เทศน์พระ

ไม่สีซอ

๑๔ มิ.ย. ๒๕๕๓

 


ไม่สีซอ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

เราตั้งใจดีอยู่แล้ว เราจะมาปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม ถ้าเราอยู่แล้วมีคนเขามาสบประมาทบอกว่า พระนี้ไม่จริง ถ้าจริงทำไมไม่ปฏิบัติ ที่ในเมืองก็ปฏิบัติได้ ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ ทำไมต้องไปอยู่ป่าอยู่เขาถึงปฏิบัติได้ อย่างนี้ไม่จริง ถ้าจริงก็ต้องปฏิบัติซิ

มันก็เหมือนกับเด็กน่ะ ถ้าเด็กมันดีขึ้นมาแล้วก็เป็นเด็กก็ดีเลยซิ ทำไมต้องมีการศึกษาล่ะ ถ้าเด็กมีการศึกษาก็ต้องคัดเลือกโรงเรียน ในปัจจุบันเขาเป็นห่วงลูกเขามาก เขากลัวสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมทำให้ลูกเขาเสีย เขาพยายามจะส่งลูกเขาไปโรงเรียนที่ดีๆ ไปอยู่ในภูมิประเทศที่ดีๆ เพื่อให้ลูกเขาซับแต่สิ่งที่ดีๆไป เพื่อให้เด็กคนนั้นมีนิสัยดี ทำไมโลกเขาคิดกันได้ล่ะ

แต่เวลาคนมันจะปฏิบัติธรรมขึ้นมาล่ะ โอ๊ย.. เดือดร้อนกันไปหมด ต้องไปป่าไปเขา ที่ไหนมันก็ปฏิบัติได้ ที่ไหนก็เหมือนกัน เวลาคนจะทำดี แต่ความดีของใครล่ะ ความดีของเขา เขาคิดว่าบวชเป็นพระบวชเป็นเจ้าแล้วจะเป็นคนดี

แต่เวลาครูบาอาจารย์เราบวชมานะ พระก็มาจากคน ถ้าพื้นฐานของคนดี พื้นฐานของคนจริงจัง เวลาบวชพระขึ้นมาจะเป็นความจริงความจัง ถ้าพื้นฐานของเราโลเล พื้นฐานของเรามันเป็นอย่างไร มันจะมาตามพื้นฐานนั้น

ฉะนั้นพื้นฐานนั้น เวลาบวชมาแล้วพระต้องได้นิสัย ถ้ายังไม่พ้นจากนิสัย ต้องขอนิสัย ถ้าพ้นจากนิสัยล่ะ นี่ไง เวลาไปบวชพระขึ้นมานะ พระภิกษุบวชใหม่ ทนไม่ได้กับคำสอน นิสัยของฆราวาสไง นิสัยของมนุษย์ไง นี่ไม่ใช่นิสัยของเพศสมณะ

ถ้านิสัยของเพศสมณะ มันจะสำรวมระวังของมัน มันจะรู้ถูกรู้ผิดมาตั้งแต่ทีแรก เวลาบวชขึ้นมาแล้วมีศีล ๒๒๗ เท่ากัน เวลาบวชขึ้นมาแล้ว เราเกิดมาแล้วเป็นมนุษย์ เราเกิดมาเป็นคนไทย เวลากฎหมายบังคับ กฎหมายใครเป็นคนเขียนล่ะ คนเขียนคนนั้นก็เป็นคนเอาเปรียบ ปฏิเสธกฎหมาย ปฏิเสธสิ่งต่างๆ อันนี้เป็นทางโลกมันก็พอฟังได้

แต่ถ้าเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ เวลาพระจุนทะไปเห็นลัทธิต่างๆ เวลาศาสดาของเขาตายไปแล้วมันมีปัญหา ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ทำไมเป็นอย่างนั้น”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “เพราะขาดวินัย เพราะขาดกฎหมาย ขาดข้อบังคับ” พระจุนทะบอกให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติเลย บัญญัติขึ้นมา ให้ศาสนามั่นคง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “บัญญัติไม่ได้หรอก” นี่ไง ความเห็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดา.. บัญญัติไม่ได้ มันไม่มีเหตุมีผล

พอต่อไปเมื่ออนาคตพระมากขึ้นมา ถ้าพระทำผิด วินัยสงฆ์ทุกข้อมีพระทำผิดมาแล้ว พระเป็นต้นเหตุทางการทำผิด พอทำผิดมาแล้วผู้ที่กระทำผิดน่ะไม่เป็นอาบัติ แต่ผู้ทำผิดน่ะมีกรรม แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบัญญัติไว้เลยว่า สิ่งนั้นทำได้ สิ่งนั้นทำไม่ได้ ทำได้หรือทำไม่ได้เพราะมันมีเหตุมีผลของมัน

เราบวชเป็นพระขึ้นมาแล้ว สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน เราบอกว่า สิ่งนี้เราทนไม่ได้ เรารับไม่ได้ แต่เวลานิสัยของฆราวาสเรารับได้ นิสัยของเรา ความเคยชินของเราไง ถ้าความจริงของเรานี่เขาเรียกว่าเป็นโลก เราถึงต้องขอนิสัย ต้องดัดแปลงนิสัยของเรา ถ้าเราดัดแปลงนิสัยของเรา นี่สมณสารูป ถ้าสมณสารูปขึ้นมาเราต้องสำรวมระวัง นะ สำรวมระวังเพื่ออะไร เพื่อจะบังคับตัวเอง

มันก็เหมือนเด็ก เหมือนพ่อแม่ที่ให้เด็กไปอยู่ในสภาพแวดล้อมในโรงเรียนที่ดี ในสิ่งต่างๆ ที่ดีและจะได้รักษาสิ่งที่ดี นิสัยของคฤหัสถ์ นิสัยของฆราวาสคือนิสัยของโลก นิสัยของโลกก็คือนิสัยของปุถุชน นิสัยของการเกิดและการตาย การเวียนตายเวียนเกิดในจริตนิสัยที่มันเกิดมาจากจิต

พอจิตมันเกิดมาเป็นมนุษย์แล้วน่ะ มันเป็นอย่างนั้นโดยจริตนิสัย โดยอำนาจวาสนา โดยกรรม มันเป็นสภาวะแบบนั้น แต่เราเป็นชาวพุทธ เกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า พอเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมา มนุษย์มีคุณค่าตรงไหน มีคุณค่าตรงเป็นสิ่งที่มีชีวิตน่ะ ดูซิ เวลาเขาเพาะเลี้ยงพันธุ์พืชต่างๆ เขาเพาะเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เวลาเขาเพาะเลี้ยงขึ้นมา อู้ย พันธุ์ปลาบึกมันจะหมดแล้วนะ เพาะมันขึ้นมาซะ ถ้าเพาะได้มันจะไม่สูญพันธุ์ อู้ย เขามีความดีใจ มีความสุขใจ มีความชื่นใจกันนะ จะเพาะพันธุ์เพื่อไม่ให้มันสูญพันธุ์ไป

แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์ขึ้นมามันก็เป็นสิ่งมีชีวิต นี้ก็พันธุ์ของมนุษย์ไง แต่พันธุ์ของมนุษย์นั้น มนุษย์นี้เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ สิ่งที่มีชีวิตนี่สำคัญ อย่างสัตว์ที่จะสูญพันธุ์เขาถนอมยิ่งกว่ามนุษย์นี้หลายเท่าเลย เพราะเขากลัวมันสูญพันธ์ แต่มนุษย์นี่มันรก รกคนน่ะ รกป่า ป่ารกชัฏ รกไปด้วยมนุษย์

แต่มนุษย์เป็นมนุษย์สมบัติเพราะเหตุใด มนุษย์สมบัติเพราะเกิดขึ้นมา มนุษย์สมบัติมันมีกฎหมายคุ้มครอง การทำลายชีวิตมนุษย์นี่มีโทษประหารชีวิตนะ แต่คนฆ่าสัตว์นี่เขาได้รับสัมปทานด้วย เขาได้รับใบอนุญาต โรงฆ่าสัตว์ เขาฆ่าสัตว์เป็นล้านๆ ล้านๆ ตัวเลย แล้วฆ่าสัตว์เขารวยด้วย นี่ไงชีวิตของสัตว์มันไม่มีกฎหมายรับรอง ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง

แต่เราเป็นมนุษย์เรามีกฎหมายคุ้มครองนะ การที่จะฆ่ากันทำลายกันไม่ได้ แล้วมีศีล ๕ ก็ทำลายกันไม่ได้ นี่คือสิทธิของมนุษย์ สิทธิของสิ่งมีชีวิต แล้วสิ่งมีชีวิตนี่ สิ่งที่เราเกิดมานะ ดูเราเกิดมา เราเป็นสมบัติของใคร สมบัติของพ่อแม่ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกเพราะอะไร เพราะพ่อแม่ให้ชีวิตนี้มา ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์ เวลาเราเกิดมาน่ะ เกิดออกมาจากช่องคลอด แล้วก็เกิดออกมาเป็นมนุษย์ แล้วเราอยู่ในท้องแม่เราเป็นคนหรือเปล่า ? เป็น

แล้วเวลาเป็นคนขึ้นมาแล้วน่ะ เป็นคนเป็นเพราะเหตุใด เป็นเพราะเราอยู่ในครรภ์นั้น มันเป็นเพราะจิตไปปฏิสนธิจิตในไข่ พอในไข่กับสเปิร์มมันผสมพันธุ์กันมันถึงเกิดมาเป็นเรา พอเป็นเราเพราะมีสายบุญสายกรรม

สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้คือมนุษย์สมบัติ ถ้าเกิดมาแล้วเป็นสิ่งที่มีค่า สิ่งที่มีชีวิต พ่อแม่ทะนุถนอมมาก พ่อแม่รักมาก รักในโลกนี้ที่เป็นความสะอาดบริสุทธิ์คือรักของพ่อของแม่ รักที่ไม่ต้องการปรารถนาสิ่งตอบแทนใดๆ เลย เป็นความรักที่สะอาดบริสุทธิ์ เลี้ยงดูมาด้วยสายบุญสายกรรม แล้วลูกดีหรือลูกเลวนะ ถ้าลูกดีพ่อแม่มีความสุขมาก ความสุขของพ่อแม่แม้แต่ลูกประสบความสำเร็จแค่นี้ พ่อแม่พอใจแล้ว

แต่ถ้าลูกมันไม่ประสบความสำเร็จล่ะ มันมีความทุกข์ล่ะ ลูกก็ทุกข์ แม่ก็ทุกข์ ทุกข์กันไปหมดเลย นี่ไง สิ่งนี้สายบุญสายกรรม เพราะกรรมของพ่อของแม่ด้วย พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะให้ชีวิตเรามา แต่ถ้าลูกประสบความสำเร็จ พ่อแม่ก็มีความชื่นใจด้วย แต่ถ้าลูกมันเหลือขอ พ่อแม่สอนเท่าไหร่มันไม่ฟัง มันทำแต่ความเจ็บช้ำน้ำใจให้พ่อแม่ นี่ความรัก !

ความรักมันจะฉุดกระชากให้พ่อแม่มีความทุกข์ไปด้วย สิ่งนี้เป็นเรื่องของเวรกรรม เป็นเรื่องของบุญ เรื่องของสายบุญสายกรรม แต่เวลาถ้าเราเป็นดีล่ะ แล้วเรามีสติปัญญา เราจะประพฤติปฏิบัติของเราขึ้นมา ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมา สิ่งมีชีวิตเราจะมีคุณค่าตรงนี้ สิ่งนี้มีคุณค่าเพราะเหตุใด สิ่งนี้มีคุณค่าเพราะอะไร เพราะเกิดมามีชีวิตใช่ไหม ชีวิตต้องมีอาหาร ดูซิ ร่างกายเราต้องมีอาหารเป็นคำข้าว แล้วหัวใจเราล่ะ หัวใจเราเอาอะไรเป็นอาหารล่ะ มันก็มีเวรมีกรรมเป็นอาหารนะ

กรรมเป็นอาหารของใจ อาหารของใจเพราะเหตุใด อาหาร ๔ ในโลก อาหาร ๔ ในวัฏฏะ อาหารของมนุษย์คือคำข้าว อาหารของเทวดา อินทร์ พรหม คือวิญญาณาหาร นี่ไง วิญญาณาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร อาหารเป็นคำข้าว แล้วอาหารของใจล่ะ อาหารของวิญญาณ อาหารของความรู้สึกไง แล้วความรู้สึกเป็นนามธรรม ทำดีทำชั่ว ความดีความชั่ว ถ้าสิ่งที่คิดเป็นสิ่งที่ดีมันจะมีความสุข แล้วคิดสิ่งที่ชั่วมันจะมีความทุกข์

สิ่งที่ดีและชั่ว นี่วิญญาณาหาร อาหารของใจ ถ้าอาหารของใจ ถ้าเรามีสติปัญญา มนุษย์ทุกคนเกิดมาในโลกนี้ต้องมีอาชีพ ต้องมีหน้าที่การงานเพื่อดำรงชีวิตของมนุษย์ คือมีปัจจัยเครื่องอาศัย เราเกิดมาเป็นมนุษย์ มนุษย์เขาบริหารจัดการอันนี้

รัฐบาลต่างๆ องค์การระหว่างโลก เขาดูแลเรื่องมนุษย์เพื่อเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ แต่พุทธศาสนา พุทธศาสนาเท่านั้น ! ศาสนาอื่นสอนเรื่องดีหรือชั่วเท่านั้นเอง พุทธศาสนาทำให้คนพ้นจากทุกข์ได้ พุทธศาสนาเท่านั้นพ้นจากกิเลสได้ มีพุทธศาสนาเท่านั้น !

เราเกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วมีศรัทธา มีความเชื่อ เรามาบวชเป็นพระเป็นเจ้า ถ้ามาบวชเป็นพระเป็นเจ้า เราจะประพฤติปฏิบัติ แล้วมันปฏิบัติที่ไหนล่ะ เวลาเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา หุ่นยนต์มันทำได้ดีกว่าเรานะ หุ่นยนต์เวลามาเดินน่ะ เราตั้งโปรแกรมให้หุ่นยนต์มันเดินเลยล่ะ มันเดินได้ทั้งวันทั้งคืน แล้วมันได้อะไร.. มีแต่เสียพลังงานไป

แต่เรามาเดินแล้วเราได้อะไรล่ะ เรามาเดินนะ ถ้าจิตใจมันหยาบ มันได้แต่ความทุกข์ไง มันได้เหงื่อไหลไคลย้อยไง แต่ถ้าจิตใจมัน... เห็นไหม นี่อาหารมันเป็นคำข้าว อาหารของมนุษย์ อาหารของร่างกาย แล้วถ้าอาหารของใจล่ะ ถ้ามีศรัทธามีความเชื่อแล้วต้องมีการปรับสมดุล

ถ้าไม่มีการปรับสมดุลแล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทศน์ฆราวาสนะ เทศน์อนุปุพพิกถา เทศน์เรื่องทาน เทศน์เรื่องศีล เทศน์เรื่องสวรรค์ เทศน์เรื่องเนกขัมมะ จนจิตใจมันพร้อม นี่ปรับสภาพ มันมีความปรับสภาพของมัน มันถึงจะเปิดกว้าง มันถึงจะรับรู้เรื่องของธรรมะได้

เรื่องภาชนะที่คว่ำอยู่ เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ คฤหัสถ์ต่างๆ ฟังเทศน์แล้ว โอ้โฮ.. สาธุนะ สาธุว่าพระพุทธเจ้าเทศนาว่าการแล้วเหมือนกับหงายภาชนะที่คว่ำอยู่

จิตใจของเรามันคว่ำอยู่ อวดดี อวดเก่ง อวดรับรู้ อวดปัญญาชน มีความรู้ มีความเห็นมากน่ะ มันคว่ำอยู่ มันเป็นชาล้นถ้วย มันรับอะไรไม่ได้เลย นี่ไงถ้ามันไม่ปรับสภาพมันเป็นอย่างนี้ จิตใจทุกดวงใจน่ะบอกศรัทธา บอกเชื่อศาสนาน่ะ.. เชื่อแต่ปาก ทิฐิมานะมันไม่เชื่อหรอก มันไม่เปิดให้ธรรมะเข้าไปด้วย

แล้วมาเดินจงกรมมานั่งสมาธิภาวนาน่ะ มันก็เดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาก็ได้แต่เหงื่อไหลไคลย้อยไง การปรับสภาพของมันเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการขึ้นมา ถ้าคนมีความเชื่อมั่นความศรัทธาขึ้นนะ มันหงายภาชนะขึ้นมา พอมันหงายภาชนะขึ้นมา ดูซิ ชาล้นถ้วยน่ะ รินน้ำมันออก ถ้ารินน้ำมันออกน่ะเราเติมน้ำได้

นี่ก็เหมือนกัน จิตใจถ้ามันเปิดกว้าง สิ่งที่ศึกษาเล่าเรียนนะมันเป็นวิทยาศาสตร์ มันเป็นเรื่องของโลก โลกคืออะไร โลกคือทางวิชาการ โลกทั้งนั้นน่ะ เพราะทางวิชาการน่ะ ดูตำราใครเป็นคนเขียน ตำราทางวิชาการน่ะ ผู้ที่เขาประสบความสำเร็จทางโลกแล้วเขาเขียนไว้ให้เราไปศึกษา แล้วเรารู้หรือยัง เราทำได้หรือยัง ทำให้ได้เหมือนทางวิชาการที่ศึกษามา โอกาสไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะว่าจังหวะและโอกาส หรือว่าการเปลี่ยนแปลงของกาลเวลามันเปลี่ยนแปลงไป การกระทำอย่างนั้นมันจะไม่มีประโยชน์กับเราก็ได้ นี่เรื่องของโลก

แล้วเรื่องของธรรมล่ะ ถ้าเราจะมาประพฤติปฏิบัติด้วยการยึดมั่นถือมั่นในคำของโลกนะ มันเหมือนกับควายน่ะ เขาขี้เกียจสีซอให้ควายฟัง ควายสีซอให้มันฟังเท่าไหร่มันก็ฟังไม่รู้เรื่องหรอก จิตใจที่มันดื้อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “จิตของคน เหมือนกับช้างสารที่ตกมัน” ดูช้างที่ตกมันสิ แม้แต่ควาญช้างยังเอาช้างตัวนั้นไว้ไม่ได้เลย

ใจของเราแท้ๆ นะ ทุกคนบอกรักตัวเอง เป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา ปฏิบัติอยากได้สัมผัสธรรม ได้สัมผัสอะไรล่ะ ได้สัมผัสทิฐิมานะไง ได้สัมผัสแต่กิเลสของตัว เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยากมันเต็มหัวใจใช่ไหม ปฏิบัติด้วยการเอาสีข้างเข้าถูไง เพราะอะไร เพราะมันไม่มีการปรับใจเห็นไหม ถ้ามันปรับใจแล้ว มันปรับใจตัวมันก่อน มันมีศรัทธา มันมีความเชื่อ พอมีความเชื่อขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติเราทำด้วยความจริงจัง ด้วยความตั้งใจ ต้องมีสติปัญญาของเรานะ

สติปัญญาของโลก ไอน์สไตน์น่ะเห็นไหม พิสูจน์แล้ว.. ได้พิสูจน์ต่างๆ ด้วยปัญญาของเขา ไอน์สไตน์ถ้าเขายังไม่ตายน่ะทฤษฎีของเขาจะไปเรื่อยๆ เพราะจินตนาการเขาไปมาก เขาคาดการณ์ เขาคาดหมาย แล้วเขาทำทฤษฎีของเขา แล้วเอามันมาพิสูจน์กันในสมัยปัจจุบันนะ

ความโค้งงอของแสง ความโค้งงอของโลก ความโค้งงอต่างๆ มันพิสูจน์ได้ต่อเมื่อเทคโนโลยีมันเจริญขึ้นมาแล้วถึงพิสูจน์ได้ แต่ด้วยความจินตนาการ ด้วยความรับรู้จริงของไอน์สไตน์น่ะคาดการณ์ ทำไว้ก่อนเลย แต่ต้องมาพิสูจน์กันเดี๋ยวนี้

นี่พูดถึงปัญญาทางโลก ปัญญาทางวิทยาศาสตร์ไง นี่วิทยาศาสตร์ ! แล้วคิดดูนะแล้วไอน์สไตน์ยังบอกไว้ด้วยว่าคิดพิจารณาแล้ว ศาสนาต่อไปในอนาคตจะเป็นพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล พิสูจน์ได้ เหตุและผลทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์กันขนาดไหน มันก็พิสูจน์ศาสนาด้วยความไม่ครบวงจร ไม่ถึงที่สุดของมัน

ไม่ถึงที่สุด ! ไม่ถึงที่สุดเพราะมันเป็นความรับรู้ของเรา มันเป็นสิทธิ์ของเรา มีความเริ่มต้น โลกียปัญญา.. ปัญญาเกิดจากเรา ปัญญาที่เกิดจากการเริ่มต้น พอปัญญาเกิดจากการเริ่มต้นน่ะ ปัญญาเกิดจากสีข้างไง สีข้างมันไม่เข้าถึงใจหรอก พอปัญญาเกิดจากสีข้าง มันสีข้างขึ้นไป แล้วเวลาครูบาอาจารย์ก็เทศน์กันแบบสีซอ

ไอ้เราน่ะสีซอให้ใครฟังน่ะ มันเอาสีข้างเข้าถู มันก็เป็นเรื่องของสีซอนั้นน่ะ สีซอมันก็ไม่รู้เรื่อง เพราะทิฐิมานะเห็นไหม ความทิฐิมานะอย่างนี้เอามาพิสูจน์ศาสนา มันเป็นเรื่องของโลกๆ ไง โลกๆ คือความรู้สึกคือความนึกคิดของใจ

แต่ถ้าเรามีศรัทธาความเชื่อ ความจริงของมัน เรากำหนดพุทโธหรือปัญญาอบรมสมาธิขึ้นมา ถ้ามันหดตัวมันเข้ามา มันลอกข้างน่ะ ดูซิ คำว่าสีข้าง ควายมันมีตัวควาย แล้วมันมีความรู้สึกของมัน พอเอาสีข้างเข้าถูเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาของมัน เวลามันคัน มันทำอะไรมันไม่รู้เรื่องมันก็เอาสีข้างเข้าถูน่ะ เพื่อความหายคันของมัน

จิตของเราก็เหมือนกัน ศึกษามีความรู้ทุกอย่างน่ะ มันเอาสีข้างเข้าถูหมดเลย เอาสีข้างเข้าถูใช่ไหม ขณะไอน์สไตน์เขาคิดกัน นั้นก็สีข้างของไอน์สไตน์ เพราะไอน์สไตน์ยังพิสูจน์สิ่งใดไม่ได้ เพียงแต่ด้วยทางทฤษฎีว่าศาสนาต่อไปในอนาคตจะเป็นพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา คือทางวิทยาศาสตร์ไง คือการพิสูจน์ไง พิสูจน์ขนาดไหนน่ะ เขาก็พิสูจน์ของเขาไม่ได้ พิสูจน์ไม่ได้ ก็เหมือนการโค้งงอ

ดูบิกแบงที่จะต้องทดสอบกันอยู่นี่ เพราะอะไร เพราะว่าทางวิทยาศาสตร์มันทั้งเหตุและผล เวลาออกไปทางวิชาการแล้ว ขณะประชุมทางวิทยาศาสตร์แล้วทุกคนต้องยอมรับไง ยอมรับด้วยเหตุผลและเถียงไม่ขึ้น เพราะมันเป็นความจริง ความจริงทางวิทยาศาสตร์ ความจริงของโลกนะ

มีแต่ในปัจจุบันนี้พอมีเทคโนโลยีขึ้นมา พอมาพิสูจน์ไอน์สไตน์ก็ตายไปแล้ว เราก็พิสูจน์ทฤษฎีไอน์สไตน์กันอยู่เดี๋ยวนี้ ยังพิสูจน์กันต่อไปว่ามันเป็นจริงอย่างที่เขาว่าไหม แต่พอพิสูจน์แล้วทุกอย่างเขายอมรับว่าเป็นความเป็นจริง แต่นี่พูดถึงความเป็นจริง นี่พูดถึงสัจจะที่ค้านไม่ได้

สัจธรรมก็เหมือนกัน ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน มันเป็นสัจจะที่ค้านไม่ได้ แล้วเข้าถึงได้ยากด้วย แล้วเราเอาสีข้างเข้าไปถูมันน่ะ แล้วพูดถึงฟังธรรม.. นี่ครูบาอาจารย์ก็สีซอ ไอ้สีซอเราก็เอาสีข้างเข้าถู พอถูเข้าไปแล้วมันจะเป็นอย่างไรล่ะ มันก็เลือดซิบๆ ไง มันก็ไม่ได้ผลไง มันก็ได้เหงื่อไหลไคลย้อยไง

แต่ถ้าเราตั้งใจของเรา เราตั้งสติของเรา เราจะพิสูจน์ของเรา ถ้าเราพิสูจน์ ดูซิ ติฉินนินทาทางโลกเขา ไม่จริง ! ถ้าจริงเราปฏิบัติน่ะเราได้ ขนาดตัวเองก็แย่อยู่แล้ว เหมือนเด็กเลย โดยธรรมชาติของเด็กนะ ตั้งแต่เป็นเด็กทารกขึ้นมา มันจะหัดคว่ำ หัดนั่ง หัดยืน หัดเดิน แล้วมันก็หัดวิ่ง มันจะเป็นไป เด็กต้องเดินได้ด้วยข้อเท็จจริงของเขา

แต่ใจของเรามันเหมือนเด็ก ตอนนี้รู้อะไร ศึกษาธรรมะเลย ศึกษาเต็มที่หมดเลย ศึกษารู้หมดเลย ถามตัวเองว่ารู้อะไร รู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วเราล่ะ กูยังไม่รู้จักตัวกูเองเลย

นี่ไงแต่ถ้าปฏิบัติ ธรรมะพระพุทธเจ้าก็ส่วนธรรมะพระพุทธเจ้า แต่ถ้าเราจะปฏิบัติเห็นไหม เราปฏิบัติแล้วเราได้สัมผัสตัวเราไหม ถ้าจิตเราสงบขึ้นมา มันเหมือนเด็กเลย เด็กทารกเวลาคลอดออกมาแล้ว มันก็นอนอยู่นั้นน่ะ มันจะหัดคว่ำของมัน พอเด็กคว่ำได้ เด็กนั่งได้พ่อแม่นี่ โหย ตบมือใหญ่เลย โอ้ย เก่ง... เก่ง ชมเชยมัน

แต่จิตของเราล่ะ.. เราปฏิบัตินี่จิตของเราล่ะ เด็กทารกอยู่ไหน พ่อแม่คลอดออกมามันเห็น มันจับต้องได้ เด็กทารกมันเห็นนะ เลี้ยงมันก็ร้องไห้ มันงอแง จิตของเราล่ะ จิตของเราอยู่ไหน ทุกข์ๆ กันอยู่นี่ แต่หาตัวเองไม่เจอ สีข้างทั้งหมดนะ ความคิดไม่ใช่จิต ความรู้สึกต่างๆ มันเป็นสีข้างหมดเลย

เราเอาสีข้างเข้าถูนะ แล้วศึกษาธรรมะ ศึกษาด้วยสัญญา ศึกษาด้วยขันธ์ ๕ ศึกษาด้วยความจำ ศึกษาด้วยโลก ศึกษาด้วยตน ศึกษาด้วย นาย ก. นาย ข. นาย ค. นาย ง. เป็นผู้ศึกษา แล้วก็ได้กระดาษมาใบหนึ่ง เอาแขวนใส่กระจกไว้ แล้วตัวเองรู้อะไรล่ะ รู้ธรรมะ รู้ธรรมะ รู้ธรรมะรู้แบบโลกเห็นไหม รู้แบบโลกๆ

โลกคือวิทยาศาสตร์ โลกคือโลกทัศน์ โลกคือตัวภพ โลกคือความรู้สึก โลกคือภวาสวะ โลกคือจิต แล้วเปลือกของโลกไง เปลือกของโลกมันเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อม ความคิดของเราก็เปลี่ยนไปตามสภาวะแวดล้อม จะดีหรือชั่วมันก็เปลี่ยนไปตามสภาวะแวดล้อม นี่ไงวัฏฏะไง เวียนตายเวียนเกิดนี่ไง มันเวียนตายเวียนเกิดนะ

แต่พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราหยุดโลก โลกมันหมุนด้วยตัวมันเอง เราไม่ให้โลกหมุนเลย หยุดโลกเลย เราหยุดโลกเพื่อจะแก้ไขเลย พุทโธๆ เห็นไหม ถ้าสัจจะมันเป็นจริงขึ้นมา ถ้ามันหยุดหมุนได้ ความคิดดับได้ ความคิดนี่ เขาว่าความคิดนี่เกิดดับ

ลมหายใจต้องมีตลอดชีวิตนะ ความคิดที่เกิดดับ ลมหายใจมีตลอดชีวิต แต่เวลา อัปปนาสมาธิ เวลาลงถึงลมหายใจทุกอย่างขาดหมด ดับหมด ไม่มีลมหายใจทำไมอยู่ได้ล่ะ เราคิดกันไปว่ามันเป็นไปได้ เราคิดว่าลมหายใจขาดแล้วทุกคนต้องตายหมด แต่เวลาอัปปนาสมาธิทุกอย่างดับหมดแล้วทำไมไม่ตาย นี่ไงมันไม่ตายเพราะมันอยู่กับธรรมไง นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่เราคิดของเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา ความเป็นไปของเรา สิ่งที่ว่าความคิดดับไม่ได้ ทุกอย่างดับไม่ได้ มันอยู่กับเรา

โดยธรรมชาตินะ ความคิดของเรา พอเราเพลิน หรือจิตเราแบบว่าเผอเรอ เราคิดว่ามันไม่มีอยู่แล้ว แต่ไม่มีอย่างนี้ จะบอกว่ามันมีของมัน คือมีความรู้สึก มีภพ มีนามธรรมเรื่องชื่อเสียงเรียงนามมันมีของมัน มี ! เพราะจิตนี่มันเป็นนามธรรม มันเกิดมันตาย ปฏิสนธิจิตมันเกิดมันตายตลอด

แต่เราเกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ มีสามัญสำนึกเป็นสัญชาตญาณ เป็นความจริง.. เป็นความจริงทางสมมุติไง สมมุติคือชั่วคราวชีวิตหนึ่ง แล้วตายแล้วไปไหน เวลาตายเห็นไหม คนตายจิตออกจากร่างกายไป ร่างกายอยู่โดยสมบูรณ์ แล้วเกิดมาเห็นไหม ร่างกายเป็นทารกจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาได้อย่างไร

มันอาศัยอาหารการกินขึ้นมา นี่คือโลก นี่คือวิทยาศาสตร์ เราคิดขนาดไหน เราจินตนาการขนาดไหน โดยธรรมะ ใช้ปัญญาขนาดไหนเห็นไหม พิจารณากาย เข้าใจเรื่องของกาย เข้าใจถึงสัจธรรม เราเข้าใจได้ เรื่องอย่างนี้เข้าใจได้ เข้าใจสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา จินตนาการความเข้าใจต่างๆ ความจินตนาการ ความเปรียบเทียบ เพราะอะไร เพราะมันมีทฤษฎีไง มีธรรมะของพระพุทธเจ้าไง นี่ก็สีข้างนะ เอาสีข้างเข้าถู

เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ขึ้นมา ท่านพูดให้ฟัง ท่านไม่ได้สีซอ คำพูดนะถ้าเราฟังแล้วเหมือนสีซอเพราะอะไร เพราะเราเป็นควาย แต่ถ้าเราฟังเข้าใจ เราฟังนี่ไม่ใช่สีซอนะ ดูซิเราฟังเทศน์ฟังธรรมน่ะเราเข้าใจได้ ภาษามนุษย์เราเข้าใจได้ สัตว์มันฟังภาษามนุษย์ ถ้ามันฝึกได้มันจะสามารถรู้ภาษามนุษย์ได้ มนุษย์สั่งมันรู้เรื่องได้

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตของเราเข้าสู่สภาวธรรม ถ้าสัจจะมันเป็นความจริงของมัน เวลาจิตมันสงบขึ้นมามันจะรู้ของมันว่าจิตมันสงบขึ้นมาได้อย่างไร ถ้ามันเป็นบารมีนะ เป็นส้มหล่น เกิดบารมีธรรม มันสงบ เหมือนถูกหวยน่ะ คนถูกหวยน่ะ เราไม่ทำสัมมาอาชีวะ คนทำธุรกิจทางการค้า มันจะได้มาด้วยกำไรหรือขาดทุน มันจะมีเหตุมีผลของมัน เงินของเราหามาด้วยน้ำพักน้ำแรง เวลาถูกหวยนี่เราได้รางวัลมาเลย รางวัลเป็นเงินมา แล้วมาจากไหนล่ะ มาเพราะโชคลาภ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพุทโธ พุทโธ หรือการปฏิบัติไป ถ้ามันมีเหตุมีผลพอ จิตมันลงได้ มีความสุข นี่คือความสัมผัสไง ความสัมผัสคือผลประโยชน์ที่ได้มา ผลประโยชน์คือจิตมันสงบได้ แต่วิธีการเราไม่รู้ วิธีการเราควบคุมไม่ได้ มันตั้งสติอย่างไร มันบริกรรมอย่างไร มันทำอย่างไรมันถึงมาเป็นอย่างนี้

นี่พูดถึงว่าถ้ามันเป็นความจริงนะ ที่ว่าจะสีซอแล้วไม่สีซอ คือใจเรามันจะรับรู้ ไม่ใช่สีซออยู่กับมันอย่างนี้ แล้วจิตใจมันก็ดื้อด้านอยู่อย่างนี้ แล้วนี่พูดถึงที่มันเป็นบารมีธรรมนะ

แต่ถ้าปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติไปโดยกิเลส โดยความหนา โดยสิ่งที่ว่าเราเป็นคนหยาบ เราเป็นผู้ที่สร้างมา มันมีแต่เวรแต่กรรม พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ หายไปเลย... อานาปานสติก็หาย ทุกอย่างก็หาย อันนี้ไม่ใช่บารมีธรรม ! อันนี้ไม่ใช่สิ่งที่เราไปสัมผัสเป็นรางวัล ถูกหวยหรือได้โชคลาภมา อันนี้มันเป็นการกลืนหายไปจากปกติ

ถ้าเราฟังเทศน์แล้วไม่เข้าใจ มันก็เหมือนสีซอ นี่ขนาดสีซอ เราพยายามบริกรรมของเรา มันยิ่งกว่าสีซอเพราะอะไร เพราะมันไม่ใช่เราได้รับรางวัลนะ มันทำให้เราติดเชื้อ มันทำให้เราปลูกฝัง ทำให้เราลงไปสู่สภาวะ เหมือนกับจิตที่มันบกพร่องอยู่แล้ว มันบกพร่องหนักขึ้นไปอีกเพราะอะไร เพราะมันตกภวังค์ไง มันใกล้เคียงกัน อย่างเช่น ถ้ามันได้รางวัลจิตสงบ มันได้รับรู้ มันมีความอิ่มใจ มันมีความสุขใจ มีความอบอุ่น มันเวิ้งว้าง มัน โอ้โฮ.. รู้หมด

แต่ถ้าลงภวังค์ไปนะ หายเกลี้ยงเลย หายไปหมด ว่างๆ.. แล้วพอตื่นขึ้นมานะ แล้วจะมาเถียงกันว่า ๒ อันนี้น่ะมันเหมือนกัน.. มันไม่เหมือนกัน ! มันไม่เหมือนกัน ! ถ้าครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติแล้ว มันจะผ่านขบวนการอย่างนี้มา ถ้าผ่านขบวนการอย่างนี้มา เพราะอะไร เพราะการเริ่มต้นปฏิบัติ

ดูสิ เด็กที่มันจะเข้าโรงเรียนอนุบาล ก่อนที่มันจะเริ่มหัดอ่านหัดเขียนนะ มันจะอ่านมันจะเขียนเลยได้ไหม ต้องสอนแล้วสอนอีก สอนแล้วสอนอีก ยกตัวอย่างแล้ว ยกตัวอย่างเล่า ให้มันจดจำนะ จนกว่ามันจะรับรู้ได้ พอรับรู้ได้ตัวอักษรมันก็เริ่มจำได้

จิตเวลาจะปฏิบัตินะ กว่ามันจะรับรู้ของมัน กว่ามันจะปรับสภาพของมัน กว่ามันจะเข้าสมาธิได้ การทำความสงบของใจน่ะ มันจะมีพื้นฐานอย่างนี้ เพราะว่าใจมันจะปรับตัวมันเอง โดยปกติเราปุถุชนนี่คนหนา แล้วปุถุชนคนหนา มันก็รับรู้เสียง รับรู้ต่างๆ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง เป็นสิ่งรับรู้ของจิต เวลาจิตออกรับรู้ทางอายตนะ พอมันรับรู้สิ่งใดแล้วมันก็กลับไปอยู่ที่จิต เห็นไหม นี่ปุถุชน

เวลาเราไปเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์เขาหาสมบัติกันนะ มนุษย์เขาหาลาภสักการะ เขาหาผลประโยชน์กันทางโลก แต่เราก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เราเห็นภัยทางโลก เราจะมาทางธรรม เพื่อมาบวชเป็นพระเป็นเจ้า เพื่อประพฤติปฏิบัติขึ้นมา พอประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะเปลี่ยนจากจิตที่เป็นปุถุชน

ถ้าเราพุทโธ พุทโธได้ มันสงบเข้ามา มันเหมือนส้มกับเปลือกส้ม เราหยิบผลส้ม มันต้องจับที่เปลือกส้มขึ้นมาถึงจะได้ผลส้มมาด้วย โดยสัญชาตญาณของมนุษย์ โดยธรรมชาติของมัน เปลือกส้มคือความคิดของเราดิบๆ เราพุทโธ พุทโธ พุทโธ ระหว่างเปลือกส้มกับส้มน่ะมันจะปอกออกจากกัน

เปลือกส้มคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ความรู้สึกของสัญชาตญาณของมนุษย์นี่ เวลาจิตมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันก็เกิดจากเปลือกนี่แหละ เพราะสัญชาตญาณความรับรู้ของมนุษย์ มันคือผลที่เกิด มันเป็นผลของสถานะของมนุษย์ มนุษย์คือมีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ โดยธรรมชาติมันมีอย่างนั้น

สิ่งที่มีอยู่แล้วไง เราปฏิบัติกันโดยต้นทุน โดยสิ่งที่มีอยู่ไง แต่เวลาเราศึกษาธรรม นั้นก็สักแต่ว่า นู้นก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ เอาความรู้สึกไปกองไว้นู้น แล้วเราปฏิบัติเราก็มีแต่ความว่าง ว่าง แต่เอาความรู้สึกเรา เอาเวรเอากรรมเอาไปกองไว้ข้างนอก เป็นไปไม่ได้ ! มันต้องกลับมาสงบที่เรา แล้วเราจะชำระเวรกรรมที่เราเห็นใช่ไหม

พอพุทโธ พุทโธ เข้าไป มันจะผ่านของอย่างนี้นะ มันแบบว่าหนามยอกเอาหนามบ่ง การประพฤติปฏิบัติก็คือเรานี่แหละ ก็คือความทุกข์เรานี่แหละ ก็คือสามัญสำนึกเรานี่แหละ แล้วเริ่มต้นมันขึ้นมา แต่เวลาปฏิบัติ เวลาความเข้าใจของเรานะ ไอ้สิ่งที่เป็นสามัญสำนึกนี่นะเป็นทุกข์หมดเลย เป็นสิ่งที่ไม่ต้องการหมดเลย จะสลัดทิ้ง จะสลัดมันออกไป แล้วสลัดอย่างไรล่ะ

แต่ถ้าเริ่มต้นกำหนดบริกรรมพุทโธ มันย่อยสลายของมัน มันเปลี่ยนแปลงของมัน มันเริ่มจะเข้าสู่สัมมาสมาธิ มันเริ่มมีสติปัญญาเข้ามา พอมันมีสติปัญญาเข้ามา มันจะเริ่มเข้าสู่ตัวมันเอง อย่างที่ว่าเริ่มต้นจากปฏิบัติโดยโชคลาภ มันถูกหวย มีโชคลาภขึ้นมานี่ โอ้.. มันมีความสุขมาก มีความแปลกประหลาดมหัศจรรย์ มีความซาบซึ้งมาก แต่ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น ออกมานี่โหยหาอยากได้เลย แต่ทำไม่ได้

แต่เวลาผู้ที่ปฏิบัติอีกผู้หนึ่ง เวลาปฏิบัติไป พุทโธๆๆ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิไป มันวูบหายไปเลย หายไปจนเป็นภวังค์ไปเลย อันนี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง

แต่ถ้าเราพุทโธๆ พุทโธ เราเริ่มต้นปฏิบัติของเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันมีเหตุมีผล พอมันมีเหตุมีผลขึ้นมา มันจะหยาบหรือมันจะละเอียดอย่างไร มันจะปรับตัวมันเข้ามา พอปรับตัวเข้ามา ความปรับตัวของจิต จิตโดยปุถุชน จิตหนาๆ จิตที่หยาบๆ มันเป็นความรู้สึกอันหนึ่ง เวลามันจะเข้าสู่ความสงบ มันจะหดตัวมันเองเข้ามา

ถ้าเป็นจิตหดตัวเข้ามา ส้มกับเปลือกส้ม เนื้อส้ม.. ถ้าไส้ในของส้มมันเน่า มันเสียไปหมดจนเหลือแต่เปลือกเปล่าๆ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ไหม นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่มันหดตัวเข้ามานะ เพราะมันเหลือแต่เปลือกเปล่าๆ มันไม่รับรู้ ระหว่างเปลือกส้มกับส้ม มันมีระยะห่าง เพราะข้างในมันกลวงหมด มันไม่รับรู้ใดๆ เลย

จิตถ้ามันสงบเข้ามาเห็นไหม พอมันสงบเข้ามาจนเป็นอัปปนาสมาธิ มันสักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่ารู้คือความรู้สึกของเรา ความรู้สึกมันตั้งอยู่แต่ว่าสักแต่ว่ารู้ คือมันรู้เอกเทศ รู้ที่ไม่รู้เกี่ยวกับเปลือก รู้ที่ไม่เกี่ยวกับร่างกายนี้เลย ร่างกายก็ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่รับรู้อะไรเลย ! แต่ตัวมันเองยังมีอยู่

สิ่งนี้พิสูจน์แค่สัมมาสมาธินะ ในการปฏิบัติ สิ่งที่ทำขึ้นมามันต้องอาศัยสิ่งใดๆ บ้างล่ะ มันอาศัยศรัทธาความเชื่อ มันอาศัยสถานที่เพราะอะไร เพราะโดยสามัญสำนึกของเรา ศีลต่างๆ มันรับรู้อยู่แล้ว เสียงนี่.. เสียงมาปั๊บจะรับรู้เลย ยิ่งเสียงเพศตรงข้าม เสียงเพศหญิงเพศชาย ได้ยินขึ้นมา อู้ฮู.. มันอยากรับรู้เลย

แต่เสียงอย่างอื่นมันก็ศึกษา มันก็เข้าใจของมันนะ เสียงที่ว่ามันดูดดื่ม เสียงที่เป็นโทษ เสียงที่เป็นทุน เสียงร้อยแปดพันเก้าเสียง นี่ร้อยแปดเสียง จิตนี่รับรู้ตลอด รูป รส ต่างๆ มันรู้ทั้งนั้นน่ะ แล้วเราไปคลุกคลีอยู่กับมัน มันเป็นสามัญสำนึก มันเป็นสัญชาตญาณอยู่แล้ว แล้วเราปฏิบัติโดยดิบๆ อย่างนี้ มันทำได้ยาก

พอเราเข้าป่าเข้าเขาไป รูป รส กลิ่น เสียง มันเป็นเสียงธรรมชาติ เข้าป่าเข้าเขาก็รูป รส กลิ่น เสียง เหมือนกัน เพราะอะไร เสียงลม เสียงแดด เสียงใบไม้ ใบหญ้า ก็รูปเหมือนกัน แต่รูปที่ไม่มีโทษ รูปที่ไม่มีพิษ ไม่ใช่ว่าเข้าป่าเข้าเขาแล้วจะไม่มี รูป รส กลิ่น เสียง จะไม่เห็นอะไรเลย ไม่ใช่ ! มันยิ่งเห็นใหญ่เลย แต่เห็นสิ่งที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย

แล้วถ้าจิตมันไม่ยอมรับรู้นะ มันดีดดิ้น มันไม่ยอมอยู่ มันจะออกไปคลุกคลีเพราะอะไร มันกลัวผี กลัวสาง กลัวลำบากกลัวลำบน กลัวไปหมดเลย ทั้งที่ยังไม่ได้ทำอะไรเลยน่ะ กิเลสเวลาเราจะควบคุมมัน เราจะแก้ไขมัน มันเล่นงานเราก่อนแล้ว ถ้ามันเล่นงานเราก่อน

ถ้าเราตั้งใจของเรา พอพุทโธ พุทโธ เข้าไปน่ะ เพราะโดยสัญชาตญาณของมนุษย์ใช่ไหม รูป รส กลิ่น เสียง กับอายตนะมันเข้ากัน ทุกอย่างมันเข้ากัน แล้วเราปฏิบัติอย่างนั้น ปฏิบัติแล้วมันมีความทุกข์ความยาก คือต้องใช้กำลัง ต้องใช้สติปัญญามากมายมหาศาล กว่ามันจะได้เป็นครั้งเป็นคราว แต่เราเข้าป่าเข้าเขาไป มันเข้าไปแล้วนี่ ถ้าจิตเราดี ถ้าเรามีหลักมีเกณฑ์ของเรา มันโหยหาทั้งนั้นน่ะ

พอไปแล้วไม่วิตกกังวลเลยว่า มันจะมีความทุกข์ความยาก มันจะไม่สะดวกสบาย มันจะไม่มีใครจะดูแล แล้วถ้าคืนนี้เสือมันเอาหัวไปกินแล้วเหลือแต่ตัวน่ะ ใครจะเอาศพนี้ไปเผา โอ๊ย..มันคิดไปร้อยแปดเลย มันก็ไม่ออกไปรับรู้เรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง เพราะอะไร เพราะเราประมาท เราเลินเล่อ เราไม่มีสิ่งใดควบคุม เราก็ไปหมดน่ะ นั่งคิดไปน่ะ จินตนาการไปทั้งวันทั้งคืน

แต่พอไปอยู่ในป่า มันกลัวเสือจะคาบหัวมันไปกิน พอกลัวเสือน่ะมันต้องหาที่พึ่ง เพราะอะไร เพราะความกลัวมันจะเป็นความรู้สึก แล้วความรู้สึกนี้มันจะพึ่งอะไรล่ะ พุทโธๆ มันหาที่พึ่งของมัน เวลาปฏิบัติที่ว่าออกไปปฏิบัติ อยู่ที่สัปปายะ อยู่สถานที่มีความจำเป็น จำเป็น.. คนไม่ปฏิบัติมันจะไม่รู้หรอก ไม่รู้ไม่เห็นว่าอะไรควรหรืออะไรไม่ควร

ทำไมในปัจจุบันเห็นไหม ดูสิ ลูกเราทำไมส่งไปเรียนอเมริกา ส่งไปเรียนยุโรปกันหมดล่ะ ก็อยากได้วิชาการของเขา ทำไมไม่ดึงไว้ที่นี้ล่ะ แล้วบอกว่าไม่ให้ไป อยู่กับเรานี่ แต่เวลาจะออกป่านี่ไม่ไป ก็จะไปเอาความรู้โว๊ย ! ก็จะไปเอาความจริงน่ะ ! ทำไมจะไปไม่ได้ ! ก็ต้องส่งเสริมให้ไป ส่งเสริมให้ไปพิสูจน์มา เอาความจริงนั้นมา ถ้าเอาความจริงนั้นมา เราไปเรียนทางตะวันตกมา โอ้โฮ เอากระดาษมาคนละใบดีอกดีใจมากนะ

เวลาเข้าป่าเข้าเขาไปน่ะ มันเอาอริยภูมิออกมานะ มันเอาสิ่งที่พ้นจากการเกิดและการตาย มันพ้นจากสภาวธรรมที่เกิดจากความเป็นจริง เกิดจากใจ กุปปธรรม อกุปปธรรม.. กุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมเป็นอนัตตา โอ๊ย.. ศึกษาเล่าเรียนทางวิชาการร้อยแปดพันเก้า พูดกันปากเปียกปากแฉะ เถียงกันน้ำลายท่วมทุ่งเลย มันไม่ได้อะไรเลย นี่กุปปธรรม อกุปปธรรม !

อกุปปธรรม.. สภาวธรรมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คงที่ตลอด มันเป็นสภาวะที่เป็นจริง ที่ไม่มีใครจะเปลี่ยนแปลงได้ เทวดา อินทร์ พรหม ทุกคนไม่สามารถทำให้มันย่อยสลาย หรือเปลี่ยนแปลงไปได้เลย ที่เราไปปฏิบัติในป่า นี่ไง อกุปปธรรม

อกุปปธรรม ไม่ใช่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา มันมีของมัน สภาวะของมัน แล้วเราปฏิบัติไปเพื่อความรู้อันนี้ออกมา มันไม่ใช่กระดาษแผ่นหนึ่ง มันเป็นเรื่องของภพชาตินะ ถ้าพูดถึงเรื่องภพเรื่องชาติ ความเปลี่ยนแปลง ถ้าเรารู้จริงนะ เราไม่มีต้นไม่มีปลาย เราเกิดตายเกิดตายมาตลอด ใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อ จะเป็นคนนักเลงหัวไม้ขนาดไหน ที่ว่าไม่กลัวสิ่งใดเลยนะ นั้นมันเป็นความคิดของเขา

แต่ถ้าความจริง “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” กรรมมันให้ผลตามความเป็นจริงอันนั้น ถ้าใครทำดีผลของความดี มันก็จะไปเกิดเป็นเทวดา อินทร์ พรหม เกิดเป็นมนุษย์ที่ดี ไปเกิดพบพ่อแม่ที่ดี

ดูซิ ผลของการเกิดเห็นไหม โอ.. เกิดกับพ่อแม่ที่ดี เกิดกับพ่อแม่ที่มีหลักมีฐาน โอ๊ย มีความสุขมีความสบาย ถ้ามันทุกข์มันยาก มันก็ไปเกิด.. นี่พูดถึงผลของวัฏฏะ จิตนี้มันเกิดมาตลอด มันเวียนเกิดเวียนตาย ถ้าเรารู้สภาวะแบบนี้ มันมีสติได้นะ แต่นี้มันไม่เป็นอย่างนั้น มันไปคิดแต่ว่า ทางโลกเขามีเครื่องล่อ สิ่งต่างๆ นี่มันล่อให้อยู่กับโลก

พอแก่เฒ่าชราขึ้นมา ทุกคนก็รู้ว่าต้องตาย พอต้องตายจะเอาอะไรติดมือไปล่ะ แต่ขณะที่ในปัจจุบันเรามีสติสัมปชัญญะอยู่ เราจะพยายามแก้ไขของเรา ถ้าแก้ไขของเราน่ะ ใช่ ! เกิดมาทุกคนก็มีบุญมีคุณทั้งนั้นน่ะ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูกนะ เพราะให้ชีวิตเรามา แล้วถ้าให้ชีวิตเรามา มาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ชีวิตเราเป็นอริยภูมิขึ้นมา พ่อแม่จะได้บุญขนาดไหนจากการประพฤติปฏิบัติของเรา

แล้วถ้าพ่อแม่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เราเปิดตาพ่อแม่ไง เราเปิดตา เราพาพ่อแม่ไปทำบุญกุศล เขาเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ กลับบ้านนะซื้อของไปฝากแม่ โอ๋ย.. ดูแลแม่นะ กินแล้วก็ขี้

แต่ถ้าให้พ่อแม่ทำบุญ บุญของพ่อแม่ทำด้วยความซึ้งใจ พ่อแม่มีความอิ่มใจ พอใจ เออ ลูกเดี๋ยวนี้มันคิดดี มันคิดถูกต้อง โห..มันทำดีขึ้นมา พ่อแม่ก็อบอุ่น เวลาตายไปบุญอันนี้มันมันพาไปส่งบนสวรรค์ ถ้าไปบนสวรรค์เห็นไหม นี่เลี้ยงข้ามภพข้ามชาติ อันนี้เลี้ยงกันชาตินี้ ชาตินี้ยังไม่เลี้ยงเลย อย่าว่าแต่เลี้ยงชาติหน้า ชาตินี้ก็ไม่เลี้ยง

เพราะว่าสิ่งที่เป็นบุญเป็นคุณนะ พ่อแม่เป็นพระอรหันต์ของลูก เพราะให้ชีวิตเรามา พระอรหันต์ของลูก ระหว่างพ่อแม่ก็เป็นครอบครัวหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่พระอรหันต์ของสาธารณะ

พระอรหันต์ของสาธารณะคือจิตใจที่เป็นพระอรหันต์ จิตใจที่เป็นพระอรหันต์เพราะอะไร มันจะหันลงนรกหรือเปล่า จิตใจจะหันลงไปไหน หันลงนรกอเวจีหรือจะหันขึ้นสวรรค์ หรือจะหันไปพรหม หรือจะหันเข้าสู่ความพ้นทุกข์ นี่ไง ที่ว่าหันๆ น่ะมันเป็นภาษาพูด เป็นภาษาสมมุติ ใครก็หันได้ จะหันไปไหน หันเอาหัวไปฟาดต้นเสาก็ได้

เพราะไอ้อย่างนี้ มันเป็นเรื่องความสมมุติ แต่ความจริงในหัวใจสิ ดูสิ พระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล เวลาอย่างพระเจ้าอโศกบอกว่า เวลาพระมีปัญหากันให้พระประชุมสงฆ์กัน ให้ทำสังฆกรรม แล้วให้อำมาตย์ไปประชุมสงฆ์ เพราะสงฆ์แยกทำสังฆกรรม ไม่ยอมทำสังฆกรรมร่วมกัน เพราะรังเกียจกัน

พระเจ้าอโศกให้เสนาอำมาตย์ไปเลย เอามีดไปเลย ประชุมสงฆ์.. ประชุมสงฆ์.. ใครไม่ประชุม ตัดหัว.. ตัดหัว.. ตัดหัว พอตัดหัวเห็นไหม เพราะไปใช้อำนาจ พอใช้อำนาจตัดหัวเลย

พอตัดหัว มีหลานพระเจ้าอโศกเห็นว่าเหตุการณ์ใหญ่โตมากแล้ว ตัวเองไปนั่งองค์ต่อไปเลย คือจะให้ตัดหัวองค์ต่อไป นี่อำมาตย์มาเจอหลานพระเจ้าอโศกแล้วไม่กล้า แต่เวลาคนอื่นกล้าตัดนะ แต่หลานไม่กล้าตัด กลับไปเฝ้าพระเจ้าอโศกเลย บอกว่านี่ไปประชุมสงฆ์แล้วจะตัดหัวให้หมดเลย

พระเจ้าอโศกนี่ร้อนเป็นไฟเลย เพราะนี่ไง เพราะคำสั่งบอกว่า ให้ประชุมสงฆ์ คือว่าพยายามจะให้สงฆ์สามัคคีกันโดยธรรม ไม่ใช่โดยอำนาจ โอ้.. ร้อน พระเจ้าอโศกนี่ร้อนมาก ไปเฝ้าอาจารย์ของตัวว่าจะทำอย่างไร จะทำประโยชน์แต่กลับไปได้โทษน่ะ เลยให้พระโมคคัลลีบุตร ติสสะ เป็นผู้ทำสังคายนาครั้งที่ ๓ มันถึงเป็นประโยชน์ขึ้นมา

นี่พูดถึงเวลาการฆ่า การทำลายไง นี่พระอรหันต์ เห็นไหม เวลาบอกว่า ฆ่าตัดหัวเลย ตัดหัวเลย มีดน่ะมันชอนไชผ่านเนื้อเข้าไป ผ่านกระดูกเข้าไป แค่ผ่านกะโหลกเข้าไปเฉยๆ นะ มันไม่ได้ตัดใครเลย มันตัดแค่ร่างกายไง มันไม่สามารถตัดหัวใจพระอรหันต์ได้ มันไม่มี ! แต่ถ้าเราเป็นปุถุชนนะ เวลามีดสับลงไปบนคอเรานะ โอ้โฮ แค่เข้าผิวหนังก็เจ็บน่ะ โอ๊ย เลือดก็พุ่งเลยน่ะ โอ๊ย พอมันตัดหัว มันตัดหัวใจเราด้วยไง หัวใจมันทุกข์มันร้อน เห็นไหม

แต่ถ้าพระอรหันต์นะ เวลาตัดคอไปนะ ตัดไปเลยแค่ใบมีด มันผ่านลำคอไป ความกระเพื่อมของใจมันไม่มี มันแตกต่างกันอย่างนี้ แตกต่างกันที่ว่า ถ้าใจมันทำถึงเห็นว่าวัฏสงสารนี่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ นี่ทุกข์ยากมาก

แล้วเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาครูบาอาจารย์ท่านเห็นของท่าน มันถึงเห็นคนใช้ชีวิตกันแล้ว มันสลดสังเวชไง การที่จะได้มนุษย์สมบัติมาไม่ใช่ของง่าย เราบอกว่าไปดูที่โรงพยาบาลสิ เกิดทุกวัน ประชากรนี่เกิดมหาศาลเลย ไม่ใช่ของง่าย จิตหนึ่งนะ เมื่อก่อน ๑๖ ล้านคน แล้วตอนนี้ ๖๐ - ๗๐ ล้านคน แล้วมันมาจากไหน

จิตหนึ่ง ! มันมีสมัยพุทธกาล พระปัจเจกพุทธเจ้า.. เวลาทำบุญมีลูกศิษย์นิมนต์ไปฉันที่บ้านทุกวัน พอไปฉันที่บ้านทุกวัน พอรู้กันแล้วว่าต่อไปนี้จะให้หมาเป็นคนไปนิมนต์ เขาสนิทกันขนาดนั้นน่ะ เวลาทำอาหารเสร็จแล้วจะให้หมาไปนิมนต์ หมานั้นมาถึงก็เห่า โฮ่งๆ ตามไปตลอดทุกวัน มันนิมนต์พระไปฉันทุกวันเลย แล้วพระปัจเจกนี่ฉลาด เดินทำเป็นหลง ทำเป็นอะไร หมามันรักมันก็ไปคาบจีวรมา อะไรมา

พอวันสุดท้ายนะ พอออกพรรษาแล้ว ประเพณีสมัยพุทธกาล จำพรรษาแล้วพอออกพรรษาแล้วต้องออกธุดงค์ ท่านไม่ให้อยู่จำพรรษา ถ้าอยู่จำพรรษาประชาชนจะติเตียน เพราะเขาต้องการให้พระนี่มีหลักมีเกณฑ์ไง ที่นี้พระปัจเจกพุทธเจ้า เวลาออกพรรษาก็ต้องสละท้องที่ ก็ต้องธุดงค์ไป

พอธุดงค์ไป มันก็ต้องพลัดพรากจากกัน ไอ้หมาตัวนั้นมันรักมากนะ มันก็หอน มันหอนจนขาดใจตายเลย พอมันขาดใจตายไปนะ ด้วยบุญกุศลที่มันไปนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้ามาฉันข้าวทุกวันน่ะ มันไปเกิดเป็นเทวดา พอไปเกิดเป็นเทวดา โอ๋.. มีเสียงเพราะที่สุด เสียงดีที่สุดในหมู่เทวดาทั้งหมดเลย ท้าวโฆสก ศาสนาพุทธเลยบอกโฆษกไง ไอ้พวกโฆษกก็คือหมาไง ท้าวโฆสกเห็นไหม

นี่จะบอกว่าการเวียนตายเวียนเกิด เกิดเป็นมนุษย์ก็ได้ เกิดเป็นสัตว์ก็ได้ คือสัตว์มันยังเกิดเป็นมนุษย์ หมานี่ไปเกิดเป็นเทวดานะ แล้วนี่จิตหนึ่ง พอจิตหนึ่งเห็นไหม ดูซิมนุษย์มาจากไหน มนุษย์มาจากไหนล่ะ

ดูสัตว์นะ สัตว์ทุกตัว จิตหนึ่ง จิตนี่มันเกิดเปลี่ยนแปลงได้ พอมันเปลี่ยนภพชาติ มันเกิดเป็นอะไรก็ได้ มันจะไปไหน อู้ฮู... จิตวิญญาณจะเกิดอีกมหาศาล แล้วไม่มีโอกาสได้เกิดด้วย เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยาก ขนาดที่ว่าแสนยากมันยังเกิดได้ขนาดนี้ นี้พอเราได้สิ่งนี้มาพุทธศาสนาสอนอย่างนี้ แล้วสอนอย่างนี้ นี่คำสอนของพระพุทธเจ้านะ ความจริงนะ ความจริงก็ปฏิบัติดูซิ

เวลาปฏิบัติไปนะ จิตไม่สงบนะ เราก็ไม่รู้อะไรหรอก เรารู้ธรรมะด้วยสัญญา ด้วยสิ่งเปรียบเทียบ ขนาดเปรียบเทียบ เราอ่านแล้วเรายังขนลุกขนพองกัน แล้วถ้าจิตเราไปรู้เองล่ะ จิตเราไปรู้เองนะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ศาสนาพุทธนี้นะ “อานนท์ ! ไม่มีกำมือในเรา” พระพุทธเจ้าแบหมดเลย คือสอนหมดไส้หมดพุงเลย ถ้าเอ็งปฏิบัติได้ถึงที่สุดเป็นพระอรหันต์แน่นอน เหมือนกันหมด !

พระพุทธเจ้าไม่เหมือนหนังกำลังภายใน มันจะมีเคล็ดลับของเขาไว้ เขากลัวลูกศิษย์มันจะเก่งกว่าครู ต้องมีตำราสุดท้ายไว้คอยกำจัดมัน แต่พระพุทธเจ้าไม่มีนะ พระพุทธเจ้านี่ไม่มีกำมือในเรา แบตลอดนะ พอแบตลอดเวลา เวลาประพฤติปฏิบัติไปน่ะแบตลอดมันก็เข้าถึงความสะอาดบริสุทธิ์ได้เหมือนพระพุทธเจ้า ถ้าเข้าถึงความสะอาดได้เหมือนพระพุทธเจ้า มันจะมีสิ่งใดถึงเข้าไปสู่ความสะอาดอันนั้นได้

ที่นี้สิ่งที่เข้าไปสะอาดอันนั้นได้ คือการกระทำของเราไง คือการปฏิบัติของเรา คือสติ คือสมาธิ คือปัญญา ที่มันจะไปแก้ไข เป็นโสดาบัน เป็นสกิทาคามี เป็นอนาคามี เป็นพระอรหันต์ เป็นนี้เป็นกิเลสหรือเปล่า

เป็นโสดาบันเป็นกิเลสหรือเปล่า ? เป็นกิเลสแน่นอนเลย ถ้ามึงเป็นโดยจินตนาการน่ะ โอ๊ย...เป็นโสดาบันน่ะเป็นอย่างนั้น ๆ โอ่ เดี๋ยวนี้นะ ครบสมบูรณ์ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา นี่ไม่สงสัยอะไรเลย เป็นพระอรหันต์หรือเปล่า.. เป็นพระโสดาบันหรือเปล่า ? เป็น ! เป็นอะไร.. เป็นโดยที่มึงคิดเองไง ไม่เป็นความจริงหรอก !

ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา มันมีขบวนการของมัน สมาธิเป็นสมาธิได้อย่างไร พอสมาธิออกเป็นปัญญา มรรคญาณมันเกิดอย่างไร แล้วมันซึ้งมาก.. ซึ้งมาก ก็ตำราพระพุทธเจ้า ตำราในพระไตรปิฎก เปรี๊ยะๆ เลย แต่ตอนนี้พระไตรปิฎกมีปัญหาเพราะอะไร

มีปัญหาเพราะเราตีความผิดไง มีปัญหาเพราะนักวิชาการตีความพระไตรปิฎกตามความเห็นของตัว ตีความตามทฤษฎี ตีความตามพื้นถิ่น ตามสภาวะแวดล้อม มีสภาวะแวดล้อมมันก็ตีตามว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นน่ะ มันก็เลยเป็นการรู้ในการตีความ

แต่ถ้าเรารู้จริงขึ้นมา แล้วพอรู้จริงขึ้นมาโดยความจริงของเรา เป็นพระโสดาบันไหม เป็น ! เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะกูฆ่ากิเลสโว๊ย ! กูทำลายมัน สักกายทิฐิมันตายต่อหน้าเลย กูพลิกศพมันดูด้วย แล้วพลิกๆ อย่างไรเห็นไหม

ครูบาอาจารย์ที่เป็นพระกรรมฐาน เขาคุยกันด้วยเหตุนี้ ฉะนั้นครูบาอาจารย์ของเรา พูดกันในธรรมสากัจฉา เอตัมมัง คะละมุตตะมัง เขาจะฟัง.. ฟังในการกระทำ สมาธิเป็นอย่างไร

สมาธินะ.. ถ้าคนเป็นกับคนไม่เป็นคุยกันนะ เถียงกันตายเลย ไอ้คนไม่เป็นนะ สมาธิว่าง โอ้โฮ ว่างเลย แล้วพูดได้เพริศแพร้วเลยนะ

ถ้าอย่างนั้นคนเป็นนะ.. ถ้าว่างอย่างนั้นก็อวกาศไง อวกาศ.. แต่ถ้าเป็นสมาธิของกู ไม่ใช่อวกาศ มันว่างอยู่ที่นี้ แล้วว่างอย่างไรล่ะ จิตมันทำอย่างไร มันปล่อยอย่างไร พอเป็นสมาธิแล้วฐีติจิตคือจิตเดิมแท้ คือกระบวนการของจิตน่ะ ขบวนการของจิตใช่ไหม

น้ำขุ่น น้ำมีตะกอน มันก็ขุ่นด้วยตะกอนเป็นธรรมดา เวลาตะกอนมันนอนก้น มันก็ใสเป็นธรรมดา อ้าว ! เมื่อใสแล้วมันคืออะไร มันก็คือน้ำน่ะ คือน้ำที่มีตะกอนอยู่ก็เขย่าๆ ตะกอนมันก็ขึ้น นี่ก็เหมือนกัน จิตมันจะเป็นสมาธิขนาดไหนก็แล้วแต่ สมาธิมันตั้งอยู่บนอะไร สมาธิมันเกิดอยู่บนอะไร สมาธิมันเกิดจากจิต

สมาธิคืออะไร สมาธิถ้าเป็นสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิเป็นกำลัง ไม่ใช่สมาธิธรรมดา สมาธิของเรามันเกิดจากจิตของเรา พอจิตมันเป็นสมาธิแล้วน่ะ โอ้...มีความสุขมาก มีความว่างมาก แต่เผลอขึ้นมา มันก็ทุกข์อีกน่ะ เผลอก็ทุกข์อีก

แต่พอจิตเป็นสมาธิแล้ว จิตออกใคร่ครวญนะ ไอ้ตะกอนมันอยู่อย่างไร ไอ้ที่มันเผลอแล้วมันขุ่น แล้วมันพลิกแพลง พลิกกลับหัวกลับหางกันอยู่นี้ทำอย่างไร นี่ปัญญามันเกิด เกิดในอะไร เกิดในกาย เวทนา จิต ธรรม เพราะกาย เวทนา จิต ธรรม โดยสัญชาตญาณของเรา จิตของเราอยู่กับเรา

กาย เวทนา จิต.. จิตคือสภาวะภพ คือเก็บข้อมูล จิตนี่นะเหมือนฮาร์ดดิสเลย เหมือนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เลยจิตเรานี่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์มันเก็บข้อมูลของมันไว้ใช่ไหม จิตของเราเก็บไว้ตั้งแต่อดีตชาติ กี่ร้อยกี่พันชาติก็เก็บอยู่ที่นี่หมด

ถ้าไม่เก็บอยู่ที่นี่หมดนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขย ๘ อสงไขย ๑๖ อสงไขย ถ้ามันไม่ได้เก็บต่อกันระหว่างภพชาติมันต้องตัดๆ ออกไป เช่นเราทำดีวันนี้ พรุ่งนี้ความดีอันนี้ไม่ใช่ของเรา วันนี้เราทำดีใช่ไหม พรุ่งนี้เราทำความชั่วมันก็คนละเรื่องกัน

แต่ถ้าเป็นจิตนะ วันนี้ทำความดี พรุ่งนี้ทำชั่ว แต่ความดีของวันนี้มันไปเป็นเครื่องช่วยเกื้อหนุน มันยังเป็นไป ฉะนั้นไอ้ตัวจิต โดยที่ว่าสักกายทิฎฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เวลาทำลาย มันรู้ของมัน มันเห็นของมันนะ คือมันไปเปลี่ยนโปรแกรมตัวนี้ไง มันไปทำลายโปรแกรม มันไปชะล้างโปรแกรมให้หมดข้อมูล ล้างโปรแกรมทิ้งเลย !

ล้างโปรแกรมได้มากหรือได้น้อย จะล้างไปเรื่อยๆ นี้เป็นขบวนการของมัน ถึงว่าเป็นพระโสดาบันเป็นอย่างไร เป็นพระสกิทาคามีเป็นอย่างไร เป็นพระอนาคามีเป็นอย่างไร เป็นพระอรหันต์เป็นอย่างไร

เราบอกว่าเราหัน กูก็หันว่ะ แล้วหันอย่างไร กูไม่รู้ กูตื่นขึ้นมากูก็เป็นพระอรหันต์ว่ะ กูไม่รู้เรื่อง..

โอ๊ย...วงกรรมฐานเขาไม่ฟัง ! วงกรรมฐาน เขาจะบอกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ถ้าที่มาที่ไปถูก วงกรรมฐาน ครูบาอาจารย์ท่านจบกระบวนการของท่านแล้ว แล้วท่านรอฟังลูกศิษย์น่ะ หลวงปู่มั่นบอกว่า “หมู่คณะปฏิบัติมานะ การแก้จิตนี้แก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้ว่ะ”

ผู้เฒ่าคือตัวหลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ท่านค้นคว้าของท่านมาน่ะ แล้วท่านก็สั่งสอนลูกศิษย์มา “หมู่คณะปฏิบัติมาเลย การแก้จิตมันแก้ยากนะ ผู้เฒ่าจะแก้นะ ผู้เฒ่าตายไปแล้วจะไม่มีใครแก้นะ ผู้เฒ่าตายไปแล้วจะไม่มีใครแก้นะ”

ที่นี้ผู้เฒ่าก็ได้อบรมได้สั่งสอน ได้ปลูกฝัง ได้ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ตั้งแต่หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่แหวน หลวงปู่ขาว ต่างๆ ขึ้นมา เป็นครูบาอาจารย์ของเรามา พอครูบาอาจารย์ของเรามานี่ สิ่งนี้ปลูกฝังกันมาแล้วมันตรวจสอบกันมา ตรวจสอบด้วยอะไร เพราะตรวจสอบด้วยเป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่นเหมือนกัน เวลาไปกราบหลวงปู่มั่น ก็จะไปรายงานผลว่าผิดหรือถูก หลวงปู่มั่นก็แก้ไขมา

นี่ขบวนการของมัน ถึงว่าถ้ามึงก็หัน กูก็หันนี่ แต่เหตุผลไม่เหมือนกันน่ะ ผิดองค์หนึ่งและถูกองค์หนึ่งเด็ดขาด ! แต่ขบวนการของเรามันตรวจสอบกัน มันทำด้วยกัน พอมันตรวจสอบแล้วมันถึงเป็นความจริงขึ้นมา พอเป็นความจริงขึ้นมามันถึงเป็นความจริง

ถึงบอกว่ามันเทศน์ เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดกันท่านถึงไม่สีซอ ท่านพูดกันด้วยความเป็นจริง แต่พวกเรานี่มันสีซอนะ มันสีซอ.. สีซอเราไปเรื่อย

ตั้งใจ.. ถ้าเป็นความจริงนะ ขบวนการของมันจะมี.. ขบวนการของมันมี ความรู้สึกมันมี ความจริงมันมี ถ้าความจริงมันมี ทุกข์มันทุกข์จริงๆ นะ

เวลามันอยู่ในสังคมนะ สบายดีไหม.. สบายดี เจ็บเกือบตายน่ะ สบายดีครับ...

มันไม่พูดความจริง สบาย.. สบายครับ โอ้..เจ็บหัวอก ยังว่าสบายอยู่นะ แต่เราแก้ไขของเรา เราทำเพื่อเรา ประโยชน์กับเรา เนาะ เอวัง