เทศน์พระ

ดีที่ไม่มีโทษ

๑๓ พ.ค. ๒๕๕๓

 

ดีที่ไม่มีโทษ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังธรรม ธรรมะเห็นไหม “ธรรมะ” แต่ถ้าเราคุ้นชินกับมันนะ เราว่าธรรมะคืออะไร ใครๆ ก็ว่าธรรมะคือธรรมชาติ ถ้าคือธรรมชาติ ลมพัดลมเพก็เป็นธรรมชาติอันหนึ่ง แต่ถ้ามันมีสติสตังนะ เป็นธรรมชาติแต่เราเศร้าใจน่ะ มันสลดสังเวชไง มันปลงธรรมสังเวช ถ้ามันเป็นธรรมขึ้นมานะ มันสะเทือนใจจนน้ำหูน้ำตาไหลนะ มันเศร้าใจไง มันเศร้าใจว่าชีวิตนี้ทำไมมันเป็นอย่างนี้ ชีวิตนี้นะ มันรู้อยู่ว่าชีวิตนี้มันเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งใครเกิดมาก็ต้องตาย มันต้องเวียนตายเวียนเกิด แต่มันไม่มีทางออกนะ ทั้งๆ ที่ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ศึกษามาทุกคนน่ะ ปากเปียกปากแฉะนะ ทุกคนนะ สัตว์ทุกตัวเกลียดความทุกข์ อยากได้ความสุข ความดีนี้ทุกคนปรารถนา แต่ความดีน่ะมันดีของใคร ดีของเรามันดีมีโทษ มันไม่ใช่ดีของหลวงปู่มั่น

หลวงปู่มั่นบอกว่า “ดีใดที่ไม่มีโทษ ดีนั้นประเสริฐที่สุด”

“ดีใดที่ไม่มีโทษ” แต่เราว่าเป็นความดีไง แต่มันมีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก

ความดีของเราเห็นไหม เวลาคุยกันเรื่องสัจจะ เรื่องข้อเท็จจริง มันก็เป็นกาลเทศะ มันไม่ใช่เวลา “มันไม่ใช่เวลา มันไม่ใช่กาล” ถ้าไม่ใช่เวลาไม่ใช่กาลนะ สิ่งนั้นจะไม่เป็นประโยชน์

สิ่งที่เป็นประโยชน์เห็นไหม เหล็กเขาจะตีขึ้นรูปน่ะมันต้องร้อน เขาหลอมมันจนแดงนะ จะตีเหล็กน่ะ เขาจะตีเหล็กแดงๆ ถ้าเหล็กมันไม่แดง เหล็กมันไม่ได้มีความร้อน ไปตีมันก็ไม่มีประโยชน์หรอก มันมีแต่เหล็กจะกรอบ จะเสีย จะแตก จะหัก ไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย

นี่ก็เหมือนกัน เราว่าเรามีความดีนะ ทุกคนก็เป็นคนดี ทุกคนก็ว่ามีคุณธรรมในหัวใจ ถ้ามีคุณธรรมในหัวใจ ทำไมมันขัดแย้งกันไปหมดล่ะ มันดีของใครล่ะ ถ้ามันดีของเรานะ เราเห็นของเขา เราเข้าใจได้

ดูสิ ดูอย่างเด็ก เห็นไหม “เด็ก” ความรู้ของเด็กก็เป็นอย่างหนึ่ง ความรู้ของผู้ใหญ่ก็เป็นอย่างหนึ่ง ความรู้ของผู้ที่ชราภาพ เห็นไหม คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนใกล้ตายขึ้นมา หัวใจมันไม่เอาอะไรแล้วนะ มันจะเอาแต่รักษาตัวมันเองน่ะ

นี่ก็เหมือนกันนะ ความดีของใคร ดีเห็นไหม “ดีที่ไม่มีโทษ” เรามีโทษเพราะอะไรล่ะ มันมีโทษ เพราะเราไม่รู้จริง เพราะเรามีแต่รูปแบบ

เวลาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนรู้นะ ทุกคนศึกษาขึ้นมา รู้และเข้าใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนเข้าใจหมดเลย เห็นไหม เวลามหายานที่เขาบอกว่า ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือว่า “ละชั่ว ทำดี”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแค่นั้นน่ะเหรอ

“ใช่” สอนแค่นั้นน่ะ แต่ทำไม่ได้

เห็นไหม “ละชั่ว ทำดี”

ถ้าละชั่ว ทำดีนะ มันชั่วของใครล่ะ ความชั่วนะ ความผิดพลาดของใคร ถ้าความผิดพลาดนั้นมันเป็นของเล็กน้อย ความผิดพลาดเพราะความพลั้งเผลอ ความผิดพลาดเพราะความไม่รู้ สิ่งต่างๆ ที่มันผิดพลาดอยู่นี้เพราะความไม่รู้เท่า เรารู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราทำไปนะ แล้วพอมันให้ผลมา ทุกข์ทั้งนั้นเลย เห็นไหม เราว่าเราทำดี ทุกคนบอกว่าทำความดี ยิ่งฆราวาสยิ่งบอกเลย “ก็เป็นคนดีแล้วนะ ทำบุญกุศลตักบาตรทุกวันน่ะ ทำไมมันทุกข์ยากขนาดนี้ ทำไมมันไม่ประสบความสำเร็จ”

มันจะประสบความสำเร็จไปได้อย่างไร เพราะเราไปคบกับโจร เราไปคบกับโจรนะ เขาทำดีขึ้นมา มันดีหน้าฉาก ทุกอย่างมันมีหน้าฉากหลังฉาก ความที่มีหน้าฉากหลังฉาก แล้วเราเห็นแต่เบื้องหน้า เราก็ว่าเป็นความดี เป็นความดีเพราะเขาให้เราตายใจไง ความดีเพราะเราตายใจ พอเราตายใจขึ้นมาแล้ว พอทำขึ้นไปแล้วเราทำผิดพลาดไป มันให้โทษทั้งนั้นเลย แต่ถ้ามันไม่ตายใจ จะไม่ตายใจเพราะอะไร มันต้องมีเหตุมีผลสิ เราต้องมีสติปัญญาของเรา มันไม่มีของใครสิ่งใดหรอกที่จะได้มาโดยง่าย มันไม่มีหรอก

สิ่งที่เป็นของง่าย สิ่งที่เขายื่นให้ด้วยความสะดวกสบาย ด้วยความเรียบง่ายนี้ มันไม่มีจริง มันไม่มีจริงนะ มันมีจริงแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรารถนามารื้อสัตว์ขนสัตว์ แล้ววางธรรมวินัยไว้ เห็นไหม

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเทศน์ปัญจวัคคีย์และยสะรวมได้ ๖๑ องค์ “เธอทั้งหลายคนพ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและที่เป็นทิพย์” บ่วงที่เป็นโลก เห็นไหม คำสรรเสริญนินทา สิ่งต่างๆ นี้คือบ่วงที่เป็นโลก เห็นไหม สิ่งที่ว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ สิ่งที่สังคมเขายื่นให้อะไรนั้น นี่คือบ่วงที่เป็นโลก

บ่วงที่เป็นทิพย์ เห็นไหม ทำบุญกุศลแล้วจะไปเกิดบนสวรรค์ บนอินทร์ บนพรหม บ่วงที่เป็นทิพย์

“พ้นจากบ่วงที่เป็นโลกและบ่วงที่เป็นทิพย์แล้ว” เห็นไหม มันอิ่มเต็มของมัน ความดีอย่างนี้เป็นความดีแท้ ความดีคือความดีนะ

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดถึงความดี “คนทำบุญกุศลแล้วน่ะ ให้ทิ้งเหว” ถ้าความดีแท้ “ทำบุญให้ทิ้งเหว” เห็นไหม ดูสิ เราไปถวายพระนะ ตักบาตรพระแล้วก็จบ พระที่เป็นครูบาอาจารย์เรา พระที่เป็นผู้ประเสริฐ เราได้ตักบาตรแล้วจะเป็นบุญมหาศาลเลย แต่พระที่เป็นอลัชชี เราตักไปแล้วก็จบน่ะ เขาจะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา เป็นการบาปเป็นกรรมของเขา เราทำแล้วมันก็จบ

แต่เวลาเราตักบาตร เราละล้าละลัง เห็นไหม เราไม่ทิ้งเหวไง

ที่ว่าทิ้งเหว เห็นไหม ปฏิคาหก เวลาผู้ให้-ผู้รับ ผู้ให้ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ สิ่งที่หามาด้วยความบริสุทธิ์ เวลาให้ก็ให้ด้วยความบริสุทธิ์ ให้แล้วก็เป็นความบริสุทธิ์ ผู้รับมีความบริสุทธิ์ แล้วผู้รับไม่บริสุทธิ์ล่ะ เห็นไหม “อลัชชี”

ถ้าเรารู้ว่าเป็นอลัชชีเห็นไหม อลัชชีที่เราไปส่งเสริม อลัชชีทำลายศาสนา ก็เท่ากับเราก็ทำลายศาสนาไปด้วยหรือ เห็นไหม แล้วมันทิ้งเหวได้อย่างไรล่ะ มันทิ้งเหวขณะที่มันทำนะ ทำบุญแล้วทิ้งเหว เห็นไหม ทำบุญ ทำดี ดีคือดี ดีแท้ ทำแล้วก็แล้วกันไป เขาจะทำอย่างไรก็แล้วแต่

แต่ถ้าเรารู้ขึ้นมาแล้ว เพราะเรารู้เราเป็นคนดีใช่ไหม คนดีมันมีปัญญาใช่ไหม สิ่งที่ไม่ดีเราก็จะหลบหลีกใช่ไหม สิ่งที่เป็นของแสลง เราเป็นโรคภัยไข้เจ็บอยู่ เราดีไม่จริง ดีไม่จริงเพราะเรามีอวิชชาในหัวใจของเรา มันมีสิ่งเร้าในหัวใจของเรา มันมีแรงปรารถนา มันมีแรงขับทั้งนั้น มันต้องการให้เป็นของมัน แล้วเวลาธรรมไปตอบสนองมัน เห็นไหม มันเป็นของแสลง

นี่ก็เหมือนกัน เวลาตักบาตรไปแล้ว เห็นไหม ถ้าพระเป็นอลัชชี เราทำบุญกุศลไปแล้วนะ เขาจะเอาของเราไปทำดีหรือทำชั่วล่ะ หมั่นสังเกต แล้วพอเขาเอาของเราไปแล้ว เขาไปเวียนเทียน เขาเอาไปเป็นผลประโยชน์ขึ้นมาน่ะ เราก็จะทุกข์ขึ้นมา เจ็บช้ำน้ำใจ เห็นไหม ถ้าเรามีสติปัญญาของเรานะ ถ้าเราไม่ไว้ใจของเรา เราก็ทำที่เราพอใจ เห็นไหม “ทำบุญให้ทำที่ที่เราพอใจ” ถ้าเราพอใจทำแล้วก็จบกัน ถ้าที่ไหนเราไม่พอใจ เรามารู้ทีหลัง เรารู้แล้วว่าสิ่งนั้นมันไม่ดี เราก็หลบหลีกเอาไง

เห็นไหม มันเป็นความดีของเรา เราหลบหลีกเอา ไอ้นี่เราไม่หลบหลีกเอานะ “ทำไมเขาเป็นอย่างนั้น ทำไม...” จะไปแก้ไขเขาน่ะ จะไปแก้ไขอลัชชีให้เป็นลัชชีไง เป็นพระดีขึ้นมานะ จะไปแก้ไขเขา นี่ไง ความดีที่เป็นโทษ จะไปแก้ไขแต่คนอื่น แต่ทำไมไม่แก้ไขที่เราล่ะ

มือเท้าของเรา เห็นไหม คนเกิดมายังไม่เท่ากันเลย ทัศนคติของคนก็ไม่เหมือนกัน คนเกิดมาไม่เท่ากันทั้งนั้น นิ้วคนเกิดมานิ้วคนก็ไม่เท่ากัน ในเมื่อเขาปรารถนาของเขา เวลาตัณหาความทะยานอยากนะ อวิชชามันครอบงำจิตนะ มันย้อมจิตน่ะ เขาไม่รู้อะไรกับเราหรอก เขาคิดแต่ว่าผลประโยชน์นั่นคือความดีไง ผลประโยชน์เฉพาะหน้าของเขาคือความดี แล้วถ้าผลประโยชน์เป็นความดี แต่เป็นความดีที่มีโทษ

หลวงปู่มั่นบอกไว้แล้วว่า “ความดีที่ไหนที่มีโทษ ความดีนั้นไม่ประเสริฐเลย” แล้วความดีที่มีโทษ เห็นไหม เพราะผลประโยชน์เฉพาะหน้าใช่ไหม ถ้าผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่เขาทำเขาก็รู้อยู่ว่ามันเป็นความผิดใช่ไหม เขาก็รู้ของเขา เขามีเจตนาของเขา เขาทำความชั่วของเขา เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้าของเขา นี่มันเป็นความดี อย่างนี้คือความดีของเขา ความดีเฉพาะหน้าไม่ใช่ความดีจริงๆ ของเรา

ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์ท่านทำความดีจริงนะ ดูหลวงตา เห็นไหม เวลาจะภาวนาขึ้นมา อดนอนผ่อนอาหาร ไม่ฉันข้าว จนคำนวณเวลานะว่า ถ้าเราไม่ไปฉันนะ วันต่อไป ถ้าเราจะไปบิณฑบาต เราจะเดินไปถึงหมู่บ้านไม่ได้ ฉะนั้นถ้าเรามีกำลัง เราควรรีบจะไปก่อน พอรีบจะไปก่อน เห็นไหม เดินไปครึ่งทางนะ ไม่มีกำลังเลย นั่งลง เห็นไหม นั่งพัก

“นี่ไง ไหนบอกว่าจะฆ่ากิเลส จะฆ่ากิเลสน่ะ ตอนนี้นะ เราจะตายแล้วรู้ไหม เพราะเราอดอาหาร ว่าจะฆ่ากิเลส แต่กิเลสมันจะเหยียบหัวเอาแล้ว” เห็นไหม เนี่ยทำความดี

ทำความดีคืออะไร ความดีคือขัดเกลากิเลสของเราไง ทำความดีกับเรานะ นี่ความดีไม่มีโทษ แต่กิเลสมันเหยียบหน้าเอาเลยนะ ถ้าความดีไม่มีโทษนะ “เห็นไหม จะตายแล้ว ไปประกอบความดี.. ประกอบความดี.. โลกเขามีแต่ความร่มเย็นเป็นสุข เรามีแต่ความทุกข์ทั้งนั้นน่ะ อดนอนผ่อนอาหาร กำลังจะไปบิณฑบาตก็ไม่ไหว”

แล้วธรรมะมันเกิด ธรรมะมันสู้เลย ถ้าธรรมะมันสู้ขึ้นมานะ “อ้าว ก็กินมาตั้งแต่เกิดมาจนป่านนี้ ถ้ากินมันก็กินตั้งแต่เกิดมาจนป่านนี้ อาหารสิ่งใดกินก็กินมาแล้วทั้งนั้นน่ะ ถ้ามันมีประโยชน์ ถ้ามันจะเป็นความดีขึ้นมา มันก็ต้องได้ความดีขึ้นมาแล้วสิ แต่มันก็ยังไม่ได้ความดีอะไรขึ้นมาเลย แล้วถ้ามันไม่ได้ความดีอะไรขึ้นมาเลย เราจะอด.. อดอาหารเพื่อประพฤติปฏิบัติ อดอาหารเพื่อไม่ให้ธาตุขันธ์ทับจิต มันจะผิดไปไหน”

พอธรรมมันเกิด มันเกิดความฮึกเหิมขึ้นมา เห็นไหม ไปบิณฑบาตเฉยเลย

แต่ก่อนหน้านั้นมันคือความดีที่มีโทษ ความดีของโลกเขา ความดีเฉพาะหน้าของเขาแต่เขามีโทษ คือ เขาหาบาปหากรรมใส่ตัวเขา แต่ความดีของเราเห็นไหม เราจะชำระกิเลส เราต่อสู้กับกิเลสน่ะ กิเลสมันโดนแผดเผาน่ะ มันยังต่อต้าน นี่ไง ทำอย่างนี้เป็นความดีหรือ มีแต่ความทุกข์เห็นไหม อดอาหารจนบิณฑบาตไม่ไหว มันมีประโยชน์อะไรขึ้นมา เอ้า..ก็มีประโยชน์สิ มีประโยชน์เพราะจะต้อนกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่มันดิ้นรนอยู่นี่ไง ถ้ามันไม่มีการอดนอนผ่อนอาหาร มันจะมีอย่างนี้ไหม มันจะมีความรู้สึกมีความคิดอย่างนี้ไหม มีความต่อต้านของกิเลสไหม

พอกิเลสมันต่อต้านขึ้นมา เราก็ได้เห็นหน้ามันไง “อดนอนผ่อนอาหาร ก็เพื่อจะเห็นหน้าเอ็งไง” จะเห็นหน้ากิเลสตัณหาความทะยานอยาก สิ่งที่มันขัดใจอยู่ในหัวใจนี้ต้องดึงมันออกมา ต่อสู้กับมันเห็นไหม ถ้าต่อสู้กับมัน ความดีอย่างนี้ นี่ ! ความดีที่จะเอาชนะกิเลส

ถ้าความดีที่จะเอาชนะกิเลส มันก็ต้องต่อสู้กับแรงขับ ต่อสู้กับความปรารถนาของตัวเอง ต่อสู้กับสิ่งต่างๆ การต่อสู้นี้มาจากไหนล่ะ ถ้าต่อสู้ขึ้นมาก็มาจากสติปัญญาของเราไง จากความตั้งใจของเราไง ถ้าเราไม่มีความตั้งใจ อย่างที่เขาบอกว่า “เจตนาตั้งไม่ได้ ทุกอย่างตั้งไม่ได้ มันจะเป็นอัตตกิลมถานุโยค มันเป็นความลำบาก มันเป็นความทุกข์”

สติ คือ ความจงใจ ความรับรู้ สติคือระลึกรู้ ความมีสติคือความตั้งมั่น ถ้าสติมีความตั้งมั่นมีสติมีปัญญาขึ้นมา ปัญญามันเกิดขึ้นมา “ปัญญารอบรู้ในกองสังขาร” ความคิด ความน้อยเนื้อต่ำใจมันก็เป็นสังขาร มันเป็นความคิดนะ ความคิดนี้เกิดจากจิตเห็นไหม มันมีความน้อยใจ “โอ๋ย..ทำดีแล้ว ปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว ครูบาอาจารย์ก็ไม่เห็นเมตตาเลย ไม่บอกเลย”

ถ้าครูบาอาจารย์ไม่เมตตา ท่านจะคอยป้องกัน ให้เรามีเวลามีโอกาสปฏิบัติเหรอ ถ้าครูบาอาจารย์ที่ไม่เมตตานะ ท่านก็จะพาเราลุยไฟไง ลุยไฟคือลุยกิเลสตัณหาความทะยานอยาก คือทำหน้าที่การงาน คือลุยเรื่องโลกไง ลุยเรื่องโลกธรรม พรหมจรรย์เพื่ออยากจะอวดเขาไง

แต่นี่ ไม่ใช่ “พรหมจรรย์นี้เพื่อเรา” เราอยู่กันด้วยความสงบ อยู่กันนี้สงบสงัด พรหมจรรย์นี้เพื่อเรา เราอยู่เพื่อจะต่อสู้กับกิเลสของเรา

ถ้ากิเลสของเรา เวลามันโดนแผดเผา สติปัญญา.. ตบะธรรม.. แผดเผามันนะ

“โอ้โฮ..ที่นู่นก็ไม่ดี อากาศก็ร้อน น้ำก็ไม่มีน้ำเย็นๆ ให้กิน โอ้โฮ.. อาหารก็ไม่สะดวก ไม่มีอะไรสะดวกเลย”

เห็นไหม นี่ไง ตบะธรรมมันแผดเผา กิเลสมันแสดงตัวแล้ว กิเลสมันดิ้น พอกิเลสมันดิ้นขึ้นมาทำอะไรก็ “โอ้โฮ..ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่ความทุกข์”

อ้าว.. โรคภัยไข้เจ็บนะ คนเขาจะหายจากโรคได้นะ เขาต้องผ่าตัด เขาต้องเปลี่ยนอวัยวะของเขา เขาจึงจะหายจากโรคเขาได้ ไอ้นี่มันเป็นกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นอนุสัยนอนมากับใจ แล้วเราจะเอาตบะธรรม เอาธรรมะเข้ามาแผดเผามันน่ะ เราจะอ่อนแอได้อย่างไร เราจะไม่มีอะไรไปต่อสู้กับมันเลยหรือ เราจะสู้กับเสือด้วยมือเปล่าๆ หรือ แล้วเสือมันมีเล็บมีเขี้ยวนะ มันตะปบเอานะ เราจะมีปืนมีอะไรไปต่อสู้กับมันไหม มือเปล่าเราไม่มีเล็บน่ะ เล็บก็เล็บอ่อนๆ อย่างนี้สู้เล็บเสือไม่ได้ ถ้าเสือตะปบมันตะปบนะเข้าเนื้อเลย ไอ้เล็บของเรา เราจะไปข่วนใคร สู้เขาไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราจะต่อสู้กับกิเลส เห็นไหม เราบวชมาเพื่อเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ตบะธรรมไง งานของพระนะ งานของพระคืองานภาวนา งานของพระคือศีล สมาธิปัญญา

ถ้าศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นมานี้ เกิดขึ้นมาจากอะไร

ศีล สมาธิ ปัญญา ในตำหรับตำรา มันเป็นตัวหนังสือ

ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นมาจากหัวใจ เพราะอะไร เพราะหัวใจนี้คือภวาสวะ ตัวภพ ปฏิสนธิจิต เกิดมาเป็นมนุษย์เพราะมีหัวใจ ถ้ามีหัวใจกิเลสมันก็เกิดขึ้นกับเรา กิเลสมันเกิดขึ้นมาก่อนเราอีก กิเลสมันอยู่กับจิต ปฏิสนธิจิตน่ะมันมีกิเลสมาแล้ว กิเลสมันมีมาก่อนจะมีเรา เพราะกิเลสเกิดก่อนมีเรา พอเรามาเกิดเป็นมนุษย์มันก็อยู่ในหัวใจของเรา เห็นไหม เพราะอนุสัยมันนอนมา มันมากับจิตอยู่แล้ว

แล้วเราเกิดเป็นมนุษย์เรามีบุญกุศล เพราะเราสร้างบุญกุศลมา เราถึงมาบวชเป็นพระ เห็นไหม เป็นพระผู้ประเสริฐ ผู้ประพฤติปฏิบัติต่อสู้กับกิเลส ถ้าผู้ที่จะต่อสู้กับกิเลส เห็นไหม การต่อสู้จะเอาอะไรมาต่อสู้ล่ะ มันก็เอาสติปัญญาของเรา แล้วต่อสู้กับอะไร ต่อสู้กับอนุสัยที่นอนอยู่ในหัวใจน่ะ เอาสติปัญญาน่ะต่อสู้กับมัน

สติมันมาจากไหน ความคิดมันเกิดจากจิต กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันคืออนุสัยนอนเนื่องมากับจิต เวลาเกิดสติขึ้นมา สติก็ยับยั้งจิต ยับยั้งให้มันสงบตัวลง ถ้าสงบตัวลงแล้วเกิดปัญญา “ปัญญาในพุทธศาสนา” ศากยบุตรพุทธชิโนรส เห็นไหม เราเป็นศากยบุตร เราเป็นบุตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาก็ด้วยมรรคญาณ เราจะต่อสู้ด้วยมรรคญาณ เห็นไหม เราจะสร้างความดีของเรา ความดีมันอยู่ในหัวใจนะ เท้าเดินจงกรมไป นั่งสมาธิก็ก้นนั่งไป แต่เวลาปัญญามันเกิด เกิดในภวาสวะ เกิดในจิตน่ะ เท้าเดินไปเท้าตรัสรู้ไม่ได้ เท้าเป็นเท้า เท้ามันจะตรัสรู้ธรรมได้อย่างไร แต่เท้าเดินจงกรมไปน่ะหัวใจมันตรัสรู้ธรรมนะ ถ้าหัวใจตรัสรู้ธรรมน่ะ เวลาเท้าเดินไป เท้าเดินสมาธิไป เพราะมันต้องมีองค์ประกอบของมัน

องค์ประกอบของมันคือจิตตั้งมั่นขึ้นมาได้ ถ้าจิตมันตั้งมั่นขึ้นมาได้ เห็นไหม “ความดีที่ไม่มีโทษ” มันเป็นความดีของเรา อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ความดีในทางเดินจงกรม ความดีในการนั่งสมาธิภาวนา แล้วเป็นความดีจริงๆ มันเป็นความดีที่เกิดจากจิต

เห็นไหม ความรู้สึก ความนึกคิด ที่มันอยู่กับเรานี้ แต่เราควบคุมมันไม่ได้ ถ้ามีสติปัญญาเราจะฝึกควบคุมความรู้สึกความนึกคิดของเราไง

ถ้าเราฝึก ความรู้สึกความนึกคิดนี้เราควบคุมมัน ไม่ให้มันดิ้นรน ถ้ามันจะคิดอะไร ตบมันไว้ ! ตบด้วยสติไง ตบมันไว้ ! คิดอย่างนี้ใช้ไม่ได้ ! คิดอย่างนี้ผิด !

แล้วคิดถูกต้องคิดอย่างไร คิดถูกก็ลากไง เวลาใช้ปัญญาอบรมสมาธิเห็นไหม ลากความคิดออกมา ลากความคิด มันคิดเรื่องร้อยแปด ตรึกธรรมนะตรึกอะไรออกไป มันคิดมันออกไป สติตามมันไปนะ

ถ้ามันเห็นโทษนะ “โอ้โฮ คิดอย่างนี้ได้ด้วยเหรอ คิดได้ขนาดนี้เชียวเหรอ ทำไมเราคิดได้ขนาดนี้”

แล้วความคิดที่คิดได้ขนาดนี้ “อันนี้มันโทษหรือคุณล่ะ” ถ้ามันเป็นคุณ เพราะอะไรล่ะ เพราะเราเผลอ เพราะมันเสวยอารมณ์ จิตมันเสวยความคิดออกมา แล้วมันมีแรงตัณหาความทะยานอยากมากระตุ้น มันก็คิดไปตามกำลังของมัน ตามกำลังของจริตนิสัย โทสจริต โมหจริต โลภจริต มันคิดไปตามจริตของมัน

พอคิดตามจริตของมัน แล้วมันมีกิเลสตัณหามาบวก เห็นไหม มันมีแรงบวก พอมีแรงบวกมันก็เพิ่มกำลังของมันขึ้นมา คิดได้ร้อยแปดเลย คิดอย่างนี้ ดีนะ.. เพราะเราเป็นพระ เราปฏิบัติอยู่ เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันคิดอยู่ในหัวใจ มันยังไม่ทำออกมาไง มันยังไม่ทำออกมาจากมือจากเท้า จากการกระทำ มันคิดเฉยๆ ยังไม่ได้ทำ !

แต่พอสติปัญญาตามมันทันใช่ไหม คุณหรือโทษ.. คิดอย่างนี้ถูกหรือผิด.. ถ้ามันผิดนะ ผิดแล้วคิดทำไม สติมันทันเห็นไหม นี่คือปัญญาอบรมสมาธิ

ถ้าปัญญาอบรมสมาธิเห็นความคิด ตบมัน ตีความคิดไง พอตีความคิดนะ ความคิดอย่างนี้เป็นโทษ ถ้ามันคิดซ้ำอีกนะ พอมันทัน..มันก็หยุด หยุดแล้วมันก็คิดซ้ำ คิดซ้ำ เมื่อกี้ก็เห็นโทษแล้วไง ถ้ามันเห็นโทษเมื่อกี้ แล้วมันคิดใหม่ไง คิดใหม่ มันคิดลึกกว่า มันคิดดีกว่า มันจะเอาชนะเห็นไหม ระหว่างความคิดไง

ระหว่างกิเลสตัณหาความทะยานอยากกับธรรมะต่อสู้กันในหัวใจของเรา ถ้ามันต่อสู้ นี่ไง มีการกระทำขึ้นมา

ถ้าเกิดสติ เกิดศีล เกิดสมาธิปัญญา ขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจริงๆ ไง ตัวเป็นๆ จับต้องได้ รับรู้ได้ ไม่ใช่ สอเสือ ตอเต่า สระอิ ไม่ใช่

สติที่ยับยั้งความรู้สึก “ปัญญาที่รอบรู้ในกองสังขาร” แล้วเวลาจิตมันสงบขึ้นมาเห็นไหม ความดีที่ละเอียด ความดีในทางจงกรมของเรา

ความดีของโลก เขาทำคุณงามความดีกัน เขาตั้งมูลนิธิเพื่อบุญกุศล เพื่อช่วยเหลือเจือจานกัน เขาทำคุณงามความดีของเขา เห็นไหม มันความดีของโลก

ไอ้ความดีของเรา โลกเห็นไหม โลกคือหมู่สัตว์ โลกเห็นไหม โลกคือโลกทัศน์ โลกคือเราเห็นไหม เราเกิดมาแล้วถึงเป็นโลก ฉะนั้นโลกที่เขาอยู่กันโดยโลก เขาอยู่ด้วยเปลือก ไอ้เราเป็นธรรมใช่ไหม ธรรมนี้เหนือโลก

ธรรมนี้เหนือโลก แล้วธรรมมันอยู่ที่ไหนล่ะ ธรรมมันอยู่ที่หัวใจ อยู่ที่ความรู้สึก เพราะอะไร เพราะจิตนั้นจะไปเกิดไปตาย พอจิตไปเกิดไปตายมันก็เป็นโลกไง โลกคือผลของวัฏฏะไง เทวดา อินทร์ พรหม นี้ก็เป็นโลก กามโลก รูปโลก อรูปโลกไง ผลของวัฏฏะไง โลกธาตุ ๓ จิตนี้เวียนตายเวียนเกิด ถ้าเราจะชำระโลกธาตุทำอย่างไร นี่ความดีอันละเอียดความ ดีแท้ของเรา

โลกนี้มีเพราะมีเรา เพราะมีหัวใจ หัวใจเพิ่งไปเกิด ไปเป็นโอปปาติกะ ไปเป็นเทวดาอินทร์ พรหม เกิดเป็นมนุษย์ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นอะไรต่างๆ ในกำเนิด ๔ เพราะจิตมันมีกำเนิดของมัน มันมีวาระของมัน

แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราจะชำระของเรา เห็นไหม “ความดีแท้ ความดีที่ไม่มีโทษ” ไม่กระทบกระเทือนใครเลย กระทบกระเทือนแต่ฝ่าเท้า เดินจงกรมจนฝ่าเท้านี่เลือดซิบๆ เลย มันจะกระทบกระเทือนกับผิวหนังเรานี่แหละ มันจะกระทบกระเทือนกับก้นเรานี่แหละ นั่งจนก้นพองก้นแตก มันกระทบกระเทือนที่นี่ กระทบกระเทือนกับมัน ต่อสู้กับมัน ความดีที่ไม่มีโทษไม่มีโทษกับใครเลย มันจะมีโทษกับเราเพราะเราเกิดเราตายอยู่ แล้วมันจะมีโทษเข้ามาในหัวใจของเรา

ในหัวใจของเรานี้ ในหัวใจที่เราว่า เรารักตน เรารักมาก ทุกคนต้องรักตัวเอง ทุกคนต้องว่าตัวเองนี้มีคุณค่าที่สุด แล้วสมบัติที่มีคุณค่าที่สุด มันมีอะไรที่เป็นสมบัติที่มีคุณค่าที่สุดกับหัวใจของเราล่ะ เห็นไหม

เรามีศีล มีธรรม นี้เขาเรียกว่ามีอาภรณ์ มีเครื่องประดับ ใจที่มีศีล มีธรรม มีวัฒนธรรม มีคุณงามความดีอยู่ประจำในหัวใจของมัน แต่มันก็เวียนตายเวียนเกิด เพราะมันมีใช่ไหม เพราะมันมีภพ มีเจ้าของ มีผู้รับผิดชอบใช่ไหม แต่ถ้ามีปัญญาเข้ามาชำระล้าง “มรรคญาณ” จะเข้ามาชำระจิตใจได้อย่างไร ความดีอย่างนี้มันเป็นปัจจัตตัง ความดีที่เรารู้ของเรานะ มันจะเห็นของเรานะ เวลามันเกิดปัญญา เกิดมรรคญาณขึ้นมานี้ ใครจะรับรู้ได้กับเรา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาสามเณรน้อยลูกศิษย์ของพระสารีบุตร เห็นไหม เวลาใช้ปัญญา ท่านมากั้นพระสารีบุตรไว้เลย เพราะจะให้สามเณรนั้นพิจารณาไปให้ถึงที่สุด สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ใช่ไหม แล้วปล่อยพระสารีบุตรเข้าไป ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้ล่ะ ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอนุโมทนาล่ะ อนุโมทนากับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ แต่องค์สัมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ไม่ได้ ทำให้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันเป็นบุคคลอื่น บุคคลที่ ๒ บุคคลข้างนอก

ดูสิ ดูร่างกายกับจิตใจของเรา ร่างกายของเรานี้เป็นเปลือก เห็นไหม แต่ความรู้สึกก็เป็นหัวใจของเรา ร่างกายเรายังทำให้ไม่ได้เลย เวลาเดินจงกรมนั่งสมาธิภาวนาจนฝ่าเท้านะเลือดซิบๆ เวลาใจเราสงบ มันสงบที่ไหนล่ะ มันสงบที่ใจใช่ไหม เวลานั่งสมาธิภาวนาน่ะ สัปหงกง่วงถ้ามันไม่ลงสมาธิ แต่ถ้าลงสมาธิแล้วจิตมันสงบล่ะ

ถ้าจิตมันสงบ มันสงบในหัวใจใช่ไหม ตัวจิตมันสงบใช่ไหม แล้วเวลาเกิดปัญญาขึ้นมาปัญญาที่เกิดจากภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากหัวใจมันเป็นอย่างไร

แต่นี่มันปัญญาเกิดจากสมองไง ปัญญาเกิดจากสติ ปัญญาเกิดจากการจำ มันอาศัยร่างกายกับจิตใจไง ถ้าไม่มีสมอง เวลาปัญญาเกิดขึ้นมา เห็นไหม ดูเวลาจิตมันสั่งสมอง สมองจะบังคับร่างกายได้อย่างไร อย่างเราโกรธเขาจนมหาศาล เห็นไหม เวลาเราจะเอามือทำร้ายคนอื่น เราจะยิงเขาด้วยนิ้วของเรา มันมีสมองสั่งไหม ถ้าจิตกับร่างกาย เห็นไหม ระหว่างหัวใจกับร่างกายมันร่วมมือกันทำ มันเป็นบุคคลที่ ๒ มาสองคนร่วมมือกันทำ ร่วมมือกันก่อเวรก่อกรรม แต่ขณะที่เวลาคนตายไปแล้ว หัวใจมันไม่มี ร่างกายนี้มันจะไปทำร้ายใคร ร่ายกายนี้มันจะโดนเผาทิ้ง

แต่ขณะที่ในปัจจุบันนี้ ขณะจิตมันหดสั้นเขามาน่ะมันเป็นเอกเทศของมัน มันเป็นตัวของมัน เห็นไหม ปัญญาเกิดจากจิต ปัญญาไม่ได้เกิดจากสมองไง ถ้าปัญญาเกิดจากสมอง ระหว่างหัวใจกับสมองมาร่วมมือกันทำงาน แต่เวลาจิตคือเวลาภาวนาวิปัสสนาขึ้นมา หัวใจมันทำงานโดยเอกเทศของมันน่ะ มันไม่ได้ทำงานผ่านสมองไง มันผ่านงานโดยมรรคญาณขึ้นมา มันทำงานของมันอย่างไร ถ้าจิตไม่สงบจะไม่เห็น ถ้าจิตมันไม่สงบขึ้นมาน่ะมันจะทำงานอย่างไร เวลามรรคญาณมันเกิด มันเกิดอย่างไร

ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมา ถ้ามันเกิดขึ้นมานะ มันไม่ใช่สถิตินะ มันไม่ใช่ความจำ สถิติคือความจำ คือข้อมูล คือสถิติที่เราเก็บข้อมูลไว้ เวลาสมองมันทำงานเห็นไหม “วันนี้คิดไม่ออก โอ้..วันนี้สมองตื้อไง” ถ้าทำให้สมองปลอดโปร่งแล้วมันจะคิดได้ดี เวลามันคิด คิดซ้ำคิดซ้อนเห็นไหม มันเป็นอดีต อนาคต มันเป็นสัญญาไง ความเป็นสัญญา ข้อมูลซ้ำมันจะชำระกิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเป็นปัจจุบันล่ะ เวลาปัจจุบันที่มันเกิดขึ้นมา ที่มรรคญาณเกิด มันไม่เกิดจากสมองหรอก ถ้าเกิดจากสมอง เราจำได้ เรารู้ได้ใช่ไหม พอเราคิดขึ้นมา ดูสิ พล็อตเรื่องนี่เราตั้งได้เลย เป็นอย่างนั้น.. เป็นอย่างนั้นน่ะ กิเลสมันก็รู้ทันหมดน่ะ เพราะอะไร เพราะกิเลสมันคือ “มารเอยเธอเกิดจากความดำริของเรา”

ความคิดไม่ใช่ความดำริ ความดำรินี้มันเป็นต้นของความคิด ในเมื่อเราคิดขึ้นมา เราคิดเป็นพล็อตเรื่องขึ้นมา เห็นไหม “มารเอย เธอเกิดจากความดำริของเรา” มารมันเกิดแล้วไง มารน่ะมันควบคุมความคิดที่จะฆ่ากิเลสมาพร้อมกัน ปัญญาที่ว่าจะฆ่ากิเลสน่ะ มารมันอาศัยตัวนั้นมาพร้อมกันเลย พอพร้อมกันขึ้นมาเห็นไหม มันก็เป็นสัญญาไง มันเป็นความจำไง มันเป็นขันธ์ ๕ ไง มันฆ่ากิเลสไม่ได้ไง

แต่ถ้าเป็นความจริงล่ะ ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม “ความดีอันละเอียด ความดีที่ไม่มีโทษ” ความดีจากข้างนอกมันก็เป็นเรื่องของความดีจากข้างนอกนะ ความดีจากความคิด ความดีจากวัฒนธรรม ความดีจากศีลธรรม ความดีจากการเมตตาเกื้อกูลกัน เป็นคุณงามความดีของโลก แต่ถ้าความดีของมรรคญาณ มันเกื้อกูลใครล่ะ มันรักใครล่ะ มันมีใครล่ะ ใครเป็นคนคิดล่ะ มันเป็นความดีอันละเอียด

มันจะเกิดภาวนามยปัญญา เกิดจากความเห็นจากภายใน มันจะต่อสู้กันนะ คำว่า “ต่อสู้” ต่อสู้กับใคร ต่อสู้กับพลังงาน พลังงานมันมีเห็นไหม เวลาพลังงานมันมี มันมีพลังงาน มันมีตัวจิต พอตัวจิต เห็นไหมสันตติมันเกิดของมันตลอดเวลา

ความคิดมันเกิดจากจิต พอจิตมันสงบขึ้นมาน่ะ มันเห็นความคิดของมัน มันจับ.. มันจับที่ความคิดนั้น แล้วมันย้อนกลับไง มันต่อสู้กับความคิดของมันไง ถ้ามันต่อสู้กับความคิด “ต่อสู้กับความคิดอันละเอียด ไม่ใช่ต่อสู้กับความคิดในสมอง” ถ้าต่อสู้กับความคิดในสมองนะ มันไม่ใช่สมาธิ เพราะเราคิดได้ ปัจจุบันเราคิดได้ใช่ไหม ขณะนี้เราก็คิดได้ คิดดีคิดชั่วก็คิดได้ คิดนิพพานเราก็คิดได้ คิดว่างเราก็คิดได้ แล้วมันเป็นอะไรล่ะ มันเป็นความคิดอันละเอียด

ดูสิ มรรคมีหยาบ มีกลาง มีละเอียดเข้าไป ความคิดอย่างนี้มันหยาบๆ แต่ถ้ามันปล่อยวางหมด มันปล่อยวางความคิดทั้งหมด มันเป็นอิสระทั้งหมด แล้วปัญญามันเกิดอย่างไร ปัญญาที่มันเกิดจากจิต มันเกิดอย่างไร มันเกิดขึ้นมาเพราะมันมีฐานของสมาธิขึ้นมาเห็นไหม แล้วมันชำระล้างตัวมันเอง

คนที่จะทำงานอย่างนี้ได้ มันจะต้องมีสัมมาสมาธิ พอมีสัมมาสมาธิแล้ว สัมมาสมาธิมันจะขุดคุ้ยกิเลส มันจับกิเลสได้ไง แต่ถ้ามันจับกิเลสไม่ได้ มันเป็นสัญญาทั้งหมด มันเป็นการก๊อบปี้มาน่ะ ดูสิ อย่างเช่น สินค้าลิขสิทธิ์ เขาลักมาทำกันเยอะแยะไป ลิขสิทธิ์ออกมาเดี๋ยวนี้ กูก็ปั๊มเดี๋ยวนี้น่ะ นิพพานเดี๋ยวนี้กูก็ปั๊มเดี๋ยวนี้ ปั๊มนิพพานพระพุทธเจ้ามาเลยน่ะ

มันลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของเรา

แต่ถ้ามันเป็นของเรา นิพพานของพระพุทธเจ้า สาธุ..ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว แต่ถ้าเราทำของเราได้นะ มันเป็นองค์ความรู้ มันเป็นการกระทำ มันเกิดภาวนามยปัญญา มันเกิดจากธรรมอันนี้ ถ้ามันเกิดจากธรรมอันนี้เห็นไหม สิ่งที่มันเป็นปัจจุบัน สิ่งที่มันเป็นความจริงขึ้นมา …นี่ความดีที่ไม่มีโทษ…

ความดีลิขสิทธิ์ที่เราไปปั๊มเขามานั้นมีโทษนะ ถ้าเจ้าของเขาจับได้ นี่คือผิดกฎหมายทั้งนั้น เราจำของเขามา เราเป็นสาวก-สาวกะ เราเป็นศากยบุตร เราเป็นลูกศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฝากศาสนาไว้ เราศึกษามามันก็เป็นธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหมด พระพุทธเจ้าไม่สงวนลิขสิทธิ์ พระพุทธเจ้าต้องการให้เราศึกษาแล้วให้เราประพฤติปฏิบัติ

ถ้าศึกษามาแล้วแต่ไม่ปฏิบัติมันก็ไม่ได้ผลจริงขึ้นมา นี้ไง ความดีอย่างนี้เป็นความดีจำ เห็นไหม ความดีที่มีโทษ มีโทษเพราะอะไร เพราะความจำมันเป็นเปลือก แต่กิเลสมันอยู่กับใจ

ฉะนั้น ถ้าความดีจำ กิเลสมันก็ยังมีอยู่ในหัวใจ ความดีอย่างนี้มีโทษ มีโทษเพราะอะไร เพราะถ้ากิเลสมันสงบตัวลง กิเลสมันไม่แผลงฤทธิ์นะ “ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่สุดยอด มีความสุข โอ้โฮ.. ว่างหมดเลย”

วันไหน ถ้ากิเลสมันดิ้นขึ้นมานะ จะล้มกลิ้งไปหมดเลย ! นี่ไง มันมีโทษตรงนี้ไง โทษที่กิเลสตัณหาความทะยานอยากมันยังอยู่ในหัวใจ

สิ่งที่จำมาคือธรรมะพระพุทธเจ้าทั้งนั้น ไม่มีความจริงอะไรของเราเลย

แต่ถ้าเป็นความจริงน่ะ มันชำระล้างตั้งแต่ดีใน ดีในคือตัวจิตนั้นมันไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ในเมื่อไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันเป็นเนื้อแท้ มันเป็นความจริงจากภายใน มันเป็นความจริงที่ไม่มีกิเลสคอยขับไส “ความดีนี้ไม่มีโทษ” มันไม่มีโทษเลย ในหัวใจไม่มีสิ่งใดจะไปทำชำระล้างมันได้ ไม่มีสิ่งใดจะไปต่อต้าน ไม่มีสิ่งใดจะไปสกิดสะเกาสิ่งที่เป็นอันนี้ได้

ถ้าเป็นอันนี้นี่ไง “ดีแท้” ความดีที่ไม่มีโทษเพราะมันเป็นสัจจะ มันไม่มีสิ่งใดไปก่อกวน มันไม่มีกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันไม่มีอวิชชา คำว่า “อวิชชา” คือมันไม่รู้ตัวมันเอง มันไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นความถูกต้องและดีงาม

แต่ถ้ามันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ เป็นปริยัติ เป็นการศึกษา แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมาน่ะ มันจะเกิดกับเรา มันจะเกิดจะเห็นกับเรา ถ้าเราไม่เกิดเราไม่เห็นเราจะรู้ไม่ได้ ถ้ามันเกิดมันเห็นกับเรา เราประพฤติปฏิบัติของเรา เรามีการกระทำของเรา เราเกิดสัจจะความจริงขึ้นมา แล้วแก้ไขกันเดี๋ยวนั้น.. ทำกันเดี๋ยวนั้น.. มันเห็นเดี๋ยวนั้น.. เห็นการเปลี่ยนแปลงนะ

ดูสิ ดูการเปลี่ยนแปลงของต้นไม้ ดูการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ ดูสิ มนุษย์ตั้งแต่เด็กๆ มันจะพัฒนาเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา มันพัฒนาของมันขึ้นมา ต้นไม้มันเปลี่ยนแปลง ต้นไม้มันเติบโตขึ้นมา ถ้าปุ๋ยพร้อม ดินพร้อม อากาศพร้อม

หัวใจก็เหมือนกัน เราเห็นของเรา เราพัฒนาการของเรา เวลาล้มลุกคลุกคลานอยู่ เวลาปฏิบัติเราล้มลุกคลุกคลาน เราก็รู้ว่าล้มลุกคลุกคลานนะ เวลาเจ็บช้ำน้ำใจ เวลาปฏิบัติไปแล้วหัวชนฝา ปฏิบัติไป มันมีสิ่งใดที่จะผ่านไปได้ เราก็รับรู้ แล้วเวลาถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา มันตรงข้ามหมดล่ะ มันเป็นความจริงหมดล่ะ มันเป็นของที่เป็นความจริง แล้วมันเป็นได้อย่างไร

ถ้าพูดถึงผู้ปฏิบัตินะ ..ธัมมสากัจฉา.. เวลาคุยกันน่ะ อีกฝ่ายฟังแล้วก็งง ถ้ามันเป็นการกระทำของเรา ก็เราล้มลุกคลุกคลานเอง แล้วเราก็ยืนขึ้นมาได้เอง แล้วเราก็จะมีปัญญาขึ้นมาเอง แล้วมันชำระกิเลสเอง เพราะมันเห็นจริง มันถึงแบ่งแยกได้ว่าสิ่งที่เป็นปัญญาของเราแต่ต้นมานี้มันชำระกิเลสไม่ได้ เพราะมันเป็นปัญญาหยาบๆ ปัญญาเปลือก ปัญญาจากสมอง ปัญญาจากความจำ เราก็เห็น

สับเข้าไปเถอะ เราไปสับเงาของคนอื่น เราไปเหยียบเงาของคนอื่น เหยียบไปเถอะ มันแก้ไขสิ่งใดไม่ได้เลย แต่พอเราไปถึงตัวของเขา เราไปทำลายที่ตัวเขา เราไม่ใช่ไปทำร้ายเขาที่ตัวเงานั้น แต่เราไปทำร้ายที่เจ้าตัวนั้น

นี่ก็เหมือนกัน พอภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้นมา มันไปทำลายที่จิตนั้น มันไม่ได้ทำลายที่ความคิดนั้น มันเห็นชัดเจน “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้เอง” ที่เมื่อก่อนเราผิดพลาดมาน่ะ แล้วพอมันถูกมันถูกเพราะเหตุนี้ไง มันถูกคือว่าถูกเพราะอะไรล่ะ ถูกเพราะมันเป็นความจริง เป็นความจริงเพราะว่ามันเป็นสัจจะ เห็นไหม มรรคญาณมันเกิดแล้ว เวลามันพลิกไปแล้ว ขณะจิตที่มันพลิกจากปุถุชนเป็นโสดาบัน จากโสดาบันเป็นสกิทา จากสกิทาเป็นอนาคา จากอนาคาเป็นพระอรหันต์ มันมีขณะจิตที่มันเปลี่ยน มันเปลี่ยนแปลงไปโดยขณะจิต เวลามันเปลี่ยนแปลงไปเป็นอกุปปธรรม อฐานะที่จะแปรสภาพ

จิตใจเรานี้แปรสภาพไหม จิตใจนี้เราก็คิดว่ามั่นคงใช่ไหม มันแปรสภาพไหม แปรอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามันเป็นความจริงแล้วนะ จะเขย่าขนาดไหน เอาหัวทิ่มดินขนาดไหน มันก็ไม่เปลี่ยน มันเปลี่ยนเป็นอื่นไปไม่ได้ มันเป็นอฐานะ มันเป็นความจริง เป็นความจริงของมัน เห็นไหม ความจริงเกิดที่ไหน

เวลาความจริงของหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นท่านก็นิพพานไปแล้ว มันก็เป็นนิพพานของท่าน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็นิพพานไปแล้ว ความจริงมันอยู่ในหัวใจของผู้ที่เป็นความจริงน่ะ ในตำรับตำรา ในพระไตรปิฏกนี้ เป็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประวัติหลวงปู่มั่นครูบาอาจารย์ก็จดจารึกมาจำมา ประวัติของครูบาอาจารย์แต่ละองค์ แต่ถ้ามันมีสังคมที่ตรวจสอบที่เข้าถึงได้ มันจะรู้เห็นผิดเห็นถูก

ประวัติศาสตร์ครูบาอาจารย์ ประวัติก็มีเยอะนัก ประวัติที่ถูกต้องดีงามก็มี ประวัติที่ถูกต้องดีงามของโลก คือ มีความเห็นร่วมกันแต่ไม่เป็นความจริงก็เยอะ แต่พวกเราวุฒิภาวะไม่ถึง เราไม่รู้หรอก

ของเทียมนะ ดูรูปภาพ ดูรูปลักษณ์ภายนอก มันสวยกว่าของจริงเยอะนัก แต่ของจริงรูปลักษณ์นะไม่สวย แต่เนื้อหาสาระเป็นความจริง เว้นไว้แต่เป็นจริตนิสัย หลวงตาท่านบอกว่า “หลวงปู่ฝั้น ท่านสงบเสงี่ยมเรียบร้อยนัก” นั่นเป็นรูปลักษณ์ภายนอกที่หลวงปู่ฝั้นดีทั้งนอกและดีทั้งใน แต่รูปลักษณ์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน

ฉะนั้นความดีจริง ดีที่ไหน ดีที่หัวใจของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ดีเพราะความเห็นของโลก

ฉะนั้น ดีจริง ดีแท้ ดีที่ไม่มีโทษ ดีนั้นคือดีประเสริฐ เอวัง