เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๘
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาทุกข์ เวลาเราทุกข์กัน เราต้องการพ้นจากทุกข์ ทุกคนอยากพ้นจากทุกข์ ทุกคนอยากมีความสุข แต่เวลาเราปรารถนากัน ปรารถนากันแล้วเราก็เชื่อตามใจของเรานะ เราหักห้ามใจเราไม่เป็นไง ถ้าเราหักห้ามใจเรา การฝืนความรู้สึกเราคือการฝืนกิเลส
แต่ทางโลก ทางโลกบอกว่าการคิด เด็กต้องคิดเป็น แล้วเด็กต้องคิดจินตนาการไปเพื่อความเจริญของโลกไง
อันนั้นมันเป็นเรื่องของโลกนะ เป็นเรื่องของโลก หมายถึงว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องมีการจินตนาการ ต้องมีการคาดการณ์ แล้วมีการค้นคว้าไง ปัญญาจะเกิดขึ้น ทฤษฎีจะเกิดขึ้น สิ่งต่างๆ จะเกิดขึ้นจากนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้า สิ่งนี้การค้นคว้า การพิสูจน์ไป แต่การพิสูจน์จะความประสบความสำเร็จมีกี่คน จะมีกี่คน แล้วพอสำเร็จขึ้นมาเป็นประโยชน์ของโลกเขา
แต่ในเรื่องของโลกมันเป็นเรื่องอนิจจัง ความเป็นไปของโลกนี่อนิจจัง เราควบคุมธรรมชาติไม่ได้ เราจะควบคุมความเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอนิจจัง เราเกิดมาจากชีวิตหนึ่ง ชีวิตเรานี้ก็เป็นอนิจจัง ความเป็นไปของอารมณ์ก็เป็นอนิจจัง ความเกิดดับของความคิดก็เป็นอนิจจัง สิ่งที่เกิดดับอนิจจัง พลังงานที่ส่งออกตลอดไป มันก็จะเคลื่อนไหวอย่างนี้ตลอดไป แล้วมันก็สะสมกลับมาเป็นสัญญาอารมณ์ ในสัญญาความลึกซึ้งไง ในอวิชชานั้น ในความไม่รู้นั้น
ความไม่รู้นะ มันเป็นพลังงานเฉยๆ แล้วมันสะสมไปในความไม่รู้ แต่เวลามันเปิดออกมาสิ เวลามันเปิดออกมา เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าย้อนเข้าไปบุพเพนิวาสานุสติญาณ ย้อนกลับไปที่จิตของตัวนี่แหละ ย้อนกลับไปความรู้สึกอันนี้ ความรู้สึกอันนี้มันเกิดตายๆ มา ในบุพเพนิวาสานุสติญาณบอกว่าไม่มีต้นไม่มีปลาย คือเกิดการตายซับสมกันมาไม่มีที่สิ้นสุด มันมหัศจรรย์ขนาดนั้น
ว่าจิตนี้ไม่เคยตายไง ผู้ที่เคยเห็นจิต จิตนี้ไม่เคยตาย จิตนี้มีการแปรสภาพตลอดไป มันเป็นอนิจจังนะ แล้วมันก็เวียนไปๆ มันเป็นการขับเคลื่อนอันนี้ไง
แต่ถ้าเราเริ่มฝืนมัน เราเริ่มฝืน เราตั้งสติ เราเริ่มฝืน เราตั้งสติขึ้นมา แล้วเวลาตั้งสติ เวลาความคิดทางโลก ถ้ามันคิดเป็นประโยชน์ คิดเป็นประโยชน์นะ คิดเป็นปัญญาเป็นประโยชน์ มันเป็นสิ่งที่เราแก้ไขปัญหา ต้องมีอะไร ต้องมีสติ แต่ถ้าเราไม่มีสติ ความคิดของเรามันจะเป็นความคิดแบบเฟ้อฝัน ความคิดแบบเฟ้อฝัน ความคิดแบบที่ว่าไม่เป็นประโยชน์กับตัวเราเอง นั่นน่ะขาดสติ
แต่เวลาเรายับยั้ง เรายับยั้งตัวเอง เราฝืนความรู้สึกตัวเอง มันจะฝืนจากภายในไง ฝืนจากภายใน ฝืนจากความเคยชินของมัน สิ่งต่างๆ ของโลก สิ่งที่เคยกิน เคยใช้ เคยพยายาม เราสามารถลดทอนลงได้ ถ้าเราสามารถลดทอนลงได้ เราควบคุมตัวเองได้ แต่ถ้าเราควบคุมตัวเองได้ สิ่งที่มันเคยเป็น มันเคยเป็นไป เราไม่ยอมเป็นไป
สิ่งที่มันเศร้ามันโศก สิ่งที่เศร้าโศกเกิดขึ้นมาจากอะไรล่ะ
เกิดขึ้นมาจากสัญญา เกิดขึ้นมาจากข้อมูลเดิม เวลามันคุ้ยขึ้นมา สังขารมันก็ปรุงแต่ง วิญญาณรับรู้มันก็ปรุงแต่งไป สิ่งที่เป็นความทุกข์ที่เราจะฝืนมัน เราฝืนไม่ได้ มันถึงป้อนให้ใจนี้กินแต่ความเศร้าโศก มีแต่ความทุกข์ตลอดไปไง
แต่ถ้าเราเริ่มฝืนมัน เรารู้จัก สิ่งที่มันจะคุ้ยให้วิญญาณรับรู้ขึ้นไป เราจะฝืนไว้ๆ ถ้าเราฝืนไว้ หัดฝืนคือการต่อต้านกิเลสไง เราไม่เป็นไปตามความรู้สึกของเราไง ต้องมีสตินะ
ความทุกข์เกิดจากตรงนี้ ถ้าความทุกข์เกิดจากตรงนี้ แล้ววิธีการแก้ไข แก้ไขอย่างไร
มันแก้ไข เพราะการแก้ไข การย้อนกลับ คนจะไม่เเคยห็นความคิดของตัวเอง คนจะไม่เคยเห็น จับจิตของตัวเองไม่ได้ คิดแต่เรื่องจากภายนอก ธรรมดาของธาตุรู้มันต้องส่งออก แล้วส่งออกไปจับต้องวัตถุสิ่งใดมันก็คิดถึงสิ่งนั้น
จับต้องวัตถุนะ สิ่งที่จับต้องวัตถุ เราเห็นเป็นภาพไง แต่เวลาความคิดมันจับต้องอารมณ์ความรู้สึก ทำไมเราไม่เห็นมันล่ะ มันจับต้องอารมณ์ความรู้สึก เพราะความรู้สึกนี้มันเป็นข้อมูลเดิม มันเป็นสัญญา สัญญาจากหัวใจของเรานี่ ทุกข์เกิดจากตรงนี้ไง ทุกข์เกิดจากใจ ถ้าเราฝืนเข้ามา มันจะฝืนใจของเราเอง เราจะควบคุมใจของเราเอง
ถ้าเราควบคุมใจของเราเองได้ นี่มันแค่เป็นความสงบของใจเฉยๆ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา มันจะเวิ้งว้าง มันจะมีความสุขขนาดไหน มันเป็นธรรมชาติของมันอย่างนั้น นี่มันเรื่องของนามธรรม มันมหัศจรรย์อย่างนั้นไง มหัศจรรย์ ถ้ามันปล่อยวางเข้ามามันจะเวิ้งว้างของมัน มันจะว่างของมัน
มันว่างนะ ว่างอย่างนี้ว่างอยู่ในใต้กฎของอนิจจัง เพราะมันว่างแล้วเดี๋ยวมันก็ไม่ว่าง มันคลายตัวออกมามันก็ไม่ว่าง สิ่งนี้เป็นสภาวะแบบนั้น สิ่งนี้มันเป็นการขับเคลื่อนจิตนี้ตลอดไป ถ้าเราหัดฝืน เราควบคุมตรงนี้ไง
ถ้าเราหัดฝืน เราฝืน เราควบคุมมัน ควบคุมความว่างไง เราควบคุมความว่าง เราทำความสงบบ่อยครั้งเข้าๆ เราควบคุมได้ทั้งหมด ไม่ใช่มันเป็นของมันเองนะ
โดยธรรมชาติของมัน มันเป็นของมันเอง เวลาเกิดแดด พระอาทิตย์ขึ้นต้องตกธรรมดา เวลาเกิดพายุ พายุต้องสงบเป็นธรรมดา เกิดพายุ เกิดภัยพิบัติขนาดไหน มันก็ต้องแปรสภาพไปตามธรรมดา สิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด
ความรู้สึกก็เป็นอนิจจังทั้งหมด แต่ฐานของความรู้สึกนี้ไม่เป็นอนิจจัง คือตัวจิตนี้มันมีของมันตลอดไป แต่อนิจจังเพราะมันโดนปกคลุมโดยอวิชชาไง มันเป็นอนิจจังเพราะมันโดนปกโดยแรงขับเคลื่อนอันนี้ไง
ถ้าเราควบคุมอันนี้เข้าไป เราควบคุมได้ เราทำของเราได้ เราจะมีความสุข ความสุขเพราะอะไร เพราะเราควบคุมตัวเองได้ เราทำความสงบของใจได้ ถ้าจิตมันสงบขึ้นมา เราควบคุมสิ่งนี้ขึ้นมาได้ เราควบคุมได้ เราทำของเราได้ นี่เราฝืนมัน ย้อนมัน จนเป็นปัญญาของเรา จนเป็นความรู้สึกของเรา จนเราจับต้องของเราได้ จนเรามั่นใจในตัวเราเอง เห็นไหม
กลิ่นของศีลหอมทวนลม ถ้าผู้ที่อยู่ในศีลในธรรม กลิ่นของธรรมที่มันเป็นปัจจัตตังกับหัวใจนั้น เพราะใจนั้นสัมผัสไง ถ้าความสัมผัสอันนี้ สติ มหาสติ สติอัตโนมัติจะเกิดขึ้นไปเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไปจากภายใน ควบคุมใจดวงนี้ ใจของเรานี่
ที่ว่าสรรพสิ่งในโลกนี้มีเพราะมีเรา สรรพสิ่งในร่างกายมีความรู้สึกเพราะมีใจ สรรพสิ่งความคิดมีเพราะมีฐีติจิต คือจิตตัวภพ ตัวภวาสวะ ตัวต้นของความคิดนั้น ถ้ามันย้อนกลับเข้าไปสภาวะแบบนี้ จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส
จิตเดิมแท้นี้นะ เวลาสงบเข้าไปมันจะเห็นความผ่องใสของมัน ความผ่องใส ความเป็นไปของมัน นี่คือตัวอวิชชาไง นี่คือตัวพลังงานไง แล้วไม่เคยชำระกัน ไม่เคยเห็นมัน เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ตรัสรู้ขึ้นมา ปัญญาอย่างนี้ไม่เกิดหรอก ปัญญาที่ว่าย้อนกลับสภาวะแบบนี้ไม่เกิด
เวลาเขาเห็นความมหัศจรรย์ของใจ เห็นไหม เวลาเริ่มทำความสงบ เห็นนิมิต เห็นต่างๆ เห็นออกไป กิริยาส่งออกทั้งหมด เราไม่ต้องทำหรอก คอมพิวเตอร์มันก็ทำได้ คอมพิวเตอร์มันก็สร้างภาพได้ แล้วเดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์เจริญ เขาทำได้หมดน่ะ แสงสีเสียงทำได้ทั้งนั้น แล้วเราไม่ต้องใช้พลังขนาดนี้เขายังทำของเขาได้เลย แล้วเราทำใจของเราขึ้นมาๆ แค่พลังงานของแสงสีเสียงเท่านั้นเองหรือ ความสว่างของใจๆ เห็นไหม
ถ้าไม่มีปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันจะชำระกิเลสไม่ได้ ถ้ามีปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะย้อนกลับมาตรงนี้ไง แล้วปัญญามันเกิดอย่างไรล่ะ
ปัญญามันเกิดจากอำนาจวาสนา หนึ่ง ปัญญาเกิดจากการตรวจสอบของใจ ใจมันจะตรวจสอบตัวมันเอง ถ้าปัญญาอย่างนี้ ปัญญารู้เท่า ปัญญารู้เท่าไม่ใช่ปัญญารู้แจ้ง ถ้าปัญญารู้เท่ามันจะปล่อยเท่านั้น ปัญญารู้เท่ามันจะเป็นการปล่อยวาง การปล่อยวางอันนี้มันเป็นตทังคปหาน มันชั่วคราวๆ การเป็นชั่วคราวมันก็ตกอยู่ใต้กฎอนิจจัง ถ้ามันเป็นความชั่วคราวนะ เพราะกฎอนิจจังนี้ก็เป็นความชั่วคราว มันแปรสภาพตลอดไป
ปัญญารู้แจ้งทำลายเข้าไปถึงตัวใจ ตัวที่เป็นนามธรรมที่มันเกิดตาย เมล็ดพันธุ์พืช ถ้ามันลงดิน น้ำ อากาศดี มันจะงอกงามของมันตลอดไป
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเข้าไปถึงตัวจิต ตัวที่มันเกิดพลังความคิดตัวนี้ ตัวนี้ธรรมชาติของมัน มันต้องส่งออก มันต้องคิดของมันตลอดไป แล้วถ้าจิตมันสงบเข้าไป ปัญญามันแทรกเข้าไป แทรกเข้าไปตรงความคิด ความเกิดดับ ตัวตนเกิดจากตรงนี้ไง ตัวตนเกิดจากความรู้สึกอันนี้ ถ้าความรู้สึกอันนี้มันเห็นสภาวะนั้นแล้วมันปล่อยของมันเอง ปล่อยจากฐานของความคิดไง
เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเย้ยมาร “เธอเกิดจากความดำริของเรา” เราเข้าไปแก้เริ่มต้นไง เข้าไปแก้ที่เมล็ดพันธุ์นั้นไง ถ้าเมล็ดพันธุ์มันลงดินแล้ว มันมีน้ำแล้วมันถึงงอกขึ้นมา ความคิดก็เหมือนกัน มันมีการกระทบ มันมีสังขาร มันมีวิญญาณ มันมีเวทนาความรู้สึกอันนั้น มันถึงเคลื่อนออกมา แล้วถ้าเราผ่านความสงบเข้าไป เข้าสู่ตัวของมัน แล้วใช้ปัญญาชำแรกเข้าไปจากภายในของมัน ตัวทุกข์อยู่ตรงนี้ไง
จากการฝืนนะ ถ้าเราฝืน เราเริ่มฝืน เขื่อนกั้นน้ำมันจะได้น้ำใช้ ถ้าเรามีสติ เราเริ่มยับยั้งความคิดของตัวเอง ความคิดมันจะเริ่มสงบตัวลงๆ จนพอเราเข้าได้ถึงตัวใจนั้น เข้าไปทำลาย ปัญญาจะเกิดตรงนี้เข้าไป แล้วเข้าไปทำลายนะ
เขื่อนถ้าเราสร้างไว้ธรรมดา น้ำกักไว้มันเป็นประโยชน์กับใครล่ะ มันเป็นประโยชน์กับธรรมชาติตรงนั้น มันเป็นประโยชน์กับใคร
สมาธิก็เหมือนกัน ถ้าเราทำของเราขึ้นมาจนมันตั้งมั่นขนาดไหน ถ้าปัญญาไม่เกิด มันอยู่ใต้กฎของอนิจจังทั้งหมดเลย ถ้าปัญญาไม่เกิด ถ้าปัญญามันจะเกิด ขั้นของปัญญาทำอย่างไรล่ะ ขั้นของปัญญามันเป็นวิปัสสนา วิปัสสนาอันนี้เป็นภาวนามยปัญญา ถึงย้อนกลับเข้ามาไง
ความสุขความทุกข์เวลามันเกิดขึ้นมาจากภายนอก มันจะเห็นเรื่องความสุขความทุกข์ภายนอกนะ เวลาเกิดวิปัสสนา ปัญญามันจะใคร่ครวญกับความรู้สึก ระหว่างกิเลสกับธรรมมันทำลายกัน วันไหนถ้ากำลังเราไม่พอ ความคิดมันรุนแรงกว่า มันกระชากลากความคิดอันนี้ไป กระชากลากใจไป เราจะมีความเศร้าโศก มีความรู้สึกในหัวใจ
แต่ถ้าวันไหนเวลาธรรมมันชนะ เวลามันทำลายกัน เราจะเห็นการเคลื่อนไประหว่างกิเลสกับธรรมในหัวใจนะ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเห็นปัญญามันเคลื่อนออกไป แล้วมันทำลายกิเลส กิเลสจะยุบยอบตัวลง มันจะปล่อยวางขนาดไหน มันจะทำลายกันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้แจ้งเห็นสัจจะความจริงของมัน กิเลสตายออกไป กิเลสขาดออกไปจากใจดั่งแขนขาด
ความเป็นไปสภาวะแบบนั้นต่างหากถึงจะเป็นความจริงกับใจดวงนั้นไง แล้วความทุกข์มันจะไม่มีกับใจดวงนั้นเลย ความทุกข์จะไม่เกิดกับใจดวงนั้น วิปัสสนามันจะเกิดอย่างนี้ไง ไม่ใช่การสร้างของเราขึ้นมาเป็นจินตมยปัญญาแบบวิทยาศาสตร์นั้นนะ
วิทยาศาสตร์เขาคิดเขาจินตนาการไป มันพิสูจน์เป็นทางโลก พิสูจน์ทางโลกแล้ว พิสูจน์ได้แค่ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ เขารับได้แล้วว่า ๒๕ เปอร์เซ็นต์ สิ่งนี้พิสูจน์แล้ว ๒๕ เปอร์เซ็นต์ นั้นคือความถูกต้องของเขา แต่นี่ในเรื่องทางธรรมมันต้อง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ
สิ่งที่ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทองคำยังไม่บริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เลย ๙๙.๙๙ มันไม่มีความบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรอก แต่ใจดวงนี้บริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันบริสุทธิ์ได้ไง ถ้ามันบริสุทธิ์ไม่ได้ มันมีส่วนแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียวอยู่ในความรู้สึกอันนั้นมันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่เปอร์เซ็นต์เดียวนั้น เดี๋ยวเหมือนกับเชื้อโรค มันจะขยายตัวของมันออกมา ถ้ายังมีเชื้อโรคอยู่ มันขยายออกมา แผลเริ่มบานปลายออกไป
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าลองมีอยู่สักเปอร์เซ็นต์เดียวก็เป็นไปไม่ได้ ถึงต้องซ้ำต้องซาก ต้องใคร่ครวญของมันตลอดไป ถึงที่สุดสมุจเฉทปหาน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ขาดออกไปจากใจนะ กิเลสขาดออกไปจากใจ ปัญญาอย่างนี้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้เสนอมาไง
ในศาสนาไหนไม่มีมรรค ในศาสนานั้นไม่มีผล
ในการประพฤติปฏิบัติของเราปัจจุบันนี้ มรรคของเราเป็นมรรคของโลกียะ มรรคของความคิดของเรา เราว่าเป็นมรรคๆ กัน เป็นมรรคโดยความคิดไง กิเลสใหญ่โตมาก ในการประพฤติปฏิบัติก็ให้กิเลสมันขี่คออยู่ไง ในการสร้างจินตนาการกันไป การว่างขนาดไหน
โธ่! เรามีความนะ เราขนาดทุกข์ไหน เขายื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเรา เราก็มีความสุขแล้ว
ความว่างขนาดนี้ ความว่างจากอามิส ความว่างจากสัญญาอารมณ์ ความว่างจากเรื่องของใจ ใจกับใจมันแก้ไขกัน ใจกับใจมันปล่อยวาง มันมีปัญหากัน มันไม่ใช่ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก มันไม่ใช่วิปัสสนาหรอก มันไม่ใช่ปัญญาญาณ ถ้าเป็นปัญญาญาณ มันตัดเข้ามา เห็นไหม
เวลาพระสารีบุตรไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน “สารีบุตร ให้สมควรแก่กาลเวลาของเธอเถิด”
ธรรมของพระสารีบุตร ธรรมของพระโมคคัลลานะมันเป็นส่วนบุคคล มันเป็นในใจของพระสารีบุตร ในใจของพระโมคคัลลานะนั้น ใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราเห็นจริง เราชำระได้จริง มันต้องเป็นธรรมของเรา มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นปัจจัตตัง จะต้องให้ใครเป็นผู้รับรองล่ะ จะต้องให้ใครเป็นคนการันตีล่ะ ในเมื่อมันเป็นปัจจัตตัง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังรับรองใครไม่ได้เลย เพียงแต่พยากรณ์ต่างหาก เวลาพระผู้ปฏิบัติมา “องค์นี้ใช่ องค์นี้ไม่ใช่” นี่พระพุทธเจ้าพยากรณ์นะ สิ่งที่พยากรณ์ เพราะมันไม่ใช่ก็คือไม่ใช่ ถ้ามันใช่ก็คือใช่
แต่ถ้าการประพฤติปฏิบัติ เราต้องการอย่างนั้นหรือ ถ้าเราทำของเราได้
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีหรือไม่มี ถ้าเรามี เรากำเงินแท้ไว้ในมือของเรา แล้วเขาเอาเงินเทียมมาเทียบ เราก็รู้ ถ้าเรากำเงินปลอมต่างหาก เราถึงไม่กล้าแบของเราพิสูจน์กับใครเลย เพราะเราไม่แน่ใจของเราไง ถ้ามันไม่เป็นปัจจัตตังมันจะเป็นอย่างนั้น
ถ้ามันเป็นปัจจัตตัง ในเมื่อมันไม่มีความลังเลสงสัย มันไม่มีความเป็นไปของมันเลย แต่ไม่มีความลังเลสงสัยของโลกปัจจุบันนี้มันไม่มีความลังเลสงสัยด้วยทิฏฐิมานะ
แต่ถ้ามันไม่มีความลังเลสงสัยโดยความเป็นจริง มันไม่ใช่ทิฏฐิมานะ มันเป็นธรรมไง
ธรรมคือความอิ่มพอ ธรรมคือความพอดีของใจดวงนั้น ความพอดี ความพอ ความอิ่มพอของใจดวงนั้น ใจดวงนั้นชำระกิเลสได้อย่างนี้ไง มันเป็นสิ่งที่ละเอียด เห็นไหม
ทุกข์กับสุข สุขมันก็เป็นความติดอันหนึ่ง เวลาข้ามพ้น ข้ามพ้นจากทุกข์และสุข ข้ามพ้นหมดเลย ข้ามพ้นบุญและบาป ข้ามพ้นทั้งสิ้น แล้วมันเป็นกลางของมัน มัฌชิมาปฏิปทาของมัน อันนั้นเป็นปัจจัตตัง อันนั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน
โลกใคร่ครวญกันได้แบบทุกข์กับสุข เวทนาไง เวทนา เห็นไหม แม้แต่อุเบกขา ตัวกลางอยู่นั้น ตัวนั้นต่างหากคือตัวภพ ตัวอุเบกขาคือตัวภพ เพราะมันจะมีเบี่ยงเบนออกไประหว่างสุขกับทุกข์ ระหว่างตัวอุเบกขา นั่นคือตัวจิตที่มันปล่อยวางเข้ามา จะต้องทำลายอุเบกขา จะต้องทำลายภพ จะต้องทำลายจุดหรือทำลายสถานที่คิดทั้งหมด จะต้องทำลายทั้งหมด แล้วมันจะปล่อยไป อันนี้ถึงเป็นหลักความจริงไง แล้วพอทำลายหมด มันเหลืออะไรล่ะ เหลือแต่ผู้รู้ที่รู้กัน เอวัง