบัติไปแล้วมันจะมาขัดกับปริยัติได้อย่างไร

แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้วเอ็งว่าข้าไม่ได้ ข้าว่า... นั่นคือบ้าทั้งคู่ เพราะการประพฤติปฏิบัติ เริ่มต้นจากการทำงานก็ต้องเป็นเสมียนมาก่อนเป็นผู้บริหารเห็นไหม เป็นผู้กำหนดนโยบาย นี่เป็นสมาธิก่อน พยายามทำใจให้เป็นสมาธิ มีหลัก พอมีหลักก็จะยกขึ้นวิปัสสนา ถ้าไม่ยกขึ้นมันก็ผิด ถ้ามันผิดก็ต้องย้อนกลับมา เวลาพูดก็ต้องเอาปริยัตินี่มาเทียบ ผิดตรงนี้เข้าหลักข้อนั้นๆ ถ้าสูงขึ้นไปมันก็ผิดไปอีก วิปัสสนาไปแล้วเห็นไหม ทำงานมาก ทำงานจนไม่มีเวลาพักเลย ได้โอทีมาก โอ๋ ต้องให้มาก จนงานยุ่งหมดแล้วไม่มีเวลาพักผ่อน

นี่คือวิปัสสนาเวลามันหมุนออกไป ปัญญามันหมุนออกไป มันหมุนออกไปไม่ได้ก็ต้องกลับมาพักผ่อนก่อน ต้องมีเวลาพัก มีให้พักร้อน ให้มันวาง นี่มันก็เข้าหลักปริยัติ เห็นไหม

ทีนี้เถียงกันตอนไหน คือว่าถ้าผู้ปฏิบัติเป็นตามความเป็นจริงมันจะไม่ขัดกับหลักปริยัติเลย ขัดกันไม่ได้ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มันจะขัดไม่ได้เลย จนไปถึงที่สุด เว้นไว้แต่พ่อแม่นี่สอนลูก พ่อแม่ผ่านประสบการณ์มาก่อน ก็บอกว่าลูกก็ทำอย่างนั้น ลูกก็ทำอย่างนี้ ไอ้ลูกก็เบื่อแม่เหลือเกิน แม่นี่ปากมาก พ่อแม่นี่เตือนบ่อยเลย เพราะอะไร นี่ปฏิบัติมันเป็นอย่างนี้ คือว่าผู้ที่ผ่านไปแล้วมันจะรู้ว่าเหตุไง ถ้าเข้าตรงนี้นะ เดี๋ยวจะไปติดตรงนั้น ติดตรงนั้นเดี๋ยวจะไปนอนจมอยู่ตรงนั้น นี่ถึงว่าถ้าอย่างนี้มาแล้วต้องออกมาทางนี้ ต้องคุมอย่างนี้ ไปอย่างนั้น แต่เด็กมันไม่ยอมฟังหรอก ถ้ามันขัดกันมันจะขัดกันอย่างนี้

แต่ผู้ที่สอนเป็นเขาจะไม่ขัดอย่างนั้น ก็ปล่อยไปไง อันนี้ต้องปล่อยไป ต้องให้รู้เอง วิธีการจะเพาะให้คนนี้เข้าใจว่าจะเป็นอย่างไร ถึงจะไม่เถียงกันบ้าบอคอแตกอย่างนี้หรอก อันนี้เถียงกันบ้าบอคอแตกเพราะมันตาบอดกับตาบอดไง คนตาบอดกับคนตาบอดเอาช้างมาตั้งแล้วก็เถียงกัน ตาบอดคลำช้างไง ทั้งๆ ที่เรื่องนี้เป็นผลของศาสนา ศาสนานี้เยี่ยม เยี่ยมจริงๆ เห็นเถียงกันอะไรกันนี่ มันรู้ว่าผิดมาแต่ไหนแต่ไรกันแล้ว ผู้ปฏิบัติเขาก็เห็นกันอยู่ แต่มันพูดไม่ได้ เพราะพูดไปก็อย่างนั้นแหละ พูดไปก็ว่าพระขัดข้องกัน พระอะไรกัน

ผู้รู้จริงนี่พอรู้จริงขึ้นไป อย่างเช่น อาจารย์มหาบัวบอก อาจารย์มหาบัวอยู่กับหลวงปู่มั่นมา ๘ ปี ไม่เคยได้ยินคำพูดแม้แต่คำเดียวเลยว่าท่านมีผลอะไร ไม่เคยพูด หลวงปู่มั่นไม่เคยบอกเลยว่าฉันได้ขั้นนั้นๆ ไม่เคยพูดแม้แต่คำเดียว แต่การแสดงธรรมของท่าน การพูดมาด้วยเหตุด้วยผลอันนี้ ลูกศิษย์ทุกคนที่อยู่ที่นั่นส่วนใหญ่นี่เชื่อ แต่ไม่เชื่อก็มีบ้าง จะเชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าหลวงปู่มั่นเป็นพระอรหันต์ แต่คำหนึ่งท่านก็ไม่เคยพูดออกมาเลย ไม่เคยพูด

นี่เห็นไหม นี่คือจะบอกว่าผู้ที่หวังผลในเรื่องของศาสนาไง หวังผลให้ลูกศิษย์มั่นใจในตัวท่านไง ไม่หวังกระเป๋าไง ไม่ล้วงกระเป๋าใคร ถึงไม่เอาเรื่องนี้มาโฆษณาไง สิ่งที่มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีใครจะสามารถวินิจฉัยได้ว่าถูกหรือผิด ผู้ที่จะวินิจฉัยว่าถูกหรือผิดคือผู้ที่ภูมิเท่ากัน ภูมิสูงกว่ากัน ถึงวินิจฉัยอย่างนี้ได้ไง ทีนี้ใครออกมาวินิจฉัยตรงนี้ก็ถือว่าคนนั้นมีภูมิ คนนั้นอวดดี มันก็จับอวดอุตริไปอีกล่ะ

ถึงว่าพูดไม่ได้ บางอย่างพูดไม่ได้คือพูดไม่ได้ แต่ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นี้มันสลดใจไง สลดใจที่ว่ามันเป็นสิ่งที่ว่าสูงสุด เป็นปฏิเวธ แล้วก็จะบอกว่าเป็นอจินไตยไง เถียงไม่ได้ ยกไว้ให้พระพุทธเจ้า ไม่เป็นอจินไตย! นิพพานไม่เป็นอจินไตย นิพพานทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าเป็นสิ่งที่เป็นอจินไตยคือสิ่งที่เข้าถึงไม่ได้ อจินไตยนี้พระพุทธเจ้าบอกเข้าไม่ได้ เรื่องวิสัยพระพุทธเจ้า คือปัญญาพระพุทธเจ้า ไม่มีใครสามารถเข้าไปถึง

แล้วก็เรื่องกรรม กรรมนี่มันซับซ้อนมาก จนแบบว่าเรียงลำดับไม่ได้ เป็นอจินไตยไง ถ้าเอามาเรียงลำดับได้คือไม่เป็นอจินไตย แต่กรรมมันซับซ้อนจนเรียงลำดับกันไม่ได้ บางทีไม่รู้ว่ามันมาจากตรงไหนหรอก แต่เป็นกรรม เห็นไหม นี่อจินไตย เรื่องของฌาน เรื่องของความสงบ มันละเอียดอ่อน มันซับซ้อนมาก นี่อจินไตย เรื่องโลก โลกนี่มันไม่แน่นอน มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อจินไตยมี ๔ อย่างนี้

นี้ความไม่เป็นอจินไตย นิพพานเป็นของที่ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าเป็นอจินไตย พระสารีบุตรกับพระอรหันต์ทั่วไปจะเข้าไม่ถึงนิพพานเด็ดขาด เพราะเป็นอจินไตย

ไม่เป็นอจินไตย เป็นสิ่งที่สื่อกันได้ เป็นสิ่งที่พูดกันรู้เรื่อง แต่ทำไมเบี่ยงออกว่าเป็นอจินไตย เพื่อจะไม่ให้ซักเข้าไปไง เพื่อจะไม่ให้คนรู้จริงมายืนยันไงว่ามันผิด มันผิด ผิดทั้งหมด สิ่งที่พูดมาผิดทั้งหมดเพราะอ้าปากมาผิดทั้งหมดเลย

อนัตตา ความเป็นอนัตตานี้มันเป็นหลักของศาสนา เป็นสิ่งที่ถูกต้อง อนัตตานี้เป็นเหตุก้าวเดิน อนัตตานี่มรรค ๔ ผล ๔ อนัตตานี่ถูกต้อง แต่อัตตานี่ผิดหมดเลย เพราะอัตตามันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อัตตานี้ผิด แต่อนัตตานี้ถูก แต่ถูกในเหตุนะ แต่ไปถึงผลแล้วหลุดไปทั้งอัตตาและอนัตตา เพราะเอโก ธัมโม ธรรมอันเอก อกุปปธรรมกับกุปปธรรมคนละเรื่อง คนละเรื่องกันเลย แล้วเถียงกันด้วยเรื่องอะไร

แต่ที่เขาเถียงกันอยู่นี่ เราพูดถึงหลักของศาสนาไง จะพูดให้โยมฟังว่าทำไมมันเป็นอย่างนั้น ทำไมมันยุ่งเหยิงขนาดนั้น มันยุ่งเหยิงสิ ยุ่งเหยิงเพราะว่าคร่อมเลนมาตลอด ไม่เคยประพฤติตรงเลนเลย จะมาไปแย่งฉันปฏิบัตินะ เราจะมาพูดเรื่องปฏิบัติฉันก็ปริยัตินะ คร่อมเลนกันไปตลอด ไม่มีลูกผู้ชายเลย ไม่มีใครรักศาสนาจริง ที่ว่าพูดกันแบบเหตุและผลแล้วยอมรับตามความเป็นจริง อยู่เลนใครเลนมันแล้วคุยกัน แล้วรถมันจะไปกันถูกต้องไง คร่อมไปกัน ๒ เลนตลอดไปๆ

ไอ้เรื่องนั้นมันเรื่องของเขา อาจารย์มหาบัวสอนประจำนะ สรรพสิ่งอยู่ที่ใจเรา โลกจะเป็นอย่างไรให้มันเป็นไป แต่ถ้าเรารักษาใจเรา นี่เรื่องของศาสนาทำไมมันยุ่ง มันยุ่งเพราะอะไร เพราะคนมันไม่รู้ คนเอาเรื่องของผลมาพูดเป็นเหตุ เอาเหตุมาเถียงกัน คือว่าไม่มีเหตุและไม่มีผลทั้งสิ้นเลย ต่างตะแบงกันไป ต่างออกกันไปเพื่อจะเอาตัวรอด เอาตัวรอดแล้วว่าเป็นคนดีนะ

เป็นความเจตนา ข้างในหมายถึงว่าต้องให้คนเชื่อใช่ไหม ข้างในนี่เหมือนกับคนที่ไม่มีปัญญา เชื่อตามแต่ว่าศรัทธาไป แต่ข้างนอกเชื่อตามเหตุผล ถ้าให้ออกมาข้างนอก ข้างในมันต้องมีปัญหา ข้างนอกนี่เห็นไหม ข้างนอกเขาบอกว่า โลกุตตระกับโลกียะ โลกียะข้างในเชื่อ พอเชื่อแล้วต้องถูกต้อง ฉันทำถูกต้องหมด แต่ถ้าลองคืนไปนี่ ไอ้ข้างในต้อง เอ๊ะ ข้างในต้องเอ๊ะเลย คนนั้นคืนไปแล้ว พวกเราไม่ได้คืนเหรอ พวกเราหลงไหม เห็นไหม มันต้องระหว่างข้างนอกกับข้างใน ข้างในนี่ก็ต้องเชื่อตามกระแสไป แต่ข้างนอกน่ะมีเหตุผล นี่เขามีเหตุผลจะไปทวงเขาไม่ได้ ทำอย่างไร ก็เลยคาคอไง คาไปเลยสิ ทำอะไรไม่ได้ อย่างนี้แต่อยู่ในสถานะเดิมนี่ ให้ถูกด้วย ถ้าอย่างนั้นพอใจ ถ้าเปลี่ยนสถานะไม่ยอม ต้องอยู่สถานะนี้นะ แล้วถูกต้อง

อยู่วัดหนองแซง เป็นพระหลวงตาแล้วก็มาเผาเป็นพระธาตุ ตายแล้วมาเผาเป็นพระธาตุ ก็ไปรายงานอาจารย์มหาบัว บอกว่าหลวงตานี่เผาแล้วเป็นพระธาตุ ชื่ออะไรจำไม่ได้นะ ตอนนั้นเราอยู่บ้านตาดด้วย เป็นพระธาตุเลย พระอาจารย์มหาบัวบอกว่า ถ้าเป็นพระธาตุก็ต้องยอมรับกันว่าท่านเป็นพระอรหันต์ แล้วเราก็ถามพระที่นั่นว่า เวลาท่านอยู่เป็นอย่างไร วัดที่นั่นพอมีปัญหาเหมือนกัน เวลาพระมีปัญหากัน เวลาพระทะเลาะกันเหมือนกัน เอาฝาบาตรนี่โยนใส่กัน ข้ามหัวท่านไปข้ามหัวท่านมานะ ท่านไม่พูดสักคำ ท่านเฉย พระอรหันต์นะน่ะ ไม่ได้แสดงตัวเลย เห็นไหม นี่ของจริง

ก็ท่านพูดออกมานี่ใครจะยอมรับสถานะของท่าน ท่านเป็นพระหลวงตา ถ้าพูดออกมาใครจะยอมรับเห็นไหม ขนาดเขาทะเลาะกัน เขาเอาฝาบาตรโยนใส่กันจนข้ามหัวท่านไปข้ามหัวท่านมา แต่ท่านเป็นพระอรหันต์นะ นั่นคือหลักความจริงนะคือว่าท่านไม่เอาความสุข เอานิพพานในใจของท่านเอามาโฆษณาเพื่อจะให้คนยอมรับสถานะไง เพราะสถานะ ความคิด อารมณ์ มันเป็นสมมุติทั้งหมด มันแปรปรวน มันเป็นแบบว่าของไร้สาระ มันก็ว่าเป็นของเน่าของเสีย กับใจของท่านเป็นธรรมมันของประเสริฐ ทุกอย่างในโลก ของสมมุตินี่มันเป็นเหยื่อทั้งนั้นเลย เป็นมายา เป็นภาพ เป็นความหลอกหลอน แล้วใจอันนั้นที่เป็นความจริง ทำไมต้องเอาสิ่งนั้นมาเพื่อให้เขาเห็นว่าเราถูกต้อง เราดีงาม เท่านั้นเองแหละ ไม่พูดเลย

นี่เทียบกันสิ่งที่ทำอยู่นี่สิ เห็นไหม ไม่มีใดๆ เลยนะ สิ่งที่เป็นหลักของความเป็นจริง อะไรก็ได้ขอให้เป็นผลประโยชน์ ต่างกันไปคนละเรื่องเลย นี่ถึงบอกข้างนอกข้างในมันต่างกันไง แต่ข้างในเขาเชื่อกันหมด ข้างในเขาไปกันหมดเลย แต่ข้างนอกมันเป็นอย่างนี้ ทีนี้มันพูดไม่ได้สิ เวลาพูดก็จะพูดข้างนอกเข้ามา ก็บอกว่า เอ้า ถ้าใครมาจะให้คืน ถ้าให้คืนก็ปั่นป่วนเลย พอให้คืนน่ะคนกลั่นเลย เละ เสียเลย ข้างในก็เลยต้องเอากันบ้าง ก็เลยต้องคาไปอย่างนี้ ถึงบอกว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษ พูดแล้วไม่เป็นความจริง ไม่เป็นความจริง