เทศน์พระ

มักง่าย

๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๓

 

มักง่าย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต


เทศน์พระ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธราม จ.ราชบุรี

วันนี้วันอุโบสถ โลกเห็นไหม โลกคือสังคม เวลาสังคมเขาอยู่กันน่ะ เขาเดือดร้อนนะ มีความทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง ทุกเป็นสัจจะต่อเมื่อคนเข้าถึงศาสนานะ พอเขาเข้าถึงศาสนานะ ทุกข์เป็นสัจจะหมายถึงว่า “มีสติมีสตังอยู่กับความทุกข์ไง”

แต่ถ้าคนไม่ถึงศาสนาทั้งๆ ที่มีทะเบียนบ้านเป็นชาวพุทธนะ เวลาทุกข์ขึ้นมามันทำร้ายตัวเองเลยน่ะ คือทุกข์จนไม่มีทางออก ทุกข์แล้วไม่มีทางออก ทุกข์แล้วมืดมนแปดด้าน แต่ถ้าคนมีศาสนานะ เวลาทุกข์ขึ้นมาน่ะ นี่ไง พระพุทธเจ้าสอนไว้ ทุกข์คืออริยสัจ ทุกข์คือความจริง โลกเขาเป็นกันอย่างนั้น แล้วโลกมันบีบคั้นมาตลอด ยิ่งเจริญขนาดไหน ยิ่งมีแต่ความทุกข์นะ เพราะยิ่งเจริญขนาดไหนนะ พอเจริญขนาดไหน เรื่องของกฎกติกาไง พอเรื่องกติกา เรื่องกฎหมายน่ะ มีกฎหมายทั้งนั้น

ตอนนี้ ดูทางโลกสิ ดูทางเศรษฐกิจมีปัญหามากเลย เพราะอะไร เพราะเวลาเป็นผู้นำแล้วมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ก็บีบบังคับให้ผู้มีกำลังน้อยกว่าต้องจุนเจือ ต้องลงทุน ต้องตั้งงบประมาณขึ้นมาเพื่อ แล้วก็เป็นลูกโซ่ไปตลอดเลย คือมันไม่มีใครเป็นอิสรภาพได้เลย

แล้วอยู่กันด้วยความทุกข์นะ ไม่มีทางออกเห็นไหม คนไม่มีทางออกก็ต้องอยู่กันบนสภาวะแบบนั้น แต่พวกเราเห็นแล้วว่าโลกมันเป็นความทุกข์ พอโลกเป็นความทุกข์ขึ้นมา เราเกิดขึ้นมา ชีวิตนี้เรามีสัจจะ เรามีศาสนา เรามีสติ มีปัญญา เราเห็นว่าโลกนี้เป็นความทุกข์ แล้วบวชขึ้นมามันจะหายทุกข์เหรอ

บวชขึ้นมาก็เหมือนโลกนั้นน่ะ ก็มนุษย์แล้วมาบวชเป็นพระ พอเป็นพระมันก็เหมือนกับความคิดโลกๆ นั้นน่ะ แต่ความคิดโลกๆ น่ะเราต้องมีสติ มีปัญญาของเรา เราต้องพยายามสร้างเนื้อสร้างตัวให้ได้ ถ้าเราสร้างเนื้อสร้างตัวให้ได้เห็นไหม ศากยบุตรพุทธชินโนรส

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นถึงลูกกษัตริย์นะ เวลาออกมาจากราชวังเห็นไหม เป็นกษัตริย์ ดูสิ ทางโลกถ้าเราเป็นกษัตริย์ขึ้นมา ทำไมเราปกครองคน เรามีศักยภาพอย่างนั้น ทำไมเราจะไม่อยากเป็น ทุกคนอยากเป็นกษัตริย์

นี่พูดถึงสมัยโบราณ คำว่ากษัตริย์คือผู้ยิ่งใหญ่ในแว่นแคว้นนั้น นี่ผู้ยิ่งใหญ่ คำพูดทุกคำเป็นกฎหมาย เป็นกติกา ตัดหัวใครก็ได้ เป็นผู้ที่มีอำนาจมากเลย แต่ ! แต่อำนาจนี้เป็นของร้อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ผู้ที่วิ่งเข้าไปแสวงหาอำนาจกันน่ะ วิ่งเข้าไปกอดกองไฟกัน” เพราะอำนาจใช่ไหม มีอำนาจก็มีการปกครอง ทุกคนก็ต้องแย่งชิงอำนาจนั้น

ดูสิ คนที่มีอำนาจนั้นเสียคนหมด อำนาจทำให้คนเสีย คนดีๆ นี่ พอมีอำนาจขึ้นมาเห็นไหม มีคนมาสอพลอ มีคนมาเอาผลประโยชน์เห็นไหม อุ๊ย..ถูกต้อง ดีงาม มีแต่ยกยอปอปั้น อำนาจทำให้คนเสีย ถ้าพอมีอำนาจขึ้นมาแล้วคิดว่าอำนาจจะอยู่กับเราเหรอ อำนาจจะอยู่กับเราต่อเมื่อเราเป็นคนดีต่างหาก อำนาจจะอยู่กับเราต่อเมื่อเป็นธรรม

ถ้าเราเป็นธรรมแล้วเราปกครองด้วยความเป็นธรรม อำนาจจะอยู่กับเราตลอดไป แต่ถ้าเราเป็นคนมีกิเลส พอมีอำนาจขึ้นมา มันจะมักใหญ่ใฝ่สูง มันมีอำนาจขึ้นมาแล้วมันจะกดขี่เขา อำนาจจะอยู่กับคนๆ นั้นได้อย่างไร อำนาจมันอยู่กับคนบ้า พอมีขึ้นไป คนดีๆ นี้แหละ วิ่งเข้าไปหาอำนาจกัน ช่วงชิงอำนาจกัน อยากจะเป็นกษัตริย์ อยากเป็นผู้ปกครอง

แต่พอเขาเป็นผู้ปกครองนะ คนเป็นผู้ปกครองแล้วจะทุกข์มาก ทุกข์มากเพราะอะไร เพราะถึงเวลาเขาหลับนอน เขาเป็นผู้ใต้ปกครองเขาพักผ่อนของเขา แต่ผู้ปกครองน่ะ กินไม่ได้นอนไม่หลับนะเพราะเป็นผู้รับผิดชอบเขา นี่พูดถึงอำนาจคือไฟ ทุกคนวิ่งเข้าไปหากองไฟ เข้าไปกอดกองไฟ แล้วบ่นว่าร้อนๆ ร้อนๆ แต่ไม่บ่นว่าร้อนน่ะ เป็นผู้ปกครองหรือว่าเป็นความทุกข์ เป็นความทุกข์เพราะอะไร เพราะมันไม่เป็นอิสระใช่ไหม

นี่พูดถึงโลก พอพูดถึงโลก ถ้าเราบวชแล้วเห็นไหม เราบวชเป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมาน่ะ โลกมันเป็นของร้อน เราอุตส่าห์หลบจากของร้อนแล้วเข้ามาพึ่งร่มโพธิ์ร่มไทรใบบุญพระพุทธศาสนา ถ้าเราพึ่งใบบุญในพระพุทธศาสนา เราเป็นคนที่เวลาญาติโยมเขาทำบุญกุศลเขายกย่อง เขาสรรเสริญ เขายกมือไหว้ เขาต้องการให้นักรบ ให้พระมีคุณธรรม เพื่อเป็นที่ยึดที่เหนี่ยวของเขา

ถ้าเป็นที่ยึดที่เหนี่ยวของเขา เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา คำว่ามีหลักมีเกณฑ์ของเรานะ ก็ต้องมีสติ มีปัญญา เราอย่าสุกเอาเผากินนะ ทำอะไรก็สุกเอาเผากิน มักง่าย การสุกเอาเผากิน การมักง่าย ทำให้คนเสียเห็นไหม โลกเขาเสียเพราะเขามีอำนาจ แต่เวลาเรามาบวชเป็นพระเรามีอำนาจไม่ได้ เพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ให้สงฆ์เป็นใหญ่ ” ธรรมและวินัยมีค่าเสมอภาค มีค่าเท่ากัน มีสิทธิเสมอภาค

เวลาผิดศีล มันผิดโดยตัวของข้อเท็จจริงนั้น ไม่ใช่ผิดเพราะใครไปดูแลใคร ใครไปเพ่งโทษใครแล้วคนนั้นจะผิดศีล คนจะผิดศีล คนจะเป็นอาบัติไม่ใช่คนจะไปเอากฎหมายไปคล้องคอใคร ไปบังคับใช้ใคร กฏหมายเป็นกฎหมาย ธรรมวินัยเป็นธรรมวินัย ธรรมวินัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วน่ะเป็นธรรมวินัย

เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดเห็นไหม เคารพบูชา ลงใจ ลงธรรมและวินัย แต่ถ้ามันไม่เคารพบูชาธรรมวินัย มันเหยียบหัวธรรมของพระพุทธเจ้าไป เหยียบหัวพระพุทธเจ้าคือเหยียบหัวธรรมวินัยนั้นไป ถ้ามันเหยียบหัวธรรมวินัยนั้นไปเพราะอะไร เราคิดว่าเรามีอำนาจไง ถ้าเรามีอำนาจ นี่ไง มักง่าย

ถ้าความมักง่ายนะ ความมักง่ายของคน แต่ถ้าเราไม่มักง่ายของเราเห็นไหม เรามีสติปัญญาของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาของเรา เราลงธรรมลงวินัย แล้วเราไม่เหยียบย่ำ เราไม่เหยียบข้ามไป ความผิดพลาดหรือความผิดต่างๆ มันเป็นอาบัติ มันเป็นเพราะการกระทำ มันเป็นเพราะข้อเท็จจริงที่มันเป็นขึ้นมา มันไม่ได้เป็นเพราะใครเขามาเพ่งโทษใคร ใครเขามากลั่นแกล้งใคร ไม่มีหรอก ! ไม่มี ! เห็นไหม ต้องเอื้อเฟื้อในธรรมวินัย เวลาบวชเป็นพระนี่ต้องเอื้อเฟื้อ ถ้าไม่เอื้อเฟื้อนี่ปรับอาบัติปาจิตตีย์นะ เอื้อเฟื้อในธรรมในวินัย เอื้อเฟื้อคือเราจะไปแกล้งเขาได้อย่างไร

ภิกษุจี้เอวภิกษุให้หัวเราะจนตายเป็นอาบัติปาจิตตีย์ นี่ไปดูซิ เดี๋ยวจะสวดอุโบสถอยู่นี่ ภิกษุหยอกล้อเล่นกันเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ภิกษุว่ายน้ำเล่นเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เวลาลงอาบน้ำเล่นเห็นไหม อาบน้ำส่วนอาบน้ำ แต่คนเล่นน้ำนะ การเล่นน้ำ การว่ายน้ำน่ะเป็นการเล่น

การเล่นน่ะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ มันผิดโดยข้อเท็จจริงที่คนทำน่ะ คนไหนทำคนนั้นก็เป็นน่ะ มีใครบ้างเอากฎหมายไปผูกคอคนอื่น มันไม่มีหรอก ! พอมันผิดปั๊บเพราะคนนั้นทำขึ้นมาเอง ถ้าคนนั้นทำขึ้นมาเองเห็นไหม สิ่งที่ผิดขึ้นมามันก็โดยที่การกระทำอันนั้น

ถ้าผิดที่การกระทำอันนั้น เรามีสติปัญญาของเรา เราไม่ทำสิ่งนั้น แต่ถ้าเราเอื้อเฟื้อในธรรมวินัย เราทำสิ่งใดที่ผิดเราก็ไม่ทำ เราไม่ทำนะ เว้นไว้แต่ ภิกษุไข้ เว้นไว้แต่ภิกษุเสียสติ เว้นไว้แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เว้นไว้แต่เป็นไปไม่ได้คืออะไร.. คือผู้เฒ่าไง เวลาแก่ ๗๐ หรือ ๘๐ ปี ขึ้นมาทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก ถ้าทำอย่างนั้นไม่ได้เห็นไหม ยกเว้นเป็นพระภิกษุเฒ่า เสขิยวัตรเห็นไหม เสขิยวัตรแสดงธรรมต่อผู้ที่เรายืนอยู่ โยมนั่งอยู่แล้วแสดงธรรม เราเป็นอาบัติทุกกฎ เขาไม่ป่วยไข้ นอนอยู่ แล้วเราแสดงธรรมเป็นอาบัติทุกกฎ

เสขิยวัตรก็บอกไว้แล้ว เพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นการเคารพ ถ้าไม่ลงเห็นไหม เป็นการเคารพ แต่ถ้าเขาป่วยไข้มันไม่เป็นอาบัติเห็นไหม

แต่ถ้าเขาป่วยไข้ เขาลุกไม่ได้ เขาต้องการธรรมะ เขาต้องการสิ่งที่จะเยียวยาเขา เราแสดงธรรมต่อเมื่อคนที่เป็นไข้ เขานอนอยู่เราแสดงธรรมได้

แต่ถ้าเขาเป็นคนปกติ เขานอนอยู่แล้วเราไปแสดงธรรม เหมือนกับเราเคารพบูชาเขา ถ้าเราเคารพบูชาเขา นี่ไง ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เอื้อเฟื้อในธรรมวินัย ถ้าเอื้อเฟื้อในธรรมวินัย มันไม่มีใครทำร้ายใครหรอก แต่ถ้ามีการทำร้ายเห็นไหม ดูสิ การเล่น การหยอกล้อกันเห็นไหม

เวลาหลวงตาท่านพูด “เวลาเรียนปริยัติอยู่ เขาเป็นลิง เราก็เป็นลิง เป็นลิงแบบของเขา ในเมื่อเป็นหมู่คณะกัน มนุษย์น่ะ คนเล่นกัน คนอะไรกัน เล่นก็คือเล่น”

พอเล่นเสร็จแล้วนี่ เวลาเพ่งโทษกันว่าสิ่งนั้นเป็นอาบัติ สิ่งนั้นเป็นอาบัติ ก็เราไปเล่นกับเขา ถ้าเราไม่ไปเล่นกับเขามันก็จบไง เล่นก็คือเล่นเห็นไหม ยกเว้น.. คำว่ายกเว้นภิกษุไข้ ภิกษุผีเข้า ภิกษุต่างๆ นี่ยกเว้น ถ้าการยกเว้นเขามีข้อแม้อะไร เขามีความเป็นไข้ เขาเป็นอย่างไร เห็นไหม ถ้าเราไม่มักง่าย เรามีสติปัญญาของเรานะ สุกเอาเผากินน่ะทำให้เสียหาย

เราเป็นพระนะ เราบวชมากับโลกเห็นไหม ดูสิ เราเกิดมากับโลก แล้วเราบวชมาเป็นพระ ถ้าบวชเป็นพระมันก็เป็นโลกอยู่ เราจะให้ธรรมเป็นธรรมขึ้นมา เราอย่าสุกเอาเผากิน การสุกเอาเผากินมันทำให้เสียหาย ถ้าการสุกเอาเผากิน ชีวิตของเรา ความเป็นอยู่ของเรา เราอยู่กันเป็นหมู่คณะ ถ้าอยู่เป็นหมู่คณะเห็นไหม ดูวิสาสะ

คำว่า “วิสาสะ” เห็นไหม ดูมิตรแท้นะ ถ้ามิตรแท้เวลาเขาติฉินนินทา มีคนว่ากล่าวมิตรของเรา เรายังปกป้องดูแลนะ เราจะกล่าวแทน ถ้ามิตรเทียม คนเทียมมิตร เห็นไหม ไม่ต้องกล่าวหรอก เรานำเลย เราเปิดประเด็นเอง นั้นน่ะคนเทียมมิตร ต่อหน้าถือว่าเป็นมิตร พอลับหลังเอามาทำลายกัน แต่ถ้ามิตรแท้ล่ะ มิตรแท้แม้แต่เขาอยู่ลับหลัง แต่มีคนกล่าวจาบจ้วง เราปกป้องดูแลเห็นไหม เรากล่าวแก้แทน นี่มิตรแท้ !

สิ่งที่เป็นมิตรแท้เห็นไหม แล้วมิตรแท้สิ่งนี้เราจะหาได้ที่ไหนล่ะ สิ่งที่เราหวังพึ่งกัน มันก็พึ่งกันแต่ภายนอก แต่ถ้าเราหวังพึ่งใจของเราล่ะ เราพึ่งธรรมนะ สมบัติของพระ เราเห็นไหม ศีลธรรมเป็นสมบัติของเรา เรามีศีล เรามีธรรมของเรา เรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญาของเรา เป็นสมบัติของเรา เราอาศัยกัน เราเกื้อกูลกันเห็นไหม เป็นสหธรรมมิก สิ่งที่เป็นคู่บัดดี้ สิ่งที่เราอยู่ด้วยกัน ถ้าเราอยู่ด้วยกันด้วยความไว้วางใจกัน สิ่งที่ควรผิดพลาดก็คือผิดพลาดกัน

แต่นี้คนมันเข้ากันโดยธาตุ ถ้าธาตุของเรามันไม่เสมอกัน มันไม่เท่ากัน ความเห็นต่างๆ มันจะแตกต่างกันไป แล้วมันอยู่ที่ความมุ่งหมายด้วย ถ้าความมุ่งหมายของเราจะพ้นจากทุกข์ ความพ้นจากทุกข์นะ เราหนีทุกข์มาเห็นไหม เพราะโลกนี้เป็นทุกข์

โลกนี้เป็นทุกข์เพราะอะไร เพราะเขาคิดของเขาเห็นไหม ดูซิ เวลาโลกนี้เจริญขึ้นมา วิทยาศาสตร์เจริญขึ้นมาคือความสะดวกสบายของชีวิต ในเมื่อมันมีความสะดวกสบายของชีวิต ทุกคนก็อยากจะหาความสะดวกสบายทั้งนั้นน่ะ ทุกคนต้องหา แล้วความสะดวกสบายนั้นมันเป็นจริงไหมล่ะ มันเป็นความจริงของเขาไหม

โลกเขาแสวงหาสิ่งนั้น แต่เราอยู่กับโลกเขา เรามีความเร่าร้อนเห็นไหม เราเสียสละมาแล้ว เรามาบวชเป็นพระเป็นเจ้า มาเป็นพระเป็นเจ้าเพื่ออะไร เพื่อเห็นภัยในวัฏสงสาร เราจะเอาตัวรอดให้พ้นจากกิเลสให้ได้ เพราะอะไร เพราะมีเรา โลกนี้มีเพราะมีเรานะ

ถ้าเราไม่มีกับโลกนี้ เราก็เป็นฝุ่น เป็นอากาศธาตุไป โลกเขาเป็นอยู่อย่างนี้ ทุกคนเป็นพันๆ ล้านเขามีเวรมีกรรมของเขา สภาคกรรม กรรมของเขาเกิดขึ้นมา ดูสิ ฝนตกแดดออก ดูสิ มีวาตภัยขึ้นมาตายเป็นร้อยเป็นพัน ทำไมถึงไปตายที่นั้นน่ะ ทำไมภูเขาดินมันถล่มมาทับทีตายเป็นร้อยเป็นพัน มันเป็นเพราะเหตุใด

เพราะเขามีกรรมร่วมกันมา ถ้ามีกรรมร่วมกันมา เราก็เกิดมามีสภาวะกรรมร่วมกันกับเขา ถ้าสมมุติว่าโลกเป็นของร้อนเห็นไหม เราเสียสละออกมา เราออกจากโลกมาแล้วอย่าไปติดพันมัน ถ้าออกจากโลกมาแล้วเห็นไหม เวลาอยู่กับโลกอยากจะเป็นพระเป็นเจ้า อยากประพฤติปฏิบัติ พอออกมาประพฤติปฏิบัติก็มัวมาแต่คิดถึงแต่เขา โลกจะเป็นอย่างนั้น โลกจะเป็นอย่างนั้น โลกมันเป็นของเขาอย่างนั้นอยู่แล้ว

แต่ถ้าเรามีคุณธรรมของเรา เราจะช่วยเหลือเจือจานกัน เราก็จะให้ขวัญกำลังใจเขา นะ ถ้าสิ่งที่เป็นสภาวะแบบนั้น มันก็เป็นไปตามกระแสกรรมอันนั้น ถ้ากระแสกรรมอย่างนั้น ถ้าโลกเป็นอย่างนั้นเราวางโลกได้ไง ถ้าเราวางโลกแล้วเราต้องเอาใจเราให้ได้ ถ้าเราเอาใจเราได้ เราจะไม่มักง่าย

สุกเอาเผากิน ทำอะไรก็สุกเอาเผากิน ถ้านิสัยมันสุกเอาเผากินขึ้นมา เราจะตั้งสติได้อย่างไร เพราะการสุกเอาเผากินเห็นไหม เวลาคนอื่นมีความผิดเห็นได้หมดนะ แต่เวลาความผิดของเราล่ะ ความผิดของเรา เราต้องเห็นของเรา เราต้องเข้าใจของเรา แล้วมันเป็นที่ว่ามีหูมีตานะ หูตานี่ มันไม่ใช่หูไม้ไผ่ ไม่ใช่ตาไม้ไผ่ เห็นไหม หูกระทะ เป็นทัพพีขวางหม้อ

มันศึกษามาแล้วมันต้องดู สังเกตซิว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร ภิกษุเป็นอาบัติเพราะไม่ควร ! ภิกษุเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นอาบัตินั้น ภิกษุเลลังสงสัยอยู่ ของที่ไม่ควรทำแล้วทำก็เป็นอาบัติแล้ว มันต้องสังเกตไง แล้วศึกษามาก็ศึกษามาแบบซื่อบื้อ แหม.. ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองนะ ท่องได้หมดเลยน่ะ

พระไตรปิฎกเห็นไหม ดูสิ พระพม่าเขาท่องได้ทั้งตู้นะ มีสูงสุดของเขาคือพระไตรปิฎกทั้งตู้จำได้หมดเลย เหมือนกับท่องนวโกวาท เหมือนกับท่องปาฏิโมกข์ เราสวดปาฏิโมกข์ได้ เขาสวดพระไตรปิฎกทั้งตู้นะ พระพม่าเขาสวดกันเป็นตู้ๆ เขาสวดได้หมดเลย สิ่งนั้นมันเป็นความจำใช่ไหม มันเป็นความจำ

นี่ก็เหมือนกัน ถ้ามันเป็นความจำน่ะ เราท่องได้หมดเลย เรารู้ได้หมดเลย แต่เพราะไม่สังเกต ถ้าเราสังเกตเสียหน่อย อะไรควรหรือไม่ควร คำว่า “ควรหรือไม่ควร” ควรทำหรือไม่ควรทำ ไม่อย่างนั้นเราจะมีครูบาอาจารย์ทำไม

หลวงตาท่านพูดน่ะ อยู่กับหลวงปู่มั่น เวลาปูที่นอนจะเอาช็อกขีดไว้เลยนะ ปูนี่ไม่ให้เคลื่อนแม้แต่นิดเดียวเลยนะ เวลาหลวงปู่มั่นขึ้นมาจับเลย ผิด ! ผิด ! ผิด ! สะบัดทิ้งหมดเลย หลวงตาท่านบอกว่า ตอนนั้นท่านเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ ท่านก็งงอยู่นะ

แต่พอสุดท้ายเวลาท่านเล่าให้หมู่คณะฟังเวลาท่านเทศน์ พอเล่าเสร็จท่านก็หัวเราะด้วย ท่านก็ขำของท่านนะ เวลาปูให้น่ะเอาช็อกขีดไว้ คือว่าเอาช็อกขีดไว้นะแล้วไม่ให้ขยับเลย มันจะผิดได้อย่างไร มันก็ไม่ผิดใช่ไหม แต่ท่านขึ้นมา ท่านก็จับที่นอนสะบัดเลย ผิดๆ.. แล้วท่านก็ยังคิดไม่ออก

แต่เวลาพอท่านโตขึ้นมานะ ท่านบอกว่า ผิด ! เพราะผิดที่ความรู้สึกเราไง ผิดเพราะหัวใจของเราไง ท่านยังชมว่าหลวงปู่มั่นนี้สุดยอด ในเมื่อความรู้สึกของเรา ความนึกคิดของเรามันเป็นนามธรรม แล้าถ้ามันไม่มีรูปธรรม แล้วสิ่งที่เป็นความรู้สึกของเรา เพราะเรามีความรู้สึก เรามีความนึกคิด พอเรามีความรู้สึกมีความนึกคิดปั๊บ เราไปจับที่นอนของท่าน พอไปจับที่นอนของท่าน เราก็ปูไปใช่ไหม..

การปูที่นอนน่ะ ที่นอนมันเป็นวัตถุใช่ไหม เอาช็อกขีดไว้น่ะมันจะคลาดเคลื่อนไปไหน แต่ความคิดเราน่ะ.. ความคิดของเรา ที่เราจับสิ่งที่เราทำอยู่นั้นอยู่น่ะ มันผิดตรงความคิดเราน่ะ หลวงปู่มั่นขึ้นมาจับเลย รื้อหมดเลย ผิด ! ผิด ! ท่านก็บอกว่าแล้วมันผิดตรงไหน ก็ขีดเส้นไว้แล้ว

นี่ถ้าจะพูดถึงเปรียบเทียบทางโลกไง มันไม่เห็นผิดตรงไหนเลย เพราะก็ขีดเส้นน่ะ แต่มันผิดเพราะความคิดเราน่ะ มันผิดเพราะความรู้สึกของเราน่ะ แต่ท่านเมตตาเรา ท่านจะสอนเห็นไหม นี่ไงการสอนคน การสอนคนน่ะในเมื่อความคิดเป็นนามธรรม แล้วความคิดนี่เป็นความคิด แล้วจะเอาอะไรมาสอน ก็เอาสิ่งที่เป็นความคิดใช่ไหม เพราะมนุษย์มีความคิดใช่ไหม เพราะมนุษย์มีความคิดมันถึงบังคับให้ร่างกายมันเคลื่อนไหวใช่ไหม บังคับให้มือนี้ไปจับเอาที่นอนของท่าน เอาสิ่งที่เราจับต้อง ที่อุปัฏฐากท่าน เราก็วางไว้ตามนั้น แต่ความคิดเราคิดอะไร ท่านถึงขึ้นมาท่านรื้อหมดเลย ผิด ! ผิด ! ผิด !

หลวงตาท่านพูดไปท่านก็หัวเราะไป หัวเราะต่อเมื่อเรารู้ทันนะ แต่ถ้าเราไม่รู้ทัน เราก็งงเป็นไก่ตาแตก

ในปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน ในปัจจุบันที่เรากำลังปฏิบัติกันอยู่ เราพยายามจะรื้อค้นหาตัวเราเองน่ะ เราก็งงเหมือนไก่ตาแตกนะ เรางงเป็นไก่ตาแตกน่ะอะไร ? ธรรมะมันคืออะไร สติมันคืออะไร สมาธิปัญญาที่มันจะเกิดขึ้นน่ะมันมาจากไหน เราก็ทำกันอยู่ทุกวันนี่ไง ทำอยู่นี้ มันก็นกแก้วนกขุนทองไง เขาท่องจำได้หมดน่ะ เห็นไหม เพราะความมักง่าย

มักง่ายคืออะไร มักง่ายคือว่าสิ่งนี้มันเป็นตำรา สิ่งนี้มันเป็นหนังสือ สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ศึกษามา พอศึกษามาเราก็ท่องจำมัน จำแม่น.. ทุกอย่างแม่นหมดเลย นี่ไง เรามักง่าย มักง่ายเพราะอะไร เพราะเราไม่เอามาตีแผ่ไง เราไม่เอาการศึกษานี้มาแยกแยะว่าอะไรควร หรืออะไรไม่ควร สิ่งนี้มันควรทำหน้าหรือทำหลัง ทำเสร็จแล้วมันได้ผลประโยชน์อะไรกับเรา

ในเมื่อกิเลสทิฏฐิมานะมันมีอยู่ในหัวใจ มันจะผิดไปไหนล่ะ ก็ออกจากพระไตรปิฎกเป็นดุ้นๆ เลย ! ออกมาก๊อบปี้มาถูกต้องดีงาม ก็เหมือนหลวงปู่มั่นไง นี่ไง ขีดเส้นเอาไว้เลย.. ปูที่นอนขีดเส้นเอาไว้เลย.. ท่านขึ้นมาท่านรื้อทิ้งหมดเลย

“ผิด ! ผิด ! ผิด ! ผิด !”

“แล้วถูกทำอย่างไร”

“ถูกก็ปูอย่างนี้ซิ ปูอย่างนี้” ท่านก็ปูให้ดูเลย ทำอย่างนี้ซิ ทำอย่างนี้เป็นความถูก ถ้าทำถูกแล้วเราจะทำไง อ้าว.. คนหนึ่งทำถูก คนหนึ่งทำผิด

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เราก็จำมาทั้งหมดเลยน่ะ เป็นสิ่งที่เรารู้สึก เรารู้หมด เราเข้าใจได้หมดเลย เราเข้าใจว่า.. กิเลสหัวเราะแล้ว เพราะเราเข้าใจว่า เราเข้าใจว่ามันส่งออกเห็นไหม เราเข้าใจว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วกิเลสล่ะ ?

เราเข้าใจว่าธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วเราได้อะไร เราบวชมานี้เราบวชมาเพื่อใคร เราบวชมาเพื่อจะชำระกิเลสเราใช่ไหม เราบวชมาเพื่อเราจะค้นหากิเลสเราใช่ไหม เราบวชมาเพื่อจะทำความสงบของใจใช่ไหม เราไม่ได้บวชมาว่าพระพุทธเจ้าพูดอย่างนั้น !

เริ่มต้นที่เรามาบวชกันอยู่นี่ ใช่ ! ศากยบุตรพุทธชินรส เราเชื่อมั่นศรัทธาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไม่ใช่ชาวพุทธในทะเบียนบ้าน เราเป็นชาวพุทธโดยสัจจะของเรา ในเมื่อเรามีสัจจะของเรา คือมีความรู้สึกของเรา เราศรัทธา เรามีความเชื่อ เราทุกข์ร้อน เราเห็นโลกมันร้อน เราพยายามที่จะมาบวชเป็นพระเป็นเจ้าเพื่อจะมาต่อสู้ มันเป็นศรัทธาความเชื่อของเรา เราบวชมาเพื่อพระพุทธเจ้า เราบวชมาเพื่อบูชาธรรมของพระพุทธเจ้านั้นแหละ

แต่เวลาเราบวชขึ้นมาแล้ว เราจะเอาธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งดุ้นอย่างนี้เห็นไหม นี่ไง มักง่าย มันสุกเอาเผากิน เพราะกิเลสมันสุกเอาเผากัน มันเลยศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า แต่ตัวเองไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ศึกษาตัวเอง ไม่ได้ศึกษากิเลสของตัว ไม่ได้ทำใจของเราจนสงบ ไม่ได้เห็นความพลิกแพลงของตัวเองเลย

แต่เห็นธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ธรรมของพระพุทธเจ้าจำได้หมดเลย ทำเหมือนเปรี๊ยะเลย ไม่มีอะไรผิดเลย เห็นไหม สุกเอาเผากิน มักง่าย ! กล่าวตู่ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมของเรา ธรรมของเรายังไม่มี ! ธรรมของเรามีเราต้องตั้งใจของเรา แล้วเราต้องพยายามทำของเรา อย่ามักง่าย เพราะความมักง่ายทำให้เราเสียหายมาตลอด เพราะความมักง่าย ความสุกเอาเผากิน ความไม่มีสติสตัง

ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระไตรปิฎกกี่ตู้ก็ได้ สั่งมาอีก ๑๐ ตู้เลย มันก็เป็นธรรมะในพระไตรปิฎก ท่องได้หมดเป็นนกแก้วนกขุนทอง ท่องได้ทั้งเล่ม ท่องได้หมดเลย ธรรมะพระพุทธเจ้าอยู่ในตู้พระไตรปิฎกไง นี่ยังดีนะนี่ยังท่องนะ ยังดียังเปิดมาดูแลรักษานะ วัดทั่วไปเขาใส่ล๊อกกุญแจไว้ด้วย กลัวขโมย

หลวงตาบอก เอาธรรมะพระพุทธเจ้ามาขังไว้ในตู้ แล้วตัวเองทำอย่างไรมันอีกเรื่องหนึ่ง ธรรมะพระพุทธเจ้านะเอาไว้ในตู้ เราเอาไว้กราบ แต่ความคิดของเราเป็นความคิดของเรา แต่นี่เราศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเห็นไหม เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ญัตติจตุตถกรรม พิธีการบวชนี้ บวชด้วยธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เราเกิดมาจากธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นสมมุติสงฆ์ด้วยธรรมและวินัย แต่ข้อเท็จจริงล่ะ ข้อเท็จจริงที่ว่าเราจะปราบกิเลสเรา เราจะเอาสติปัญญา เอาสมาธิ เอาความร่มเย็นเป็นสุขในใจเรา พอมีสติปัญญาขึ้นมามันไม่มักง่ายนะ

เพราะ ! เพราะถ้ามีสติปัญญา กว่าจะทำความรื่นเริงของใจ กว่าจะทำความสงบของใจขึ้นมานี่ มันก็ทุกข์ยากขนาดไหนแล้ว แล้วสิ่งที่มันด้านชา จิตใจด้านชา ฟังธรรมทุกวัน ฟังจนชินหู พูดจนชินปาก แต่ใจมันด้าน ความดื้อด้าน ! พอความดื้อด้านขึ้นมา มันอ้างธรรมของพระพุทธเจ้า ว่างๆ มันเป็นการก๊อบปี้ มันเป็นเรื่องสัญญาอารมณ์ มันไม่เป็นความจริงเลย !

แต่ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมาเห็นไหม พุทโธ พุทโธ จนมันสงบขึ้นมาได้ ถ้ามันสงบขึ้นมาได้นะ มันจะมีหูมีตานะ จิตเราสงบเรามีหูมีตา เพราะอะไร เพราะมีการกระทำ ดูสิ ดูนักกีฬาเห็นไหม เวลาเขาฝึกซ้อม นักกีฬาเขาวิ่งวันละ ๒๐-๓๐ กิโลนะ เช้าเย็น.. เช้าเย็น.. เช้าเย็น นักมวยมันวิ่งแล้ววิ่งอีก.. วิ่งแล้ววิ่งอีก ทั้งวัน ทั้งวัน ทั้งวันน่ะ มันวิ่งทำไม นักกีฬาอาชีพต้องซ้อม ๗ – ๘ ชั่วโมงต่อวัน เขาซ้อมวันละ ๗-๘ ชั่วโมงนะ ถ้าเขาไม่ซ้อม ๗-๘ ชั่วโมงนะ สิ่งที่เขาชำนาญมันจะแข็งกระด้างไปหมดเลย

แล้วเราภาวนาอะไร นั้นนักกีฬาอาชีพนะ นั่นเป็นวิชาชีพของโลกเขานะ แล้วเราจะเอาชนะกิเลสนะ เราจะทำอย่างไร ถ้าเราจะทำ เราต้องมีสติปัญญาของเรา เราต้องตั้งใจของเรา ถ้าเราตั้งใจของเราเห็นไหม เรากำหนดสติปัญญา

สติ ! สติคือการระลึกรู้ ระลึกรู้เรากำหนดพุทโธก็ได้ ปัญญาอบรมสมาธิก็ได้ สติปัญญา ปัญญาที่ใช้อยู่นี้ เป็นปัญญาที่เป็นโลกียปัญญา ปัญญาที่เกิดจากเรา ปัญญาที่เกิดจากศรัทธาความเชื่อ ใช้ปัญญาใคร่ครวญไป

สิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ต้องตั้งสตินะ “ควร” และ “ไม่ควร” ถ้าไม่ควร.. ไม่ควรทำ ไม่ควรเห็นไหม เรารอให้มันถึงกาลแล้วเราทำ พอทำเสร็จแล้วนะ คำว่าควรและไม่ควรคือข้อวัตรปฏิบัติ

แต่เวลาตั้งสติ มันไม่มีที่ไหนควรและไม่ควรหรอก เพราะอะไรรู้ไหม เพราะสติมันอยู่ในจิตเราไง สติอยู่ในร่างกายเรา ความคิดอยู่ในร่างกายเรา อยู่ที่ไหนก็ทำได้ ถ้าการภาวนามันไม่ผิดพลาด มันไม่มีอะไรเสียหาย แต่ถ้ามันออกมามีการกระทำออกมาจากภายนอกเห็นไหม สิ่งนี้น่ะมันควรและไม่ควร

คำว่า “ควรและไม่ควร” ดูสิ เดี๋ยวนี้กรรมฐานนะ เราเป็นคนติดดิน อะไรที่เป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นข้อวัตร มันใช้เป็นดาบสองคม คมหนึ่งใช้ไปเพื่อประโยชน์เห็นไหม ครูบาอาจารย์ หลวงปู่มั่น ท่านให้เป็นประโยชน์ ประโยชน์คือว่าให้หมู่คณะมันเคารพเห็นไหม

หมู่คณะใด สังฆะใด ถ้าถือธรรมวินัย มีความทิฏฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกันจะร่มเย็นเป็นสุข หลวงปู่มั่นท่านวางธรรมวินัยนี้ไว้ให้หมู่คณะ ให้เคารพกัน ให้บูชากัน ให้มีอาวุโสภันเต ให้มีข้อวัตรติดหัวไป อันนี้มันเป็นเพราะหลวงปู่มั่นท่านต้องการความมั่นคงในพุทธศาสนา ต้องการความมั่นคงในกรรมฐานเรา ถึงได้วางธรรมวินัยนี้ไว้ให้เราถือไว้ เพื่อองค์กรของเรา

แต่เวลาคนที่เข้ามาพึ่งพาอาศัยน่ะ มันก็เอาสิ่งที่หลวงปู่มั่นที่ให้เอาไว้ให้เป็นความเข้มแข็ง เอาไว้เพื่อประโยชน์ของตัวไง มันก็เลยเอาข้อนี้มาเป็นข้ออ้างว่า ฉันน่ะอาวุโสภันเต แล้วต้องเคารพบูชากัน เคารพบูชา.. แต่ใจมันไม่ลงน่ะ มันเคารพบูชากันแต่เปลือกน่ะ มันก็เหมือนธรรมของพระพุทธเจ้าน่ะ กฎหมายน่ะ เคารพกันด้วยกฎหมายน่ะ

เขียนกฎหมายเลยนะ พวกมึงทั้งหมดต้องรักกู รักด้วยกฎหมาย บังคับ ! ต้องรัก ! ไม่รักติดคุก.. มันเป็นไปไม่ได้ ! ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้อวัตรปฏิบัติมันก็เหมือนกัน เขียนไว้เพื่อเป็นองค์กรเห็นไหม แต่ความรักมันเป็นเรื่องของหัวใจ ความรักความเชื่อ ถ้ามันมีคุณธรรมใช่ไหม

สามเณรน้อยเป็นพระอรหันต์ เราเคารพระอรหันต์ไหม ถ้าเราเป็นปุถุชน เราไม่รู้อะไรเลยน่ะ สามเณรน้อย ๗ ขวบ เป็นพระอรหันต์น่ะ ไอ้เราน่ะ แม่งขี้เลื่อยเต็มหัว ไม่รู้อะไรเลย แล้วสามเณรเป็นพระอรหันต์น่ะทำอย่างไร เราเคารพด้วยคุณธรรมนะ เราลงใจกันด้วยคุณธรรม

แต่ในเมื่อข้อปฏิบัติ ในเมื่อธรรมวินัยมีอยู่ เราก็เคารพ เราเคารพพระพุทธเจ้าเห็นไหม บางทีเราธุดงค์ไปน่ะ หัวหน้านี่แย่มากๆ เลย ไปกับหมู่แล้วไม่ยอมกราบ เพราะหัวหน้านี่ใช้ไม่ได้ เราบอกว่า “กราบซะ กราบธรรมวินัยพระพุทธเจ้า เราไม่ได้กราบพระองค์นั้น”

เราเชื่อมั่นในธรรมของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่า “อาวุโสภันเต” เราพรรษาน้อยกว่า ท่านมีพรรษามากกว่า ท่านจะดีหรือไม่ดีก็เป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน แต่เรากราบ เราเคารพ เรากราบธรรมและวินัยของพระพุทธเจ้า ใจมันไม่ลงไง คนแข็งนี่ใจมันไม่ยอมรับ พอใจไม่ยอม มันไม่ยอมกราบ เราก็ดื้อด้านกับกติกากับธรรมวินัยใช่ไหม เรากราบธรรมวินัย เราไม่ได้กราบพระองค์นั้น

เวลาธุดงค์ไปกับเพื่อนน่ะ เราจะบอกเพื่อนอย่างนั้นเลย บอกว่า “กราบซะ กราบซะ” เขาไม่ยอมกราบ กราบซะ ! เรากราบธรรมวินัยน่ะ เรามีทางออก ทางออกหมายถึงว่า เราบอกเรากราบธรรมวินัย เราเคารพพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนไว้ เราเชื่อคนสอน แต่ในเมื่อบุคคลมันเป็นอย่างนั้นเห็นไหม ด้วยความคิดทิฏฐิมานะ แม้แต่ถ้าเราไม่ลงเราก็ไม่ยอมแล้ว

ถ้าไม่ยอม มันก็ไม่เป็นประโยชน์เห็นไหม อันนี้เป็นความมักง่ายไหม อันนี้ไม่เป็นความมักง่าย ทุกคนจะบอกไม่เป็นความมักง่าย เพราะอะไร เพราะเรารับรู้ไงว่าพระองค์นั้นดีหรือไม่ดี เรารู้ของเรา เราไม่ยอม

นี่ไง แต่ถ้าเป็นธรรมมักง่ายไหม.. มักง่าย ง่ายเกินไปไง ง่ายเพราะมองชั้นเดียว มองว่า เรารู้ว่าเขาดีหรือไม่ดี แล้วเราไม่ยอมรับอันนั้น แต่ถ้าเป็นธรรมเห็นไหม เราก็ไม่ยอมรับในหัวใจของเรา

ในธรรมของพระพุทธเจ้าเห็นไหม ชาววัชชีบุตรเป็นภิกษุที่มีปัญหามาก แล้วมีโยมมาฟ้องพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกให้พระสารีบุตรไปจัดการ พระสารีบุตรไม่กล้าไป บอกว่าโหดร้ายมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้เอาหมู่คณะไป แล้วลงพรหมทัณฑ์ไล่ออกจากที่นั้นไป เห็นไหม ลงพรหมทัณฑ์

นี่ไง เวลาที่ไหนมันมีปัญหาขึ้นมา ถ้ามันเป็นสงฆ์นะ เวลาพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา มันจะเป็นพุทธศาสนามีแต่คนศรัทธา มีแต่ความเชื่อ มันมีลาภสักการะ มีต่างๆ ทุกคนเข้ามาพึ่งพาอาศัย ถ้าพึ่งพาอาศัยน่ะมันเป็นประโยชน์กับใครล่ะ มันเป็นประโยชน์กับความดำรงชีวิตใช่ไหม

แต่ถ้าเป็นธรรมวินัยเห็นไหม เราจะสะท้อนเข้ามาถึงใจของเราเห็นไหม เราถึงจะไม่มักง่าย มันต้องดู ไม่ใช่ว่ามองโลกมองแง่เดียว มองสิ่งใดก็มองแง่เดียว ถ้ามองถึงธรรมวินัยก็ต้องเอากฎหมาย เปิดตำราไปเลย เปิดตำราขึ้นมาเลยน่ะ แต่เรามีอะไรล่ะ เปิดตำราเลย มันมีส่วนประกอบไปด้วยเจตนา มีส่วนประกอบไปด้วยครบองค์ประกอบของมัน เพียงแต่ว่าเราก็พยายามจะเอาให้เหมือนทางโลกไง ต้องขึ้นศาล ต้องอะไรต่างๆ

แต่ถ้าเป็นธรรมวินัยไม่เป็นอย่างนั้น มันเป็นต่อเมื่อข้อเท็จจริงที่ทำน่ะ ถ้าทำอย่างไง ตรงนั้นน่ะเป็นแล้ว จะดิ้นอย่างไรนะ มันเป็นข้อที่เราจะดิ้นออกไป เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก รู้จำเพาะตน เราหลอกเราไม่ได้หรอก เราจะหลอกเราไม่ได้ เราจะหลอกคนอื่นทุกๆ คนได้เลย แต่เราจะหลอกตัวเราเองไม่ได้ เราโกหกคนอื่นได้ แต่เราโกหกตัวเราไม่ได้ เพราะเราจะรู้ของเราขึ้นมาเอง

ฉะนั้น เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราจะฆ่ากิเลสของเราเอง เราอย่ามักง่าย สุกเอาเผากิน คำว่าสุกเอาเผากินเป็นเรื่องของกิเลส คือมันจะเอาสะดวก มันจะเอาสบาย แล้วถ้าเอาแต่สะดวกสบาย ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์ต่อไปภายภาคหน้านะ วุฒิภาวะของเราอ่อนด้อยกันอย่างนี้ เราพูดสิ่งใดเราก็จะเชื่อกัน

ทางโลกเดี๋ยวนี้เขาคิดกันอย่างนี้ เวลาเขาคุยกัน เขาพูดธรรมะกัน เขาบอกคนนั้นมีคุณธรรม คนนั้นมีคุณธรรมน่ะ เราฟังแล้วนะ มันเป็นเรื่องตื้นๆ ตื้นเขินมาก เพราะมันเป็นเรื่องตื้นเขิน ถ้าพวกนี้มีคุณธรรมนะ คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องเป็นพระอรหันต์หมด เพราะคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องมันจำได้หมด มันเป็นเรื่องตื้นเขินมาก

แต่เขาคุยกันว่าเขามีคุณธรรม เพราะเขาคิดว่าเขาจำหนังสือ จำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เขาจะแยกแยะธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ แต่เขาไม่มีธรรม ไม่มีความรู้จริงในตัวเขาเลย ถ้าเขามีความรู้จริงในตัวเขานะ เขาจะต้องอธิบายจากความรู้จริงของเขาอันนั้น ถ้าอธิบายจากความรู้จริงอันนั้นน่ะ มันไม่มีใครขัดแย้งได้

ตู้พระไตรปิฎกมันก็เหมือนกฎหมาย อยู่ที่การตีความ ถ้าอ้างพระไตรปิฎกมันก็อ้างได้ทั้งซ้ายทั้งขวา คนหนึ่งอ้างไปทางซ้าย อีกคนหนึ่งก็อ้างไปทางขวา ซ้ายและขวาตกขอบไปคนละข้าง แล้วก็จะเถียงกันด้วยธรรมะข้อเดียวกัน ธรรมะข้อเดียวกันนั้นนะ จำมาคนเดียวกันนั้นแหละ หนังสือเล่มเดียวกัน บรรทัดเดียวกัน อักษรตัวเดียวกัน แต่ความเห็นต่างกัน แล้วเถียงกัน !

แต่ถ้าเป็นธรรมที่เราชำระกิเลสของเราเห็นไหม เราไม่มักง่าย ใช่ ! สาธุนะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทฤษฎีนี่เราเคารพบูชา ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราบูชา แต่บูชาเทิดเอาไว้บนหัว เทิดเอาไว้บนศรีษะ นี่คือธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วความรู้ของเราล่ะ ความเป็นจริงของเราล่ะ

ถ้าเราไม่มักง่ายเห็นไหม เราจะรื้อค้น พอเรารื้อค้นขึ้นมา มันจะซาบซึ้งธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้วเป็นทฤษฎีใช่ไหม เป็นความจริงใช่ไหม แล้วเขาไปสัมผัสขึ้นมา เราอธิบายพลิกแพลงเห็นไหม เราขยายความ เราหาข้อเท็จจริงมาขยายความในเจตนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ต้องการพูดคำนี้ออกมา เพื่อเหตุใด เพื่อผลอะไร เพื่อประโยชน์อะไร เพื่อความหมายอะไร เพื่อความรับรู้อะไร โอ้โฮ.. เราขยายความได้หมดเลย เพราะเรารู้จริง

แต่ถ้าเป็นความจำนะ มันจำคำพูดคำนั้นได้คำเดียว อักษรหนึ่งตัว แล้วอักษรแปลว่าอะไร อักษรคือแปลว่าอักษรตัวนั้น อักษรตัวนั้นขยายความว่าอย่างไร ขยายความตามอักษรตัวนั้น ห้ามออกซ้ายและออกขวา ใครออกซ้ายและออกขวา แล้วมันอยู่ที่มุมมองเห็นไหม

มักง่าย ! มักง่ายกันมากนะ ในการประพฤติปฏิบัติ มักง่ายกันมาก เราเห็นโลกที่เขามักง่ายกันมากแล้วเราย้อนกลับมาที่เรา ย้อนกลับมาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ถ้าผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราอย่ามักง่าย อย่าสุกเอาเผากิน นี่ต้องแยกแยะ ต้องพยายามค้นคว้า ต้องพิสูจน์ พิสูจน์สติของเรา พิสูจน์การกระทำของเรา

พิสูจน์แล้วมันเป็นปัจจัตตังน่ะ พิสูจน์แล้วเห็นไหม มันเป็นผลตอบสนองกับจิตของเรา ถ้ามันเป็นความจริงมันจะมีความร่มเย็นเป็นสุข ถ้ามีความร่มเย็นเป็นสุข สิ่งใดๆ มันจะมีแต่คุณงามความดีไปหมดเลย ความเป็นอยู่ของเรามันจะเรียบง่าย มันจะดีมากเลย สังเกตได้ไหม ถ้าวันไหนจิตใจเราดี ทุกอย่างโลกนี้ดูมันจะรื่นเริงไปทั้งนั้นเลย

แต่ถ้าจิตใจเราเป็นทุกข์เห็นไหม โอ๋.. เราไม่มีที่อยู่นะ เราร้อนมาก นี่เหมือนกัน ถ้าเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้าใจเราดีขึ้นมา สรรพสิ่งในโลกสรรพสัตว์มันจะดูเรียบง่าย มันจะดูดีงามไปหมดเลย

ถ้าดีงามไปหมดมันก็ย้อนกลับมาที่ใจเราเห็นไหม เพราะเราไม่สุกเอาเผากิน เพราะเราคอยตรวจสอบ เพราะเราคอยแยก เราคอยค้นคว้า เราคอยค้นหาพฤติกรรมในใจของเรา ไม่ให้มันดีดดิ้นไปตามอำนาจของกิเลสนะ ตั้งสติไว้ ครอบงำไว้ สติมันจะบังคับไว้ไม่ให้จิตมันคิดไปตามอำนาจของมัน

ถ้าจิตคิดไปตามอำนาจของมัน มันจะเดือดร้อนไหม มันเหนื่อยไหม มันทุกข์ยากไหม.. ทุกข์ ! บังคับนะ ช้างสารที่ตกมันเวลาเขาจะล้มมันเห็นไหม เขาต้องยิงยาสลบนะ เขาต้องหาคนเป็นเข้าไปดูแลมัน ควาญช้างที่ดูแลช้างอยู่นั้นน่ะ ถ้าช้างตกมันอยู่นะมันกระทืบควาญช้างตายเลย

จิตใจของเรา เหมือนดังช้างสารที่ตกมัน เวลามันเกิดโทสะ โมหะ เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงขึ้นมา มันยิ่งกว่าช้างสาร แล้วธรรมะของพระพุทธเจ้าอยู่ในตู้ พระไตรปิฎก ยังเปิดไม่ทัน เปิดมาไม่ทันหรอก ช้างสารมันเหยียบแหลก เหยียบหัวใจเราแหลกลาญไปแล้ว แล้วยังเปิดตู้พระไตรปิฎกเห็นไหม

แต่ถ้าเรามีสติของเรา เรายับยั้งช้างสารของเรา ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ในตู้พระไตรปิฎก โดยความจำน่ะมันยังมาไม่ทัน แต่ขณะความจริงช้างสารที่มันออกกำลังแล้ว มีสติยับยั้งมันแล้ว กำหนดแล้วตั้งสติ เห็นไหม ต้องต่อสู้กันนี่ นี่ปฏิบัติ !

คำว่า “ปฏิบัติ” มันมีการกระทำ มันจับต้องได้เป็นรูปธรรม แล้วมันต่อสู้กับสติของเรา ต่อสู้กับจิตของเรา สติเกิดจากจิต สติก็เข้าไปควบคุมจิต เอาจิตของเราเอาไว้ในอำนาจของเราเห็นไหม มันเกิดอย่างนี้ขึ้นมาได้เพราะเหตุใด เกิดขึ้นมาได้เพราะไม่สุกเอาเผากิน เพราะตั้งสติ เพราะแยกแยะ เห็นคุณและเห็นโทษ เห็นคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นปัจจัตตัง ! เห็นสัจธรรม ! เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิต เห็นจากการที่จิตมันมีอำนาจแล้วเราควบคุมมันไว้ด้วยสติปัญญาของเรา แล้วเรารักษาเห็นไหม นี่คุณธรรม !

องค์ความรู้มันเกิดขึ้นมาด้วยการกระทำของเรา มันเป็นประโยชน์กับเราทุกๆ อย่างเลย เพราะอะไร เพราะไม่สุกเอาเผากิน อย่ามักง่าย ! อย่าทำแต่เพียงแค่สักแต่ว่าทำ ต้องมีสติปัญญา แล้วรักษาของเรา ดูแลของเรา รักษาใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา แล้วมันจะเป็นประโยชน์กับเรา

สิ่งที่ปฏิบัติ สิ่งที่เป็นจริง มันเกิดขึ้นจากการกระทำนะ ในเมื่อจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง เราทุกคนก็มีหัวใจด้วยกันทุกๆ องค์ เราก็มีเป้าหมายเพื่ออยากจะหลุดพ้นกันทั้งนั้น ในเมื่อหัวใจของเรา ถ้ามันเกิดขึ้นในหัวใจของเรา มันก็เป็นสมบัติของเรานะ ทุกข์มันก็ทุกข์ของเรานะ ถ้ามันสุขมันก็สุขของเรา สติก็สติของเรานะ ปัญญาก็ปัญญาของเรา มันเป็นประโยชน์ของบุคคลที่ประพฤติปฏิบัติ เก็บหอมรอมริบนะ..

ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า หลวงปู่มั่นท่านเก็บหอมรอมริบ หลวงปู่มั่นท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านจะอยู่สบายอย่างไรก็ได้ ท่านเสียสละตัวท่านเองเห็นไหม ดูซิ ครูบาอาจารย์ หลวงตาเรา ๙๗ ๙๘ ยังมาคุมหมู่คณะ คำว่าลงมาฉันคือลงมาดูแลหมู่คณะ ดูแลพระ

ถ้าไม่มีท่านมันก็ไปตามนี้ไง มักง่าย เห็นแก่ตัว ใครก็สุกเอาเผากิน ทุกคนเป็นอาจารย์หมดนะ มันก็ไปตามแต่ทุกคนจะแสดงออกโดยกิเลสตัณหาความทะยานอยากของตัว อ้างว่าเป็นธรรม นี่ไง ครูบาอาจารย์ของเราน่ะเก็บหอมรอมริบ ท่านดูแลของท่าน ท่านรักษาของท่าน เพื่อประโยชน์กับเรา เป็นตัวอย่างกับเรา

ฉะนั้นเราจะต้องตั้งสติของเรา เราเหมือนเด็กๆ ดูเด็กๆ ซิ เวลามันทำคุณงามความดีกับพ่อแม่ เห็นไหม พ่อแม่จะตบมือให้ๆ พวกเราเหมือนกันเลยนะ เหมือนเด็กน้อย เหมือนทารก จับผลัดจับพลู จับอะไรไม่ติดมือสักอันหนึ่ง

สติมันอยู่ที่ไหน สมาธิมันอยู่ที่ไหน ปัญญาอยู่ที่ไหน พยายามฝึกหัดซิ เด็กมันยังหัดยืน หัดเดิน หัดวิ่งของมันนะ มันเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา จิตใจของเรานี่ เราต้องหัดยืน หัดเดิน หัดนั่ง หัดทำให้มันเป็น ถ้ามันเป็นเห็นไหม อย่ามักง่าย อย่าสุกเอาเผากิน โลกเขาน่ะสุกเอาเผากินน่ะ เพราะเขาทุกข์ แล้วถ้าสุกเอาเผากินน่ะ มันก็อยู่อย่างนั้นน่ะ

เราจะต้องตั้งสติ เราจะต้องพยายามทำของเรา พยายามตั้งสติ ดูแลจิตให้ดี มันคิด มันแว๊บอย่างไร ตั้งสติไว้ ในเมื่อการขับเคลื่อน การย่างไปของการเดิน การนั่ง การยืน ในชีวิตประจำวันของเรา ตั้งสติดูจิตเรา คำว่าดูจิตด้วยคำบริกรรมก็ได้ เรารักษาของเรา เราทำของเรา รักษาหัวใจของเราเพื่อประโยชน์กับเรานะ ด้วยความไม่มักง่าย ความมักง่ายมันจะไม่มีผลหรอก ความจริงจังของเรามันจะเป็นประโยชน์กับเรา

เราเป็นศากยบุตรพุทธชินโนรสนะ เราเป็นลูกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจะเป็นศาสนทายาท เราจะต้องยืนด้วยลำแข้ง เราต้องโตขึ้นมา เพื่อให้มีสัจจะ ให้มีองค์ความรู้ในความรู้จริงของเรา แล้วเราจะอบอุ่นในตัวของเรา เราจะเข้าใจในชีวิตตามความเป็นจริง แล้วเราจะเป็นที่พึ่งอาศัยของหมู่คณะได้ เอวัง