ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

แก้ส้มหล่น

๑o ธ.ค. ๒๕๕๒

 

แก้ส้มหล่น
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โยม: กายกับจิต คือ

หลวงพ่อ: ถ้ามันจริง

โยม: ถ้าเกิด ถ้าเกิดกาย ผมไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่าหลวงพ่อ คือว่าตอนที่มันมีความรู้สึกอย่างนั้นเราก็นั่ง นั่งลืมตาอย่างนี้ไงหลวงพ่อ นั่งลืมตานี่นะ มันก็เห็นมือ เห็นขา แต่ว่ามันเหมือนมันเบา ๆ และมันไม่รู้ว่า บางทีมันก็มองไม่เห็นว่า เอ๊ะ มัน มันไม่หมายออกไปว่ามันคืออะไร แต่ว่ามันเบา ๆ อะไรอย่างนี้หลวงพ่อ อันนั้นมันคือเหมือนว่ากายมันก็อยู่ส่วนหนึ่ง…

หลวงพ่อ: จิตมันเปลี่ยนแปลง แล้วอย่างที่ว่าเนี่ย เวลาพุทโธไปน่ะ ๆ ที่ว่ายื้อไว้ ยื้อยังไง

โยม: มันเป็นความรู้สึกตรงนี้ มันจะเป็นเหมือน มันไม่ใช่ความรู้สึก มันเป็นวัตถุเหมือนที่หลวงพ่อบอก เป็นลูกอย่างหนึ่ง วัตถุเลยล่ะ มันจะเป็นพลังงาน เป็นก้อน ๆ นึงแล้วเราก็พุทโธ ๆๆๆๆ มันก็จะ เฮ้ย มันติดกับ พุทโธ ๆๆๆๆ เราก็จะ เรารู้เลยว่าถ้าเกิดเราปล่อยเนี่ย มันคิดเรื่องอื่นแน่ พุทโธๆๆๆๆ มันก็ไปแล้ว กลับมาพุทโธ ๆๆๆๆ อย่างนี้ ยื้ออย่างนี้ ๆ

ทีนี้มันก็เริ่มแล้ว เริ่มมีพวก ปีติขึ้นมา มีอะไรไต่ ๆๆๆ (เสียงหลวงพ่อ - ความรู้สึก) ไต่ ๆๆๆ เสร็จ คราวนี้มันก็จะสับสนแล้วว่า มันไปสเต็ปต่อไปเนี่ยมันคืออะไร มัน ๆ มันไม่รู้ว่า เฮ้ย พอปีติขึ้นแล้วเนี่ย จากปีติแล้วไปถึงที่ว่า ไอ้ความรู้สึกเบา ๆ แล้ว ตรงระหว่างกลางผมจับไม่ได้ว่ามันมีวิธีแบบ..เคลื่อน มันย้ายจากจุดนี้ไปจุดนี้หรือเปล่า

หลวงพ่อ: ไม่ มัน ๆ พูดถึงเวลาพุทโธ ๆๆๆ มันจะออก เวลามันจะออกแล้วตั้งสติไว้ เนี่ย ถ้าสติมันทันคือมันไม่ออก นี่แหละตัวสติ ว่าสติจริง สติปลอม สตินึก สติฝึกไม่ฝึก… อันนั้นมันเป็นโวหารน่ะ ถ้าสติทันนะ ความคิดจะอยู่กับเรา พุทโธจะชัดเจน ถ้าสติไม่มีนะ มันไป มันพุทโธสักแต่ว่า คำว่าพุทโธสักแต่ว่า คือมันมีสตินะ แล้วพุทโธที่ปากนะ แต่ใจคิดอีกอย่างหนึ่ง เราพุทโธแต่จิตไม่ออกน่ะ เห็นไหม คิดอะไรก็แล้วแต่

ที่เขาพุทโธกันไม่ได้เพราะอย่างนี้ คิดแต่มันแลบ แลบออก แลบออก มันไป นี้พอมันจะไปน่ะเห็นไหม มันเหมือนลูกมันจะออก นี่แหละสติ สติคือความระลึกรู้เท่าทันนะ ยิ่งสติมันระลึกรู้เท่าทันแล้วเห็นไหม มันก็กลับมาพุทโธ ทีนี้กลับมาพุทโธต่อ พุทโธ ตัวคำบริกรรมตัวให้จิตมันเกาะ ถ้าจิตมันเกาะพุทโธ จิตเกาะพุทโธเนี่ย ตัวจิตมันเกาะพุทโธ ตัวจิตมันเป็นเอกเทศเพราะเกาะพุทโธ มันไม่เป็นสัญญาอารมณ์ เวลาคิด มันจะคิดตามธรรมชาติของมัน เราพุทโธ พุทโธ ไว้เนี่ยแล้วบอกว่ามันเป็นยังไง ที่บอกว่ามันมีอาการปีติ แล้วต่อไปมันจะเป็นยังไง พุทโธอย่างเดียว

โยม: ไม่ต้องคิด

หลวงพ่อ: เอ้อ..พุทโธอย่างเดียว มันเป็น ข้อเท็จจริงมันจะเป็นอย่างนั้นนะ

โยม: มันห้ามไม่ได้ เพราะจิตมันสูง

หลวงพ่อ: ใช่ อย่างพอไปคิด ก็ความคิดนั่นแหละ ๆ ตัวตัณหา ตัวตัณหาเพราะอะไร ก็เพราะว่ามันอยากรู้อยากเห็น พออยากรู้อยากเห็น ตัวอยากรู้อยากเห็นตัวนี้มันจะมาทอนไง มันจะกลับมาทอน กลับมาทอนให้การทำมันไม่ต่อเนื่องไป อันนี้พอบอก พุทโธๆ ๆ มันจะได้อะไร พุทโธๆ เนี่ยไม่เห็นได้อะไรเลย ไอ้คนที่ไม่ได้คือมันไม่ได้ ไอ้คนที่มันได้คือมันได้จากพุทโธไง

ถ้าไม่มีพุทโธนะมันก็ ความคิดกับเราอย่างที่พูดวันนั้นเห็นไหม เราคือตัวจิตกับความคิดเป็นสอง ถ้าอารมณ์สองอยู่อย่างนั้น เห็นไหม มันมีดีชั่ว มันมีเรากับมีผู้รู้ สิ่งที่ถูกรู้ มันมีผู้รู้คือจิต สิ่งที่ถูกรู้ อารมณ์ ความรู้ ความคิด มันจะมีของมันอยู่อย่างนี้ เราก็อาศัยหลบ ๆ หลีก ๆ เอา มันเป็นสอง มันหลบหลีกเอา แต่ถ้าพุทโธ ๆ ๆ มันเป็นหนึ่งเห็นไหม พยายามนึกให้มันเป็นหนึ่ง แต่ทีนี้มันเป็นหนึ่งไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันยังเป็นสองอยู่ มันเป็นสองเพราะอะไร

เพราะผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้คือพุทโธ แต่เดิมคิดอย่างอื่น แต่ตอนนี้คิดพุทโธ แต่ถ้าพูดอย่างนี้พุทโธ ๆ ๆ จนมันละเอียดไม่มีช่องออก มันพุทโธไปเรื่อย ๆ จากปีติ จากสุข จากความตั้งมั่น เห็นไหม มันเกิดจากอะไร เกิดจากพุทโธทั้งนั้น ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ มันต้องอาศัยเหตุ มันมีเหตุมันถึงมีการเป็นไป อาหารจะสุกด้วยความร้อน ถ้าไม่มีพลังงานไม่มีไฟ อาหารมันจะสุกไม่ได้

ทีนี้จิตมัน ๆ จะตั้งมั่นด้วยอะไร ก็ด้วยคำบริกรรม นี้พอจิตตั้งมั่นด้วยคำบริกรรมเนี่ย ผลของมันคือคำบริกรรม ผลของมันคือตัวจิตสงบ แต่มันเกิดจากการบริกรรม เกิดจากคำบริกรรม บริกรรมนี้เป็นเหตุ นี้เราทำเหตุอยู่แล้ว เราจะทำต่อไปอย่างไร ก็นี่คือเหตุไง

โยม: นี่คือเหตุ

หลวงพ่อ: ใช่ ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ เราต้องสร้างเหตุตัวนี้ขึ้นไป พุทโธๆ ๆ ทีนี้เราจะไปสงสัยนี่ ไม่ได้ ไม่ควรสงสัย

โยม: เพราะว่ากลับไปตอนแรกก็เอ๊ะ..เพราะว่าอยากรู้ อย่างที่หลวงพ่อบอก มันเหมือนส้มหล่นน่ะ ผมก็ไปคิด แล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้ส้มหล่น มันต้องมีวิธี.. ใช่ไหม

หลวงพ่อ: ใช่

โยม: มันต้องมีวิธีว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันส้มหล่น เหมือนการเรียนรู้เนี่ย เราต้องเรียน มันต้องมีวิธี ผมก็ต้องเริ่มจับว่ามันเข้าช่องไหน ผมก็ไปเริ่มจับว่ามันเข้าช่องไหน ลองดึง ๆ บางทีก็เข้า บางทีก็ไม่เข้า บางทีถ้าเกิดเราแว่บไปสงสัย เหมือนมันมาปุ๊บเนี่ย เราไม่อยากสงสัย เราไม่อยากอะไรเลย เราอยากตัดนะ มันเป็นเอง เราก็เอ๊ะ อะไรนะ

หลวงพ่อ: ใช่ นี่การปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ไง อย่างการฝึก การหัดปฏิบัติเนี่ยมันจะเกี่ยวตรงนี้ เกี่ยวกับสิ่งที่มันเป็น สิ่งที่มันจะสงสัยตรงนี้ มันฝึกจนมันเห็นโทษของมันไง ครูบาอาจารย์ท่านจะปฏิบัติมาเนี่ย ตรงนี้มันมี ต้องย้อนกลับมาอภิธรรม คนเราต้องไม่มีความอยาก มันเป็นความอยากสงสัย อยากรู้ อยากเห็น ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสัญชาตญาณ พอเป็นสัญชาตญาณเราทำไป เราเห็นโทษ เห็นความผิดพลาด เห็นโทษของมัน แล้วมันจะปล่อยเอง แต่จะบอกว่า ความอยากนี่ผิด ผิดนี่ตัวหนังสือ ผิดนี่ทฤษฎี แต่ความจริงยังไม่รู้เท่า แต่ถ้าปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ...

โยม: หรือว่าจิตมันจะยอมเอง

หลวงพ่อ: ไม่ใช่ยอมเอง

โยม: ไม่ใช่เรา

หลวงพ่อ: ไม่มีใครยอม มันเห็นโทษ เห็นผิดเห็นถูกไง

โยม: คือตัวจิตมันรู้เอง (หลวงพ่อ: ใช่ ๆ ) ไม่ใช่เรา เราทำมันไม่ได้ เพราะพอมันแว้บแป๊บหนึ่งเนี่ย มันสงสัยแล้ว เราไม่ได้แบบจงใจ ไม่ได้อะไรเลยมันเป็นของมันเอง

หลวงพ่อ: มันจะสงสัยตลอด ทีนี้ความสงสัยเนี่ย มันจะแก้ด้วยปัญญา พอปัญญาไป คลี่คลายแล้วความสงสัยจะหายไป มันจะคลี่คลายด้วยปัญญา ทีนี้ถ้าปัญญามันเกิดขึ้น นี่ปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เหมือนกับสถิติ ผิดกี่หน ถูกกี่หน ผิดบ้างถูกบ้างก็ว่ากันไป มันต้องสู้ไปเรื่อย ๆ

โยม: อย่างปัญญาเนี่ย อย่างนี้ใช่ที่หลวงพ่อบอก อย่างเมื่อคืนผมคุยโทรศัพท์ โทรไปการไฟฟ้า ไฟที่บ้านมัน...หม้อแปลงมันระเบิด ผมไปเจอเข้า ผู้หญิงพูดจากวน ก็โทรมาแจ้งอะไรอย่างนี้ ผมก็โมโห พอวางหูเสร็จนะ จิตมันก็โมโห ๆ ๆ อยู่ดี ๆ เนี่ย ไอ้จิตมันก็นึกขึ้นมาได้ว่า เฮ้ย วางหูไปแล้วนะ เรื่องมันผ่านไปแล้วนะ ทำไมยังต้องโมโหอีกด้วย ทีนี้มันก็โล่ง.. เบาไป นี่คือสมถะอย่างหนึ่งใช่ไหมหลวงพ่อ

หลวงพ่อ: มันทัน ปัญญามันทัน ใช่สมถะอย่างหนึ่ง ปัญญามันทันความคิดไง ถ้าปัญญามันทันมันก็หยุด ถ้าปัญญาไม่ทันมันก็ยังไหลไปเรื่อย ๆ

โยม: มันก็จะเกาะอารมณ์มันไปเรื่อย ๆ

หลวงพ่อ: เกาะเรื่อย ๆ ปัญญามันต้องทัน

โยม: แล้วมันจะต่างยังไงกับการเปลี่ยนอารมณ์ล่ะหลวงพ่อ สมมติแบบ ถ้าผมเกิดอารมณ์อย่างนี้นะ แล้วปฏิบัติตามอย่างดูจิตน่ะหลวงพ่อ จะย้อนกลับมาดูไอ้ตัวที่รู้สึกอารมณ์โกรธ มันก็จะหายเหมือนกันเหรอ

หลวงพ่อ: เมื่อกี้ถามว่าไงนะ ถามว่าเปลี่ยนอารมณ์ยังไง

โยม: ถ้าผมโมโห เปลี่ยนอารมณ์

หลวงพ่อ: การเปลี่ยนอารมณ์ ธรรมดาความคิดถ้ามันคิดแต่เรื่องนี้มันก็จะซ้ำอย่างนี้ พุทโธคือการเปลี่ยนอารมณ์

โยม: ถ้ากลับมาพุทโธมันก็เปลี่ยนอารมณ์เหมือนกัน

หลวงพ่อ: ใช่ นี่เปลี่ยนอารมณ์เหมือนกัน ทีนี้ที่ว่าพอเราคิดอยู่ ถ้าเราคิดถึงแต่เรื่องโกรธ

แล้วพอสติมันทันเห็นไหม มันก็ตัดทิ้งเลย มันก็เปลี่ยนเหมือนกัน นี่มัน มันเป็นความคิด มันเป็นความสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่ตัวจิต พอความคิดหายไปเหลืออะไร ความโกรธหายไปเหลืออะไร เหลือความว่าง เหลือความสุขเหลือความพอใจเห็นไหม ไอ้ความคิดมันอาการของใจ ทุกอย่างมันเป็นอาการของใจหมด เพราะมันเป็นสถานะที่มนุษย์ได้มาอย่างนี้ มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕

พอมันมีขันธ์๕อยู่อย่างนี้แล้วของมัน โดยธรรมชาติของมัน เราก็พยายาม พุทโธ ๆๆๆๆ เห็นไหม ทำให้จิตนี้พอมันปล่อยขันธ์ไง ปล่อยอุปาทานก็เหลือตัวจิต เหลือหนึ่งเห็นไหม อย่างที่ว่า ไอ้ที่ว่ามันดูจิตเข้าไปแล้วมันก็ว่างเหมือนกัน มันก็ใช่ เพราะมันเป็นอะไร เพราะมันเป็นความคิดเห็นไหม มันเป็นเปลือกเห็นไหม คิดให้ว่าง ปล่อยให้ว่างมันก็ยังเป็นเปลือกอยู่อย่างที่บอกเมื่อกี้เห็นไหม ว่ามันเป็นขันธ์ มันจะเป็นได้มากได้น้อยแค่ไหน นั่นควรจะบอกว่ามันจะมีผล เราปฏิบัติไปแล้วมันจะมีผล มีผลยังไงล่ะ

โยม: อย่างที่ผมเข้าใจที่หลวงพ่อต้องการจะสื่อที่ว่า ที่พูดเทศน์เนี่ยก็คือว่า ไอ้ดูจิตที่มันตัดแล้วว่างคือมันเป็นสมถะ แต่มันก็ไม่ใช่สมถะ มันคือการไปสร้างสถานการณ์ สภาวะขึ้นมาเอง

หลวงพ่อ: ใช่ วันนั้นเราคุยเรื่องมิจฉาสมาธิสัมมาสมาธิเห็นไหม อะไรเป็นมิจฉาอะไรเป็นสัมมา ถ้ามันเป็นสมถะ มันต้องเป็นสัมมาสมาธิ และสัมมาสมาธิมันมีจิต เห็นไหมเวลาที่พุทโธ ๆ เข้าไป ถ้าจิตมันสงบมันมีสติพร้อมใช่ไหม มันรู้สึกตัวตลอดเวลา แต่เวลาเราดูจิตไปแล้วมันว่างเนี่ย ถามจริงๆว่ารู้สึกตัวไหม

โยม: มันจะส่งออก มันจะ ยังไงล่ะ มันจะเหมือนไม่มีตัวเรา ไม่มีจิต

หลวงพ่อ: ไม่มีสติ จริง ๆ คือไม่มีสติ แต่เขาบอกว่าเผลอปั๊บสติมาเอง เห็นไหม เขาบอกว่าการว่าง ๆ อย่างนั้นเป็นผลนะ

โยม: ตอนนั้นผมคิดว่าเอ๊ะ ตัวนี้แหละที่ปุ๊บ ว่างใช่ไหม ว่างแล้วเออ ก็ว่างแต่มันว่างแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ว่างเหมือนหลงไปอยู่ที่อื่น

หลวงพ่อ: ว่างแล้วจะควบคุมตัวเองยังไง เพราะถ้าพูดถึงสัมมาสมาธิเป็นสมถะเนี่ย จิตว่างจิตเป็นพลังงาน แต่มีสติพร้อม สติพร้อมแล้วจะควบคุมจิตนี้ให้ออกวิปัสสนาอย่างไร แต่ที่เขาทำกันอยู่เนี่ย เขาบอกให้ดูเฉย ๆ แล้วจะรู้เอง แล้วดูอะไร… รู้อะไร… แต่ถ้าพูดถึงมีสติ เราให้ออกทำงานเนี่ย อย่างเราผู้ใหญ่กับเด็กเนี่ย เด็กมันก็เป็นประสาเด็กนั่นแหละ แต่เราเนี่ย เราจะทำตัวเป็นเด็ก ๆ เราอายเขาไหม เราทำไม่ได้หรอก วุฒิภาวะเนี่ยเรารับรู้อยู่ว่าสถานะของเรา เราทำอย่างนั้นไม่ได้หรอกเพราะเราโตแล้ว แต่เด็กทำเนี่ยน่ารักมาก ๆ เลยเพราะเขาไม่รู้ตัว ว่าง ๆๆ ไม่มีสติเนี่ยมันรู้ตัวไหม

โยม: ขณะที่มันว่าง.. ไม่รู้ตัว

หลวงพ่อ: เพราะเขาไม่รู้ตัวเขาถึงได้พูดอย่างนั้น ทำอย่างนั้น โดยที่ว่าเขาไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด เด็กเนี่ย ผู้ใหญ่ไปบังคับมัน ไปบอกเด็กทำอะไรผิด เด็กจะร้องไห้ เด็กจะไม่ยอมรับ คนถ้าขาดสติมันไม่รู้ความจริง มันก็ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง แต่คนที่มีสติ คนที่ผ่านมาแล้วเนี่ยเขารู้ เพราะเราเคยเป็นเด็กมาก่อน ผู้ใหญ่ทุกคนผ่านจากภาวะของเด็กมาก่อน เราเคยเป็นเด็กมา เห็นไหม เคยทำผิดพลาดมา เราเคยทำแล้วผิดพลาดมา

เคยว่าง ๆ ไม่มีสติมา เราเคยเป็นมา ทุกคนเคยเป็นมาทั้งนั้นแหละ แต่พอมาเป็นวัตถุล่ะ พอไปเป็นสมถะ เป็นสัมมาสมาธิแล้วเนี่ย เห็นไหม พอเราเป็นผู้ใหญ่มาแล้วเนี่ย เรารู้เพราะเราเคยเป็นอย่างนั้นมา มันเห็นความแตกต่างระหว่างสัมมากับมิจฉาไง พอเป็นสัมมากับมิจฉาเนี่ยเราเป็นผู้ใหญ่มาแล้ว เรารู้ว่าขณะปัจจุบันเราเป็นผู้ใหญ่ แต่เราเคยเป็นเด็กมา เด็กคือมิจฉา คือสิ่งที่ผิดพลาดมา แต่ขณะเป็นเด็กผิดไหม ไม่ผิดเพราะขณะเป็นเด็ก

นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่เราปฏิบัติไม่เป็น ผิดไหม ถ้าผิดก็จับไปฆ่าทิ้งเหรอ มันก็ฆ่าทิ้งไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของมันเป็นอย่างนั้น นี่ก็เหมือนกัน ขณะที่ปฏิบัติผิด ไม่มีใครสอนหรือปฏิบัติเองแล้วผิด ผิดก็คือผิด แต่ถ้าผิดแล้วทิ้งความผิดนั้นแล้วทำไปเรื่อย ๆ ทำไปตามข้อเท็จจริง จากผิดก็จะเป็นถูกได้ แล้วพอผิดกับถูก มันเห็นผลระหว่างผิดกับถูก แล้วผิดจะมาเป็นถูกได้อย่างไร ถูกจะมาเป็นผิดได้อย่างไร มันก็เป็นต่างคนต่างอันต่างจริง คนละอันกัน ผิดก็คือผิด ถูกก็คือถูก แต่เกิดจากจิตทั้งหมด

โยม: คือมันก็เป็น เรียกว่าอะไรล่ะ มันก็เดินตามของมันไป มันต้องเรียนรู้จากผิดก่อน ผิดๆๆๆๆ ไปสักวัน ถึงทำถูก

หลวงพ่อ: ต้องเรียนรู้จากผิด ที่เราพูดว่าผู้ปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ ทั้งหมดผิดหมด ถ้าคนปฏิบัติไปผิดหมดน่ะ แต่เราก็ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้า แต่ผิดหมดน่ะแต่ก็ปฏิบัติไปแล้ว เห็นไหม เริ่มเป็นเริ่มถูกต้องขึ้นมาแล้วเห็นไหม สติปัฏฐาน ๔ ก็เหมือนกัน สติปัฏฐาน ๔ ของเราปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ของพระพุทธเจ้า แต่ตัวเราไม่รู้ เราก็ปฏิบัติผิดไป แต่ก็พยายามปฏิบัติไป แต่พอจิตเรามันเป็นเอกเทศ จิตเราเป็นเอกัคคตารมณ์ จิตเราตั้งมั่น เราปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ด้วยความถูกต้อง เราก็รู้ว่าถูก แล้วใครที่ปฏิบัติแล้วไม่ผิด แล้วถูกเลยเนี่ย เราจะบอกว่าไม่เคยเห็นนะ

มันผิดมาทุกคน พระพุทธเจ้า ๖ ปี ครูอาจารย์ผิดมาทั้งนั้นล่ะ ทีนี้ผิดก็ปฏิบัติไปเพราะเริ่มต้นจากทำไม่เป็น จิตเราก็เหมือนเด็กอ่อน แล้วพอมันถูกขึ้นมา อันนี้ก็เหมือนกัน เราพยายามปฏิบัติของเรา ถ้ามันถูกแล้วเนี่ย พอมันถูกขึ้นมา มันเห็นนะ เพราะเราเห็น

ทีนี้เราจะพูดอยู่คำหนึ่ง เราปฏิบัติไปแล้วนะ ถ้ามันถูกต้อง เรารู้ว่าถูก แล้วปฏิบัติไปบางที มันทำสมาธิไม่ค่อยเข้า เข้าสมาธิยากเนี่ยอย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจ เพราะธรรมดาเห็นไหม เวลาเขาปลูกชา ปลูกต้นไม้ ยอดของมันที่เป็นสิ่งที่ดีมีน้อยเห็นไหม ส่วนที่ไม่มีประโยชน์จะเยอะมากเลย การปฏิบัติเนี่ย ถ้าจะให้แบบว่า ส่วนที่มันลงก็มีน้อย ถ้ามันมีน้อยแล้วเราก็พยายามฝืนทำของเราไป

ถ้าทำถูกต้องมันเห็นรอยเห็นแนวทางแล้ว แล้วปฏิบัติให้ถูกต้องด้วยความควบคุม ด้วยความตั้งใจของเราเนี่ย บางทีมันไม่ค่อยลง ถ้าไม่ค่อยลง พอปฏิบัติแล้ว ทุกคนจะบอกว่าแหม...เวลาปฏิบัติทำไมมันยากล่ะหลวงพ่อ คนที่ปฏิบัติแล้วไม่ค่อยก้าวหน้าก็อย่างนี้ มันจะยากมันจะง่ายมันก็คือข้อเท็จจริงไง ชีวิตจริงของเราก็เป็นอย่างนี้ ทุกข์มาก

โยม: เพราะวันแรก วันที่กลับไปแล้วก็อีกวันนั่งสมาธิ มันเข้าตรงนี้ได้ ๓ ครั้ง วันรุ่งขึ้นฟิตใหญ่ จะเอา ๆ นั่ง ๆ หาวิธีแล้ว จะหาไอ้ตรงดึงนี่แหละ อยู่ตรงไหนหาไม่เจอ พอหาไม่เจอแล้ว นั่ง โห..มันยากนะ มันไกลนะเนี่ย ๆ พอนั่ง ๆ คิด ๆ มา ไอ้ตรงนี้ก็คิดมาอีก เฮ้ย..ครูบาอาจารย์นะเนี่ย เขาก็ฆราวาสมาก่อน เขาก็เป็นอย่างนี้มาก่อนเรานี่แหละ พอคิดอย่างนี้ได้แล้วล่ะก็ ช่างมันเว้ย ได้ไม่ได้ช่างมัน ขอพุทโธเถอะ พุทโธจนตายนี่แหละ ตายแบบพุทโธก็ได้ ก็ทำ ก็....

หลวงพ่อ: ดีขึ้นไหม

โยม: ดีขึ้นไหม ก็ไม่ดีขึ้นแต่ว่ามีกำลังใจ

หลวงพ่อ: เพราะวันที่ได้น่ะนะ วันนั้นถึงพูดกับโยมไง เราจะเอาครูอาจารย์มาเป็นตัวอย่าง หลวงตาท่านบอกว่าตอนท่านเรียนหนังสือ ๗ ปี ท่านปฏิบัติไปด้วย ๗ ปี รวมลง ๓ หน คิดดูสิ ๗ ปี ๓ หน ๓ ครั้งภายใน ๗ ปีเห็นไหม เราเอา ๓หารเนี่ย ๒ ปีกว่าได้ทีนึง ๒ ปีกว่า คิดดูสิ ๒ ปีกว่าขนาดไหน แต่ตอนนั้นยังไม่เป็น และยังไม่ตั้งใจทำ ๑๐๐% เพราะเรียนหนังสืออยู่ แล้วพอครบพรรษา ๙ ท่านทิ้งเลยแล้วมาปฏิบัติเลย ปฏิบัติเลยแล้วเห็นไหมว่า

ท่านก็ดูจิตเหมือนกัน แต่ดูแล้วจิตมันเสื่อม ท่านบอกว่าท่านกำหนดดูจิตเฉย ๆ มัน จิตเนี่ยพรรษาแรกทำแล้วดีมาก แข็งมากเลย แล้วพอมาทำกลดหลังหนึ่งตอนอยู่กับหลวงปู่มั่นนะเสื่อมหมดเลย พอเสื่อมหมดเลยท่านก็พยายามจะเอาขึ้นมาไง แล้วมันไม่ได้ มันดีขึ้นมาวันสองวันแล้วมันก็ล้มไป มันไม่มีหลัก การดูจิตมันเลื่อนลอย มันไม่มีสติ การดูจิตน่ะ อย่างหลวงปู่ดูลย์ท่านมีหลักของท่าน การดูจิตนี่ต้องคนมีวาสนานะ คนมีวาสนาดูสิ ในวิชาชีพ นักบินอวกาศในโลกนี้มีกี่คน เขาจะคัดเอาส่วนยอดของนักบิน ไอ้พวกทหารอากาศ เขาจะคัดยอดคนจากทหารอากาศ เสร็จแล้วเขายังเอามาฝึกซ้อมแล้วยังมาคัดต่อ เหลือกี่คน นี่เป็นนักบินอวกาศ

ทีนี้ไอ้ที่ทำง่าย ๆ จะมีกี่คน ทีนี้มีไม่กี่คนเนี่ยเห็นไหม ถึงเวลาพอจิตท่านเสื่อม ท่านทำแล้วจิตท่านเสื่อม ท่านก็มาดูตรงนี้ คำว่าดูจิต ๆ ๆ มันต้องมีหลักเกณฑ์ เนี่ยยอดคนถึงจะทำได้ อย่างหลวงปู่ดูลย์ นี้พอท่านบอกว่าดูจิตมาแล้วมันเสื่อม เอ๊ะ มันเป็นเพราะเหตุใด พอดีหลวงปู่มั่นท่านไปเผาศพหลวงปู่เสาร์ ทิ้งท่านอยู่คนเดียว ท่านบอกว่าไปไหนไม่รอด กำหนดพุทโธ ๆ

ท่านบอกเพราะมันดูจิตเคย มันปล่อยให้จิตมันเร่ร่อนเคย ท่านบอก ๓-๔ วันแรก อกมันแทบระเบิด อย่างที่เราบังคับพุทโธ มันอึดอัดจน... แต่ท่านด้วยความตั้งใจจริง ท่านก็สู้มัน พุทโธ ๆ จนพุทโธไม่ได้ เขาจะว่าจะพุทโธอยู่ตลอดเวลา แล้วปัจจุบันนี้มันพุทโธไม่ได้ พุทโธมันหายไปไหน เพราะจิตมันสงบ พอจิตสงบมันเป็นหนึ่ง มันพุทโธไม่ได้ พุทโธไม่ได้ก็อยู่กับพุทโธไปก่อน เห็นไหม

ขณะนั้นท่านเริ่มออกปฏิบัติใหม่ ๆ มาอยู่กับหลวงปู่มั่นปีแรก เห็นไหม คนหนึ่งจบมหามา แล้วก็พุทโธจนพุทโธไม่ได้ ก็ยังพุทโธ ๆ ขณะที่จิตสงบยังไม่รู้เลยว่าจิตสงบเป็นยังไง เขาอยู่กับมันไง ถ้าจิตมันพุทโธไม่ได้ก็อยู่กับพุทโธไปก่อน พอมันเคลื่อนออกมา พอมีความรับรู้ ความรู้สึกเป็นสองแล้วก็กำหนดพุทโธเข้าไปอีก เพราะเข็ด เข็ดเพราะอะไร เพราะดูจิตมา เสื่อมไป ๑ปี กับ ๖ เดือน ตั้งแต่ปฏิบัติมา ที่ทุกข์ไม่เคยทุกข์มากเท่าไหร่ เท่ากับจิตเสื่อมคราวนี้เลย เพราะไม่มีหลักมีเกณฑ์ เห็นไหม

ที่เรียกว่าดูจิต ๆเนี่ยนะ จริงๆ ทำยาก และคนจะทำได้ต้องยอดคน แต่นี่ใครก็ดูจิต ๆ มันเลยสร้างภาพดูจิตไง กลายเป็นนิทาน กลายเป็นหนังการ์ตูนไปหมดเลย แล้วอย่างที่ว่า ถ้าข้อเท็จจริง ถ้ามันดูจิตจริง ๆมันจะมีสติ ดูจิตจริง ๆ แล้วมันจะสงบแล้วต้องมีสติ มีทุกอย่าง รู้ตัวทั่วพร้อม สมาธิคือการรู้ตัวทั่วพร้อม สงบ ว่าง หมด รู้ตัวทั่วพร้อม มีสติสัมปชัญญะ เพราะหมด

โยม: ไอ้ตรงนี้ผมก็ไม่ถึงเหมือนกันนะ

หลวงพ่อ: ค่อย ๆ นี่เราจะพูดอันนี้ให้ฟังไง

โยม: หมายถึงว่าตอนดูจิต ที่ว่าง ๆ คือมันว่างขณะเดียว ขณะตอนที่มันตัดแล้วมันจะว่าง

หลวงพ่อ: เป็นอย่างนั้น

โยม: แต่ที่เขาว่าว่าง ๆ กันผมก็ไม่รู้ว่าเขาว่างยังไง เขาว่างแบบว่างนาน ๆ ว่างเป็นวัน ๆ หรือเปล่า

หลวงพ่อ: ไม่มี ไม่มีหรอก มันไม่มีเพราะอะไร ไม่มีเพราะอารมณ์เรา เราบังคับได้ไหม ไอ้คนที่ว่างเป็นวัน ๆ น่ะ ให้มันมาพูดให้เราฟังสิ มันเป็นไปไม่ได้หรอก อันนี้มันเป็นไปไม่ได้เพราะอะไร เพราะเรารู้ถึงกระบวนการของจิต กระบวนการของขันธ์ ๕ ของที่มีอยู่ เอ็งจะบอกว่าพระอาทิตย์เที่ยงวันมันจะอยู่บนหัวไม่ขยับไปเลยเนี่ย เอ็งว่าในโลกนี้มีไหม มันเป็นชั่วคราวใช่ไหม มันถึงเวลาเที่ยงมันก็มาอยู่บนหัวเรา เสร็จแล้วมันก็คล้อยไป จิตของคนมันเป็นอย่างนี้ทั้งนั้นนะ

โยม: จะเป็นไปได้ไหมว่าถ้าหากบางคนเขาปฏิบัติไปด้วย เขาจะสามารถว่างได้เป็นชั่วโมง เหมือนทำสมาธิมาได้

หลวงพ่อ: ได้ ๆ

โยม: วิธีนี้ได้

หลวงพ่อ: วิธีนี้มันต้องชำนาญมาก เพราะการดูจิตคือปัญญาอบรมสมาธิ สติมันทันจิตอยู่ตลอดเวลา สติทันจิต มันบังคับไม่ให้จิตออก มันจะไปคิดได้อย่างไร

โยม: คือไม่มีความคิด แต่การไม่มีความคิดนี่ คือเราทำอะไรไม่ได้เลย จะกินน้ำจะเดินอะไรไม่ได้ มันจะต้องนิ่งอยู่อย่างเดียว ถูกไหมฮะ

หลวงพ่อ: ก็นี่เรานั่งสมาธิอยู่ แต่ถ้าเราเคลื่อนไหวอยู่ เราเคลื่อนไหวออกไปแล้ว เราเดินจงกรมอยู่นะจิตมันลง มันอยู่กับที่เลย แต่พอเราขยับมันก็ออกมารับรู้ มันเรียกขณิกสมาธิ อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธินี่ไปไหนไม่ได้เลย อุปจาระสมาธิเนี่ยเดินจงกรมอยู่ได้ รับรู้ได้ ถ้าพูดถึงจะทำงาน จะออกมารับรู้อะไรเลย จะเคลื่อนไหวมันเป็นขณิกะ สมาธิมันมีหลายระดับ หยาบ กลาง ละเอียด ถึงได้บอกไงว่าเขาพิจารณาไปจนจิตเข้าฌาน ๔ แล้วจะเป็นปัญญาเนี่ย มันเป็นไปไม่ได้ มันขัดแย้งกันโดยธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยทฤษฎีนี้เลย โดยทฤษฎีมันเป็นไปไม่ได้ โดยตำรามันเป็นไปไม่ได้ โดยข้อเท็จจริงก็เป็นไปไม่ได้เลย

แต่เขาพูดออกมาเนี่ย แสดงว่ารู้หรือไม่รู้ นี่ไง เขาพูดออกมาว่าลงฌาน ๔ แล้วเกิดปัญญา เกิดวิปัสนาญาณต่าง ๆ เนี่ยเขาพูดออกมาอย่างนี้ มันเหมือนกับเราบอกว่ามะพร้าวเกิดที่ราก มะพร้าวเนี่ยมันเกิดที่ยอด ลูกมะพร้าวเนี่ยมันออกที่ยอด ลูกมะพร้าวออกที่นั่น เขาบอกมะพร้าวออกที่โคน อืม ก็แปลกเนาะ ถ้าคนมันไม่ใช่เจ้าของสวนมะพร้าวก็ว่าไปอย่างหนึ่ง เจ้าของสวนมะพร้าวเขารู้ พูดอย่างนี้เขาขำตายห่าเลย

นี่คำพูดเขาพูดออกมาอย่างนี้เห็นไหม ว่าสามัญลักษณะเข้าใจหมดแล้วเนี่ยว่าเป็นฌาน ๔ แล้วมันจะเกิดปัญญา มะพร้าวมันเกิดที่โคน เนี่ยมันเป็นไปไม่ได้ พูดถึง ถ้ามันเป็นนะ มันเห็น มันรู้มันเข้าใจ พอรู้พอเข้าใจเนี่ย คำพูดออกไปมันไม่ผิด พระปฏิบัติเขาจับกันตรงนี้ คนถ้ารู้แล้วพูดตามที่เห็นน่ะไม่ผิดเลย

โยม: ตรงนี้ผมฟัง พอกดไปเรื่อย ๆ กดไปฟังหลวงพ่อ ผมก็เข้าใจแล้วว่า ที่หลวงพ่อเทศน์วันที่ ๕…. ที่ หลวงพ่อ……. . บอกว่ามีพระพุทธเจ้าองค์เดียวเท่านั้นที่ตัดสินได้ อู้ ผมตกใจเลยนะ อู้ย หลวงพ่อ……..พูดอย่างนี้เลยเหรอ พูดอย่างนี้นี่ฆ่าตัวเองชัด ๆ เลยนะ ผมยังไม่เชื่อหลวงพ่อนะ ว่าท่าน…...พูดจริง ผมกลับไปเลยนะ หลวงพ่อบอกพูดวันที่ ๒๒ ผมไปเล่นเครื่องเล่น… “พูดจริง” ตกใจเลย อ้าว..แล้วปัจจัตตังล่ะ ทำไมต้องให้คนอื่นมาตัดสินล่ะ

หลวงพ่อ: นั่นน่ะสิ

โยม: แล้วปัจจัตตังล่ะ ทำไมต้องให้คนอื่นมาตัดสิน

หลวงพ่อ: วันนั้นเขาพูดตรงนี้ด้วยนะ วันนั้นน่ะ

โยม: ผมก็ อ้าว แล้วปัจจัตตังล่ะ

หลวงพ่อ: นี่ไง ถ้าคนไม่เป็น คำพูดมันฆ่าตัวตายตลอด

โยม: โอ้โฮ..ผมช็อกเลยนะ โห..ท่านพูดอย่างนี้แล้วเกิด คนจะ....

หลวงพ่อ: โยมต้องคิดอย่างนี้ ต้องคิดว่าคนเรานี่นะ พอเราทำผิดเราจะปกปิดความผิดเราก็จะอ้างเหตุผลมาเพื่อปกปิดความผิด ขณะจะอ้างเหตุผลเนี่ย มันลืมคิดไปว่าเหตุผลไปขัดแย้งกับข้อเท็จจริงข้างหน้าหรือเปล่า แต่ถ้าเราไม่มีอะไรที่ต้องปกปิด เราพูดไปตามกระบวนการของมัน

มันจะไม่ขัดแย้งกัน เราจับประเด็นตรงนี้ต่างหาก เพราะลูกศิษย์เขามาถาม ลูกศิษย์เขาก็เอามา ลูกศิษย์ไปเห็นก็พริ้นท์ มาให้เรา เขามาถาม เราก็พูด เพราะถ้าอย่างนี้ ของอย่างนี้เราไม่ได้พูดถึงคำพูดนี้ เราดูถึงเจตนาที่พูดอย่างนี้ พอมีมันเจตนาเนี่ย เราดูเจตนาที่พูดว่ามันหวังอะไร เราถึงอธิบายของเราเห็นไหม ว่ามันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตัง แล้วการจับผิด การชี้ผิด ไม่มีใครชี้ใครได้หรอก ใครชี้ใครไม่ได้หรอก พระพุทธเจ้าก็ชี้ไม่ได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านพยากรณ์ตามความเป็นจริงอันนั้น

โยม: ดูว่าเป็นแล้ว (ใช่ ) ดูว่ารู้แล้ว ....

หลวงพ่อ: เป็นหรือไม่เป็น ไม่เป็นก็บอกไม่เป็น เห็นไหมมีพระอรหันต์เยอะเลย พระอรหันต์จะไปเฝ้าท่าน ท่านบอกให้พระไปกันไว้ บอกให้ไปเที่ยวป่าช้าก่อน ท่านรู้ว่าไม่เป็น แต่พระพวกนั้นนั้นคิดว่าเป็น จะมาหาท่าน บอกเป็นพระอรหันต์แล้วจะมารายงานผล ท่านรู้ว่าจิตมันกำลังหมุนอยู่ ท่านเนี่ยให้พระไปดักหน้าไว้ แล้วพระนั้นมาบอกว่า พระที่คิดว่าเป็นพระอรหันต์อย่ามาเฝ้าหาท่านให้แวะไปที่ป่าช้าก่อน พอไปป่าช้าเห็นซากศพ มันมีอารมณ์ความเคลื่อนไหว มันมีการกระเพื่อมของใจ พระพวกนั้นรู้เลยว่าตัวเองไม่ใช่อรหันต์ มันเป็นการปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ตามข้อเท็จจริงนั้น

โยม: แต่ก็เป็นไปได้ว่าเขาไม่เป็น แต่เขาคิดว่าเป็น

หลวงพ่อ: เป็น ส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้หมดเลย แล้วพอเป็นอย่างนี้หมดเลย ครูบาอาจารย์เห็นไหม ถ้าคิดว่าเป็นแสดงว่าตัวเองน่ะ มันมีสมาธิ มีปัญญาใช่ไหม พระปฏิบัติเราในวงการกรรมฐานของเรามันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเวลาปฏิบัติ ทุกคนส่วนใหญ่กิเลสของเราเองชอบให้คะแนนเราบวก พอให้คะแนนบวกไป จะให้คะแนนบวกต้องมีฐานรองรับคะแนนนั้น คือจิตมันมีอารมณ์ มันมีความรู้สึก มันมีสติ มันมีปัญญาของมัน ถ้ามีครูบาอาจารย์แก้ตอนนั้น มันมีฐานที่พัฒนาขึ้นไปได้

ถ้าเสื่อมหมดเลย หลวงพ่อ ผมเคยภาวนาเป็นอย่างนั้น ผมเคยเป็นเนี่ยนะ มันเสื่อมไปหมดแล้ว เรามาคุยกันแต่ประวัติศาสตร์ นี่ ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้ ในวงกรรมฐานเรามันมีตรงนี้ไง พอมาตรงนี้ปั๊บ ครูบาอาจารย์ท่านคอยดึงเรา คอยชี้พวกเราถึงเคารพครูบาอาจารย์กันไง ถ้าครูบาอาจารย์เราไม่มีความรู้จริงอันนี้ เวลาโยมพูดถึงการปฏิบัติโยมเป็นอย่างนี้ของโยม ครูบาอาจารย์จะเอาอะไรมาตอบ มาปฏิสันถาร มาต้อนรับเรา มาตอบเรา ถ้าท่านไม่เคยผ่านอย่างนี้มาก่อน

วันนั้นเราเห็นแล้ว เราถึงหัวเราะ เราเห็นตอนเขาเอามาถามเนี่ย เราอ่านแล้วเราเศร้าใจเลย คืออ่านแล้วมันจับเจตนาของผู้พูดได้ว่า ผู้พูดเนี่ยพยายามปกปิดความผิดพลาดของตัวโดยอ้างเหตุผลมาบัง แต่การอ้างเหตุผลนั้น กลับอ้างเหตุผลมาฆ่าตัวตาย

โยม: แล้วอย่างนี้มัน บางทีผมก็นั่งคิดว่ามันยังไงล่ะ ตอนแรกท่านอาจคิดว่าท่านเป็นอรหันต์จริง ๆ ก็ได้ แต่ว่าพอ...แล้วท่านก็ทำประโยชน์ให้สังคมจริง ๆ นะ เพราะมีคนสนใจศาสนา สนใจการปฏิบัติธรรมเยอะขึ้นมาก

หลวงพ่อ: อันนี้เห็นด้วย

โยม: แล้วตรงนี้เนี่ยมันจะเป็นบาปติดตัวไหม

หลวงพ่อ: เป็น ยิ่งกว่าเป็นอีก สมัยพุทธกาลไง ในราชคฤห์เนี่ยมีชาวบ้านจับปลาทองคำได้ พอจับได้ สมัยโบราณ สังคมมันแคบ ถ้าชาวประมงจับปลาทองคำมาได้เอาไปใช้ประโยชน์ตัวเองกลัวจะมีโทษ ก็คิดว่าจะเอาไปถวายกษัตริย์ ก็เอาไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทีนี้พวกอำมาตย์ พอเข้าไปในท้องพระโรง ปลาทองคำมันอ้าปาก โหเหม็นไปทั่วท้องพระโรงเลย

พระเจ้าพิมพิสารเนี่ยเป็นพระโสดาบัน พระโสดาบันเนี่ยไม่เข้าใจ เข้าใจไม่ได้ แต่พระโสดาบันเข้าใจว่าสิ่งนี้พระพุทธเจ้าต้องรู้ ก็เลยเอาเหตุการณ์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปถามพระพุทธเจ้าว่า ทำไมปลาทองคำตัวนี้อ้าปากขึ้นมาถึงเหม็นขนาดนั้น พระพุทธเจ้าบอกว่าปลาทองคำตัวนี้ มันเกิด เคยเป็นพระในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน ๆ นั้น แล้วได้เทศน์สอนธรรมะพระพุทธเจ้าเนี่ย คนศรัทธามาก คนเชื่อถือมาก แต่พอมีคนศรัทธา มีคนเชื่อถือก็เหลิง ก็เอาความคิดของตัวเองบวกเข้าไป กล่าวตู่พุทธพจน์อันนี้ ตกนรกอเวจีไปมหาศาลเลย แล้วพ้นจากนรกอเวจีขึ้นมาเนี่ยเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน อบายภูมิ มาเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

เนี่ยเพราะอะไร เพราะเคยบวชเป็นพระทำประโยชน์ เกล็ดเป็นทองคำ แต่ไอ้ที่พูดกล่าวความเห็นตัวมันขัดแย้งกับธรรมะพระพุทธเจ้า แล้วพูดธรรมะพระพุทธเจ้าคนเชื่อถือ พอเชื่อถือไป คนเชื่อถือมากมันเหลิง กิเลสมันพอกพูนไง ก็พูดถึงความเห็นของตัว อยากเอาตัวเองบวกเข้าไปเลย นรกอเวจี แล้วพ้นจากนรกอเวจีขึ้นมาเห็นไหม บุญส่วนบุญ บาปส่วนบาป เห็นไหม เกล็ดทองคำนะ ปลาตะเพียนน่ะเกล็ดเป็นทองคำ

โยม: แต่เห็นแล้วลำบากใจแทนท่าน

หลวงพ่อ: มันอยู่ที่คนจะได้สติสัมปชัญญะไหม คนยอมรับความจริงไหม

โยม: แล้วถ้าเกิดท่านพูดมาว่า พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ตัดสินได้ผมว่า ท่านก็น่าจะรู้

หลวงพ่อ: ถ้าพระพุทธเจ้าตัดสิน ถ้าพระพุทธเจ้าตัดสินได้ เฉพาะพระพุทธเจ้านะ ศาสนาพุทธมันก็มี...ว่าพระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะไม่มีพระอรหันต์เลยเพราะไม่มีพระพุทธเจ้าไว้ตัดสิน

โยม: แต่จริง ๆ ท่านก็ทำประโยชน์มหาศาล เหมือนกัน

หลวงพ่อ: ประโยชน์นี่ มันประโยชน์ของใครไง ประโยชน์มากหรือน้อยขนาดไหน ที่เราทำเนี่ยเราก็คิดว่าจะให้ประโยชน์กับสังคม เหมือนกัน

โยม: หลวงพ่อก็ทำประโยชน์มากเหมือนกัน เพราะว่า ก็เราทำให้คนมีสติ รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก

หลวงพ่อ: จริงๆ ก็ทำ ไอ้ที่เขามาเนี่ย ตอนนี้ ถ้าเราเป็นสุภาพบุรุษด้วยกัน เราเป็นชาวพุทธด้วยกัน เป็นบัณฑิตด้วยกัน เห็นไหม พูดด้วยเหตุและผล เขาก็พูดด้วยเหตุและผลของเขามา เห็นไหม เขาพูดแล้วก็ลงในเว็บไซต์ แล้วธรรมดาลูกศิษย์เราก็ดูไปทั่ว เขาเห็นเข้า เขาตีความไม่แตก เห็นไหม เขาเห็นเข้าเขาก็สะดุดใจ แต่ให้เราพูด เราพูดชัดเจนไหม เราก็พูดของเรา เพราะด้วยเหตุผลอย่างนี้ มันต้องมาอย่างนี้ ๆๆๆ แล้วก็พูด เอ้า ตอนนี้มันก็วัดกันด้วยบัณฑิตไง บัณฑิตก็คือบัณฑิต เราคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เหตุผลของเขา เขาก็พูดเหตุผลของเขามา เราก็พูดเหตุผลของเรา เราก็บอกว่าชี้ไม่ได้แน่ เราก็บอกว่าไม่มีใครไปชี้หรอก ข้อเท็จจริงมันชี้เอง ความดีความชั่วในใจนั้นมันชี้เอง เราทำดีทำชั่วมันชี้ใจเราเองนะ มันจะต้องให้ใครไปชี้ เขาห่วงไงว่าใครจะมาชี้ ประสาเราน่ะ ประสาว่ามันมีข้อบกพร่อง ทุกคนกลัวทุกคนจะชี้เข้ามา เขาไม่คิด เขาไม่เข้าใจว่า

เราอยู่กับหลวงตามา หลวงตาสอนว่า “ถ้าเรามีความผิดพลาด มีความบกพร่อง ถ้าเรายังเห็นความผิดพลาดบกพร่องของเราได้ รับประกันได้เลยว่าคนนอกเขาต้องเห็นแน่นอน ความผิดพลาดความบกพร่องของเราเนี่ย เราต้องค้นต้องหาของเรา และต้องแก้ไขของเรา เพราะนี่เป็นความดีความชั่วในหัวใจของเรา เป็นธรรมเป็นกิเลสในใจของเรา เราต้องแก้ไขของเรา นี้คือการปฏิบัติธรรม” หลวงตาเน้นตรงนี้มาก แล้วสอนตรงนี้มาก ให้ทุกคนแก้ไขตัวเองอย่าไปแก้คนอื่น เราก็พยายามแก้ไขเรา

แต่เหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นมาเนี่ยเราอดทนมานาน เราอดทนมานานไม่ยุ่งมานานนะ แต่พอตอนหลังที่เราออกมายุ่ง เขาบอกว่า พุทโธ ก่อนหน้าเนี่ยเขาบอกว่าพุทโธมันทำให้ตัวแข็ง พุทโธทำให้เสียแรงทั้งชีวิต พุทโธทำให้... แหม.. แล้วมันพูดบ่อย พูดมาก พูดจนทุกคนไขว้เขวไง มันไม่มีผลประโยชน์ ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน แต่เขาปฏิเสธพุทโธ เขาเหยียบย่ำพุทโธ ว่าพุทโธทำให้ตัวแข็ง พุทโธเป็นฌาน พุทโธเป็นสมถะ พุทโธเนี่ยมันไม่ได้ประโยชน์

ตรงนี้ต่างหากที่ให้เราออกมาพูด เพราะหลวงตาบอกพุทโธเนี่ยมันกระเทือนสามโลกธาตุ พุทโธ ๆ คำเดียว บริกรรมพุทโธ ๆ เนี่ย กระเทือน 3 โลกธาตุ เพราะพุทโธ พุทธะเนี่ยมันผ่านกามภพ รูปภพ อรูปภพ และมาบอกว่าพุทโธไม่มีค่า จนเดี๋ยวนี้ตอนหลังกลับมายอมพุทโธแล้วไง เดี๋ยวนี้กลับมายอมพุทโธ เหตุที่พูดเพราะเหตุนั้นแต่อย่างอื่นไม่มี แล้วอย่างว่าจะเข้าไปชี้ถูกชี้ผิดน่ะ ไม่ แต่ในเมื่อมันมีข้อเท็จจริง เหมือนกับว่าโยนปัญหาเข้ามาในสังคม ในเมื่อเขาโยนปัญหา โยนประเด็นเข้ามาในสังคมเราต้องแก้ไข

โยม: แล้วอย่างปฏิบัติไปเนี่ยมัน... สติมันเริ่มคิดนะหลวงพ่อว่า มันพุทโธ ๆๆ ไม่มีเวลาพุทโธพอ ถ้าเกิดอยู่ในเพศฆราวาส

หลวงพ่อ: ไม่ เราพุทโธต่อเมื่อเราวาง แต่ถ้าเราทำงาน เราก็อยู่ตรงนั้น

โยม: มัน ผมว่ามัน ๆ ระยะทางมันไกล...

หลวงพ่อ: เดี๋ยวนะ มันไม่ใช่ระยะทางมันไกล หรือระยะทางไม่ไกล ระยะทางมันอยู่ที่ใจเรา มันต้องอยู่ที่ความไม่ย่อท้อต่างหาก ถ้าคิดอย่างนี้ย่อท้ออย่างนี้ กิเลสมันขี่หัวเลย ถ้าเราคิดย่อท้อนะ กิเลสมันขี่คอ แล้วขย่มให้เราทรุดลง ๆๆๆ

โยม: คิดว่า ถ้าเราบวชเนี่ย มันจะมีเวลามากกว่านี้เยอะมาก

หลวงพ่อ: แล้วดูพระเราสิ เวลาพระบวชแล้วทำไมภาวนากันเมื่อไหร่ ใช่ เวลาพระ ๒๔ ชั่วโมง แต่ถ้าบวชแล้ว ถ้ามันเข้าไปชินชาหน้าด้าน

โยม: ความ จริงมัน.. อย่างผมทำงาน.. พอ อยู่กับโลกนี่ กิเลสมันแทงอยู่ตลอดเลยน่ะ มันทำโน่น เราก็รู้ว่ามันผิดนะ อย่างเราติดต่อธุรกิจเนี่ย เราพูดไม่จริงแค่นิดเดียวมันแทงน่ะ มันแทง ๆ แล้วแบบ ไม่ไหว

หลวงพ่อ: สติสัมปชัญญะ คนมีสติสัมปชัญญะ ความระลึกรู้ ความละอาย ถ้าใจเป็นธรรมมันเป็นอย่างนี้

โยม: คือเราโลภ เราอ่ะ อยากได้ปุ๊บ มันก็แทงอีก มันก็จะแทงเรื่อย ๆ โห อยู่อย่างนี้มันลำบากนะ ถ้าเกิดเราอยู่กับพระมันน่าจะสบายกว่านี้

หลวงพ่อ: ในธรรมะบอกว่าทางของพระเนี่ยทางกว้างขวาง ทางของโยมเนี่ยทางคับแคบเพราะอะไร เพราะมันต้องทำมาหากินไง ทางของฆราวาสทางคับแคบ คับแคบจากตรงไหน คับแคบจากโอกาสที่จะภาวนาไง ทางของพระ ของนักบวชกว้างขวาง เนี่ย ๒๔ ชั่วโมง เนี่ย หัวรถจักร เราเป็นหัวหน้าเรารับผิดชอบหมดเลย เนี่ยพระที่มีหัวหน้าก็ได้สบาย เดี๋ยวบ่ายโมง เดี๋ยวฉันน้ำร้อน แล้วทำข้อวัตรแล้วก็ภาวนาทั้งวัน ถ้าวัดปฏิบัตินะ หัวหน้าวัดเข้มแข็งนะ โอกาสของพระจะมี

ถ้าหัวหน้าพระโง่นะ หัวหน้าก็จะเอาพระเนี่ยมาแสวงหาลาภสักการะเพื่อหัวหน้า แต่ถ้าหัวหน้าเสียสละเห็นไหม รับผิดชอบ แล้วหมู่คณะไปปฏิบัติ เพราะการรับแขกรับคนเดียวก็พอ ทีนี้มี ๒๔ชั่วโมงไง แต่ถ้าบวชแล้วเราไปคนเดียว ก็มีคนเข้ามาสัมพันธ์กับเรา อย่างบิณฑบาต มาอะไร ๆ เนี่ย มันก็มีเวลาปฏิบัติ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในวิสุทธิมรรค เห็นไหม อย่าไปในที่มีคนหมู่มาก อย่าไปที่ท่าน้ำ อย่าไปบนต้นไม้ อย่าไปวัดที่สร้างใหม่ อย่าหมดเลย ให้อยู่แต่ในที่สงบสงัด อย่างที่พูดถึงเมื่อกี้เนี่ย พูดอย่างนี้เนี่ยอยากปฏิบัติ แต่.. แต่ใจคนอย่างนี้เนี่ยนะมันเปลี่ยนแปลงได้ มันพลิกไปพลิกมาตลอด

โยม: พอฮึดปุ๊บ พอมาอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างนี้ เอ้ มันก็ชินชาแล้วก็เบื่อ

หลวงพ่อ: เบื่อ ต้องมีคนคอยกระตุ้น

โยม: ต้องฟังเทศน์บ่อย ๆ

หลวงพ่อ: ใช่ พระต้องคอยกระตุ้นหนึ่ง แล้วก็คอยออกธุดงค์ คอยออกเปลี่ยนสถานที่

โยม: แต่ธุดงค์นี่ อู้ หู เวลาเป็นพระแล้วต้องออกธุดงค์ไปคนเดียวนี่ผมกลัว

หลวงพ่อ: นี่ไง คิดถึงตรงนั้นสิแล้วดูใจของเรา เวลาที่เขาไปธุดงค์ ไปเจอเสือเจอสางเนี่ยเพราะว่ากลัวเนี่ยทำให้ตื่นตัว จำไว้ กลัว เราไม่ใช่เอากลัวมาเป็นโทษ เหมือนมรณานุสติเนี่ย คิดถึงความตายเตือนชีวิตเราว่าชีวิตเราจะตาย แต่คิดถึงความตายแล้วเศร้าสร้อยหงอยเหงาก็ทุกข์อีก

โยม: ใช่ บางทีผมก็เดิน ขับรถแล้วเห็นคนผู้หญิงหรือผู้ชายเนี่ยหน้าตาดี หน้าตาสวยจัง แต่ก่อนจะไม่ยอมเพราะผมไม่อสุภกรรมฐาน นี่ผมไม่ชอบ เพราะมันน่ากลัว พองี้ผมมาเริ่มทำการเทียบเคียง พอดูปุ๊บ อย่างผู้หญิงคนนี้สวย ผมก็เริ่มติ และก็เริ่มคิดในใจว่า ผม เขาก็มีเหมือนเรา เขามีเหมือนเราทุกอย่างเลย ตา จมูก หนังเหนิงอะไรอย่างเนี้ย สวยตรงไหน( หลวงพ่อ: ปัญญามันเกิด) มันก็ปล่อยมันก็โล่ง แต่พอมันไปอีกนะ กลับมาคิดเองนะหลวงพ่อ มันไม่หวังแล้ว มันจะเริ่มอัด ๆๆๆ เออ มันจะอัด แบบว่า เฮ้ยทำไมมันไม่เหมือนเมื่อกี้ล่ะ เมื่อกี้มันปล่อยมันโล่งหมดเลย

หลวงพ่อ: เหตุการณ์น่ะ เหตุการณ์ เนี่ยดีมากเลย มันมาเทียบกับกำลัง สมาธิคือกำลัง ขณะที่คิด ผมก็เป็นอย่างนั้น ทุกคนก็เป็นอย่างนั้นมันมีเป็นฐาน สมาธิมันดี ถ้ามีสมาธิเป็นฐานรองรับปัญญา มันจะเป็น โลกุตรปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิรองรับปัญญา มันจะเป็นโลกียปัญญา มันอัด ๆ เรา ใช่ไหม ไม่ใช่อัด ๆ ๆ ธรรมดานะ พอมันอัดนะ มันจะตอบขึ้นมาเลย มันเป็นธรรมดาเว้ย ผม มันก็ต้องสวยสิ (หัวเราะ) หนัง มันก็ต้องดีสิ

โยม: มันตอบว่า เอ๊ย ก็ช่วยไม่ได้นี่หว่า ก็จิตมันบังคับไม่ได้ มันอยากจะชอบอ่ะ

หลวงพ่อ: เนี่ย ให้เห็นโทษตรงนี้นี่ไง ถ้าภาวนาไม่เป็นมันจะไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงจากตรงนี้ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงจากตรงนี้ สมาธิถึงสำคัญ สำคัญไหม พุทโธ ๆ จึงสำคัญมาก เพราะมีพุทโธ ความคิดอย่างนั้นถึงเกิด ไม่มีพุทโธ ความคิดจะเป็นสามัญสำนึกหมด พุทโธ ที่จิตสงบ ความคิดจะเกิดอย่างนั้น นั่นล่ะโลกุตระ คือเป็นสัจธรรม โลกุตร คือธรรมเหนือโลก คือโลกเขาไม่คิดกันอย่างนี้ไง โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือสถานะของมนุษย์ มนุษย์เขาต้องคิดกันอย่างนั้น

โยม: แต่บางทีมันก็ไม่ได้มองที่ผม ที่หนัง บางทีอาจมองแค่ต้นขา แล้วก็เข้ามาเลยว่า เฮ้ย กระดูกเขาก็มีแบบเราอย่างนี้นะ เนื้อหนังตรงนี้เขาก็มีเหมือนเรานะ สวยตรงไหน ดีตรงไหน บางทีมันคิดเป็นท่อน ๆ มันไม่ได้คิดว่าเป็นจุดเป็นจุด

หลวงพ่อ: เวลา จังหวะเนี่ย นี่ไงถึงบอกว่า ปัจจุบันธรรม ถ้าคิดอย่างนี้ดีแล้วจะคิดซ้ำ นี่คือสัญญาแล้ว ที่เขาบอกว่าพยายามจำสภาวะ จำสภาวะ เป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย จำสภาวะจนเป็นสติ จำสภาวะจนเป็นธรรมเนี่ย จำสภาวธรรมเกิดปัญญาเนี่ย เป็นไปไม่ได้ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)