เทศน์เช้า

วิธีเดินปัญญา ๑

๒๑ มิ.ย. ๒๕๔๒

 

วิธีเดินปัญญา ๑
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ในการประพฤติปฏิบัติ ทุกข์ เห็นไหม เราห่วงทุกข์ เรากลัวทุกข์ แล้วมันเป็นปัญญาทางโลกหมด ปรัชญานะ ปรัชญาหรือปัญญาทางโลก ปรัชญานี่พวกฟรอยด์ จิตวิเคราะห์นั่นน่ะ เขาเก่งมากเลย เขาพูดไปแล้วมันเป็นวิชาการ ฟังกันเข้าใจหมดเลย แล้วก็เอาไปเป็นจิตวิทยาด้วย จิตวิทยาต่างๆ อะไรก็แล้วแต่ การรักษานี่มันเป็นเรื่องของโลกทั้งหมดเลย

มันเป็นเรื่องของโลกนะ เราพูดกันเอามันไง ปรัชญานี้มันมากนะ พวกนักปรัชญากับนักปรัชญาคุยกันมันๆ มันลึกซึ้ง แต่ลึกซึ้งขนาดไหนก็แล้วแต่มันไม่สามารถชำระกิเลสได้ ไม่สามารถหรอก ฉะนั้น เราต้องคิดตามความเป็นจริง นี่เขาคิดแบบโลก เห็นไหม ฟังนะ ต้องแยกตรงนี้ให้ออกว่าสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา

ภาวนามยปัญญา ส่วนใหญ่ภาวนามยปัญญา เรารู้แต่ว่าเป็นภาวนามยปัญญา แต่อาการของภาวนามยปัญญายังไม่เคยเกิดกับใครเลย คนจะเกิดภาวนามยปัญญาโดยความเป็นจริง มันต้องรู้ว่ากายหลุดออกไป เห็นกายหลุดตามความเป็นจริง ภาวนามยปัญญานี้เป็นปัญญาที่ชำระกิเลส ภาวนามยปัญญาไง แต่ปัญญาที่เกิดขึ้นมันเป็นปัญญาที่ว่าเนื่องด้วยไง

การด้นเดา เห็นไหม การด้น การเดาอยู่ ปรัชญามันก็คาดการณ์ คาดหมายทั้งนั้น เป็นการคาดหมาย แม้แต่วิทยาศาสตร์นี้ก็เป็นการคาดหมาย เพราะมันต้องทดลอง ต้องพิสูจน์ออกมา มันถึงจะเป็นตามจริงนั้น เป็นตามจริงนั้นก็ยังเป็นตามจริงนั้นในขณะปัจจุบันนั้นเคลื่อนไป ดูอย่างที่ว่าโคลนนิ่ง เห็นไหม วิชาการนี่ถูกต้อง แต่เราไปดูเขาทำกัน ๒๗๐ ครั้งได้หนเดียว ๑ ต่อ ๒๗๐ ขนาดนั้นน่ะ ๑ ต่อ ๒๗๐ แล้วนี่ความคิดของเรา ความคิดของเรา ความคิดของโลก แล้วพอมันเป็นภาวนามยปัญญา ความเป็นภาวนามยปัญญาตรงนั้นถึงว่ายังไม่เกิดไง

ถ้ายังไม่เกิดเราวางไว้ เราพิจารณาไปเรื่อยๆ พิจารณาเข้าไป พิจารณาเข้าไป พิจารณาเข้าไป เพราะว่าผู้ที่มีปัญญามาก สุภัททะไม่ยอมฟังพระพุทธเจ้าเลย ไม่ยอมฟังพระพุทธเจ้านะ จนสุดท้ายพระพุทธเจ้าจะนิพพานแล้ว มันเป็นความถือตัวถือตนไงว่าเรานี่เป็นพราหมณ์ เป็นพวกรู้มาก แล้วพระพุทธเจ้าอายุอ่อนกว่า แต่คืนนี้พระพุทธเจ้าต้องนิพพานแล้ว ถ้าเราไม่ถามจะหมดโอกาส นี่ทิฏฐิมันลดมาหน่อยนึงไง ทิฏฐิว่าความรู้ของตัวลดลงมาหน่อยนึง ก็ไปถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอก

“อย่าถามให้มากไปเลยสุภัททะ ในศาสนาต่างๆ ถ้าไม่มีมรรค ผลไม่มี ไม่มีรอยเท้าในอากาศ”

ท่านเปรียบเทียบแบบโบราณไง ในอากาศนี่ไม่มีรอยเท้า รอยเท้าของคน รอยเท้าของสัตว์ต้องอยู่บนที่ดิน ที่มันมีฝุ่นถึงเห็นรอยเท้า เห็นไหม ไม่มีรอยเท้าในอากาศ ที่ไหนไม่มีมรรค ไม่มีเหตุจะไม่มีผล ไม่มีเหตุไง แล้วเราสร้างเหตุด้วยการส่งออกหมด ปรัชญานี่พูดเรื่องอะไร? เรื่องปรัชญา ปรัชญา จิตวิเคราะห์นี่พูดเรื่องอะไร? ก็เรื่องเปลือกของจิต ไม่ใช่ตัวจิต เรื่องเปลือกของกิเลสทั้งหมดเลย มันเกิดจากกิเลสทั้งหมดเลย แล้วไม่ได้หักกลับมา เราถึงว่าไม่เชื่อเรื่องนี้เลย

แต่มัคคะอริยสัจจัง เห็นไหม มัคคะอริยสัจจังแล้วกำหนดเข้าไปเรื่อยๆ เป็นสุตมยปัญญาไปก่อน มันเกี่ยวเนื่องกันเป็นสุตมยปัญญา สุตมยปัญญาคือว่าฟังไปก่อน เริ่มมีแบบแผน นี่แปลน โครงสร้างนี่สุตมยปัญญา แล้วก็ไปจินตนาการเป็นจินตมยปัญญา จินตนาการนะ แล้วเกิดสมาธิ จินตมยปัญญา นักวิทยาศาสตร์นั่นน่ะเขาใช้จินตมยปัญญา นี่พวกนักวิทยาศาสตร์ๆ เขาคิดวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ออกมา นั่นล่ะเขาใช้พื้นฐานเก่า ข้อมูลเก่า แล้วเขาเข้าไปปรับปรุง

นักวิทยาศาสตร์ การทดลองวิทยาศาสตร์ เขาใช้ข้อมูลเดิมจากการทดลองมาแล้วที่ยังไม่ประสบความสำเร็จ แล้วเขาก็เริ่มมาหาข้อมูลเสริมเข้าไปๆ จนประสบความสำเร็จ จินตมยปัญญา เห็นไหม จากสุตมยปัญญา จากโครงสร้าง แล้วมาจินตมยปัญญา แล้วต้องจินตมยปัญญาเข้าไปจนกลายเป็นภาวนามยปัญญา มันไม่ใช่เป็นการเอามัน มันต้องเป็นตามความเป็นจริง

“อานนท์ ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” ฟังสิ “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม”

สมควรแก่ธรรม สมควรแค่ไหนล่ะ? สมควรแก่ธรรมเนี่ย? ถึงบอกว่ามันไม่มีสูตรสำเร็จ มันไม่มีขีดจำกัด เราบอกว่ามรรคนี่ ไม่ใช่ว่าเอาสมาธิมาชั่งว่าแค่นี้ๆ น้ำหนักแค่นี้นะ ปัญญาน้ำหนักแค่นี้นะ มันเป็นกรรมของแต่ละบุคคล มันถึงเป็นปัจจุบันกับธรรมขณะที่มันจะเข้าไปชำระได้ไง

พิจารณาเข้าไปเลย กาย เวทนา จิต ธรรม ต้องอาศัยสมาธิที่เป็นสมาธิ ถ้าไม่ใช่สมาธิอย่าไปพิจารณา ให้กลับมาพักดีกว่า กลับมากำหนดม้างกายก็ได้ พุทโธก็ได้ อะไรก็ได้ พิจารณาจิต พิจารณาขันธ์ให้มันหดตัวเข้ามา ให้มันมาพักออกไป พักนี่ก็เปรียบเหมือนเราไถนา เห็นไหม โค่นป่า แทรกเตอร์ไถป่าไปหมดเลย แล้วปล่อยไว้ ๑๐ ปีป่านั้นจะราบอย่างเก่าไหม? เพราะว่ามันต้องขึ้น สิ่งมีชีวิตในดินนั้นต้องขึ้นมา เพราะรากแก้วมันยังอยู่ รากมันยังอยู่มันต้องขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน จิตของเราก็เหมือนกัน เราจะทำขนาดไหนก็แล้วแต่ ให้มันว่างขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าเรายังไม่ได้ถอนนะ ไม่ได้ชำระ ไม่ได้ดึงรากแก้วออกมานะ ด้วยภาวนามยปัญญา สิ่งที่เป็นวัตถุ เราไถไป พื้นดินนี่พอมันเรียบไปเรายังเห็นว่าเรียบราบได้ มันราบเรียบไปบนพื้นดิน แต่เดี๋ยวก็งอกขึ้นมา อันนี้เป็นวัตถุที่เปรียบให้เห็นว่ากิเลสที่ในหัวใจ ว่างขนาดไหนเดี๋ยวมันก็ออกมา เดี๋ยวมันก็เกิดขึ้น จะว่างขนาดไหนก็ต้องเกิดขึ้น เราต้องดูการเกิดขึ้นของมันนี่ไง เราถึงต้องการเจอตัวมันไง ต้องการเจอตัวกิเลส

ไก่กับไข่ ไหนเกิดก่อนกัน? ไก่กับไข่ ไหนเกิดก่อนกัน? กิเลสกับความคิดเรา กับปัญญา กับธรรม ไหนเกิดก่อนกัน? เห็นไหม บางทีขันธ์เกิดก่อน ขันธ์ ความขันธ์ ขันธ์เกิด ขันธ์พวกนี้เกิด ความเกิดของเขาเกิดขึ้นมาด้วยอะไร? ด้วยความไม่รู้ ถ้ารู้ก็เกิด ไม่รู้ก็เกิด มันเป็นธรรมชาติของมัน แต่การเกิดนี้เราจะสอดเข้าไปดูตรงไหนล่ะ? ความดูของเรา มันเกิดโดยธรรมดา สอุปาทิเสสนิพพานคือพระอรหันต์ที่ยังมีขันธ์อยู่ เห็นไหม มันก็มีขันธ์อยู่ เกิดมานี่ เกิดมาแล้วสถานะมันมี ภพของใครของเขาไง

อย่างเช่น สัตว์เดรัจฉานเขาเกิดในอบายภูมิ เขาเป็นสัตว์เดรัจฉาน นี่ภพของเขามีแค่นั้น เขาเกิดเขาก็มีความรู้สึกของเขาอย่างนั้น แล้วจนกว่าเขาจะตายไป เขาถึงหมดสถานะนั้นไปอยู่สถานะอื่น เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเราเกิดเป็นนักบวช เราประพฤติปฏิบัติ เราก็มีขันธ์ มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ถ้าเรามีกิเลสอยู่เราก็มีขันธ์ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่เราไม่สามารถเห็นได้เพราะกิเลสมันปิดไว้หมด กิเลสมันพาใช้ไง พาใช้ไป แต่ถ้าเราชำระจนสะอาดแล้วนะ ทีนี้ธรรมพาใช้มันก็มีขันธ์ ๕ เหมือนกัน แต่ขันธ์ ๕ ที่สะอาดไง เห็นไหม ต่างกัน

ฉะนั้น ขันธ์ ๕ นี่เกิดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่ที่มันไม่รู้เท่าทันเพราะกิเลสมันสมานเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะกิเลสนี้อยู่ในจิตนั้น จิตนั้นส่งออกมา ส่งออกมาก็เป็นขันธ์ เป็นความรู้สึก งานนะ งานของโลกสัมมาอาชีวะ ในมรรค ๘ สัมมาอาชีวะของโลกคืออาชีพข้างนอก อาชีพของนักบวช สัมมาอาชีวะของใจ อารมณ์นี่ ใจมันกินอารมณ์เป็นอาหาร ใจมันกินความรู้สึกเป็นอาหาร

ฟังสิ ปากของใจ ปากของจิต กินอะไรเป็นอาหาร มันกินอันนี้เป็นอาหาร แล้วอาหารตรงไหน? ก็นี่ไง ขันธ์นี่ไง กระเพาะเป็นกระเพาะมันไปซับอยู่ที่นั่น นี่แล้วกินอารมณ์เป็นอาหาร อารมณ์ตัวนั้น พิจารณาอารมณ์ตัวนั้น นี่พิจารณาตรงนั้น ถ้ามันว่างไป นี่ราบ ราบไปหมด ว่างไปหมด เดี๋ยวมันก็เกิดอีก นี่มันจะขาดด้วยปัญญาญาณ ญาณนี่ ความที่ว่าง ความว่างว่างอยู่แล้ว ก็ทำให้ความว่างเข้าไปกำจัดความว่าง ถึงว่าไก่กับไข่ไหนมันเกิดก่อนกันไง กิเลสเกิดก่อนหรือธรรมเกิดก่อน? แล้วว่าอันนี้เป็นกิเลสหรือว่าเป็นเรา

มันเกิดได้โดยธรรมดา ไก่กับไข่ไหนเกิดก่อนกัน? จิตนี้มาจากไหน? จิตของเรามาจากไหน? เราสาวไปไม่มีที่สิ้นสุด บุพเพนิวาสานุสติญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้น มันก็ต้องเกิดมาอยู่แล้ว เราถึงว่าอะไรเกิดก่อน? ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนไม่เกี่ยว แต่ไก่เกิดมาแล้วออกไข่มาเลี้ยง ทำให้ร่างกายเราเอามากินเป็นอาหาร แล้วเป็นประโยชน์กับร่างกายเราไหม?

ปัญญาที่เกิดขึ้นมา ขณะไหนล่ะ อะไรเกิดก่อนเกิดหลังไม่สำคัญ สำคัญว่าเป็นประโยชน์กับเราไหม? ปัจจุบันธรรมไง ถึงเป็นกิเลสก็ฟัดกับกิเลส ถึงเป็นธรรมเกิดขึ้นมา มีความปล่อยวางก็อยู่ในธรรมนั้น นี่เสวยอารมณ์ไง จิตเป็นเครื่องเสวย อยู่ในธรรมนั้น แต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมาตลอด นี่คือว่าเราต้องมั่นใจ แล้วดูแยกออกไปว่าปัญญาโลกไง ขนาดปัญญาโลกกับปัญญาธรรมนะ พอมันปัญญาธรรม ปฏิบัติธรรมยังแยกออกไปอีกเป็นจินตมยปัญญา จินตมยปัญญาเท่านั้น ไม่เป็นภาวนามยปัญญา

ถ้าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่หมุนขึ้นไปแล้วชำระกิเลส เพราะมันมรรคสามัคคี มรรคมันรวมกันไง แต่ข้างล่างนี่เป็นสติปัญญาก่อน มันก็หมุนไปธรรมดา ลึกขึ้นไปๆ จนเป็นปัญญาญาณ แต่ก็เกิดจากตรงนี้ เกิดจากที่ว่าปัญญาที่ว่าเราล้มลุกคลุกคลานนะ ปัญญาที่ทำสมควรแก่ธรรม ไม่ใช่ปัญญาปรัชญา ปัญญาปรัชญานั้นปัญญาเอามัน ปัญญาเพื่อออกไปปาฐกถาแล้วได้เหรียญทองไง

ได้เหรียญทอง ได้ประกาศนียบัตร แต่ไม่สามารถชำระกิเลส ยิ่งได้มาก มันชำระได้ มันสำรวมได้ เพราะว่าจิตมันนิ่ง เพราะคนอย่างนั้นมันทำให้จิตสำรวมได้อยู่ ทำให้นิ่ง ทำให้เป็นที่น่าเคารพนับถือในสังคม แต่ไม่สามารถชำระกิเลสได้นะ จริยธรรม ศีลธรรมนี่มีอยู่โดยพื้นฐาน แต่มรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้นมาตรัสรู้เท่านั้น มรรคนี้ถึงจะเกิดขึ้น มรรคนี้เกิดขึ้นเพราะมันชำระกิเลสแล้ว เพราะสำเร็จออกมาเป็นพระอรหันต์แล้วถึงได้ย้อนกลับมาดู แล้วเอามรรคนี้วางให้เราเดินเข้าไปไง

มันถึงเป็นเรื่องว่าสุดขอบฟ้า ถ้าพูดเรื่องในสามโลกธาตุนี้ เรื่องจะเห็นภาวนามยปัญญานี่เรื่องของสุดขอบฟ้าเลยล่ะ เพราะอะไร? เพราะมันหักวัฏฏะ ผลของมันมหาศาลนะ มหาศาลจริงๆ เวียนว่ายตายเกิดในวัฏวน พรหมโลก รูปพรหม อรูปพรหม สวรรค์อีก ๖ ชั้น ยังอบายภูมิอีก แล้วจิตนี้มันหมุนมาตลอด แล้วอาวุธอันนี้มันมหาศาลขนาดไหน? แล้วมันจะมาเกิดง่ายๆ ได้อย่างไร? มันเกิดได้แสนยาก แสนยากเพราะอะไร? เพราะกิเลสมันซับ มันหนาแน่นไง แก่นกิเลสที่ไม่สามารถจะให้ปัญญาอันนี้เกิดขึ้นมาได้

ฉะนั้น ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาแค่ชั่วแวบเดียวเท่านั้น ขาดหมดเลย แต่ก่อนจะเกิดขึ้นมา เห็นไหม รวมสมาธิขึ้นมา ทำสมาธิขึ้นมา ใช้ปัญญาหมุนเข้าไปตลอด หมุนเข้าไปตลอด นี่ย้อนกลับเข้ามา ทวนกระแสเข้าไป ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดจากทุกข์ ความเห็นทุกข์

ทุกข์นี้เป็นอริยสัจ แต่ทุกข์นี้มันมี โดยเราเกิดมาในสถานะที่ว่าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ มันเป็นสัจจะอยู่แล้ว แต่เราลืมกันไป เราข้ามกันไป เราไปแก้ทุกข์ที่ตัวทุกข์ไง อยากให้ทุกข์มันหายไป อยากให้รู้แจ้งไง แต่ไม่ได้ย้อนกลับมาเลย ทำไมมรรคมันอยู่ท้ายล่ะ? ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคมันอยู่ท้าย มรรคมันหมุนกลับมา เห็นไหม มรรคมันจะกลับมาแก้ตลอด เพราะมันมรรค ๔ ผล ๔ มันหมุนไปเรื่อยๆ

นี่อริยสัจ เราอยู่ในอริยสัจนะ เราถึงทำตามสัจจะไง โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ เรียกร้องกิเลส เรียกร้องทุกอย่าง เรียกร้องอุปสรรคมาให้เราเผชิญหน้าเลย เผชิญหน้าเป็นปัจจุบันนั้นเลย นี่อย่าคาด อย่าหมาย เห็นไหม คาดหมายโน้มเอียงไปซ้ายหรือขวา คาดหรือหมายออกไป ผู้ใดด้นเดาธรรม ธรรมะด้นเดา ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปัจจุบันธรรมแล้วขาด

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

รสของธรรม ที่ว่ารสในโลกนี้ รสอะไรที่ประเสริฐที่สุด รสของที่ว่าเขาประเสริฐๆ ที่สุด มันสู้ธรรมไม่ได้หมดเลย ถ้าธรรมไม่เหนือนั้น ธรรมปล่อยวางสิ่งนั้นไม่ได้ เราชั่งน้ำหนักสิ สิ่งใดที่เบากว่า มันจะกดสิ่งที่หนักกว่าให้ขึ้นมาได้อย่างไร? เห็นไหม รสที่มันต้องเหนือกว่า มันถึงชนะรสในโลกสามโลกธาตุนี้ได้ทั้งหมดเลย หมดเกลี้ยงเลย หมดออกไปเลย นี่รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง

เราได้ดื่มธรรม จิตเราสงบเราก็ได้เห็นเงาพระพุทธเจ้าไปชั้นๆ หนึ่ง เราเห็นธรรม พอรู้ธรรมตามความเป็นจริงเข้าไปเรื่อยๆ เข้าใกล้พระพุทธเจ้าไปเรื่อย จนสุดท้ายแล้วพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์รวมอยู่ที่ใจ พระอรหันต์เท่ากันหมด นี่เป้าหมายของเรา เราจะปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น เป้าหมายของเราไง

ถึงว่าเวลาปรัชญาเป็นปรัชญา เวลาเราศึกษาเล่าเรียนกัน หรือเราคุยกันเป็นปรัชญา แต่เวลาปฏิบัติแล้วต้องให้มันเป็นตามความเป็นจริง แล้วปล่อยให้หมด ปล่อยหมด เวลาหมุนก็ให้หมุน ถ้ามันเอียงไปแสดงว่าสมาธิหรือว่าฐานเราไม่ดี ใช้คำว่า “สมาธิเราไม่มั่นคง” ปล่อยแล้วกลับมา แล้วออกมาฟันกับมันอีก ฟันกับมันอีก ให้มันเกิดขึ้นปัจจุบันนั้น ปัจจุบันนั้น ปัจจุบันนั้น ปัจจุบันเห็นตามความเป็นจริงๆ

จริงนะ เพราะใจมันปลอม แล้วพอมันคาดปลอม แต่คาดนี้คาดจากเรา เราว่าเป็นปัญญา เห็นไหม เราคาดปลอม ปรัชญาหรืออะไรก็แล้วแต่ อาจารย์กับลูกศิษย์สอนกัน เดี๋ยวเดียวขึ้นมาทันกัน เพราะว่ามันเป็นสูตรสำเร็จใช่ไหม? ขึ้นมาทันกันได้ แต่นี้ไม่ได้ ต้องเป็นปัจจุบัน จะบอกขนาดไหน ชี้นำขนาดไหนนะคาดหมด หมายหมด คาดหมด หมายหมด แต่ถ้าลงตัวแล้วไม่ใช่คาด เป็นตามจริง แล้วกระเด็นออกไปเลย สมุจเฉทปหาน ฆ่าทุกอย่างนี้บาปหมด เว้นไว้แต่ฆ่ากิเลส ฆ่ากิเลสเป็นบุญกุศลมหาศาลเลย ฆ่ากิเลสแล้วเกิดธรรมขึ้นมา ฆ่ากิเลสของตัวเอง กิเลสต้องหลุดออกไปจากใจ

ภพคือภวาสวะกลางหัวอก ภวาสวะไง พื้นฐาน กิเลสมันจะเกิดขึ้นได้มันต้องมีฐาน ทุกอย่างต้องมีฐานรองรับ เพราะเรามีพื้นฐาน นี่ตัวจิต จิตที่เป็นอารมณ์หรือไม่เป็นอารมณ์ เป็นที่ตั้งไง ภวาสวะ อวาสวะ กิเลสสวะ ภวาสวะนี่คือตัวภพ ตัวที่พาเกิดพาตายอยู่นี่ภวาสวะ ภพนี้สำคัญกว่าภพทุกๆ ภพ แต่เป็นภพเอกเทศ ภพของบุคคลคนนั้น ถ้าภพนี้หายหมด คว่ำภพนี้หมด ไม่มีที่ตั้ง แล้วมันจะไปไหน?

อารมณ์เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีที่ตั้ง สิ่งที่ว่ามีที่ตั้งจับต้องไม่ได้ อะไรวางไว้ไม่ได้ เราจะเอาของหนักวางไว้บนอากาศได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้เลย ถ้ามันปล่อยจากกลางอากาศมันก็ตก ตกลงดิน ดินนี้เป็นวัฏฏะ เป็นสามโลกธาตุ เราอาศัยอยู่เฉยๆ เดี๋ยวเราก็ต้องไปแล้ว เพราะมันยังมีขันธ์ ๕ อยู่ แต่จิตนี้พ้นเพราะมันไม่มีตัวภพตัวนั้น ตัวภวาสวะอยู่ที่กลางหัวใจนั้น ทำลายตัวนั้นออกจากต่างหาก เห็นไหม วิชชาก็เกิดขึ้น แล้วหลุดออกไป ถึงมีอยู่ มีอยู่แต่มีตามความเป็นจริง

ฉะนั้น เราเข้าไป เราอยู่กับอาจารย์ เวลาอาจารย์ว่า เวลาท่านเทศน์นะมันมีพวกใช้ปัญญามากเกินไป ท่านจะบอกว่า “โง่สองชั้น” เพราะขณะที่มันใช้อยู่นี่กิเลสพาใช้ เราไม่รู้ตัว กิเลสพาใช้นะ เพราะมีกิเลสนำอยู่ด้วยใช่ไหม? เราต้องหยุดก่อน หยุดก่อน หยุดให้ได้ หยุดแล้วให้ธรรมพาใช้ ธรรมพาใช้คือสมาธิมีอยู่มันพาใช้ เราเข้าใจว่าเวลาเราหมุนไป เราว่าเราคิด เห็นไหม ทำให้กิเลสคิดแล้วชั้นหนึ่งนะ ยังว่าเราอีก เราโง่กับกิเลสหนึ่ง สองเราไม่ได้ใช้ธรรม เราไม่กินอาหารที่เป็นประโยชน์ ว่าอย่างนั้นเลย เราไปกินอาหารเหมือนกัน แต่กินอาหารที่เป็นโทษ แล้วอะไรพากินล่ะ?

นี่กิเลสมันเอาไปกินแล้วชั้นหนึ่ง ขณะที่เรากินอาหารอยู่ เห็นไหม เรากินอาหารอยู่ เราควรกินอาหารที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย ถ้าเรากิน นี่เห็นไหม ปัญญาที่ถูกต้อง ธรรมที่ถูกต้อง นี่มันเป็นร่างกาย แต่เรากินอาหารที่ผิดไง ถึงว่าโง่สองชั้นไง ชั้นหนึ่งคือกิเลสมันใช้อยู่แล้วรอบหนึ่ง ชั้นที่สอง เราจะได้ประโยชน์ขึ้นมาเรากลับไม่ได้ เราถึงต้องเบรกอันนั้นให้อยู่ แล้วเราย้อนกลับมาตรงนี้ไง

ถึงว่าปรัชญาไม่เอา ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อเอามัน ไอ้นั่นมันมันนะ มันเป็นความรู้สึก แต่ถ้าขาดนี่ไม่ใช่มันนะ ขนพองสยองเกล้า พอขึ้นไปถึงชั้นบนๆ นี่โลกธาตุหวั่นไหว พลิกโลกธาตุเลยนะ โลกธาตุนี่ไหวไปหมด หลุดออกไปจากโลกธาตุนี้ทันทีเลย นั่นน่ะมันเด็ดขาดขนาดนั้นนะ ปัญญานี้เด็ดขาดมาก ถึงว่าเป็นภาวนามยปัญญาไง ภาวนามยปัญญาที่มีเฉพาะในศาสนาพุทธเท่านั้น

“สุภัททะอย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผลหรอก”

แล้วศาสนาไหนมีมรรค? มรรคคืออะไร? เขายังไม่รู้ว่ามรรคคืออะไร? นี่ไงความเพียรชอบ ชอบที่ไหน? มันยังมี ยังแบ่ง ความเพียรชอบ ชอบอย่างไรความเพียรชอบ? เด็กแค่ทำความดีนั้นเป็นความเพียรชอบแล้ว แล้วผู้ใหญ่ทำความดี อย่างสัมมาอาชีวะนี่ ถ้าโลกประกอบอาชีพเป็นสัมมาก็ชอบแล้ว แต่นักปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น นักปฏิบัติ เห็นไหม เรียนมานี่ชอบไหม? ชอบ เป็นแผนที่ แล้วปฏิบัติหรือยัง? เรียนมาเพื่อปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วเข้าไปถึงใจไหม? นี่เกิดขึ้นมา เห็นไหม มรรคนี่ไง เพราะอะไร? เพราะพอถึงใจแล้วเลี้ยงชีพชอบไง ผู้ปฏิบัตินี่ลูกศิษย์ตถาคต

อารมณ์ความรู้สึกที่เป็นจริง ใจนี้ดื่มธรรม พอใจนี้มันกินธรรมตามความเป็นจริง นี่คือสัมมาอาชีวะที่ถูกต้อง สัมมาอาชีวะที่ปากนี้มันเลี้ยงแค่กาย สัมมาอาชีวะที่ธรรมจักรนี่เข้าไปชำระกิเลส แล้วเลี้ยงใจให้เป็นธรรม เลี้ยงขึ้นมาจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน เป็นพระโสดาบัน เป็นสกิทาคามี อนาคามี จนสิ้นไป นี่เลี้ยงชีพอย่างนั้นต่างหากถึงจะเลี้ยงชีพชอบ เลี้ยงชีพด้วยทีแรกกิเลสมันพาเลี้ยง แต่พอธรรมะมันพาเลี้ยง จากโสดาบันนี่ ปัตติมรรคนี่ เลี้ยงด้วยโสดาปัตติมรรค มรรคนี่เลี้ยงชีพ แล้วเป็นโสดาปัตติผล เห็นไหม ออกไปแล้ว ออกเป็นโสดาปัตติผล

เห็นเลย เห็นการหลุดออกไปด้วยภาวนามยปัญญา เห็นตามความเป็นจริงนะ หลุดออกไปจริงๆ เลย ขาดอออกไปหมด ต้องขาด เพราะมันขาดแล้วก็เหมือนกับแผ่นดินที่ว่าไถแล้วมันไม่เกิด เพราะเราขุดรากขึ้นมา นี่พอโลกเขาไถ รถไถเขาไถ งานของเขาเขาไถไป แต่งานของเราเราแบกจอบมาด้วย ไถ เราขุด ขุดเข้าไปในแผ่นดินที่คนบอกว่ามันราบแล้ว ทำไมต้องไปทำอีก เขาไม่ทำกันแล้วแหละ นี่มันว่าง สบาย ไม่ต้องทำแล้ว แต่เราไม่ใช่ เรายังขุดซ้ำเข้าไปอีกจนถอนรากถอนโคน

นี่เราถือรากขึ้นมา รากของต้นไม้มันไม่ใช่ดิน มันไม่ใช่ดิน มันไม่ใช่ความว่างหรอก มันเป็นรากไม้ จับต้องได้ แล้วทำลายมันออกไป นี่หลุดออกไปเห็นกับตา เห็นตามความเป็นจริงเลย กายถึงได้เก้อๆ เขินๆ ไง กายถึงไม่ใช่เรา เราถึงไม่ใช่กาย กายนี้ไม่ใช่เราหรอก แต่อาศัยกันอยู่ มันไม่ใช่กัน มันหลุดออกไปเลย แล้วมันจะไปสงสัยตรงไหน?

ข้างบนก็เหมือนกัน ยิ่งกายแตกออกไปอีก แตกออกไปอีก อสุภะ อสุภัง แตกออกไปนี่โลกธาตุหวั่นไหวหมดเลย หลุดออกไปด้วยภาวนามยปัญญา ถึงกลับมาตั้งตรงนี้ ตรงให้เป็นภาวนามยปัญญา ถ้าไม่ใช่ภาวนามยปัญญามันไม่สามารถชำระกิเลสได้ มันเป็นกิเลสพาใช้ต่างหาก กิเลสกล่อมเลย เลยกลายเป็นกิเลสกล่อมไปอีก ได้เหรียญทองไปต่างหาก มันเลยไม่ได้มรรคผลตามความเป็นจริง ให้ได้มรรคผลตามความเป็นจริงเลย แล้วเราจะเป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม

ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญามันขึ้นไป ความรู้สึกเราขึ้นไป เรากินข้าว เราต้องรู้สิรสของอาหาร รสของอาหารมันเป็นภาพหรือไม่เป็นภาพ ภาพนี้มันเป็นภาพหยาบ ภาพละเอียด ทีนี้คำว่าเป็นภาพ พิจารณากายเป็นภาพ ภาพนั้นเป็นเป้าหมายต่างหาก คือว่าเราตั้งกายขึ้นมา จิตสงบแล้วเห็นกายด้วยตาธรรม ไม่ได้เห็นกายด้วยตาเนื้อนะ ตาธรรมจะเห็น ตาในเห็นเป็นรูปกาย แล้วม้างกาย คือว่าให้กายนี้เป็นไตรลักษณ์ให้เราเห็นไง นั้นคือภาพ แต่ปัญญามันเกิดขึ้นจากการเห็นภาพนั้นน่ะ ความเห็นภาพที่ว่ากายนี้มันแปรสภาพต่อหน้าเรา ลงไปตามความเป็นจริง

เรานี้ต่างหากโง่นะ เราไปยึดว่าของนี้เป็นเรา กายนั้นเป็นเรา เพราะเรากับกายอยู่ด้วยกัน ร่างกายของเราต้องเป็นเราสิ เราเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่นี่เป็นสมบัติของเราแท้ๆ เลย แต่ภาวนามยปัญญามันเข้ามาภาวนาจนตั้งกายขึ้นมา จากทำจิตสงบขึ้นมาจนเห็นกายตามความเป็นจริง เห็นกายตามความเป็นจริง คือว่าเห็นจากข้างใน ขนพองสยองเกล้าแล้วตั้งไว้ได้ แล้วพิจารณาเห็นเป็นไตรลักษณ์

เห็นเป็นไตรลักษณ์หมายถึงว่าให้มันแปรสภาพให้เราดู แล้วมันจะล้มไปต่อหน้าต่อตา แปรสภาพออกไป กายกลับไปเป็นสิ่งเดิม ขณะนั้นที่ไม่มี จิตมันเด่นออกมาไง เพราะอันนี้มันเป็นความเห็นภายใน เป็นภาพธรรม ภาพนิมิต มันเกิดดับจากภายใน มันไม่ใช่ภาพจากข้างนอกนี้ ภาพจากข้างนอก คือว่าร่างกายมนุษย์ตามความเป็นจริง เรารู้กันอยู่ว่ามันต้องตายไป แล้วพอตายไปแล้วมันก็ต้องแปรสภาพไปเป็นธาตุดินเหมือนกัน

แต่อันนี้มันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นรูปข้างนอกไง มันเป็นความรู้โดยสัญญาไง มันเป็นความรู้จากการจำ เห็นไหม แต่ขณะที่เห็นนั้นน่ะ ภาพเห็นภายใน ธรรมมันเกิดขึ้น นี่ธรรมจักรมันเกิดขึ้น มันหมุนเกิดขึ้น ภาพนั้นเกิดขึ้น ปัญญาเกิดจากการเห็นอันนั้น ภาพที่ฝึกฝนปัญญา อาจารย์บอกว่าเหมือนกับมีดลับไปที่หินไง หินลับมีด เห็นไหม การเพ่งกาย การพิจารณากายอยู่นั่นน่ะคือการลับมีด ลับหินไง มีดที่คมขึ้นมา ฟันก็ขาดไป

นี่เห็นเป็นภาพ ถึงว่าพิจารณาอะไร? ถ้าพิจารณาจิตก็เห็นเป็นภาพ ฉะนั้น เราบอกเห็นเป็นภาพ เราก็ไปตั้งภาพขึ้นมา พอตั้งภาพขึ้นมา อันนี้มันก็จะเป็นโลกเกินไป มันเป็นโลกียะ โลกุตตระอีกแล้ว ถ้าเราตั้งภาพขึ้นมา เห็นไหม แต่ถ้าเราเห็นตามความเป็นจริง เห็นเป็นภาพก็ต้องเห็น เห็นเป็นภาพก็ได้ เป็นขันธ์นะ ความรู้สึกออกมาอย่างนั้นๆ มันไปนะ แล้วสมมุติขึ้นมาก็ได้ สมมุติขึ้นมาไง สมมุติขึ้นมาแบบว่ามันเปรียบเทียบ นี่ปัญญามันเกิดขึ้น

เปรียบเทียบไง ว่าปัญญาเรา นี่จิตนี้มันเป็นนามธรรม เราจะเปรียบเทียบเป็นรูปอะไร? อย่างเช่นครูบาอาจารย์เรา เห็นไหม เปรียบเทียบว่าจิตนี้เหมือนกับต้นข้าว สามเณรน้อยในครั้งพุทธกาล ไปบิณฑบาตกับพระสารีบุตร เห็นเขาชักน้ำเข้านา นี่ชักน้ำเข้านา ๗ ขวบ เณร ๗ ขวบ เป็นพระอรหันต์ ฟังสิ เห็นเขาชักน้ำเข้านา น้ำเป็นวัตถุทำไมเขายังชักเข้านาได้ ทำไมน้ำใจ น้ำในหัวใจของเรา น้ำธรรมทำไมเราชักเข้าใจเราไม่ได้

ส่งบาตรคืนพระสารีบุตร กลับกุฏิ ขอส่งบาตรคืนเลย เพราะว่าพอเห็นธรรมมันกระทบแรง เพราะจิตพื้นฐานเป็นสมาธิมีอยู่แล้ว พอเห็นภาพนั้นปั๊บมันกระทบเข้าภายใน กลับกุฏิ นี่พิจารณาตามนั้น พิจารณาจากกระทบเข้ามา เห็นไหม จากว่าน้ำนี่เขายังชักเข้านาได้ ทำไมเราไม่สามารถชัก... เณรในสมัยพุทธกาลที่สำเร็จเป็นพระอรหันต์สำเร็จอย่างนี้ สำเร็จเพราะเขามีเหตุมีผล ความสำเร็จต้องมีเหตุมีผลรองรับนะ ไม่ใช่สำเร็จลอยขึ้นมา

อีกองค์หนึ่งก็เหมือนกัน ๗ ขวบ เดินไปบิณฑบาต เห็นเขากำลังดัดลูกศรไง ไม้คดๆ ยังดัดให้ตรงได้ จิตคดๆ จิตโกงๆ ทำไมดัดให้ตรงไม่ได้ เป็นภาพไหม? ถ้าภาพเปรียบเทียบไง ภาพเปรียบเทียบเพื่อจะให้จิตนี่มันเป็นรูปร่างที่กระทบที่เห็นคุณเห็นโทษไง ถ้าภาพเปรียบเทียบ

พระอรหันต์ พระองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาลกำลังภาวนาเต็มที่เลย แล้วสงสัยอยู่ กำลังจะไปถามพระพุทธเจ้า เดินไปถึงใต้ถุนกุฏิพระพุทธเจ้า แล้วฝนตกมา จุดและต่อม ฝนมันตกมาน้ำมันก็เจิ่งนอง แล้วน้ำฝนตกไปที่ในน้ำมันก็เป็นฟองขึ้นมาแล้วมันแตก เป็นฟองขึ้นมาแล้วแตก เป็นฟองขึ้นมาแล้วแตก

จิตนี้เป็นนามธรรมอยู่ แต่รูปภาพนั้นเห็นภาพแล้วปัญญาเกิดขึ้นจากการอันนั้น มันเห็นอยู่ เหมือนกับว่าเรานี่เป็นฝีอยู่ใช่ไหม? แล้วเราจะเอาเข็มบ่งฝีอยู่ แต่เราไม่รู้ว่าจะทิ่มไปตรงไหน? ทั้งๆ ที่ฝีนี่มันปวด เข็มบ่งฝีก็มีอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจ่อลงไปตรงไหนไง ฝีมันปวดอยู่ที่นี่นะ ไปบ่ง แล้วกำลังจะไปถามพระพุทธเจ้าว่าเข็มนี่ควรจะทิ่มลงตรงไหน? เพราะจะบ่งฝีนี้ออก พอไปเห็นน้ำมันตกปั๊บ ต่อมมันขึ้นมา อ๋อ... มันต้องบ่งตรงนี้เอง ตรงที่ปวด ตรงที่จุดและต่อม เหตุเกิด เหตุดับตรงนี้เอง อ๋อ... กลับ ไม่ถามเลย

นี่ถ้ามันเป็นภาพ เป็นภาพอย่างนี้เป็นภาพได้ เป็นภาพอย่างไรล่ะ? แต่ตัวปัญญานี่จะว่าเป็นนามธรรมก็จับต้องได้ จับต้องได้ด้วยปัญญาด้วยกันเองไง ด้วยผู้ที่ผ่านปัญญากับปัญญา จะรู้ว่าความจริงเป็นความจริง แต่ถ้าเป็นภาพ ปัญญาเป็นภาพขึ้นมาเลย เวลาอาจารย์ไปที่วัด เห็นไหม ที่ว่าเขียนเป็นปฏิจจสมุปบาท เขียนเป็นภาพเลย ทำไมอาจารย์ไม่ดู ภาพนึก ภาพที่เขียนว่าปฏิจจสมุปบาทเป็นอย่างนี้ วิชาการที่เขียนที่วัด แล้วอาจารย์เรานี่แหละไป มาพูด แล้วสมเด็จฯว่า

“ดูนี่หน่อยสิ”

ท่านบอก “ไม่ดู”

บอก “อันนี้เป็นภาพนะ ภาพปัญญาด้วย ปฏิจจสมุปบาท การเกิดและการดับ อวิชชา”

“ภาพนี้ก็เป็นภาพ แต่มันเป็นสมมุติไง เขียนขึ้นมาไง แต่ถ้าเจอภาพความจริงในหัวใจจะไปอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นอีกอย่างหนึ่ง”

เราเห็นด้วย เห็นภาพด้วย เห็นกิเลสที่เป็นภาพนั้นมา สิ่งที่มันปกปิดเราอยู่ เราเห็น ขี้โกงในหัวใจเราไง ตอนนี้ทุกคนดีหมด ประเสริฐเลอเลิศ แต่เรารู้ไหมว่าเราทุกข์ เห็นไหม ไอ้ขี้โกงในหัวใจนี่เราไม่เคยเห็น ทางโลกเขา เรื่องของโลกเขา เขาเป็นการทันโลก แต่ในหัวใจ ใจเรานี่โกงตัวเราเองนะ ไม่ใช่โกงใคร โกงชีวิตไง โกงวันเวลาที่มันหมดไปนี่ไง มันโกงหมดชาติหมดภพนี้ไปไง แล้วเราย้อนเข้าไปเห็นความขี้โกงของมัน ทำไมมันจะไม่ขนพองสยองเกล้า

ความเห็นการขี้โกง พอชำระความขี้โกงอันนี้หมดนะ หมดภพหมดชาติที่นี่ เวลาที่เหลือนี้อิสระ เห็นไหม นั่นน่ะเห็น จะเห็นภาพ ปัญญาต้องหมุนเข้าไป นี้ถึงบอกว่าเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ไม่โกงตัวเองไง จะปลดตัวเอง ปลดหนี้ไง ปลดหนี้ตัวเอง ไอ้นี่มันโกงตัวเองต่างหาก ยังคิดว่ามันโกงคนอื่นอีกนะ โกงวันเวลา ยักษ์มันกินไป สว่างกับมืด มืดกับสว่าง มันโกงไปกี่วันแล้ว โกงไปอายุ ๔๐-๕๐ ยังว่าฉันอายุเท่านั้นๆ โดนโกงไปจนป่านนี้ยังไม่รู้สึกตัวว่าโดนโกง นี่พอไปเห็นแล้วทำไมมันจะไม่ซึ้ง?

นี่ภาวนามยปัญญา ต้องรู้เองแล้วมันจะซึ้งเอง ต้องรู้เอง เห็นเอง นี่ถึงว่า “ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สมควรแก่ธรรม มันเป็นอย่างนั้นเลย มันจะเป็นตามความเป็นจริง นี่ถึงว่าเขาสร้างกัน เขาว่านักปฏิบัติเราสิ้นไร้ไม้ตอก ไม่กล้าสู้โลก งานของนักปฏิบัตินี่เอาชีวิตเข้าแลกทั้งนั้นแหละ แล้วอย่างที่ว่า เขาทำคุณงามความดี ดีขนาดไหน? ดีในโลกไง งานในโลกนี้ไม่มีวันที่สิ้นสุด ตึกหลังไหนสร้างขึ้นมาเดี๋ยวเขาก็ระเบิดทิ้ง แล้วก็สร้างใหม่ เพราะตึกรุ่นใหม่มันมีคุณค่ามากกว่า

งานในโลกไม่มีการเสร็จ แต่งานปฏิบัติใจนี่จบ จบเด็ดขาดเลย แล้วเราเจอพุทธศาสนา นี่เยี่ยมขนาดนี้ทำไมไม่ทำให้มันจบ? ทำไมปล่อยวางไป? ทำไมขี้โกง? ยาก็วางอยู่นี่ เห็นไหม โรคอยู่ในใจ ไม่ได้มองเลย ไม่ได้มองเลย สนใจแต่ยา ดูแต่หนังสือไง ค้นคว้าแต่ยานะ ขนานไหนมันดีไม่เคยกินซักที กินก็ไม่ได้กิน