เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ ม.ค. ๒๕๔๗

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ชีวิต เวลาชีวิตของเราเกิดมา ทุกคนปรารถนาความสุข เวลาเราทุกข์เรายาก ถ้าเราทุกข์เรายาก เราหา เห็นไหม เวลามันหิวข้าว เวลามันหิวกระหาย ถ้าเรามีอาหารนะ เรากิน เราเยียวยามันก็หายถ้าคนมี ถ้าคนไม่มีมันก็ทุกข์ยาก มันก็ต้องหาอาหารนั้นมาเพื่อจะเยียวยาร่างกายของเรา นี่ความทุกข์ของโลกเป็นสภาวะแบบนั้น

แล้วโลกเจริญ โลกพัฒนามาตลอดเลย เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ นักวิทยาศาสตร์คิดค้นขึ้นมา แล้วเราก็อาศัยเรื่องโลก การเจริญของโลก เราก็อาศัยเรื่องความเจริญของโลก แต่เราไม่เห็นโทษในมุมกลับ เห็นไหม นี่พลังงานต่างๆ เกิดขึ้นมา พลังงานอย่างไฟฟ้านี่เราต้องพยายามหามาสำรองไว้ตลอดเลย ขาดไม่ได้นะ ถ้าตอนนี้ไฟฟ้าดับนะ คนเรานี่เป็นอัมพาตหมดเลย เพราะอะไร เพราะเราไปอาศัย เราต้องการอาศัยสิ่งนั้นเพื่อความสะดวกสบายของเรา

มันเป็นความสะดวกสบายของโลก นี่ไม่ค้านหรอก ธรรมะนี่ไม่ค้านโลกนะ แต่ชี้อีกแง่มุมหนึ่งให้เห็นไง ให้เห็นว่าคนเราพอมันเป็นสภาวะแบบนั้น มันก็ลืมความเห็นของตัว ลืมการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมที่มันทำได้ไง ถ้าการดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมมันทุกข์มันยาก มันต้องแสวงหา เห็นไหม การจะหาอาหารนี่ต้องต่างคนต่างหุงหา มันไม่มีเครื่องใช้ไฟฟ้ามาอำนวยความสะดวก

เวลาถ้ามันขาดแคลนอย่างนั้นไป มันอีกมุมหนึ่งคือต้องไปแสวงหาพลังงานมาใช้ แล้วพลังงานมันก็รวบยอด เห็นไหม ใครคุมพลังงานอันนั้น ใครคุมฐานการเมืองอันนั้น ใครคุมอำนาจอันนั้น อันนั้นบิดเบือนสิทธิ์ให้มันผิดมันถูกได้ ถ้าอำนาจอันนี้อยู่กับคนที่มีธรรมมันก็จะเป็นธรรม ถ้าอำนาจนี้อยู่กับคนเผด็จการที่เขาเห็นแก่ตัว เขาก็เห็นแก่ตัวของเขา แล้วเขาก็บิดเบือนของเขาไปนะ พยายามทำแต่เป็นว่าปลิ้นปล้อนให้เห็นว่าตัวเองมีคุณงามความดี สิ่งนั้นเป็นสภาวะแบบนั้น

เรามองกันแต่ความเจริญ แต่เราไม่มองสิ่งที่เจริญขึ้นมา นี่ทางศาสนาถึงบอกว่า โลกเจริญก็เจริญด้วย แต่หัวใจของคนก็ต้องเจริญพร้อมกับการเจริญของโลกนั้นด้วย สิ่งนี้มันถึงจะเป็นความสุขไง ความเจริญของโลกมันเจริญไป แต่หัวใจมันเจริญไปไม่ทัน มันก็มีความทุกข์ยากของมันอย่างนั้น แล้วมันก็อาศัยความเจริญอย่างนั้นมากดขี่มัน เห็นไหม โลกสภาวะเป็นแบบนั้น แล้วเรามองอย่างนั้นขึ้นไป

ย้อนกลับมาเรื่องศาสนา ถ้าเรื่องศาสนานี่ สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากความเห็นของเรา แล้วเราเข้าไปศึกษาศาสนา ในศาสนานี่เราก็มองแต่มรรคผลนิพพาน มองถึงสิ่งที่สูงสุด มองถึงสิ่งที่เป็นเป้าหมายของเราไป แล้วเราก็ไม่เห็นว่าสิ่งที่เข้าหาเป้าหมายนี่มันต้องมีพื้นฐาน มันต้องมีวิธีการ มันต้องมีศรัทธาความเห็นของเราเข้าไป

นี่หลวงตาท่านพูดประจำนะ พระอยู่กับท่าน นี่มีหลักมีเกณฑ์ พอออกมาในสังคมนี่สังคมกลืนกินไปหมดเลย เห็นไหม สังคมจะกลืนกินสิ่งนี้ไป หลักของศาสนานี่มันมีคุณประโยชน์ เหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้ามันจะมีประโยชน์ แต่มันก็มีโทษแฝงกันไปในสภาวะแบบนั้น แต่อันนี้มันจำเป็นต้องอาศัย เราต้องอาศัยกันไป

แต่ในเมื่อหลักธรรมวินัยมันมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าวางไว้แล้วเป็นหลักเกณฑ์เพื่อจะให้เราเข้าถึงมรรคผลนิพพานไง จะเข้าถึงมรรคผลนิพพาน แม้แต่คฤหัสถ์เขามีศีล ๕ ทำไมเขาปฏิบัติเขามีธรรมของเขาขึ้นมาได้ล่ะ ธรรมในหัวใจของเขาขึ้นมา เพราะเขาเป็นคฤหัสถ์ เขาถึงมีศีล ๕ แต่ภิกษุมีศีล ๒๒๗ เห็นไหม มันยังมีข้อวัตรปฏิบัติ

ถ้าเรายืนอยู่ในศีลของเรา โลกเขาบอกว่า “นี่ถืออันนี้เป็นทิฏฐิมานะ เป็นการยึดมั่นถือมั่น ต้องปล่อยวาง” เห็นไหม นี่โลกพูดอย่างนั้น ผู้ที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ก็ไปตามกระแสโลก ปล่อยไปตามโลกนะ จนหลักเกณฑ์ เห็นไหม หลักเกณฑ์คือข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาเครื่องดำเนินจะเข้าหาถึงธรรมวินัยนั้น ธรรมไง ธรรมในหัวใจ ธรรมวินัยที่ก้าวเดินส่วนหนึ่ง ธรรมที่ในหัวใจอีกส่วนหนึ่ง การจะก้าวเดินสิ่งนั้น

เขาถามอยู่ “ทำไมพระต้องฉันมือ พระเราทำไมไม่ฉันช้อน การฉันมือมันมูมมาม มันดูน่าเกลียด”

การกินมันน่าเกลียดโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว ใครก็แล้วแต่ เรื่องการกินนี่มันไม่สวยงามหรอก แต่เราก็จะให้มันสวยงามขึ้นมา มันเป็นไปไม่ได้ เราซื่อสัตย์กับความเป็นจริงไง ถึงฉันมือ เอามือลงไปหยิบต้องอาหาร กลิ่นของอาหารนั้นมันจับต้องได้ ให้มันเห็นตามความเป็นจริงว่าให้เราเข้าใจสิ่งนั้น สิ่งนี้เยียวยาเท่านั้น ไม่ใช่ว่าเรารังเกียจมันเราถึงต้องใช้ช้อน ต้องเป็นผู้ดี ต้องทำให้อะไร...

หลวงปู่มั่นท่านสลดใจมาก ถ้าพระฉันด้วยช้อน ท่านบอก “พระขุนนาง” คนที่เป็นขุนนางเป็นคนที่ลืมตัว เราเป็นคนทุกข์คนยาก เราพยายามเห็นภัยนี่ คนที่เห็นภัยมันจะแสวงหาสิ่งที่พ้นออก คนที่ไม่เห็นภัย แล้วพอโลกหลอกไง โลกนี้หลอกกันว่าสิ่งนี้เป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณีที่สวยงาม สิ่งที่สวยงามนี่เป็นสภาวะของโลก แล้วแต่ว่ารบกันไปๆ ให้ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ ประสาโลกกลืนกันไป เห็นไหม พระเราถึงออกสังคมแล้วโลกกลืนไปหมด กลืนไปเพราะตามอำนาจของมันไป

แต่ถ้าพูดถึงในหลักธรรมวินัย ช้อนนี่ถ้ากระทบบาตรทีหนึ่งก็เป็นอาบัติทุกกฏตัวหนึ่ง สิ่งที่ขอดบาตรก็เป็นอาบัติทุกกฏตัวหนึ่ง ถ้าเราไม่มีช้อนนี่มันไม่มีอาบัติ ไม่มีสิ่งต่างๆ เห็นไหม ช้อน เราเอาไว้ตักอาหารใส่บาตร แต่เวลาฉันนี่เราใช้มือลงฉัน มันเป็นผู้เห็นภัยไง สิ่งที่เห็นภัย ธรรมวินัยนี่ยกย่อง ถ้าใครถือธรรมถือวินัยนะ ธรรมะนี่เห็นว่าคนนั้นเป็นคนดี แต่โลกติเตียน สิ่งที่โลก ว่าสิ่งนั้นเป็นคุณงามความดี

เวลาฉันกัน เห็นไหม พระที่ฉันมีศักยภาพมาก เข้าโรงแรมต่างๆ ฉันด้วยความหรูหรา พวกนี้พวกที่ว่ามีวัฒนธรรม...วัฒนธรรมของโลก แต่เหยียบย่ำธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า เห็นไหม เหยียบย่ำธรรมและวินัยของพระพุทธเจ้าเพื่อเอาใจกระแสโลก เพื่อเป็นไปตามโลก นี่มันเป็นเรื่องของกิเลส กิเลสมันไม่เห็นสิ่งนี้ไง แล้วถ้าเรายืนอยู่บนธรรม ใจของคนที่จะตามกระแสของโลกนี่มันเป็นอย่างไร

มันเหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้า เราไม่ปฏิเสธนะ เวลาพระนี่ไม่ปฏิเสธเรื่องเป็นไปที่เป็นประโยชน์หรอก สิ่งที่เป็นประโยชน์ก็เป็นประโยชน์ แต่ขณะที่เป็นโทษ เป็นโทษมากนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติธรรมมันมีผลข้างเคียง สิ่งที่ผลข้างเคียงนี่เราเห็นว่าผลข้างเคียงนี้เป็นความผิด ถ้าเราเห็นว่าผลข้างเคียงเป็นความผิด วิธีการเราก็จะไม่ทำ

อย่างเช่นที่ว่าเราจะเข้าไปเห็นสิ่งต่างๆ อย่างนี้มันจะเป็นความผิดๆ เห็นไหม เป็นความคิด ถ้าเป็นความผิดเราก็ต้องอาศัยแก้ไขสิ่งที่เป็นความผิดให้มันเป็นความถูก เพราะอะไร เพราะวิธีการมันจะเข้าไปหาอย่างนั้น แต่ถ้าเราปฏิเสธผลข้างเคียงโดยไม่รักษาเราเลย เราไม่รักษานะ เราไม่ประพฤติปฏิบัติเพื่อจะรักษาใจของเรา เพราะเรากลัวว่าเกิดผลข้างเคียงนั้นไง

เกิดผลข้างเคียงนั้นมันก็อยู่ที่ว่าร่างกายของมนุษย์ เห็นไหม ร่างกายของมนุษย์บางทีมันมีภูมิต้านทานมากมันก็จะไม่มีผลข้างเคียง ถ้าร่างกายของมนุษย์มันอ่อนแอ มันก็จะมีผลข้างเคียงมาก จิตใจของคนมันไม่เหมือนกัน จิตใจของคนอ่อนแอก็มี เข้มแข็งก็มี ร่างกายนี้เข้มแข็งมาก แต่จิตใจอ่อนแอ บางคนนี่ร่างกายแทบเดินไม่ได้เลย จิตใจเขาเข้มแข็งนะ เขาดำรงชีวิตของเขาด้วยความสุขของเขา แต่คนอ่อนแอนี่มันจะเป็นไปตามกระแสโลก โลกเป่าทีเดียวมันก็กลิ้งไปตามกระแสโลกแล้วทุกข์ยากมาก ไม่มีจุดยืนของตัวเองไง ตัวเองต้องเป็นสภาวะแบบนั้นตามกระแสโลกไป เพราะหวั่นไหวกับกระแสโลกหมดไง

นี่โลกเขาชมเชย อยากให้โลกเขาชมเชย ครูบาอาจารย์ถึงว่า โลกกลืนกินไง กลืนกินหมู่สัตว์นี่มันเป็นธรรมชาติของมัน วันคืนล่วงไปๆ เราก็ใช้ชีวิตตามกระแสนั้นไป เราไม่กล้าฝืนไง ถ้าเราฝืนก็เป็นทิฏฐิมานะ เป็นสิ่งที่ว่าเขาไม่ควรทำ นี่ต้องไปตามกระแสโลก

ตามกระแสโลกเป็นวัฒนธรรม เป็นมารยาท เราก็ทำตามเขาไป แต่หลักเกณฑ์ของเรา เราจะเอาสิ่งที่เหนือกว่านั้นไง สิ่งที่เหนือกว่านั้นคือการชนะตนเองนะ ไม่ชนะใครเลยนะ การชนะคนต่างๆ นั้นสร้างเวรสร้างกรรมทั้งหมด สิ่งที่การชนะกัน การเอาเปรียบกันนั้นไม่เป็นประโยชน์เลย เบียดเบียนกันทั้งหมดเลย แต่การชนะตนเองนี่เราจะเห็นตนเองอยู่ที่ไหน เราจะเอาชนะตนเองได้อย่างไร

ถ้าเราจะเอาชนะตนเองได้นี่ ถ้ามีศรัทธาอันนี้ขึ้นมา นี่ย้อนกลับเข้ามา ย้อนกลับเข้ามานะ ย้อนกลับเข้ามาถึงภายในของเรา พยายามทำภายในของเรา เอาชนะตนเองให้ได้ สิ่งที่จะเอาชนะตนเองได้ เห็นไหม มีวัตรปฏิบัติ มีเครื่องดำเนิน ถ้าเราไม่มีเครื่องดำเนิน เราไม่มีสิ่งใดๆ เลยที่จะปูพื้นฐานของเรา ใจของเราถ้าไม่มีทาน เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา ถ้ามีทานนี่มันมีการสละออก สิ่งที่สละออกมันมีความสุขไหม มันเปรียบเทียบกันขึ้นมาไง แล้วมีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้นไป

ถ้าจะมีปัญญานี่ ปัญญาของเรานี่ปัญญาอะไร ปัญญาของเราใคร่ครวญขนาดนั้น ใคร่ครวญที่เราใช้กันอยู่นี่ ปัญญาเป็นปัญญาอบรมสมาธิ เราก็ใช้ของเรา ใช้ของเราเข้าไป แล้วถ้ามีครูบาอาจารย์นะ มันถึงมีอำนาจวาสนาตรงนี้ ถ้ามีครูบาอาจารย์ชี้นำ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยนะ ประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์ สิ้นจากกิเลส แล้ววางศาสนานี้ด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องเลยนะ ไม่ต้องการเอาเปรียบใคร ไม่ต้องการชื่อเสียงศักยภาพต่างๆ ไม่ต้องการ แต่ต้องการหัวใจของสัตว์โลกให้รู้ตามความจริงเพื่อให้สัตว์โลกนั้นมีความสุขนะ ถึงไม่ต้องการสิ่งใดเลย นี่ศาสนาของผู้สิ้นกิเลส วางศาสนาไว้ตามความเป็นจริงเพื่อให้แก้ไขกิเลสของใจดวงนั้น

กับศาสดาที่มีกิเลส เห็นไหม ถ้าศาสดาที่มีกิเลสนี่จะวางเพื่อสัตว์โลก เพื่ออะไรก็แล้วแต่ แต่มันก็มีกิเลสน่ะ มันก็มีความลังเลสงสัยในใจ มันวางธรรมออกมามันก็วางธรรมมาไม่เป็นธรรมตามเป็นธรรม ไม่เป็นธรรมคือว่าไม่ไปถึงที่สุด มันเป็นไปไม่ได้มันก็หมุนไปตามกระแสโลกของเขาเป็นอย่างนั้น นี่ผู้ที่มีกิเลสสอนมันก็จะสอนไปอย่างนั้น เห็นไหม สอนไปตามกระแสโลก

แต่ถ้าผู้มีธรรมในหัวใจ มันถึงต้องชี้มาที่บาทฐาน สิ่งที่จะขัดใจโลก โลกเขาไม่เห็นด้วย นี่เรายืนไว้ไง การสอนโดยที่ไม่ต้องสอนคือการดำรงชีวิตของเรา การสอนที่ไม่ต้องสอนคือการที่ว่าให้เขาเห็นของเรา เราดำรงชีวิตของเราอยู่ในหลักในเกณฑ์ เขาก็ต้องแปลกใจ เขาก็ต้องว่าสิ่งนั้นเป็นไปได้อย่างไร

สิ่งที่เป็นไปได้ เห็นไหม การทำความดีละความชั่ว พูดนี่ง่ายๆ แต่คนทำไม่ได้ นี่สัตว์โลกทำอย่างนี้ไม่ได้ ละความชั่ว ชั่วในหัวใจ ละอันนี้ ทำไม่ได้ พูดอยู่ ๒ คำ ทำดีละชั่ว เท่านี้เอง เรื่องของศาสนา นี่ไง แล้วเราว่าเราทำดีละชั่วแล้ว เราทำดีละชั่วแบบเด็กๆ ความเป็นเด็กๆ เห็นไหม ว่าเราทำคุณงามความดีก็เป็นความดีแล้ว แต่นั่นเป็นเด็กๆ มันก็ได้ผลของเด็กๆ เป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา ความดีของเราพยายามบังคับตนเองให้ได้ ถ้าบังคับตนเองให้ได้มันจะลึกเข้ามาๆ นี่ความดีที่ละเอียดเข้าไปนะ

เวลาเราสวดมนต์ ความดีที่มากกว่านี้ยังมีอยู่อีก ยังมีอยู่อีก ยังมีอยู่อีก เราต้องก้าวเดินตลอดไป ก้าวเดินไปเพราะอะไร เพราะมันไม่เคยแก้ความทุกข์ยากในหัวใจของเราเลย คนจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหนมันอยู่ที่อำนาจวาสนานะ คนที่ทุกข์จนเข็ญใจเท่ากับมีอำนาจวาสนานะ ในพระไตรปิฎก เห็นไหม พระอรหันต์บางองค์ฉันข้าวไม่เคยอิ่มเลย นี่กรรม มันเคยสร้างกรรมมา แต่พระสีวลีร่ำรวยมหาศาลมาก ลาภสักการะมหาศาลมาก มันอยู่ที่การสร้างสมมาจากเบื้องหลัง

แต่ในปัจจุบันนี้เราไม่ต้องน้อยเนื้อต่ำใจ คนจะมั่งมีศรีสุขขนาดไหน คนจะทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหน ถ้ามีศรัทธาความเชื่อนะ ลองบวชเป็นพระเข้ามาสิ คนจะส่งเสริมตลอดเวลา จะไม่ต้องกังวลเลยเรื่องปัจจัย ๔ ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย การดำรงชีวิตนะ ไม่ใช่ปัจจัย ๔ ปัจจัยเครื่องดำรงกิเลสนะ ถ้าเป็นเครื่องดำรงกิเลสนี่มันไม่พอหรอก จะถมมันขนาดไหนมันก็ไม่พอ หัวใจของสัตว์โลกไม่มีวันเต็ม หยั่งไม่ได้ ทะเลมหาสมุทรนี่หยั่งรู้ได้ แต่หัวใจของเราไม่มีวันพอ แล้วเราจะถมเต็มได้อย่างไร ถ้าเราถมเต็มอย่างนี้เราก็โดนโลกกลืนกิน แล้วเราตามไปกระแสโลก

แต่ถ้าเราจะอาศัยปัจจัย ๔ เครื่องดำรงชีวิต เห็นไหม ธรรมและวินัยถึงเป็นประโยชน์กับเราตลอดมา แล้วคนที่ไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เช่น อย่างการกัปปิยะ การ กปฺปิยํ กโรหิ นี่เป็นวินัยกรรม ถ้าเป็นวินัยกรรม กรรมคือการกระทำ ต้องทำต่อหน้าไง แต่ในเมื่อเราเป็นสังคมโลก เราจะช่วยเหลือ เราจะอำนวยความสะดวกแก่พระ เราก็ กปฺปิยํ ของเราคนเดียวลับหลัง มันไม่มีผู้รับรู้ไง อย่างการปลงอาบัติ พระต้องปลงอาบัติกับพระอีกองค์หนึ่งเพื่อประจานตัวเองว่าเรามีความผิด เพื่อประจานตัวเองว่าเราทำผิดแล้วเราจะไม่ทำอย่างนั้นอีกตลอดไป ต้องมีพระรับปลงอาบัติ มันเป็นวินัยกรรมขึ้นมาไง ปลงองค์เดียวไม่ได้ พระองค์เดียวปลงอาบัติตัวเองนี่ปลงไม่ตก

นี่ก็เหมือนกัน ในการ กปฺปิยํ กโรหิ นี่ ถ้าเรา กปฺปิยํ คนเดียว เรากัปปิยะลับหลังไม่ได้ กฎหมายบางทีได้นะ ทำตามกฎหมาย พิจารณาลับหลังก็ได้ พิจารณาต่อหน้าก็ได้ นั่นเป็นสมมุติโลก แต่อันนี้พระพุทธเจ้าวางวินัยไว้ไง

“กปฺปิยํ กโรหิ”

“กปฺปิย ภนฺเต” ตอบพระสงฆ์องค์นั้น

เพราะพระสงฆ์ที่เขารับนั้นเขามีความรังเกียจไง รังเกียจว่านี่ไม่ได้กัปปิยะกับเขา เขาไม่เห็น เขาไม่รู้ เขาก็ไม่ยอมฉันอันนี้ เห็นไหม เรากัปปิยะต่อหน้าท่านเพื่อตัดความกังวลอันนั้นไง นี่ถึงเป็นวินัยกรรม ต้องทำต่อหน้า

นี่โลกกลืนกินไปนะ เราบิณฑบาตไปนี่เห็นมาก เขาบอกเลย เขาจะกัปปิยะไว้ให้เสร็จเลย เขาจะตัดผลไม้เขาไว้ให้เลย เขาคิดของเขา ทำของเขา เห็นไหม นี่คิดกระแสโลก โลกเป็นอย่างนั้น คิด¬ของเขา ทำของเขา มันก็เป็นของเขา แต่มันไม่เป็นธรรม ถ้าเป็นธรรมแล้ว สิ่งใดถ้ามันเป็นการขัดข้องบ้าง สิ่งใดที่มันไม่สะดวกบ้าง มันก็ต้องทำตามแต่กรรม ตามแต่อำนาจที่พระพุทธเจ้าวางไว้ เห็นไหม ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่บัญญัติ

มีมากนะ พระอยู่กับครูบาอาจารย์ บางอย่างนี่มันมีความขัดข้อง ไปหาหลวงตานี่ บอกว่าพระพุทธเจ้าทำอย่างนั้นๆ ได้ หลวงตาบอกว่าเราไม่ใช่พระพุทธเจ้า เราไม่สามารถลบล้างบัญญัติของพระพุทธเจ้าได้หรอก ต้องทำตามสภาวะแบบนั้นไป

ไปตามสภาวะแบบนั้น ถึงจะไม่โดนโลกกลืนกินไง ถ้าเราไหลไปตามกระแสโลก แต่มันก็ตามหลักธรรมนะ นี่ ๕,๐๐๐ ปี มันจะหมดไป มันจะเสื่อมไป เสื่อมไปจากใจของสัตว์โลก สัตว์โลกนี่เสื่อมไป ธรรมไม่เคยเสื่อม แต่สัตว์โลกจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ถ้าไม่เชื่อมันก็เสื่อมไปๆ เหมือนกับอย่างนี้ นี่ความเห็นของคนหนึ่งก็ทำอย่างหนึ่ง ประเพณีก็ทำไปอย่างหนึ่ง นี่ไม่รู้ว่าใครสั่งสอนมา บิณฑบาตไปเห็นสภาวะแบบนั้นเหมือนกัน นี่ของอย่างนี้ทำให้พร้อม ทำให้เสร็จเลย เสร็จมันก็เสร็จของเขา แต่คนที่บิณฑบาตมาเขาไม่รู้ด้วยน่ะ มันก็ออกไปนะ

ถ้าเป็นสังคม เวลาเราอยู่ของเราองค์เดียวนี่ ใครจะเอาอะไรมาเราก็ตักของเราไว้ สิ่งที่วางไว้มันก็ไม่ขัดใจเขาหนึ่ง แล้วเราก็ไม่ฉัน ก็ไม่ผิดเราหนึ่ง เราวางไว้เฉยๆ เรารับเราก็ไม่ฉัน อยู่ในป่านะ ได้ของมา อย่างเช่นเราได้ส้มมา ถ้าเราอยากฉันนะ เราไม่ได้กัปปิยะ นี่มันก็มีทางออกไง เราฉันส้มนั้นด้วยสติ แต่ไม่ขบเมล็ดให้แตกมันก็ไม่เป็นอาบัติ ถ้าใครขบเมล็ดนั้นแตก ตรงนั้นมันเป็นอาบัติปาจิตตีย์

สิ่งที่เป็นเมล็ดส้ม ถ้าเราฉันแต่ส้มแล้วเราตั้งสติไว้ เป็นอย่างนั้น อย่างนั้นก็ได้ แต่บางอย่างที่ไม่ได้ อย่างเช่นเกิดตามข้ออย่างนี้ไม่ได้ ไอ้อย่างนี้ไม่ได้ก็ไม่ต้องฉันเลย วางไว้ สิ่งที่เกิดมันจะเกิดของมัน นี่ถ้าเราซื่อสัตย์กับเราอย่างนี้ แล้วเรานั่งสมาธิของเรา นี่เราไม่เป็นอาบัติ เราไม่มีความผิดพลาด มันไม่หลอกตัวเอง เราก็ทำสมาธิของเราง่ายขึ้น

ถ้าเราทำอาบัติด้วยความอยากของเรา เห็นไหม อยากฉันมาก ผักนี่อยากฉันมากแล้วฉันไป แล้วก็ไปนั่งสมาธิไง “เมื่อเช้านี้เอ็งยังทำความผิดอยู่เลย เอ็งจะโกหกตัวเองได้อย่างไร” นี่มันจะขัดจากภายใน ธรรมและวินัยมันเข้ามาถึงหัวใจ แล้วใจดวงนี้มันจะเสริมของมันไป นี่ถ้าเรารักษาอย่างนี้ เราซื่อสัตย์กับตัวเราเอง เราเริ่มถากถางจากใจของเราเข้ามา มันจะทำความสงบของใจได้ มันไม่หลอกตัวเอง หลอกตัวเองไม่ได้นะ

โลกนี้เขาหลอกกัน เขาหลอกกันจากภายนอก ไอ้ตัวเองนี่กิเลสมันหลอกอีกชั้นหนึ่งนี่เราไม่รู้จักมันเลย แล้วเราปฏิบัติ เราก็จะมาหลอกตัวเองอีก มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องซื่อสัตย์ตามธรรมนั้นแล้วปฏิบัติไป แล้วถ้ามันเกิดผลข้างเคียงในการเห็นต่างๆ นั้นครูบาอาจารย์จะแก้ไขไปๆ แล้วมันพุ่งตรงเข้าไปสู่ใจ แล้วมันจะพุ่งตรงเข้าไปสู่ภวาสวะคือภพ ฐานของความคิด แล้วจะไปทำลายฐานของความคิดนั้นได้ แล้วถึงทำลายกิเลสได้

แต่ถ้าเราลูบคลำกันอยู่ตามกระแสของเขานะ นี่อยู่แต่โลกเรื่องสามัญสำนึก มันก็อยู่แค่สามัญสำนึก เป็นคนที่มีจริตนิสัยเรียบร้อยเท่านั้น เอวัง