หลวงปู่ฝั้น ท่านเกิดในครอบครัวตระกูลขุนนางอันเป็นที่รักใคร่ของประชาชน ในวัยหนุ่ม ท่านเคยรับราชการ ชีวิตทางโลกกำลังเจริญก้าวหน้า แต่สาวกบารมีญาณที่บำเพ็ญมาเต็มเปี่ยมแล้ว ทำให้หันมาดำเนินชีวิตทางธรรม ท่านตั้งใจออกบวชแสวงหาโมกขธรรม เป็นมหานิกายพรรษาแรก ก็ได้ฟังธรรมและถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่มั่น ท่านออกธุดงค์ตามป่าเขาอย่างไม่อาลัยเสียดายชีวิต เป็น “นักรบธรรมเดนตาย” โดยมี “พุทโธ” เป็นบทธรรมและธรรมาวุธประจำใจ มีนิมิตภาวนาชัด ราวกับตาเห็น มีอภิญญาแตกฉาน และมีปัญญาพิจารณาเฉียบคมจนหลวงปู่มั่นเอ่ยชม ต่อมาท่าน ได้ญัตติเป็นธรรมยุตและเป็นกำลังสำคัญของกองทัพธรรมฯ ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ อย่างใหญ่หลวง โดยออกธุดงค์เผยแผ่ธรรมปฏิบัติตามแนวปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน ทั้งเทศนา สั่งสอนประชาชนให้เลิกนับถือผี หันมานับถือพระรัตนตรัยและปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง
หลวงปู่ฝั้น กว่าจะบรรลุธรรม ท่านต้องประสบอุปสรรคมากมาย แต่ท่านไม่เคยอ่อนแอ หรือท้อแท้ เมื่อเป็นพระหนุ่มก็มีโรคประจำตัวและเป็นไข้ป่ามาลาเรีย ท่านก็ใช้พลังจิตอันแก่กล้า และธรรมโอสถรักษาโรคทุกครั้งไป ท่านเคยสละชีวิตนั่งภาวนาตลอดรุ่ง จนหายขาดจากโรคภัย ไข้เจ็บ เมื่อท่านเป็นเสาหลักวงกรรมฐาน ท่านได้ตรากตรำทำงานอย่างหนัก ทั้งต้อนรับปฏิสันถารตาม หลักคารวะ ๖ ทั้งเทศน์อบรมสั่งสอนพุทธบริษัท โดยเน้น “พุทโธ พุทโธผ่องใส พุทโธสว่างไสว” จนเป็นที่เลื่องลือกันมาก ทั้งเป็นผู้นำเสียสละ เป็นพระยอดนักพัฒนาทั้งด้านวัตถุและจิตใจ จนแทบ ไม่มีเวลาพักผ่อนหลับนอน ท่านก็ไม่เคยละทิ้งการภาวนา แม้ท่านบรรลุอรหัตตผลเมื่อปัจฉิมวัย แต่ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของท่านกลับโด่งดังทั้งในและต่างประเทศ ยากที่จะหาองค์ใดเสมอเหมือน
ท่านได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระสังฆราช (อัมพร อมฺพโร) และในหลวงรัชกาลที่ ๙ ตลอดพุทธบริษัทมากมาย ด้วยท่านทรงปาฏิหาริย์ ๓ เทศนาอนุสาสนีปาฏิหาริย์ธรรม จึงสมบูรณ์ นิ่มนวลมาก แต่ทรงพลัง ท่านได้ทำหน้าที่ศากยบุตรพุทธชิโนรสประกาศบทธรรม พุทฺโธ สุสุทฺโธ กรุณามหณฺณโว พระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ มีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพ ได้อย่างกึกก้องกัมปนาทที่สุด เพราะ กรุณามหณฺณโว ท่านยึดถือเป็นธรรมประจำใจและเป็นสาเหตุสำคัญของการอาพาธหนักจน ถึงแก่มรณภาพ หลวงปู่ฝั้นท่านด่วนจากไปเพียงร่างกาย แต่คุณงามความดีอันยิ่งใหญ่อเนกอนันต์ ของท่านจะถูกจดจารึกในประวัติศาสตร์ชาติไทยและพระพุทธศาสนาตลอดอนันตกาล
มูลนิธิพระสงบ มนสฺสนฺโต
ธันวาคม ๒๕๖๒