เทศน์เช้า

การฟังธรรม

๑o ก.ค. ๒๕๔๒

 

การฟังธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศาสนามันละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนจนคนเข้าไม่ถึงนะ นี่เรื่องของศาสนา ดูสิตกผลึกในหัวใจจนเป็นวัฒนธรรมนะ เรื่องของศาสนา ลัทธิกับศาสนาก็ต่างกัน อาจารย์บอกเลย อาจารย์บอกว่าถ้าในศาสนาพุทธเรา เห็นไหม อาจารย์มหาบัวท่านว่านะ

“ในศาสนาพุทธเรา เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ก่อน เป็นผู้สิ้นกิเลส ลัทธิอื่นๆ ศาสดาผู้มีกิเลส”

ศาสดาเขามีกิเลสทั้งหมดนะ แล้วเขาก็เป็นการบัญญัติกันขึ้นมา แต่คนมีกิเลส ทำออกมามันก็เป็นอย่างนั้นแหละ มันเป็นแค่ศีลธรรมจริยธรรมใช่ไหม? แต่ศาสนาเรานี่ลึก คำว่าศาสนา ศาสนาบอกได้หมดไง เกิดมาจากไหน? ทำอยู่นี่ ทำแล้วไปไหน? ชีวิตนี้ไง มันสิ้นได้ไง วัฏฏะ พ้นออกจากวัฏฏะไป นี่ตัวศาสนา

ตัวศาสนามันเป็นตัวชักนำโลกออกจากวัฏวนไปได้เลย มันถึงลึกซึ้งมาก ลึกซึ้งจนมันเป็นคนละภาษากัน พูดเหมือนกันนะ โลกกับธรรมอยู่ด้วยกันแต่ไม่เหมือนกัน ฟังนะ โลกเป็นส่วนโลก ธรรมเป็นส่วนธรรม อยู่ด้วยกันแต่ไม่เหมือนกัน คำพูดถึงไม่เหมือนกัน เห็นไหม เวลาพูดแล้วไม่ฟังไง พูดไม่ฟังเลย พูดไม่รู้ฟัง เพราะพูดแล้วไม่รู้เรื่อง ไม่ฟังเพราะว่ามันเป็นเรื่องของนามธรรมไง เรื่องของสุข เรื่องของทุกข์ พูดไม่รู้ฟัง เพราะฟังไม่รู้เรื่อง พูดไม่รู้ฟัง เพราะฟังแล้วไม่เข้าใจเลย จนไม่ฟัง พูดไม่รู้ฟัง เพราะมันเป็นภาษาโลกกับธรรม ถึงฟังก็ออกมาเป็นทางโลก คิดเป็นทางโลกไป ทางโลก เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยเขาไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา เป็นทางโลก โลกเขารักษาไป

แต่ธรรมล่ะ? ธรรมมันเป็นสัจจะ มันเป็นความจริง คนเราเกิดมาต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย มันต้องเป็นไปตามความเป็นจริง แต่ความเป็นจริงอันนั้น เราเข้าใจความเป็นจริงอันนั้นแล้ว อันนั้นจะมาเบียดเบียนเราไม่ได้เลย มันไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรแก่ ไม่มีอะไรตาย เพียงแค่มาเสวยภพเฉยๆ เราสร้างคุณงามความดีแล้วมาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็มนุษย์นี่ มนุษย์ถ้าเราเกิดมาแล้วมันก็ภพหนึ่งชาติหนึ่ง แล้วก็ตายกันไป

แต่ศาสนาบอกว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์นะ เป็นทรัพย์ที่ประเสริฐมาก การเกิดเป็นมนุษย์ เราเกิดมาเป็นมนุษย์มีคุณสมบัติมากเลย เพราะอะไร? เพราะเราเห็นระหว่างทำความดีกับทำความไม่ดี เรามีโอกาสเลือกไง แต่ถ้าลองไปสวรรค์สิ การเสวยภพ ภพอันนั้น ภพที่ว่าเป็นสวรรค์มีแต่ความสุขล้วนๆ เพลินไปตลอดนะ เพลินไปตลอด จนวันที่อาหารทิพย์แสงนั้นหมดไป นี่ถึงรู้ว่าถึงวันตายไง พอถึงวันตายต้องเปลี่ยน พอเปลี่ยนมันก็จะเศร้าหมอง จะลงมา พยายามลงมา จะเสริมต่อไป นั่นเพราะเขาคุมไว้ด้วยมิติที่ภพที่เขาเสวยอยู่ อันนี้ต่ำไป มิติอันที่ว่าทุกข์อยู่ก็อยากจะให้พ้นขึ้นมา เพื่อจะได้พ้นเสียที พ้นเสียทีนะ เพื่อจะได้ขึ้นมา

แต่มาเกิดเป็นมนุษย์มันอิสระไง สุขและทุกข์เราแยกได้ เราสามารถเลือกได้ เราคุมใจเราได้ เราเลือกได้ แต่นี่เราคุมใจเราไม่ได้ เวลาความคิดเรา เวลาเราคิดมาก หรือเวลาความคิดมันดึงเราไป นี่ความคิดดึงเราไปคือว่ากิเลสดึงไป กิเลสดึงไป เห็นไหม กิเลสมันดึงไปเพราะเราไม่สามารถบังคับตรงนี้ได้ไง อันนี้ถึงว่าเป็นกิเลส

ถึงบอกว่าเป็นมนุษย์นี่มีโอกาสกว่าทุกๆ ภพเลย เพราะได้เห็นส่วนดีและส่วนไม่ดี มีอิสระที่จะเลือกได้ แล้วเราจะเชื่อศาสนาหรือไม่เชื่อศาสนา ศาสนาไม่บังคับใครให้ทุกข์ ความทุกข์เกิดจากเพราะเราหลงตัวเองต่างหาก เราหลงกิเลส กิเลสทำให้เราทุกข์ไปต่างหาก ทำให้เรากระเสือกกระสนไปไง เกาะความคิด เอาเบ็ดเกี่ยวจมูกแล้วลากไปเลย แล้วเราก็ตามไป ฟังสิ เบ็ดเกี่ยวจมูกเราเห็น เห็นไหม เบ็ดเกี่ยวเป็ด เกี่ยวอะไร เราเห็นมันลากมาน่าสงสารมัน แต่ความคิดของเราเองเกี่ยวใจเราเอง แล้วดันออกไป ทำไมมันมองไม่เห็น

นี่ธรรม ธรรมที่ว่าอยู่ในนามธรรมที่เรามองไม่เห็นไง เราถึงบอกว่าพูดไม่รู้ฟัง จนฟังไม่รู้เรื่อง พูดไม่รู้ฟังนะเพราะมันไม่ฟัง ถึงฟังแล้วก็ยังไม่เข้าใจ นี่โลกกับธรรม เห็นไหม โลกกับธรรม ถ้าฟังแล้วยังไม่รู้เรื่องเพราะอะไร? เพราะพูดไม่รู้ฟัง แต่เราเห็นทุกข์ เห็นทุกข์ไง เห็นปลายทางที่ดี มีทางสองแพร่งให้เราเลือก ทางโลกนี้กับโลกหน้า ทางที่ว่าเรามีความสุขจริงในหัวใจ กับเราสะสมทุกข์ไว้ในหัวใจ นี่เราก็เลือกแล้วทางสองแพร่ง ถ้าเลือกแล้วทำ บังคับกิเลสเพื่อจะเข้าทำ

นี่ฟัง พูดไม่รู้ฟัง ฟังไม่รู้เรื่อง ตั้งใจฟัง ตั้งใจปฏิบัติ แต่มันก็ยังไม่รู้เรื่อง เพราะอะไร? ปฏิบัติไปแล้วมันพลาดไป พลาดไป เพราะว่าเราคิด เราคาดการณ์ไง เห็นไหม พูดไม่รู้ฟังนะ ก็นี่อีกอันหนึ่งคือว่าปฏิเสธ ถ้าฟังแล้วไม่รู้เรื่องเพราะอะไร? เพราะมันไม่ตรงความเป็นจริงไง ถ้าตรงความเป็นจริง

“ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม” สมควร สมควรนะ สมควรแก่ธรรม

“โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์เลย”

พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควร สมควรขนาดว่ากิเลสที่มันจะขาดไง สมควรเข้าไปกระทบที่ใจไง นี้เราไม่สมควร เราไปคาดการณ์ ทุกอย่างจะคาดการณ์ก่อน ถึงพูดไม่รู้เรื่องเพราะว่าใจมันไม่ประสบ แล้วมันก็คาดการณ์ไป มันจะไปล่วงหน้าไง มันจะน้อมไปหน้าก่อน อดีต อนาคตตลอดเลย อดีต อนาคต

เพราะขนาดความคิดออกมานี่เป็นอนาคตไปแล้ว เป็นอนาคตมันไปข้างหน้าไง มันคิดไปข้างหน้าตลอด เพราะว่ามันคิดจากพลังงานของใจ ตัวใจคือตัวภวาสวะ คือตัวกำเนิด เกิดจากความคิด ความดำริ ต้องย้อนกลับมาตรงนั้นไง เห็นไหม พระพุทธเจ้าเห็นตรงนี้ไง พระพุทธเจ้าสิ้นกิเลสที่ตรงนี้ไง ถึงเป็นศาสดาที่สิ้นกิเลสไง สิ้นจาก สะอาดจากเริ่มต้นความคิดไง

ทีนี้เราต้องย้อนกลับเข้าไปตรงนั้น ย้อนกลับตรงนั้นถึงว่าต้องทำความสงบก่อน แล้วมันจะเป็นโลกุตตระ เป็นทางธรรม ถ้าเราไม่ทำความสงบตรงนี้ก่อนมันเป็นโลกียะ เห็นไหม มันคิดเป็นอดีตและอนาคต เพราะเราคาดหมายทั้งหมดเลย ความคาดหมายอันนี้กับความจริงมันถึงเข้ากันไม่ได้ไง มันถึงพูดไม่รู้เรื่องไง พูดกันคนละแนวทางไง แต่ถ้ามันเข้าถึงกัน

“รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง”

อ๋อเหมือนกัน แล้วพูดเป็นคำเหมือนกัน ถึงว่าเวลาท่านเป็นพระอรหันต์ทุกๆ พระองค์ จะคุยกันรู้เรื่องได้ไง อกุปปธรรมเป็นธรรม อกุปปธรรม ธรรมที่ไม่เสื่อม เป็นขั้นๆๆ ขึ้นไปไง เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป เวลาพูดถึงตรงนั้น อ๋อ อ๋อ อ๋อเหมือนกันหมด แต่ถ้าไม่เข้าถึงตรงนั้น ถึงว่ามันก็ยังเป็นอยู่ข้างใน ยังไม่แสดงออกมา ถึงบอกว่าต้องสื่อกันได้ ไม่ใช่ว่าไปจนแบบว่าว่าวเชือกขาดนะ ว่าวที่ไม่มีใครรั้ง ลอยไปตามลม อันนั้นไม่ใช่ มีหลักมีเกณฑ์ตามความเป็นจริง แล้วมีสุขจริงๆ ถ้าไม่สุขจริงๆ ทำไมมันถึงเสวยวิมุตติสุข?

วิมุตติสุข สุขที่ในโลกนี้ไม่มีไง สุขที่ในโลกนี้ไม่มี โลกนี้เป็นโลกียะทั้งหมด ความสุขทางโลกนี่เทียบกันไม่ได้เลย อันนั้นสุขพ้นจากโลก สุขที่ไม่เกาะเกี่ยวในโลกนี้ไง ความสุขอันนั้นเกิดจากที่ไหน? เกิดจากกลางหัวอก กลางหัวอกเรานี่แหละ ไม่ต้องใช้เงินทุนเลย ไม่ต้องใช้ใดๆ ทั้งสิ้นเลย ใช้แต่พลังงานของเรา พลังงานยับยั้งไง ยับยั้งให้ใจมันสงบเข้ามาก่อน ทีนี้ถึงว่าถ้าสงบเข้ามาไม่ได้ การทำความสงบเข้ามามันรุนแรงมากนะ ความรุนแรง คนเคยส่งออกหมด แล้วจับต้องใดๆ ไม่ได้เลย มันถึงว่าจับอะไรไม่ได้ ถึงว่าอะไรคือความสงบ?

เราคิดว่าเราปล่อยเฉยๆ นี่สงบแล้ว ไม่ใช่ เราปล่อยนี่กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กายกรรม นั่งเฉยๆ เราถวายกิริยา กิริยาที่อิสระเสรี เราทำอะไรก็ได้ เราสละทิ้งหมดเลยเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า ปฏิบัติบูชา เห็นไหม เราถวายหมด นั่งเพื่อเก็บกิริยาไว้หมด นี่น้อมถวายแล้วนะกายกรรม วจีกรรมยังคิดอยู่ไหม ถ้าเราพูดอยู่นี่วจีกรรม พูดอยู่ ทีนี้ไม่พูด เงียบ สงบปากอีก สงบปาก แล้วมโนกรรมล่ะมันฟุ้งซ่านมากเลย

นี่จอมปลวก สัตว์อยู่ในจอมปลวกนั้นก็ออกหากินตลอดตามจอมปลวก ๖ ช่องทาง แล้วพระพุทธเจ้าสอนว่าให้ปิด ๕ ทางออก ให้เหลือทางออกเดียวเพื่อจะดูสิ่งที่อาศัยอยู่ในจอมปลวกนั้นออกมา นี่พอบังคับเข้าไปมันมีช่องทางเดียว มันจะไหลออกมาช่องทางนั้นช่องทางเดียว ปิด เห็นไหม หยุดกาย หยุดวาจา หยุดหมดนะ ทีนี้ความคิดมันก็รุนแรงสิ ออกตรงนั้นน่ะ ถึงให้ดูที่มโน ให้ดูที่ความคิดนั้น ให้ดูที่จอมปลวกนั้น นี่จ้องอยู่ตรงนั้นไง จ้องอยู่ตรงนั้น กำหนดพุทโธ กำหนดอะไรก็ได้ดูตรงนั้นให้มันออกมา ให้มันออกมา จับตรงนั้น

นี่เขาให้ดูใช่ไหม? แต่เรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธเพื่อจะเข้าไปดูตรงนั้นเหมือนกัน ดูตรงนั้นเพราะให้ออกมาไง เพราะมันกว้างเกินไปใช่ไหม? ถ้าดูจอมปลวก จอมปลวกคือตัวเรา ออกมาเราก็เห็น นี่เปรียบเทียบไง เหมือนกับน้ำใสเราเห็นตัวปลานั่นแหละ พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบ แต่เปรียบเทียบร่างกาย ยกร่างกายนี้เหมือนจอมปลวก ออกทางหู ออกทางตา ออกทางจมูก ออกทางลิ้น ออกทางกาย ออกทางใจ ปิดหมด เราหยุดกิริยาทั้งหมด ออกทางใจทางเดียว นี่ให้ดู แต่เราก็ยังดูไม่เห็นเพราะมันส่งออก เรามองไม่ได้เพราะสติไม่พอ ถึงได้กำหนดพุทโธ

บริกรรมชวนะ ชวนะคือว่าบริกรรมไว้ไง บริกรรมไว้ ให้ภาพมันชัดขึ้นมา เป็นนามธรรม แต่พุทโธ พุทโธนี่เกิดขึ้นๆ ย้ำไปที่พุทโธ ย้ำไปที่รอยโค รอยโค นี่ย้ำที่รอยโค แล้วเราจะตามเข้าไปหาตัวโคให้ได้ จะตามเข้าไปหาตัวโค เห็นรอยโคก่อน เห็นรอยโคแล้วเดินตามเข้าไป เดินตามเข้าไปจนถึงตัวโค ถึงตัวโคแล้วรอยโคไม่สำคัญแล้ว พุทโธมันจะหายต่อเมื่อจิตมันจะสงบจริงๆ ถ้าจิตไม่สงบ รอยโคจำเป็นที่สุด อย่าพลาดจากรอยโค ถ้าพลาดจากรอยโคจะพลาดจากตัวโคไง ต้องย้ำพุทโธ พุทโธ พุทโธไปตลอด จนถึงว่าถ้าจับได้จริง ตัวโคจริง พุทโธนั้นมันจะหายไปจริง ถ้าพุทโธยังไม่หายไปจริง ย้ำที่ตัวโคอย่างเดียว ย้ำที่รอยโคอย่างเดียวนะ พุทโธไปตลอด พุทโธไปตลอด

อันนี้เพราะอะไร? เพราะว่าต้องการให้สติ ต้องการให้เข้าร่องรอยตามความเป็นจริงไง ถ้าไม่อย่างนั้นกิเลสที่พาออกมา เห็นไหม การเกิดเป็นมนุษย์ การเกิดทุกภพทุกชาติมีอวิชชาพาเกิด อวิชชาคือความรู้ รู้ไม่จริง รู้ส่งออกไง เหมือนกับความร้อนที่มันส่งออก ความร้อนที่มันเผาออกมา มันเผาออกมา เราเข้าไปใกล้ความร้อน โอ้โฮ เราจะร้อนมากเลย แต่ตัวไฟมันไม่รู้ว่ามันร้อนหรอก ตัวไฟมันรู้ว่ามันร้อนไหม? แต่สิ่งที่เวลาเกิดไฟ เราเข้าไปใกล้ๆ มัน ความร้อนจะกระทบตัวเราทันทีเลย

นี่ก็เหมือนกัน ใจส่งออก มันส่งออกไป มันไม่รู้หรอก มันไม่รู้ แต่มันส่งออกไปเหมือนพลังงานไฟอันนั้นน่ะ ส่งออกไป แล้วเราจะย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามาด้วยน้ำดับไฟ นี่ธรรมคือน้ำดับไฟย้อนกลับเข้ามา นี้พุทโธถึงสำคัญเข้าไปตรงนี้ไง ให้มันรู้ตัวมันเอง พอจิตมันสงบเข้ามา ความร้อนนั้นสงบลงเป็นความเย็น ความร้อนสงบตัวลง แล้วความร้อนนั้นรู้ตัวมันเองไง ไฟชักเริ่มรู้ตัวมันเองไง พอจิตมันสงบ โอ้โฮ สงบ “รสของธรรมชนะรสทั้งปวง” แค่จิตสงบนะ

นี่ถึงว่ามันพูดกันไม่รู้เรื่องไง แต่ถ้าคนเข้าถึงแล้ว อ๋อ หมดนะ พอพูดถึงจิตเป็นสมาธิเป็นอย่างนั้น ลงๆ อย่างนั้น ลงเข้าไปเลยไม่มีเผลอแม้แต่นิดเดียว แต่ถ้าว่าจิตนี้เป็นสมาธิ แต่เข้าตอนไหน ออกตอนไหนไม่รู้ เข้าตอนไหนไม่รู้ มันเข้าไปแล้ว ออกมานี่มันหลุดออกไปเฉยๆ นี่ถึงว่าไม่ชำนาญในวสี ในการเข้าและการออก การเข้าและการออก การคล่องชำนาญเราจะใช้งานได้ไง การเข้าและการออก

เงินในกระเป๋าเรา เรารู้อยู่ในกระเป๋าเรา เราจะควักใช้อย่างไรก็ได้ แต่เงินที่ไม่มีในกระเป๋าเรา เราต้องหยิบยืมเขามา เขาจะให้เราเมื่อไหร่เราก็ไม่รู้เลย นี่ก็เหมือนกัน สมาธิเข้าออกโดยที่ไม่รู้สึกตัว มันมาได้ เงินเรายืมเขาก็ได้ นี่ก็เหมือนกัน มันเป็นจิตนี้ พลังงานนี้มีโดยธรรมชาติ มนุษย์เราถ้ามีสติอยู่ เป็นมนุษย์ที่ว่าสมบูรณ์ สติพร้อม ถ้าสติไม่สมบูรณ์ก็มีแต่ธาตุรู้ เราอยู่ในโรงพยาบาล เห็นไหม ผู้ที่ขาดสติไปจนหมดสติเลย มีจิตอยู่ แต่ไม่มีสติควบคุมอยู่

นี่ก็เหมือนกัน มีสติควบคุมอยู่ ควบคุมตลอดเข้าออก จนเงินนั้นเป็นเงินของเรา สมาธิเป็นสมาธิของเรา มันยกขึ้นวิปัสสนาได้ ยกขึ้นวิปัสสนาไง เราอยู่ในสมาธิบ่อยๆ เงินเรามี เรามีเงินอยู่ หาเงินเข้ากระเป๋าอยู่ แล้วก็ใช้หมดไป ใช้หมดไป เอ๊ะ เงินใช้หมดไปนี่ไม่มีประโยชน์นะ เงินนี้ไปลงทุนอย่างอื่นเราจะได้เงินย้อนกลับมา สมาธิเจริญแล้วก็เสื่อม เจริญแล้วก็เสื่อม เสื่อมจนมันรู้ว่า อ๋อ ถ้าเราสร้างสมาธิขึ้นมาแล้วเราไม่ใช้งานมันก็จะเสื่อมไป เสื่อมไปมันก็ร้อน

นี่ไงต้องเจริญแล้วเสื่อม จนรู้ตัวว่า อ๋อ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วต้องดับไป เป็นอนัตตาทั้งหมด แต่ถ้าเราวิปัสสนา เห็นไหม ยกขึ้น ยกขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม วิปัสสนาเข้าไปมันจะปล่อย ความว่างอันนี้กับความว่างสมาธิก็ต่างกันแล้ว วิปัสสนาซ้ำเข้าไปๆ จนขาดออกไปเป็นอกุปปธรรม ไม่มีเสื่อมเด็ดขาดเลย ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม เห็นไหม นี่ยิ่งแปลกประหลาดเข้าไปใหญ่เลย ยิ่งพูดกับเราไม่รู้เรื่องเลย

พูดไม่รู้เรื่อง เพราะเราไม่ได้ทำใจเข้าไปให้ไปเสวยธรรมอันเดียวกัน เหมือนกับการบอกเล่า ถ้าเราอ่านหนังสือ พระไตรปิฎกนี่พระพุทธเจ้าเป็นแผนที่เอาไว้ ก็บอกเล่า เราก็จินตนาการไป แล้วพอภาวนาเข้าไปก็จินตนาการเข้าไปเหมือนกัน แต่ถ้าเข้าไปถึงความเป็นจริง นั่นถึงว่าเป็นความจริง ความจริงอันนี้ถึงพูดรู้ฟัง พูดรู้เรื่อง เข้าใจกันหมดเลย เข้าใจกันหมด อ๋อเหมือนกันหมด ถึงว่าขัดกันไม่ได้ ลงถึงจุดนั้นแล้วจะเป็นตามความเป็นจริงไง

ตามความเป็นจริงอย่างนั้น จริงในขณะปฏิบัติ แล้วจริงอย่างไรล่ะ? พูดอย่างไรก็แล้วแต่มันเป็นสูตรสำเร็จ ต้องจริงอย่างนั้นๆ สูตรสำเร็จ มันเกิดขึ้นเพราะว่ากรรมของคนหนึ่ง บารมีของคนหนึ่งใช่ไหม? กรรม กรรมนี่โทสจริต โมหจริต จริตของคนไง การสะสมมานี่กรรมต่างกัน ความชอบต่างกัน กรรมคือความชอบ ความชอบคือจริต บางคนขี้หลง บางคนขี้โกรธ เห็นไหม ทีนี้ขี้หลงขี้โกรธก็ต่างกันแล้ว ขี้โกรธต้องใช้เมตตาธรรมเข้าไป ใช้ความเมตตาให้ว่าทุกอย่างเป็นสัตว์ร่วมโลก ให้ความโกรธเบาบางลง อ้าว ขี้หลงตั้งสติไว้

นี่มันถึงว่าไม่มีสูตรสำเร็จไง ว่าจริงจริงอย่างไร? จริงตอนที่เข้าไปเห็นตามความเป็นจริง แล้วมันขาดตามความเป็นจริง นั่นคือจริง จริงคือว่าเราสะสมขึ้นมา เราสร้างเป็นภาวนามยปัญญา เราจิตสงบแล้วยกขึ้นมาดูกาย ดูจิต ดูเวทนา แล้วก็พิจารณาไปว่าสิ่งนั้นมันก็เป็นไตรลักษณ์ทั้งหมด เป็นอนัตตาทั้งหมด แล้วธรรมนี้ก็เป็นอนัตตาทั้งหมด แต่ผู้ที่หนุนขึ้นไปด้วยโลกียะ ด้วยโลกุตตระ เห็นไหม ด้วยปัญญาโลกุตตระ ด้วยภาวนามยปัญญา เห็นตามความเป็นจริง

ตามความเป็นจริงนะ แล้วขาดออกไป ขาดออกไป ขาดซ้ำๆ เข้าจนขาดเป็นสมุจเฉทปหาน สังโยชน์ขาดออกไปจากใจเลย สิ่งที่เกาะเกี่ยวขาดออกไป พอขาดออกไป อ๋อ สรรพสิ่งนี้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป โลกนี้นะ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา แม้แต่ความรู้อันนี้ก็ดับ แต่ดับพร้อมกับความจริง ไม่ใช่ดับแบบเก่าไง แบบเก่ารู้แล้วก็เสื่อมไป รู้แล้วก็เสื่อมไป แต่มันหมดไป ต้องหมดไปนะ มรรคสามัคคีรวมกันแล้วสมุจเฉท-ปหานหมดไปเลย ว่างออกไป รู้ตามความเป็นจริงขึ้นมาเลย

นี่มันจริงอย่างนั้นไง ถึงว่าจริงอย่างไร? ว่าจริงนี่จริงอย่างไร? จริงเพราะใจมันปฏิบัติจริงไง ปฏิบัติจริง รู้ตามความเป็นจริง แล้วเป็นปัจจุบัน อกาลิโก ปัจจัตตังพร้อมกันหมดเลย อาการนั้นพอดี ปัจจัตตังรู้ขึ้นมาเต็มๆ ในหัวใจเลย เต็มๆ เลย แล้วหลุดออกไปนั่นคือจริง จริงต้องจริงอย่างนั้น ถ้าจริงอย่างนั้นแล้ว เห็นไหม หมดห่วงเลย นี่ไปเป็นขั้นๆ ไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาก่อน ตรัสรู้มาแล้วไง แล้วถึงว่าเสวยวิมุตติสุขก่อน แล้ววางมัคคะเอาไว้ให้พวกเราเดินไง ถึงว่าศาสดาเราเป็นผู้ที่พ้นจากกิเลส พ้นจากกิเลสนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้พ้นจากกิเลสไปก่อน นี่ศาสนาพุทธถึงประเสริฐมาก แล้วเราเกิดในท่ามกลางของศาสนาพุทธ เราเกิดท่ามกลาง แล้วยังมีความมุมานะ ความเห็นตามความเป็นจริงทางแก่นของศาสนาไง ทาน ศีล ภาวนา เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา

“อานนท์ บอกเขาเถิด” ตอนที่จะนิพพานนะ

“การบูชาด้วยอามิสมันก็เป็นบุญกุศลอยู่ แต่ให้บอกเขาว่าถ้าปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้คือบูชาอย่างประเสริฐ”

ฟังนะ! ปฏิบัติบูชา เราก็คิดว่าเราปฏิบัติเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าได้บุญแล้ว ได้บุญขณะกิริยาที่เราทำนั้น แต่ถ้าพอเราธรรมเกิดขึ้นจากหัวใจ เหมือนหลวงปู่มั่นที่ว่าสอนพวกมูเซอนะ พุทโธหายนั่นน่ะ ช่วยหาได้ไหม? ได้ ใครก็ช่วยหาได้ แต่เวลาหาขึ้นมา คนที่พบจริงๆ จะเป็นประโยชน์ของเขาจริงๆ อ๋อ พุทโธอย่างนี้เอง มันสว่างอย่างนี้เอง

“พุทโธหาย”

“ช่วยหาได้ไหม? ตุ๊ ช่วยหาได้ไหม?”

“ได้ ช่วยหาเลย” กำหนดพุทโธไปตลอด แล้วสว่างขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน เราปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้านะ แต่ผลคือเรารับ ฟังสิ เราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า แต่ผลคือของของเรา พระพุทธเจ้าไม่เอา พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว พระอรหันต์สำเร็จไปแล้วไม่ต้องการของใครทั้งสิ้น แต่วางไว้เพราะเมตตาธรรมสอนโลกไง แล้วนี่ถึงบอกว่า

“อานนท์ บอกเขาเถิด ให้ปฏิบัติบูชา”

อันนั้นเป็นบูชาอย่างประเสริฐที่สุด เราก็ปฏิบัติบูชา ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า แต่ผลพระพุทธเจ้าไม่ได้เอาไป เราได้ งงไหม? ผลที่ปฏิบัติบูชาเป็นของเราทั้งหมดเลย แต่พระพุทธเจ้าบอกว่าเวลาเราปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า เพราะอะไร? เพราะพระพุทธเจ้าเป็นองค์ศาสดาไง เราเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมาก่อน ธรรมมันเกิดมาได้อย่างไร? ใครเป็นค้นหาธรรมอันนี้?

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)